อุปมาน่าจะจบลงพร้อมกับการเฉลิมฉลองและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของบุตรคนเล็ก ทว่าในตอนต้นของอุปมา มีการกล่าวถึงบุตรคนโตด้วย
พฤติกรรมของบุตรคนโตดูจะไม่มีอะไรเด่น เพราะอยู่แต่ที่บ้านและไปทำงานในนาของบิดา ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไปในสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงบรรยาย เราจะเห็นได้ว่า จริงๆแล้วบิดาต้องสูญเสียลูกไปสองคน ทั้งลูกคนเล็กและลูกคนโต
ความสูญเสียของบิดาไม่อยู่แค่การจากไปของลูกคนเล็กเท่านั้น แต่อยู่ที่ใจของลูกคนโตที่จากไปด้วย เพราะเขาอยู่กับบิดาด้วยกายแต่ใจนั้นอยู่ห่างจากความรักของบิดาไม่แพ้กัน
เมื่อสองคนที่อยู่ด้วยกันคิดตรงข้ามกัน ก็เหมือนไม่ได้อยู่ใกล้กัน ช่องว่างระหว่างความคิดนั้นแหละคือระยะทางที่ลูกคนโตเหินห่างบิดาไป ซึ่งไกลมากกว่าที่วัดกันด้วยกิโลเมตรเป็นไหนๆ
อุปมาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องลูกล้างผลาญสองคน
“…ส่วนบุตรคนโตอยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้านได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำ จึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’…” (ลก 15,25)
ทุ่งนาของบิดาคือส่วนหนึ่งของมรดกที่เขาได้รับ บุตรคนโตจึงใช้ชีวิตอยู่กับงานและผลผลิต
ชีวิตแต่ละวันจึงเป็นเรื่องของงาน มากกว่าจะเป็นความสุขความยินดี เขาทำงานเพราะเป็นงานมากกว่าเพราะเป็นการรับใช้แห่งรัก
ชีวิตของบุตรคนโตจึงเป็นชีวิตที่อยู่เพื่อทำงาน มากกว่าทำงานเพื่ออยู่
เป็นชีวิตที่ความชั่วไม่มี ความดีไม่ ปรากฎ
เขาทำทุกอย่างเพราะเป็นหน้าที่มากกว่า “เพราะ” และ “เพื่อ” ความรัก
การที่ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำในบ้านจึงเป็นสิ่งแปลกสำหรับเขา เพราะหากชีวิตของเขาแต่ละวันมีความเริงร่า สิ่งที่เขาได้ยินก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
เขาจึงไม่ได้ถามว่า “วันนี้ฉลองใคร?” “วันนี้มีอะไรให้ฉลอง?” ซึ่งคำตอบที่ได้น่าจะทำให้ความยินดีที่มีอยู่ในใจเพิ่มขึ้นและมีเป้าหมายขึ้น
ทว่า เขาถามว่า “เกิดอะไรขึ้น?” เหมือนกับว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นและกำลังรุกรานความเป็นส่วนตัวของเขา ทั้งนี้เพราะวันหนึ่งๆ เขาสนใจก็แต่ตัวเอง
นอกนั้น เขาอาจจะไม่เคยเติมแต่งชีวิตด้วยเสียงเพลงและการเต้นรำ เสียงเพลงและการเต้นรำจึงเป็นสิ่งน่ารำคาญสำหรับเขา จนต้องรีบถามผู้รับใช้คนแรกที่เขาพบ เพราะถือว่าหากเขามีชีวิตไม่เป็นสุข คนอื่นก็ไม่ควรจะเป็นสุขด้วย
