؊صاشؕكؙ؞أذ؄أشتٌؕ


؊صاشؕكؙ؞أذ؄أشتٌؕ

1 ชีวิตในพระคริสต์

▲back to top



พระคริสตเจ้าทรงดำเนินชีวิตในข้าพเจ้า


คำกล่าวของท่านอัครสาวกเปาโลที่ว่า “ข้าพเจ้าถูกตรึงกางเขนกับพระคริสตเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า” (กท 2,20) น่าจะเป็นชีวิตคริสตชนทุกคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อกระแสเรียกของตนเอง ในฐานะของผู้ที่ได้รับการไถ่และถูกสถาปนาให้เป็นบุตรของพระเจ้า ในเวลาเดียวกัน ชีวิตของสงฆ์และผู้รับเจิมน่าจะสะท้อนความจริงนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน จนสามารถเป็นแบบอย่างและประจักษ์พยานให้แก่ทุกคน


เพื่อทำเช่นนี้ได้ สิ่งแรกที่จำเป็นกว่าหมดคือ การให้พระ-คริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต รับฟังพระองค์ ดำเนินชีวิตของพระองค์ ในพระองค์และเพื่อพระองค์ด้วยความรักที่ตอบรับและตอบสนองความรักของพระเจ้าผู้ทรงริเริ่มทุกสิ่งในตัวเรา พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสกับผู้รับเจิมหญิงที่ชุมนุมกันที่กรุงโรมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 1995 ว่า “จงเปลี่ยนตนเองด้วยความรักที่ไม่แบ่งแยก จงรักพระเจ้าอย่างที่พระองค์สมจะได้รับ...ตามสถานการณ์ของพวกท่าน...ด้วยการมีความรู้สึกนึกคิดเดียวกันกับพระองค์ (ฟป 2,5) ด้วยการมีส่วนร่วมในรูปแบบชีวิตของพระองค์ ที่ประกอบด้วยความสุภาพและอ่อนหวาน ความรักและความเมตตากรุณา จงพร้อมที่จะรับใช้ทุกคนด้วยความยินดี ด้วยความร้อนรนที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อพระสิริมงคลของพระบิดาเจ้าและเพื่อความรอดของมนุษยชาติ”


การยอมให้พระคริสตเจ้าเป็นใหญ่ในชีวิตทำให้สงฆ์และผู้รับเจิมไม่คิดเฉพาะตนเอง แต่ทำให้ตนเองเป็นเครื่องมือสำหรับความรอดของเพื่อนพี่น้องด้วย พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้ตรัสเมื่อเสด็จไปที่ประเทศเยอรมันนีว่า “พระศาสนจักรมีชีวิตอยู่ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อความรอดของโลก” (L’Osservatore, 23 มิถุนายน 1996) เราสามารถพูดเช่นเดียวกันสำหรับสงฆ์และผู้รับเจิม


แต่เพื่อจะประกาศพระคริสตเจ้าได้อย่างมีประสิทธิผลและทำให้ภาพลักษณ์ของพระคริสตเจ้าและความรักที่ไม่มีขอบเขตของพระบิดาเจ้าปรากฏในตัวเราอย่างเด่นชัด เราต้องยอมให้พระคริสตเจ้าดำเนินชีวิตในตัวเรา จนเราสามารถพูดได้เช่นเดียวกันว่า “เป็นพระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า” (กท 2,20)



การดำเนินชีวิตกับพระเยซูเจ้าและแบบพระเยซูเจ้า

ตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนและประกาศข่าวดีแห่งพระอาณาจักร พระองค์ได้ทรงให้เกียรติมนุษย์ โดยทรงเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้มีส่วนร่วมในภารกิจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระองค์ทรงเรียกเหล่าสาวกให้มาร่วมเป็นหมู่คณะกับพระองค์และร่วมมือกับพระองค์ในภารกิจแห่งความรักและความรอด ดังที่เห็นได้ในพระวรสาร


- ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบพระองค์…” (มก. 3, 13-14)

-“…ทอดพระเนตรเขาด้วยพระทัยเอ็นดู…จงติดตามเรามาเถิด…” (มก. 10, 17-22)

-ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สละทุกสิ่งและติดตามพระองค์

แล้ว…”(มก. 10, 28)

-พระเจ้าประทานธรรมล้ำลึกเรื่องอาณาจักรสวรรค์ให้ท่านทั้งหลายรู้...” (มธ. 13, 11)

-ส่วนท่านทั้งหลาย ตาของท่านเป็นสุขที่มองเห็น…” (มธ. 13, 16)

-ฟิลิปเอ๋ย เราอยู่กับท่านมานานเพียงนี้แล้วท่านยังไม่รู้จักเราอีกหรือ?..” (ยน. 14, 9)

-มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสตเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า…” (กท. 2, 20)

-จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมีเถิด..”(ฟป. 2, 5)

แต่สิ่งที่เคยเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าละทิ้งเพราะพระคริสตเจ้า นับแต่บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งไม่มีประโยชน์อีกเมื่อเปรียบกับประโยชน์ล้ำค่าคือการรู้จักพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยอมสูญเสียทุกสิ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าทุกสิ่งเป็นปฏิกูลเพื่อจะได้องค์พระคริสตเจ้ามาเป็นกำไรและอยู่ในพระองค์…”(ฟป. 3, 7-14)





1.การดำเนินชีวิตกับพระเยซูเจ้า

ก่อนที่จะส่งบรรดาอัครสาวกออกไปเทศนาสั่งสอน พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้มาพักอยู่กับพระองค์ เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตกลุ่มพร้อมกับพระองค์ เพื่อพูดคุย ฟังพระสุรเสียงและคำแนะนำสั่งสอนของพระองค์ บ่อยครั้ง คำแนะนำสั่งสอนเหล่านี้ – ตามที่เราทราบจากพระวรสาร – เป็นคำแนะนำสั่งสอนที่สงวนไว้สำหรับพวกเขาแต่เพียงผู้เดียว เพื่อพวกเขาจะได้ซึมซับจากความสัมพันธ์กับพระอาจารย์เจ้า เพื่อพวกเขาจะไม่เพียงแต่จะมีส่วนร่วมกับ

สถานภาพของชีวิตแห่งความยากจน การเดินทาง การมอบตัวไว้กับพระบิดา และการอุทิศตนอย่างสิ้นเชิงให้แก่การแพร่ธรรมเท่านั้น แต่เพื่อให้พวกเขาได้ซึมซับเอาสถานภาพ อุดมการณ์และคำสอนหลักๆ ของพระองค์ไว้อีกด้วย


ในชีวิตของพวกอัครสาวก – และในชีวิตของเราด้วย – พระเยซูเจ้าทรงเป็นจุดอ้างอิง เป็นมาตรฐานของชีวิตและของพันธกิจ จึงเป็นเรื่องที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สาวกคือบุคคลที่ “ยืนอยู่กับพระเยซูเจ้า” เรียนในโรงเรียนของพระองค์ อยู่ในหมู่คณะของพระองค์ และเป็นเพื่อนของพระองค์


ให้เรามาเจาะลึกสักเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องนี้


นับตั้งแรกเริ่มแล้วที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้บรรดาสาวกอยู่เป็นหมู่คณะที่มีความผูกพันกับพระองค์ เป็นพระองค์เองที่ทรงเลือกพวกเขาอย่างอิสระ “ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาอยู่กับพระองค์” (มก. 3, 13) พระเยซูเจ้าเองทรงย้ำกับพวกเขาอย่างชัดเจนว่า “มิใช่ท่านทั้งหลายได้เลือกเรา แต่เราได้เลือกท่าน” (ยน. 15, 16) การเลือกนี้จึงเป็นเรื่องส่วนตัวและเจาะจงทีละคน


เมื่อเลือกและเรียกพวกเขาแล้ว พระเยซูเจ้าก็ทรงให้ข้อเสนอที่พวกเขาจะต้องตอบรับอย่างอิสระ นี่คือ “ถ้าท่านอยาก” (มธ. 19, 21) ของกระแสเรียกคริสตชน พระเยซูเจ้าทรงเสนอไปที่เสรีภาพและความใจกว้างของแต่ละคนและรอให้บรรดาสาวกและเราแต่ละคนตอบรับอย่างอิสระ


