Way of Spirit|5 page 2

ชีวิตจิตซาเลเซียน



พระเจ้าทรงเจิมเรา

ด้วยพระพรแห่งพระจิตของพระองค์1


พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีพระฉายาของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่ามนุษย์เป็นลูกของพระบิดาเจ้าสวรรค์

หากมองเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี มนุษย์ก็ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดในจักรวาล...มนุษย์เป็นใครหนอ พระเจ้าจึงสร้างเขามาให้ด้อยกว่าพระองค์หน่อยเดียว (เทียบ สดด 8,4...)


หากมองเป็นเรื่องความภาคภูมิใจ มนุษย์ไม่มีวันพูดได้ต้อยต่ำ ไม่ว่าจะมองตนหรือมองผู้อื่น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด สังคมระดับไหน


หากมองเป็นเรื่องของพันธะ มนุษย์ต้องทำตัวให้สมกับความยิ่งใหญ่นี้ จะทำอะไร จะคิดอะไร จะประพฤติตนอย่างไร ก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีนี้


เพราะการเป็นพระฉายาและบุตรของพระเจ้านี้เอง เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราเป็นคนดี พระองค์ทรงกำชับให้เราเป็นคนดีครบครันเหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์ (เทียบ มธ 5,48)


การเป็นพระฉายาและการเป็นบุตรของพระเจ้าไม่ใช่เป็นตำแหน่งหรือเป็นฐานะ หากแต่เป็นกระบวนการพลวัตรที่ต้องเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นกระบวนการพลวัตรของชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ต้องเพียรพยายามทำให้เป็นความจริงขึ้นมาทุกวี่ทุกวัน


กระนั้นก็ดี ในกระบวนการพลวัตรแห่งการเป็นพระฉายาและบุตรของพระเจ้านี้ ไม่มีใครสามารถกระทำตามลำพัง หากแต่ต้องมีความช่วยเหลือจากพระเจ้าผ่านทางพระจิตของพระองค์ พระจิตผู้ทรงประทับอยู่เมื่อสร้างโลก พระองค์ก็จะทรงอยู่ “กับ” และ “ใน” กระบวนการแห่งการสร้างพระฉายาและบุตรของพระเจ้า ดังที่พระองค์ทรงอยู่ “กับ” และ “ใน” การรับเอากายเป็นมนุษย์ การเทศนาสั่งสอน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า การอ่อนน้อมต่อการกระทำและการชี้นำของพระจิตเจ้าจึงเป็นเงื่อนไขและวิธีการเพื่อการเติบโตและพัฒนาการเป็นพระฉายาและบุตรของพระเจ้า


ในเส้นทางแห่งการติดตามพระคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิด ผู้รับเจิมได้รับเรียกให้พัฒนาความเป็นฉายาและบุตรของพระเจ้าด้วยการยึดคำแนะของพระวรสารมาเป็นแนวทางชีวิต การปฏิญาณจึงเป็นการประกาศอย่างทางการถึงการที่จะถือคำแนะนำของพระวรสารเป็นที่ตั้งเพื่อบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ครบครันคริสตชน กล่าวคือ ความเต็มเปี่ยมแห่งความรัก ในเวลาเดียวกัน ผู้รับเจิมยังรับบทบาทของการเป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นฉายาและบุตรของพระเจ้าให้แก่ทุกคน พร้อมกับเชื้อเชิญให้ทุกคนได้ทำให้ความเป็นฉายาและบุตรของพระเจ้าเติบโตและพัฒนาขึ้นในชีวิตของตนด้วย


คุณพ่อ Juan Vecchi ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการพลวัตรนี้ในแนวทางแห่งชีวิตจิตซาเลเซียน



การเจิมคือฐานของชีวิตจิตซาเลเซียน


พระจิตทางนำประวัติศาสตร์มนุษย์ไปสู่ความเต็มเปี่ยมและการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า พระจิตทรงกระทำผ่านทางมโนธรรมของมนุษย์แต่ละคน พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสว่า “พระจิตทรงเข้ามาในประวัติศาสตร์ผ่านทางดวงใจของมนุษย์อย่างไม่หยุดหย่อน” 2 ทว่า พระจิตทรงกระทำเช่นนี้ผ่านทางบุคคลและหมู่คณะที่สำนึกถึงการประทับอยู่ของพระองค์ ถือตามคำแนะนำของพระองค์ และคล้อยตามการดลใจของพระองค์


ในพระคัมภีร์ เราจะเห็นตัวอย่างของอับราฮัม ทุกอย่างเริ่มจากการที่ท่านสำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้นของพระเจ้าและทำให้ความเชื่อกลายเป็นมรดกส่งทอดไปในประชากรที่ได้รับการเลือกสรร


นอกนั้นก็จะเห็นเป็นตัวอย่างได้ในบรรดาประกาศก ท่าทีและคำพูดของพวกเขาก่อให้เกิดความหวัง ความสว่างและสิ่งค้ำจุนสำหรับทุกคน


ในปัจจุบัน เราจะเห็นแบบอย่างของการกระทำของพระจิตเจ้าในบุคคลและหมู่คณะ อาทิ พระศาสนจักร นักบุญ และผู้ได้รับพระพรพิเศษของพระจิตเจ้า นักคิดด้านศาสนา นายชุมพาบาล เป็นต้น พวกเขาเหล่านี้เป็นศูนย์รวมและการแผ่ขยายของพลังของพระจิตเจ้า


ในบุคคลเหล่านี้ก็มีเรารวมอยู่ด้วย กล่าวคือ คริสตชน นักบวช และสงฆ์ เราร่วมเป็นหนึ่งกับพระเยซูเจ้าผ่านทางศีลล้างบาปและเราได้เลือกที่จะติดตามพระองค์ด้วยการปฏิญาณที่จะถือคำแนะนำของพระวรสาร ชีวิตของเราจึงดำเนินไปภายใต้การกระทำของพระจิตซึ่งพระเยซูเจ้าประทานให้แก่ศิษย์ของพระองค์ ที่สำคัญคือ เราต้องสำนึกในเรื่องนี้และอย่าให้ความสำนึกนี้ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา


แง่หนึ่งที่น่าประทับใจของชึวิตของคุณพ่อบอสโกคือ คุณพ่อมีความสำนึกอยู่เสมอว่าคุณพ่อได้รับเลือกจากพระเจ้าเพื่อสานต่อภารกิจของพระองค์ซึ่งปรากฏอยู่ในเนื้อหาของความฝันแรกที่มีการบันทึกไว้ในหนังสือ “บันทึกศูนย์เยาวชน” ความสำนึกอันเดียวกันนี้ยังปรากฏเด่นชัดในช่วงบทนำของประวัติศาสตร์ของคณะด้วย


คุณพ่อ Pietro Stella เขียนไว้ว่า “ชีวิตของคุณพ่อบอสโกดำเนินไปในความเชื่อมั่นว่าชีวิตของตนได้รับแรงกดดันอย่างเป็นพิเศษ และไม่เหมือนใคร เป็นความเชื่อมั่นที่ฝังรากลึกอยู่จิตวิญญาณของคุณพ่อและทำให้คุณพ่อกล้าทุกอย่าง ในเวลาเดียวกัน ความเชื่อมั่นนี้ก็แสดงออกมาในท่าทีและพฤติกรรมของคุณพ่อ ความเชื่อว่าคุณพ่อเป็นเครื่องมือของพระเจ้าในพันธกิจพิเศษและไม่เหมือนใคร เป็นความเชื่อมั่นที่ลึกซึ้งและเหนี่ยวแน่น... สิ่งนี้ก่อให้เกิดท่าทีแห่งการเป็นข้ารับใช้ของพระเจ้าในรูปแบบที่มีกล่าวถึงในพระคัมภีร์และเป็นประกาศกที่พร้อมจะทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าในทุกอย่าง”3


ดังนั้น คุณพ่อบอสโกจึงถือว่าการทำงานเพื่อเยาวชนที่ยากจนกว่าหมด ไม่ใช่เป็นการกระทำไปตามแนวโน้มหรือตามความอ่อนไหวด้านสังคม แต่เป็นการทำให้พันธกิจที่ได้รับจากพระเจ้าได้สำเร็จไป


ความสำนึกนี้เป็นฐานของการพัฒนาชีวิตจิตซาเลเซียน



การเจิมของเรา


สมณลิขิต “Vita Consecrata” เน้นเป็นพิเศษว่านักบวชคือผู้ได้รับการเจิม มีสองข้อที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน “ในพระจิตเจ้า กล่าวคือ ได้รับการเจิมโดยพระจิตเจ้า”4 เมื่อมีการกล่าวถึงพระบิดาก็มีการเน้นว่า “พระบิดาทรงริเริ่ม”5 และกล่าวถึงพระบุตรก็มีการชี้ให้เห็นถึงการติดตามพระองค์ “ตามพระยุคลบาทของพระคริสต์”6 ในเรื่องนี้ เอกสารยืนยันต่อไปว่า ทุกอย่างเป็นไปได้ก็เพราะพระจิตเจ้าทรงดลใจเราให้ “รับเจิมเหมือนพระคริสตเจ้าเพื่อพระอาณาจักรพระเจ้า”7 นี่ก็เป็นอีกหัวเรื่องหนึ่งซึ่งมีการพูดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการรับเจิม


ในเอกสารเดียวกันนี้ ในข้อที่ 32 มีการพูดเกี่ยวกับ “คุณค่าพิเศษสุดแห่งชีวิตรับเจิม”


หลายคนอาจจะไม่ชอบการเน้นดังกล่าว เพราะเกรงว่าอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของนักบวชย้อนกลับไปในรูปแบบสมัยก่อน กล่าวคือ นักบวชเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรม ในอันที่จริงแล้ว ในทัศนะของคนทุกวันนี้ นักบวชคือพลเมืองเฉกเช่นทุกคน แต่ได้เลือกพระเจ้าเป็นใหญ่ในชีวิต


การเลือกนี้อยู่ในบริบทของการเลือกต่างๆของแต่ละบุคคลและแสดงการเลือกนี้ออกมาในหมู่คณะ


นอกนั้น อาจจะมีการคิดกันว่า นักบวชอยู่ในฐานะเหนือกว่าคริสตชนทั่วไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักบวชก็คือคริสตชนที่ได้เลือกติดตามพระคริสตเจ้าอย่างใกล้ชิดและยึดคำแนะนำของพระวรสารเป็นแนวทางชีวิตเพื่อจะได้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์เดียวกัน กล่าวคือ ความเต็มเปี่ยมแห่งความรัก


เอกสาร “Vita Consecrata” จึงยืนยันว่า การรับเจิมเป็นลักษณะจำเพาะของนักบวชและทำให้นักบวชแตกต่างจากผู้อื่น ดังที่มีกล่าวในพระวินัยของคณะซาเลเซียนว่า “พระบิดาเจ้าทรงเจิมเราด้วยพระพรแห่งพระจิตของพระองค์และทรงส่งเราให้มาเป็นสาวกสำหรับเยาวชน” (3) ในทำนองเดียวกัน พระวินัยของคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์กล่าวว่า “พระบิดาเจ้าทรงเรียกเราให้ดำเนินชีวิตศีลล้างบาปที่เต็มเปี่ยมและทรงเจิมเราด้วยพระพรแห่งพระจิตเจ้า” (. 5)


ในพระวรสารของนักบุญลูกาก็มีกล่าวถึงพระเยซูเจ้าในทำนองเดียวกัน “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า...ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4,18)


ความสำนึกนี้ควรจะติดตรึงอยู่ในจิตใจเรา กระทั่งเกิดความรู้สึกว่า พระเจ้าทรงรักเราเป็นพิเศษ ความสำนึกนี้จึงเป็นฐานแห่งโครงการทั้งหมดของชีวิตเรา หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง ความสำนึกนี้คือกระแสเรียก พันธสัญญากับพระเจ้า การมอบถวายตนทั้งครบ ความรักพิเศษ การเลือกอย่างถึงรากถึงโคน... ทุกอย่างเหล่านี้ชี้บอกสิ่งเดียวกัน กล่าวคือ ความสัมพันธ์พิเศษสุดกับพระเจ้าซึ่งครอบคลุมประสบการณ์ส่วนตัวและงานด้านการอบรมของเรา


