ในภาคแรกของอุปมา พระเยซูเจ้าทรงเน้นเรื่องราวบุตรคนเล็กโดยบรรยายให้เห็นถึงท่าทีและการกระทำของเขา
เป็นเขาเองที่เลือกจะจากบิดาไป เลือกออกจากบ้าน เลือกใช้ชีวิตตามใจอยาก
การเลือกของเขาทำให้ชีวิตเขาตกต่ำ
ในภาคสองของอุปมา พระเยซูเจ้าทรงเน้นท่าทีและการกระทำของบิดา เน้นให้เห็นเป็นเด่นชัดว่า ท่าทีและการกระทำของบิดาไม่ได้ขึ้นกับท่าทีและการกระทำของบุตรคนเล็กแม้แต่น้อยตรงข้าม กลับเน้นให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่และมั่นคงของบิดา จนทำให้เห็นถึงความเลวร้ายของพฤติกรรมของบุตรคนเล็กได้อย่างเด่นชัด
ตราบใดบาปยังไม่โยงไปถึงความรัก มันก็เป็นแค่ความผิดแต่เมื่อใดที่โยงบาปไปถึงความรักแล้ว นอกจากเป็นความผิดแล้ว บาปยังเป็นความเลวร้ายที่เข้าไปถึงแก่นของการเป็นมนุษย์ด้วยเพราะมนุษย์ถูกสร้างมาจากความรัก ดำเนินชีวิตด้วยความรัก และมุ่งไปสู่ความรักนิรันดร์
“…เขาจึงรู้สำนึกและคิดว่า ‘คนใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่หิวจะตายอยู่แล้ว’…” (ลก 15,17)
มนุษย์ไม่สามารถจะดำเนินชีวิตที่ไม่สมกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้นาน เขาจะรู้สึกถึงความขัดแย้งภายในระหว่างสิ่งที่เขากำลังเป็นและสิ่งที่เขาควรจะเป็น พร้อมกันนั้นก็มีเสียงเรียกร้องจากส่วนลึกแห่งใจให้เขากลับมาเป็นในสิ่งที่ควรเป็นให้ได้
เสียงเรียกร้องนี้เตือนให้เขาระลึกถึงสิ่งที่เขาเคยเป็นก่อนที่เขาจะปล่อยเนื้อปล่อยตัวไปตามการชักนำของบาป ให้ระลึกถึงช่วงเวลาที่ทุกอย่างกลมกลืนในตนเองและในความสัมพันธ์กับผู้อื่นและกับสิ่งสร้างทั้งหลาย
ในขณะที่ต้องอยู่ตามลำพัง ถูกทอดทิ้งจากทุกคนให้ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวและความหิว บุตรคนเล็กก็หวนคิดถึงบรรยากาศอันอบอุ่นที่เขาเคยได้รับในครอบครัว
เขาคิดถึงท่าทีของบิดาที่มีต่อทุกคนในบ้าน แม้คนใช้ก็ได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ขนาดเป็นแค่คนใช้ในบ้านบิดาก็ให้ความรักความเอาใจใส่ แต่เขาซึ่งเป็นบุตรกลับต้องพบกับการปฏิบัติแย่กว่าคนใช้หรือคนรับจ้างเสียอีก
ถึงแม้บุตรคนเล็กจะมองแค่อาหารเป็นหลัก แต่เขาก็อดคิดไม่ได้ถึงท่าทีแห่งความรักและความเมตตาของบิดาที่มีแม้แต่ต่อคนที่ไม่มีอะไรเกี่ยวดองทางสายเลือด เป็นเหมือนการเปิดตาให้เขาเห็นความยิ่งใหญ่ของบิดาที่เขาไม่เคยสำเหนียกมาก่อน
ความดึงดูดใจของบาปอยู่ในการที่บาปทำให้เกิดความตื่นเต้นและความคาดหวังใหม่ๆ และมองว่าสิ่งที่กำลังเป็นและสิ่งที่กำลังมีอยู่เป็นความชินชาน่าเบื่อหน่าย จนมองไม่เห็นคุณค่าอย่างที่มันเป็นกว่าจะมาเห็นเป็นคุณค่าก็ต่อเมื่อต้องสูญเสียมันไป อย่างที่มักจะพูดเกี่ยวกับความรักว่า คนเราจะรู้ซึ้งในความรักก็ต่อเมื่อต้องพรากจาก
การหวนกลับไปคิดถึงสภาพก่อนทำบาปคือจุดเริ่มต้นของการกลับใจ คิดถึงความรักและความใจดีของบิดา คิดถึงความอบอุ่นที่เคยมี คิดถึงสภาพที่มีพร้อมทุกอย่าง… แล้วเปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่
