Way of Spirit|4 page 0


พระสมณสารฉบับแรกของ พระสันตะปาปา เบเนดิก ที่ 16 สร้างความประทับใจให้ทุกคนที่ได้อ่าน เพราะพูดถึงความรักได้อย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากการมองความรักของมนุษย์ (eros) ที่นำไปสู่ความรักของและแบบพระเจ้า (agape) ในภาคแรก แล้วก็เข้าสู่การประยุกต์สำหรับทุกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ศิษย์ของพระเยซูเจ้า และที่ประทับทรงชีวิตของพระจิตเจ้า

พระสันตะปาปาไม่ได้เน้นหน้าที่แห่งความรักคริสตชน ซึ่งได้มีการพูดการอธิบายในเชิงอุดมการณ์กันมามากต่อมากในแวดวงพระศาสนจักร แต่พระองค์ทรงเน้นให้เห็นว่า ความรักคริสตชนไม่หยุดอยู่แค่ความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมเป็นบทบาทหน้าที่โดยพื้นฐานของผู้ปกครองและบริหารบ้านเมืองอยู่แล้ว แต่ความรักคริสตชนนั้นต้องหลุดเลยความยุติธรรม ไปสู่ความสงสาร ความมีน้ำใจ และความปรารถนาจะทำให้ทุกคนที่พบเห็นได้รับสิ่งที่ดีๆ ได้มีความสุข ได้พบความเต็มเปี่ยม


ถ้าความรักหยุดอยู่ที่ความยุติธรรม ความรักนั้นก็จะมีขีดจำกัดของการแสดงออก แต่พระสันตะปาปาทรงยืนยันว่า ความรักแท้จริง ต้องเป็นความรักที่ไม่มีขอบเขตและไม่มีเงื่อนไขใดๆ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดที่ใจที่เต็มด้วยความรักและความสงสารเป็นตัวชี้นำการแสดงออกของความรัก ใจนั่นเองจะชี้ให้เห็นว่าต้องรัก “อย่างไร” ในเวลาเดียวกันใจก็จะตัดคำว่า “ใครบ้าง” “แค่ไหน” และ “ทำไม” ออกไปจากสาระบบของคำว่า “รักแบบคริสตชน”


ไม่เช่นนั้นแล้ว พระเยซูเจ้าก็จะต้องถามเราครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “ถ้าท่านรักแต่คนที่รักท่าน ท่านจะได้บำเหน็จรางวัลอะไรเล่า บรรดาคนเก็บภาษีไม่ได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของท่านเท่านั้น ท่านทำอะไรพิเศษเล่า คนต่างศาสนามิได้ทำเช่นนี้ดอกหรือ” (มธ 5,46-47)


ในที่สุดแล้ว พระเยซูเจ้าก็ทรงต้องบอกย้ำให้เราเข้าใจและตระหนักว่า ถ้าจะรักแบบคริสตชน ก็ต้องรักแบบพระเจ้าทรงรัก...นั่นเอง “ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5,48)


เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ พระสันตะปาปาทรงเน้นว่า ความรักคริสตชนไม่ควรจะอยู่แค่การดูแลคนที่เรารักเฉพาะในเรื่องของกายและวัตถุสิ่งของเท่านั้น แต่ต้องเลยเข้าไปถึงความรู้สึก ความเป็น และจิตใจของเขาด้วย


เพราะความรักแบบนี้จะส่งผลถาวรให้แก่คนที่ได้รับความรัก จนเกิดความรู้สึกแห่ง “การเติมเต็ม” ในสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาควรเป็นในแผนการของพระเจ้าสำหรับเขา

อ่านพระสมณสาร “Deus Caritas Est” แล้ว อดคิดไม่ได้ว่า พระสมณสารนี้ท้าทายชีวิตผู้รับเจิมโดยตรง ให้ชีวิตผู้รับเจิมเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับความรัก ให้ชีวิตผู้รับเจิมเป็นประจักษ์พยานที่เด่นชัดแห่งความรักคริสตชนในยุคนี้ ยุคแห่งความสับสน สับสนแม้กระทั่งในเรื่องของความรัก


จิตวิสัย 4 ที่อยู่ในมือของท่าน ยังคงทำหน้าที่เสนอมุมมองหลากหลายในด้านชีวิตจิต ชีวิตคริสตชน และชีวิตแห่งการรับเจิมของนักเขียนหลายท่าน แต่ละมุมมองอาจจะยาวหน่อย แต่เนื้อหานั้นคุ้มค่าการติดตามและการพินิจ พิจารณา ไตร่ตรอง


หวังว่าท่านจะได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาชีวิตของท่านให้สมกับการคาดหมายของพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องทุกคน

บาทหลวงบรรจง สันติสุขนิรันดร์ sdb