؊صاشؕأرؚـ؈شء؁رؚبصإءثزتؙشؗ


؊صاشؕأرؚـ؈شء؁رؚبصإءثزتؙشؗ

ชีวิตรับเจิมกับศีลมหาสนิท

1

▲back to top

1.1 ชีวิตแห่งการรับเจิมในโรงเรียนแห่งศีลมหาสนิท*

▲back to top


คำนำ

ในช่วงเริ่มต้นสหัสวรรษที่สามแห่งคริสตศักราช ให้เรามาไตร่ตรองและพิจารณาชีวิตผู้รับเจิมด้วยกัน เพื่อจะได้เห็นถึงความใหม่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จะประทานให้แก่ชีวิตผู้รับเจิม

ปัญหาด้านศีลธรรมและสังคมทั้งมากมายและหนักหน่วง ต่างก็ตั้งคำถามให้เราตอบในฐานะพระศาสนจักร ในฐานะสถาบันผู้รับเจิมและในฐานะผู้แพร่ธรรม แต่ละปัญหากระตุ้นให้เราทำให้ “รูปแบบการดำเนินชีวิตซึ่งพระเยซูเจ้า ในฐานะผู้รับเจิมสูงสุดและเป็นธรรมทูตเอกของพระบิดา” ได้ทรงดำเนินและทรงเสนอให้ศิษย์ที่อยากจะติดตามพระองค์ได้ดำเนินตาม (Vita Consecrata, n. 22)


ในฐานะที่เราร่วมกับพระคริสต์ในการเจิมถวายองค์แด่พระบิดา เราต้องมีสายตาปักอยู่ที่พระพักตร์ของพระองค์ เราอยากจะอยู่กับพระองค์ และโดยทางพระองค์ เราอยากมุ่งไปยังบ่อน้ำแห่งน้ำทรงชีวิต เพื่อดับกระหายด้วยพระวาจาและมีความสุขในการอยู่กับพระองค์ เฉกเช่นหญิงชาวสะมาเรีย


ในฐานะที่เราร่วมส่วนในภารกิจของพระองค์ เรารู้สึกสงสารเมื่อได้ยิน “เสียงร้องของคนจน” ซึ่งเรียกร้องความยุติธรรมและการร่วมชะตากรรม เหมือนกับชาวสะมาเรียผู้ใจดีในนิทานอุปมา และเราถือเป็นพันธะที่จะให้คำตอบแก่พวกเขาอย่างเป็นรูปธรรมและด้วยใจกว้างขวาง


ความปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตกับพระคริสต์และความสงสารที่ผลักดันให้เข้าหามนุษยชาตินั้น แม้จะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ก็มีหลากหลายในรูปแบบ





เอกภาพของดวงใจและจิต

แรงกดดันจากวัฒนธรรมที่เน้นรูปแบบชีวิตได้เปรียบของผู้แข็งแรงกว่า ความยั่วยวนให้หาประโยชน์อย่างง่ายๆ ตลอดจนการสูญเสียคุณค่าแห่งบุคคล คุณค่าครอบครัว และคุณค่าสังคม มีอิทธิพลเหนือวิธีคิด โครงการและเป้าหมายแห่งการรับใช้ของเรา พร้อมกับแนวโน้มที่จะทำให้ความคิด โครงการและเป้าหมายเหล่านี้ไร้ซึ่งแรงบันดาลใจแห่งความเชื่อและความหวังคริสตชน การขอความช่วยเหลือ การสนับสนุน และการรับใช้จำนวนมากและเร่งด่วนที่มาจากคนจนและคนที่อยู่นอกขอบสังคม ต่างก็กระตุ้นให้เรามองหาทางออกที่เป็นเชิงอาชีพและอย่างเป็นรูปธรรม


น่าเสียดายชีวิตแห่งการรับเจิมยังไม่สามารถแสดงออกซึ่งผลแห่งความเชื่อและความหวังที่ให้แรงบันดาลใจแก่มัน จึงต้องลำบากในการแสดงออกซึ่งคุณค่าแห่งพระวรสาร เพราะเหตุผลแท้จริงแห่งการดำเนินชีวิตและแห่งความหวังนั้นถูกบดบังอยู่


เราพบปัญหาดังกล่าวนี้ภายในจิตใจของผู้รับเจิม บ่อยครั้ง เรายังหาคำพูดที่ใช้ประกาศพระคริสตเจ้าอย่างตรงไปตรงมาและอย่างชัดเจนไม่ได้ เพราะ นอกเหนือไปจากชีวิตที่ให้แรงกระตุ้น ที่สามารถเป็นประจักษ์พยานและเสียสละตนเองถึงขั้นเป็นมรณสักขีแล้ว ชีวิตผู้รับเจิมยังต้องพบกับชีวิตจิตที่ดำเนินแบบครึ่งๆ กลางๆ การซึมซับคุณค่าของชนชั้นกลางและทัศนคติแบบบริโภคนิยม การบริหารงานที่ซับซ้อน อันเนื่องมาจากสิ่งเรียกร้องใหม่ๆ ทางสังคมและกฎเกณฑ์ของรัฐ อีกทั้งการประจญของการมุ่งแต่ประสิทธิผลและมุ่งแต่การกระทำเพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะบดบังคุณค่าอันดับแรกแห่งพระวรสารและแรงบันดาลใจฝ่ายจิต การให้ความสำคัญแก่โครงการส่วนตัวมากกว่าความบากบั่นของหมู่คณะย่อมจะทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวและความรักฉันพี่น้องต้องถูกทำลายไป

การสังเคราะห์ที่น่าพึงพอใจระหว่างชีวิตและงานแพร่ธรรมได้มาด้วยความยากเย็น กระนั้นก็ดี เราต้องเผชิญหน้ากับ “ความใหม่” ตามการเชื้อเชิญของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักรและการคาดหมายของมนุษยชาติ โลกที่สับสนและแตกเป็นเสี่ยงๆนี้กำลังต้องการคนที่ดำเนินชีวิตตามการชี้นำของเอกภาพระหว่างดวงใจ จิต และกิจการ