ในช่วงที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวและหิวโซ บุตรคนเล็กก็เริ่มกลับเข้าหาตนเอง มองเห็นสภาพของตนเองอย่างชัดเจนและตามความเป็นจริง
โดยธรรมชาติแล้ว ก่อนที่จะกลายเป็นการกระทำ บาปเป็นความเท็จ ก่อนอื่นหมด จึงก่อให้เกิดความสับสนในคุณค่าและความผิดความถูก จนกระทั่งคนบาปเริ่มมองออกนอกตนเองหลงไหลอยู่กับสิ่งบาป ทำให้ยึดติดกับสิ่งล่อตาล่อใจและหมดความเป็นตัวของตัวเองในที่สุด ชีวิตและพฤติกรรมจึงถูกบังคับ กำหนดและชี้นำจากเสน่ห์และกลลวงของบาป จนหมดสิ้นอิสรภาพไปในที่สุด
กระนั้นก็ดี จิตใจของมนุษย์โหยหาความดีและความสุขเที่ยงแท้โดยธรรมชาติ เมื่อใดที่จิตใจยังไม่พบกับสิ่งที่มันควรจะเป็นความขัดแย้งภายในก็เกิดขึ้นจนไม่อาจจะมีสันติและความเป็นหนึ่งเดียวภายในได้ หากมนุษย์ไม่พยายามที่จะขัดขืนหรือกดเก็บความรู้สึกแห่งจิตใจอันนี้ การคืนสู่ความดีและความถูกต้องย่อมจะเป็นไปได้ เริ่มต้นจากความปรารถนาและความตั้งใจ เสริมด้วยความรักและพระหรรษทานของพระเจ้าที่เฝ้ารอแค่การตัดสินใจของมนุษย์เพื่อจะทำทุกอย่างที่จำเป็นในการช่วยมนุษย์ให้หวนกลับไปสู่ความดีและความถูกต้องเสียใหม่
“…ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด’ เขาก็กลับไปหาบิดา” (ลก 15, 18-20)
บุตรคนเล็กตัดสินใจกลับไปหาบิดาด้วยแรงจูงใจเพื่อความอยู่รอด เขาไม่กล้าที่จะกลับไปในฐานะลูก หลังจากที่ทำตัวไม่สมกับการเป็นลูกของพ่อ เพราะหลังจากที่ผลาญสิ่งที่พ่อให้ เขาก็รู้ดีว่าเขาได้สูญเสียสิทธิแห่งการเป็นบุตรไปแล้ว จึงคิดว่าแค่ได้กลับไปเป็นผู้รับใช้ของพ่อและมีอาหารกินอย่างสมบูรณ์เหมือนคนใช้อื่นๆ ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว
มองจากแง่นี้ ความทุกข์เสียใจของเขายังไม่สมบูรณ์เพราะยังติดอยู่กับผลประโยชน์ที่เสียไปและผลประโยชน์ที่หวังจะได้รับ
กระนั้นก็ดี ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับใจ เพราะสิ่งที่เขาตั้งใจจะพูดกับบิดานั้นเป็นความสำนึกผิดใน สิ่งที่เขาไม่ควรกระทำ (ผิดต่อสวรรค์) และ ในสิ่งเลวร้ายที่ได้ทำต่อบิดา เพราะบาปแต่ละอย่างก่อให้เกิดความผิดขึ้นสองอย่าง ผิดต่อความถูกต้อง (สวรรค์) และผิดต่อบุคคลที่ได้รับผลเสียหาย เริ่มตั้งแต่ผู้ทำบาปเองแล้วก็ผู้อื่นและพระเจ้า
หลังจากคิดดังนี้แล้ว บุตรคนเล็กก็กลับไปหาบิดา
นี่คือเส้นทางแห่งการกลับใจ ความสำนึกผิดนำกลับไปหาพระเจ้าผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดแห่งความดี เมื่อพบกับพระเจ้าแล้ว พระองค์ก็ทรงโปรดให้เกิดความหวัง ในเวลาเดียวกันก็ทรงทำให้สำนึกในสิ่งที่แต่ละคนควรจะเป็นในความสัมพันธ์กับพระองค์ (พ่อ-ลูก) และสิ่งที่ควรจะเป็นในความสัมพันธ์กับผู้อื่น (พี่-น้อง) การขอโทษสำหรับความผิดที่ได้ทำไปจึงตามมา ในเวลาเดียวกันก็เป็นความมุ่งมั่น ตั้งใจจะไม่ทำให้ใครต้องเสียใจอีก
