พระผู้ประทับอยู่*
นักบุญโทมัส อาไควนัส พูดถึงศีลมหาสนิทว่า “สุดยอดแห่งอัศจรรย์”
ทุกครั้งที่พูดถึงศีลมหาสนิท ต้องพูดย้ำว่า เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเพียงแง่ใดแง่หนึ่งของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ เวลาเดียวกันก็ไม่ควรเน้นแค่คุณค่าใดคุณค่าหนึ่งและแยกออกมาจากคุณค่าอื่นของศีลมหาสนิท
ศีลมหาสนิทคือเครื่องบูชาแห่งการไถ่กู้การร่วมโต๊ะแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน การประทับอยู่อันแท้จริง
การจะลืมแง่ใดแง่หนึ่งก็ถือได้ว่ายังเข้าไม่ถึงศีลมหาสนิท
เราคงเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมเราจึงต้อง “กินพระกายของพระคริสตเจ้า” หากเราไม่อ้างถึงเครื่องบูชาแห่งการไถ่กู้ให้รอดซึ่งเฉลิมฉลองในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและทำให้กลับเป็นความจริงที่นี่และทุกแห่งเมื่อพระสงฆ์ทำซ้ำทีท่าและพูดซ้ำพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสช่วงเวลาอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระองค์ พระองค์ทรงกำชับ “จงทำสิ่งนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงเราเถิด”
ศีลมหาสนิทจึงเป็นของประทานอันดับหนึ่งของพระเจ้าแต่ทุกวันนี้มักจะมีการมองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างที่ควร
ในทำนองเดียวกันนี้ การประทับอยู่อันแท้จริงของพระเยซูเจ้า ซึ่งถือเป็นเรื่องพิเศษสุด และเกิดขึ้นในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ อยู่ในรูปปรากฏขนมปังและเหล้าองุ่นซึ่ง เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า
ต่อเมื่อได้ร่วมส่วนในพิธีกรรมอย่างลึกซึ้ง ร่วมการบูชาอันศักดิ์สิทธิ์และได้รับผู้ที่ได้ทรงถวายพระองค์เป็นบูชาและมอบพระองค์เป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณเราแล้ว เราจึงจะสามารถเข้าใจ เทิดพระเกียรติ และพิศเพ่ง “การประทับอยู่อันแท้จริง” ที่เพิ่มความมั่นคั่งสูงส่งให้แก่วัดต่างๆ ของเราได้ ความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทที่มองข้ามการร่วมส่วนในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณและการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระกายของพระคริสตเจ้าและเน้นแค่การนมัสการการประทับอยู่อันแท้จริงของพระองค์ย่อมจะเป็นศรัทธาที่ยังไม่ครบ ในทำนองเดียวกันการร่วมส่วนในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณโดยไม่รับพระกายอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าและโดยไม่ต่อเนื่องไปในการพิศเพ่งที่ลึกซึ้งอย่างเงียบๆ ในการภาวนาและการนมัสการการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวและในตู้ศีล ย่อมจะเป็นความศรัทธาที่ไม่ครบถ้วนและมีผลเช่นเดียวกัน นอกนั้น ควรให้ความสำคัญแก่ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศีลมหาสนิท รวมทั้งสิ่งภายนอกที่เกี่ยวกับศีลมหาสนิท เริ่มจากพระแท่นซึ่งต้องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ไว้วางของอื่นๆ เพราะเป็นแท่นที่พระเยซูเจ้าทรงถวายบูชาพระองค์เอง ในทำนองเดียวกัน การร่วมงานเลี้ยงอันศักดิ์สิทธิ์ควรจะเต็มด้วยความสง่า ความศรัทธาและบทเพลงที่เหมาะสมทั้งผู้แจกศีลฯ และผู้รับศีลฯ ควรจะมีท่าทีสำรวม นอกนั้นสถานที่เก็บศีลมหาสนิทควรเป็นสัดส่วน สะอาด เหมาะสำหรับการนมัสการเงียบๆ
ในเมื่อการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางของวัด การแสดงออกของความศรัทธาที่มีต่อบรรดานักบุญก็ควรจะมีสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรูปวาดและรูปปั้นของนักบุญ หรือแท่นน้อยสำหรับนักบุญที่อยู่ในวัด สิ่งดังกล่าวไม่ควรทำให้ขาดความเคารพต่อการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท แม้ในช่วงที่ไม่มีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ดังนั้น ศีลมหาสนิทจึงควรเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชน ทั้งในฐานะปัจเจกและหมู่คณะ ศูนย์กลางของงานอภิบาล ศูนย์กลางของพิธีกรรมและศูนย์กลางของการแสดงออกของหมู่คณะคริสตชน