ในแสงสว่างแห่งศีลมหาสนิท

เรื่องราวของหญิงสะมาเรียที่บ่อน้ำยากอบเน้นให้เห็นมิติฝ่ายจิตของการรำพึงพิศเพ่ง ส่วนอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีเน้นแง่ของการหลุดพ้นจากตนเองในการช่วยเหลือดูแลผู้อื่น จึงเห็นได้ว่าภาพทั้งสองนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างลึกซึ้ง


หากเราเน้นความเกี่ยวเนื่องและมุ่งความสนใจไปที่พระคริสตเจ้า ผู้ประทับนั่งอยู่ที่บ่อน้ำยากอบ พระองค์ผู้ซึ่ง “แม้ว่าทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่ต้องหวงแหน” (ฟป 2,6) แต่ทรงลงมาเพื่อดูแลเราด้วยน้ำมันแห่งพระเมตตาและเยียวยารักษาเราด้วยพระโลหิต เราจึงพบน้ำพุหนึ่งเดียวที่เราสามารถตักตวงน้ำทรงชีวิตที่ทำให้เกิดเอกภาพระหว่างการเจิมถวายตัวและภารกิจของชีวิตผู้รับเจิม เอกภาพนี้คือที่มาแห่งแสงสว่างและพลังที่ก่อให้เกิด “ความใหม่” ของชีวิตแห่งการรับเจิม และต้นกำเนิดหนึ่งเดียวนี้คือศีลมหาสนิท


พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ตรัสในวันแห่งชีวิตรับเจิมว่า “พี่น้องที่รัก จงพบปะและพิศเพ่งพระเยซูเจ้าในรูปแบบพิเศษในศีลมหาสนิท ด้วยการร่วมการถวายบูชามิสซาและการนมัสการพระองค์ในแต่ละวันและทำให้ศีลมหาสนิทเป็นต้นกำเนิดและจุดหมายสูงสุดแห่งความเป็นอยู่และงานแพร่ธรรมของเรา”


ในเอกสาร Vita Consecrata พระสันตะปาปาทรงยืนยันว่า “ศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นการระลึกถึงการถวายบูชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นหัวใจของชีวิตของพระศาสนจักรและชีวิตหมู่คณะ ก่อให้เกิดการรื้อฟื้นการถวายชีวิตและความเป็นอยู่ของเราแต่ละคน ของโครงการของหมู่คณะและของงานแพ่ธรรมของเรา เราต้องพบปะกับองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกวันเพื่อจะนำชีวิตประจำวันของเราเข้าร่วมส่วนในพิธีรื้อฟื้นการบูชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (VC 4)


ในศีลมหาสนิท เราพบแบบอย่างและความสมบูรณ์แบบของชีวิตแห่งการรับเจิมของเรา




ความจำเป็นต้อง “ฟื้นฟู”

ถึงแม้สถานการณ์ของสังคมทุกวันนี้จะทำให้บางหมู่คณะรู้สึกสิ้นหวังหรือตกอยู่สภาพจำยอม กระนั้นก็ดี ผู้ได้รับเจิมต้องมี “ความใหม่” แห่งความหวังในการเปลี่ยนแปลงและในอนาคตที่ดีที่ต้องมุ่งถึง แม้บางคนอาจจะคิดว่า “ไม่มีอะไรจะให้หวังอีกแล้ว” กระนั้นก็ดี ภายในส่วนลึกของพวกเขายังมีความหวังใน “ความใหม่” อยู่ทั้งในระดับแต่ละบุคคลและในระดับหมู่คณะ


ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายคณะได้มีการประชุมสมัชชาใหญ่ เพื่อมองหาสนามงานใหม่และรูปแบบใหม่ของการเข้าถึงเอกลักษณ์จำเพาะของตน พวกเขาเสาะหารูปแบบใหม่ของการดำเนินชีวิตหมู่คณะ พวกเขามองหารูปแบบใหม่เพื่อตอบรับการท้าทายที่เกิดจากวิกฤติด้านศีลธรรมและด้านชีวิตจิตของสังคมปัจจุบันนี้


กระนั้นก็ดี การมุ่งเสาะหาความใหม่ใช่ว่าจะสอดคล้องกับมาตรฐานด้านพระวรสารเสมอไปก็หาไม่ หลายครั้ง ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่า “ฟื้นฟู” และคิดว่าเป็นแค่การปรับเข้ากับทัศนคติและวัฒนธรรมที่กำลังแพร่หลายอยู่ จนทำให้ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียคุณค่าด้านพระวรสารไป ไม่ต้องพูดก็ได้ว่า “ความมัวเมาในโลกีย์ ความโลภอยากได้ทุกสิ่งและความหยิ่งทะนงโอ้อวดในทรัพย์สมบัติ” (1ยน 2,16) ซึ่งเป็นลักษณะของโลกและวัฒนธรรมปัจจุบันนี้ กำลังสร้างอิทธิพลผิดๆ และก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนักในหมู่คณะและทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบการแพร่ธรรมซึ่งไม่สอดคล้องกับจิตตารมณ์และการดลใจแรกของสถาบัน


ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พระศาสนจักรต้องติดอยู่ระหว่างการดลใจของพระจิตซึ่งทรงเปิดแนวทางใหม่ให้ และการยั่วยุของโลก ซึ่งก่อให้เกิดการบิดเบือนและความหลงผิด ดังนั้น พระศาสนจักรจึงต้องไปที่ “บ่อน้ำ” แห่งศีลมหาสนิท ต่อเมื่อเรารู้จักอ่านเครื่องหมายแห่งกาลเวลาจากมุมมองของศีลมหาสนิท เราจึงจะสามารถวินิจฉัยรูปแบบใหม่ที่ทรงคุณภาพของการตอบรับการท้าทายของยุคได้


พระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิททรงกำลังรอคอยเราอยู่และทรงเรียกเรา “ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาพบเราเถิด เราจะให้ท่านได้พักผ่อน” (มธ 11,28) Melitone แห่ง Sardi ได้กล่าวในบทเทศน์วันปัสกาว่า “จงมาหาฉัน ทุกคนที่ได้รับการกดขี่จากบาป จงมารับอภัย ฉันคือการอภัยของพวกท่าน ฉันเป็นปัสกาแห่งการไถ่กู้ ฉันเป็นลูกแกะที่มอบชีวิตเพื่อพวกท่าน ฉันเป็นน้ำที่ชำระ ฉันเป็นชีวิตของพวกท่าน ฉันเป็นการกลับคืนชีพ ฉันเป็นความสว่าง ฉันเป็นความรอด ฉันเป็นกษัตริย์ของพวกท่าน ฉันจะนำพวกท่านไปสวรรค์ ฉันจะนำพวกท่านกลับสู่ชีวิตและฉันจะให้พวกท่านได้เห็นพระบิดาผู้ประทับอยู่ในสวรรค์ ฉันจะให้พวกท่านนั่งอยู่ทางขวามือของฉัน”


ความรักต่อพระคริสตเจ้าช่วยให้ผู้รับเจิมยึดเอาพระเยซูเจ้าผู้ประทับอยู่และทรงกระทำอย่างต่อเนื่องในศีลมสนิทให้เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตและการกระทำทุกอย่าง เมื่อเราอยู่รอบพระแท่นของพระองค์ แนวทางการแพร่ธรรมของเราก็จะสัตย์ซื่อต่อจิตตารมณ์ของพระองค์ และจะทำให้เราสามารถเลือกการกระทำได้อย่างถูกต้องและด้วยความหนักแน่น


พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อประกาศ “ข่าวดี” และวันนี้ พระองค์จะตรัสสิ่งที่พระองค์เคยตรัสกับนักบุญเปโตรที่กลับจากการหาปลาที่ไร้ผลว่า “จงลงไปในที่ลึก” (Duc in altum) (VC 22)

นี่คือการท้าทายของศีลมหาสนิท ชีวิตรับเจิมเป็น “การเตือนความจำถึงชีวิตและการกระทำของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์ในความสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับเพื่อนพี่น้อง ชีวิตแห่งการรับเจิมจึงเป็นความทรงจำของชีวิตและคำสอนของพระมหาไถ่”


มุมมองของศีลมหาสนิทนี้ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่แรงจูงใจฝ่ายจิตและทำให้กิจกรรมแพร่ธรรมมีชีวิตชีวา ทำให้การเจิมแห่งศีลล้างบาปไปสู่ความเต็มเปี่ยม และเป็นรากฐานแห่งเอกลักษณ์และพันธกิจของผู้รับเจิม


พระคริสตเจ้า พระศาสนจักรและมนุษยชาติเรียกร้องสามอย่างจากชีวิตผู้รับเจิม กล่าวคือ ให้ยืนยันความเป็นเอกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ให้สร้างความสำนึกในพระศาสนจักร และให้เป็นประจักษ์พยานแห่งพลังของความรักของพระคริสตเจ้า พระสมณะสาร Ecclesia in Europa สะท้อนให้เห็นสิ่งเหล่านี้เมื่อกล่าวว่า “โลกมีความต้องการความศักดิ์สิทธิ์ ประกาศก การประกาศข่าวดี และการรับใช้ของผู้รับเจิม” (Ecclesia in Europa, n. 37)



เพื่อยืนยันความเป็นเอกแห่งความศักดิ์สิทธิ์

เนื้อหาหลักของสารของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในโอกาสเริ่มต้นสหัสวรรษที่ 3 ของคริสตกาลคือการเน้นความเป็นเอกของความศักดิ์สิทธิ์คริสตชนก่อนสิ่งอื่นใดหมด

ความศักดิ์สิทธิ์ที่มีความหลากหลายในรูปแบบและวิธีการ คือเป้าหมายสูงสุดของบุคคลที่ “สละทุกชีวิตในโลกเพื่อเสาะหาพระเจ้าและอุทิศตนเพื่อรับใช้พระองค์ ‘โดยเลือกความรักของพระคริสตเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด’” (Vita Consecrata, n. 6.) ในโลกที่มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญแก่เรื่องของโลกแต่อย่างเดียวนี้ การเป็นประจักษ์พยานของการมอบตนทั้งสิ้นแด่พระเจ้าจึงเป็นเครื่องหมายที่สำคัญยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าแต่พระองค์เดียวสามารถทำให้จิตใจของมนุษย์เต็มเปี่ยมได้


พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในพระสมณะสาร Novo Millennio Ineunte ทรงยืนยันว่า “ก่อนอื่นหมด เราไม่ลังเลใจที่จะพูดว่า การริเริ่มด้านอภิบาลทุกชนิดต้องมีความเกี่ยวโยงกับความศักดิ์สิทธิ์” ( n. 30) แล้วทรงเสริมว่า “สิ่งนี้เรียกร้องให้มีความตระหนักว่า เนื่องจากศีลล้างบาปเป็นการเข้าสู่ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าผ่านทางการร่วมเป็นหนึ่งกับพระเยซูเจ้าและการประทับอยู่ของพระจิต การที่จะดำเนินชีวิตแบบครึ่งๆ กลางๆ ถือหลักจริยศาสตร์แค่ที่จำเป็นอย่างเสียไม่ได้และการปฏิบัติชีวิตศาสนาแบบผิวเผิน ถือได้ว่าเป็นความขัดแย้งกันในตัว” ( n.31)


รูปแบบหลากหลายแห่งชีวิตผู้รับเจิมที่พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เป็นการเสนอให้คริสตชนได้เห็นภาพลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์คริสตชน