จึงเห็นได้ว่า ในกระบวนการแห่งการเป็นทุกข์เสียใจและการกลับใจนั้น แต่ละขั้นตอนและแต่ละองค์ประกอบต่างเรียกร้องและสนับสนุนกันและกัน การที่ทำบาปแล้วเสียใจที่ได้ทำผิดต่อพระเจ้าและขอการอภัยจากพระองค์เพียงผู้เดียวจึงยังถือว่ายังไม่ครบถ้วน
“…ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขาก็รู้สึกสงสาร” (ลก 15,20)
การที่จะสามารถมองเห็นคนที่จะมาหาตั้งแต่เขาอยู่ห่างไกลนั้น บ่งบอกถึงความตั้งใจที่จะรอคอย
บิดาเห็นบุตรคนเล็กตั้งแต่ไกล เพราะบิดารอคอยการกลับมาของลูกด้วยความหวัง ความรักและความห่วงใย
แต่ละวัน บิดาคงต้องนั่งรอลูก ตาก็จอจ้องไปที่ปลายทางรอการกลับมาของลูก
ดูเหมือนว่าลูกจะจากพ่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรักและความห่วงใยของพ่อติดตามลูกไปตั้งแต่ก้าวแรกที่เขาออกจากบ้านนั่นแหละ
ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้บุตรคนเล็กจะทำให้บิดาต้องเสียใจและผิดหวังอย่างมาก แต่บิดาก็ให้อภัยเขาเรียบร้อยแล้ว ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มานั่งรอการกลับมาของเขาอย่างใจจดใจจ่อเช่นนี้
สิ่งที่บิดาต้องการมากกว่าหมด ไม่ใช่การสำนึกผิดและการขอโทษ แต่ต้องการเพียงให้บุตรคนเล็กกลับมาอยู่ในความรักและความอบอุ่นเหมือนก่อน ไม่เช่นนั้นบิดาก็คงอยู่ในบ้านรอจนกว่าจะได้ฟังการสารภาพผิดจากบุตรคนเล็กเสียก่อน
ความรักของบิดายิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ท่าทีและพฤติกรรมของลูกเป็นเงื่อนไข
และนั่นคือท่าทีของพระบิดาที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยายให้เห็นอุปมา
มนุษย์ทำบาปและทิ้งพระเจ้าไป แต่พระองค์ทรงติดตามเขาไปทุกแห่งทุกหนด้วยความรักและเป็นห่วง และถึงแม้มนุษย์ยืนยันจะทิ้งพระองค์ไป แต่พระองค์ไม่สามารถทิ้งมนุษย์ผู้เป็นลูกของพระองค์ไปอย่างเด็ดขาด
หลายครั้ง มนุษย์อาจจะไม่ต้องการพระเจ้า และทำเหมือนกับว่าอยู่ได้โดยไม่ต้องมีพระองค์ แต่ในความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระเจ้าทรงต้องการมนุษย์และไม่อาจจะอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ หลังจากที่ได้ทรงสร้างมนุษย์มาและให้ความรักที่ไร้ขอบเขตแก่เขา
มนุษย์อาจจะดำเนินชีวิตแต่ละวันโดยไม่คิดถึงพระเจ้า แต่พระองค์ทรงนึกถึงมนุษย์อยู่ตลอดเวลา
มนุษย์อาจจะไม่ได้สวดขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเลย แต่พระเจ้าประทานทุกอย่างที่ดีและจำเป็นสำหรับมนุษย์อยู่เสมอ
ถ้าพระเจ้าจะประทานเฉพาะในสิ่งที่มนุษย์วอนขอ มนุษย์ก็คงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้
“…(บิดา) จึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา (บุตรคนเล็ก)” (ลก 15,20)
การที่บิดาวิ่งไปหาลูกนั้นดูจะขัดประเพณีความเป็นผู้ใหญ่ของชนชาติตะวันออก
ที่ถูกแล้วน่าจะเป็นลูกที่วิ่งมาหาพ่อมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของลูกล้างผลาญที่ได้ทำผิดพลาดใหญ่หลวง
การเป็นฝ่ายเข้าหาจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้ทำผิดและต้องการความเมตตาและการอภัย