สิ่งนี้สะท้อนถึงสภาพชีวิตของบุตรคนโตที่อยู่กับบิดา อยู่เพราะหน้าที่ อยู่เพราะผลประโยชน์ อยู่ด้วยความยุติธรรมมากกว่าด้วยความรักและน้ำใจ
พระเยซูเจ้าทรงสะท้อนให้เห็นถึงบุตรของพระบิดาเจ้าจำนวนมาก ที่เชื่อในพระองค์ แต่ก็ไม่เคยเลยจากความเชื่อไปสู่ความรักและความอบอุ่น ประสาคนรู้ใจ ประสาคนรัก ประสาพ่อ-ลูก
พวกเขาไม่เคยละทิ้งพระเจ้า แต่ก็ไม่เคยเข้าไปถึงแก่นแท้ของพระองค์
พวกเขาพยายามไม่ทำผิดพระบัญญัติ แต่ก็ไม่เคยพยายามเข้าถึงการเรียกร้องแห่งความรัก
พวกเขาจึงปฏิบัติศาสนาเพราะหน้าที่มากกว่าด้วยความรัก มองแค่ผลประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติศาสนา… ความช่วยเหลือจากพระพร บุญกุศล ชีวิตนิรันดร…
ความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระเจ้าตั้งอยู่บนความกลัวมากกว่าความรัก ปฏิบัติตามกฎบัญญัติของพระเจ้าด้วยความเคร่งครัด เพราะถือว่าความครบครันในการปฏิบัติตามกฎบัญญัติเป็นประกัน ไม่ให้ต้องถูกลงโทษและสามารถใช้เป็นตัวต่อรองเพื่อจะได้รับพรและบุญกุศลจากพระเจ้า
พวกเขามั่นใจว่าตนเป็นคนดีเพียงเพราะไม่ทำชั่ว
พวกเขาภูมิใจว่าตนเป็นคนดีเพียงเพราะมีคนที่เลวร้ายกว่าพวกเขา
ที่แย่ไปกว่านั้น พวกเขาถือว่านี่คืออุดมการณ์แห่งการเป็นบุตรพระเจ้า
พวกเขาถึงนับถือแค่พระเจ้าเป็นพระบิดา แต่ไม่เคยถือว่าลูกคนอื่นๆ ของพระเจ้าเป็นพี่เป็นน้องกับพวกเขา พวกเขาถึงเป็นเหมือนบุตรคนโต ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนเมื่อน้องชายออกจากบ้านไป เพราะถ้าเขาเป็นพี่ที่ดี แค่ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำดังมาจากบ้าน เขาก็คงต้องเริงร่ายินดีหลังจากที่เฝ้ารอคอยการกลับมาของน้องด้วยความเป็นห่วง
“…ผู้รับใช้บอกเขาว่า ‘น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้ว เพราะได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย’ บุตรคนโตรู้สึกโกรธ ไม่ยอมเข้าไปในบ้าน…” (ลก 15,27-28)
เขาไม่เคยสนใจต่อความเสียใจ ความทุกข์ ความห่วงใย ความกังวล ที่บิดาต้องรู้สึกตั้งแต่บุตรคนเล็กออกจากบ้านไป จึงไม่แปลกที่ว่าเดี๋ยวนี้เขาก็ยังไม่ยอมรับรู้ความสุขและความยินดีของบิดา ถึงขนาดไม่ยอมเข้าไปในบ้าน
เขาไม่สนใจคำตอบของผู้รับใช้ที่ตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่เขามีในฐานะครอบครัวเดียวกัน “น้องชายของท่าน…” “บิดาของท่าน…” ซึ่งเหมือนกับบอกเป็นนัยว่าเขาควรจะมีท่าทีอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น เขายังรู้สึกโกรธกับข่าวดี โกรธกับท่าทีและการกระทำของบิดา