เราต้องทำให้กระแสเรียกแห่งการติดตามพระคริสตเจ้าเข้มข้นขึ้น เราที่ได้รับเจิมจะต้องเห็นในคุณค่าของของสังคมที่เราได้รับเรียกให้รับใช้ โดยมองข้ามความเสียหายที่เกิดจากบาปและเสริมสิ่งที่ดีอยู่แล้วด้วยพลังแห่งพระวรสาร ตามแบบอย่างการรับเอากายของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นมนุษย์เหมือนเราทุกอย่าง ยกเว้นแต่บาป และด้วยการซึบซับเข้าสู่วัฒนธรรมที่เรามีชีวิตอยู่ ในเส้นทางสายนี้ ยิ่งเราซึบซับคุณค่าแห่งวัฒนธรรม ไม่ว่าวัฒนธรรมใด เราก็ยิ่งสามารถเป็นเครื่องมือนำคนไปถึงความศักดิ์สิทธิ์คริสตชนได้มากขึ้น” (Ecclesia in Africa, n. 87)


ในความพยายามที่จะทำให้ “แผนการของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติ” สำเร็จ ผู้รับเจิมต้องทำตนให้เข้าอยู่ในแนวของอุดมการณ์คริสตชนร่วมกับทุกคน พระศาสนจักรขึ้นอยู่กับประจักษ์พยานของหมู่คณะที่ “เต็มด้วยความยินดีและพระจิตเจ้า” (กจ 13,52) (Vita Consecrata, n. 45) “ถ้าขนาดคริสตชนยังได้รับเรียกไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ตามฐานะของแต่ละคนแล้ว สาอะไรกับผู้รับเจิม พวกเขาต้องทำให้รูปแบบชีวิตของพระคริสตเจ้าปรากฏเด่นชัดในชีวิตของพวกเขาโดยการถือตามคำแนะนำของพระวรสารเพื่อช่วยเสริมสร้างความเต็มเปี่ยมให้แก่พระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า” (Starting Afresh from Christ, n. 13)


การร่วมในกระแสเรียกแห่งศักดิ์สิทธิ์คริสตชน ไม่ควรเป็นอุปสรรคสำหรับผู้รับเจิม แต่จะต้องเป็นการกระตุ้นให้พวกเขาเติมเต็มความศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักรด้วยรูปแบบจำเพาะและไม่เหมือนใครของพวกเขา


ในแสงสว่างแห่งศีลมหาสนิท

ศีลมหาสนิทช่วยชี้นำและให้ศักยภาพแก่พระศาสนจักรในการจาริกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ศีลมหาสนิททำให้การบูชาของพระคริสตเจ้าเป็นปัจจุบันในทุกแห่ง การที่พระเยซูเจ้าทรงมอบถวายพระองค์เองแด่พระบิดาและแก่มนุษยชาติ เป็นการชี้ทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่เรา ในศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าทรงมอบแบบอย่างและวิธีการแก่เราและแก่มนุษย์ทุกคนในการ “มอบตน” แก่เพื่อนมนุษย์ และ “มอบความไว้วางใจ” ไว้ในพระบิดาเจ้า ในศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าทรง “มอบพระองค์” แก่มนุษยชาติให้เป็นดังที่ระลึก ในศีลมหาสนิท ผู้รับเจิมเรียนรู้เช่นเดียวกับนักบุญเปาโล ที่จะพูดว่า “ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2,20)


เอกลักษณ์และภารกิจของผู้รับเจิมเป็นการต่อเนื่องภารกิจของพระคริสตเจ้าและขึ้นอยู่กับพระองค์ในทุกอย่าง ดังนั้น พระทรมานของพระคริสตเจ้าจึงเป็นพลังและการร่วมทนทรมานเพื่อมนุษยชาติสำหรับผู้รับเจิมทุกคน

ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ พระเยซูเจ้าทรงทำให้เราเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ เราจะถวายพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เพื่อเป็นค่าไถ่สำหรับความรอดของมนุษยชาติได้อย่างไร พระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจให้แก่รูปแบบชีวิตของผู้รับเจิม เพื่อทำให้แต่ละช่วงเวลาเป็นเวลาแห่งพระหรรษทาน และเช่นนี้ คำเตือนใจของนักบุญเปาโลจะได้กลายเป็นความจริงสำหรับเรา “เราจงแบกความตายของพระเยซูเจ้าไว้ในร่างกายของเราอยู่เสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูจ้าจะปรากฏอยู่ในร่างกายของเราด้วย” (2 คร 4,10)


ศีลมหาสนิทสร้างความผูกมัดระหว่างร่างกายของเรากับพระกายของพระคริสตเจ้า พระกายที่ทรงมอบไว้ในมือของคนบาปและถูกประหาร เพื่อทำให้พระสิริมงคลนิรันดรของพระบิดาได้เป็นประกายบนสีพระพักตร์ของพระบุตร ในทำนองเดียวกัน ร่างกายของเราต้องร่วมส่วนในการทำให้แผนการแห่งความรักและความรอดของพระเจ้าผ่านทางพระบุตรได้เป็นความจริงสำหรับทุกคน


นี่คือโฉมหน้าแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้รับเจิมต้องทำให้เป็นปัจจุบัน



สร้างความสำนึกในพระศาสนจักร

สิ่งเรียกร้องอย่างที่สองสำหรับผู้รับเจิมคือการนำความสำนึกใหม่ๆ มาให้แก่ชีวิตจิตและการกระทำของตน อีกทั้งทำให้หมู่คณะเป็น “บ้านและโรงเรียนแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (Novo Millennio Ineunte, n. 43)


ถึงแม้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความก้าวหน้าด้านการศึกษาเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของชีวิตผู้รับเจิมตามแนวทางเอกสารต่างๆ อาทิ Vita Consecrata, Fraternal Life in Community และ Starting Afresh from Christ เป็นต้น กระนั้นก็ดี ยังมีหลายประเด็นที่ยังคลุมเครืออยู่


ความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกัน” (communion) เป็นคำหลักสำหรับพระศาสนจักรในปัจจุบันนี้ เอกลักษณ์จำเพาะของสมาชิกของพระศาสนจักรจึงอยู่ที่ความสัมพันธ์และการร่วมส่วนในพันธกิจของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรในระดับต่างๆ (Christifideles Laici, n. 8) เอกลักษณ์จำเพาะนี้จะเข้มข้นแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณภาพแห่งความสัมพันธ์กับพี่น้องทั้งชายและหญิงที่ร่วมความเชื่อเดียวกัน


ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์เชิงคุณภาพในพระศาสนจักรกับบุคคลที่มีพระจิตของพระเจ้าชี้นำและ “นอบน้อมตามพระสุรเสียงของพระบิดา อีกทั้งนมัสการพระเจ้าในจิตและความสัตย์จริง บุคคลเหล่านี้ติดตามพระคริสตเจ้าผู้ยากจน สุภาพและแบกกางเขนเพื่อสมจะได้ร่วมส่วนในพระสิริมงคลของพระองค์” (Lumen Gentium, n.

