จดหมายอัคราธิการ
“DA MIHI ANIMAS, CETERA TOLLE”
อัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษและการทุ่มเทแห่งการแพร่ธรรม
เริ่มจากพ่อบอสโกไปสู่การปลุกเร้าดวงใจของซาเลเซียนแต่ละคน
โรม 24 มิถุนายน 2006
สมโภชการกำเนิดของนักบุญยอห์น บัปติสต์
สมาชิกที่รัก
ขณะที่กำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ ความคิดของพ่อยังหวนไปยังคุณพ่อ Valentin De Pablo ที่ปรึกษาแห่งภาคพื้นอัฟริกาและมาดากัสการ์ การจากไปอย่างกะทันหันและไม่คาดฝันของคุณทำให้เราตกใจและเศร้าโศกไม่น้อย พ่อขอขอบคุณพวกท่านจำนวนมากที่อยู่ใกล้ชิดพ่อ ร่วมใจและร่วมไว้ทุกข์ ให้เราโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระพรแห่งกระแสเรียกซาเลเซียน กระแสเรียกสงฆ์ และกระแสเรียกธรรมทูตของคุณพ่อ Valentin ในเวลาเดียวกันก็ให้เราคิดถึงคุณพ่อในคำภาวนาด้วย ในช่วงปลายชีวิต คุณพ่อได้ร่วมประชุมกับคณะที่ปรึกษาเพื่อเลือกหัวข้อสำหรับสมัชชาใหญ่ บัดนี้ คุณพ่ออยู่พระเจ้า คุณพ่อสามารถเสนอวิงวอนเพื่อเราทุกคนและเพื่อผลสำเร็จของสมัชชาใหญ่และสำหรับภาคพื้นที่คุณพ่อเคยรับผิดชอบ
ประกาศสมัชชาครั้งที่ 26
ในวันฉลองศาสนามของคุณพ่อบอสโก บิดาและผู้ตั้งคณะที่รักของเรา เด็กๆ ผู้ร่วมงาน และผู้มีพระคุณแห่งวัลดอกโก ต่างมารายล้อมคุณพ่อ พ่อรู้สึกยินดีที่กำลังเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงพวกท่านในนามของคุณพ่อบอสโกและผ่านทางคุณพ่อบอสโก พ่อขอประกาศเรียกประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 ตามที่พระวินัยข้อ 150 กำหนดไว้ สมัชชาใหญ่ “เป็นเครื่องหมายสำคัญ แสดงถึงเอกภาพในคณะที่มีสภาพแตกต่างกันไป” (ว. 146) เราจะมารวมกัน “เพื่อพิจารณาหาวิธีที่จะซื่อสัตย์ต่อพระวรสารและพระพรพิเศษของผู้ตั้งคณะ รวมทั้งปลุกความสำนึกในความต้องการของกาลเวลาและสถานที่” (ว. 146) ในช่วงเวลาของสมัชชา คุณพ่อบอสโกจะอยู่กับเรา
พ่อขอเชื้อเชิญพวกท่านให้มองดูเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นดังการเสด็จมาของพระจิตเจ้าสำหรับคณะของเรา ซึ่งในช่วงเวลาของสมัชชาใหญ่ “ภายใต้การนำของพระจิตเจ้า คณะจะพยายามรู้ถึงน้ำพระทัยของพระเจ้า ผู้ประสงค์ให้คณะกระทำในช่วงเวลาหนึ่งโดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ เพื่อรับใช้พระศาสนจักรให้ดียิ่งขึ้น” (ว. 146) ความยิ่งใหญ่ของพระจิตเจ้าจะเผยให้เราเห็นฤทธิ์อำนาจของพระองค์ ซึ่งสามารถฟื้นฟูแผ่นดินขึ้นมาใหม่ (สดด 104,30) และบันดาลให้ทุกสิ่งใหม่ พระจิตแห่งพระเจ้าประทับอยู่ในทุกช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ จะทรงทำให้ความรักของเราต่อคุณพ่อบอสโกมีความใหม่เช่นกัน
พระจิตทรงล่องลอยเหหนือผิวน้ำตั้งแต่แรกเริ่มของโลก (เทียบ ปฐก 1,2) พระเจ้าทรงประทานพระจิตให้แก่มนุษย์เมื่อทรงเป่าลมแห่งชีวิตให้เขา (เทียบ ปฐก 2,7) พระจิตทรงชี้นำอับราฮัมให้นบนอบพระเจ้าด้วยความเชื่อ เมื่อพระองค์ทรงเรียกท่านให้ออกจากแผ่นดินต้นกำเนิดและให้ละทิ้งญาติพี่น้องเพื่อไปสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา (เทียบ ปฐก 12,1-4) พระเจ้าประทานพระจิตให้แก่โมเสสบนภูเขาซีนายให้เป็นดังพระวาจาแห่งชีวิตในโอกาสที่พระองค์ประทานพระบัญญัติ (อพย 20,118) พระจิตทรงครอบครองจิตใจชายและหญิงแห่งอิสราเอลเพื่อเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นผู้ปลดปล่อยประชากรและให้เป็นประกาศกของพระเจ้า (เทียบ กจ 2,17)
พระจิตทรงแผ่เงาเหนือพระนางพรหมจารีมารีอาและทรงบันดาลให้เป็นพระมารดาแห่งพระบุตรของพระเจ้า (เทียบ ลก 1,35) พระจิตทรงเจิมพระเยซูเจ้าในพิธีศีลล้างและทรงนำพระองค์ไปประกาศข่าวดีแห่งพระอาณาจักร (เทียบ มก 1,10-15) พระจิตเสด็จมาเหนือบรรดาอัครสาวกในรูปแบบลิ้นไฟและทรงบันดาลให้พวกเขาเป็นประจักษ์พยานน่าเชื่อถือของพระผู้ทรงกลับคืนชนมชีพ (เทียบ กจ 2,1-1)
ปัจจุบันนี้ พระจิตทรงดลใจให้มีการส่งเสริมชีวิตและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ทรงเปิดความคิดและดวงใจของชายและหญิงให้น้อมรับพระเจ้าและพระคริสตเจ้าในฐานะแขกผู้ทรงความเมตตาอ่อนหวาน ผู้ไม่ทรงกระทำการใดที่ฝืนจิตใจมนุษย์ แต่ทรงเชื้อเชิญให้มนุษย์มีความตระหนักและอ่อนน้อมต่อการดลใจของพระองค์
สมัชชาใหญ่ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 26 ในประวัติศาสตร์ของคณะเรา จะเป็นความต่อเนื่องกับสมัชชาครั้งก่อนๆในพันธะแห่งความสัตย์ซื่อที่จริงใจและเต็มด้วยศักยภาพต่อพระเจ้าและต่อเยาวชน สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 จะจัดที่กรุงโรมในแผนก “Salesianum” ของศูนย์กลางใหญ่ของคณะ โดยจะเริ่มต้นในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2008 ที่กรุงตุริน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระพรพิเศษของเรา เราจะกลับบ้าน ไปหาบิดาของเรา เพื่อเข้าถึงรากเหง้าแห่งจิตตารมณ์ของเรา เราจะเริ่มด้วยพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในพระวิหารแม่พระองค์อุปถัมภ์ หลังจากนั้นก็จะไปเยี่ยมสถานที่ซาเลเซียนซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งการดลใจและศักยภาพของเรา แล้วนั้นจึงจะเดินทางไปที่กรุงโรม ซึ่งจะเป็นสถานที่ประชุมสมัชชาใหญ่
พ่อได้แต่งตั้งคุณพ่อ Francesco Cereda ที่ปรึกษาใหญ่ฝ่ายการอบรมให้เป็นผู้อำนวยการสมัชชา ในช่วงนี้ คุณพ่อจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเตรียมและดำเนินการประชุมสมัชชาใหญ่
“Da mihi animas, cetera tolle” (เทียบ ว. 4) คือหัวข้อของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 ซึ่งพ่อและคณะที่ปรึกษาใหญ่ได้เลือก หัวข้อนี้พ่อมักจะใช้ในการเยี่ยมของอัครธิการและคณะที่ปรึกษาตามแขวงต่างๆ และเป็นหัวข้อที่พ่อและที่ปรึกษาใหญ่รักมาก คติพจน์นี้เป็นตัวแทนของโครงการฝ่ายจิตและโครงการอภิบาลของคุณพ่อบอสโก ในคติพจน์นี้มีอัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษและการทุ่มเทแห่งการอภิบาลซาเลเซียน
แรงจูงใจของการเลือกหัวข้อ
นานมาแล้วที่พ่อเริ่มมีความตระหนักว่า ปัจจุบันนี้ ในคณะของเราจำเป็นต้องมีการปลุกเร้าจิตใจสมาชิกแต่ละคนให้ตื่นขึ้นมาด้วยความรักหลงใหลใน “Da mihi animas” เพื่อให้คติพจน์นี้เป็นดังแรงดลใจ แรงบันดาลใจและพลังในการทำตามความคาดหมายของพระเจ้าและในการตอบสนองความต้องการของเยาวชน ในเวลาเดียวกันก็เผชิญหน้ากับการท้าทายใหม่ๆของทุกวันนี้ด้วยความกล้าหาญและความเชี่ยวชาญ
ในการเลือกคติพจน์ “Da mihi animas, cetera tolle” นี้ เราอยากจะน้อมรับโครงการฝ่ายจิตและฝ่ายการอภิบาลของคุณพ่อบอสโก อีกทั้งแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการกระทำอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อ “พระสิริมงคลของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณ” ด้วยวิธีนี้ เราจะค้นพบจุดกำเนิดแห่งพระพรพิเศษของเรา เป้าหมายแห่งภารกิจของเรา และอนาคตของคณะของเรา
ในโอกาสครอบรอบสองร้อยปีแห่งการเกิดของคุณพ่อบอสโกในปี 2015 เราอยากจะวิงวอนคุณพ่อบอสโกให้กลับมาอยู่ท่ามกลางเราและท่ามกลางเยาวชน...“คุณพ่อบอสโกโปรดกลับมา” ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้นให้ซาเลเซียนแต่ละคนกลับมาหาคุณพ่อบอสโกและกลับมาหาเยาวชน “ให้เรากลับมาหาคุณพ่อบอสโกด้วยการกลับมาหาเยาวชน” คุณพ่อบอสโกและเยาวชนนั้นแยกกันไม่ออก คุณพ่อบอสโกคือบิดาและแบบอย่างของเรา เยาวชนคือที่ที่ “เราพบปะพระเจ้า” (ว 95) และ “บ้านเกิดเมืองนอนของภารกิจของเรา” 1ดังนั้น เราจีงไม่สามารถกลับไปหาคุณพ่อบอสโกได้ หากเราไม่กลับไปหาเยาวชน
การพูดว่า “Da mihi animas, cetera tolle” ก็คือการสวดภาวนาถึงพระเจ้าสำหรับใครก็ตามที่ทุ่มเท เหน็ดเหนื่อย และตอบรับการท้าทายด้านแพร่ธรรมในพระนามของพระองค์ โดยสละทุกอย่างและให้การดูแลเอาใจใส่ทุกคน เนื่องจากคติพจน์นี้เป็นคำภาวนา มันทำให้เราเข้าใจว่าภารกิจของเราไม่อยู่ในการริเริ่มและการกระทำกิจการแห่งการแพร่ธรรม เพราะภารกิจนี้เป็นของประทานจากพระเจ้า อีกทั้งไม่ใช่เป็นแค่หน้าที่ด้านการแพร่ธรรม ดังนั้น การกระทำให้ภารกิจนี้สำเร็จไปก็คือการภาวนาที่เปลี่ยนเป็นการกระทำนั่นเอง นี่คือวิธีหลีกเลี่ยงการเน้นแต่การทำงานอย่างเดียวและความเสี่ยงที่จะถูกเผาผลาญไปจากการงานที่ทำสักแต่ว่าทำ
พ่อคิดว่า โครงการชีวิตและการกระทำของคุณพ่อบอสโกสะท้อนออกมาในพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “เรากระหาย” พระองค์ตรัสประโยคนี้จากบนไม้กางเขนในขณะที่ทรงมอบชีวิตของพระองค์เพื่อทำให้แผนการของพระบิดาเจ้าสำเร็จไป (ยน 19,18) ใครที่ถือเอาพระดำรัสนี้ของพระคริสตเจ้ามาเป็นชีวิตและการกระทำของตนเอง ก็จะรู้จักร่วมส่วนในความรักหลงใหลในงานแพร่ธรรมของพระองค์ “จนถึงที่สุด” พระวาจาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นการเชื้อเชิญให้เราแต่ละคนรื้อฟื้นความกระหายในการช่วยวิญญาณและรื้อฟื้นคำสัญญาที่คุณพ่อบอสโกได้ทำไว้กับเด็กๆของคุณพ่อ “พ่อจะดำเนินชีวิตเพื่อพวกเธอจนถึงลมหายใจสุดท้ายของพ่อ” ดวงใจของซาเลเซียนได้รับแรงบันดาลใจจากดวงพระทัยที่ถูกแทงของพระคริสตเจ้า”2
คติพจน์ของคุณพ่อบอสโกสรุปอยู่ในชีวิตจิตและการบำเพ็ญพรตแบบซาเลเซียน ดังที่สะท้อนให้เห็นใน “ความฝันเพชรสิบเม็ด” ในสองแง่ กล่าวคือ ในแง่ของโฉมหน้าภายนอกของซาเลเซียนที่บ่งบอกถึงความกล้าหาญ ความเชื่อ ความหวัง การอุทิศตนเพื่อภารกิจ และในแง่ของดวงใจซ่อนเร้นซึ่งได้รับการเจิมให้เป็นซาเลเซียนที่ชี้นำเขาให้ติดตามพระคริสตเจ้าในแบบอย่างชีวิตที่นบนอบ ยากจน และบริสุทธิ์ของพระองค์
ขั้นตอนที่นำไปสู่การเลือกหัวข้อ
เพื่อเลือกหัวข้อสำหรับสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 เราได้เริ่มต้นจากชีวิตของแขวงต่างๆ ในการตรวจเยี่ยมของอัคราธิการและคณะที่ปรึกษา (Team Visit) ตามแขวงต่างๆ เราได้เชื้อเชิญทุกแขวงให้ทบทวนการนำมติของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 ไปปฏิบัติ ในเวลาเดียวกันก็เสนอเป้าหมายบางอย่างสำหรับอนาคตโดยมุ่งประเด็นไปในสิ่งที่ได้กระทำสำเร็จลุล่วงไปในปีที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกันก็มุ่งประเด็นไปที่การท้าทายใหญ่ๆ ทรัพยากรสำหรับอนาคต ตลอดจนความยากลำบากและอุปสรรคที่เราพบเห็น
การตรวจเยี่ยมแบบ Team Visit จึงเป็นดังก้าวแรกของการเตรียมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 ในแง่ที่ว่า มันเป็นการทำให้เรารู้ถึงสภาพของคณะในบริบทที่หลากหลาย จุดแข็งและจุดอ่อน โอกาสและการท้าทาย
การตรวจเยี่ยมจึงเป็นโอกาสเพื่อจุดประกายไฟแห่งความยินดีและความกระตือรือร้นในดวงใจของสมาชิกซาเลเซียนในดำเนินชีวิตซาเลเซียนและกระทำภารกิจเพื่อเยาวชน ทุกอย่างเหล่านี้เรียกร้องให้เรามีความรักหลงใหลแบบ “Da mihi animas, cetera tolle” ในเวลาเดียวกัน ในคติพจน์นี้เอง เราจะเห็นว่ามีหัวข้ออื่นๆตามมาด้วย อาทิ การแพร่ธรรม กระแสเรียก ความยากจน และทิศทางใหม่ๆสำหรับภารกิจของเรา
ในตอนท้ายของการประชุมคณะที่ปรึกษาใหญ่ประจำปีในช่วงเดือนธันวาคม 2005 – เดือนมกราคม 2006 ที่ปรึกษาใหญ่แต่ละท่านได้ส่งข้อเสนอสำหรับสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 ให้พ่อ เมื่อสรุปแล้วก็เห็นว่าเป็นข้อเสนอในแนวทางเดียวกัน ถึงแม้จะมีการเน้นและมีแรงจูงใจที่แตกต่างกันไป นั่นคือ การกลับไปสู่พระพรพิเศษของคุณพ่อบอสโก กลับไปสู่อัตลักษณ์ซาเลเซียนและความรักทุ่มเทเพื่อการแพร่ธรรม นอกนั้นก็มีหัวข้อจำเพาะเจาะจงบางหัวข้อ อาทิ การแพร่ธรรมในปัจจุบันนี้ กระแสเรียกสู่การรับเจิมซาเลเซียน ความยากจน ทิศทางใหม่ๆของงานธรรมทูตซาเลเซียน การอบรม การสื่อสาร เป็นต้น
กระบวนการของการเลือกหัวข้อสำหรับสมัชชาครั้งที่ 26 สรุปด้วยการไตร่ตรองร่วมกันในช่วงการประชุมคณะที่ปรึกษาวิสามัญเมื่อวันที่ 3-12 เมษายน 2005 ซึ่งนำไปสู่การเลือกหัวข้ออย่างเป็นทางการ ดังที่พ่อได้เสนอในตอนต้นของจดหมายนี้
เป้าหมายหลักของหัวข้อ
เป้าหมายหลักของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 คือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษของเราด้วยการกลับไปหาคุณพ่อบอสโกด้วยการปลุกเร้าจิตใจของสมาชิกแต่ละคนให้มีความรักหลงใหลแห่ง “Da mihi animas, cetera tolle”
เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนี้ เราแต่ละคนต้องรู้จักคุณพ่อบอสโกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและอ่านพระวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทที่สองที่ว่าด้วยจิตตารมณ์ซาเลเซียน เพื่อจะได้ฟื้นฟูพันธะของเราในการที่จะเป็นเหมือนกับคุณพ่อบอสโก บิดาและอาจารย์ และได้รับแรงบันดาลใจจากความตระหนักของคุณพ่อ
