ชีวิตคือการพัฒนาที่ต่อเนื่อง
ในด้านร่างกาย การพัฒนาเป็นไปโดยธรรมชาติ อย่างเป็นระบบ เพื่อชีวิตจะได้ดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน การพัฒนาจึงประกอบด้วยการเสื่อมสภาพและการสร้างใหม่อันเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง
ในด้านสติปัญญา การพัฒนาเป็นไปโดยอาศัยความพยายามของแต่ละคนที่จะเรียนรู้ รับรู้ และสังเคราะห์ ทำให้เกิดความรู้ วิสัยทัศน์ และทัศนคติ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการดำเนินชีวิตในสังคม
ในด้านของจิตวิทยา การพัฒนาเป็นไปตามวัยวุฒิโดยอาศัยการอบรม การสังเกต การสังเคราะห์ และการฝึกฝนจนกระทั่งเกิดวุฒิภาวะสอดคล้องกับวัยในการเข้าใจตนเองและพฤติกรรมแห่งตน ในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น
ในด้านของจิตวิญญาณ การพัฒนาเป็นการเปิดสู่มิติเหนือธรรมชาติและทำให้มิติเหนือธรรมชาตินี้ควบคุม ชี้นำ และให้แรงบันดาลใจแก่การดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ในขณะที่ชีวิตฝ่ายร่างกายต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด ชีวิตฝ่ายสติปัญญา ฝ่ายจิตวิทยา และชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชีวิตทั้งครบมีความเต็มเปี่ยม มีคุณค่า และมีคุณภาพด้วย
ทว่า เพื่อจะสามารถพัฒนาได้ในทุกด้าน สิ่งหนึ่งที่จำเป็นและเป็นพื้นฐานเพื่อการพัฒนาคือ การมีความชื่นชอบในตนเอง
ความชื่นชอบในตนเองคือการรับรู้ถึงคุณค่าของตนเอง รับรู้ในศักดิ์ศรีแห่งตน รับรู้ในความเป็นหนึ่งเดียว – ปัจเจกภาพแห่งตน
หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง ความชื่นชอบในตนเองคือการเข้าถึงและการรับรู้แห่งตนอย่างที่เป็นจริงๆ ในฐานะที่เป็นพระฉายาของพระเจ้า
ความชื่นชอบต่อตนเองก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง การสำนึกในความเป็นตน และความปลอดภัยกับตน
ความรู้สึกปลอดภัยกับตนเองหมายถึงการที่บุคคลหนึ่งกล้าที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กล้าในความรู้สึกของตน และไว้วางใจในพระเจ้า
ความไว้วางใจในพระเจ้าไม่หมายถึงเพียงแค่การมั่นใจในพระเจ้า ในความรักและความเอาใจใส่ของพระองค์ หรือในความช่วยเหลือของพระองค์เท่านั้น แต่หมายถึง การรู้ว่าพระเจ้าทรงรับฉันอย่างที่ฉันเป็นด้วย เพราะนั่นคือวิสัยของพระเจ้าพระองค์ทรงเริ่มกับเราจากสิ่งที่เราเป็น แล้วทรงนำเราไปใส่สิ่งที่พระองค์ทรงอยากให้เราเป็นในฐานะบุตรของพระองค์
ความไว้วางใจและความชื่นชอบต่อตนเองจึงเสริมกันและกัน กล่าวคือ เนื่องจากฉันรู้ว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ฉันมีคุณค่าพระอยู่ในตัว อันเป็นผลจากการรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้า ฉันจึงสามารถรับตัวฉันได้อย่างที่ฉันเป็น สามารถมั่นใจในความดีที่อยู่ในตัวฉัน และสามารถที่เสนอตัวฉันให้แก่คนอื่นอย่างที่ฉันเป็น
หากมองดูสถานการณ์ของคนในสังคมทุกวันนี้ เราจะเห็นว่า ที่มาของปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะในระดับส่วนตัวหรือในระดับสังคมนั้นมาจากการขาดความชื่นชอบต่อตนเองอย่างแท้จริง
