ตัวเลือก
ตั้งแต่ค่าของเงินบาท “ลอย” ตัว อะไรก็ดูจะเลื่อน “ลอย” ไปหมด
จะเลื่อน “ลอย” ไปหมด
แม้ “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” ที่เคยฝันหวานและโวกันไว้ก็คงเหลือแค่เสือกระดาษ
สิ่งที่เราท่านเคยวาดโครงการเอาไว้ต้องชะงักงันหันมาแก้ลำให้รอดตัวไปวันๆ
เงินทองจะจับจ่ายใช้สอยก็ต้องคิดหน้าคิดหลังแล้วยังต้องคิดใหม่อีกตลบสองตลบ
ก่อนนี้มีตังค์สำหรับสิ่งฟุ่มเฟือยไว้ตกรางวัลให้ตนเองได้เป็นครั้งคราว
แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ สิ่งจำเป็นแท้ๆ ยังต้องกลั้นใจผัดผ่อนไปก่อน หากแม้นยังพอทนไหว
จะซื้ออะไรต้องเลือกแล้วเลือกอีกจนมั่นใจว่าคุ้มค่าจริงๆ
อะไรต่อราคาว่ากันได้ก็เฝ้าต่ออยู่นั่นแหละจนเหนื่อยกันไปข้างหนึ่ง
คนค้าคนขายก็อยากให้คุ้มค่าหากำไรต่อทุน คนซื้อก็อยากให้คุ้มค่าเงินแต่ละบาท แต่ละสตางค์
กว่าจะพบกันได้ครึ่งทาง คุ้มค่าเขาคุ้มค่าเรา ก็ต้องใช้วาทศิลป์พูดจาเกลี้ยกล่อมประกอบการเรียกร้องให้เห็นอกเห็นใจกัน
ซื้อเสร็จก็แทบจะกลายเป็นญาติกันเลยก็ว่าได้
ในยุคที่รัฐบาลประกาศให้รัดเข็มขัดประชาชน แต่คนในคณะรัฐบาลกลับจัดงานเลี้ยงโต๊ะละสองแสน การเลือกใช้เลือกสอยเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด
เลือกอะไรให้ได้คุณค่ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้...เลือกให้ได้ค่าเงิน เลือกให้ได้ค่าของ
ว่าที่จริงแล้ว ชีวิตของคนเราต้องมีการเลือกอย่างไรสิ้นสุด
แต่แปลก ยิ่งมีสิ่งต้องเลือกมาก การเลือกก็ยิ่งยากมากขึ้นด้วย
และเลือกแล้ว ก็มักจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด
เพราะเป็นการเลือกแบบ “รักพี่เสียดายน้อง” ใจมันอยากได้ไปหมดทุกอย่าง จนขาดความเด็ดขาด
แต่พอตัวเลือกมีน้อย การเลือกมักจะไม่ยากและมักจะเลือกได้ดี
จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องของคุณค่าที่ตั้งไว้สำหรับการเลือกแต่ละครั้ง ที่เป็นตัวกำหนดการเลือกแต่ละครั้ง ที่เป็นตัวกำหนดการเลือก
เมื่อไม่ได้ตั้งคุณค่าไว้ การเลือกกลายเป็นเรื่องของใจ...ใจง่ายใจโลเล หลายใจ...
แม้แต่การเลือกบริโภคสื่อมวลชนก็เถอะ
ในยุคที่สื่อมวลชนบ้านเรากำลังเฟื่องฟู มีให้เลือกซื้อเลือกหาเลือกดูได้อย่างเหลือเฟือ
แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะใช้ “ใจ” ในการเลือก มากกว่าใช้ “คุณค่า” เป็นตัวกำหนด
ทำให้ได้โทษมากกว่าคุณ ก่อให้เกิดการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์นำมาซึ่งความเสื่อมมากกว่าความเจริญ...
ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า วันหนึ่งๆ เรารับการสื่อสารรูปแบบต่างๆ จำนวน 1,700 ถึง 2,500 สาร
เราสามารถจดจำสารต่างๆ เหล่านั้นได้ประมาณ 65
นอกนั้น เราจำสิ่งที่เราอ่านได้แค่ร้อยละ 10
เราจดจำสิ่งที่เราได้เห็นร้อยละ 30
และเราเก็บสิ่งที่เราได้เห็นและได้ยินทั้งหมดได้แค่ร้อยละ 50...
หากสิ่งที่จดจำ ได้รับการเลือกสรรทรงไว้ซึ่งคุณค่า ก็คุ้มค่า
แต่หากสิ่งที่เหลือจากการเห็น การได้ยิน การอ่าน...นอกจากหาคุณค่าไม่ได้แล้ว ยังเป็นเพียงขยะให้รกสมอง รกจิตใจ รกสังคม..มันก็น่าเสียดาย
ไม่ต่างกับการซื้อกับข้าวยุคนี้ ซื้อสามถุง นำมาปรุงเป็นอาหารแล้ว ต้องทิ้งเป็นขยะไปสองถุง
แค่มานั่งนับตัวเลขของจำนวนหนังสือที่อ่าน ละครโทรทัศน์ที่ดู
ภาพยนตร์ที่ชม...แล้วดูว่าคุณค่าที่ได้รับมีจำนวนเท่าไร...เหลือไว้ในความทรงจำอีกเท่าไร...
คงต้องติดลบอย่างไม่ต้องสงสัย หากไม่มีการเลือกอย่างถูกต้อง
มันเป็นเรื่องของการจะเอาอะไรมาเป็นตัวกำหนดการเลือก...ความถูกใจหรือคุณค่า.