เป้าหมายนี้เรียกร้องให้มีการจุดไฟแห่งความรักหลงใหลต่อชีวิตจิตและชีวิตแพร่ธรรมในดวงใจของสมาชิกแต่ละคน โดยช่วยแต่ละคนให้มีแรงบันดาลใจและสร้างเอกภาพให้แก่ชีวิตและพันธกิจแห่งการ “เทิดพระเกียรติพระเจ้าและความรอดแห่งวิญญาณ”
ปี 2015 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบสองร้อยปีแห่งการเกิดของคุณพ่อบอสโก น่าจะเป็นปีแห่งพระหรรษทานสำหรับคณะของเราซึ่งได้รับเรียกให้แทรกซึมเข้าไปอยู่ในบริบทต่างๆด้วยพระพรพิเศษ กล่าวคือ ด้วยจิตตารมณ์และภารกิจแห่งผู้ตั้งและบิดาของเรา การเฉลิมฉลองนี้จะเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26
เพื่อจะบรรลุเป้าหมายของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 เราต้องรู้จักคุณพ่อบอสโกให้ดีกว่านี้ เราต้องศึกษา ต้องรัก ต้องเลียนแบบและสวดขอคุณพ่อ (ว 21) เราต้องรู้จักคุณพ่อในฐานะที่เป็นอาจารย์แห่งชีวิต และตักตวงชีวิตจิตจากคุณพ่อในฐานะลูกและศิษย์ เราต้องรู้จักคุณพ่อในฐานะที่เป็นผู้ตั้งคณะและผู้ชี้แนวทางเราในความสัตย์ซื่อต่อกระแสเรียก เราต้องรู้จักคุณพ่อในฐานะนักอบรมผู้ส่งทอดมรดกแห่งการอบรมแบบป้องกันให้แก่เรา เราต้องรู้จักคุณพ่อในฐานะผู้ร่างกฎสำหรับชีวิตโดยทางพระวินัย ซึ่งให้แนวทางจำเพาะแก่เราในการอ่านพระวรสารและในการติดตามพระคริสตเจ้า3
วันนี้มากกว่าเมื่อวานนี้และพรุ่งนี้มากกว่าวันนี้ เราเสี่ยงที่จะตัดเยื่อใยกับคุณพ่อบอสโก คุณพ่อสิ้นใจนานกว่าศตวรรษ ซาเลเซียนที่เคยมีชีวิตร่วมสมัยกับคุณพ่อบอสโกและรู้จักคุณพ่อดีต่างก็ตายจากไปหมดแล้ว ความห่างเหินจากผู้ตั้งคณะทั้งด้านกาลเวลา ด้านภูมิศาสตร์และด้านวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศแห่งชีวิตจิตและความใกล้ชิดด้านจิตวิทยาที่เคยเอื้อให้เราอ้างถึงคุณพ่อบอสโกและจิตตารมณ์ของคุณพ่อโดยเพียงแค่เห็นรูปถ่ายของคุณพ่อก็ลดน้อยถอยลงด้วย สิ่งที่เราได้รับการถ่ายทอดมาก็อาจจะสูญหายไปได้ การเหินห่างจากผู้ตั้งคณะ อัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษจืดจางลง สายใยที่เชื่อมโยงฝ่ายจิตเปราะบางมากขึ้น เหล่านี้อาจจะทำให้เราหมดอนาคตและสิทธิพลเมืองไปหากเราไม่รีบฟื้นรากเหง้าของเราให้แข็งแกร่งขึ้น
ปัจจุบันนี้ พ่อคิดว่าเราซาเลเซียนมีวิกฤติแห่ง “ความน่าเชื่อถือ” มากกว่าจะเป็นวิกฤติแห่งอัตลักษณ์ เราอยู่ในสถานการณ์แห่งทางตัน ดูเหมือนว่าเราจะตกอยู่ใต้เผด็จการของ “statu quo” ซึ่งเห็นได้จากการขัดขืนการเปลี่ยนแปลงแทบไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะเชื่อในประสิทธิผลแห่งคุณค่าทางพระวาจา เราก็ยังรู้สึกลำบากที่จะเข้าถึงใจของเยาวชนและเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังให้แก่พวกเขา เราหวั่นไหวเมื่อเห็นว่าความเชื่อแทบไม่มีบทบาทในการสร้างชีวิตของพวกเขาเลย เรารู้สึกแปลกแยกจากโลกของพวกเขาและห่างเหินจากโครงการชีวิตของพวกเขาจนแทบจะเป็นคนแปลกหน้าก็ว่าได้ เรามาเข้าใจว่า เครื่องหมาย ท่าทีและภาษาของเราไม่มีประสิทธิภาพและเข้าไม่ถึงชีวิตของพวกเขา
ในขณะที่เราทุ่มเท เป็นประจักษ์พยานและอุทิศตนถึงขั้นวีรกรรม เราก็ต้องพบว่า “มีความเย็นเฉยต่อชีวิตจิต การดำเนินชีวิตแบบฟุ่มเฟือยหรูหราและทัศนคติเชิงบริโภคนิยม”4 ในเอกสารที่เราเคยเรียกว่า “พินัยกรรมฝ่ายจิต” คุณพ่อบอสโกได้เขียนไว้ว่า “เมื่อใดที่เริ่มเห็นความสะดวกสบายในบุคคล ในห้อง หรือในบ้าน เมื่อนั้นก็คือความเสื่อมของคณะของเรา ... เมื่อใดที่เราเริ่มเสาะหาความสะดวกสบายหรือความมั่งคั่ง เมื่อนั้นคณะของเราก็จบลง”5
การขาดแคลนกระแสเรียกและความเปราะบางของกระแสเรียกทำให้พ่อคิดว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลายคนไม่มีความตระหนักในประโยชน์ด้านสังคม ด้านการอบรมและด้านการแพร่ธรรมของภารกิจของเรา บางคนอาจจะเห็นว่าพันธะในงานของเราไม่สอดคล้องกับความใฝ่ฝันของพวกเขา ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเราไม่รู้จักทุ่มเทและฟื้นฟูงานของเราอย่างต่อเนื่อง พวกเราบางคนก็ติดอยู่กับเรื่องเร่งด่วน ก็เลยไม่ยอมมองไปที่เป้าหมายที่พึงต้องมุ่งถึง
เราต้องกลับไปหาเยาวชนด้วยคุณภาพมากกว่านี้ คุณพ่อบอสโกสร้ารูปแบบชีวิต มรดกด้านการอภิบาลและการอบรม ระบบการอบรม และชีวิตของคุณพ่อเองในขณะที่อยู่ท่ามกลางเยาวชน ภารกิจของคุณพ่อบอสโกจึงมีเอกภาพ คุณพ่ออยู่กับเยาวชนและเพื่อเยาวชน แม้ในยามที่มีเหตุจำเป็นซึ่งทำให้ไม่สามารถติดต่อกับพวกเขาทางกายได้หรือรับใช้พวกเขาได้โดยตรง เพราะเหตุนี้ คุณพ่อจึงปกป้องพระพรพิเศษแห่งการเป็นผู้ตั้งคณะเพื่อเยาวชนด้วยความเหนียวแน่น แม้ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนาที่ไม่มองกาลไกลอย่างที่ควร ภารกิจของซาเลเซียนคือ “ความรักพิเศษ” ต่อเยาวชน ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นแห่งความรักพิเศษนี้อยู่ในพระพรของพระเจ้า กระนั้นก็ดีเราแต่ละคนต้องน้อมรับ พัฒนา และทำให้มันเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้นด้วยสติปัญญาและดวงใจของเรา
ซาเลเซียนที่แท้จริงไม่ทิ้งงานเยาวชน ซาเลเซียนคือผู้ที่รู้จักเยาวชนดี หัวใจของเขาเต้นในทุกแห่งที่หัวใจเยาวชนเต้น ซาเลเซียนดำเนินชีวิตเพื่อเยาวชน อยู่เพื่อแก้ปัญหาให้พวกเขา เยาวชนจึงเป็นความหมายของชีวิตซาเลเซียน ไม่ว่าจะทำงาน จะเรียน จะรัก จะใช้เวลาว่าง... ก็เพื่อเยาวชนโดยเฉพาะ ซาเลเซียนคือผู้ที่รู้จักเยาวชนถึงแก่น รวมทั้งในด้านทฤษฎีด้วย ซึ่งจะช่วยให้เขาค้นพบความต้องการของเยาวชนได้อย่างถูกต้อง และใช้ความรู้นี้เพื่ออภิบาลเยาวชนได้อย่างเหมาะสมแก่การกาลเวลา
ปัจจุบันนี้ เราต้องหยั่งลึกเข้าถึงวิธีการอบรมเยาวชน เราต้องศึกษาและทำให้ระบบการอบรมแบบป้องกันทันสมัยตามคำแนะนำของคุณพ่อ Edigio Vigano’ ในด้านผู้ประกอบการและนักวิชาการ น่าจะมีการพัฒนาคุณค่าของระบบการอบรมแบบป้องกัน ทำให้เป็นหลักการ เป็นข้อมูล เป็นแนวทางและเป็นการตีความที่ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่นของเนื้อหาที่มุ่งพระสิริมงคลของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณ ความเชื่อที่ทรงชีวิต ความหวังที่หนักแน่น ความรักเชิงอภิบาล การเป็นคริสตชนที่ดีและพลเมืองที่ซื่อสัตย์ “ความร่าเริง การเรียน และความศรัทธา” สุขภาพ วิชาการ ความศักดิ์สิทธิ์ ศีลธรรม วัฒนธรรม การประกาศข่าวดีและการเน้นคุณค่าแห่งอารยธรรม
ในทำนองเดียวกัน เราต้องให้ความสำคัญแก่วิธีการ กล่าวคือ ทำตนให้น่ารักมากกว่าให้น่ากลัว ใช้เหตุผล ศาสนา ความรักใจดี ความเป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นเพื่อน ความเป็นกันเองในเวลาหย่อนใจ การพิชิตใจ คำนึงถึงการเป็นนักอบรมที่ได้รับการเจิมเพื่อความดีของเยาวชน ให้อิสระแก่การกระโดดโลดเต้น การวิ่ง ร้องตะโกนได้ตามใจชอบ ทุกอย่างเหล่านี้ต้องทบทวนเพื่อให้เหมาะกับเยาวชนรุ่นใหม่ที่ต้องดำเนินชีวิตในสถานการณ์และปัญหาที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ตามที่มีการวิเคราะห์ทางด้านวิชาการ
เราต้องรู้จัก หยั่งลึกและดำเนินชีวิตตามจิตตารมณ์ของคุณพ่อบอสโก การรู้จักแค่แง่ภายนอกของชีวิต กิจการและวิธีการอบรมของคุณพ่อบอสโกยังไม่พอ เราต้องเจาะลึกเข้าถึงแหล่งที่มาแห่งการกระทำและความสำเร็จของคุณพ่อ เหนืออื่นใด เข้าถึงประสบการณ์ลึกซึ้งฝ่ายจิตของคุณพ่อ ซึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่า “ความคุ้นเคย” กับพระเจ้า นี่คือประเด็นที่เราน่าจะสวดขอจากคุณพ่อ เลียนแบบคุณพ่อ และติดตามคุณพ่อ เพื่อจะได้พบกับพระคริสต์และทำให้พระคริสต์พบกับเยาวชน
การจะลอกเลียนแบบประสบการณ์ฝ่ายจิตของคุณพ่อบอสโกนั้นไม่ใช่การกระทำที่ง่าย ทั้งนี้เป็นเพราะยังไม่มีการหยั่งลึกเข้าไปในบริบทของคุณพ่อบอสโกเท่าที่ควร ภาพของคุณพ่อบอสโกเป็นที่ง่วนอยู่กับงาน ทำให้เรามองไม่เห็นการพัฒนาภายในของคุณพ่อ หรือเปิดโอกาสให้เราได้ไตร่ตรองชีวิตฝ่ายจิตของคุณพ่อได้อย่างเต็มที่ คุณพ่อไม่เคยเขียนบันทึกฝ่ายจิต คุณพ่อไม่เคยตีความรูปแบบชีวิตจิตให้เรา แต่คุณพ่อเลือกที่จะถ่ายทอดชีวิตจิตที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของคุณพ่อผ่านทางชีวประวัติของเยาวชนที่คุณพ่อเขียน จึงยังเป็นการไม่เพียงพอที่จะบอกว่าชีวิตจิตของคุณพ่อเป็นของบุคคลหนึ่งที่เน้นแต่ทำงานอภิบาล ไม่เน้นการรำพึงพิศเพ่ง แต่ต้องบอกด้วยว่างานอภิบาลของคุณพ่อเป็นสอดประสานระหว่างชีวิตจิตส่วนตัวและชีวิตจิตของคนยุคนั้นได้อย่างกลมกลืน6
ที่แก่นแห่งชีวิตจิตของคุณพ่อบอสโกมีพระเจ้าแต่ผู้เดียวที่ต้องรู้จัก รัก และรับใช้ ด้วยชีวิตที่ดำเนินตามกระแสเรียก พร้อมทั้งอุทิศตนเพื่องานสงเคราะห์ อบรม และอภิบาล โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนที่ยาจนและถูกทอดทิ้ง เพื่อช่วยพวกเขาให้ได้รับความรอดแบบบูราณภาพ ตามพระแบบฉบับของพระคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ และเรียนรู้จากพระแม่มารีย์ผู้ทรงเป็นแม่และอาจารย์ของเรา สิ่งนี้เราเห็นได้ชัดเจนในจดหมายที่คุณพ่อเขียน ซึ่งจะมีคำ “พระเจ้า” บ่อยๆ และกิริยาที่คุณพ่อใช้บ่อยที่สุดคือ “ทำ” รองลงมาคือ “สวด”7
แม่พิมพ์แห่งประสบการณ์ฝ่ายจิตของคุณพ่อบอสโกสรุปอยู่ในคำขวัญ “Da mihi animas, cetera tolle” กล่าวคือ ความปรารถนาที่ช่วยวิญญาณให้รอดมากกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น คำของหนังสือปฐมกาลบทที่ 14 ข้อ 21 กลายเป็นลักษณะพิเศษในตัวคุณพ่อบอสโก เริ่มตั้งแต่การอ่าน การซึมซับ แล้วก็เป็นคำภาวนาสั้นๆ คำว่า “animas” หมายถึงบุคคล หมายถึงเยาวชนที่คุณพ่อทุ่มเททำงานให้ โดยมีเป้าหมายไปที่ความรอดนิรันดรของพวกเขาแต่ละคน ส่วนคำว่า “cetera tolle” หมายถึงการสละทุกสิ่งทุกอย่างที่แสดงออกมาในการสละตนเองและการหลอมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง คือการบำเพ็ญพรตเชิงแพร่ธรรม สำหรับคุณพ่อบอสโกแล้ว การสละตนคือสภาพของจิตใจที่จำเป็นเพื่อจะได้เป็นอิสระอย่างเต็มที่และมีความพร้อมสำหรับการเรียกร้องของงานแพร่ธรรมนั่นเอง
งานอื่นๆ
นอกจากจะเจาะลึกลงไปในหัวข้อของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 แล้ว เรายังมีงานอื่นๆที่ต้องทำด้วย ก่อนอื่นหมด การเลือกตั้งอัคราธิการและคณะที่ปรึกษาใหญ่สำหรับช่วงปี 2008-2014
นอกนั้นก็มีการทบทวนและทำในสิ่งที่มีการระบุไว้ในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 หรือการเปลี่ยนแปลงที่สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 เสนอ ตามที่มีระบุไว้ในมติข้อ 112 และ 115 นั่นคือ เราต้องทบทวนโครงสร้างของฝ่ายต่างๆ อาทิ ฝ่ายอภิบาลเยาวชน ฝ่ายธรรมทูต ฝ่ายสื่อสารมวลชน เป็นต้น สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 เรียกร้องให้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการจัดภาคพื้นสามแห่งของยุโรป (เทียบ ข้อ 124, 126, 129) นอกนั้นก็มีความจำเป็นในการประเมินเกี่ยวกับการมอบหมายครอบครัวซาเลเซียนให้รองอัคราธิการเป็นผู้รับผิดชอบ (เทียบ GC 25, 133)
สุดท้ายก็เป็นเรื่องของการพิจารณาเกี่ยวกับภาพลักษณ์และบทบาทของเหรัญญิกท้องถิ่น (ว 184) เพื่อจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
บริบทของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26
ความเป็นประวัติศาสตร์แห่งชีวิตและหลักการของการรับเอากายทำให้เราไม่สามารถมองข้ามบริบทของประวัติศาสตร์ได้ เพราะบริบทเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่เวทีแห่งชีวิตและภารกิจซาเลเซียนเท่านั้น แต่เป็นการท้าทายสำหรับชีวิตและภารกิจของเราด้วย ดังนั้น พ่อจึงอยากจะกล่าวถึงบริบทของการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 ในประเด็นของอัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษและความรักหลงใหลในงานแพร่ธรรมอย่างสั้นๆ
ความต้องการและความคาดหมายของเยาวชน
หลังจากที่บวชเป็นพระสงฆ์และกำลังเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับงานอภิบาลที่วิทยาลัยสงฆ์ แห่งเมืองตุริน คุณพ่อบอสโก โดยคำแนะนำของคุณพ่อ Cafasso ได้ตระเวนไปตามท้องถนนของเมือง เข้าไปในร้าน โรงงาน ตลาด คุก ทำให้คุณพ่อรู้ดีถึงสถานการณ์ของเยาวชนจำนวนมาก รู้ถึงความยากจนน่าสมเพช ตลอดจนความใฝ่ฝันของพวกเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณพ่อรู้ถึงความเร่งด่วนในอันที่จะให้การดูแลพวกเขา ช่วยเหลือพวกเขา และช่วยพวกเขาบรรลุถึงความรอด และนี่คือที่มาของความคิดเกี่ยวกับศูนย์เยาวชนซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จแห่งกระแสเรียกของคุณพ่อ8 เสียงร้องของเยาวชนเป็นดังหนึ่งคำอธิบายของความรักทุ่มเทที่ไม่มีเงื่อนไขของโครงการของคุณพ่อ “Da mihi animas, cetera tolle”