41)


ผู้รับเจิมต้องสร้างประสบการณ์ของ “การอพยพ” พวกเขาต้องรู้จักมองเลย “ตัวตน” ไป ออกจากตนเองและมองหาความหมายของชีวิตของตนในหมู่คณะและในงานแพร่ธรรม เอกลักษณ์แห่งพระพรของพระจิตเจ้าของแต่ละสถาบันเด่นชัดและเข้มข้นขึ้นโดยทางกิจกรรมแห่งความสัมพันธ์ที่กระทำในพระศาสนจักรและในสังคม


บ่อยครั้ง มีการใช้ต้นไม้เพื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ของครอบครัวผู้รับเจิม ผู้ตั้งคณะเปรียบดังลำต้นและคณะผู้ใหญ่สูงสุดของคณะเป็นดังกิ่งก้าน ในปี 1586 ที่เมืองเวนิส ได้มีการพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งที่มีการนำลักษณะของต้นไม้มาเป็นเนื้อหาหลัก ต้นไม้นั้นโยงไปถึงเรือลำหนึ่ง ในเรือลำนั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศาสนจักร มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งปลูกอยู่ เรือแล่นฝ่าคลื่นแรงและไปถึงท่าเรือได้อย่างปลอดภัยโดยอาศัยความช่วยเหลือของผู้ศักดิ์สิทธิ์ ภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตผู้รับเจิมมีวิวัฒนาการได้ดีต่อเมื่อยึดติดกับลำต้นและลงรากลึกในพื้นดินอุดมสมบูรณ์ของพระศาสนจักร


ภาพของต้นไม้และเรือช่วยให้เราเข้าใจชีวิตผู้รับเจิมได้สองรูปแบบ รูปแบบแรกคือ ต้นไม้ชี้บอกถึงความมั่นคง ซึ่งทำให้ครอบครัวผู้รับเจิมยึดติดกับความพึงพอใจในตนเอง รูปแบบที่สองคือ เรือชี้บอกถึงชีวิตผู้รับเจิมที่เป็นศักยภาพและเป็นการรับใช้พระศาสนจักรไปสู่ท่าเรือและสถานที่กำบังอันปลอดภัย


การฟื้นฟู “จิตทรงชีวิต”

ความสัมพันธ์ที่เต็มด้วยชีวิตกับพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายทิพย์ของพระองค์ จะทำให้การฟื้นฟูสถาบันแห่งชีวิตผู้รับเจิมและงานแพร่ธรรมดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้อง การฟื้นฟูดังกล่าวไม่ใช่เป็นการตอบรับการเรียกร้องประสามนุษย์ แต่เป็นการเดินเคียงข้างไปกับพระเยซูเจ้าเหมือนศิษย์แห่งเมืองเอมมาอุสในวันปัสกา เป็นการปล่อยให้พระวาจาของพระองค์ทำให้จิตใจเราอบอุ่นและทำให้การ “บิขนมปัง” เป็นการเปิดตาเราเพื่อพิศเพ่งพระพักตร์ของพระองค์ การกระทำดังกล่าวจะทำให้ไฟแห่งความรักลุกร้อนในตัวผู้รับเจิม ซึ่งจะยังผลให้ผู้รับเจิมกลายเป็นผู้นำความสว่างและผู้ให้ชีวิตในพระศาสนจักรและในโลก

ในแนวทางนี้ การจาริกสู่การฟื้นฟูไม่อยู่แค่การกลับไปสู่ต้นกำเนิดของแต่ละสถาบันเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้ความร้อนรน ความยินดี และประสบการณ์แห่งต้นกำเนิดได้หวนกลับมาในรูปแบบใหม่และไม่ซ้ำแบบ ด้วยวิธีนี้ ความสัมพันธ์แรกเริ่มที่เปิดกว้างและเป็นอิสระจะทำให้เกิดการพัฒนาความเข้าใจในพระพรพิเศษของแต่ละสถาบันและทำให้พระพรของพระจิตที่ได้ให้กำเนิดแก่ครอบครัวผู้รับเจิมได้กลายเป็นความจริง


การฟื้นฟูชีวิตผู้รับเจิมแต่ละครั้งเป็นดังของขวัญสำหรับพระศาสนจักรที่ช่วยทำให้พระศาสนจักรบรรลุถึงท่าเรือแห่งจุดหมายปลายทาง ผู้รับเจิมพึงหันหน้าเข้าหากันเพื่อเผชิญกับอันตรายของการเดินเรือและช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อทำให้เรือแล่นไปอย่างปลอดภัย โดยไม่ยอมอยู่แต่ที่ชายฝั่งและยึดติดกับความมั่นคงของสถาบันของตนแต่อย่างเดียว ผู้รับเจิมไม่ใช่ “ประภาคาร” แต่ต้องเป็นกะลาสีในเรือของพระศาสนจักร ประภาคารไม่รู้เกี่ยวกับอันตราย แต่กะลาสีจะประสบกับอันตรายทุกวัน อันตรายจึงเป็นเหมือนอาหารประจำวันสำหรับกะลาสีแต่ละคน