อาจเป็นได้ที่ในส่วนลึกๆ แล้ว เขาดีใจที่น้องออกไปจากบ้าน เขาจะได้เป็นบุตรคนเดียวของบิดาและไม่ต้องมีใครมาแบ่งความรักและความเอาใจใส่ของบิดา เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นตามความคาดหมาย เขาจึงแสดงปฏิกิริยารุนแรงเช่นนี้
มันเป็นความโกรธของคนที่รับไม่ได้กับการที่ใครบางคนทำชั่วแล้วกลับได้รับการต้อนรับอย่างดีเช่นนี้
สำหรับบุตรคนโตแล้ว บุตรคนเล็กที่ได้ทำให้พ่อต้องผิดหวังและเสียใจ ประพฤติเสเพลจนสิ้นเนื้อประดาตัว ควรจะได้รับโทษอย่างสาสม
หรืออย่างมากก็แค่ได้รับการอภัยจากบิดาเพียงอย่างเดียว
แต่นี่ นอกจากจะให้อภัยแล้ว บิดายังปฏิบัติกับบุตรคนเล็กเหมือนกับว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไรมาเลย แถมยังจัดฉลองเสียใหญ่โต
การฉลองครั้งนี้น่าจะจัดสำหรับเขามากกว่า เขาซึ่งอยู่บ้านและไม่เคยทำอะไรขัดใจบิดาเลย
พระเยซูเจ้าทรงกระทบกระเทียบท่าทีของฟารีสี และธรรมาจารย์ในสมัยนั้นที่ถือว่าตนเป็นคนชอบธรรมเพราะไม่ได้ทำผิดธรรมบัญญัติข้อใด ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงให้ความรักและความเมตตาต่อคนบาป พวกเขาจึงรับไม่ได้ พูดกล่าวหาพระองค์กับพวกสาวกด้วยความไม่พอใจว่า “ทำไมอาจารย์ของท่านจึงกินอาหารร่วมกับคนเก็บภาษีและคนบาปเล่า” (ลก 5,30)
พวกฟารีสีและธรรมาจารย์รู้สึกโกรธและรับไม่ได้ เหมือนบุตรคนโต
คริสตชนหลายคนรู้สึกโกรธเมื่อพระเจ้าไม่ลงโทษคนชั่วให้สาสมตามที่พวกเขาเรียกร้องและคาดหวัง
คริสตชนหลายคนรับไม่ได้ที่พระเจ้าให้อภัยคนบาป
กระนั้นก็ดี พระเยซูเจ้าทรงยืนยันจุดยืนแห่งท่าทีของพระบิดา และของพระองค์ไว้อย่างชัดเจน “…จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา…” (มธ 9,13)
อีกครั้งหนึ่งที่บุตรคนโตหนีออกจากบ้านด้วยการไม่ยอมเข้าไปในบ้าน
เขาหนีจากความรู้สึกของบิดา ทั้งๆ ที่เขาอาศัยอยู่ชายคาเดียวกันกับบิดามาโดยตลอด
จะว่าไป เขาหนีออกจากบ้านนานแล้ว ก่อนที่บุตรคนเล็กจะขนมรดกออกจากบ้านไปด้วยซ้ำ
จริงๆ แล้ว บิดาก็เฝ้าออกมาตามหาและเชิญชวนเขาให้เข้าบ้านครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้เขาเข้ามาอยู่ในบ้านแบบพ่อ-ลูก อยู่ด้วยกันในความรัก และชื่นชมยินดีแต่ก็คงไร้ผลในเมื่อเขายืนกรานที่จะอยู่แบบนี้
“…บิดาจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป แต่เขาตอบบิดาว่า ‘ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงโสเภณี ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย’…” (ลก 15, 28-30)