สิ่งที่น่าสังเกตคือ กริยาที่ใช้เป็นกริยากรรมวาจก แทนที่จะพูดว่า “เราถวายตัวเรา” เราใช้คำว่า “เราได้รับการเจิม” และไม่ได้รับการเจิมจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือโดยทางพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หากแต่เป็นการ “ได้รับเจิม” โดยพระจิตเจ้า... “พระเจ้าทรงเจิมเราด้วยพระพรแห่งพระจิตเจ้า”


การเจิมจึงไม่ได้มาจากความพยายามของเราที่จะไปให้ถึงฤทธิ์กุศลขั้นใดขั้นหนึ่ง หรือไปให้ถึงพระเจ้า หรือเป็นของพระองค์ทั้งครบ แต่เป็นพระพร เป็นการที่พระเจ้าทรงมาหาเรา เป็นการแทรกแซงของพระหรรษทานในชีวิตของเรา ดังที่จะเห็นได้จากกระแสเรียกของบรรดาประกาศก ซึ่งหลายกรณีพวกเขารู้ว่าตนไม่พร้อม หรือไม่อยากจะตอบรับ ทั้งนี้และทั้งนั้น บรรดาประกาศกไม่ได้ไปหาพระเจ้า แต่เป็นพระเจ้าทรงมาพบพวกเขาและครอบงำพวกเขาเพื่อให้แผนการของพระองค์สำเร็จตามพระประสงค์ ประกาศกอาโมสได้ยินเสียงเรียกของพระเจ้าตอนกำลังตามหาแกะอยู่ (อมส 1,1)


เมื่อหลายปีมาแล้ว สมณกระทรวงว่าด้วยความเชื่อได้ออกเอกสารว่าด้วย “บางแง่ของการรำพึงคริสตชน” (15 ตุลาคม 1989) เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเอกสารฉบับนี้คือการนิยมฝึกและทำการรำพึงแบบตะวันออก ในเอกสารมีการพูดถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตจิตตามธรรมชาติและชีวิตจิตคริสตชน กล่าวคือ ชีวิตจิตตามธรรมชาติได้มาจากความพยายามส่วนตัวผ่านทางความเพียรพยายามเสาะหาด้านสติปัญญาและการควบคุมสัญชาตญาณเพื่อจะได้บรรลุถึงการรู้แจ้ง ส่วนชีวิตคริสตชนถือว่าเป็นพระพรของพระจิต ซึ่งต้องมีการเปิดจิตใจ รับฟัง ตอบสนอง ยอมให้พระเจ้าครอบครอง และต้อนรับพระองค์ จึงเป็นพระหรรษทานของพระเจ้าและเราไม่ได้เป็นฝ่ายริเริ่มหรือมีความสามารถที่จะทำได้เอง


ดังนั้น ชีวิตจิตแนวตะวันออกจึงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไว้ใจในความสามารถของตนและมีความพึงพอใจในการบรรลุถึง ส่วนในชีวิตจิตคริสตชนนั้นมีเส้นทางหลักคือความรัก เป็นความรู้สึกว่าได้รับความรักพิเศษจากพระเจ้า แล้วก็ตอบรับความรักของพระเจ้าด้วยความรักต่อพระองค์และเพื่อนพี่น้อง ชีวิตคริสตชนจึงมีพื้นฐานอยู่ในความสัมพันธ์ ซึ่งนอกจากจะก่อเกิดความสำนึกในคุณค่าแห่งตนแล้ว ยังก่อให้เกิดความกตัญญูรู้คุณด้วย คริสตชนคือผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณ “เราโมทนาคุณพระองค์สำหรับพระสิริมงคลยิ่งใหญ่ของพระองค์”


การเจิมถวายตัวจึงไม่ใช่องค์ประกอบ “อันหนึ่ง” ของชีวิตซาเลเซียน แต่รวมถึงความเป็นอยู่ “ทั้งหมด” ไม่ใช่ศีลบนสามประการเท่านั้น แต่เป็น “ความเป็นอยู่” ทั้งครบและการกระทำทุกอย่าง ทั้งชีวิต ที่บ่งบอกถึงการได้เลือกพระเจ้าโดยเด็ดขาด (เทียบ ว. 3)


นี่คือความแตกต่างระหว่างพยาบาลที่ดี น่ารัก และขยันขันแข็ง กับ ซิสเตอร์ที่เป็นพยาบาล ซึ่งไม่อยู่ที่คุณภาพของการรับใช้หรือวิธีการแสดงความเมตตาอารี เพราะมีพยาบาลหลายคนอาจจะทำได้มาก ทว่า คุณภาพของซิสเตอร์พยาบาลอยู่ในคุณค่าบางอย่างแห่งการเป็นซิสเตอร์ ซึ่งจะต้องหาทางแสดงออกในความรักและการรับใช้


การเจิมและความสำนึกในการได้รับเจิมจึงเป็นฐานและลักษณะจำเพาะของชีวิตนักบวช เป็นชีวิตที่รู้สึกถึงแรงดึงดูดใจจากพระเจ้าและอยากจะมุ่งไปหาพระองค์ผู้เดียว ทั้งในการภาวนา ในความเงียบ ในความสันโดษ และในการรับใช้พระองค์ในเพื่อนพี่น้องด้วยความรัก


สิ่งนี้เท่านั้นที่จะก่อให้เกิดเอกลักษณ์ของชีวิตนักบวชในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่งานด้านการอบรมศึกษาหรืองานด้านสังคม ไม่ใช่งานด้านอาสาสมัครไปยังประเทศยากจน ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชีวิตนักบวชคือการสำนึกถึงเป็นใหญ่ของพระเจ้าในการกำหนดทิศทางและการบริหารความเป็นอยู่ทั้งครบของตน ทุกวันนี้ ชีวิตนักบวชต้องโปร่งใสและสะท้อนให้เห็นถึงความจริงนี้