สิ่งที่ควรคำนึงคือ อย่าทำให้พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณเป็นแค่ “พิธีกรรม” ใช้สำหรับโอกาสต่างๆ (งานแต่งงาน พิธีศพการเฉลิมฉลองฝ่ายบ้านเมือง วันครบรอบต่างๆ…) โดยไม่มีการให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกหรือถูกเบียดบังด้วยกิจกรรมอื่นๆ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรจัดให้มียังจะดีกว่า เพื่อให้สมดังพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “พระบิดาเจ้าทรงแสวงหาผู้นมัสการที่แท้จริง” (ยน 4,23)
ในฐานะที่มีส่วนร่วมในการเป็นสงฆ์ของพระคริสตเจ้าเมื่อรับศีลล้างบาปและร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในศีลมหาสนิทคริสตชนทุกคนจึงได้รับเรียกให้ร่วมส่วนในพันธกิจของพระศาสนจักร ดังนั้น ความเป็นหนึ่งเดียวที่แนบแน่นทางพระกายหนึ่งเดียวของพระเยซูเจ้าจึงไม่อยู่แค่ภายในเท่านั้น แต่ต้องเป็นศักยภาพที่แสดงออกมาภายนอก ในการพิชิตโลกเพื่อนำมาถวายแด่พระองค์ตามแผนการของพระบิดาเจ้าด้วย กล่าวคือ “นำทุกสิ่งให้มารวมกันอยู่ใต้การปกครองของพระคริสตเจ้าพระประมุขแต่เพียงพระองค์เดียว” (อฟ 1,10) เช่นนี้ พระศาสนจักรร่วมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อภารกิจ
พระศาสนจักรมีภารกิจในการต่อเนื่องพระคริสตเจ้าในประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องการประทับอยู่ของพระองค์ ต่อเนื่องพันธกิจของพระองค์ “พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในพระศาสนจักรของพระองค์” (SC 7) เพื่อทรงเรียกมนุษย์ ช่วยมนุษย์ให้รอด ช่วยทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยทางพระจิตเจ้า ดังที่พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ทรงกล่าวไว้ว่า “เป็นพระคริสตเจ้าที่ทรงชีวิตอยู่ในพระศาสนจักร ผู้ซึ่งโดยทางพระศาสนจักรทรงสั่งสอน ปกครองและประทานความศักดิ์สิทธิ์” (Eccl.Suam)
ความรักของพระบิดาก่อให้เกิดแผนการแห่งความรอดซึ่งเป็นจริงเมื่อพระบุตรของพระองค์ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ และบรรลุความสมบูรณ์ในการเสด็จมาของพระจิต ผู้ประทับอยู่ในพระศาสนจักรเพื่อทำให้แผนการนี้เกิดผลเป็นความจริงในมนุษย์ทุกคน พระศาสนจักรจึงเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งความรอด” (LG 48)
ดังนั้น พระศาสนจักร “โดยธรรมชาติแล้วเป็นธรรมทูตเพราะเกิดจากพันธกิจของพระเยซูเจ้าและของพระจิตเจ้าตามแผนการของพระบิดา” (AG 2) “ดังนั้น นี่คือเป้าหมายของพระศาสนจักร กล่าวคือ แผ่ขยายพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าไปทั่วโลกเพื่อพระสิริมงคลของพระบิดา และทำให้มนุษย์ทุกคนร่วมส่วนในความรอดที่ได้มาจากการไถ่กู้ และเช่นนี้ โดยทางมนุษย์พระศาสนจักรจะได้นำโลกทั้งครบไปหาพระคริสตเจ้า” (AA 2)
พระคริสตเจ้ายังคงตรัสกับพระศาสนจักรว่า “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20,21) และ “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งปวง” (มก 16,15)
พระจิตเจ้าผู้ประทับอยู่ในพระศาสนจักรในฐานะผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ยังทรงผลักดันอย่างต่อเนื่อง “พระศาสนจักรโดยการดลใจของพระจิตเจ้าร่วมมือเพื่อทำให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จ กล่าวคือ สถาปนาพระคริสตเจ้าให้เป็นแหล่งที่มาของความรอดของโลก” (LG 17) นอกนั้น “พระจิตเจ้ายังทรงสร้างเอกภาพในพระศาสนจักรและทรงก่อให้เกิดพระพรแห่งฐานันดรและพระพรพิเศษต่างๆ ในพระศาสนจักรและในจิตใจของคริสตชนเพื่อสานต่อภารกิจของพระคริสตเจ้าต่อไปในโลก” (AG 4)
การร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระกายจึงเป็นที่มาของภารกิจ .
* Gaetano Bonicelli