ทุกวันนี้ หากเราอยากจะกลับไปหาคุณพ่อบอสโกเพื่อจะได้หยั่งลึกและฟื้นฟูอัตลักษณ์แห่งกระแสเรียกของเรา เราต้องเริ่มต้นจากเยาวชน เข้าใจความคาดหวัง รับฟังสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทำในตัวพวกเขา
แม้จะอยู่ในบริบทที่แตกต่างกันไป แต่เยาวชนต่างก็มีความอ่อนไหวต่อคุณค่ายิ่งใหญ่แห่งชีวิต แห่งความรักและแห่งอิสรภาพเหมือนกัน ในเวลาเดียวกัน พวกเขาต้องพบกับความยากลำบากหลายอย่างในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับคุณค่าเหล่านี้ด้วย เราจะมองข้ามความต้องการและความคาดหมายของพวกเขาไม่ได้ ในเวลาเดียวกัน เราต้องเห็นถึงอุปสรรคและการข่มขู่ต่างๆที่พวกเขาต้องพบในแต่ละวันด้วย
ชีวิต : ความต้องการและการข่มขู่
เยาวชนต่างก็แสวงหา คุณภาพของชีวิต พวกเขาอยากจะดำเนินชีวิตให้เต็มเปี่ยม มองหารูปแบบของชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหมาย ปรารถนาจะสร้างชีวิตโดยเริ่มต้นจากความเคารพนับถือตนเองและการยอมรับเชิงบวกของตัวตน พวกเขารู้ถึงการเรียกร้องของคุณค่าใหม่ๆ อาทิ ความสำคัญอันดับแรกของบุคคล ศักดิ์ศรีมนุษย์ สันติภาพและความยุติธรรม การยอมรับกัน และความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน พวกเขาเสาะหา ชีวิตจิต และสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อจะได้พบกับความสมดุลและความกลมกลืนในโลกที่วุ่นวายและแตกแยก พวกเขาปรารถนาจะถือศาสนาอย่างมีบทบาท จริงใจ และไม่ใช่แบบสถาบัน ในการเสาะหาความหมายแห่งชีวิต พวกเขาต้องการผู้ใหญ่ที่พร้อมจะ เป็นเพื่อนร่วมทาง และรับฟังพวกเขา เข้าใจพวกเขาและสามารถที่จะชี้แนะพวกเขาได้
สถานการณ์แห่งความยากจน ซึ่งเกิดจากระบบเสรีภาพแบบใหม่ ทำให้เยาวชนหลายคนต้องอยู่แบบมีชีวิตรอดไปวันๆ เยาวชนกว่า 200 ล้าน หรือ 18 % ของเยาวชนในโลกมีค่าครองชีพต่ำกว่าหนึ่งดอลล่าร์ต่อวัน และเยาวชนกว่า 515 ล้านต่ำกว่า 2 ดอลล่าร์ต่อวัน ในปี 2002 มีผู้อพยพทั่วโลกประมาณ 175 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนกว่า 26 ล้านคน การว่างงาน การใช้แรงงานอย่างไม่ชอบธรรม ระบบการศึกษาแบบฉาบฉวยและไม่เปิดโอกาสให้แก่ทุกคน ทำให้เยาวชนมองไม่เห็นอนาคต เยาวชนกว่า 88 ล้านคนตกงาน เด็กกว่า 130 ล้านคนไม่ได้เรียนหนังสือ
วัฒนธรรมแห่ง ความรุนแรง เป็นดังปฏิกิริยาของความอึดอัด เราพบเห็นปรากฏการณ์แห่งยาเสพติด การก่อการร้าย สงครามที่ใช้ทหารเด็ก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวในประเทศที่กำลังพัฒนา เยาวชนที่ทำผิดมักเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มมึนเมาและยาเสพติด ส่วนในทวีปอัฟริกาการกระทำผิดของเยาวชนเป็นผลพวงมาจากความหิวโหย ความยากจน และการว่างงาน
ชีวิตและศักดิ์ศรีมนุษย์ถูกคุกคามจาก การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย การุณยฆาต และการทรมาน ซึ่งก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตายและการสูญเสียความหมายแห่งชีวิต ปีหนึ่งๆ มีเด็กหญิงวัยระหว่าง 15-19 ปีทำแท้งถึง 5 ล้านคน แม้แต่ชีวิตคริสตชนเองก็ยังต้องเสี่ยงกับการหมดคุณค่าไปสำหรับเยาวชน หากพวกเขายังไม่เลิกที่จะแบ่งแยกความเชื่อกับชีวิต
ความรัก : ความต้องการและการข่มขู่
ความอ่อนไหว รูปแบบแสดงออกและการสื่อสาร ภาษา และรูปแบบชีวิตของเยาวชนกำลังแตกต่างไปจากของผู้ใหญ่ พวกเขาให้ความสำคัญแก่ร่างกายและจินตนาการ คุณค่าของ เพศมนุษย์และโลกแห่งความรัก ภาษาใหม่ๆ ที่เปิดไปสู่รูปแบบใหม่แห่งการสื่อสารและความสัมพันธ์ซึ่งได้มาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ
เยาวชนเรียกร้องให้มี ความสัมพันธ์ใหม่ๆ สำหรับมิตรภาพ ความรัก การเข้ากลุ่ม เพื่อชดเชยการขาดความรักซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ไว้ใจตนเอง และไม่สามารถจะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและลึกซึ้งได้ ความต้องการความสัมพันธ์ที่มากด้วยความหมายระหว่างผู้ใหญ่และเยาวชนเรียกร้องให้มีการฟังและการต้อนรับกันและกัน
ที่เด่นกว่าหมดคือ รูปแบบใหม่ๆของพันธะ และการร่วมมีบทบาททางสังคมของเยาวชน ผ่านทางเครือข่ายหลากหลายและเปิดไปสู่ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความใกล้ชิด การพบปะสังสรรค์ในวงแคบและแบบถึงตัวซึ่งมีอยู่ระหว่างพื้นที่ของชีวิตส่วนตัวและพื้นที่ของชีวิตสาธารณะ จนกลายเป็นประสบการณ์ที่ทำด้วยความสมัครใจ ซึ่งอาจจะเป็นการรับใช้สังคมแบบใดแบบหนึ่ง หรืออาจจะเป็นองค์กรไม่หวังผลประโยชน์ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม องค์กรเพื่อสันติภาพ ฯลฯ
ในวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความรักแบบครอบครองและผิวเผิน ที่พยายามจะบันดาลให้เกิดความพึงพอใจเดี๋ยวนี้ ซึ่งสนับสนุนให้มีการทำธุรกิจจากร่างกายคนและเพศมนุษย์ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันสมควรของเด็กกว่า 14 ล้านคน และการหย่าร้าง ชีวิตและศักดิ์ศรีมนุษย์ถูกคุกคามมากขึ้น โรคเอดส์ก่อให้เกิดความอ่อนแอฝ่ายร่างกายที่รุนแรงและก่อให้เกิดหวาดกลัว เกือบ 50 % ของคนป่วยด้วยโรค HIV เป็นเยาวชน มีเยาวชนติดเอดส์กว่า 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ 6.2 % อยู่ทวีปอัฟริกา และ 2.2 % อยู่ในทวีปเอเชีย ปัจจุบันนี้เด็ก 15 ล้านคน อายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องเป็นกำพร้าเพราะโรคเอดส์ ในจำนวนนี้ 12 ล้านคนอาศัยอยู่ในทวีปอัฟริกาใต้-ซาอารา ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 18 ล้านในปี 20109 พระศาสนจักรกำลังพบกับความลำบากในการเสนอคุณค่าศีลธรรมให้แก่เยาวชน
อิสรภาพ : ความต้องการและการข่มขู่
เยาวชนต้องการจะสร้าง อัตลักษณ์ของตนเอง พวกเขามีความรู้และประสบการณ์ซึ่งมากด้วยคุณภาพ แต่พวกเขากลับดำเนินชีวิตที่แตกแยกและไร้แนวทาง แทบไม่มีจุดอ้างอิงใดๆ เลยทำให้พวกเขาไม่มั่นใจและเปราะบางในการเสาะหาอัตลักษณ์และในการกำหนดอนาคตของตนเอง พวกเขาต้องการ ความสุข การได้เป็นสุขคือความฝันและโครงการที่ยิ่งใหญ่กว่าหมดสำหรับเยาวชน พวกเขายืนหยัดที่จะ แตกต่าง จึงไม่ยอมรับคุณค่าใดๆที่สังคมโลกาภิวัตน์กำหนดให้ พวกเขาให้คุณค่าแก่ประสบการณ์ชีวิตมากกว่าอุดมการณ์และคำสอนใดๆ พวกเขาต้องการการยอมรับและต้องการมีบทบาทในชีวิตสังคม การงานและการเมือง
สังคมที่ คอยควบคุมและกำหนด โดยทางสื่อสารมวลชนเอื้อให้เกิดวัฒนธรรมที่ผิวเผิน วัฒนธรรมบริโภคนิยมและสนุกนิยม สังคมเช่นนี้เป็นอุปสรรคในการสร้างอัตลักษณ์ ก่อให้เกิด การคล้อยตามโดยไม่มีการวิเคราะห์ใดๆ เน้นแต่การกระทำ และหวังผลทันตาเห็น ทัศนคติที่ถือว่าไม่มีความดีและความถูกต้องสูงสุด ทัศนคติที่เน้นเป็นปัจเจกนิยม ซึ่งเน้นอิสระจากการยึดติดอยู่กับคุณค่าใดๆ
2.2. การท้าทายทางสังคมและวัฒนธรรม
เราต้องคำนึงว่า ทุกวันนี้คณะของเราเจริญชีวิตแห่งอัตลักษณ์ของพระพรพิเศษและภารกิจเพื่อเยาวชนในบริบทแห่งวัฒนธรรมและสังคมที่หลากหลาย ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมและสังคมมีบทบทสำคัญสำหรับประสิทธิผลแห่งการอยู่ของเรา ในความหลากหลายแห่งบริบทนี้ เราพยายามเน้นประเด็นที่เหมือนกันสำหรับทุกแห่ง
แนวโน้มพื้นฐาน
ก่อนอื่น เราต้องคำนึงถึงแนวโน้มสองอย่างที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ กล่าวคือ ในแง่หนึ่ง มีแนวโน้มที่จะมีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน จึงมีความพยายามจะลอกเลียนแบบของวัฒนธรรมตะวันตก พร้อมกับพยายามขจัดความแตกต่าง ในอีกแง่หนึ่ง มีความขัดแย้งกันในวัฒนธรรม ในด้านศาสนา ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างยิ่งทียิ่งมากขึ้น เช่นว่า ระหว่างศาสนาอิสลามและศาสนาตะวันตก ระหว่างสังคมที่เน้นแง่ของโลกียฺ์วิสัยและสังคมที่นับถือคริสตศาสนา เป็นต้น
นอกนั้น เราต้องคำนึงถึงปรากฏการณ์แห่งโลกาภิวัตน์ ซึ่งแพร่หลายไปด้วยความรวดเร็วอันเนื่องมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และซึมซับเข้าไปในแง่ต่างๆของสังคมและวัฒนธรรม ในแง่เศรษฐกิจนั้น มีการแพร่หลายของรูปแบบอิสระแบบใหม่ โดยมีจุดยืนอยู่ในระบบการตลาด ซึ่งมุ่งที่จะครอบคลุมคุณค่าด้านมนุษย์ในบุคคลและในประชาชน ส่วนในด้านวัฒนธรรม มีการกำหนดให้มีกระบวนการไปสู่การทำให้ทุกวัฒนธรรมเหมือนกับวัฒนธรรมตะวันตก โดยพยายามขจัดความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและการเมืองไปทีละเล็กทีละน้อย นอกนั้น การสื่อสารมวลชนและวิวัฒนการด้านข้อมูลข่าวสารนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านขนบธรรมเนียมประเพณี การแบ่งปันความมั่งคั่ง การบริหารแรงงาน โดยมีวัฒนธรรมที่หวังผลปัจจุบันและสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารเป็นตัวเอื้อให้เกิดขึ้น
การท้าทายระดับสังคมและวัฒนธรรม
ปัจจุบันมีแนวโน้มของการหลั่งไหลของฝูงชน อันเนื่องมาจากความยากจน ความหิวโหยและการด้อยพัฒนา อพยพไปสู่ประเทศมั่งคั่งและมีการอยู่ดีกินดี ตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์นี้คือการขยายเมืองหรือการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยภายในประเทศ มีการท้าทายที่มาจากความยากจน ความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บและการด้อยพัฒนา พร้อมกันนี้ก็มีการท้าทายของการใช้ประโยชน์ที่ผิดๆจากเด็กและผู้เยาว์ที่อยู่นอกขอบสังคม การใช้แรงงานเด็ก การท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องเพศ การขอทาน เด็กเร่ร่อนตามท้องถนน อาชญากรรมผู้เยาว์ ทหารเด็ก อัตราการตายของทารก เป็นต้น นอกนั้นก็การเน้นการบริโภคซึ่งก่อให้เกิดการแพร่หลายของทัศนคติบริโภคนิยม ทั้งในประเทศมั่งคั่งและในประเทศกำลังพัฒนา
ความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมแห่งชีวิตและวัฒนธรรมแห่งความตายเพิ่มขึ้นพร้อมกับการพัฒนาของวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิชาว่าด้วยการบำรุงพันธ์มนุษย์ มีความไม่สมดุลระหว่าการพัฒนาของมนุษย์และของประชาชนกับเทคโนโลยีแห่งข้อมูลข่าวสารและสื่อสารมวลชน มีการนิยมชมชอบในวัฒนธรรมแห่งปัจเจกนิยมซึ่งก่อให้เกิดทัศนคติแห่งการมองความจริงและมองมนุษย์ในแง่ที่ไม่มีหลักและข้อความจริงหนึ่งเดียว จากมุมมองนี้เอง ก็มีการกำหนดคุณค่าด้านมนุษย์ขึ้นมาใหม่ โดยตั้งพื้นฐานอยู่บนจริยธรรมที่ไม่มีหลักสูงสุดหนึ่งเดียว ซึ่งพระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ไม่ทรงลังเลที่จะเรียกว่าเป็นรูปแบบของ “เผด็จการ” นอกนั้นก็มีการแพร่หลายของความเปราะบางด้านจิตวิทยาและอารมณ์ ซึ่งอาจจะทำให้ความคิดอ่านอ่อนแอลง ปัญหาด้านการศึกษาอบรมในแง่ของการถ่ายทอดคุณค่ามีมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี อิทธิพลของแฟชั่นและของต้นแบบต่างๆ
นอกจากนี้แล้วยังมีปรากฏการณ์ของโลกีย์วิสัยที่ยกย่องรูปแบบของการเป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องมีพระเจ้าและถือว่าการแสดงออกของความเชื่อด้านศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว แนวพหุนิยมในเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว ชีวิต ความรัก เพศ ความสำนึกใหม่ๆเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิกฤตการของสถาบันที่ส่งทอดกันมาเป็นประเพณี ความง่ายในการใช้สารเสพติดต่างๆ ซึ่งก็ก่อให้เกิดการท้าทายไม่น้อย การยึดถือแบบคลั่งไคล้ในศาสนาก่อให้เกิดความยากลำบากในการเสวนาระหว่างความเชื่อต่างๆ มีการเกิดของกลุ่มใหม่ๆด้านศาสนาเพื่อตอบรับความต้องการฝ่ายชีวิตจิตและการรวมตัวกันทางศาสนา นอกนั้นก็มีปรากฏการณ์ของลัทธิและกระบวนการ “ยุคใหม่” (New Age)
การท้าทายทางวัฒนธรรมของคณะ
การท้าทายไม่ได้มาจากโลกภายนอกเท่านั้น แต่เหนืออื่นใด มากจากภายในคณะเอง ในรูปแบบต่างๆ อาทิ สมาชิกที่ชราในหลายภาคพื้นของคณะ ความเปราะบางในหน้าที่การปกครองหลายระดับ สภาพชีวิตซาเลเซียนที่ไม่สอดคล้องกับบริบทความยากจนและความน่าสังเวชของประชาชน เป็นต้น
นอกนั้น มีความขัดแย้งกันหลายรูปแบบในวัฒนธรรมเยาวชน ทั้งในท่าทีและรูปแบบชีวิต ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของสมาชิกและชีวิตหมู่คณะ มีความยากลำบากในการเผชิญหน้ากับโลกเยาวชนที่แตกต่างทั้งในด้านความนึกคิดและในด้านพฤติกรรม มีการเน้นที่แตกต่างกันออกไปของความสัมพันธ์ระหว่างการอบรมและการแพร่ธรรม มีความละเอียดอ่อนที่แตกต่างกันออกไปในความขัดแย้งทางสังคม ในพันธกิจแห่งการส่งเสริมและพัฒนาความเป็นมนุษย์ ในบริบทที่เน้นโลกีย์วิสัย มีปัญหาในเรื่องความหมายของการแพร่ธรรมและในการเสนอพระคริสตเจ้าเป็นพระผู้ไถ่กู้ของมนุษย์
ในที่หลายแห่งมีความผิวเผินฝ่ายจิต การอภิบาลที่กว้างๆ การห่างจากโลกเยาวชน ปัญหาในการทำให้พระพรพิเศษแทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรม การขาดความรู้เกี่ยวกับคุณพ่อบอสโกและกิจการของท่าน