เราจึงเห็นได้ว่า กระแสเรียกที่มีแรงจูงใจที่จะทำงานเพื่อเยาวชนหรือทำงานด้านธรรมทูตอย่างเดียวนั้นเปราะบาง เพราะแรงจูงใจเหล่านี้อาจจะหมดหายไปได้สักวันหนึ่งหากไม่มีรากฐานที่แน่นและเด็ดขาดมากกว่านี้

การเจิมเป็นพระพรของพระเจ้าและประสบการณ์ของบุคคล


ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงการรับเจิมก็มักจะคิดถึงประสบการณ์ภายในใจและส่วนตัวมากกว่าองค์ประกอบภายนอก เชิงสังคม สถาบัน พิธีกรรม... ซึ่งทำให้บุคคลที่ได้รับเจิมมีสถานภาพพิเศษในสังคมหรือในหมู่คณะคริสตชน


เมื่อเราพูดถึงการรับเจิม เราคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราในสามประเด็น


ประเด็นที่หนึ่ง การเจิมเป็นพระหรรษทานของพระ เป็นพระพร เป็นการดลใจ เป็นการเรียก เป็นการริเริ่มและเป็นการเข้าหาของพระเจ้า พระเจ้าทรงทำให้เราสัมผัสพระองค์ได้ในชีวิตของเราจนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าตัวเราถูกครอบครองจากพระเจ้าและพระองค์ทรงเป็น “แรงบันดาลใจ” หลักของเรา พระองค์คือผู้ที่เรารับฟังด้วยความตั้งอกตั้งใจและด้วยความชื่นชอบกว่าใครหมด ความดึงดูดใจหรือการตกหลุมรักพระเจ้านี้เป็นประสบการณ์ซึ่งเราสามารถทำให้มีชีวิตชีวาในตัวเราได้ตลอด


เรายังจำได้ดีว่าเราได้ตัดสินใจที่จะเลือกพระองค์เป็นอันดับแรกในชีวิตของเราตั้งแต่เมื่อไรและอย่างไร เฉกเช่นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวยังคงจำได้ดีถึงการพบกันและรู้สึกมีความประทับใจต่อกันและกัน สำหรับบางคน การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงแห่งประสบการณ์เข้มข้นฝ่ายจิต อาทิ ในช่วงการเข้าเงียบ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากความประทับใจในบรรยากาศหรือในบุคคลในแวดวงนักบวชที่แสดงออกซึ่งคุณค่าพิเศษบางอย่าง แล้วนั้น ก็ค่อยไปถึงแหล่งที่มาแห่งคุณค่านั้นๆ ต่อมาก็เป็นการร่วมส่วนในประสบการณ์กับบุคคลที่เราประทับใจ ผ่านทางมิตรภาพ การร่วมงาน และความไว้เนื้อเชื่อใจ ในที่สุด เรามีความรู้สึกว่าถูก “จับ” จากพระเจ้า ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าโดนพิชิตจากพระเยซูเจ้า” (ฟล 3,12)


การเจิมจึงเป็นประสบการณ์เชิงพระคัมภีร์แห่งการเป็นของพระเจ้าและไม่สามารถจะพรากจากพระองค์ได้ “พระเจ้าข้า พระองค์หว่านล้อมและทรงชักนำข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็ยอมให้ถูกชักนำ...ดวงใจข้าพระองค์เหมือนไฟไหม้ อัดอยู่ในกระดูกของข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็อ่อนเปลี้ยที่ต้องอัดมันไว้ และข้าพระองค์ก็อัดไว้ไม่ไหว...” (ยรม 20,7-9)


ในส่วนลึกของตัวเรา เรามีความตระหนักว่าได้รับความสนใจและความรักของพระเจ้า ไม่ใช่แบบทั่วไป หรือแบบมวลชน แต่เป็นการส่วนตัวโดยเฉพาะ “พระองค์ได้ทรงเรียกข้าพเจ้าด้วยชื่อ” (อสย 41,8) “เรารักเจ้าด้วยความรักนิรันดร” (ยรม 31,3)


พระเจ้าทรงเลือกสรรเราไว้ก่อนสร้างโลก ให้เราเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์” (อฟ 1,19) คำพูดทำนองนี้มีให้เห็นทั่วไปในพระคัมภีร์ เป็นคำพูดที่บรรยายถึงท่าทีของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเรา พระเจ้าทรงเข้ามาในชีวิตเรา ทรงทำให้เกิดเนื้อที่ว่างในดวงใจของเรา ทำให้เราพูดได้ว่า “ฉันตระหนักว่านี่คือชีวิตของฉัน”


ในเวลาเดียวกันเราเห็นได้ชัดว่าการเจิมเป็นพระหรรษทานอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่สมจะได้รับหรือเสาะหามาได้ แต่เป็นพระหรรษทานที่มาถึงเราและเข้ามาในชีวิตของเรา บางครั้งเราจะพบเห็นได้ในนักบวชหนุ่ม-สาวที่แบ่งปันประสบการณ์ให้เพื่อนๆถึงการที่ทำไมตนจึงได้ตัดสินใจเลือกดำเนินชีวิตนักบวช


ในปี 1993 คณะซิสเตอร์คลาริสฉลองครบรอบปีที่ 900 ของคณะ รายการโทรทัศน์ได้สัมภาษณ์ซิสเตอร์บางคน ผู้สัมภาษณ์ถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้ซิสเตอร์ตัดสินใจที่เข้ามาบวชในคณะ คำตอบมีหลากหลาย รวมทั้งเหตุการณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจของแต่ละคน แต่ซิสเตอร์แต่ละคนยืนยันประเด็นเดียวกัน กล่าวคือ หลังจากที่ได้มีประสบการณ์ตัวต่อตัวกับพระคริสตเจ้าและพระบิดาในชีวิตของตนแล้ว พวกเขาต่างนำมาไตร่ตรอง แล้วก็ตัดสินใจที่จะเลือกพระบิดาเจ้าและพระคริสตเจ้าให้เป็น “ความรัก” เดียวแห่งชีวิตความเป็นอยู่ทั้งครบ เลือกพระองค์เหนือสิ่งอื่นใด เหนือความสัมพันธ์กับมนุษย์คนใด


