Stimulating Thoughts|57

ผักชีโรยหน้า


นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ส่งเสริมสินค้าไทย

แล้วก็แจกเนคไทไหมไทยให้คณะรัฐมนตรีผูกกันคนละเส้น...เส้นละสองหมื่น

ซึ่งดูรัฐบาลแต่ละท่านจะภูมิอกภูมิใจออกนอกหน้า เที่ยวยกเนคไทอวดผู้สื่อข่าวยังกับเด็กได้ของเล่นใหม่

น่าจะคิดกันสักนิดว่าสินค้าไทยนั่นน่ะไม่มีแค่เนคไทไหมอย่างเดียว แต่มีอีกมากอย่าง

ผูกเนคไทไหมไทยแล้วดื่มไวน์จากฝรั่งเศสแทนน้ำ มันก็ดูไม่เข้าท่า

ผูกเนคไทไหมไทยแล้วเที่ยวสั่งเครื่องใช้จากนอก แม้กระทั่งกลอนประตูบ้านยังต้องสั่งมาจากอิตาลี ชวนให้ขำ

ผูกเนคไทไหมไทยแล้วแต่เฟอร์นิเจอร์ทั้งตัวซื้อมาจากต่างประเทศทั้งนั้น ตั้งแต่หัวจรดเท้า ดูตลก

อย่างนี้ส่งเสริมกันไปเถอะ ยังไงก็ส่งเสริมกันไม่ขึ้น

นอกนั้น บอกให้ช่วยกันส่งเสริมสินค้าไทย แล้วทำให้ดูเป็นตัวอย่างผูกเนคไทไหมเส้นละหมื่นสองหมื่น ชาวบ้านตาสีตาสาหน้าไหนจะมีปัญญาซื้อมาใช้

อดถามไม่ได้เหมือนกันว่า ทำไมไม่ใช้สิ่งผลิตของไทยที่ราคาซื้อหากันได้เพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านตาดำๆ เห็นว่า ของไทยนั้นน่ะมีระดับ ขนาดนายกและรัฐมนตรียังซื้อหามาใช้แบบไม่เคอะเขินเลย

อย่างนี้สิเรียกว่าส่งเสริมสินค้าไทยกันจริง

ก็อย่างว่านั่นแหละ นักการเมืองก็ยังคงเป็นนักการเมืองอยู่วันยันค่ำ ทำอะไรก็การเมืองไปหมด ไม่มีความจริงจังกับความจริงใจกันเลย

แล้วก็อดคิดไปถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ได้

มีปีส่งเสริมวัฒนธรรมไทย โดยจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อการนี้ตั้งแต่ต้นปียันปลายปี

จบปีส่งเสริมวัฒนธรรมไทยแล้ว วัฒนธรรมไทยก็ถูกกลืนจากวัฒนธรรมตกต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ก็การส่งเสริมวัฒนธรรมไทยที่จัดทำกันนั้น มักจะเน้นแค่เรื่องแต่งกายบ้าง ดนตรีบ้าง การละเล่นบ้าง...

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว วัฒนธรรมไทยไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้า ดนตรี หรือการละเล่น...แต่อยู่ในรูปแบบของการดำเนินชีวิต การแสดงออก กิริยามารยาท ทัศนคติ มโนทัศน์ ปฏิสัมพันธ์...ของชนชาติไทยที่ส่งทอดสืบต่อกันมาเป็นมรดกต่างหาก

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2525 มีการอธิบายคำว่า “วัฒนธรรม” ว่า

สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะ”


ในพระราชบัญญัติวัฒนธรรม พุทธศักราช 2485 หมายถึง “ลักษณะที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีงามของประชาชน”

การส่งเสริมวัฒนธรรมไทยจึงน่าจะเป็นการส่งเสริมวิถีชีวิตไทยๆ ที่มีความเป็นพี่เป็นน้อง มีความเอื้ออาทรต่อกัน รู้จักแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ มีความโอบอ้อมอารี...

แม้แต่ภาษาที่ใช้สืบต่อกันมายังคงสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยในด้านนี้

จะเรียกกันทักทายกันก็ใช้สรรพนาม...พี่ น้อง ปู่ ย่า น้า อา...ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นญาติกันสักหน่อย

เพราะถือกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า เกิดมาบนผืนแผ่นดินเดียวกัน ก็เป็นพี่น้องเป็นญาติเป็นโยมกันโดยปริยาย

ก็เลยเรียกกันเป็นพี่เป็นน้องเป็นน้าเป็นอาเป็นป้าเป็นลุง...ได้อย่างไม่กระดากปาก

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้สรรพนามที่เรียกกันนั้นคงเหลือแค่คำพูด หรือไม่ก็เลิกใช้กันไป แล้วหันมาใช้สรรพนาม “ไอ” “ยู” ถ้ากระเดียดไปทางยุโรป หรือไม่ก็ “อั๊ว” “ลื้อ” หากชอบเทียวไปเทียวมาแถวสำเพ็งบ่อยๆ

หนักเข้าก็เปลี่ยน “พี่” เป็น “เพ่” ให้เสียวสันหลังเล่นก็มี

วิถีหญิงสาวในวัฒนธรรมไทยเคยดูนิ่มนวล จริตจะกร้านมีก็เพียงพองาม รักนวลสงวนตัวจนน่าทะนุถนอม จะนั่งยืนจะเดินจะเหิรดูไหลลื่นอ่อนช้อยงดงามไปทุกอิริยาบท...

ผิดกับที่เป็นกันทุกวันนี้ ถ้าไม่กะเปิ๊บกะป่าบก็ยังไม่ถือว่าได้ระดับ

ก่อนนี้หญิงมักหลบสายตายามมีชายจ้องมอง แต่เดี๋ยวนี้ชายกลับต้องหลบสายตายามต้องเดินสวนทางกับวัยรุ่นสาวเรียงหน้ากันมาเต็มทางเดินส่งเสียงเอ็ตโรอย่างไม่เกรงใจใคร...


จะส่งเสริมอะไรกันที ก็น่าจะส่งเสริมกันให้จริงถึงแก่น

เพียงแค่ทำแบบผักชีโรยหน้า มันดูน่าขันมากกว่าน่าเชื่อถือ.