แนวทางปัจจุบันของพระศาสนจักร
ในจิตตารมณ์แห่งสังคายนาวาติกันที่ 2 และในสิ่งที่พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ได้ทรงประกาศเมื่อเร็วๆนี้ว่า “เราเห็น...แนวทางใหม่ของพระศาสนจักรต่อสังคมแห่งโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน”10 เราเห็นถึงถึงแนวทางทั้งในเอกสาร Vita Consecrata (1996) Novo Millennio Ineunte (2001), Ripartire da Cristo (2002) และ Deus Caritas Est (2005)
เริ่มต้นจากพระคริสตเจ้า : ความศักดิ์สิทธิ์คือโครงการอภิบาล
การเริ่มต้นจากพระคริสตเจ้าคือการประกาศว่าชีวิตรับเจิมเป็นการติดตามพระองค์ “ในความทรงจำที่มีชีวิตชีวาของรูปแบบแห่งการดำเนินชีวิตและการกระทำของพระเยซูเจ้า”11 ซึ่ง “ประกอบด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในความรัก ให้พระองค์เป็นศูนย์กลางชีวิตและเป็นที่มาของการริเริ่มทุกอย่าง”12 “ต้องเริ่มต้นจากพระคริสตเจ้า เพราะศิษย์แรกๆของพระองค์ก็เริ่มจากพระองค์ที่คาลิลี ตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรมีชายและหญิงทุกฐานะและทุกวัฒนธรรมที่ได้รับเจิมจากพระจิตในกระแสเรียกต่างๆก็เริ่มจากพระองค์ พวกเขาได้สละครอบครัวและประเทศชาติและได้ติดตามพระองค์อย่างไม่มีเงื่อนไข มีความพร้อมในการประกาศพระอาณาจักรและทำดีแก่ทุกคน (เทียบ กจ 10,38)”13
พระเยซูคริตเจ้า “วันนี้ เมื่อวานนี้ และตลอดไป” (ฮบ 13,8) คือโครงการอภิบาลของพระศาสนาจักแห่งสหัสวรรษที่สาม “เป็นโครงการที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลาและวัฒนธรรม แม้ว่าจะต้องคำนึงถึงการเสวนาอย่างแท้จริงและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับกาลเวลาและวัฒนธรรมก็ตาม”14 เช่นเดียวกัน เราซาเลเซียนเฉกเช่นหมู่คณะอภิบาลหรือกลุ่มทางศาสนาอื่นๆ ต้องประยุกต์โครงการนี้ในทิศทางอภิบาลอย่างเหมาะสม “ซึ่งจะทำให้การประกาศพระคริสตเจ้าไปถึงบุคคล ก่อให้เกิดแนวทางสำหรับหมู่คณะ หยั่งลึกลงไปถึงสังคมและวัฒนธรรมด้วยการเป็นประจักษ์พยานถึงคุณค่าแห่งพระวรสาร”15
พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่ลังเลที่จะพูดว่า เป้าหมายที่การอภิบาลทุกอย่างต้องมุ่งถึงคือความศักดิ์สิทธิ์”16 ซึ่งเป็น “พื้นฐานของโครงการอภิบาลทุกอย่าง”17 ความศักดิ์สิทธิ์ของเราต้องมาก่อนอื่นหมด เรื่องนี้พ่อได้บอกพวกท่านในตอนเริ่มทำหน้าที่ของอัคราธิการและได้เขียนถึงพวกท่านในจดหมายฉบับแรก18 วันนี้ พ่ออยากจะพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วยความตระหนักใจและด้วยความเร่งด่วนมากขึ้นว่า ความศักดิ์สิทธิ์ “เป็นของขวัญที่ล้ำค่าที่เราสามารถมอบให้เยาวชน” (ว 25) ความศักดิ์สิทธิ์เป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราต้องเสนอให้แก่ทุกคนด้วยความกล้าหาญ เฉพาะในบรรยากาศแห่งชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นที่เยาวชนมีโอกาสเลือกเส้นทางชีวิตด้วยความกล้าหาญ ที่จะค้นพบแผนการของพระเจ้าสำหรับอนาคตของพวกเขา ที่จะชื่นชมพระพรแห่งกระแสเรียกสู่ชีวิตรับเจิม”19
นอกจากจะเสนอรูปแบบเชิงหมู่คณะของความศักดิ์สิทธิ์ที่น่าดึงดูดใจแล้ว เราต้องกระตุ้นและสนับสนุนเยาวชนให้มี “ความปรารถนาที่แท้จริงที่จะบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะกลับใจและฟื้นฟูตนเองในบรรยากาศแห่งการภาวนาที่เข้มข้นและการต้อนรับผู้อื่นด้วยอัธยาศัยไมตรี โดยเฉพาะ ผู้ที่ขัดสน”20 ในฐานะผู้อบรม เราต้องเสนอ “วิธีการที่แท้จริงและจำเพาะเพื่อบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์”21 ซึ่งสอดคล้องกับจังหวะแห่งความพร้อมของแต่ละคน ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เราสามารถเป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญแห่งการจาริกฝ่ายจิตและทำให้หมู่คณะของเรา “เป็นสถานที่เพื่อการฟังและการแบ่งปันพระวาจา พิธีกรรม โรงเรียนสอนการภาวนา ให้การติดตามและการแนะนำฝ่ายจิต”22
เป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้า : การประกาศข่าวดีเป็นภารกิจอันดับแรก
“เราไม่อาจจะไม่พูดถึงสิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังได้” (กจ 4,20) นี่คือคำตอบของ น.เปโตรและน.ยอห์น เมื่อถูกผู้ใหญ่แห่งกรุงเยรูซาเลมสั่งห้ามไม่ให้ประกาศข่าวดี เราซาเลเซียนอยู่ในประเทศที่เคยเป็นผู้ประกาศข่าวดี แต่แล้วความเป็น“สังคมคริสตัง”กำลังหมดสิ้นลงและในประเทศที่ให้การต้อนรับการประกาศข่าวดีเป็นครั้งแรกด้วยความยินดี “เราต้องจุดประกายไฟแรกขึ้นมาในตัวเราอีกครั้งหนึ่งและปล่อยให้ความร้อนรนแห่งการประกาศข่าวดีของสาวกหลังจากได้รับพระจิตแผ่ซ่านเข้าไปในชีวิตของเรา เราต้องทำให้ความกระตือรือร้นของ น. เปาโล มีชีวิตชีวาขึ้นมาในตัวเราอีกครั้งหนึ่ง ท่านนักบุญได้พูดว่า “วิบากจงมีแก่ข้าพเจ้าหากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี” (1 คร 9,16)23
พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ตรัสในโอกาสปิดการชุมนุมเยาวชนระดับโลกที่เมืองโคโลญว่า “ใครก็ตามที่ได้พบพระคริสตเจ้าแล้ว ต้องพาทุกคนไปหาพระองค์” เราไม่สามารถเก็บความยินดียิ่งใหญ่ไว้ตัวคนเดียว เราต้องส่งต่อให้คนอื่นด้วย ในหลายแห่งของโลกใบนี้มีปรากฏการณ์ประหลาดอย่างหนึ่งคือ การลืมพระเจ้า ดูเหมือนว่าทุกอย่างดำเนินไปได้โดยไม่ต้องมีพระองค์ กระนั้นก็ดี มีความรู้สึกผิดหวังและไม่พอใจกับทุกอย่างและกับทุกคนให้เห็นทั่วไป24 พระองค์ตรัสกับนักบวชแห่งกรุงโรมว่า “ความปรารถนาแรกและยิ่งใหญ่กว่าหมดคือการเป็นประจักษ์พยานว่า เราต้องฟังและรักพระเจ้าสุดดวงใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง มากกว่าบุคคลใดและมากกว่าสิ่งใด อย่ากลัวที่จะประกาศให้ทุกคนรู้ว่าพวกท่านเป็นผู้รับเจิมและหาวิธีทางเพื่อแสดงออกให้ทุกคนรู้ว่าพวกท่านเป็นของพระคริสต์ พระองค์ทรงเป็นสมบัติยิ่งใหญ่ที่ท่านพร้อมจะสละทุกอย่างเพื่อติดตามพระองค์ไป...พระศาสนจักต้องการประจักษ์พยานของพวกท่าน ต้องการชีวิตรับเจิมที่กล้าเผชิญหน้ากับการท้าทายของยุคปัจจุบันด้วยความกล้าหาญและอย่างสร้างสรรค์”25
การท้าทายยิ่งใหญ่ที่อยู่ต่อหน้าสหัสวรรษที่เพิ่งต้นคือ “การทำให้พระศาสนจักรเป็นบ้านและโรงเรียนแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”26 หน้าที่ที่สำคัญยิ่งในการแพร่ธรรมแบบใหม่ซึ่งถูกมอบให้แก่ผู้รับเจิม27 คือ การเป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “เป็นเครื่องหมายสำหรับโลกและเป็นพลังน่าดึงดูดใจที่นำไปสู่การเชื่อถึงพระคริสตเจ้า”28 เป็นประจักษ์พยานที่ต้องเป็นชีวิต “ก่อนอื่นหมด ชีวิตภายในของแต่ละคน แล้วภายในหมู่คณะคริสตชน จากนั้นก็เปิดสู่การเสวนาแห่งความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนต่างๆของโลกที่ยังบอบช้ำด้วยความเกลียดชังระหว่างเผ่าพันธุ์และการเข่นฆ่าอย่างบ้าคลั่ง”29 ในยุคที่เน้นโลกีย์วิสัยและการกลับสู่ลัทธิชาตินิยม คณะของเรา ในฐานที่มีลักษณะนานาชาติ ได้ “ถูกส่งให้ไปประกาศด้วยประจักษ์พยานแห่งชีวิตถึงคุณค่าแห่งภราดรภาพคริสตังและพลังเปลี่ยนแปลงแห่งข่าวดี”30 และ “ค้ำจุนความหมายแห่งการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาชน เชื้อชาติ และวัฒนธรรม”31 หมู่คณะของเราได้รับเรียกให้กลับเป็น “สถานที่ที่มีความพร้อมแห่งบูราณการและการแทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรม พร้อมกับการเป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นสากลแห่งข่าวดีของพระคริสต์”32
พระศาสนจักรต้องการความเป็นอยู่ ชีวิตแห่งการรับเจิม และการติดตามพระคริสตเจ้าอย่างถึงรากถึงโคนมากกว่าการเป็นอยู่ กิจการ และโครงสร้างของเรา พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ทรงเตือนเราว่า “ในสถานการณ์ของการแพร่หลายของลัทธิสนุกนิยม พวกท่านต้องเป็นประจักษ์พยานของความบริสุทธิ์ด้วยความกล้าหาญ ทำให้ความบริสุทธิ์เป็นการแสดงออกของดวงใจที่รู้ถึงความงดงามและความล้ำค่าแห่งความรักของพระเจ้า ในสถานการณ์ที่มีความกระหายแต่เงินทอง พวกท่านต้องแสดงให้เห็นถึงชีวิตสมถะและพร้อมที่รับใช้คนขัดสน ซึ่งจะเป็นการเตือนคนให้สำนึกถึงการที่พระเจ้าทรงเป็นขุมทรัพย์ที่แท้จริงและไม่มีวันหมดสิ้น ในสถานการณ์ที่มีการเน้นลัทธิปัจเจกนิยมและลัทธิที่ถือว่าไม่มีความดีและความจริงสูงสุดซึ่งทำให้คนกลายเป็นกฎเกณฑ์หนึ่งเดียวสำหรับตนเอง ชีวิตแห่งภราดรภาพที่พร้อมจะเปิดสู่ความร่วมมือและการนบนอบจะเป็นการยืนยันว่าพวกท่านถือว่าพระเจ้าทรงเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เราคงต้องวอนขอให้วัฒนธรรมแห่งคำแนะนำของพระวรสารซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งมหาบุญลาภได้พัฒนามากขึ้นในพระศาสนจักร เพื่อค้ำจุนชีวิตและการเป็นประจักษ์พยานของคริสตชน”33
การกลับไปหาเยาวชน : การอยู่ของเรากับเยาวชนเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพระคริสตเจ้า
เยาวชนคือ “ของขวัญพิเศษของพระจิตของพระเจ้าสำหรับพระศาสนจักร” เราซาเลเซียนต้องมองพวกเขาเหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงมอง นั่นคือ มองด้วยความรัก (เทียบ มก 6,34) เราต้องมอบข่าวดีของพระเจ้าให้แก่พวกเขาอย่างที่พระเยซูเจ้าได้ทรงทำ (ib.) เราต้องสนใจในความต้องการของพวกเขาอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงทำ (เทียบ มก 6,37) ทุกวันนี้ “แม้ว่าจะยังมีความสับสนอยู่ เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความใฝ่ฝันอันลึกซึ้งต่อคุณค่าแท้จริงที่พบความเต็มเปี่ยมในพระคริสตเจ้า...ถ้าเราเสนอภาพลักษณ์อันแท้จริงของพระเยซูเจ้าให้แก่เยาวชน พวกเขาก็จะถือว่าพระองค์คือคำตอบที่น่าตระหนักใจ ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็พร้อมจะน้อมรับสารที่พระองค์ทรงนำมาให้ แม้ว่าจะเป็นสารที่เรียกร้องและมีกางเขนอยู่เบื้องหลัง”34 ให้เราเลียนแบบพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในการ “เรียกร้องให้เยาวชนเลือกความเชื่อและเลือกชีวิตอย่างถึงรากถึงโคน รวมทั้งหน้าที่อันน่าพิศวง นั่นคือ “การทำตนเป็น ‘ยามแห่งรุ่งอรุณ’ (เทียบ อสย 21,11-12) ในช่วงเวลาเริ่มต้นแห่งสหัสวรรษใหม่”35
การประกาศข่าวดีให้เยาวชนด้วยการอยู่อย่างพี่อย่างน้องกับพวกเขาและด้วยการให้ข้อเสนอที่เหมาะสมและเรียกร้อง ทำให้เราต้องทำให้งาน “อภิบาลเยาวชน” เต็มด้วยพลังใหม่ เปี่ยมด้วยความกล้าหาญและมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้น งานอภิบาลเยาวชนเสี่ยงที่จะเป็นแค่การพบปะเพื่อการบันเทิงหรือการอบรมด้านการเป็นพลเมือง เพื่อการให้ข่าวสารข้อมูลทางวัฒนธรรมหรือเป็นการเปิดสู่ความจริงเหนือธรรมชาติแบบลอยๆ การคำนึงถึงบุคคลเป้าหมายของภารกิจของเราต้องทำให้เราพิจารณา ไตร่ตรองและเลือกที่จะ “เริ่มต้นจากเยาวชน” ไม่ใช่เริ่มจากปัญหาของเรา แล้วนั้นก็ต้องไปหาเยาวชน ซึ่งเป็นดัง “ปิตุภูมิ” ของภารกิจของเรา เป็นพระวิหารในที่ซึ่งเราพบพระเจ้า
ในการรับใช้เยาวชน นอกจากจะประกาศพระวาจาและเฉลิมฉลองพิธีกรรม การรับใช้แห่งความรักซึ่งเราถือว่าเป็นกระบวนการแห่งการอบรมของเรา และ“กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ซึ่งน่าจะปล่อยให้คนอื่นทำได้แล้ว เรายังต้องรับใช้เยาวชนตามรูปแบบของพระศาสนจักร “ซึ่งเป็นธรรมชาติล้ำลึกที่สุดของพระศาสนจักรเอง”36
การท้าทายอย่างหนึ่งที่จริงจังและส่งผลไปทั่วพระศาสนจักรคือปัญหาของกระแสเรียก เราอยากกระตุ้นเตือนเยาวชนให้ “สำนึกถึงความรับผิดชอบที่พวกเขาพึงมีในชีวิตของพระศาสนจักร นอกเหนือไปจากศาสนบริการของสงฆ์และศาสนบริกรอื่นๆ ทั้งที่ได้รับแต่งตั้งและที่ได้รับการยอมรับแล้ว น่าจะมีรูปแบบอื่นของการรับใช้เพื่อประโยชน์พระศาสนจักรเพื่อรองรับความต้องการมากมายที่มีอยู่ในของพระศาสนจักรเอง”37 นี่คือหน้าที่หลักของเราแต่ละคน “ในการที่จะเสนอรูปแบบของการติดตามพระคริสตเจ้าด้วยความกล้าหาญ ด้วยคำพูดและด้วยแบบอย่าง พร้อมกับให้การค้ำจุนบุคคลที่ได้รับเรียกในการตอบรับการดลใจของพระจิตเจ้า”38
การท้าทายและทิศทางแห่งชีวิตผู้รับเจิม
การท้าทายแห่งชีวิตผู้รับเจิม
เอกสาร Vita Consecrata เสนอการท้ายทายที่เด่นชัดหลายอย่างของปัจจุบันนี้ ยิ่งเราพิจารณาการท้ายทายภายนอกแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของลัทธิโลกีย์วิสัย ลัทธิที่ถือว่าไม่มีความดีและความจริงหนึ่งเดียว หรือโลกาภิวัตน์ พ่อจึงคิดว่าเราน่าจะพูดถึงการท้าทายภายในของสิ่งเหล่านี้