แต่บิดากลับสลับบทบาทอย่างไม่สนใจอะไร เพราะจะว่าไปแล้ว ความรักต่างหากที่เป็นตัวกำหนดท่าที ไม่ใช่ขนบธรรมเนียมหรือประเพณี
พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงความจริงนี้เมื่อตรัสกับหญิงชาวสะมาเรียว่า “นางเอ๋ย เชื่อเราเถิด ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้า ไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้ หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม… แต่จะถึงเวลาคือเวลานี้ เมื่อผู้นมัสการแท้จริงจะนมัสการพระบิดาเจ้า เดชะพระจิตเจ้าและตามความเป็นจริง…” (ยน 4,21-23)
ท่าทีที่เคยไปพบพระเจ้าและนมัสการพระองค์ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เปลี่ยนเป็นท่าทีแห่งการพบกับพระองค์ในจิตใจและในความจริง
พระเยซูเจ้าทรงสอนว่า “เมื่ออธิษฐานภาวนา จงเข้าไปในห้องส่วนตัว ปิดประตู อธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้สถิตอยู่ทั่วทุกแห่ง แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง จะประทานบำเหน็จให้ท่าน” (มธ 6,6)
ที่จริงแล้ว ท่าทีการเข้าหามนุษย์เป็นฝ่ายแรกนั้น พระเจ้าทรงทำให้เห็นตั้งแต่เริ่มแรกประวัติศาสตร์แห่งความรอดนั่นแหละ หลังจากที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์คู่แรกแล้ว พระองค์ทรงมาพบเขาในสวนด้วยความเป็นกันเอง และแม้มนุษย์คู่แรกได้ฝืนคำสั่งของพระองค์และซ่อนตัวอยู่ในสวน พระองค์ก็ยังทรงตามหาพวกเขา (ปฐก 3,8-12)
พระเจ้าทรงตามหามนุษย์ แม้เขาได้ทำผิดต่อพระองค์
พระเยซูเจ้าทรงสะท้อนให้เห็นท่าทีแห่งความรัก และความห่วงใยของพระเจ้าเมื่อพระองค์ทรงกล่าวถึงท่าทีที่นายชุมพาบาลมีต่อลูกแกะที่พลัดหลงไป
“…ท่านใดที่มีแกะหนึ่งร้อยตัว ตัวหนึ่งพลัดหลง จะไม่ละแกะเก้าสิบเก้าตัวไว้ในถิ่นทุรกันดาร ออกไปตามหาแกะที่พลัดหลงจนพบหรือ เมื่อพบแล้ว เขาจะยกมันใส่บ่าด้วยความยินดี…” (ลก 15, 4-5)
มันเป็นท่าทีที่ต่างจากที่มักจะพบเห็น… ไม่มีการลงโทษเฆี่ยนตี หรือใช้วิธีการรุนแรงต้อนลูกแกะกลับยังฝูง แต่ให้ความนุ่มนวลและทะนุถนอม ถึงกับลงทุนแบกกลับไปด้วยความยินดี
ท่าทีเหล่านี้ของพระเจ้า เราสามารถเข้าใจและเห็นได้ชัดเจนในคำพูดของพระเยซูเจ้า เมื่อทรงยืนยันบุคคลเป้าหมายของการเสด็จมาของพระองค์ในโลกนี้ “…คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ… เราไม่ได้มาเพื่อเรียกหาคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มธ 9, 12-13)
การที่บิดากอดและจูบบุตรคนเล็กคือการยืนยันว่า บิดายังถือว่าบุตรคนเล็กยังเป็นบุตรเหมือนก่อน เขาไม่ได้สูญเสียศักดิ์ศรีและสิทธิแต่อย่างใด
ความรักคือการยืนหยัด ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในท่าทีและพฤติกรรม ความรักก็ยังคงยืนยันที่จะรักต่อไปอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เพราะความรักเข้าไปถึงแก่นแห่งความเป็นคน จึงไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภายนอก ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาหรือพฤติกรรมที่แสดงออก