สำหรับลูกที่ดีนั้น แค่ความปรารถนาของบิดามารดาก็ถือเป็นเหมือนคำสั่งที่ต้องทำด้วยความเต็มใจและรู้คุณแล้ว แต่บุตรคนโตไม่ได้คิดเช่นนี้ ชีวิตของเขาตั้งอยู่บนความยุติธรรมเป็นหลัก ดังนั้นขนาดบิดาต้องขอร้อง เกือบๆ จะวิงวอน เขาก็ยังไม่สนใจ
ความเห็นแก่ตัวของเขาแรงเกินกว่าที่จะคำนึงถึงความเป็นพ่อ-ลูก หรือ เป็นพี่-น้อง
คำพูดที่พรั่งพรูออกจากปากของบุตรคนโตบอกให้เห็นได้อย่างชัดเจน
ตลอดเวลา บุตรคนโตถือว่าเขาเป็นแค่คนใช้ และไม่ได้เป็นลูก เขาจึงเน้นแค่การรับใช้ งานที่เขาทำจึงเป็นแค่งาน แต่ไม่ใช่การแสดงออกอย่างหนึ่งของความรักและความผูกพัน
การแค่เป็นพ่อ-ลูกตามครรลองแห่งธรรมชาติ จึงไม่ได้บ่งบอกว่ามีความเป็นพ่อ มีความเป็นลูก ต่อกันและกันเสมอไป เพราะความเป็นพ่อและความเป็นลูกมีอะไรมากไปกว่านั้น กล่าวคือสายสัมพันธ์แห่งรัก
ในเมื่อเขายืนยันที่จะเป็นแค่ผู้รับใช้ของบิดา เขาจึงได้แต่ลำเลิกบุญคุณและผลตอบแทนที่เขาพึงได้รับในฐานะผู้รับใช้
เขาจึงถือว่าความชอบธรรมของเขาอยู่ที่การไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของบิดา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความชอบธรรมดังกล่าวเป็นความชอบธรรมสำหรับผู้รับใช้ ไม่ใช่สำหรับบุตร
เป็นความชอบธรรมที่ถือว่าตนเป็นคนดีเพียงเพราะไม่ได้เป็นคนเลวนั่นเอง
บิดาให้ทั้งความรักและทุกอย่างเพื่อความสุขของเขา แต่เขากลับสนใจแค่ลูกแพะเพียงตัวเดียว พร้อมกับคาดหวังจะได้แค่นั้นแล้วก็ยกขึ้นมาเป็นประเด็นเรียกร้อง… ตามความยุติธรรม
ในเวลาเดียวกันเขาก็ยืนกรานในความยุติธรรม เหมือนกับจะตำหนิความรักและความใจดีของบิดาไปในตัว โดยเปรียบเทียบตัวเขากับน้องคนเล็กให้เห็นเป็นประเด็น ทำนองว่าเขาทำตัวดีมาโดยตลอดก็ยังไม่ได้รับอะไรตอบแทน… แม้แต่ลูกแพะเล็กๆ ตัวเดียว ในขณะที่น้องทำตัวเลว กลับได้ทุกอย่าง… ได้ลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วอีกต่างหาก พร้อมกับตัดเยื่อใยความเป็นพี่เป็นน้อง เน้นให้เห็นว่าน้องเป็นลูกของพ่อคนเดียว ไม่ได้เป็นน้องของเขาแต่อย่างใด “ลูกของพ่อคนนี้” พร้อมกับตอกย้ำความน่ารังเกียจของน้องเชิงดูถูกดูหมิ่น “คบหญิงโสเภณี…”
บุตรคนโตไม่ได้ตั้งใจจะสาธยายความดีที่ได้ทำอย่างเดียวแต่ตั้งใจเหยียบย่ำและประจานพฤติกรรมของน้องชายไปในตัวทำนองเดียวกันกับฟารีสีที่เข้าไปสวดในวิหาร “ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์ที่ข้าพเจ้าไม่เป็นเหมือนมนุษย์คนอื่นที่เป็นขโมย อยุติธรรม ล่วงประเวณีหรือเหมือนคนเก็บภาษีคนนี้ ข้าพเจ้าจำศีลอดอาหารสัปดาห์ละสองวันและถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมดของข้าพเจ้า…” (ลก 18, 11-12)