กระนั้นก็ดี พระเยซูเจ้ามิได้ทรงทำอะไรเพื่อให้การเรียกของพระองค์น่าดึงดูดใจ นอกจากจะทรงเรียกร้องให้บรรดาสาวกละทิ้งทุกอย่างที่มี โดยเน้นคำว่า ทุกอย่าง (ลก. 5, 11, ลก. 11, 23) ดังนั้นพระเยซูเจ้าก็ทรงให้เลือกเอาระหว่างพระองค์กับสิ่งอื่นๆ ราวกับจะตรัสว่า “หรือเราหรือสิ่งอื่นๆ…” จึงถือได้ว่าเป็นการเลือกแบบถึงรากถึงโคน (มธ. 4, 20-22, ลก. 14, 33, ฟป. 3, 8)

การยอมรับคำเสนอของพระเยซูเจ้า เรียกร้องความสมัครใจและการอุทิศตนอย่างเด็ดขาดจากผู้ที่ได้รับการเลือกสรร ให้มอบตัวทั้งครบกับโครงการของพระองค์สำหรับแต่ละคน ให้ทุ่มเทร่วมกับพระองค์ กับคำสอน กับ

พันธกิจและรูปแบบของชีวิตของพระองค์ ผู้ซึ่งไม่ยอมอ่อนข้อต่อทัศนคติแบบโลกที่ดูเหมือนจะน่าพึงพอใจและน่า

ดึงดูด “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม?” (มก. 10, 38)

ความบรรเทาใจแต่เพียงอย่างเดียว รางวัลแต่เพียงอย่างเดียวคือพระสัญญาที่จะได้ขุมทรัพย์ในสวรรค์ (ลก. 18, 22)


สาวกทั้งสิบสองคนนี้ที่ได้ตอบรับคำเสนอของพระคริสตเจ้าโดยไม่คำนึงถึงความขาดตกบกพร่อง และความไม่เหมาะสมของตน พร้อมกับยอมรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบถอนรากถอนโคน เป็นชีวิตใหม่ที่แตกต่างไปจากชีวิตก่อนหน้านี้ของพวกเขาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นชีวิตที่เริ่มขึ้นในตัวของพวกเขาแต่ละคนโดยแทบไม่มีการอ้างอิงถึงครอบครัวต้นสังกัด สถานที่เกิด อาชีพที่เคยทำ บทบาทที่เคยมีในสังคม... หลังจากที่ได้พบกับพระเยซูเจ้าแล้วไม่มีอะไรในชีวิตของพวกเขาที่เหมือนเดิม เหลือเพียงแต่การอ้างอิงถึงพระเยซูเจ้า สิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาคือ

การอยู่กับพระองค์” ขึ้นอยู่กับพระองค์ในทุกสิ่ง รู้สึกดีที่ได้อยู่กับพระองค์

กระนั้นก็ดี สิ่งหนึ่งที่น่าจะเน้นคือ การเรียกของพระเยซูเจ้านั้น แม้จะเรียกร้องให้อ้างอิงอย่างชัดเจนถึงพระบุคคลของพระองค์แต่เพียงผู้เดียวและทั้งครบ แต่ก็เป็นการเข้าสังกัดอยู่ในหมู่คณะแห่งความเป็นพี่น้อง เริ่มต้นจากคณะของสิบสองคน แล้วนั้นก็หมู่คณะพระศาสนจักรในเวลาต่อมา พระเยซูเจ้าได้ทรงกำหนดให้ปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์ กล่าวคือ บัญญัติแห่งความรัก เช่นนี้ พระองค์ทรงทำให้กลุ่มของพระองค์แตกต่างไปจาก

กลุ่มอื่น การที่สามารถพูดได้ว่า “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ลูกอยู่กับพระองค์ แบบเดียวกันกับอัครสาวกทั้งสิบสอง เดี๋ยวนี้และตลอดไป” เป็นการชี้บอกถึงเอกลักษณ์ เหตุผล และรูปแบบของการติดตามพระองค์จึงให้เรารื้อฟื้นการตอบรับด้วยใจกว้างอีกครั้งหนึ่ง