ประสบการณ์แห่งการรับเจิมไม่ลดน้อยถอยลงพร้อมกับอายุหรือกลายเป็นนิสัย แต่เจริญเติบโตในวุฒิภาวะและแผ่ซ่านไปทั้งชีวิต หากการรับเจิมเหลือแค่ความทรงจำ แรงบันดาลใจนักบวชก็จะหมดสิ้นลงและการเป็นนักบวชก็เหลือแค่บทบาทอย่างเดียว กล่าว ทำตามหน้าที่เท่านั้น


เมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น เราก็จะเป็นเหมือนคู่บ่าว-สาวที่เริ่มเบื่อ หมดพลัง อยู่กันวันๆอย่างสันติ แต่ไม่มีความรักให้กันและกันอีกต่อไปแล้วและชีวิตคู่ก็หมดรสชาติไปโดยปริยาย


การรับเจิมจึงไม่ใช่อยู่ที่กฎเกณฑ์เป็นหลัก หรืออยู่ในสิ่งที่ปรากฏภายนอก ในสถานภาพด้านสังคม หรือในการแยกตัวออกจากโลก แต่เหนืออื่นใด การรับเจิมเป็นการที่พระเจ้าทรงเข้ามามีบทบาทในชีวิตความเป็นอยู่ของเราและทรงอยู่ในอันดับแรกของชีวิตเรา พระองค์ประทับอยู่และทรงทำทุกอย่างร่วมกับเรา เหตุการณ์นี้ไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะนักบวชหรือคริสตชนอย่างเดียว แต่กับบุคคลใดก็ตามที่มีพระเจ้าทรงเข้ามามีบทบาท สรรค์สร้าง และเจิมด้วยความรักของพระองค์ อีกทั้งทรงโปรดให้มีศักดิ์ศรีที่ไม่มีใครสามารถย่ำยีได้ การเจิมอันแรกคือการที่มนุษย์เกิดมา เพราะเป็นกิจการแรกแห่งความรักของพระเจ้าซึ่งทำให้มนุษย์แต่ละคนมีศักดิ์ศรีและสูงส่งกว่าสิ่งใด


โดยทางความเชื่อและศีลล้างบาป ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าผ่านทางศาสนบริการของพระศาสนจักร การที่เราเป็นของพระเจ้ากลับเป็นความสำนึกและกลายเป็นหลักการสำหรับการพัฒนาส่วนตัวของเรา เราคงได้อธิบายให้เยาวชนฟังบ่อยครั้งว่า การเจิมของศีลล้างบาปทำให้เรากลับกลายเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นสมาชิกแห่งประชากรพระเจ้าและเป็นพระวิหารทรงชีวิตของพระจิตเจ้า


สำหรับนักบวช การเจิมของศีลล้างบาปเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาไปสู่เป็นความจริงในที่สุด การริเริ่มของพระเจ้ามาถึงนักบวชในตอนที่เขาวางโครงการสำหรับชีวิต นั่นคือ โดยทางพระพรของพระจิตเจ้า เขาเลือกเส้นทางชีวิตแห่งการรับเจิมแบบถึงรากถึงโคนและโดยเฉพาะเพื่อพระเจ้าเท่านั้น รูปแบบชีวิตแห่งการรับเจิมนี้อาจจะไม่ทำในรูปแบบแห่งการปฏิญาณและพระศาสนจักรอาจจะไม่ได้กำหนดให้ทำพันธกิจและร่วมเป็นหมู่คณะ แต่ก็ยังเป็นการรับเจิมได้เหมือนกัน ซึ่งแรงผูกมัดและความหมายของการรับเจิมแบบนี้จะน้อยกว่าเป็นธรรมดา การเข้าสังกัดคณะนักบวชซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างเป็นทางการถึงการเข้าร่วมในโครงการชีวิต จึงเป็นสิ่งที่น่าจะเลือกทำมากกว่าและสมบูรณ์แบบมากกว่า อย่างไรก็ตาม การเจิมคือการที่พระเจ้าเข้าครอบครองชีวิตมนุษย์ ความนึกคิด ดวงใจ ฯลฯ ก่อนอื่นหมด จึงไม่ใช่การบ่งบอกว่าเราเป็นคนศักดิ์สิทธิ์พิเศษไปกว่าคนอื่นในสังคม


การเลือกและโครงการชีวิต


จากประเด็นที่หนึ่ง การที่พระเจ้าทรงเป็นผู้กระทำ เรามาถึงประเด็นที่สอง กล่าวคือ การที่เราเลือกรูปแบบชีวิต เมื่อเราลุถึงความตระหนักใจและความสำนึกว่าเราเป็นของพระเจ้า การที่ “เรามีชีวิต เคลื่อนไหว และเป็นอยู่” (กจ 17,28) การที่พระเจ้าทรงมีความสำคัญอันดับแรกและหนึ่งเดียว ไม่ใช่แบบลอยๆ สำหรับโลกหรือมนุษยชาติ แต่สำหรับเราอย่างแท้จริง เราพบตนเองในพระองค์ เราเสาะหาพระองค์ “ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณ” (สดด 62,2) หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง เสาะหาพระองค์ตลอดไป


สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ซึ่งทำให้ชีวิตเราเต็มด้วยความหมายและสันติ ทั้งในแง่ของจิตวิทยาด้วย และทำให้เรามีอัตลักษณ์ในโลก ผู้รับเจิมคือคนที่ยอมให้พระเจ้าและคุณค่าศาสนา (ความเชื่อ) เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตและความเป็นอยู่ทั้งครบ “พระเจ้าทรงเป็นส่วนแห่งมรดกของข้าพเจ้า” (สดด 16,15) บุคคลที่รับเจิมจึงมอบตนเองทั้งครบหรือถูกเจิมตามความหมายแห่งคำ ความพยายามทั้งครบของเขาจึงอยู่ในการบรรลุถึงความปรารถนาหนึ่งเดียวเท่านั้น คือการดำเนินชีวิตในความรักของพระเจ้าหรือในพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้า ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาวันหยุดสัปดาห์หรือของชีวิตประจำวัน เช่นว่าในเวลาร่วมมิสซาหรือในช่วงเวลาสวดภาวนาเท่านั้น แต่เป็นสถานภาพและเป็นความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นฐานของการเลือกอื่นๆทุกอย่าง