ชีวิตผู้รับเจิม ซึ่งฝังรากลึกในดินอุดมสมบูรณ์ของพระศาสนจักรและได้รับการหล่อเลี้ยงจากเทววิทยาและชีวิตจิตแห่งคำแนะนำของพระวรสาร จะพบกับความสว่างและพละกำลังที่จำเป็นเพื่อเผชิญหน้ากับการเลือกที่กล้าหาญเพื่อตอบรับการเรียกร้องของมนุษยชาติอย่างมีประสิทธิผล ชีวิตผู้รับเจิมจะมุ่งสู่ความเข้าใจใหม่ตามแนวทางของพระพรพิเศษและสถานภาพของตน มุ่งสู่การฟื้นฟูศักยภาพของชีวิตจิตที่มีความเป็นพระศาสนจักรและหมู่คณะ ตลอดจนการทำงานแพร่ธรรมที่จริงจังและทุ่มเทมากขึ้น จะช่วยผู้รับเจิมฝังรากลึกในหมู่คณะคริสตชนที่พวกเขารับใช้ด้วยความมั่นคงและด้วยความเข้มแข็งมากขึ้น


ในความพยายามที่ฟื้นฟู “จิตทรงชีวิต” นี้ ศีลมหาสนิทเป็นต้นธารและโรงเรียนแห่งการอบรมตามลักษณะความเชื่อและการรับใช้ของแต่ละสถาบัน พระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทเป็นฐานของความเคารพต่อขนบธรรมเนียมที่ดีงามของแต่ละสถาบันและเป็นฐานของการอบรมที่ทำให้ผู้รับเจิมมีความไวต่อเสียงร้องที่มาจากสังคมที่กำลังป่วยอยู่ทุกวันนี้


ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ พระเยซูเจ้าทรงย้ำว่า “จงทำสิ่งนี้เพื่อระลึกถึงเรา” (ลก 22,19) ทั้งพระคัมภีร์มีการใช้คำว่า “รำลึก” คำพูดที่เป็นกุญแจของพันธสัญญาคือ “จงจำไว้” พระเจ้าทรงเรียกร้องท่าทีแห่งจิตใจนี้จากประชากรของพระองค์ซึ่งตั้งอยู่บนความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และท่าทีแห่งการฟังและการนบนอบพระวาจาของพระองค์ ถ้าไม่มีการระลึกถึง “การอพยพ” และปัสกา อิสราเอลในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าคงยังไม่ได้เข้าถึงชีวิต การระลึกถึงอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นและคำพูด จะทำให้เราเข้าใจในเหตุการณ์ อีกทั้งให้ความหมายแก่ปัจจุบันและให้ความกระจ่างเชิงประกาศกแก่อนาคต

การระลึกถึงไม่ใช่การคิดถึงสิ่งที่ไม่มีแล้วในปัจจุบัน ในความหมายของพระคัมภีร์แล้ว การระลึกถึงคือความทรงจำ กล่าวคือ ความทรงจำที่มีประสิทธิผลในการนำไปสู่การฟื้นฟู การทำให้เป็นจริง และการต่อเนื่องของสิ่งที่อยู่ในใจ ความทรงจำจึงเป็นการทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตต่อเนื่องไปในปัจจุบันนั่นเอง


เพื่อจะฝึก “การระลึกถึง” เราต้องมีความสำนึกถึงความสำคัญแห่ง “การให้” และ “การฟัง” ศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นปัสกาของพระเยซูเจ้า เป็นการประทับอยู่ของพระองค์ เป็นการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ เป็นการหล่อเลี้ยงตัวเราที่ต้นธารแห่งชีวิต เป็นความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นสุดยอดและศูนย์กลางแห่งชีวิตของเราในฐานะผู้ได้รับการล้างและได้รับการเจิม


ศีลมหาสนิทนำเราย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์และศักยภาพแรกเริ่มของพระศาสนจักรและของสถาบันของเรา ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจุบันและทำให้มีประสิทธิผลในจิตใจและชีวิตของหมู่คณะ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง เป็นการทำให้ความปรารถนาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “เราปรารถนาอย่างยิ่งจะกินปัสกาครั้งนี้ร่วมกับท่านก่อนจะรับทรมาน” กลายเป็นความจริงขึ้นมา (ลก 22,15)


สถาบันแห่งชีวิตผู้รับเจิมแต่ละแห่งเป็นการทำให้ความปรารถนาของพระเยซูเจ้าเป็นจริงในประวัติศาสตร์ เมื่อมีการเรียนรู้ที่จะ “ระลึกถึง” สถาบันแต่ละแห่งจะพบหนทางเพื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายและพบกับมิติแห่งเอกลักษณ์จำเพาะของตนในพระศาสนจักรและให้ชีวิตใหม่แก่ความร้อนรนด้านธรรมทูตด้วยการรับใช้ที่สุภาพและกระตือรือร้นใน “การประกาศพระวรสารแบบใหม่” ของพระศาสนจักรตามความคาดหมายของโลก



เป็นประจักษ์พยานให้แก่พลังและความรักของพระคริสตเจ้า

การท้าทายอย่างที่สามสำหรับชีวิตผู้รับเจิมในทุกวันนี้คือ การเป็นประจักษ์พยานของ “องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งปัสกา” ให้แก่มนุษย์โดยทางความรัก


พันธะในการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยพลังแห่งพระวรสารได้เคยเป็นและยังคงเป็นการท้าทายในช่วงเริ่มต้นสหัสวรรษที่สามแห่งคริสตกาล


ข่าวดีของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับความรอด ความรัก ความยุติธรรมและสันตินั้น ไม่เป็นที่ยอมรับของโลกปัจจุบันนี้เสมอไป กระนั้นก็ดี คนทุกวันนี้ต้องการพระวรสาร ความเชื่อที่นำความรอด ความหวังที่ให้แนวทาง และความรักที่มอบตนมากกว่ายุคใด


ประวัติศาสตร์ปัจจุบันนี้ทำให้คนต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใหม่ซึ่งบางครั้งก็เต็มด้วยความหวังสำหรับชีวิต บางครั้งก็ก่อให้เกิดความกลัว ความทุกข์ทรมานและความตาย รวมทั้งสถานการณ์แห่งความก้าวหน้าและอิสรภาพซึ่งแฝงไว้ซึ่งความเป็นทาสและการดิ้นรนในคน ในระหว่างประชาชนและในระหว่างชาติ ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้รับเจิมเสี่ยงที่จะมองข้ามการที่ตนต้องอยู่ฝ่ายคนจนและคนถูกกดขี่โดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงเลย แทนที่ผู้รับเจิมจะนำคนไปหาพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระผู้กอบกู้แต่ผู้เดียว กลับขับไล่ไสส่งคนให้ห่างพระองค์ไป


ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยความสิ้นหวัง ปัจจุบันจึงเป็นเหมือนโอกาสที่พวกเขาต้องฉกฉวยประโยชน์ให้มากที่สุด มากขึ้นเรื่อยๆ รวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อใดที่ไม่ได้รับความพึงพอใจทางประสาทสัมผัส พวกเขาก็พากันหมดหวัง


ในสถานการณ์เช่นนี้ พวกเขาตั้งคำถามถามผู้รับเจิม ซึ่งดำเนินชีวิตด้วยพลังแห่งความเชื่อในอนาคตและตั้งความหวังในชีวิตหน้า


ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้รับเจิมต้องเป็นประจักษ์พยานที่เด่นชัด เป็นเหมือน “ศาสนบริการ” แบบใหม่ ไม่ต่างกับ “ศาสนบริการของสงฆ์” ดังที่มีเขียนไว้ในเอกสาร Starting Afresh from Christ ว่า “ในรูปแบบเดียวกันกับพระเยซูเจ้า ทุกคนที่พระเจ้าทรงเรียกให้ติดตามพระองค์ได้รับการเจิมและส่งไปสานต่อภารกิจของพระองค์ในโลกนี้ ชีวิตผู้รับเจิม ซึ่งได้รับการชี้นำโดยการกระทำของพระจิตเจ้า ต้องกลับเป็นภารกิจ ยิ่งผู้รับเจิมยอมให้พระคริสตเจ้าหล่อหลอมตนมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งจะทำให้พระคริสตเจ้าประทับและมีบทบาทในประวัติศาสตร์แห่งความรอด เพื่อความรอดของมนุษย์ทุกคน ผู้รับเจิมพึงเปิดใจต่อความต้องการของโลกตามมุมมองของพระเจ้า ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถชี้ไปสู่อนาคตด้วยความหวังแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ พร้อมที่จะติดตามแบบฉบับของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงมาอยู่ท่ามกลางเราเพื่อเรา “จะได้มีชีวิตและชีวิตที่เต็มเปี่ยม” (ยน 10,10)


ผู้รับเจิม สามารถตักตวงความร้อนรนใหม่ๆ สำหรับชีวิตหมู่คณะและการรับใช้มนุษชาติจากศีลมหาสนิท ซึ่งจะเป็นการทำให้กางเขนยังคงเป็นปัจจุบัน กางเขนที่พระคริสตเจ้าทรงถวายองค์เป็นบูชาเพื่อไถ่กู้ผู้ที่เป็นทาสของบาปทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้ผู้ที่อยู่ห่างไกลจะได้เป็นพี่เป็นน้องกันและเข้าถึงพระบิดาเจ้า ในโรงเรียนแห่งศีลมหาสนิทนี้ ผู้รับเจิมจะได้รับการฝึกฝนให้มีความสงสารที่แท้จริงต่อมนุษยชาติและตอบรับการเชื้อเชิญให้ทำภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย โดยร่วมส่วนในความตายที่มีอยู่ในร่างกายและวิญญาณของมนุษย์ เพื่อนำความหวังในชีวิตหน้าให้แก่พวกเขา


ทุกครั้งที่ร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ผู้รับเจิมเรียนรู้ที่จะเป็นดัง “ชาวสะมาเรียผู้ใจดี” ตามเยี่ยงอย่างของพระคริสตเจ้าและพระจิตของพระองค์ ซึ่งจะทำให้ผู้รับเจิมแบ่งปันความหวังให้แก่ทุกคนที่พวกเขาพบปะ ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ “การรื้อฟื้น” การบูชาความตายที่รุนแรงของพระเยซูเจ้า กลายเป็นการบูชาที่ไร้ซึ่งความรุนแรงของการมอบตนให้แก่ผู้อื่น พระเยซูเจ้าไม่ได้ถูกบูชายัญ แต่เป็นพระองค์เองที่ทรงบูชาพระองค์ด้วยการมอบพระองค์ทั้งครบให้แก่มนุษย์ และนี่คือหลักของการร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้อื่น


พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็นทั้งเครื่องบูชา การระลึกถึง และการร่วมโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ พระวจนาตถ์ผู้รับเอากายทรงถวายพระองค์เป็นเครื่องบูชา ใครก็ตามที่ยึดมั่นกับพระธรรมล้ำลึกนี้ด้วยความเชื่อจะได้มาซึ่งพระพรของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น “ของขวัญ” ที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้น ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ การร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันจึงเกี่ยวโยงกับการถวายบูชาของพระคริสตเจ้า ถ้า “ของขวัญ” ไม่เป็นที่ยอมรับ โศกนาฏกรรมและความทรมานของยูด้าสก็จะต้องซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีกครั้ง เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในศาลาธรรมเมื่อคนเลิกติดตามพระองค์หลังจากที่ได้ยินพระองค์ประกาศว่าพระองค์จะมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์เพื่อให้ชีวิตแก่โลก (ยน 6,64-70)


ทุกกิจการด้านอภิบาล การรับใช้พี่น้องผู้ต่ำต้อย คนจน คนป่วย คนที่ถูกกดขี่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศีลมหาสนิท เป็นการกระทำตามพระบัญชาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” ไฟแห่งความรักของพระคริสตเจ้าครอบคลุมทุกสิ่งและ

ทำให้กลายเป็นพันธะและการมอบตนแก่ผู้อื่น


ชีวิตผู้รับเจิม ได้รับพลังจากศีลมหาสนิทเพื่อออกมาจากสถานการณ์ที่กีดกั้นพวกเขาอยู่ เพื่อจะสามารถข้ามสิ่งกีดขวาง เอาชนะท่าทีแห่งการเอาแต่ใจตนเองเป็นหลัก และทำให้มองเห็นทุกสิ่งแห่งปัจจุบันด้วยความชัดเจนอย่างแท้จริง