2.การเป็นคนของพระเยซูเจ้า

ให้เรามาเจาะลึกความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้าอีกครั้ง


เราไม่เพียงแต่จะ “อยู่กับพระองค์” ในกลุ่มของพระองค์ ในการติดตามพระองค์เท่านั้น เรายังเป็นอะไรมากไปกว่านั้นอีก เรา “เป็นของพระองค์” เราขึ้นกับพระองค์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ นี่คือความหมายของการ “ถูกพิชิตจากพระคริสตเจ้า” ตามที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ (ฟป. 3, 12)


เมื่อรับศีลล้างบาป ความเป็นอยู่ของเราก็เป็นของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นที่มาของความยิ่งใหญ่ของเรา ในศีลล้างบาปเราแต่ละคนได้เข้าสู่กระบวนการแห่งการเริ่มต้นใหม่ของสากลจักรวาล โดยมีพระเยซูเจ้าเป็นพระเศียรและเราเป็นอวัยวะของพระองค์ (คส. 2,19)

ในพระกายทิพย์นี้ “ชีวิตของพระคริสตเจ้าแผ่ซึมเข้าไปในชีวิตของผู้ที่มีความเชื่อ ผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำให้ทุกคนร่วมในพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าผู้ทรงรับทรมานและได้รับพระเกียรติมงคล โดยทางศีลล้างบาปเราได้รับการบันดาลให้เป็นเหมือนพระคริสตเจ้า ‘เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนจึงได้รับการล้าง มารวมเข้าเป็นร่างกายเดียวกัน’ (1 คร. 12, 13) ในพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณ เรามีส่วนร่วมในพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง เราได้รับการยกขึ้นสู่ความสนิทสนมกับพระองค์และกับพวกเรากันเอง” (LG 7)


ท่านอัครสาวกเปาโลได้พูดในสิ่งเดียวกันนี้ด้วยการกล่าวซ้ำอยู่บ่อยๆ ว่า “ในพระคริสตเจ้า” ซึ่งเราจะพบเห็นอยู่ตลอดเวลาในจดหมายต่างๆ ของท่าน ดังนั้น ให้เราแต่ละคนพูดกับตัวเองว่า ชีวิตของฉันอยู่ “ในพระคริสตเจ้า” ฉันจึงเป็น “คริสตชน” เป็นอัตราส่วนกับการที่ฉันร่วมส่วนกับพระองค์ ฉันเป็นส่วนหนึ่งของพระคริสตเจ้า ฉันร่วมเป็นหนึ่งกับพระองค์ในส่วนลึกแห่งความเป็นอยู่ของฉัน ถ้าในตัวฉันไม่มี “การเป็นอยู่ในพระคริสตเจ้า” การเป็นคริสตชนของฉันก็เป็นแต่เพียงคราบภายนอกเท่านั้น พระคริสตเจ้ากับฉันรวมเป็นสิ่งเดียวกันโดยพระหรรษทาน โดยการประทับอยู่ของพระจิตของพระองค์ในตัวฉัน มีแต่บาปเท่านั้นที่จะทำลายสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สุดนี้ได้ ที่จริงแล้วเราคงจะไม่มีทางเข้าใจความชั่วร้ายและการทำลายของบาปได้ ถ้าเราไม่เข้าถึงความ

สวยงามที่น่าทึ่งแห่งของความเป็นจริงนี้ได้ นั่นคือ ฉันกับพระคริสตเจ้าเป็นบุคคลเดียวกัน


ไม่เพียงแต่เราแต่ละคนถูกเรียกให้มาอยู่ ในพระคริสตเจ้า” เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง “ให้มารวมกันอยู่ใต้ปกครองของพระคริสตเจ้า พระประมุขแต่เพียงพระองค์เดียว” (instaurare omnia in Christo; Ef. 1, 10) นี่คือแผนการของพระบิดาที่ถูกปิดบังไว้เป็นเวลาหลายศตวรรษและในที่สุดก็ถูกเปิดเผยให้แก่เราทุกคน และแต่ละคนจะต้องกลายเป็นพระคริสตเจ้า