จริงๆ แล้ว นั่นคือท่าทีและพฤติกรรมของหลายคนที่รู้สึกว่าตนเป็นคนดีเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ชั่วกว่า ซึ่งเป็นการแสดงออกของความไม่มั่นใจในความดีที่ตนมี จึงต้องดึงคนอื่น คนที่ดีน้อยกว่ามายืนยันเพื่อสร้างความมั่นใจ (ไม่เต็มที่) ให้แก่ตนเอง
เมื่อความรักและความผูกพันไม่มีแล้ว ก็เหลือแต่ความยุติธรรมและปริมาณ
และนั่นคือท่าทีที่ลูกของพระบิดาเจ้าหลายคนมี
ความดีที่พยายามทำกลายเป็นการต่อรองและการเรียกร้องที่จะได้อย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่พระเจ้าประทานพระองค์ทั้งครบให้แล้ว แต่ก็ไม่เห็นคุณค่า
บ่อยครั้งเสียอีกที่ตัดพ้อต่อว่าพระเจ้า “ทำดีแล้วไม่เห็นได้ดี แต่ทำชั่วกลับได้ดี…” แล้วก็เปรียบเปรยตนเองกับคนที่ชั่วกว่าทำนองลำเลิกบุญคุณ… อีกต่างหาก
อีกหลายคนที่พระเจ้าทรงโปรดให้เป็นบุตรของพระองค์ แต่กลับทำตัวเป็นผู้รับใช้ ทำตัวไม่สมศักดิ์ของบุตรของพระเจ้าบ้างยึดเอาความยุติธรรมเป็นใหญ่บ้าง แล้วก็เที่ยวเรียกร้องสิ่งของวัตถุเป็นการตอนแทนอยู่ร่ำไป
“บิดาพูดว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีเป็นของลูก แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้ว กลับมีชีวิตอีก หายไปแล้ว ได้พบกันอีก’…” (ลก 15,31)
บิดาให้สติบุตรคนโต โดยบอกให้เขารู้ถึงสิทธิของเขาในทุกสิ่งที่บิดามี
ที่จริงแล้ว เมื่อบุตรได้ความรักของบิดาแล้ว เขาก็จะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทว่าบุตรคนโตไม่ได้เข้าถึงความรักของบิดา จึงสนใจอยู่แค่สิ่งของที่พึงจะได้ และไปไม่ถึงความมั่งคั่งที่บิดากำลังมอบให้ จึงไม่แปลกที่ว่าทำไมเขายังรู้สึกขัดสนอยู่ จนต้องลงไปในรายละเอียดแค่ลูกแพะตัวสองตัว
ในขณะที่บิดาให้ความรักความอบอุ่นแก่บุตรคนโต เขากลับมองข้ามและเห็นว่าสิ่งของสำคัญมากกว่า
บิดาให้ความรักแก่บุตร ความรักนี้เองนำไปสู่การให้ทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อให้บุตรมีความสุข ความรักและการให้จึงเป็นกิจการอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่บุตรคนโตกลับมองคนละอย่าง ต้องให้สิ่งของก่อนจึงแสดงว่ารัก แล้วก็เที่ยวเอาตัวสิ่งของเป็นตัวกำหนดและตัววัดของความรัก
บุตรของพระบิดาเจ้าหลายคนก็ยังมีท่าทีเดียวกันกับบุตรคนโตในอุปมา
พวกเขามักจะมองว่าสิ่งของเงินทองเป็นตัวกำหนดและเป็นการแสดงออกของความรักของพระเจ้า พวกเขาจึงไม่ค่อยได้เข้าถึงความรักของพระเจ้าเพราะมีสิ่งของเป็นตัวแปร และที่สุดก็มักจะลงเลยด้วยการถือว่าสิ่งของที่ได้รับคือความรักของพระเจ้า