การบูชาแห่งการสรรเสริญของผู้รับเจิมทำให้เกิดความสงสารต่อมนุษยชาติ กระตุ้นให้ผู้รับเจิมเติมเต็มสิ่งที่ยังขาดอยู่ในพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า การรับใช้ การกลับเป็นบุตรแห่งพระวรสาร และความชื่นชมยินดีของผู้รับเจิมจึงมีพื้นฐานอยู่ในปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อความรอดของมนุษย์ทุกคน



มุ่งสู่ปัสกาสากล

พลังแห่งศีลมหาสนิทจะทำให้ทุกอย่างใหม่หมด ชีวิตของพระคริสตเจ้าดำเนินต่อไปในศีลมหาสนิท อิทธิพลแห่งศีลมหาสนิทแผ่คลุมไปถึงมิติแห่งวัตถุและจักรวาลทั้งครบ สิ่งสร้างทุกอย่างที่มนุษย์ให้การดูแลรวมอยู่ในพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ในศีลมหาสนิท การสร้างของพระเจ้าและแรงงานของมนุษย์หลอมเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งความรอด “สรรพสิ่งต่างกำลังรอคอยอย่างกระวนกระวาย เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงบันดาลให้บรรดาบุตรของพระองค์ปรากฏในพระสิริรุ่งโรจน์” (รม 8,19) และมนุษย์ที่ได้รับการฟื้นฟูจากศีลมหาสนิทจะออกแรงเพื่อฟื้นฟูจักรวาลทั้งครบ เพื่อให้ทุกชีวิตเต็มเปี่ยม ชีวิตผู้รับเจิมพบแสงสว่างชี้นำไปสู่ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างในศีลมหาสนิทซึ่งก่อให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกสิ่งเป็นไปตามแผนการของพระเจ้าด้วย “การมอบตน” และ “การรับใช้”



เริ่มต้นใหม่จาก “การอบรม”

หากการอบรมมีบทบาทอย่างมากในด้านต่างๆ ของชีวิตพระศาสนจักร การอบรมก็ย่อมจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับชีวิตแห่งผู้รับเจิม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนการอบรม ผู้รับการอบรมจะต้องได้รับการฝึกฝนให้ทุ่มเทพลัง ความสามารถ และอารมณ์ความรู้สึกในการติดตามพระคริสตเจ้าอย่างถึงรากถึงโคน เราจะพบว่าพระองค์ผู้เดียวทรงเป็นต้นกำเนิดชีวิตและสามารถทำให้จิตใจของมนุษย์เต็มเปี่ยม


การพบปะกับพระองค์ ผู้ซึ่ง “ถึงแม้จะทรงมีธรรมชาติพระเจ้า แต่ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน...ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2,6) เพื่อทำให้มนุษย์มีธรรมชาติพระเจ้าและคล้ายคลึงพระองค์ ชีวิตของมนุษย์จึงฝังตัวอยู่ในการประทับอยู่ของพระองค์ มีเป้าหมายที่พระองค์ และ “มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับพระคริสตเยซู” (ฟป 2,5) ประสบการณ์แห่งความรักของพระเจ้าจะทำให้ผู้รับเจิมหนุ่ม-สาวตอบรับความรักของพระองค์ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงแบบการแต่งงาน เพื่อว่าความรักและคุณค่าอื่นๆ จะค่อยๆ หมดความหมายไป ตามที่นักบุญเปาโลได้กล่าวไว้ว่า “สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าละทิ้งเพราะพระคริสตเจ้า นับแต่บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีก เมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่า คือ การรู้จักพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยอมสูญเสียทุกสิ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูล เพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไร...” (ฟป 3,7-9)


การทนทรมานเพื่อพระคริสตเจ้า” กลายเป็นการร่วมส่วนกับพระองค์ใน “การทนทรมานเพื่อมนุษยชาติ” ผู้รับเจิม หนุ่ม-สาวจะได้รับการกระตุ้นให้ประกาศพระวรสารแห่งบุญลาภแก่คนจน คนไร้ความหวัง และคนถูกกดขี่ พวกเขาจะร่วมเดินไปกับบุคคลเหล่านี้ในเส้นทางอันเจ็บปวดแห่งชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า พวกเขาจะเปิดใจกว้างให้กับความหวัง และเดินไปตามเส้นทางแห่งความรักและการมอบตนเพื่อผู้อื่น


การคิดว่า การอบรมเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตนั้น เป็นความคิดที่ผิด ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วนี้ จำต้องมีการอบรมต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในวัย สถานการณ์ และวัฒนธรรมใด “ผู้รับเจิมพึงพร้อมที่จะซึมซับความจริงและความงดงามที่เกิดขึ้นรอบข้าง แต่เหนืออื่นใด ผู้รับเจิมต้องถูกหล่อหลอมจากความจริงในชีวิตประจำวัน จากชีวิตหมู่คณะ จากเพื่อนพี่น้องที่เราพบปะในแต่ละวัน ทั้งจากสิ่งเล็กน้อยและสิ่งใหญ่ จากการภาวนาและงานแพร่ธรรม ในความยินดีและความทุกข์ จนกระทั่งถึงวันตาย” (Starting Afresh from Christ, n. 15)



สรุป

ขอให้ประสบการณ์ของแม่พระ พระมารดาของพระเจ้าและมารดาแห่งพระศาสนจักร ผู้ทรงยอมให้สถานการณ์แห่งชีวิตของพระบุตรหล่อหลอมชีวิตของพระนาง “ส่วนพระนางมารีย์ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัยและยังทรงคำนึงถึงอยู่” (ลก 2,19) ได้ทรงชี้นำผู้รับเจิมทุกคนและช่วยให้ทุกคนมั่นคงในความศรัทธาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า และโปรดให้ผู้รับเจิมก้าวเดินไปในเส้นทางใหม่ของการแพร่ธรรมด้วยความรักที่กว้างขวางและอิสระอย่างแท้จริง .