กระนั้นก็ดี เราไม่น่าจะพอใจอยู่กับการได้ลิ้มรสและมีความสุขกับความจริงที่น่าพิศวงอย่างยิ่งนี้เท่านั้น แต่ เราพึงรับผลทั้งหมดที่ตามมาด้วย


ความเป็นจริงที่น่าพิศวงเช่นนี้ที่ไปสัมผัสกับส่วนลึกของเราและปรับเปลี่ยนมัน ไม่น่าที่จะถูกฝังไว้ในความลืม ในการดำเนินชีวิตแบบครึ่งๆ กลางๆ หรือแบบปล่อยเนื้อปล่อยตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นในชีวิตคริสตชนหลายคน พวกเขาได้รับศีลล้างบาป ได้กลับเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า และเป็นหัวใจของโลกเช่นเดียวกับพระองค์ แต่ปรากฏว่า ความจริงดังกล่าวนี้ไม่ได้ปรากฏในชีวิตของพวกเขาเลย ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ไม่มีอะไรเป็นประจักษ์พยานให้เห็น ไม่มีอะไรน่าดึงดูดใจเลย


จะเป็นเช่นนี้ด้วยหรือไม่ สำหรับผู้ที่พระคริสตเจ้าได้ทรงเลือกและกลายเป็นกายเดียวกันกับพระองค์?

เราจะต้องมีความสำนึกใหม่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของพระคริสตเจ้าและเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์

เราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้า ที่ลึกซึ้ง ที่จำเป็น ที่มีชีวิตชีวาและซึมซับเข้าไปในทุกส่วนแห่งความเป็นอยู่ของเรา


ในที่สุดแล้ว เราจะต้อง “รู้จัก” พระเยซูเจ้าพระองค์นี้ที่เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ ไม่ใช่ความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบเดียวกันกับการรู้จักบุคคลสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ แต่เป็นการรู้จักที่ได้มาจาก “ประสบการณ์” ซึ่งทำให้การเป็นอยู่ทั้งครบต้องได้รับผลกระทบ เราไม่อาจจะพูดได้ว่าเรารู้จักพระคริสตเจ้า ถ้าหากว่าเรายังไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับพระองค์


เราต้องคอยติดต่อกับพระเยซูเจ้า ด้วยการ “อยู่ในพระองค์ ” เพราะพระองค์ทรงเป็นเถาองุ่น เราเป็นกิ่งก้าน ถ้าหากว่าเราไม่สนิทสัมพันธ์กับพระองค์ ชีวิตเราก็จะเหี่ยวเฉา ได้แต่จะเอาไปเผาไฟอย่างเดียว นี่คือชีวิตแห่งพระหรรษทานซึ่งเป็นก้าวแรกของชีวิตคริสตชน นี่คือสิ่งที่เรียกร้องให้เราปฏิเสธบาป ให้ทำลายบาปที่มีอยู่ใน

ตัวเรา


เราต้องปล่อยให้พระเยซูเจ้ากระทำกับเรา พระเยซูเจ้าจะต้องทำกับเราตามที่ทรงพอพระทัย กล่าวคือ สร้างงานชิ้นโบว์แดงที่ทรงคิดไว้สำหรับแต่ละคน น่าจะมีงานชิ้นโบว์แดงมากกว่านี้ ถ้าเราจะปล่อยให้พระองค์ทรงกระทำในสิ่งที่ทรงเห็นดี เราจะต้องรักพระเยซูเจ้าอย่างหัวปักหัวปำ ถึงขนาดไม่คิดจะแต่งงานกับใคร การรักพระเยซูเจ้าอย่างหัวปักหัวปำต้องผลักดันเราไปให้ถึงที่สุด ความรักแบบนี้เห็นได้ในชีวิตพรหมจรรย์ของผู้รับเจิม เป็นความรักที่ไม่ยอมให้มีคู่แข่ง มองจากแง่นี้ เราจะเข้าใจถึงความโง่เขลา ความหละหลวม ที่เราเห็นในพฤติกรรมของผู้รับเจิมหลายคนที่ปฏิญาณศีลบนพรหมจรรย์ พวกเขาได้ประกาศว่าพวกเขาได้เลือกเอาพระเยซูเจ้า แต่แล้วก็ไม่ถือซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาพูด


ในระดับของพระศาสนจักรความรักแบบหัวปักหัวปำนี้กลายเป็นการแพร่ธรรม กล่าวคือความตั้งใจที่จะนำทุกคนให้เข้ามาหาพระเยซูเจ้า เข้าสู่ความสุขแห่งการสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ ถ้าหากว่าแผนการของพระบิดาเจ้าคือการนำทุกคนให้มาเป็นหนึ่งเดียวในพระคริสตเจ้า เราจะไม่รู้สึกว่าได้รับการกระตุ้นให้ร่วมมือในแผนนี้ได้อย่างไร? เพราะแผนการนี้ต้องมีการร่วมมือของเราด้วย ถ้าคริสตชนคนใดคนหนึ่งขาดไฟในการแพร่ธรรม ก็หมายความว่าคริสตชนคนนั้นไม่มีความรักต่อพระคริสตเจ้า…นอกนั้น พระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นว่าทรงกระหายวิญญาณอย่างมากๆ แล้วเราจะพูดได้อย่างไรว่าเรารักพระองค์อย่างแท้จริงถ้าหากเราไม่ร่วมส่วนในความกระหายนี้?


ให้เรามาถามตัวเราเองว่า เราดำเนินชีวิตของ “การเป็นอยู่ในพระคริสตเจ้า” นี้อย่างไรและเรามีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง? ซึ่งก็เหมือนกับการถามตัวเราว่า เราเข้าใจเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่อันลึกลับแห่งศีลล้างบาปที่เราได้รับแค่ไหน? ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้?


นี่คือสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงถามเราเสมอๆ


3.การดำเนินชีวิตแบบเดียวกันกับพระเยซูเจ้า

ถ้าหากว่าเราอยู่ “ในพระเยซูเจ้า” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ เราก็ต้องประพฤติตนเฉกเช่นพระองค์ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องผ่านจากจากระดับความเป็นอยู่ไปสู่ภาคปฏิบัติ ไปสู่การกระทำ


โบราณกล่าวไว้ว่า ความรักของมิตรภาพคือการที่พบสองบุคคลเหมือนกัน หรือ ทำให้สองบุคคลเหมือนกัน ความรักของเราต่อพระเยซูเจ้าจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเราให้เป็นพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์เองได้ทรงประกาศว่า “เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำให้กับท่าน” (ยน. 13, 15) นักบุญเปาโลเรียกร้องคริสตชนของท่านว่า “จงเลียนแบบข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าได้เลียนแบบพระคริสตเจ้า จึงขอร้องท่านให้ยึดถือข้าพเจ้าเป็นแบบอย่าง” (1 คร. 4, 16)

ดังนั้น ให้เราหล่อเลี้ยง “ความชื่นชอบ” ในความคิด ในความรู้สึกและในความรักกับพระเยซูเจ้า ดังที่นักบุญเปาโลได้เตือนคริสตชนว่า ”จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูทรงมีเถิด…”(ฟป. 2, 5)

เพื่อทำเช่นนี้ได้ เราต้องรู้จักอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเป็น สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ สิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงคิด หรือพูดอีกนัยหนึ่งทรงต้องการ เราต้องผ่านจากความรักไปสู่ความรู้จัก ซึ่งเป็นดังวงจร กล่าวคือจากความรู้จักไปสู่ความรักและจากความรักไปสู่ความรู้จักที่ลึกซึ้ง จากความรู้จักที่ลึกซึ้งไปสู่ความรักที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น...