ถึงแม้ว่าเอกสารแห่งชีวิตรับเจิมจะมีการอ้างถึง แต่ก็ยังไม่เห็นได้ชัดเจนว่าอัตลักษณ์ของชีวิตแห่งการรับเจิมคืออะไร การรบเร้าให้กลับไปสู่ความสำคัญของชีวิตนักบวชอาจจะเสี่ยงต่อการทำให้ความสำนึกถึงชีวิตรับเจิมที่มีอยู่ในพระศาสนจักรไข้เขวไป การขาดการวินิจฉัยเกี่ยวกับรูปแบบใหม่ๆของชีวิตรับเจิมอาจจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ชีวิตรับเจิมที่เบี่ยงเบนไป นอกนั้น ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเทววิทยาแห่งกระแสเรียกคริสตชนทำให้อัตลักษณ์ดังกล่าวไม่แน่ชัดเข้าไปใหญ่
ชีวิตรับเจิมไม่สามารถพบวิธีการเพื่อแสดงออกซึ่งความเป็นประกาศกและความน่าเชื่อถือได้เสมอไป ภารกิจของชีวิตรับเจิมต้องมุ่งไปที่บริบทของความยากจนและการประกาศข่าวดีด้วยความกล้าหาญมากขึ้น การติดตามพระคริสตเจ้าต้องมีรูปแบบที่แท้จริงแห่งการถือตามพระวรสารอย่างถึงรากถึงโคน ชีวิตแห่งภราดรภาพต้องพบกับอุปสรรคในการแสดงออกของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อหน้าการเรียกร้องใหม่ๆแห่งความหลากหลายของวัฒนธรรมและโลกาภิวัตน์ นอกนั้น ยังมีการค้นหารูปแบบเพื่อการดำเนินชีวิตและเพื่อสื่อชีวิตจิตให้เห็นเป็นประจักษ์
การท้าทายอย่างหนึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนของอนาคตแห่งชีวิตรับเจิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการดำเนินชีวิตรับเจิมในบางพื้นที่ภูมิศาสตร์ จำนวนที่ลดลง การขาดกระแสเรียก และความชราทำให้หลายคณะขาดทิศทางสำหรับอนาคต ไม่เห็นความจำเป็นต้องมีการจัดโครงสร้างใหญ่ หรือการหาความสมดุลแห่งวัฒนธรรมใหม่ๆ นอกนั้น ก็มีการขาดความมีชีวิตชีวา ความเปราะบางของกระแสเรียก และการละทิ้งกระแสเรียก สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตรับเจิมขาดแรงบันดาลใจ ท้อแท้และหยุดนิ่งเป็นอัมพาต ในสภาพเช่นนี้ เราต้องค้นหายุทธศาสตร์แห่งความหวังซึ่งจะเปิดขอบฟ้า ชี้แนวทางเดินและจัดให้มีผู้นำที่มีความสามารถ
ทิศทางแห่งชีวิตรับเจิม
การประชุมนานาชาติเกี่ยวกับชีวิตรับเจิมในเดือนพฤศจิกายน 2004 ภายใช้หัวข้อ “ความรักทุ่มเทต่อพระคริสต์ ความรักทุ่มเทต่อมนุษยชาติ” มีสาระที่ช่วยให้เราเห็นแนวทางสำหรับการดำเนินชีวิตรับเจิมในปัจจุบันนี้
ก่อนอื่น เราต้องเสนอ เสน่ห์ ของรูปแบบชีวิตแห่งการรับเจิม ทำให้ชีวิตรับเจิมงดงามและน่าดึงดูดใจ เสน่ห์ของชีวิตรับเจิมอยู่ที่ความร่าเริง ความน่าดึงดูด ความสดชื่น และการมองโลกในแง่ดี ชีวิตรับเจิมต้องก่อให้เกิดความงดงามและความน่ารัก จินตนาการและมโนคติ ชีวิตเจิมต้องก่อให้เกิดพลัง ความกระตือรือร้น และความหวัง เสน่ห์ดังกล่าวได้มาจากความเข้าใจถึงความมีชีวิตชีวาของชีวิตรับเจิมซึ่งแสดงออกมาในการถือว่าพระเจ้าทรงเป็นเอกและในการดำเนินชีวิตสนิทชิดเชื้อกับพระองค์ ในการยึดถือพระคริสตเจ้าและคำแนะนำแห่งพระวรสารเป็นศูนย์กลาง ในความพร้อมต่อการกระทำของพระจิตเจ้าและในความลึกซึ้งแห่งชีวิตจิต ในพลังและความกล้าหาญในการประกอบภารกิจ ในการต้อนรับกันฉันพี่น้องและในชีวิตแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการกลับใจทั้งในระดับส่วนตัวและในระดับหมู่คณะ
สิ่งที่สำคัญในชีวิตรับเจิมคือการพัฒนา อัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษ กระบวนการหาอัตลักษณ์แห่งกระแสเรียกคงเป็นไปได้ยากหากไม่มีข้อเสนอที่เป็นพระพรพิเศษ ที่น่าดึงดูดใจและชวนให้ตระหนัก ข้อเสนอที่อ่อนก่อให้เกิดความไม่แน่นอนและความสับสนในการพัฒนาอัตลักษณ์ ปัจจุบันนี้ สังคมวิทยาชี้ให้เห็นชัดเจนว่าวัฒนธรรมแห่งความเป็นเลิศ การเน้นหาความชัดเจนและการสำนึกแห่งการเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้มีการพัฒนาอัตลักษ์ของกลุ่มศาสนาต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องสร้างคุณค่าเชิงเทวิทยาและเชิงพระพรพิเศษของเราให้แก่ตัวชี้บอกด้านสังคมเหล่านี้โดยทางความเป็นเลิศเชิงพระวรสารแห่งชีวิตรับเจิม การเป็นประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัดเจนและน่าดึงดูดใจของกระแสเรียกของเรา ตอลดจนความสำนึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะและของคณะ
ชีวิตรับเจิมต้อง เป็นเครื่องหมายเชิงประกาศกและน่าเชื่อถือ กล่าวคือ ต้องเป็นการเสาะหารูปแบบของการเป็นประกาศกและความน่าเชื่อถือ ไม่เพียงในระดับส่วนตัวเท่านั้น แต่ในระดับสถาบันด้วย เราต้องกลับไปสู่รูปแบบชีวิตที่เรียบง่ายและยากจน สมถะและมุ่งถึงแก่น ต้องมีการทำให้โครงสร้างเรียบง่าย เพราะบ่อยครั้ง เป็นโครงสร้างที่หนักและที่เอาแต่รับใช้ แต่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า ชีวิตรับเจิมต้องเป็นตัวเลือกอันหนึ่งของรูปแบบต่างๆของการดำเนินชีวิต ชีวิตรับเจิมต้องเป็นการเสนอและและการดลใจสำหรับวัฒนธรรมใหม่ โดยมีท่าทีแห่งการวิเคราะห์และท่าทีของประกาศกในสังคมและในพระศาสนจักร
ดังนั้น ต้องมีการอบรมบุคคลให้มีความรัก พระเจ้าทรงรักประชากรของพระองค์มาก ชีวิตรับเจิมจึงต้องมีพระเจ้าอยู่ต่อหน้าต่อตาเสมอ ชีวิตรับเจิมต้องสามารถอบรมให้คนมีความรักต่อพระเจ้าและตามแบบอย่างของพระเจ้า ความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อมนุษยชาติจึงเป็นจุดมุ่งถึงมากกว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น การช่วยพี่น้องให้มั่นคงในกระแสเรียก การรื้อฟื้นของขวัญที่พวกเขาได้รับผ่านการทางการปฏิญาณนักบวช การสร้างบันดาลใจให้มีการตอบรับด้วยใจกว้างขวาง และการค้ำจุนความซื่อสัตย์ในกระแสเรียก จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การอบรมช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจ เสนอทิศทางที่เต็มด้วยความหมาย ชี้แนวทางสำหรับการพัฒนาตนในทุกช่วงเวลาของชีวิต เปิดสู่การวินิจฉัยฝ่ายจิต และค้ำจุนกระแสเรียก
การจาริกของคณะ
การจาริกของคณะอยู่ที่รากเหง้าแห่งพันธกิจของการฟื้นฟูชีวิตรับเจิมที่สังคายานาวาติกันที่สองได้สนับสนุนให้ทำ เราเห็นได้จากการไตร่ตรองและทิศทางของสมัชชาใหญ่ของคณะ ซึ่งก่อเกิดความสำนึกในอัตลักษณ์และภารกิจซาเลเซียนและของหมู่คณะในปัจจุบันนี้
การไตร่ตรอง ซึ่งเริ่มต้นจาก สมัชชาใหญ่วิสามัญ (SGC) ค่อยๆลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารหลากหลายของพระศาสนจักร เราจึงเห็นทิศทางและหลักการพื้นฐานของโครงการแห่งชีวิตซาเลเซียนในปัจจุบันซึ่งฝังรากลึกอยู่ในอัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษและในภารกิจจำเพาะเพื่อเยาวชนที่เรากระทำ ทั้งเป็นหมู่คณะและในความร่วมมือกับครอบครัวซาเลเซียนและฆราวาส
เมื่อมาอ่านแนวทางของสมัชชาใหญ่วิสามัญอีกครั้งหนึ่ง เราจะเห็นถึงการจาริกของคณะดำเนินต่อเนื่องมาในสมัชชาใหญ่อื่นๆที่ตามมา พ่อจึงเห็นว่าน่าจะพูดถึงเส้นทางจาริกนี้อย่างย่อๆ นั่นคือ การค้นพบอัตลักษณ์ของเรา การประทับอยู่ของพระเจ้า ภารกิจเพื่อเยาวชนและประชาชน การสร้างหมู่คณะ การให้คุณค่าแก่ครอบครัวซาเลเซียน เอกภาพในการกระจายอำนาจ
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 21 ได้เริ่มเจาะลึกลงไปในประเด็นสำคัญเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภารกิจแห่งการแพร่ธรรมในระหว่างเยาวชน แล้วนั้น สมัชชาใหญ่แต่ละครั้งก็ทำการพิจารณาไตร่ตรองประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 22 สมัชชาแห่งความสัตย์ซื่อ
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 22 ได้ทำการ ทบทวนพระวินัย ตามแนวทางของสังคายนาวาติกันที่สองและสมัชชาใหญ่วิสามัญ จึงเรียกได้ว่าเป็นสมัชชาแห่งอัตลักษณ์เชิงพระพรพิเศษและเชิงภารกิจของคณะ และความสัตย์ซื่อของซาเลเซียนต่ออัตลักษณ์และภารกิจ
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 22 ได้ร่างพระวินัยฉบับปรับปรุง คุณพ่อ Vigano’ กล่าวในตอนปิดสมัชชาว่า “เป็นเอกสารทรงค่าซึ่งจะช่วยเราในการตรวจสอบความแท้จริงและความเป็นปัจจุบันของการเลือกชีวิตเชิงพระวรสารและภารกิจจำเพาะของเราในประวัติศาสตร์ วันนี้ เราได้ฟื้นฟู “เอกสารแห่งอัตลักษณ์” ของซาเลเซียนแห่งดอนบอสโกต่อหน้าประชากรของพระเจ้า”39
การรับรองพระวินัยที่ปรับปรุงใหม่ถือได้ว่าเป็นการเชื้อเชิญให้มีความสัตย์ซื่อ คุณพ่อ Vigano’ พูดถึงสิ่งที่คุณพ่อบอสโกพูดกับซาเลเซียนในวันก่อนการรับรองพระวินัยฉบับแรกว่า “สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือการนำพระวินัยไปปฏิบัติในทุกวิธีการและถือตามพระวินัยให้ดี เราต้องยึดถือพระวินัยเป็นที่ตั้ง ศึกษาทุกประเด็นเป็นการเฉพาะ เข้าใจและนำไปปฏิบัติ”40 ในพินัยกรรมฝ่ายจิต คุณพ่อบอสโกได้เขียนไว้ว่า “ถ้าพวกท่านเคยรักพ่อในอดีต ก็จงรักพ่อต่อไปในอนาคตด้วยการถือพระวินัยของเราอย่างเคร่งครัด”
ทุกสิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวให้แก่สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 ในสมัชชานี้เราอยากจะทำตัวเป็นคุณพ่อบอสโกและอ่านภาพลักษณ์ของคุณพ่อใหม่อีกครั้งหนึ่งในปัจจุบัน การถือว่าพระวินัยเป็นฐานสำหรับการอบรมและสำหรับชีวิตซาเลเซียนและชีวิตหมู่คณะคือวิธีการรู้จักคุณพ่อบอสโกและทำให้คุณพ่อบอสโกเป็นปัจจุบัน หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง การรู้จักคุณพ่อบอสโกมากขึ้นจะเป็นการนำเราไปสู่การดำเนินชีวิตตามพระวินัยในรูปแบบที่เต็มเปี่ยมมากขึ้น
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 23 : สมัชชาแห่งภารกิจ
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 23 ถือได้ว่าเป็นสมัชชาแห่งภารกิจ กล่าวคือ “ภารกิจเพื่อเยาวชนและประชาชน” ซึ่งได้มีกล่าวถึงในสมัชชาใหญ่วิสามัญ สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 23 จึงเป็นการหยั่งลึกเข้าถึงภารกิจของเราโดยเอาบางประเด็นของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 21 มาพิจารณา
เอกสารของสมัชชา “อบรมเยาวชนสู่ความเชื่อ” ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงแนวทางเพื่อภารกิจนี้ กล่าวคือ การเลือกเยาวชนโดยเด็ดขาดในสถานการณ์ปัจจุบันและในบริบทที่แตกต่างกัน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เยาวชนที่ขัดสนกว่าหมด การอบรมสู่ความเชื่อโดยทางการประกาศพระวรสารอย่างเปิดเผยซึ่งไม่หยุดอยู่ที่การเข้าถึงพระวรสารเท่านั้น การอบรมที่เปิดสู่พันธะด้านสังคม สู่การอบรมมโนธรรม สู่การเติบโตในความรัก การอบรมสู่ความเชื่อที่นำไปสู่การเลือกกระแสเรียก การเสนอชีวิตจิตเยาวชนซาเลเซียนให้แก่เยาวชน
ทุกอย่างต่างเรียกร้องให้เรากลับสู่พระพรพิเศษและภารกิจเริ่มแรกของคุณพ่อบอสโกซึ่งเราต้องทำให้จริงในปัจจุบัน ในบทสรุปของเอกสารสมัชชาได้มีการพูดถึงการ “ฟังเสียงคุณพ่อบอสโกอีกครั้งหนึ่งในปัจจุบัน” ซึ่งเป็นเงื่อนไขของประสิทธิภาพของการแพร่ธรรมที่หมู่คณะจะต้องเป็นประจักษ์พยาน
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 24 : สมัชชแห่งการร่วมมือกับฆราวาส
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 24 ในขณะที่พยายามหยั่งลึกเข้าถึงพระพรพิเศษซาเลเซียน ได้มีการเรียกร้องให้สนใจองค์ประกอบของศูนย์เยาวชนแห่งวัลดอกโก กล่าวคือ ความสามารถของคุณพ่อบอสโกในการที่ทำให้หลายคนเข้ามาร่วมบทบาทในภารกิจเพื่อเยาวชน สมัชชาจึงเชื้อเชิญเราให้รื้อฟื้นหัวใจศูนย์เยาวชนเพื่อจะได้ร่วมส่วนกับฆราวาส ไม่เพียงในด้านภารกิจเท่านั้น แต่ในจิตตารมณ์ซาเลซียนด้วย นี่คือรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างซาเลเซียนกับฆราวาส ซึ่งต่างก็ได้รับเรียกให้ร่วมส่วนในภารกิจและชีวิตจิตเดียวกัน
ในบรรดาสิ่งที่สมัชชาเน้นนั้น มีการเน้นเป็นพิเศษถึงองค์ประกอบของวิธีการอบรมและชีวิตจิตที่ต้องนำมาดำเนินชีวิตร่วมกัน คุณภาพของการอบรม บทบาทหลักของผู้รับเจิมซึ่งเป็นเหมือนจิตวิญญาณของหมู่คณะเพื่อการอบรมและอภิบาล (CEP) หมู่คณะซาเลเซียนที่ต้องเป็นหลักประกันและประจักษ์พยานแห่งพระพรพิเศษ นอกนั้น สมัชชาได้กล่าวถึงกิจการในโครงการซาเลเซียนที่ฆราวาสสามารถทำได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีความชัดเจนในเจตนาและการเลือก เพื่อจะเป็นไปในแนวทางของพระพรพิเศษ
หัวข้อของสมัชชาครั้งที่ 24 เกี่ยวกับเนื้อที่ของการร่วมบทบาทของฆราวาส กระนั้นก็ดี มีหลายตอนพูดถึงครอบครัวซาเลเซียนเป็นพิเศษ ซึ่งมีบทบาทและมีพันธะร่วมกับหมู่คณะซาเลเซียน จึงเป็นการเน้นความสำคัญที่ซาเลเซียนจะต้องเห็นในคุณค่าของฆราวาสในเรื่องนี้ ซึ่งจะมีการกล่าวถึงเรื่องนี้อีกในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 : สมัชชาของหมู่คณะซาเลเซียน
สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 มีการศึกษาองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งของโครงการซาเลเซียน กล่าวคือ “หมู่คณะซาเลเซียนในปัจจุบันนี้” เริ่มต้นจากการที่คุณพ่อบอสโกได้รวบรวมผู้รับเจิมเพื่อความรอดของเยาวชนเข้าเป็นหมู่คณะ สมัชชาจึงเน้นองค์ประกอบสำคัญสำหรับโครงการแห่งหมู่คณะซาเลเซียน ซึ่งเป็นทั้งผู้อบรมและผู้แพร่ธรรม กล่าวคือ ชีวิตแห่งภราดรภาพ การเป็นประจักษ์พยานแห่งพระวรสาร การอยู่ท่ามกลางเยาวชนอย่างมีบทบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า มีความเกี่ยวโยงใกล้ชิดระหว่างการเน้นคุณค่าแห่งพระวรสารของการเป็นเอกของพระเจ้า การติดตามพระคริสตเจ้า ความรักฉันพี่น้อง กับการทุ่มเทเพื่อภารกิจแห่งการอยู่กับเยาวชนในรูปแบบของคุณพ่อบอสโก ในแนวทางเดียวกันนี้ก็มีการเน้นให้มีการแนะนำกระแสเรียกให้เยาวชนด้วย ในเรื่องนี้สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 ชี้ให้เห็นเป็นเด่นชัดถึงบทบาทของอธิการในโครงการของหมู่คณะตามความคิดของคุณพ่อบอสโก
การทบทวนเนื้อหาของสมัชชาใหญ่ที่ผ่านมาตามแนวทางของสังคายนาวาติกันที่ 2 ทำให้เราเห็นถึงการพัฒนาและการหยั่งลึกลงในหัวข้อหลักของโครงการแห่งชีวิตรับเจิมของเรา และภารกิจเพื่อเยาวชน ตามแนวคิดของคุณพ่อบอสโก สมัชชาใหญ่ อย่างเช่นสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 ที่มุ่งไปที่คุณพ่อบอสโก พระพรพิเศษและภารกิจของคุณพ่อที่จะต้องทำให้เป็นปัจจุบัน จะเป็นการช่วยให้เราสามารถทบทวนและตั้งเป้าหมายสำหรับการจาริกของเราต่อไป
เสียงของแขวงต่างๆ
พ่อได้บอกพวกท่านในตอนต้นว่า จุดเริ่มต้นของการเลือกหัวข้อของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 คือสภาพความเป็นจริงของแขวงต่างๆ ซึ่งเราได้รับรู้ในช่วงเวลาของการตรวจเยี่ยมด้วยกัน
ในการตรวจเยี่ยมดังกล่าว เราเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการที่เกี่ยวกับ หมู่คณะซาเลเซียน ได้มีการถามแขวงต่างๆถึงการประเมินผลของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25 กล่าวคือ การน้อมรับมติ ความยากลำบากในการนำไปประยุกต์และพันธะแห่งการนำมติไปปฏิบัติ เราต้องถือว่า หมู่คณะเป็นศูนย์กลางของยุทธศาสตร์แห่งการฟื้นฟู จึงต้องมีการดูแลในเรื่องของชีวิตจิตและชีวิตแห่งภราดรภาพ ในเรื่องของปริมาณและคุณภาพของสมาชิกที่สังกัดอยู่ ในเรื่องของการสร้างจิตวิญญาณหมู่คณะโดยทางการกระทำของอธิการ ในเรื่องของเอื้อให้หมู่คณะมีความสามารถในการวินิจฉัยและในการทำโครงการ
การตรวจเยี่ยมด้วยกันได้เห็นถึงแนวทางและความต้องการของแต่ละแขวง ซึ่งแสดงออกมาในความต้องการที่จะฟื้นฟู ความรักหลงใหลแห่งการแพร่ธรรม ในสมาชิกแต่ละคน จึงเห็นได้ว่า การฟื้นฟูชีวิตจิตและชีวิตอภิบาลของหมู่คณะทำได้ยากหากไม่มีออกแรงของสมาชิกแต่ละคน นอกนั้นก็ได้เห็นถึงการเอาแต่มุ่งทำงานแต่อย่างเดียวและต่างคนต่างทำ ความผิวเผินด้านชีวิตจิตและการอภิบาลที่ทำสักแต่ว่าทำ จึงทำให้เห็นว่าไฟแห่งความรักหลงใหลแห่งการอภิบาล ความร้อนรนในการแพร่ธรรม และหัวใจศูนย์เยาชนจะพบต้นแหล่งแห่งพลังได้ก็ในชีวิตจิตเท่านั้น ภารกิจไม่ใช่การกระทำ กิจการ หรือการริเริ่มต่างๆ แต่ภารกิจอยู่ในความร้อนรนในการช่วยวิญญาณต่างหาก
นอกนั้นได้เห็นถึงความเร่งด่วนใน การแพร่ธรรม แต่ละภาคพื้นต่างก็มีการท้าทายของตน การประชุมของสภาสังฆราชแต่ละทวีปก็ตอกย้ำถึงหน้าที่ของการแพร่ธรรมในเอกสารที่ประกาศใช้ อาทิ “Ecclesia in Africa”, “Ecclesia in America”, “Ecclesia in Asia”, “Ecclesia in Europa”, “Ecclesia in Oceania” เป็นต้น คณะซาเลเซียนก็รับรู้ถึงความเร่งด่วนที่จะปรับวิธีการแพร่ธรรมให้ทันสมัย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีการพูดในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 23 แล้ว แค่มองดูการท้าทายในสังคมปัจจุบันนี้ก็ทำให้เข้าใจถึงความเร่งด่วนนี้ได้ดี อาทิ การท้าทายที่มาจากศาสนาที่ไม่ใช่คริสตัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาสนาอิสลาม ปรากฏการณ์ของลัทธิต่างๆ ลัทธิที่ถือว่าไม่มีความดีและความจริงสูงสุด ลัทธิที่เน้นแค่ฆราวาส ความยากจน การกีดกั้นทางสังคม การอพยพ แนวของภารกิจ “สู่คนต่างศาสนา” เป็นต้น แขวงต่างๆเห็นถึงการเรียกร้องให้การประกาศพระวรสารในสนามของการศึกษามีความชัดเจน
ความต้องการอีกอย่างหนึ่งคือการดูแล กระแสเรียกผู้รับเจิมซาเลเซียน ประสบการณ์ของคณะช่วงหลังจากสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 24 ชี้ให้เราเห็นว่า เพื่อให้พระพรพิเศษของคุณพ่อบอสโกมี ประสิทธิผลจำต้องมีผู้รับเจิม ภายในบริบทของการอภิบาลเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกระแสเรียก เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกระแสเรียกซาเลเซียนผู้รับเจิม เราต้องทุ่มเทเพื่อการหยั่งลึกลงไปในอัตลักษณ์ ช่วยทำให้อัตลักษณ์เห็นได้เด่นชัด ให้ความสนใจด้านการอบรม และส่งเสริมกระแสเรียกภราดา
ในการตรวจเยี่ยมด้วยกัน มีการเน้น ความยากจนตามจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร ในคณะของเรา มีความสำนึกว่า ในบริบทแห่งความยากจนและบริบทแห่งความอยู่ดีกินดี เราต้องมีรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย เข้าถึงแก่น และเคร่งครัด การเป็นประจักษ์พยานของเราคงไม่มีใครเชื่อถือ หากเราไม่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ยากจน ลัทธิบริโภคนิยมและลัทธิความโอ่อ่านิยมกำลังก่อให้เกิดลัทธิปัจเจกนิยมและทำให้พลังในการแพร่ธรรมของเราลดน้อยลง “การหาแต่ความสะดวกและความสบาย” เป็นตัวทำให้ความสำนึกแห่งงานอภิบาลและการทุ่มเทเพื่องานแพร่ธรรมของเราต้องชะงักงัน ความยากจนเรียกร้องให้เราแสดงออกในแง่ประกาศกของสถาบันด้วย กล่าวคือ ต้องมีความโปร่งใสในการตัดสิน การแบ่งปันทรัพย์สิน และการร่วมชะตากรรมกับผู้ยากไร้ เราต้องกลับไปเป็นคณะของผู้ยากจนและคณะเพื่อคนยากจน
แขวงต่างๆมักจะถามเกี่ยวกับ รูปแบบใหม่ของความยากจนของเยาวชน เราเห็นถึงความจำเป็นต้องไตร่ตรองเกี่ยวกับความยากจนรูปแบบใหม่และกลับไปอยู่กับเยาวชน เรายังไม่ได้วิเคราะห์อย่างเพียงพอว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เราห่างเหินเยาวชนไปและหาวิธีทางที่จะทำให้เรากลับไปอยู่กับพวกเขา ในหลายแขวง มีการริเริ่มกระบวนการกลับไปหาเยาวชนที่ขัดสนกว่าหมดและไปร่วมชีวิตกับพวกเขา คณะของเราน่าจะมีพลังขับเคลื่อนที่ดีกว่า ที่พร้อมสรรพและใจกว้าง เพื่อจะได้เกิดความพร้อมที่ไปในบริบทของภารกิจที่ยาก ที่เสี่ยง และที่จำเป็นมากกว่าหมด
การตรวจเยี่ยมด้วยกันได้เห็นถึงปัญหาจำเพาะของแต่ละภาคพื้น อาทิ การจัดรูปแบบใหม่ การอบรมที่แทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรม การอบรมฆราวาส เป็นต้น สมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 จะเสนอมุมมองและแนวทางซึ่งจะช่วยให้เห็นบริบทเหล่านี้ได้ชัดเจนมากขึ้น
หัวข้อของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26
หัวข้อของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 เป็นหัวข้อที่ท้าทายและกระตุ้นเราทุกคน “Da mihi animas, cetera tolle” นำสมาชิกและหมู่คณะกลับไปสู่ต้นกำเนิดของการรับเจิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลับไปสู่หัวใจของภารกิจ ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจากการยอมให้พระเจ้าทรงครอบครองจนหมดสิ้น กระทั่งกลายเป็นการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางเยาวชน ความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อมนุษยชาติ ซึ่งชีวิตเจิมของเรามุ่งถึง มีต้นกำเนิดในโครงการชีวิตของคุณพ่อบอสโกที่ว่า “Da mihi animas”
3.1. โครงการชีวิตของคุณพ่อบอสโกและของซาเลเซียน
ใน “Da mihi animas, cetera tolle” เราที่เป็นลูกของคุณพ่อบอสโกพบแรงบันดาลใจและวิธีการเพื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายด้านวัฒนธรรมด้วยความชัดเจนและกล้าหาญ
“Da mihi animas” ทำให้ความสำนึกแห่งการเป็นบิดาของพระเจ้า ความมั่งคั่งแห่งความตายและการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าและฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตซาเลเซียนผู้รับเจิม ในเวลาเดียวกันก็ทำให้ซาเลเซียนมีความปรารถนาเร่าร้อนที่จะทำให้เยาวชนได้รู้ว่า พวกเขาสามารถที่จะมาดำเนินชีวิตแบบนี้เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขามีความสุข ตั้งแต่ในโลกนี้และได้รับความรอดรอดนิรันดร เพื่อทำเช่นนี้ได้ เราต้องออกแรง ใช้พลังทั้งหมดและใช้ทุกวิธีการเพื่อเยาวชน แม้ว่าเป็นเยาวชนแค่คนเดียว หรือแค่วิญญาณเดียว
“cetera tolle” เป็นแรงบันดาลใจให้ซาเลเซียนถอยห่างจากรูปแบบชีวิตรับเจิมที่ “เน้นอิสรภาพ” ดังที่พ่อเคยเขียนในจดหมาย “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า นอกจากพระองค์แล้วข้าพเจ้าไม่มีสิ่งอื่นใด”41 การแค่โยนความผิดให้วิกฤติการด้านวัฒนธรรมที่สร้างแรงกดดัน อาทิ ลัทธิโลกีย์วิสัย ลัทธิบริโภคนิยม ลัทธิสนุกนิยม ถือว่ายังไม่พอ เพราะในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว ชีวิตรับเจิมถือกำเนิดมาเพื่อเสนอตัวเลือก เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวที่สวนกระแสวัฒนธรรม เพื่อคัดค้านความไม่ถูกต้องในวัฒนธรรมและเพื่อฟื้นความเชื่อที่อยู่ในสถานการณ์ของทางตัน ความอ่อนแอแห่งแรงจูงใจและความไม่ชัดเจนแห่งอัตลักษณ์เป็นตัวทำให้ชีวิตรับเจิมทุกวันนี้เปราะบาง
คติพจน์สำหรับโครงการชีวิตของคุณพ่อบอสโกจึงเป็นชีวิตจิตของเรา (เทียบ ว. 4) เป็นคติพจน์ที่ใช้ได้สำหรับซาเลเซียนทุกคนและทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนที่ยังอยู่ในวัยและมีสุขภาพเต็มด้วยพลังวังชาเท่านั้น แต่สำหรับสมาชิกอาวุโสหรือสมาชิกที่ป่วยด้วย ความรักหลงใหลแห่ง “Da mihi animas” คือไฟแห่งความรักเมตตา ความรักนี้ไม่อยู่ในทำงานด้านการอบรมอภิบาลอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อยเท่านั้น แต่ยังแสดงออกในความพากเพียรและความทุกข์ทรมานซึ่งมีคุณค่าสำหรับความรอดในกางเขนของพระคริสตเจ้าด้วย
3.2. อัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษ : จิตตารมณ์ซาเลเซียน
พ่อขออ้างคำพูดเมื่อ 120 ปีมาแล้ว ซึ่งถ้าใครที่คิดว่าล้าสมัยไปแล้ว ก็อาจจะต้องเปลี่ยนใจ คำพูดนี้เป็นของคนอื่นที่ได้อ่านข้อเขียนของคุณพ่อและพบเห็นอัตลักษณ์ของพระพรพิเศษที่ผู้ตั้งคุณของเราได้รับจากพระเจ้า
ผู้ที่พูดคือพระคาร์ดินัล Lucido Maria Parocchi ในตำแหน่งสังฆราชผู้ช่วยของสังมณฑลโรม ซึ่งในปี 1884 ได้ตั้งคำถามว่าอะไรคือลักษณะจำเพาะของคณะซาเลเซียนและท่านก็ตอบว่า “ข้าพเจ้าอยากจะบอกพวกท่านว่าอะไรคือตัวบ่งบอกว่าคณะของพวกท่านแตกต่างจากคณะอื่นซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของพวกท่านเอง เหมือนกับที่คณะฟรังซิสกันเน้นความยากจน คณะดอมินีกันเน้นการปกป้องความเชื่อ คณะเยซูอิตเน้นวัฒนธรรม คณะของพวกท่านมีบางอย่างที่เหมือนกับคณะฟรังซิสกัน คณะดอมินีกัน และคณะเยซูอิต แต่มีความแตกต่างในด้านวัตถุประสงค์และรูปแบบ... ดังนั้น มีอะไรที่พิเศษในคณะซาเลเซียน? อะไรคือลักษณะจำเพาะและรูปร่างภายนอก? ถ้าข้าพเจ้าเข้าใจถูกต้อง ข้าพเจ้าเห็นว่าความคิดแรกเริ่ม ลักษณะจำเพาะ รูปร่าง แก่นสารของคณะของพวกท่านคือความรักที่ปฏิบัติตามการเรียกร้องของยุค “Nos credidimus Charitati. Deus caritas est”42
พระวินัยบทที่สองแจงให้เห็นแนวทางจำเพาะของจิตตารมณ์ซาเลเซียน โดยใส่คำพูดที่นักบุญเปาโลพูดกับหมู่คณะแห่งเมืองฟิลิปปีไว้ตั้งแต่แรก เหมือนจะเป็นคำพูดของคุณพ่อบอสโกเอง “สิ่งต่างๆที่ท่านได้เรียนรู้ ได้รับฟังและได้เห็นในตัวข้าพเจ้านั้นจงนำไปปฏิบัติเถิด แล้วพระเจ้าแห่งสันติจะสถิตอยู่กับท่าน” (ฟป 4,9)
พ่อเดาได้ว่า ข้อความนี้ถูกเลือกเพื่อเป็นบทนำเข้าสู่จิตตารมณ์ซาเลเซียน เพราะเป็นการ “เรียกร้องด้วยความรักและความจริงจังให้เราซื่อสัตย์ต่อคุณพ่อบอสโกในฐานะที่คุณพ่อเป็นต้นกำเนิดของจิตตารมณ์ซาเลเซียนในแง่ที่ว่า คุณพ่อเป็นคนแรกที่เลียนแบบพระคริสตเจ้าแห่งพระวรสาร จึงมีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวอย่างให้แก่เรา”43 เช่นเดียวกันกับกรณีของนักบุญเปาโล
ปัจจุบันนี้มีการพูดกันบ่อยถึง “การย้อนกลับสู่รากฐานของชีวิตรับเจิม” เป็นคำพูดที่ใช้ได้ หากเป็นคำพูดที่บ่งบอกถึงการต้องกลับไปสู่รากฐานอันแรกสุด กล่าวคือ พระเยซูเจ้า “รากฐานที่วางไว้แล้วนี้คือพระเยซูคริสตเจ้าและไม่มีใครวางรากฐานอื่นได้อีก” (1 คร 3,11) การกระทำเช่นนี้จะมีประสิทธิผลหากเป็นการนำชีวิตรับเจิมกลับไปยังผู้ตั้งคณะ “สิ่งต่างๆที่ท่านได้เรียนรู้ ได้รับ ได้ฟังและได้เห็นในตัวข้าพเจ้านั้นจงนำไปปฏิบัติเถิด” (ฟล 4,9) ส่วนการที่จะย้อนกลับสู่รากฐานใดที่ไม่เป็นไปในแนวนี้ก็มักจะต้องพบกับความล้มเหลว