ความรักมั่นคงของพระองค์ ดำรงเป็นนิจนิรันดร์
“…บุตรคนเล็กจึงพูดกับบิดาว่า ‘พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก’ แต่บิดาพูดกับผู้รับใช้ว่า ‘เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้’…” (ลก 15, 22-24)
หลังจากที่ซักซ้อมคำพูดมาตลอดทาง บุตรคนเล็กก็เริ่มสารภาพผิดกับพ่อ พร้อมกับขอความเมตตา ด้วยคำพูดที่เขาเห็นว่าดีที่สุดแล้วในสถานการณ์เช่นนี้
บุตรคนเล็กเข้าใจว่า ท่าทีของบิดาคงจะขึ้นอยู่กับคำพูดที่เขาจะพูดออกมา จึงได้สรรหาคำพูดและเนื้อหาที่ดูดีที่สุด… ขอความเมตตาจากสวรรค์และจากบิดา พร้อมกับยอมรับผิดและเสนอท่าทีที่บิดาพึงมีต่อเขา… ถือเขาแค่เป็นคนใช้คนหนึ่ง
แต่คำพูดของบุตรคนเล็กกลับไร้ความหมายไปถนัด เพราะบิดาไม่ได้ฟังหรือรับรู้แต่อย่างใด เนื่องด้วยความรักและความเมตตาของบิดาไม่ได้ขึ้นกับคำพูดคำจาของลูก แต่ขึ้นอยู่กับบิดาเพียงแต่ผู้เดียว
แม้แต่คำพูดคำจาก็ไม่อาจจะเป็นเงื่อนไขสำหรับพระเจ้า
“เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าพูดซ้ำเหมือนคนต่างศาสนาเขาคิดว่า ถ้าเขาพูดมาก พระเจ้าจะทรงสดับฟัง อย่าทำเหมือนเขาเลยเพราะพระบิดาของท่านทรงทราบแล้วว่า ท่านต้องการอะไรก่อนที่ท่านขอเสียอีก” (มธ 6, 7-8)
ก่อนที่บุตรคนเล็กจะสามารถพูดสิ่งที่เตรียมมาจนจบ บิดาก็พูดแทรกขึ้นมาเหมือนต้องการจะเปลี่ยนเรื่อง เหมือนไม่ต้องการจะรับรู้เหมือนกับจะบอกเป็นนัยว่า “เออน่า… รู้แล้วจะพูดอะไร” พร้อมกันนั้นก็หันไปสั่งคนใช้ให้เตรียมการทุกอย่างด้วยความรีบเร่ง
บุตรคนเล็กกำลังสารภาพความผิด บิดากลับสั่งให้เตรียมการเพื่อการฉลอง
ถ้าจะพูดในแง่ที่มนุษย์มักจะทำกัน ก่อนจะให้อภัยก็ต้องฟังว่าคนที่ทำผิดและมาขออภัยนั้นพูดอย่างไร มีความสำนึกผิดแค่ไหน… แล้วจึงพิจารณาจะให้อภัยหรือไม่
แต่บิดาทำเหมือนกับว่าไม่สนใจหรือไม่ได้ให้ความสำคัญแก่สิ่งที่บุตรคนเล็กจะพูดสารภาพ เพราะบิดาได้ให้อภัยตั้งแต่ลูกทำผิดและเดินจากไปแล้ว
แค่เห็นลูกกลับมาในสภาพย่ำแย่ พ่อก็รู้สึกเจ็บปวดแทน รู้สึกสงสาร ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกดีใจเป็นที่สุด จนไม่สนใจอย่างอื่นนอกจากขอให้ได้สวมกอดและจูบลูกด้วยความรักและความเอ็นดูก็พอแล้ว พร้อมกันนั้นก็อยากจะคืนสภาพเดิมให้ลูกอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้
ในบริบทของชาวยิวสมัยนั้น “เสื้อสวยที่สุด” คือเครื่องแบบของผู้สูงศักดิ์ “นำแหวนมาสวมนิ้ว” คือการมอบสิทธิอำนาจให้ และ “นำรองเท้ามาใส่ให้” คือการบ่งบอกให้รู้ว่าเขาเป็นคนอิสระ เพราะมีแต่ทาสเท่านั้นที่เดินเท้าเปล่า3
นี่คือท่าทีของพระเจ้าต่อลูกทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกที่ได้หลงผิดไป