ซึ่งไม่แตกต่างไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนสองคน ระหว่างคู่รัก


นี่คือความจำเป็นที่ต้องหล่อเลี้ยงชีวิตเราด้วยพระวรสารให้มากขึ้น เพราะในพระวรสารเราจะ “เห็น” พระเยซูเจ้าผู้ทรงกระทำ เพราะในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์เอง และทรงเผยความปรารถนาของพระองค์ให้เรารู้ นักบุญเปาโลกล่าวถึง “ประโยชน์ล้ำค่า คือการรู้จักพระคริสตเยซู” (ฟป. 3, 8) ซึ่งทำให้ความรู้อื่นๆ หมดความหมายไป เพราะเหตุนี้ ท่านจึงประกาศว่า “ข้าพเจ้าตัดสินใจว่าจะไม่สอนเรื่องใดแก่ท่านนอกจากเรื่องพระเยซูคริสตเจ้าคือพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงการเขน” (1 คร. 2, 2)


จากการรู้จักจะต้องนำเราไปสู่การเลียนแบบที่แท้จริงและที่ถูกต้อง ที่เป็นรูปธรรม ที่ละเอียดถี่ถ้วน สม่ำเสมอ ในความคิด ในคำพูด ในความรู้สึกนึกคิด ในท่าที พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระแบบฉบับแต่เพียงหนึ่งเดียวและครบครันสำหรับทุกคน คริสตชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด จะพบเส้นทางเพื่อไปถึงเป้าหมายแห่งชีวิตอย่างแท้จริงได้ก็ในพระเยซูเจ้า


เราจึงต้องเลียนแบบสิ่งที่พระเยซูเจ้าได้ทรงทำ ได้ทรงเป็น และได้ทรงทำให้เห็น ภาพลักษณ์ของพระเยซูเจ้าที่นักบุญฟรังซิสทำให้ปรากฏออกมาในชีวิต ช่างเป็นภาพลักษณ์ที่สวยงามเพียงไร คุณพ่อปีโอแห่งคณะกาปูชินช่างเป็นสำเนาที่น่าพิศวงของพระเยซูเจ้าเสียนี่กระไร นักบุญทั้งหลายต่างก็ทำให้ภาพลักษณ์ที่มีชีวิตชีวาของพระเยซูเจ้าสะท้อนในตัวของพวกเขาเอง…เราแต่ละคนก็ถูกเรียกให้ทำเช่นเดียวกัน


ให้เรากระทำสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ด้วยความกระตือรือร้นและความกระหายหา ด้วยตระหนักใจที่เหนียวแน่น ด้วยการเป็นพยานที่ชัดเจนและโปร่งใส คนที่รู้จักพระเยซูเจ้าจะมีจำนวนมากขึ้น ถ้าเราแต่ละคนสะท้อนภาพลักษณ์ที่ชัดเจนและโปร่งใสของพระองค์ในทุกแห่งและทุกสถานการณ์

ความคล้ายคลึงกับพระเยซูเจ้านี้จะต้องค่อยๆ ปรากฏขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็หมายความว่าเราต้องไม่หยุดยั้งที่จะมองดูพระเยซูเจ้าและต้องไม่หมดความกระหายหาในการลอกเลียนแบบพระองค์

ข้าแต่พระเยซูเจ้า พวกลูกช่างรู้จักพระองค์น้อยเสียเหลือเกิน ถ้าหากว่าพวกลูกรู้จักพระองค์มากกว่านี้ พวกลูกคงต้องรักพระองค์อย่างหัวปักหัวปำ พวกลูกจะไม่มีวันละสายตาและหัวใจจากพระองค์ จะไม่มีวันปิดหนังสือพระวรสารซึ่งเป็นรูปถ่ายของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น ลูกขอนัดพบกับพระองค์ด้วยใจเร่าร้อน เพื่อให้พระองค์ทรงแสดงพระองค์เองแก่พวกลูก ตรัสกับพวกลูก ดึงดูดใจพวกลูกอย่างอ่อนหวาน…


พระเจ้าข้า โปรดอย่าปล่อยให้ลูกออกนอกเส้นทางเดินจนเหินห่างไปจากพระองค์ เส้นทางแห่งการแสวงหาเป้าหมาย แสวงหาต้นแบบ แสวงหาเพื่อนร่วมทาง แสวงหาความรักที่ผูกพัน แสวงหาบุญลาภที่ไม่มีสิ้นสุดด้วยเทอญ .