Deep Thoughts|26

แล้วแต่จะมอง


ยุคเรานี้มีการพูดถึง “การล่มสลาย” ของหลายอย่าง

หนึ่งในหลายอย่างนี้คือการลมสลายของครอบครัวไทย

มีทั้งล่มสลายตามความหมายของคำ และล่มสลายในพฤตินัย

คำว่า “ล่ม” หมายถึงการทรงตัวไม่อยู่ เอียงจนตะแคงหรือคว่ำ เช่น เรือล่ม หรือหมายถึงทำอะไรไม่สำเร็จ ไม่รอดฝั่ง

คำว่า “สลาย” หมายถึงแตกพัง ทลาย ทะลาย

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ก็ได้แต่คิดตามประสาของผมว่า เมื่อพูดถึงคำว่า “ล่มสลาย” น่าจะหมายถึงอาการของสองคำนี้รวมกัน

ดังนั้น เมื่อพูดถึงการล่มสลายของชีวิตครอบครัวตามนัยแห่งคำแล้ว ก็หมายถึงครอบครัวที่ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ ไปด้วยกันไม่สำเร็จ แล้วก็แตกแยกพังทลายไม่เหลือหรอ

พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง... หมดสิ้นคำว่าครอบครัว

นอกนั้นก็มีการล่มสลายในพฤตินัยของชีวิตครอบครัว

แม้ยังจะอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว แต่ความรักต่อกันนั้นล่มสลายไปแล้ว

ทนอยู่ด้วยกันไปเพราะพันธะบางอย่าง เพราะฐานะด้านสังคม เพราะแรงกดดันจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ...

ทั้งๆ ที่ความรักที่มีต่อกันพยุงไว้ไม่อยู่และพังทลายไปนานแล้ว


เมื่อเห็นแนวโน้มของการล่มสลายของชีวิตครอบครัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีการศึกษาหาสาเหตุที่มาที่ไปเป็นการใหญ่โต

แล้วก็แจงรายการที่น่าจะเป็นตัวการก่อให้เกิดการล่มสลายเป็นบัญชียาวยืด

พร้อมกันนั้นก็เสนอรูปแบบกรแก้ปัญหาต่างๆ นานา แล้วแต่จะมองสาเหตุจากมุมมองใด

ผมมองของผมว่าในเมื่อคนเราแต่งงานและสร้างครอบครัวขึ้นมาเพราะความรักที่มีต่อกัน ก็น่าจะจากมุมมองความรักนี่แหละ

ผมคงไม่พูดถึงการแต่งงานที่ทำไปเพราะเหตุผลอื่น เพราะการแต่งงานประเภทนี้น่าจะเรียกว่าแต่งกับผลประโยชน์มากกว่าจะแต่งกับคน

ในเมื่อการแต่งงานเริ่มต้นเพราะความรัก ดำเนินไปเพื่อรัก มุ่งไปสู่ความรัก การล่มสลายของชีวิตแต่งงานก็เกิดจากการล่มสลายของความรักนั่นเอง

มักจะมีการพูดกันเสมอว่า เมื่อความรักของทั้งสองสุกหง่อมแล้วก็แต่งงานอยู่กินด้วยกัน

ทำให้เกิดความเข้าใจว่า การแต่งงานเป็นผลพวงจากความรักที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์แล้ว และไม่เคยฉุกคิดกันบ้างว่า ความรักเป็นผลพวงจากการแต่งงานด้วย

ราวกับจะบอกเป็นนัยว่า ทะเบียนสมรสเป็นปริญญาบัตรของความรัก

ปริญญาบัตรเป็นใบประกาศว่าบุคคลที่รับได้จบหลักสูตรการเรียนการศึกษาสาขาวิชานั้นๆ แล้วโดยสมบูรณ์

ทะเบียนสมรสเลยเป็นใบประกาศว่าบุคคลทั้งสองจบหลักสูตรความรักแล้วโดยสมบูรณ์

แล้วก็ลงเอยเหมือนผลไม้ที่สุกหง่อมที่คนจ้องแต่จะเด็ดมากินหรือไม่ก็ปล่อยให้ล่วงหล่นลงมาโคนต้น

แต่งงานกันไปแล้วก็มุ่งกอบโกยความสุข กินผลไม้ความรักที่สุกหง่อมกันอย่างตะกละตะกราม พอเอียนก็ปล่อยให้ร่วงหล่นเรี่ยราดอย่างไม่ใยดี

ถ้าไม่ได้กินตามคาดหวังก็มีการเรียกร้องสิทธิ ต่อรอง ข่มขู่ ประท้วง ประชด...หนักเข้าก็ลงไม้ลงมือ

แต่ของเอร็ดอร่อยขนาดไหนกินบ่อยๆ ซ้ำซาก ไม่ช้าก็เอียน

ความล่มสลายของชีวิตการแต่งงานก็ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะตั้งหลักกันว่าการแต่งงานเป็นผลพวงจากความรักแต่อย่างเดียว

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ความรักเป็นผลพวงของการแต่งงานด้วย

ต้นดอกรักที่ลงเมล็ด เฝ้าเอาใจใส่รดน้ำพรวนดินในช่วงคบหากันเป็นแฟน จนแตกกอเป็นลำต้นเมื่อตกลงยินยอมแต่งงานร่วมีวิตกันแล้ว ยังต้องดูแลรดน้ำพรวนดินด้วยความหวงแหนอาใจใส่ต่อไปและยิ่งวันยิ่งมากขึ้น จนแตกดอกออกผลในชีวิตน้อยๆ ที่ลืมตาขึ้นมาเป็นสมาชิกในครอบครัวแห่งความรัก

ในช่วงคบหาเป็นแฟนกัน ความรักที่มีต่อกันและกันเป็นแค่ “การเลือก” ...รักก็ได้ ไม่รักก็ได้ รักมากรักน้อย หรือแม้จะเลิกรักก็เป็นเรื่องของความพอใจ

แต่เมื่อแต่งงานแล้ว ความรักที่มีต่อกันกลับเป็น “พันธะ”... ต้องรักอย่างเดียว และรักสุดหัวใจ เสมอไป

และนี่คือความรักที่เป็นผลพวงจากการแต่งงาน

อยากให้คุณใคร่ครวญดูว่าคุณควรจะเป็นแบบใด.