ได้มีการให้คำจำกัดความของจิตตารมณ์ซาเลเซียนในสมัชชาใหญ่วิสามัญว่า “เป็นรูปแบบจำเพาะของเราในการคิดและรู้สึก ในการดำเนินชีวิตและการกระทำ ในกระแสเรียกและภารกิจจำเพาะซึ่งพระจิตประทานให้แก่เราอย่างต่อเนื่อง” (SGC, 86) จิตตารมณ์ซาเลเซียนจึงเป็น “จิตตารมณ์ของคุณพ่อบอสโก” กล่าวคือ เป็นกระแสเรียก ชีวิต กิจการและคำสั่งสอนของบิดาของเรา ซึ่งกลายเป็นรูปธรรมในประวัติศาสตร์ ในชีวิตของคณะและในครอบครัวซาเลเซียน นั่นคือ ในชีวิตและในความศักดิ์สิทธิ์ของซาเลเซียน (Cf SGC,87) ต่อมา ในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 21 และ 22 ได้มีการทำให้คำจำกัดความนี้เป็นรูปแบบมากขึ้น
ในบทที่สองของพระวินัย ได้มีการเสนอท่าทีพื้นฐานที่ให้แรงบันดาลใจแก่ซาเลเซียน นั่นคือ ความรักอภิบาลซึ่งเป็นศูนย์กลางและสรุปยอดของจิตตารมณ์ซาเลเซียนที่มีต้นกำเนิดในดวงพระทัยของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นสาวกของพระบิดา อันได้แก่ ความสนิทชิดเชื้อกับพระเจ้า เคล็ดลับของการเติบโตในความรักอภิบาล ในวิสัยทัศน์แห่งความเชื่อและในพันธะอันต่อเนื่องแห่งความหวังในชีวิตประจำวัน ความสำนึกในพระศาสนจักร ความรักพิเศษต่อเยาวชน ความรักใจดีแห่งความเป็นบิดาฝ่ายจิต บรรยากาศครอบครัว การมองโลกในแง่ดีและความยินดี งานและความมัธยัสถ์ การริเริ่มและการยืดหยุ่น ระบบการอบรมแบบป้องกันซึ่งเป็นดังสรุปของพันธกิจแห่งการเป็นบิดาฝ่ายจิต โดยมีคุณพ่อบอสโกเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมของจิตตารมณ์ซาเลเซียน
3.3. ความรักต่อการแพร่ธรรม “พระสิริมงคลของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณ”
พระสิริมงคลของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณเป็นความรักของคุณพ่อบอสโก การส่งเสริมพระสิริมงคลของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณก็คือการอ่อนน้อมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์ผู้ทรงแสดงองค์ในฐานะองค์ความรัก ในเวลาเดียวกันก็แสดงออกซึ่งพระสิริมงคลและความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อมนุษย์ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้รอด
ในบันทึก “ประวัติศาสตร์ของวิญญาณ” (1854) คุณพ่อบอสโกได้สารภาพเกี่ยวกับเคล็ดลับของเป้าหมายของกิจการของคุณพ่อ “เมื่อพ่อได้รับหน้าที่ของศาสนบริการอันศักดิ์สิทธิ์ พ่อเข้าใจว่าพ่อต้องเจิมถวายความยากลำบากทุกอย่างของพ่อเพื่อพระสิริมงคลยิ่งใหญ่ของพระเจ้าและผลประโยชน์ของวิญญาณ พ่อเข้าใจว่าพ่อต้องทำทุกอย่างเพื่อทำให้คนเป็นพลเมืองดีของโลกนี้ เพื่อว่าสักวันหนึ่งพวกเขาสมจะได้เป็นประชากรสวรรค์ ขอพระเจ้าได้โปรดช่วยพ่อให้สามารถทำเช่นนี้ต่อไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายด้วยเทอญ อาแมน”44
ในคุณพ่อบอสโก ความศักดิ์สิทธิ์เป็นประกายในกิจการที่คุณพ่อทำ ทว่า กิจการเป็นแค่การแสดงออกแห่งความเชื่อของคุณพ่อ ไม่ใช่กิจการในตัวมันเองที่ทำให้คนเป็นสาวก อย่างที่น.เปาโลกล่าวไว้ “แม้ข้าพเจ้าพูดภาษาของมนุษย์และของทูตสวรรค์ได้ แต่ถ้าไม่มีความรัก...ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เป็นอะไรเลย” (1 คร 13,1) เฉพาะความเชื่อที่ให้ชีวิตแก่ความรักเท่านั้นที่ทำให้คนเป็นสาวก “พวกท่านจะรู้จักเขาได้จากผลงานของเขา” (เทียบ มธ 7,16.20)
คริสตชนทุกคนได้รับเชิญให้เข้าสู่ “ชีวิตในพระเจ้า” และ “ความสนิทชิดเชื้อกับพระองค์” อย่างแท้จริง ไม่ใช่ในแง่ของจิตวิทยาเท่านั้น การชิดสนิทกับพระเจ้าคือการดำเนินชีวิตของเราในพระเจ้า อยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ ร่วมส่วนในชีวิตพระเจ้าที่อยู่ในตัวเรา คุณพ่อบอสโกทำให้การเผยแสดงของพระเจ้าเป็นเหตุผลแห่งชีวิตของคุณพ่อตามแนวทางของฤทธิ์กุศลเชิงเทววิทยาด้วยความเชื่อที่กลายเป็นเครื่องหมายน่าดึงดูดใจสำหรับเยาวชน ด้วยความหวังที่กลายเป็นคำพูดชี้แนวทางให้พวกเขา ด้วยความรักที่กลายเป็นท่าทีแห่งความรักเอ็นดูต่อพวกเขา
คุณพ่อบอสโกได้สัตย์ซื่อต่อภารกิจแห่งความรักโดยตลอด เมื่อใดก็ตามที่การบำเพ็ญพรตจอมปลอมทำให้คุณพ่อตัดขาดจากความเป็นจริง เมื่อนั้นความเชื่อจะบังคับคุณพ่อให้ยืนหยัดในความสัตย์ซื่อขั้นวีรกรรมเพื่ออยู่กับเยาวชนที่ขัดสนต่อไป เมื่อใดที่คุณพ่อรู้สึกเหนื่อยและอยากจะถอดใจ ก็จะมีแนวทางของน.เปาโลที่ว่า “ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา” (2 คร 5,14) ช่วยให้คุณพ่อฟันฝ่าต่อไป ความรักทำให้คุณพ่อไม่เคยหยุดอยู่ต่อหน้าความยากลำบากต่างๆ “ข้าพเจ้าเป็นทุกอย่างเพื่อช่วยบางคนให้รอดพ้น” (1 คร 9,22) คุณพ่อไม่เคยกลัวความพ่ายแพ้ในด้านการอบรม แต่กลัวการอยู่เฉยๆและการไม่ยอมรับพันธะมากกว่า
ในตัวคุณพ่อบอสโกเราจะพบเทววิทยาแห่งชีวิตจิตที่มากด้วยการกระทำ คุณพ่อมุ่งการกระทำภายใต้การกระตุ้นของความเร่งด่วนและความสำนึกว่าเป็นภารกิจของพระเจ้า การเลือกกระทำช่วยคุณพ่อในการตีความชีวิตจิตที่มีลักษณะจำเพาะ ชีวิตจิตดังกล่าวมีเป้าหมายอยู่ที่กิจการแห่งการแพร่ธรรม ในขณะที่ชีวิตของน.อัลฟองโซเน้นชีวิตภายใน ชีวิตจิตของคุณพ่อบอสโกพบความหมายในการเชื่อมโยงกับการกระทำ เป็นชีวิตจิตที่ประกอบขึ้นด้วยการทุ่มเทในกิจการที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ทำ
ในตัวคุณพ่อบอสโกเราพบว่า คุณค่าของสิ่งของนั้นไม่ได้อยู่ในอันดับแรกสุด แต่คุณค่าของมันอยู่ในการที่เราจำเป็นต้องใช้มันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เรารัก คุณพ่อไม่ยึดติดกับโครงสร้างตายตัว แต่มองหาทางที่เป็นไปได้ในเชิงอภิบาลและชีวิตจิต ในคุณพ่อเราจะพบความรักอภิบาลที่มีลักษณะจำเพาะ กล่าวคือ การได้มาซึ่งความรอดด้วยวิธีการแห่งความรักใจดี ความอ่อนหวาน ความร่าเริง ความสุภาพ ความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทและต่อแม่พระ ด้วยความรักต่อพระเจ้าและมนุษย์
3.4. Da mihi animas
คุณพ่อบอสโกถือว่า ตอนแรกของคำขวัญ “Da mihi animas” แสดงออกซึ่งความร้อนรนเพื่อความรอดของวิญญาณ ที่ออกมาเป็นรูปธรรมในการประกาศข่าวดีและในการหากระแสเรียกของชีวิตซาเลเซียนผู้รับเจิม
ความเร่งด่วนในการประกาศข่าวดี
เราต้องสร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นสำหรับการประกาศข่าวดี เราจะทำตามแบบอย่างของคุณพ่อบอสโก คุณพ่อถือว่าการช่วยเยาวชนให้รอดเป็นหน้าที่เร่งด่วน คุณพ่อ “ไม่เคยริเริ่มอะไรและไม่กล่าวคำใดที่ไม่มุ่งไปสู่ความรอดของเยาวชน” (ว 21) นอกนั้นเรายังเห็นถึงความต้องการของประชาชนที่จะรู้เกี่ยวกับพระวรสาร เพราะนี่คือแนวของการสร้างความเป็นมนุษย์และการส่งเสริมความเป็นมนุษย์
ดังนั้น คณะต้องเลือกที่จะทำหน้าที่ของการประกาศพระวรสารในสนามของการศึกษาอบรมเป็นอันดับแรก ในเวลาเดียวกัน ในที่ใดที่เรามีหน้าที่ประกาศพระวรสารโดยตรง เราก็ไม่อาจจะมองข้ามการศึกษาอบรมด้วยเช่นกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราซาเลเซียนจะสอนคำสอนโดยไม่มีการอบรม
ในปัจจุบัน เราเห็นว่ามีงานใหม่ๆในการประกาศพระวรสารตามบริบทของภาคพื้นแต่ละแห่ง ดังนั้นแต่ละภาคพื้นต้องทำการศึกษาพื้นที่ของการประกาศพระวรสาร ในเวลาเดียวกัน จำต้องมีความคล่องตัวให้มากเพื่อพร้อมจะโยกย้ายไปในที่ซึ่งภารกิจของเราเรียกร้อง
ความจำเป็นของการหากระแสเรียก
ในเรื่องนี้เราต้องหันกลับไปดูคุณพ่อบอสโก คุณพ่อเห็นว่า ความต้องการของเยาวชนนั้นมีมากเกินกว่าที่คุณพ่อจะทำได้คนเดียว เพราะเหตุนี้ คุณพ่อจึงได้เชื้อเชิญบุคคลจำนวนมากที่มีความพร้อมและความสามารถให้มาร่วมงาน ในเวลาเดียวกัน คุณพ่อก็เข้าใจว่า เพื่อจะทำให้พระพรพิเศษที่คุณพ่อได้รับมีความต่อเนื่องและมีพลัง คุณพ่อจำต้องมีบุคคลที่รับเจิมมาสานต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณพ่อเห็นความจำเป็นต้องมีซาเลเซียนทั้งที่เป็นสงฆ์และฆราวาส
เราเองก็เห็นถึงความจำเป็นของการเปิดโอกาสให้ฆราวาสมาร่วมงานกับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 24 กระนั้นก็ดี พระพรพิเศษไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้หากไม่มีแกนที่เข้มแข็งและมีอัตลักษณ์ของผู้รับเจิม นอกนั้น เรายังเห็นด้วยว่า ถ้าคณะเสี่ยงที่จะสูญเสียอัตลักษณ์หากต้องสูญเสียองค์ประกอบของฆราวาสผู้รับเจิมไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องทำให้กระแสเรียกภราดาซาเลเซียนมีชีวิตชีวาในคณะของเรา
เราต้องมีความสามารถในการเชื้อเชิญเยาวชนให้มาร่วมส่วนในประสบการณ์แห่งพระพรพิเศษของคุณพ่อบอสโกด้วยการเรียกให้พวกเขามาอยู่กับคุณพ่อบอสโกตลอดไป นอกนั้นเราต้องเสนอรูปแบบที่เป็นระบบในการติดตามกระแสเรียกไปสู่ชีวิตซาเลเซียนผู้รับเจิมในสองรูปแบบ กล่าวคือ สงฆ์และฆราวาส
3.5. Cetera tolle
สำหรับคุณพ่อบอสโกแล้ว ภาคที่สองของคติพจน์ “cetera tolle” หมายถึงการตัดขาดจากทุกสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ห่างจากพระเจ้าและเยาวชน ปัจจุบันนี้ ภาคที่สองของคติพจน์แสดงออกมาในความยากจนตามพระวรสารและในการเลือกที่จะไปหาเยาวชน “ที่ยากจน ถูกทอดทิ้ง และตกอยู่ในอันตรายมากกว่าหมด” ด้วยการมีความอ่อนไหวต่อรูปแบบใหม่ๆของความยากจนและบริบทใหม่ๆของการอยู่กับเยาวชนในความต้องการต่างๆ
3.5.1. ความยากจนตามพระวรสาร
ชีวิตผู้รับเจิมในอนาคตต้องมุ่งไปที่การติดตามพระคริสตเจ้าผู้นบนอบ ยากจน และบริสุทธิ์อย่างถึงรากถึงโคน หากว่าข้อแนะนำแห่งพระวรสารทั้งสามข้อนี้เรียกร้องให้เราถวายตัวเราทั้งครบแด่พระเจ้าและอุทิศตนทั้งครบเพื่อเยาวชน ความยากจนต้องนำเราไปสู่การมอบตนเองจนหมดสิ้นโดยไม่ชักช้าจนถึงลมหายใจสุดท้าย ดังที่คุณพ่อบอสโกได้ทำ การปฏิบัติข้อแนะนำแห่งพระวรสารช่วยเราให้เป็นอิสระในการแสดงออกของความพร้อมสรรพที่หลบซ่อนอยู่ในตัวเรา
คงจะเป็นความขัดแย้งและความไม่สอดคล้องหากเราปฏิญาณที่จะถือตามคำแนะนำแห่งพระวรสารที่จะอุทิศตนทั้งครบ แต่กลับดำเนินชีวิตแบบหวงแหนพลังและความสามารถของเรา ประกอบภารกิจเฉพาะตอนที่สะดวก ปล่อยใจไปตามการมีชีวิตแบบอยู่ดีกินดี ปลดเกษียณตัวเองในช่วงอายุมาก และเฉยเมยกับโศกนาฏกรรมของความยากจนที่คนเป็นล้านๆต้องเผชิญชะตากรรมอยู่ในโลก
ซาเลเซียนเป็นประจักษ์พยานของความยากจนไม่เพียงด้วยการทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อยและด้วยความมัธยัสถ์เท่านั้น แต่ด้วยรูปแบบชีวิตที่เคร่งครัด ราบเรียบ และเข้าถึงแก่น อีกทั้งด้วยการแบ่งปัน การร่วมชะตากรรม และการใช้ทรัพย์สินที่มีด้วยความรับผิดชอบ ความยากจนเรียกร้องให้เราปรับโครงสร้างงานที่หมู่คณะทำ ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องเสี่ยงกับการเป็นแค่ผู้ทำงานด้านการอบรม แทนที่จะเป็นนักอบรม หรือเป็นแค่ผู้บริหารการศึกษา แทนที่จะเป็นสาวกผ่านทางการศึกษา ใครก็ตามที่เลือกจะติดตามพระคริสตเจ้า ก็ได้เลือกรูปแบบชีวิตที่ไม่มุ่งทำให้ตนมั่งคั่ง แต่ดำเนินชีวิตด้วยบุญลาภแห่งความยากจนและความเรียบง่ายของจิตใจ อีกทั้งะทำตัวเป็นกันเองกับคนยากจนเสมอ
3.5.2. สนามงานใหม่ๆ
ภาพที่คุณพ่อบอสโกเดินไปตามถนนของเมืองตุรินเพื่อไปหาเด็กๆที่มีความขัดสนมากกว่าหมดนั้น ไม่น่าจะเป็นแค่เรื่องเล่าอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นหน้าที่และรูปแบบที่เป็นธรรมชาติสำหรับการกระทำของเรา ชีวิตจิตของระบบการอบรมแบบป้องกันเรียกร้องให้เราไปหาเยาวชนที่ยากจนกว่าหมดและอยู่กับพวกเขา เรา ในฐานะปัจเจกและในฐานะร่วมสถาบัน ต้องพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นจริงของเยาวชน หรือว่า แม้จะเห็น แต่ก็ทำให้เราไม่สามารถตอบรับสถานการณ์ของเยาวชนด้วยความนึกคิดและด้วยดวงใจของคุณพ่อบอสโกได้ ความพร้อมสรรพต้องทำให้เราพร้อมจะไปในสถานการณ์ที่ขัดสน เสี่ยง ยากลำบาก และเรียกร้องของภารกิจของเรา
การพูดถึงรูปแบบใหม่ๆของความยากจนก็คือการคำนึงว่า ทุกวันนี้เยาวชนทุกคนขัดสน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขัดสนในด้านวัตถุสิ่งของ ขัดสนความรัก ขัดสนด้านชีวิตจิต และขัดสนด้านความรู้ การพูดถึงพรมแดนใหม่ๆที่โยงไปถึงบริบทที่เราทำงานซึ่งแตกต่างกันออกไปนั้น หมายถึงการให้ความสนใจแก่ปัญหาด้านการอพยพ การตกขอบสังคม การเหยียดผิว การหาประโยชน์ทางเพศ เด็กกรรมกร และการไม่มีศาสนา
ในการเลือกที่จะรับใช้เยาวชนที่ยากจนกว่าหมดและการเลือกสนามงานใหม่ๆที่เยาวชนกำลังรอเราอยู่นั้น เราต้องพบแหล่งที่มาและแรงจูงใจที่ลึกซึ้งในความรักของพระเจ้าผู้ทรงเรียกให้เรากระทำกิจการแห่งความรัก การทำเช่นนี้จะช่วยเราให้พ้นจากแนวโน้มไปในทางอุดมการณ์หรือทางสังคมสงเคราะห์45 การเลือกนี้มีเป้าหมายอยู่ในการประกาศข่าวดีอย่างที่พระเยซูเจ้าตรัสในศาลาธรรมแห่งเมืองนาซาเร็ธในช่วงเริ่มต้นแห่งภารกิจของพระองค์ “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4,18) การเลือกที่จะรับใช้เยาวชนจึงไม่อยู่ที่การพัฒนาเชิงมนุษย์ แต่อยู่ในการมอบขุมทรัพย์ของพระเยซูเจ้าและของพระวรสารให้แก่เยาวชน
เงื่อนไขเพื่อทำให้หัวข้อสมัชชาเป็นรูปธรรม