เพียงแค่หยิบประเด็นของปัญหาเด็ก เยาวชน และคนรุ่นหนุ่มสาวทุกวันนี้ที่ตามกระแสค่านิยมและปฏิบัติตัวโดยไม่คำนึงถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี และหลักจริยธรรม เน้นแค่ความถูกใจและความสนุกสนานเฉพาะหน้า ทำราวกับว่าไม่มีอะไรจะเสีย จนต้องสูญเสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไป
การขาดความชื่นชอบต่อตนเองของคนในสังคมทุกวันนี้ไม่อยู่เฉพาะระดับของเด็ก เยาวชน และวัยหนุ่มสาวเท่านั้นแต่มีอยู่ในทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งเห็นได้จากการที่ไม่กล้าที่จะยืนหยัดและป้องกันความคิดเห็นของตนเมื่อต้องพบกับคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองมากกว่า ไม่เชื่อว่าตนสามารถทำอะไรได้เลยหรือเอาแต่คิดว่าคนอื่นทำได้ดีกว่า
แม่ที่ลูกโตแล้วและแยกออกไปอยู่ที่อื่นมักจะเกิดความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า และพบว่าความมั่นใจในคุณค่าของตนเองที่สร้างมาต้องพังลงต่อหน้าต่อตา ทั้งนี้เพราะก่อนนี้แม่จะพบคุณค่าแห่งตนในตัวลูก แต่บัดนี้ต้องหันมามองหาคุณค่าในตนก็พบว่าไม่มีเสียแล้ว
คนที่มีอายุระดับหนึ่งมักจะคิดว่าตนไม่มีความสามารถหรือคุณค่าอะไรมากมาย ทั้งนี้และทั้งนั้น ในวัยเด็กไม่มีใครเคยให้ความสำคัญแก่พวกเขานั่นเอง
เยาวชนหลายคนมีความสงสัยในคุณค่าของตน ต้องเป็นทุกข์ใจเพราะไม่มีใครให้ความสำคัญ ชอบเก็บตัว แต่ก็โมโหตนเองเมื่อหน้าแดงเพราะอาย เพราะมีใครพูดถึงในแง่ลบหลายคนกลัวว่าจะไม่เป็นที่พอใจคนอื่นหรือไม่เป็นที่ยอมรับ
การขาดความชื่นชอบต่อตนเองมักจะมาจากภูมิหลังในวัยเด็ก โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่เด็กมีกับพ่อแม่และท่าทีการเลี้ยงดูของพ่อแม่
เด็กที่พ่อแม่ไม่ให้ความรัก ความใกล้ชิด ความอบอุ่นมักจะเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในคุณค่าแห่งตน เนื่องจากเข้าใจว่าตนไม่มีคุณค่าเพียงพอสำหรับความรักของพ่อแม่ ความไม่มั่นใจนี้นำไปสู่การมีภาพลักษณ์เชิงลบของตน ซึ่งไม่เอื้อต่อการชื่นชอบต่อตนเองเลย นอกนั้นเด็กที่ได้รับความรักและความสนใจจากพ่อแม่น้อยกว่าพี่หรือน้อง ทั้งในทางปฏิบัติและทางคำพูดคำจาของพ่อแม่ ย่อมจะรู้สึกในปมด้อยซึ่งนำไปสู่การไม่ชื่นชอบตนเองในที่สุด
วิธีการอบรมในวัยเด็ก ในครอบครัว ในโรงเรียน และในบ้านอบรมก็มีส่วนในการสร้างหรือทำลายความชื่นชอบต่อตนเองได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการอบรมในบริบทไทยที่พ่อแม่และผู้อบรมมักจะเน้นข้อบกพร่องมากกว่าความดีในผู้รับการอบรม
พ่อแม่ที่ไม่ชมลูกเกรงว่าจะทำให้ลูกเหลิงมักจะคอยจ้ำจี้จ้ำไชข้อบกพร่องที่พบเห็นในลูกแต่ละคน และมักจะเข้าใจว่าการอบรมคือการช่วยขจัดข้อบกพร่อง ยิ่งข้อบกพร่องได้รับการแก้ไขและลดน้อยลงเท่าใดก็ยิ่งถือว่าการอบรมประสบผลสำเร็จ การอบรมในแง่นี้จึงประกอบด้วยการชี้ข้อบกพร่องตักเตือน ลงโทษ… ส่วนการชมก็มักจะเน้นชมความพยายามในการแก้ไขข้อบกพร่องได้สำเร็จมากกว่าจะเป็นการชมสิ่งดีที่อยู่ในตัวลูก การอบรมจึงเน้นข้อบกพร่องจนทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าตนมีแต่ข้อบกพร่อง
