Stimulating Thoughts|40

อารยธรรม


ตั้งแต่ผมกลับจากบ้านนอกครั้งนั้นแล้ว ผมต้องคิดหนักว่าอะไรแน่คืออารยธรรม

แม้จะเป็นหมู่บ้านใหญ่ แต่ชาวบ้านรู้จักมักคุ้นกันราวกับเป็นญาติ

บ้านแต่ละหลังใหญ่เล็กตามอัตภาพ ตั้งเรียงรายเป็นทิวแถว ชิดขอบซ้ายขวาถนนที่ซอยตัดเป็นระเบียบ

รั้วไม้เตี้ยๆ ทรงเดียวกันหมด เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกขอบเขตมากกว่าจะใช้ป้องกันบ้าน

คนเนผ่านไปมาเห็นคนในบ้าน คนในบ้านเห็นคนผ่านไปมา พร้อมกับร้องทักทายถามทุกข์สุขกันสนิทสนม

จะแว้บเข้ามานั่นคุย ขอกินหมากสักคำ หรือจะนั่งดูรายการโทรทัศน์สักเรื่องสองเรื่องก็ไม่ว่ากัน

ออกจากบ้านไปธุระที่ไหน ก็แค่งับประตูบ้านไว้ ฝากคนบ้านใกล้เรือนเคียงช่วยดูแลเป็นธุระให้หายห่วง

เช้ามืดก็พากันจูงวัวจูงควาย หาบสัมภาระไปนา สายหน่อยเด็กนักเรียนตัวเล็กตัวใหญ่หอบหิ้วหนังสือมุ่งไปโรงเรียน ทิ้งให้หมู่บ้านแทบจะร้างคน หากไม่มีคนเฒ่าคนแก่ที่ “เกษียณนา” ช่วยเดินไปมาดูแลบ้านเรือนให้

จนตกเย็นนั่นแหละ หมู่บ้านเริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อผู้คนทะยอยกันกลับจากนา หุงหาเตรียมกับข้าวกับปลา แล้วก็นั่งร่วมวงกินข้าวอย่างเอร็ดอร่อย ไม่ลืมที่จะร้องเรียกคนรู้จักที่ผ่านไปมาให้ทานข้าวด้วยกัน ประสาคนมีน้ำใจ

ไฟบ้านดับไปทีละบ้านสองบ้าน พร้อมกับเสียงพูดคุยหัวเราะกระเซ้าเย้าแหย่ค่อยๆ เงียบลง จนกระทั่งหมู่บ้านเข้าสู่นิทราในสายลมเคล้ากลิ่นทุ่งนาที่พัดโชยพอให้เย็นกายเย็นใจ ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบเงียบและไร้ซึ่งมลภาวะใดๆ

ใบหน้าท่าทีของชาวบ้านจึงดูแจ่มใส แม้จะส่อแววกร้านแดดกร้านฝน แต่ปราศจากริ้วรอยแห่งความหวาดกังวล การดิ้นรนต่อสู้หรือการแข่งขัน แบบที่เห็นบนใบหน้าและแววตาของคนในเมือง

อัธยาศัยไมตรี ความเป็นพี่เป็นน้อง ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อบอวลอยู่ในบรรยากาศของหมู่บ้าน จนทำให้คนที่มาจากเมืองต้องรู้สึกอึดอัด เหมือนคนไม่ได้อาบน้ำเข้าไปคลุกคลีกับคที่อาบน้ำปะแป้งแล้ว อย่างไรอย่างนั้น

ข้าวของเครื่องใช้เครื่องครัวทิ้งไว้ที่เถียงนา ไม่มีใครเฝ้าก็ไม่กังวล ปลาร้าพริกกระเทียมมะนาววางไว้อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นข้ามวันข้ามคืน

แม้แต่ไก่ไทยขนาดกำลังปิ้งกำลังแกงเป็นฝูง หรือความไถนาตัวใหญ่ ไม่ต้องต้นไปต้อนกลับ ก็ไม่เคยหาย

ต้นไผ่ปลูกไว้ยาวเป็นทิวแถวมีหน่อแทงขึ้นรับหน้าฝนเต็มไปหมด ก็ไม่ต้องล้อมรั้วกั้นเขต

ก็ไม่มีใครลักขโมยหรอก อยากได้ก็ขอกันกินขอกันใช้ จะซื้อะขายก็ไม่ว่ากัน” ชาวบ้านชี้แจงเมื่อเห็นสีหน้ากังขาของผม

ผมจากหมู่บ้านมาด้วยหัวใจเบิกบาน หลังจากได้สัมผัสกับบรรยากาศบริสุทธิ์ แจ่มใส งดงาม อบอุ่น ที่ไม่ค่อยจะได้สัมผัสมานานแสนนานแล้ว

มันเป็นบรรยากาศที่ผมได้พบกับธรรมชาติลึกๆ ของความเป็นมนุษย์ ที่ถูกบดบังด้วยวัตถุนิยม บริโภคนิยม จนทำให้ความเป็นพี่เป็นน้อง ความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ ต้องหดหายไปจนแทบไม่เหลือหรอ อย่างที่เห็นกันในสังคมเมืองทั่วไป

พร้อมกันนั้น ในหัวใจที่กำลังเบิกบานก็มีคำถามที่ผุดขึ้นมา “อะไรแน่คืออารยธรรม หรือความศิวิไลซ์?”

มันหมายถึงการพัฒนาด้านวัตถุ หรือด้านเทคโนโลยี ชนิดสุดโต่ง จนแทบไม่ได้ให้ความสนใจด้านจิตใจหรือเปล่า?

มันหมายถึงความก้าวหน้าที่ทำให้คนต้องแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เอารัดเอาเปรียบ ห้ำหั่นกันในชั้นเชิงและไหวพริบ จแทบไม่ได้มองกันในฐานะเพื่อนพี่น้องร่วมโลกหรือเปล่า?

เมื่อมองสังคมเมืองแล้วย้อนกลับไปมองสังคมหมู่บ้านที่ผมเพิ่งจากมา ผมอดไม่ได้ที่คิดออกมาดังๆ ว่า ผมเพิ่งออกจากแดนศิวิไลซ์มา.