Way of Spirit|2 page 1

บทบรรณาธิการ



นับตั้งแต่ศตวรรษแรกๆ ของพระศาสนจักรมาแล้วบุรุษและสตรีหลายคนรู้สึกว่าตนได้รับเรียกให้มาดำเนินชีวิตเลียนแบบสภาพผู้รับใช้ขององค์พระวจนาตถ์ ผู้ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ และพวกเขาก็ได้ติดตามพระองค์ไป โดยใช้ชีวิตในลักษณะเฉพาะและเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง… พวกเขาผูกมัดตนเองในอันที่จะเป็นประจักษ์พยานแห่งพระจิต เป็นบุรุษและสตรีที่ฝักใฝ่ในทางจิตวิญญาณอย่างถ่องแท้…” (Vita Consecrata, 6)


การเรียกให้ดำเนินชีวิตโดยมีพระวาจาของพระเจ้าเป็นที่ตั้งจนกระทั่งสามารถคิดอย่างพระเจ้าทรงคิด ตัดสินอย่างที่พระเจ้าทรงตัดสิน พูดอย่างพระเจ้าตรัส มองอย่างพระเจ้าทรงมอง และมีพฤติกรรมตามแบบอย่างชีวิตของพระเจ้า ทรงพระเยซูเจ้า และในพระจิตเจ้าคือชีวิตจิต ซึ่งเป็นกระแสเรียกของคริสตชนทุกคน


จิตวิสัยฉบับนี้เสนอข้อคิดจากพระวรสารของนักบุญลูกา บทที่ 15, 11-32 เป็นอุปมาที่พระเยซูเจ้าทรงเล่าและทรงเผยให้เห็นถึงความรักของพระเจ้าที่แสดงออกมาในบริบทของความผิดพลาดของบุตรของพระองค์ ที่จริงแล้ว ความรักของพระเจ้าเห็นได้เด่นชัดในทีท่าที่พระองค์ทรงมีต่อบุตรของพระองค์ทุกคน ซึ่งก็เป็นภาวะปกติและเป็นธรรมชาติแห่งความรักอยู่แล้ว แต่ในอุปมาเรื่องนี้ พระเยซูเจ้าทรงต้องการจะบอกว่า แม้ว่าลูกของพระองค์จะทำตัวไม่สมกับความรักของพระบิดาเจ้า พระองค์ก็ยังทรงยืนหยัดและหนักแน่นในความรักของพระองค์ มากไปกว่านั้น พระองค์ยังทรงแสดงความรักเป็นพิเศษที่เราท่านคิดไม่ถึงอีกด้วย ราวกับจะบอกว่า ยิ่งลูกของพระองค์มีปัญหาอ่อนแอและล้มเหลว พระองค์ก็ยิ่งทรงให้ความรักและความเอาใจใส่เขาเป็นพิเศษ มากกว่าลูกๆ ที่เป็นปกติ


จิตวิสัยฉบับนี้แตกต่างไปจากฉบับที่หนึ่งซึ่งประกอบด้วยบทความหลากหลาย เป็นฉบับที่มีบทความยาวเพียงบทเดียว นี่คือลักษณะของวารสารจิตวิสัยที่ทางศูนย์วรรณกรรม ตั้งใจจะเสนอท่านผู้อ่าน กล่าวคือ จะมีบางฉบับที่ประกอบด้วยบทความหลากหลายและบางฉบับที่มีเนื้อหายาวเพียงเรื่องเดียว กระนั้นก็ดี เป้าหมายแต่ละฉบับก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือส่งเสริมชีวิตจิต และชีวิตนักบวช


หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากจิตวิสัยเล่มนี้บ้างไม่มากก็น้อย

เรืองลูกล้างผลาญ

และลูกทีคิดว่าตนทำดีแล้ว


พระองค์ยังตรัสอีกว่า “ชายผู้หนึ่งมีบุตรสองคน บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า ‘พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมาดรแก่ลูกเถิด’ บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มีแล้วเดินทางไปยังประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพล ผลาญเงินทองจนหมดสิ้น


เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถวนั้น และเขาเริ่มขัดสนจึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิว แต่ไม่มีใครให้ เขาถึงรู้สำนึกและคิดว่า ‘คนรับใช้ของพ่อฉันมีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ ส่วนฉันอยู่ที่นี่ หิวจะตายอยู่แล้ว’ ฉันจะกลับไปหาพ่อ พูดกับพ่อว่า “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก โปรดนับว่าลูกเป็นผู้รับใช้คนหนึ่งของพ่อเถิด” เขาก็กับไปหาบิดา ขณะที่เขายังอยู่ไกล บิดามองเห็นเขารู้สึกสงสารจึงวิ่งไปสวมกอดและจูบเขา บุตรจึงพูดกับบิดา “พ่อครับ ลูกทำบาปผิดต่อสวรรค์และต่อพ่อ ลูกไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นลูกของพ่ออีก” แต่บิดาพูดกับผู้รับใช้ว่า “เร็วเข้า จงไปนำเสื้อสวยที่สุดมาสวมให้ลูกเรา นำแหวนมาสวมนิ้ว นำรองเท้ามาใส่ให้ จงนำลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วไปฆ่า แล้วกินเลี้ยงฉลองกันเถิด เพราะลูกของเราผู้นี้ตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้วได้พบกันอีก” แล้วการฉลองก็เริ่มขึ้น ส่วนบุตรคนโต อยู่ในทุ่งนา เมื่อกลับมาใกล้บ้าน ได้ยินเสียงดนตรีและการร้องรำจึงเรียกผู้รับใช้คนหนึ่งมาถามว่า “เกิดอะไรขึ้น” ผู้รับใช้บอกเขาว่า “น้องชายของท่านกลับมาแล้ว บิดาสั่งให้ฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วเพราะเขาได้ลูกกลับคืนมาอย่างปลอดภัย” บุตรคนโตรู้สึกโกรธไม่ยอมเข้าไปในบ้าน บิดาจึงออกมาขอร้องให้เข้าไป แต่เขาตอบบิดาว่า “ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวแก่ลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงเสเพล ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย”


บิดาพูดว่า ‘ลูกเอ๋ย ลูกอยู่กับพ่อเสมอมา ทุกสิ่งที่พ่อมีก็เป็นของลูก แต่จำเป็นต้องเลี้ยงฉลองและชื่นชมยินดี เพราะน้องชายคนนี้ของลูกตายไปแล้วกลับมีชีวิตอีก หายไปแล้วได้พบกันอีก’”



บาทหลวงบรรจง สันติสุขนิรันดร์

บรรณาธิการ