หลายคนไม่เข้าใจเหตุผลหรือความหมายของการเลือกนี้ แต่ก็อยากจะเห็นความสอดคล้องในทางปฏิบัติ พวกเขาชื่นชมคนที่สามารถแสดงออกถึงการเลือกนี้ในชีวิตและในกิจการ ในทางตรงข้าม คนจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ทำการเลือกนี้แล้วแต่กลับให้ความสำคัญแก่คุณค่าอื่นๆที่ไม่สอดคล้องหรือแปลกแยกกับการเลือกดังกล่าว


เรารับเอาโครงการที่เป็นรูปธรรม รูปแบบของการดำเนินชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงพระเจ้า เราเข้าสังกัดหมู่คณะซึ่งรับรู้ถึงการเลือกดังกล่าวและเอื้อให้สมาชิกแต่ละคนพัฒนาไปสู่ความเต็มเปี่ยม รูปแบบชีวิตที่รับเจิมนี้ไม่อยู่ที่การแยกตัวออกจากโลก หรืออยู่ที่เครื่องหมายหรือการปฏิบัติภายนอก (สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายภายนอกของความเชื่อคริสตชน) แต่เป็นรูปแบบชีวิตที่มีการกำหนดและจัดขึ้นสำหรับความสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับพระอาณาจักรของพระองค์


รูปแบบชีวิตแห่งการรับเจิมจึงเน้นการจำลองแบบพระคริสต์และแสดงออกมาในการถือศีลบน นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องอีกสองอย่าง อย่างแรกคือความสนิทชิดเชื้อกับคริสตเจ้า การเลือกทำตามภารกิจและท่าทีของพระองค์จึงยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีความสัมพันธ์กับพระองค์ด้วย พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุคคลที่ทรงชีวิตซึ่งเราต้องพบปะและดำเนินชีวิตในพระองค์ จึงต้องมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างพระเยซูเจ้าและผู้รับเจิม ดังที่เห็นได้จากชีวิตศิษย์ของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงมีผู้ฟัง ผู้ชื่นชม ผู้ติดตาม และศิษย์มากมาย แต่มีบางคนที่สนิทและเป็นเพื่อน... “พวกท่านเป็นเพื่อนของเรา” (ยน 15,14)


ทุกวันนี้ที่องค์ประกอบเชิงสถาบันดูจะเปราะบางและการร่วมชะตากรรมดูจะเป็นสิ่งไม่จีรัง รูปแบบชีวิตแห่งความสัตย์ซื่อและความรักแบบพระวรสารสามารถชี้บอกได้หลายอย่าง


สิ่งที่สำคัญคือ นอกจากจะแสดงความรักแล้ว ควรจะเน้นการแสดงออกของความรักในเชิงมิตรภาพกับพระคริสตเจ้า กระนั้นก็ดี พึงหลีกเลี่ยงสองอย่างที่สุดโต่ง นั่นคือ อย่างหนึ่งคือการทำให้ความรักเป็นแค่ความรู้สึกผิวเผิน หรือเป็นความรู้สึกในทางประสาทสัมผัส อีกอย่างหนึ่งคือ การทำให้ดวงใจเราเหี่ยวแห้งด้วยการเน้นแง่สติปัญญาเพียงอย่างเดียว หลายครั้งน้ำใจของเราในการรักพระเจ้าชะงักงันก็เพราะความรู้สึกแบบมนุษย์ของเราเฉาไป ตราบใดที่ความเชื่อหรือความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าไปไม่ถึงความรู้สึก มันก็จะตกขอบชีวิตเราไปและไม่มีพลัง มีนักบุญหลายองค์ที่แสดงความรักต่อพระเจ้าในรูปแบบที่นุ่มนวล อาทิ นักบุญฟังซิสแห่งอัสซีซี นักบุญฟรังซิส เดอร์ ซาลส์ เป็นต้น


นอกเหนือจากการเลียนแบบและความสนิทชิดเชื้อกับพระเจ้าแล้ว ยังมีการร่วมส่วนในพันธกิจของพระองค์ด้วย นั่นคือ การอุทิศตนเพื่อสานต่อในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำและได้ทรงรับรับทนทรมาน


สิ่งนี้เราแสดงออกด้วยการปฏิญาณ สูตรการปฏิญาณสมัยก่อนสั้นและตรงประเด็น ส่วนสูตรการปฏิญาณสมัยนี้ค่อนข้างจะยืดยาวและไปในเชิงวิเคราะห์ กระนั้นก็ดี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือวัตถุของการเจิมไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่กิจกรรม ไม่ใช่ข้อผูกมัดทางศีลธรรม แต่เป็นบุคคล เหตุผลของการเจิมคือความปรารถนาที่ตอบรับความรักของพระเจ้า ดังนั้น ข้อเรียกร้องของการเจิมคือความเด็ดขาด การผูกขาด ตลอดไป หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง ต้องทั้งหมด หนึ่งเดียวและเสมอไป ก่อนนี้มีการเน้น “จนกระทั่งความตาย” ซึ่งไม่หมายถึงกาลเวลา แต่หมายถึงความเข้มข้น กระทั่งกลายเป็นพลี


การปฏิญาณมีความสำคัญยิ่งยวดในการจัดโครงการและการพัฒนาของชีวิตจิต จึงได้มีพิธีกรรมที่สง่างามซึ่งเน้นคุณค่าของการปฏิญาณ จำนวนคนที่ร่วมส่วนในพิธีปฏิญาณก็ช่วยเน้นมิติสังคมของการปฏิญาณด้วย ช่วงเวลาของการเตรียมกระชั้นชิดน่าจะเน้นลักษณะจำเพาะของการปฏิญาณ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นอกจากจะเป็นการรับรู้โดยทางการของหมู่คณะพระศาสนจักรเกี่ยวกับการที่พระเจ้าทรงครอบครองชีวิตผู้รับเจิมแล้ว ยังเป็นการตอบรับการเชื้อเชิญของพระเจ้าด้วยความรักและด้วยชีวิตของผู้รับเจิมด้วย