บาปและผลของบาปส่งผลต่อคนบาปทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่มีอย่างหนึ่งที่บาปเปลี่ยนแปลงไม่ได้คือการเป็นลูกของพระเจ้า ถ้าแม้เขาจะทำผิดหนัก แต่ก็เป็นลูกของพระที่ผิดพลาด ถึงแม้ชีวิตเขาจะล้มเหลว แต่ก็เป็นลูกของพระที่ล้มเหลว ดังนั้น ทุกครั้งที่ลูกของพระองค์สำนึกผิด พระองค์ก็ทรงพร้อมที่จะคืนศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบุตรคืนให้เขาเหมือนเดิม
ในบทสดุดีก็มีการยืนยันท่าทีและพระเจ้า “พระองค์ได้ทรงยกโทษบาปของประชากรของพระองค์และทรงให้อภัยความผิดทุกอย่างของพวกเขา..” (สดด 85,2) และ “พระองค์ไม่ทรงลงโทษเราตามที่เราสมจะได้รับ หรือปฏิบัติกับเราตามบาปและความผิดของเรา” (สดด 103,10) นอกจากทรงพร้อมจะยกโทษให้ลูกของพระองค์ที่ทำผิดแล้ว ความรู้สึกดีๆ ที่พระองค์ทรงมีต่อลูกของพระองค์ก็ยังคงเส้นคงวา “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าไม่มีพระเจ้าองค์ใดเหมือนพระองค์ พระองค์ทรงให้อภัยบาปของประชากรของพระองค์ พระองค์จะไม่ทรงกริ้วตลอดไป แต่ทรงมีความสุขความยินดีในการแสดงออกซึ่งความรักอันมั่นคงของพระองค์ พระองค์จะทรงเมตตาเราใหม่ พระองค์จะทรงเหยียบย่ำบาปของเราไว้ใต้พระบาทและส่งมันไปอยู่ในท้องทะเล…” (มคา 7, 18-19)
ความรักมั่นคงของพระเจ้าคืนศักดิ์ศรีให้แก่มนุษย์ โดยไม่นำพาว่าเขาจะทำให้ตัวเองตกต่ำและโสมมเพียงใด สิ่งที่พระองค์ตรัสในหนังสือประกาศกอิสยาห์นั้นช่างงดงามและบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้ดียิ่ง ในเวลาเดียวกันก็ตอกย้ำว่าไม่มีบาปใดจะใหญ่ไปกว่าความรักของพระองค์ “พระเจ้าตรัสว่า ‘มา ให้เรามาตกลงกัน ถึงแม้เจ้าจะแดงฉานเพราะบาป แต่เราจะชำระล้างเจ้าให้ขาวเหมือนหิมะ แม้ว่ามลทินของเจ้าจะสีแดงเข้ม เจ้าก็จะขาวเหมือนผ้าขนแกะ…’” (อสย 1,18)
“…‘จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกัน เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้วได้พบกันอีก’ แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น” (ลก 15, 23-24)
บิดาอยากให้มีการฉลองที่ประกอบด้วยการกินเลี้ยง ดนตรีและการเต้นรำเพื่อเป็นการแสดงออกภายนอกและสะท้อนถึงความยินดีสำหรับการกลับมาของบุตรคนเล็ก ในเวลาเดียวกัน บิดาก็อยากจะแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า บุตรคนเล็กได้กลับมาสู่สภาพเหมือนก่อนในทุกอย่าง พร้อมกับระบุเหตุผลแห่งความยินดีครั้งนี้ กล่าวคือการได้พบปะกับลูกอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับตายไปแล้วกลับเป็นขึ้นมาใหม่ และเหมือนกับพลัดหายไปแล้วมาพบอีก
ในอุปมา พระเยซูเจ้าทรงบอกเป็นนัยว่า บาปคือการตายแห่งจิตใจ
ผลของบาปนำความตายฝ่ายจิตใจมาให้คนที่ทำบาปนักบุญยากอบเตือนคริสตชนให้ยืนหยัดต่อหน้าการทดลองต่างๆ เพราะ “…เราทุกคนถูกกิเลสตัณหาทดลอง ดึงดูด และหลอกลวง กิเลสตัณหาทำให้เกิดบาปและเมื่อมีบาปมาก บาปก็จะทำให้เกิดความตาย” (ยก 1, 14-15) นักบุญเปาโลรบเร้าให้คริสตชนดำรงตนอยู่ในความศักดิ์สิทธิ์เพื่อมีชีวิตนิรันดร์ “…บัดนี้ท่านได้รับอิสระจากบาปมาเป็นทาสรับใช้พระเจ้าแล้ว ท่านได้รับประโยชน์อันนำไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ผลสุดท้ายก็คือชีวิตนิรันดร เพราะค่าตอบแทนที่ได้จากบาปคือความตาย…” (รม 6, 22-23)