เพื่อจะทำให้หัวข้อของสมัชชาเป็นรูปธรรม เราต้องทำตามเงื่อนไขบางอย่าง นั่นคือ การเริ่มกระบวนการ การเปลี่ยนทัศนะคติ การเปลี่ยนโครงสร้าง
การเริ่มกระบวนการ
เมื่อคำนึงว่า เป้าหมายของสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 คือการกระชับอัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษโดยเริ่มต้นจากคุณพ่อบอสโกและปลุกเร้าจิตใจของสมาชิกแต่ละคนด้วยความรักหลงใหลแห่ง “Da mihi animas, cetera tolle” เราเห็นว่า เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนี้เราต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ
อัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษเรียกร้องให้เรา รู้จักคุณพ่อบอสโกให้มากขึ้น รู้ถึงแรงบันดาลใจ การเลือกฝ่ายจิตและฝ่ายการแพร่ธรรม อีกทั้ง รู้จักพระวินัย ซึ่งเป็นคุณพ่อบอสโกสมัยปัจจุบัน
ความรักต่อการแพร่ธรรมเรียกร้องให้เราทำให้ การประกาศพระวรสาร แสดงออกมาในทุกแห่งที่เราอยู่ เรียกร้องความกล้าใน การเสนอกระแสเรียก แห่งชีวิตซาเลเซียนที่รับเจิม เรียกร้องให้มีการฟื้นฟู รูปแบบของชีวิตที่ยากจน เคร่งครัด และพร้อมจะร่วมชะตากรรม เรียกร้องให้มองหา สนามงาน ซึ่งจะทำให้เราให้ความสำคัญอันดับแรกแก่ภารกิจการอบรมและอภิบาล ไม่ใช่เอาแต่การบริหารกิจการใดกิจการหนึ่งอย่างเดียว เรียกร้องให้เรามองให้เห็นรูปแบบใหม่ของความยากจนและสนามงานในบริบทของเราและตีคุณค่าของกิจการและการกระทำของเราจากมุมมองของพระพรพิเศษ
ขั้นตอนแรกของกระบวนการนี้คือ การให้หมู่คณะและสมัชชาแขวง มีส่วนในการชี้ให้เห็นถึงการเรียกของพระเจ้าในประเด็นที่กล่าวมา ในการอ่านสถานการณ์ของหมู่คณะเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้และในการมองหาการท้าทายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเสนอรูปแบบที่ต้องทำเพื่อการฟื้นฟูตนเอง
ขั้นที่สองคือ การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 และแนวทางปฏิบัติสำหรับคณะของเรา
การเปลี่ยนทัศนะคติ
กระบวนการที่จำเป็นต้องทำคือการกลับใจของแต่ละคนในเรื่องของอัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษซาเลเซียน โดยให้ซาเลเซียนแต่ละคนรับผิดชอบในการกระชับความร้อนรนและความซื่อสัตย์ต่อกระแสเรียก พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงดวงใจและดำเนินชีวิตด้วยความรักแห่งการแพร่ธรรม จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนทัศนคติก่อนหมด
เพื่อทำเช่นนี้ได้ ต้องสร้างแรงบันดาลใจแก่การกระทำด้วยมุมมองฝ่ายจิตและฝ่ายจิตวิทยาในตัวสมาชิก พร้อมกับทำให้อัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษและความเคารพต่อตนเองเด่นชัดขึ้น
เพื่อการนี้ เราต้องสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ศักยภาพแห่งการเป็นซาเลเซียนผู้รับเจิม พร้อมกับความสำนึกในรูปแบบชีวิตที่เรียบง่ายและยากจน หนีห่างจากรูปแบบชีวิตรับเจิม “แบบเสรีนิยม” ทุ่มเทในภารกิจของการประกาศข่าวดีให้แก่เยาวชน ทำตนให้พร้อมสรรพในการพัฒนาตนให้ทันสมัย อีกทั้งในการฟื้นฟูและสนับสนุนโครงการของหมู่คณะ
การเปลี่ยนโครงสร้าง
กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้องสอดคล้องกับความตระหนักใจที่ว่า “มีการริเริ่มและกิจการด้านอภิบาลที่เราทำยังไม่สอดคล้องกับภารกิจของ”
เมื่อเป็นเช่นนั้น เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างของชีวิตหมู่คณะและรูปแบบการกระทำภารกิจ นั่นคือ มองหาตัวเลือกของรูปแบบของกิจการ ทบทวนบทบาทซาเลเซียนในการประกอบภารกิจ การบริหารกิจการที่ซับซ้อน
เพื่อทำเช่นนี้ได้ ต้องมีการตัดสินใจที่กล้าหาญของผู้มีบทบาทปกครองหมู่คณะ ซึ่งจะทำให้ความตระหนักใจของเราเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น
4. บทภาวนาเพื่อสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26
พ่อขอสรุปด้วยการเชื้อเชิญให้แขวง รองแขวง แขวงตัวแทน หมู่คณะและสมาชิกให้เข้าสู่บรรยากาศแห่งสมัชชาใหญ่ และร่วมกันสวดภาวนาขอต่อแม่พระ อีกทั้งตั้งใจฟังเสียงดลใจของพระจิตเจ้า
สมัชชาใหญ่ไม่เป็นแค่การมาร่วมประชุมของเจ้าคณะแขวงและตัวแทน แต่เป็นการเข้าใจในการจาริกที่เริ่มต้นจากการเรียกประชุมสมัชชาไปจนถึงการรับรองมติ จึงเป็นเรื่องที่หมู่คณะทุกแห่งและสมาชิกแต่ละคนต้องร่วมมีส่วนด้วย
สมัชชาใหญ่มีความสำคัญในกระบวนการที่ทำด้วยกัน กระบวนการดังกล่าวไม่จบลงแค่วาระหกปี แต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาระหว่างสมัชชาใหญ่หนึ่งไปยังอีกสมัชชาใหญ่หนึ่ง
สมัชชาใหญ่เป็นช่วงเวลาเข้มข้นของการอบรมต่อเนื่อง ที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เป็นการทำให้เรามองดูตัวเราในกระจกเงาแห่งการเรียกของพระเจ้าที่แสดงออกทางพระวินัย ซึ่งไม่ควรจะทำให้เราท้อแท้ต่อหน้าความเป็นจริง แต่น่าจะช่วยให้เราร่วมกันแสวงหาหนทางที่จะตอบรับการเรียกของพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมมากขึ้น
สมัชชาใหญ่กำหนดท่าทีของการแยกแยะพระประสงค์ของพระเจ้าในคณะของเราในปัจจุบันน เพื่อเราจะได้ตอบรับแผนการของพระองค์และการคาดหมายของเยาวชนให้ดียิ่งขึ้น จึงต้องมีบรรยากาศที่เข้มข้นแห่งการภาวนาและการฟังพระวาจาของพระเจ้า
ให้เรามอบเหตุการณ์แห่งการเสด็จมาของพระจิตเจ้าในสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 นี้ไว้กับพระมารดามารีย์ ผู้ทรงร่วมมือกับพระจิตเจ้าในการบันดาลให้น.ยอห์น บอสโก บังเกิดมา (เทียบ ว 1) และทรงชี้แนะให้ท่าน “เห็นประเภทของงานที่ท่านต้องกระทำในท่ามกลางเยาวชน และทรงนำทางช่วยเหลือในกิจการของท่านอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงช่วยท่านในการก่อตั้งคณะของเรา” (ว 8) โดยอาศัยความช่วยเหลือของพระแม่ เราจะสามารถสานต่อภารกิจเพื่อเยาวชนด้วยความสัตย์ซื่อในฐานะ “องค์พยานถึงความรักที่ไม่รู้จักเหือดแห้งของพระบุตรของพระนาง” (ว 8)
พ่อขอเสนอบทภาวนาวอนขอคุณพ่อบอสโก บิดาของเรา ซึ่งเราสามารถใช้สวดในหมู่คณะและสวดส่วนตัวได้ เพื่อคุณพ่อจะได้เสนอวิงวอนพระเจ้าได้โปรดทำให้ดวงใจของเราเต็มด้วยความรักหลงใหลแห่ง “Da mihi animas, cetera tolle” และทรงช่วยเราในการเตรียมและการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 26 เพื่อยังผลประโยชน์ยิ่งใหญ่สำหรับคณะของเราและสำหรับเยาวชน
บทภาวนาขอคุณพ่อบอสโก
ข้าแต่นักบุญยอห์ บอสโก
พระจิตเจ้าได้ทรงบันดาลให้ท่านเกิดมา
โดยคำเสนอวิงวอนเยี่ยงมารดาของพระนางมารีย์
ให้ท่านทุ่มเทชีวิตเพื่อความรอดของเยาวชน
องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงมอบท่านให้เป็นบิดาและอาจารย์ของเรา
และท่านได้มอบโครงการชีวิตที่น่าดึงดูดใจให้แก่เรา
ในคติพจน์ที่ว่า “Da mihi animas, cetera tolle”
ท่านได้ส่งทอดจิตตารมณ์แห่งชีวิตและกิจการที่ไม่ซ้ำแบบให้แก่เรา
ภายใต้การดลใจของพระเจ้า
เป็นจิตตารมณ์ที่มีศูนย์กลางและสรุปอยู่ในความรักอภิบาล
โปรดให้ดวงใจของเราลุกร้อน
ด้วยไฟแห่งความร้อนรนและพลังแห่งผู้ประกาศข่าวดี
เพื่อจะได้เป็นเครื่องหมายที่น่าเชื่อถือแห่งความรักของพระเจ้าให้แก่เยาวชน
โปรดให้เรารู้จักยอมรับการเรียกร้องประจำวัน
และการสละแห่งชีวิตแพร่ธรรมด้วยความแจ่มใสและยินดี
เพื่อพระสิริมงคลของพระเจ้าและความรอดของวิญญาณ
โปรดให้สมัชชาใหญ่ครั้งนี้
ช่วยเราทำให้อัตลัษณ์แห่งพระพรพิเศษเข้มข้นขึ้น
และปลุกเร้าความรักแพร่ธรรมในดวงใจของเราด้วยเทอญ
อาแมน
ด้วยความรักใคร่
คุณพ่อ Pascual Cha’vez V.
อัคราธิการ
1 E. VIGANO’, Consagracion apostolica y novedad cultural, Ed. CCS (Madrid 1987) p” 159.
2 Cf. BENEDETTO XVI, Deus Caritas est, n. 12.
3 Cf. P.CHAVEZ, “Contemplare Cristo con lo sguardo di Don Bosco”, ACG 384 (2003)
4 CIVCSVA, Ripartire da Cristo, n. 12.
5 P.BRAIDO (Ed.), Don Bosco educatore, scritti e testimonianze, Roma LAS 1997, pp. 409,437.
6 Cf. P.BRAIDO, La liturgia della vita nel servizio della carita’ tra I giovani di un comtemplativo nell’azione, in E. CARR (a cura di) , Spiritus spiritualia nobis dona potenter infundit. A proposito di tematiche liturgico-pneumatologiche. Studi in onore id Achille M. Triacca, Roma 2005, pp. 143-157.
7 Cf. F. MOTTO, Verso una storia di don Bosco piu’ documentata e piu’ sicura, in “Ricerche Storiche Salesiane” 41 (luglio-dicembreX p. 250-251.
8 Cf. G.BOSCO, Memorie dell’Oratorio, seconda decade, cap. 11-12.
9 ข้อมูลจาก United Nations World Youth Report, www.un.org/esa/socdev/unyin/wyr 05. htm
10 BENEDETTO XVI, พระดำรัสในมิสซาที่ร่วมถวายกับพระคาร์ดินัลในโบสถ์ซิสติน 20 เมษายน 2005
11 JOHN PAUL II, Vita Consecrata, n. 22.
12 CIVCSVA, Ripartire da Cristo, n. 22.
13 Idem. n. 21.
14 JOHN PAUL II, Novo Millennio Ineunte, n. 29.
15 Idem.
16 JOHN PAUL II, Novo Millennio Ineunte, n. 30.
17 Idem, n. 31.
18 Cf. P.CHAVEZ, Cari Salesiani, siate santi, ACG 379 (2002), p. 60.
19 P.CHAVEZ, Dicsorso alla chiusura del CG25, ACG 378 (2002), p. 161.
20 JOHN PAUL II, Novo MIllennio Ineunte, n. 43.
21 JOHN PAUL II, Vita Consecrata, nn. 46.50.
22 JOHN PAUL II, Christifideles Laici, n. 31.
23 CIVCSVA, Ripartire da Cristo, n. 9.
24 BENEDICT 16, บทเทศน์ในมิสซาปิดการชุมนุมเยาวชนระดับโลกที่เมืองโคโลญ, 21 สิงหาคม 2005.
25 BENEDICT 16 ตรัสกับนักบวชชาย นักบวชหญิง สมาชิกของสถาบันฆราวาสและคณะชีวิตแพร่ธรรมของสังฆมณฑลโรม, วาติกัน, 10 ธันวาคม 2005.
26 JOHN PAUL II, Novo Millennio ineunte, n. 43.
27 JOHN PAUL II, Vita Consecrata, n. 46.
28 JOHN PAUL II, Christifideles Laici, n. 31.
29 JOHN PAUL II, Vita Consecrata, n. 51.
30 Ibid, n. 51.
31 Ibid.
32 CIVCSVA, Ripartire da Crsito, n. 29.
33 BENEDICT 16 , ตรัสกับนักบวชชาย นักบวชหญิง สมาชิกของสถาบันฆราวาสและคณะชีวิตแพร่ธรรมของสังฆมณฑลโรม, วาติกัน, 10 ธันวาคม 2005.
34 JOHN PAUL II, Novo Millennio Ineunte, n. 9.
35 Ibid.
36 BENEDICT 16. Deus Caritas est, n. 25.
37 JOHN PAUL II, Novo Millennio Ineunte, n. 46.
38 JOHN PAUL II, Vita Consecrata, n. 64.
39 GC 22, n. 59.
40 MB XII, p. 80-81. Cf. GC 22, n. 91.
41 P. CHAVEZ, Sei tu il mio Dio, fuori di te non ho altro bene, AGC 382 (2003) pp. 3-38.
42 BS 8 – 1884 – n. 6, pp. 89-90. พระคาร์ดินัลยังกล่าวอีกว่า “ในยุคปัจจุบันนี้ กิจการแห่งความรักเท่านั้นที่สามารถดึงดูดไปสู่ความดี โลกทุกวันนี้ต้องการแค่วัตถุสิ่งของ จึงไม่อยากจะรู้เกี่ยวกับเรื่องฝ่ายจิต ไม่สนใจความงดงามแห่งความเชื่อ ไม่อยากรับรู้ความยิ่งใหญ่ของศาสนา ปฏิเสธความหวังแห่งชีวิตหน้า ปฏิเสธแม้กระทั่งพระเจ้าเอง โลกปัจจุบันนี้เข้าใจว่าความรักเป็นแค่วิธีการ ไม่ใช่ต้นกำเนิดและปลายทาง โลกรู้แค่วิเคราะห์แต่ไม่เคยเข้าถึงข้อสรุป น. เปาโลกล่าวว่า “มนุษย์ที่เน้นแค่ความเป็นคนไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เกี่ยวกับพระจิตของพระเจ้าได้” ที่จะบอกว่า “ต้องช่วยวิญญาณที่ผิดหลง ต้องมีการอบรมคนที่ไม่รู้เกี่ยวกับหลักศาสนา ต้องทำบุญเพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระเจ้าซึ่งวันหนึ่งพระองค์จะทรงตอบแทนผู้ที่ใจกว้าง” นั้น คนในยุคนี้ไม่เข้าใจหรอก
เราจึงต้องปรับเข้ากับยุค ยุคที่เปลี่ยนไปเรื่อย พระเจ้าทรงโปรดให้คนต่างศาสนารู้จักพระองค์โดยทางกฎธรรมชาติ ทรงโปรดให้ชาวยิวรู้จักพระองค์โดยทางพระคัมภีร์ ให้ชาวกรีกรู้จักพระองค์โดยทางขนบธรรมเนียมของปิตาจารย์ ให้คริสเตียนรู้จักพระองค์โดยทางพระวรสาร ให้คนในยุคนี้รู้จักพระองค์โดยทางความรัก จงบอกคนยุคนี้ว่า ฉันต้องนำเด็กออกจาถนนเพื่อพวกเขาจะได้ไม่ตกในบ่วงแร้ว ฉันจะรวมเยาวชนไว้ในหอพักเพื่อพวกเขาจะได้ไม่ทำให้วัยสดใสของพวกเขาต้องเสียไปเพราะการใช้ชีวิตอย่างเสเพ ฉันจะรวมพวกเขาไว้ในโรงเรียนเพื่อจะได้อบรมพวกเขา เพื่อให้พวกเขาเป็นคนดีของสังคม และไม่ต้องเข้าไปอยู่ในคุก ฉันจะเรียกพวกเขามาหาและคอยดูแลไม่ให้พวกเขาควักตากันและควักตาคนอื่น เมื่อนั้นแหละที่คนในยุคนี้จะเข้าใจและเริ่มเชื่อ”
43 Il Progetto di vita dei Salesiani di Don Bosco, Guida alla lettura delle Costituzioni Salesiani, Roma, 1986, p. 142.
44 Cf. G.BOSCO, Piano di regolamento per l’Oratorio maschile di S.Francesco di Sales in Torino nella regione Valdocco. Introduzione, in P.BRAIDO (Ed.), Don Bosco Educatore, Scritti e Testimonianze. Roma, LAS 1997, P. 111.
45 Cf. BENEDICT 16, Deus caritas est, n. 31b.