เหนือฟ้า
ข่าวที่สร้างความฮือฮาในช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนความคิด
เทวรูปดื่มนมเริ่มต้นจากอินเดียแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วข้ามน้ำข้ามทะเล
คนแห่แหนกันไปถวายน้ำนม ป้อนท่านทีละช้อนสองช้อน ในขณะที่นมหายไปจากช้อนอย่างน่าพิศวงต่อหน้าต่อตา
คนมักรู้มักเห็นกรูกันไปจดจ้อง ตาลุกวาว ใจอดจะโอนเอนเชื่อตามไปมาได้
แม้จะมีการยืนยันจากผู้รอบรู้ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่น้ำนมไหลจากปากของเทวรูปไปตามลำคอและซึมชุ่มฉ่ำอยู่ที่เสื้อผ้าซึ่งท่านสวมใส่อยู่
แถมยากแก่การสังเกตเนื่องจากสีผิวของเทวรูปกลมกลืนกับสีน้ำนม
นอกนั้นเทวรูปส่วนใหญ่ที่ดื่มน้ำนมมักจะเป็นรูปที่ตั้งอยู่ต่ำๆ ยากสำหรับคนที่ยืนอยู่จะเห็นอะไรที่เกิดขึ้นใต้คางท่าน
แต่คนก็ยังถือเป็นเรื่องอัศจรรย์ แปลกประหลาด น่าเชื่อถือ
ในขณะที่อีกหลายคนถือเป็นเรื่องงมงายไร้สาระสำหรับยุคโลกาภิวัฒน์
เหตุการณ์ครั้งนี้ เบื้องหน้าเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรก็คงต้องให้ผู้สันทัดกรณีศึกษาหาคำ
อธิบายกันต่อไป
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นชัดเจนคือ เหตุการณ์นี้และเหตุการณ์ทำนองนี้ ชี้บอกสิ่งหนึ่งที่แน่นอน
โลกาภิวัฒน์คือความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านวัตถุ ไม่สามารถหยุดยั้ง ทำลายความรู้สึกลึกๆ อย่างหนึ่งของมนุษย์ได้ นั่นคือ ความรู้สึกว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า
มันเป็นดังธรรมชาติส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่สำนึกว่าเหนือมนุษย์มีอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งแม้จะพิสูจน์ตามหลักการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้ แต่ก็รู้แน่แก่ใจว่ามีแนนอน
บางครั้งเขาอาจจะยืนผงาดประกาศก้องว่ามนุษย์นี่แหละคือสิ่งสูงสุดที่มี
แต่ภายในส่วนลึกของใจเขามีเสียงค้านแม้จะแผ่วเบา พร้อมทั้งตอกย้ำหนักแน่นว่ายังมีอะไรที่อยู่เหนือมนุษย์แน่นอน
ดีไม่ดีการประกาศก้องนั้น เป็นแค่ความพยายามอันไร้ผลที่กลบเสียงจากส่วนลึกของจิตใจเขานั่นเอง
ภายนอกดูเหมือนว่ามนุษย์มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ช่วยประกันความมั่นใจให้แก่ชีวิตเขาได้
ทว่า เขาอดไม่ได้ที่จะเสาะหาที่พึ่งทางใจ ซึ่งวัตถุสิ่งของที่เขามีไม่อาจจะให้ได้
เขาอาจจะเชี่ยวชาญ ฉลาดหลักแหลม รอบรู้ ทำงานทำการได้สารพัดอย่าง
แต่ทุกครั้งเขาไม่วายที่จะแอบอธิษฐานในใจเพื่อขอให้ทำได้สำเร็จสมปรารถนา หรือไม่ก็ลงทุนเซ่นไหว้ฤทธิ์อำนาจที่เหนือความสามารถ และความเชี่ยวชาญของเขาขึ้นไปให้ช่วยเสริมให้อีกแรง
แล้วจึงกระทำไปด้วยความอบอุ่นมั่นใจ
ครั้นจะเหมาเอาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความโง่เขลา งมงาย ก็คงไม่ถูก
แต่น่าจะเรียกว่าเป็นความฉลาด รอบคอบ เสียอีก
มันน่าเสียดายที่ความรู้สึกแห่งธรรมชาติมนุษย์อันนี้ไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และปลูกฝังให้ชนรุ่นใหม่
โดยอ้างกันข้างๆ คูๆ ว่า ในยุคแห่งการพัฒนาและความก้าวหน้าสุดขีดในทุกด้านนี้ การยังมาให้ความสนใจในเรื่องนี้มันนอกที่และเหลวไหล เหมือนเรื่องราวของซานตาครอสฉันใดฉันนั้น
เลยชนรุ่นใหม่ เยาวชนและเด็กๆ มองไม่เห็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวใจอย่างอื่น นอกจากตัวเองและวัตถุสิ่งของที่มี
ความไม่แน่นอนและความสิ้นหวังจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของพวกเรา จนต้องหาทางออกที่ผิดๆ กันอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
การจะมาชี้หน้าโทษว่าพวกเขาสำหรับปัญหาต่างๆ คงไม่ถูกต้องยุติธรรม
พ่อแม่ผู้ปกครองผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์คงต้องมายอมรับด้วยความจริงใจว่า เป็นพวกเขาเองนั่นแหละที่ได้ทำลายความรู้สึกลึกๆ ในจิตใจของเด็กเกี่ยวกับพระเกี่ยวกับจ้าว ด้วยการไม่สนใจเสียเองบ้าง ด้วยการพูดจากลบเกลื่อนชวนให้เขวบ้าง ด้วยการไม่ปฏิบัติบ้าง ฯลฯ
ก็เพียงคิดกันง่ายๆ ว่า เด็กที่ไม่เคยสัมผัสกับความรักแท้ของพ่อแม่ จะเข้าใจและเห็นถึงความรักของพระเจ้าได้อย่างไร
พ่อที่เกรี้ยวกราด รุนแรง ไม่มีเหตุผล ไร้ความรับผิดชอบ และโหดร้ายทารุณกับลูกๆ คงไม่ช่วยให้ลูกสวดบท “ข้าแต่พระบิดา” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำแน่นอน
คนทิ้งพระ ไม่ใช่พระหรอกที่เสียหาย แต่เป็นคนต่างหากที่ต้องรับกรรม.