การปฏิญาณจึงไม่เป็นแค่การกระทำที่ผ่านไปแล้วผ่านไปเลย หรือเป็นการลงทะเบียนสังกัดคณะ แต่เป็นการเริ้มต้นแห่งความสัมพันธ์ที่จะต้องต่อเนื่องไปเช่นเดียวกับชีวิตแต่งงาน ความสัมพันธ์นี้แสดงออกในพฤติกรรม ท่าที และคำพูด ไม่เป็นเพียงความตั้งใจที่จะบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่เป็นแหล่งที่มาของพระหรรษทาน ดังที่เกิดขึ้นในศีลสมรส


สิ่งสำคัญที่ตามมา


จากสิ่งที่พูดมา เรามีข้อสรุปบางอย่างสำหรับชีวิตเรา


ผู้รับเจิม

  • คือหญิงและชายในความหมายด้านศาสนา ซึ่งรวมตัวกันโดยมีพื้นฐานแห่งคุณค่ามนุษย์ อาทิ ความเคารพต่อผู้อื่น การทำงาน สุขภาพ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น พวกเขาดำเนินชีวิตโดยมีรูปแบบขององค์กรและฐานันดรอย่างเป็นระบบ แต่ละคนมีหลักยึดเหนี่ยวร่วมกันและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับหลักยึดเหนี่ยวนั้น


ผู้รับเจิมมุ่งไปที่คุณค่าด้านศาสนาและจากคุณค่าด้านศาสนานี้ต่อไปยังคุณค่าอื่นๆ โดยยึดคุณค่าด้านศาสนาเป็นมาตรฐานและเป็นเหตุผลของการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะงานด้านการศึกษา หรือการดูแลคนป่วย ผู้รับเจิมสามารถร่วมส่วนในกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ตราบใดที่เขาทำไปภายใต้การดลใจและแรงบันดาลใจของผู้ที่เลือกพระเจ้าเป็นอันดับแรกในชีวิต นี่คือความแตกต่างระหว่างผู้อบรมที่ดีและมีความเป็นอาชีพกับนักบวชผู้ให้การอบรม


เมื่อใดที่มิติอื่นมาเป็นใหญ่ในชีวิตของผู้รับเจิมและมิติด้านศาสนาตกขอบไป เมื่อนั้นก็ถือได้ว่าเป็นความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะที่อุทิศตนเพื่อการศึกษาอบรมหรือการรับใช้อื่นๆ อาจจะเกิดความไม่สมดุลระหว่างบทบาทเชิงอาชีพและบทบาทแห่งการเป็นประจักษ์พยานขึ้นได้ Tillard กล่าวว่า คุณค่าด้านศาสนามีความสำคัญสำหรับผู้รับเจิมเหมือนความสะอาดมีความสำคัญสำหรับแพทย์ ความไม่สะอาดพอจะมองข้ามได้สำหรับคนอื่นๆ แต่สำหรับแพทย์ผ่าตัดแล้วถือได้ว่าเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว


  • คือผู้เชี่ยวชาญในประสบการณ์เกี่ยวกับพระเจ้า ผู้รับเจิมไม่เพียงแต่จะเลือกเส้นทางแห่งชีวิตจิตสำหรับดำเนินชีวิตเท่านั้น แต่ยังเสนอรูปแบบชีวิตจิตนี้ให้แก่ทุกคนที่แสวงหาพระเจ้าในโลก สำหรับผู้ที่เป็นคริสตชน ผู้รับเจิมเป็นเพื่อนร่วมทางและร่วมประสบการณ์ด้านศาสนา สำหรับผู้ที่ไม่เป็นคริสตชน ผู้รับเจิมอยู่เคียงข้างในเส้นทางแห่งการเสาะหา ประสบการณ์ด้านศาสนาจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งกระแสเรียกผู้รับเจิม โครงการชีวิตของพวกเขาจึงมุ่งที่จะพัฒนาชีวิตจิตและทำให้ชีวิตจิตเป็นอันดับแรกทั้งในกาลเวลาและในกิจกรรมต่างๆ ในความเป็นจริงแล้ว คริสตชนทุกคนต้องและอยากมีประสบการณ์แห่งพระเจ้า แต่พวกเขาสามารถทำได้ก็แค่ในบางช่วงเวลาและตามสถานภาพของชีวิต พวกเขาจึงเสี่ยงที่ละเลยในเรื่องนี้ไปได้ง่ายๆ


ผู้รับเจิมจึงเป็นผู้เตือนความจำเกี่ยวกับพระเจ้าให้แก่คริสตชนและผู้ที่ไม่ใช่คริสตชน ในเวลาเดียวกันก็ให้การสนับสนุนผู้ที่ต้องการเสาะหา เข้าถึง และพบความสุขในการประทับอยู่ของพระเจ้า


ในชีวิตคนเรามีกฎอันหนึ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ นั่นคือ ไม่มีคุณค่าใดที่คงอยู่ไปตลอดในสังคมหากไม่มีกลุ่มบุคคลที่อุทิศตนทั้งครบเพื่อพัฒนาและค้ำจุนคุณค่านั้นๆไว้ หากไม่มีบุคคลที่อยู่ในฐานะแพทย์และทำงานโรงพยาบาล เรายากที่จะมีสุขภาพดีได้ เช่นเดียวกัน หากไร้ซึ่งศิลปินและสถาบันศิลปะ อารมณ์ศิลป์ในผู้คนก็จะดับหายไป ในทำนองเดียวกัน ความสำนึกในพระเจ้าจะคงอยู่ได้ หากมีนักบวช นักพรต ที่สามารถช่วยส่งเสริม โดยเริ่มจากคนใกล้ตัว ให้คนรู้มองชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้แสงสว่างแห่งพระเจ้าและมีประสบการณ์พระเจ้าในชีวิตแต่ละวัน