ในทำนองเดียวกัน การอบรมที่โรงเรียนและที่บ้านอบรมก็มักจะดำเนินไปในทำนองเดียวกัน
ในหลักของการพัฒนานั้น การพัฒนาต้องเริ่มจากสิ่งที่มีไปสู่สิ่งที่น่าจะมี
การพัฒนาใดที่เริ่มจากสิ่งที่ขาดก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการพัฒนา ในความหมายแห่งคำ หากแต่เป็นการเริ่มต้นอะไรบางอย่าง จากไม่มีไปสู่การมี
หากเชื่อว่าในแต่ละคนพระเจ้าทรงใส่ความดีของพระองค์ไว้ตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิต ความดีย่อมจะเป็นแก่นสารของคน ส่วนความไม่ดีคืออุบัติเหตุ การจะเน้นแต่ความไม่ดีหรือข้อบกพร่องย่อมจะเป็นความไม่ยุติธรรมต่อบุคคลเพราะโดยธรรมชาติแล้วแต่ละบุคคลมีความดีมากกว่าข้อบกพร่อง ดังนั้น การชมจึงน่าเป็นธรรมชาติมากกว่าการตำหนิ
การชมนั้น นอกจากจะเป็นความยุติธรรมแล้ว ยังเป็นพลังแห่งการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่กว่าหมด เพราะเป็นการเข้าไปแตะต้องตุ่มแห่งศักยภาพที่พระเจ้าทรงใส่ไว้ในแต่ละคน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและความชื่นชมต่อตนเองอย่างไม่มีสิ้นสุด
มองจากแง่นี้แล้ว การอบรมทุกระดับน่าจะเริ่มต้นจากสิ่งดีที่มีอยู่ในแต่ละคน พร้อมกันนั้นมีการสนับสนุนให้กำลังใจและเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกของความดีที่มีในบริบทต่างๆ ของชีวิต ซึ่งยิ่งมีโอกาสแสดงออกก็ยิ่งจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกันความดีจะเป็นตัวทำให้ความไม่ดีหรือความบกพร่องในแต่ละคนค่อยๆ หมดไปด้วย
การแก้ไขข้อบกพร่องที่เน้นการพยายามเลิกทำในสิ่งที่บกพร่องก็เป็นการพัฒนาอย่างหนึ่ง แต่เป็นการพัฒนาไปเชิงลบมากกว่าเชิงบวก การแค่ไม่ให้มีข้อบกพร่องจึงยังไม่ใช่การพัฒนาที่สมบูรณ์แบบ เพราะเน้นเพียงแค่ไม่ทำ หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิด แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนน่าจะเป็นกระบวนการที่นอกจากจะไม่ทำผิด และบกพร่องแล้ว ยังมุ่งไปสู่การทำให้ถูกต้องและสมบูรณ์ขึ้นด้วย
การแก้ไขข้อบกพร่องที่ส่งผลถาวรและนำไปสู่การพัฒนาคือการทำสิ่งที่ตรงข้ามกับข้อบกพร่องหรือความผิด จึงไม่ใช่การไม่ทำในสิ่งที่ผิดหรือบกพร่องอย่างเดียว ถ้าคนหนึ่งต้องการจะขจัดความเห็นแก่ตัว ก็สามารถทำได้ด้วยการพยายามมีใจกว้างมากขึ้น ถ้าคนหนึ่งต้องการเลิกเกียจคร้านก็ต้องเพาะปลูกความขยันขันแข็ง ถ้าคนหนึ่งต้องการเลิกพูดคำหยาบก็ต้องสร้างนิสัยพูดจาไพเราะ สมกับสุภาพชน ฯลฯ การแก้ไขข้อบกพร่องและความผิดเช่นนี้จะเป็นการพัฒนาที่ถาวรและยั่งยืน เวลาเดียวกันก็ตอกย้ำความจริงว่าพระเจ้าผู้เป็นต้นกำเนิดและองค์ความดีทรงสร้างเรามาให้มีฉายาของพระองค์ ความดีจึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์
หากการอบรมในระดับต่างๆ มีแนวทางเช่นนี้ ผู้รับการอบรมจะมีความมั่นใจในความดีที่ตนมี และจะมีความชื่นชอบต่อตนเอง ซึ่งเป็นฐานแห่งการพัฒนาอย่างแท้จริง .