ครูแอ๊ด
ผมรู้จักกับ “ครูแอ๊ด” โดยบังเอิญ
ตั้งแต่นั้นมาก็ติดต่อพูดคุย ถามทุกข์สุขเป็นครั้งคราว แต่ใช้ผลผลิตของครูแอ๊ดอย่างสม่ำเสมอ
ยาสระผมสูตรลับผสมมะกรูดกับว่านหางจระเข้
เส้นผมที่บาง ทิ้งระยะห่างกันอย่างไม่ต้องเบียดเสียดให้แออัด แถมหวีง่าย ก็เริ่มหนาตาขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ที่จริงแล้ว ผมเองไม่มีปัญหาเรื่องเส้นผมที่กลัวความสูงแล้วร่วงหล่นลงมา เพราะถือจิตตารมณ์การปล่อยวางของมหาบุรุษโยบที่ว่า “พระเจ้าท่านทรงให้มา พระเจ้าท่านทรงเอาคืนไป...”
แต่เพื่อนๆ ผมสิครับ มีปัญหากับเส้นผมของผมเอามากๆ
“ท่าทางจะเครียดกับงาน ผมบางไปมาก อีกหน่อยไม่ต้องซื้อหวีแน่ๆ”
“ใช้เบอร์กามอตดูหน่อยเป็นไร ปล่อยไว้อย่างนี้เสียบุคลิกหมดเลย”
“หงอกแต่มีให้หวี ดีกว่าดำขลับแต่แทบไม่มีให้หวีนะ จะบอกให้”
“ถ้าเป็นบ้านเรานะ จะเริ่มมองหาวิกผมสำรองเอาไว้ มันยังไงอยู่ เคยเห็นมีผมแล้วจู่ๆ ก็ไม่เห็นอีก...ไม่รู้จะจำกันได้ไหมนี่ อาจจะทำใจไม่ได้อีกต่างหาก”
“เห็นเค้าว่า ใบว่านหางจระเข้ปอกเปลือกแล้วทาทิ้งไว้ข้ามคืนช่วยให้ผมดกได้ ลองมั้ย จะหามาให้ฟรีเลย ปลูกให้ก็ได้”
เลยกลายเป็นว่า เพื่อนๆ กังวลกันมากเข้า ทำให้ผมต้องกังวลขึ้นมาจนได้
ผมรู้จักครูแอ๊ดวันที่ครูแอ๊ดติดต่อมาทางโทรศัพท์อยากจะพาเด็กๆ ออกจากกรุงเทพฯ ไปสัมผัสบรรยากาศอันอบอุ่นที่จริงใจแห่งมิตรไมตรี และความสดชื่นของธรรมชาติชานเมือง ผมก็รีบตกปากรับคำ เพราะเด็กๆ ที่ครูแอ๊ดดูแลอยู่นั้นเป็น “เด็กมีปัญหา”
จริงๆ แล้ว ผมว่าไม่ถูกนักที่จะใช้คำว่า “เด็กมีปัญหา” ฟังดูแล้วราวกับว่าเด็กเป็นตัวสร้างปัญหาขึ้นมาเอง ทั้งๆ ที่เด็กยังไม่รู้เรื่องรู้ราว และเป็นคนอื่นแท้ๆ ที่ทำให้เด็กต้องมีปัญหาขึ้นมา
เลยทุกครั้งที่พูดว่า “เด็กมีปัญหา” ก็ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเด็กไม่ดี น่ารังเกียจ ตัวปัญหา
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เด็กเป็นตัวรองรับปัญหาที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ สร้างขึ้นมาซะส่วนมาก
เด็กกำพร้าต้องตกเป็นภาระให้สังคม เพราะพ่อแม่มีปัญหากันแล้วทิ้งขว้าง
เด็กเร่ร่อนซุกหัวนอนตามถนน ตามสะพาน เพราะพ่อแม่มีปัญหาหย่าร้างกันแล้วปัดความรับผิดชอบ
เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน ขายบริการ เพราะพ่อแม่สร้างหนี้สินแล้วโยนให้ลูก
เด็กใจแตก เพราะผู้ใหญ่คอยป้อนการบันเทิง เสนอสิ่งยั่วยวนให้ เพื่อกอบโกยกำไรแต่อย่างเดียว
เด็กก้าวร้าว รุนแรง เพราะพ่อแม่มีปัญหาแล้วลงไม้ลงมือทุบตีชกต่อยกันให้เห็นตำตา
เด็กถูกทำทารุณกรรม เพราะผู้ใหญ่ไม่มีทางออก เลยไปลงกับเด็ก เห็นเด็กไม่มีทางสู้
และนี่คือเด็กกลุ่มนั้นของครูแอ๊ด เด็กที่คนพันเรียกว่า “เด็กมีปัญหา”
“ตอนแรกๆ ที่เข้ามาทำงานกับพวกเขา ก็มาเช้าเย็นกลับ” ครูแอ๊ดเล่า “พอตกเย็นเด็กๆ พากันเศร้า ร้องไห้ ไม่อยากให้กลับ บางคนก็เข้ามากอดไว้แน่นไม่ยอมให้ไป ปากก็พร่ำวิงวอน แม่แอ๊ดอย่าไป แม่แอ๊ดอยู่กับหนูที่นี่เถอะ... ได้ยินแล้วสงสารจับใจ เวลาเดียวกันก็เห็นว่าพวกเขาขาดความอบอุ่น ขาดคนที่ให้ความรักและความใกล้ชิด เลยตัดสินใจย้ายไปพักอยู่ที่ศูนย์ ก็เห็นว่าอะไรต่ออะไรเปลี่ยนไป เด็กยิ้มแย้ม หัวเราะ...ส่วนที่บ้านก็ถามอยู่เรื่อยๆ นี่กลับบ้านไม่ถูกแล้วหรือไง... แต่ก็คิดว่าสำหรับเด็กๆ เหล่านี้ที่ขาดความรักความอบอุ่น การจะมาแล้วไปมันช่วยอะไรเค้าไม่ได้มาก จะช่วยได้หากอยู่กับเค้า ให้เวลาและสนใจเค้า แม้จะทำแทนพ่อแม่เค้าไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ให้อะไรที่พ่อแม่เค้าไม่เคยให้หรือไม่สามารถให้ได้ แอ๊ดเลยเป็นแม่ของเด็กๆ ไปโดยปริยาย...”
วันครูปีนี้ จะมีครูสักกี่คนที่คิดหรือทำอย่างครูแอ๊ดบ้างหนอ?.