พวกเขาปฏิบัติเช่นเดียวกันในการรักผู้อื่น แทนที่จะปล่อยให้ ความรักเป็นตัวชี้บอกสิ่งของ กลายเป็นว่าสิ่งของเป็นตัวชี้บอกความรัก ไม่น้อยคนที่รักเพียงด้วยสิ่งของอย่างเดียวและใช้สิ่งของเพื่อบอกรักและแทนทรักในที่สุด
บุตรพระบิดาเจ้าอีกหลายคนติดต่อกับพระเจ้าเพราะผลประโยชน์ที่จะได้รับ ในการสวดภาวนาแต่ละครั้งพวกเขาจะเป็นผู้กำหนดเสร็จสรรพว่าพระเจ้าจะต้องทำอะไรหรือต้องให้อะไรพวกเขาบ้าง
ความไว้วางใจ แทนที่จะอยู่ในความรักและความเมตตาของพระเจ้า กลับมาอยู่ที่ความสามารถของพวกเขาเอง… สามารถสวดได้ดี สวดได้ถึงใจ สวดเก่ง สวดมาก… ซึ่งหากจะเข้าใจจริงๆ ในความรักของพระบิดาเจ้าที่ทรงดูแลบุตรของพระองค์ในรายละเอียดทุกอย่าง ก็จะรู้ว่าพระองค์ประทานทุกอย่างให้บุตรของพระองค์มากกว่าที่พวกเขาคิดจะขอเสียอีก “…เพราะพระบิดาของท่านทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการอะไร ก่อนที่ท่านจะขอเสียอีก…” (มธ 6,8)
แต่เมื่อมนุษย์ยืนกรานที่จะมองแค่พระพรของพระเจ้าตามที่ต้องการและตามที่ขอไว้ มนุษย์ก็มองไม่เห็นหรือมองข้ามพระพรมากมายที่มาถึงชีวิตอย่างต่อเนื่อง เลยไม่เคยจะสำนึกและขอบคุณความรักของพระเจ้าซึ่งเป็นที่มาของทุกสิ่งทุกอย่าง
บิดาย้ำเตือนให้บุตรคนโตให้สำนึกว่าเขาเป็นพี่ชายของน้อยที่เพิ่งกลับมา “…น้องชายคนนี้ของลูก…”
คนที่ไม่ให้ความรักและความเคารพต่อบิดา ก็ยากจะถือคนที่คลานตามกันมาในสายเลือดเดียวกันเป็นพี่เป็นน้อง
นี่คือปัญหาของมนุษย์ กล่าวคือ หากมนุษย์ไม่นับถือพระเจ้ามนุษย์ก็จะไม่เคารพศักดิ์ศรีของกันและกันด้วย มนุษย์จึงพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อฉกฉวยประโยชน์จากกันและกัน อย่างไร้ปราณีมองกันและกันไม่ต่างจากการเป็นแค่วัตถุเพื่อความพึงพอใจและผลประโยชน์
สิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสกับกาอิน “อาแบลน้องชายของเจ้าอยู่ไหน?” (ปฐก 4,9) ก็ยังคงตรัสถามมนุษย์ทุกวันนี้เหมือนกัน “พี่/น้องของเจ้าอยู่ไหน?” หนักเข้าพระองค์ก็คงต้องตรัสย้ำว่า “น้องชายหญิงคนนี้ของลูก…”
ส่วนใหญ่ก็คงปัดความรับผิดชอบด้วยการไม่ยอมรับรู้ถึงความเป็นพี่เป็นน้องในพระเจ้า พร้อมกับแก้ตัวแบบขุ่นๆ เหมือนกาอิมว่า “ผมไม่ทราบ ผมต้องคอยดูแลน้องด้วยหรือ?” (ปฐก 4,9)
เฉพาะคนที่เข้าถึงความรักของพระบิดาเท่านั้นที่จะสำนึกถึงความเป็นพี่เป็นน้องกับบุตรทุกคนของพระบิดา ความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ จึงเป็นสิ่งที่ตามมา พร้อมกับการให้อภัยและการให้โอกาส ตามเยี่ยงอย่างของพระบิดาเจ้า
และนั่นคือการเลี้ยงฉลองและความชื่นชมยินดี ทั้งในสวรรค์และในแผ่นดิน .