และนี่คือสิ่งที่เป็นข้อตั้งใจของผู้รับเจิมแต่ละคน เริ่มตั้งแต่ผู้ตั้งคณะที่ชี้ให้เห็นในความสำนึกถึงพระเจ้าในทุกกิจการที่ทำและในทุกแง่ของชีวิต เมื่อใดที่คนเห็นว่าผู้รับเจิมดำเนินชีวิตแบบเย็นเฉย เขาก็ตัดสินได้เลยว่าชีวิตผู้รับเจิมผู้นั้นเริ่มเสื่อมถอยแล้ว ตัวผู้รับเจิมเองก็จะรู้สึกถึงความว่างเปล่าไร้ความหมายเมื่อความสำนึกในพระเจ้าหมดลง เมื่อนั้นแหละ วิกฤตการก็จะเริ่มก่อหวอดและขยายไปอย่างรวดเร็ว


เอกสาร “Vita Consecrata” มองว่าชีวิตนักบวชเป็นพื้นที่พิเศษสำหรับการเสวนาเชิงศาสนสัมพันธ์8 เพราะที่จุดเริ่มต้นของการเสวนานั้น บุคคลที่เสวนามีความเลื่อมใสในศาสนาเหมือนกัน


พระวินัยของคณะซาเลเซียนข้อ 62 มีเขียนไว้ว่า “ในโลกที่ถูกจู่โจมจากลัทธิอเทวนิยมและการบูชาความสนุกสนานทางโลกีย์ ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนี้ เราจะต้องดำเนินชีวิตเป็นองค์พยาน โดยเฉพาะให้แก่เยาวชนว่ามีพระเจ้าอยู่จริง อีกทั้งความรักของพระองค์สามารถทำให้ชีวิตอิ่มเอิบได้”


แนวทางชีวิตแห่งการรับเจิมนี้บ่งบอกถึงประสบการณ์ที่เรามีกับพระเจ้า ทำให้เรามีความสำนึก ดำเนินชีวิตลึกซึ้ง และออกแรงพยายามบรรลุวุฒิภาวะตามวัย จึงเป็นการเชื้อเชิญเยาวชนให้มีประสบการณ์พระเจ้าเช่นเดียวกัน พวกเขามีความปรารถนาและมักรู้มักเห็นในประสบการณ์ฝ่ายจิตเช่นนี้ สิ่งนี้เห็นได้ในบ้านเข้าเงียบต่างๆ น่าเสียดายที่ว่า ในบ้านเข้าเงียบของเรา ซาเลเซียนมักให้ความสำคัญแก่การบริหารบ้านเข้าเงียบมากกว่าจะการชี้นำเยาวชนให้ค้นพบพระเจ้า รู้สึกว่าพระองค์ทรงอยู่ในชีวิตของพวกเขา


  • ยึดความศักดิ์สิทธิ์เป็นเป้าหมายหลักของชีวิต การดำเนินชีวิตจึงไม่อยู่แค่ปฏิบัติหลักศีลธรรม หรือความพยายามบำเพ็ญพรต แต่เป็นดังรูปแบบแห่งความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ซึ่งเต็มด้วยความโปร่งใส สะท้อนให้เห็นพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้าผู้ทรงปลดปล่อยและอยู่ใกล้ชิดมนุษย์


นักบุญคือผู้ที่ได้รับเรียกให้สะท้อนพระคริสตเจ้าในโลกปัจจุบัน นักบุญเวินเชนโซ เด เปาลี กล่าวว่า “พระคริสตเจ้าคงต้องน่ารักมาก ขนาดพระสังฆราชฟรังซิส เดอร์ ซาลส์ยังน่ารักถึงขนาดนี้”


พระวินัยซาเลเซียนชี้ให้เห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์เป็นของขวัญล้ำค่าที่สุดที่เราสามารถมอบให้แก่เยาวชน พวกเขารู้สึกลำบากในการสร้างความเป็นคนขึ้นมาในตน เพราะรอบตัวพวกเขามีสารและข้อเสนอแนะต่างๆนานาจนยากที่จะวินิจฉัยและเลือกได้อย่างถูกต้อง


เราสามารถพูดได้อีกว่า ความศักดิ์สิทธิ์คืออภินันทนาการที่ผู้รับเจิมมอบให้แก่วัฒนธรรมและการส่งเสริมศักดิ์ศรีมนุษย์ ในความเป็นจริงแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์มีคุณค่าสำหรับโลก ไม่เพียงในแง่กิจการแห่งความรักต่อคนยากจนเท่านั้น แต่ในแง่ของความหมายและศักดิ์ศรีแห่งการมีชีวิตเยี่ยงมนุษย์อีกด้วย


นักเขียน Congar กล่าวว่า “ความใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของสังคายนาวาติกันอยู่ในการที่ประกาศยืนยันว่า ถ้าพระศาสนจักรอยู่ในโลกและในโลกมีปัญหามากมาย ความศักดิ์สิทธิ์ก็คือปรากฏการณ์ที่วัฒนธรรมให้ความสนใจ ข้อยืนยันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงได้ แต่แก่นกลางของคำสอนของสังคายนาคือความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ ประวัติศาสตร์มนุษย์ก็เป็นดังสถานที่แห่งการแสดงออกของความรักของพระเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่การหนีหรือการปฏิเสธโลก เพราะยิ่งฉันทุ่มตัวเองเข้าไปในโลกเพื่อช่วยโลกให้รอด ฉันก็ยิ่งจะพบกับของประทานอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” 9


เราได้ไตร่ตรองถึงการรับเจิมและการปฏิญาณนักบวช เราจะเห็นได้ว่ามีผลที่ตามมามากมายในชีวิตของเรา จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ของหมู่คณะ ที่จะกระตุ้นให้ผู้รับเจิมดำเนินชีวิตให้สอดคล้องตามความหมายของแห่งคำ .


1 คุณพ่อ Juan Vecchi อดีตอัตราธิการซาเลเซียน

2 John Paul II, Dominum et Vivificantem, n. 59

3 P. Stella, Don Bosco nella storia della religiosita’ cattolica, Vol. II, PAS-Verlag, Surigo 1969, p. 32.

4 VC n. 19

5 VC n. 17

6 VC n. 18

7 VC n. 22

8 Cf VC nn. 101-102

9 Vatican Radio, 20-2-84: “Avvenire”, 22-2-84.