Stimulating Thoughts|38


ระยะนี้ข่าวคราวการปล้น การจี้ มีให้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยขึ้น

ส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่คิดกลัวเกรงกฎหมาย ราวกับบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป

บางรายที่ถูกจับได้ก็ไม่มีทีท่าจะหวาดหวั่น หรือแม้เงาแห่งความสำนึกผิด

คนทำผิดที่โฉบฉวยโอกาส รอทีเผลอ แล้วทำ ก็ยังน่ากลัวอยู่แล้ว สาอะไรกับคนทำผิดที่กล้าทำผิดอย่างไม่คิดจะเกรงใครหน้าไหนทั้งนั้น จะน่ากลัวกว่าขนาดไหน

เพราะคนที่ทำผิดโดยรู้ว่าทำผิด อย่างน้อยก็ยังมีความเป็นคนเหลืออยู่

แต่คนที่ทำผิดแล้วทำราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นเรื่องทำได้ตามใจชอบ ก็คงเหลือแต่สัญชาตญาณที่ชี้นำไปเท่านั้นเอง

คนที่ฉกชิงวิ่งราวก็ใช่ว่าจะเป็นคนยากคนจน ก็เปล่า

แต่มักจะเป็นคนที่มียังไม่พอ และอยากได้มาด้วยทางลัด

คนอื่นๆ เขาขยันขันแข็งทำมาหากินด้วยความสุจริต เพียรออมเพียรเก็บ จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่นเป็นแสน

กว่าจะมีจะใช้ได้ขนาดนั้นก็ต้องสละทั้งเวลาและแรงกายแรงใจ

แล้ววันดีคืนดีก็มีคนที่ไม่ขยันขันแข็งทำมาหากิน เพียรอดเพียรเก็บ มาฉกชิงไปอย่างหน้าด้านๆ


สังคมไทยทุกวันนี้มีคนจนในความหมายของคำว่า “ยากจน” ไม่มาก

แต่คนไทยส่วนมากจนในความหมายที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ จนคือ “มีไม่พอ”

สังคมบริโภคนิยมได้นำความยากจนแบบใหม่นี้มาพร้อมๆ กับสิ่งของเพื่อการบริโภคอย่างเหลือกินเหลือใช้

ในสังคมแบบนี้ การกินจึงไม่ใช่กินเพื่ออิ่ม แต่กินเพื่ออร่อยปาก

ในเมื่ออาหารการกินมีบริการมีขายจนเหลือเฟือ การกินจึงมี“การเลือก”เข้ามาเป็นตัวแปรด้วยทุกครั้ง

ทั้งๆ ที่กินแต่ละครั้งเพื่ออิ่มท้อง มีเรี่ยวมีแรง สุขภาพสมบูรณ์ แต่ก็สามารถเลือกอิ่มได้แบบแพงหรือไม่แพง ด้วยบรรยากาศหรูหราฟู่ฟ่าหรือชนิดยองยองเหลา ในร้านอาหารที่มีชื่อติดตามกระจกท้ายรถยี่ห้อแพงๆ หรือจากรถเข็นริมทาง

ในสังคมแบบนี้ สิ่งของเครื่องใช้มีไว้ไม่ใช่เพื่อความจำเป็น แต่มีไว้เพื่อความหรูหราและใช้วัดความร่ำรวยมั่งมี



รถยนต์ไม่ใช่เป็นแค่พาหนะอย่างเดียว แต่เป็นหน้าเป็นตา บ่งบอกฐานะและระดับคนขับไปในตัว

คนจึงชอบขับรถหรู ยี่ห้อดัง ออกมาจอดแช่เรียงรายอวดกันอยู่ตามท้องถนนให้การจราจรติดขัดอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

เสื้อผ้าที่สวมใส่ใช่จะเพื่อปกปิดตบแต่งร่างกายอย่างเดียวก็เปล่า

แต่แต่งไว้อวดรสนิยม ยี่ห้อ สนนราคา ความทันสมัยทันแฟชั่นเสร็จสรพ

ทุกวันนี้จึงไม่สนใจ “กิน” “แต่งตัว” “ใช้” “มี” เพราะสังคมบริโภคนิยมเป็นธุระให้หมดแล้ว แต่ไปสนใจ กิน แต่งตัว ใช้ มี “อย่างไร” เสียมากกว่า

คำว่า “อย่างไร” จึงกลายเป็นดัชนีที่ชี้บอกชีวิตความเป็นอยู่ทั้งหมด


มันให้รู้สึกเศร้าเมื่ออ่านพาดหัวข่าวว่า “สยช.เปรี้ยง! สาวเหนือยากรวย ที่มาโสเภณี”

ความยากจนขัดสน ยังมีวิธีแก้ไขได้ด้วยการจัดหาให้มีกินมีใช้

แต่ความอยากรวยนี่สิ แก้อย่างไรก็ไม่ตก เพราะไม่มีใครสามารถลากเส้นบ่งบอกได้ว่า แค่นี้ก็รวยแล้ว

เพราะธาตุแท้ของคนแล้ว มีเท่าไรไม่รู้จักพอ ยิ่งมีก็ยิ่งอยากจะมีมากขึ้น

และพร้อมจะแลกกับคุณค่าทุกอย่าง แม้ศีลธรรมและศักดิ์ศรี อย่างไม่นึกเสียดายแม้แต่น้อยนิด

วันดีคืนดี ถ้าเห็นพาดหัวข่าวว่า “ปล้นกันเพราะอยากรวย” ก็คงไม่ต้องแปลก

หากไม่ยอมใช้คำว่า “พอ” ในการมี การกิน การใช้ การจ่าย...กันบ้าง.