บาปและความตายจึงเป็นสองอย่างที่เป็นเงื่อนไขและเป็นผลลัพธ์ต่อกันและกัน ซึ่งนักบุญเปาโลก็ยืนยันเช่นนั้น “…ท่านทั้งหลายตายแล้วเพราะการล่วงละเมิดและเพราะบาป…” (อฟ 2,1
การที่บุตรคนเล็กสำนึกในความผิดและกลับมาหาบิดาจึงเป็นเหมือนกับการกลับคืนชีพจากความตายนั่นเอง ดังที่นักบุญเปาโลกล่าว “…เมื่อเราตายแล้วเพราะการล่วงละเมิด พระองค์ก็ทรงบันดาลให้เรากลับมีชีวิตกับพระคริสตเจ้า” (อฟ 2,5)
ในทำนองเดียวกัน ในอุปมา พระเยซูเจ้าทรงบอกเป็นนัยว่าบาปคือการพลัดหลงและการหายไปจากความรักและความเมตตาของพระเจ้า เหมือนแกะที่พลัดฝูง (ลก 15, 4-7) เหมือนเงินเหรียญที่หายไป (ลก 15, 8-10)
การกลับเป็นขึ้นมาจากบาปและการกลับมาสู่ความรักของบิดาจึงเป็นความยินดียิ่งใหญ่ที่แสดงออกมาในการกินเลี้ยงและการร้องรำทำเพลง
นั่นคือท่าทีของพระเจ้าตามที่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า “…เราขอบอกท่านทั้งหลายว่า ในสวรรค์จะมีความยินดีเช่นนี้เพราะ คนบาปคนหนึ่งกลับใจมากกว่าความยินดีของคนชอบธรรมเก้าสิบเก้าคนที่ไม่ต้องการกลับใจ…” (ลก 15,7) และ “…เราบอกท่านทั้งหลายว่าทูตสวรรค์ของพระเจ้า จะมีความยินดีเช่นเดียวกันเมื่อคนบาปคนหนึ่งกลับใจ…” (ลก 15,10)
มองเผินๆ แล้ว ดูเหมือนพระเจ้าจะทรงมีความสุขและความยินดีกับการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีของคนบาปมากกว่าคนชอบธรรม แต่ถ้าคำนึงว่าพ่อแม่มักจะให้ความรักและความเอาใจใส่แก่ลูกที่อ่อนแอ ลูกที่ป่วย หรือลูกที่ทำตัวมีปัญหามากกว่าลูกคนอื่นๆ ที่แข็งแรง สบายดี และอยู่ในกรอบ ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ความยินดีและความสุขของพ่อแม่ก็ย่อมจะมากกว่าธรรมดา
หรืออาจจะมองในแง่ที่ว่า คนที่คิดว่าชอบธรรมอาจจะไม่ชอบธรรมจริง ดังนั้น เมื่อถือว่าคนชอบธรรมแล้วจึงไม่มีการยอมรับในความอ่อนแอและความผิดพลาดของตน ผลก็คือ เขาไม่มีการพัฒนาแต่อย่างใด แถมไม่รู้ตัวด้วยว่าตนต้องการพระเจ้าเพื่อจะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เหมือนฟารีสีและธรรมาจารย์ในสมัยของพระเยซูเจ้า จึงไม่แปลกที่พระองค์ทรงทำตัวเป็นกันเองและใกล้ชิดกับคนเก็บภาษีและโสเภณีมากกว่าฟารีสีและธรรมาจารย์ พร้อมกับทรงยืนยันจุดยืนของพระองค์อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “…คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมด แต่คนเจ็บไข้ต่างหากต้องการ… เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป…” (มธ 9, 12-13)
ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมากกว่าคนที่ป่วย คนที่ไม่สบาย แต่กลับคิดว่าตนสบายดี .
3 Cfr. Alfons Kemmer, Le parabole di Gesu’,p.50