Way of Spirit|6 page 3

ชีวิตในพระคริสต์



พระเจ้าทรงเข้าสู่กาลเวลา1


เมื่อถึงเวลากำหนด พระเจ้าทรงโปรดให้พระบุตรของพระองค์มารับกาย บังเกิดเป็นมนุษย์และประทับอยู่ท่ามกลางเรา


ตั้งแต่แรกเริ่มการสร้างโลก พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ให้มีศักดิ์ศรีสูงส่งกว่าสิ่งสร้างทั้งมวล พร้อมกันนั้นได้ทรงมอบหมายให้มนุษย์ดูแลทุกสิ่งแทนพระองค์ และเมื่อมนุษย์พบเห็นและสัมผัสกับสิ่งสร้างแล้ว มนุษย์จะได้สรรเสริญพระเจ้า พระผู้สร้าง


กระนั้นก็ดี มนุษย์ยังรู้สึกว่าศักดิ์ศรีและบทบาทที่ได้รับจากพระเจ้านั้นยังไม่เพียงพอ มนุษย์ใฝ่ฝันมากกว่านั้น ใฝ่ฝันที่จะเป็นเหมือนพระเจ้า จึงได้ขัดขืนพระประสงค์ของพระเจ้า พยายามเป็นพระเจ้าด้วยวิธีของมนุษย์เอง ไม่ใช่ตามวิธีการของพระเจ้า มนุษย์จึงได้ทำบาปและนำความสับสนมาให้แก่สิ่งสร้างมวลด้วย ส่งผลร้ายมาให้มนุษยชาติจนถึงทุกวันนี้


เมื่อเห็นว่ามนุษย์ใฝ่ฝันจะเป็นเหมือนพระเจ้า แต่ทำไม่สำเร็จ แทนที่จะเป็นเหมือนพระเจ้า กลายเป็นการทำร้ายตนเองและลดระดับตนเองลง พระเจ้าจึงได้ทำให้ความใฝ่ฝันของมนุษย์ได้สำเร็จจนได้ด้วยพระทัยดีและเมตตาของพระองค์


เมื่อมนุษย์พยายามจะเป็นพระเจ้าและทำไม่สำเร็จ พระเจ้าจึงได้ทรงลงมาเป็นมนุษย์เสียเอง พระบุตรของพระเจ้าทรงมารับเอากายและเป็นมนุษย์ในทุกอย่าง เว้นแต่บาป ซึ่งขัดต่อธรรมชาติพระเจ้าของพระองค์ ดังที่พระวาจาของพระเจ้าได้ตรัสไว้

  • บรรพบุรุษของพระเยซูเจ้า (มธ 1, 1-17 และ ลก 3, 23-38)

  • แต่เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง เกิดมาอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ…”(กท 4, 4-5)

  • การกล่าวประณามความหน้าซื่อใจคดของบรรดาหัวหน้าของประชาชน (มธ 23)

  • เพราะเหตุว่าเรามิได้มีมหาสมณะที่ไม่สามารถร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอ แต่มีมหาสมณะผู้ได้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนเรา ยกเว้นบาป”(ฮบ 4, 15)

  • ถึงแม้ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรก็ยังเรียนรู้ที่จะนอบน้อมเชื่อฟังโดยการรับทรมาน และเมื่อทรงกระทำภารกิจของพระองค์สำเร็จบริบูรณ์แล้วก็ทรงกลับเป็นผู้บันดาลความรอดนิรันดรแก่ทุกคนที่ยอมนอบน้อมเชื่อฟังพระองค์”(ฮบ 5, 8)

  • อาจารย์ของท่านไม่เสียเงินค่าบำรุงพระวิหารหรือ?”(มธ 17, 24)

  • พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า”ท่านไม่มีอำนาจใดเหนือเราเลยถ้าท่านมิได้รับอำนาจนั้นมาจากเบื้องบน”(ยน 19, 11)


1. ทรงเหมือนกับเราในทุกอย่าง


ชีวิตของพระเยซูเจ้าทั้งชีวิตเป็นการตอบรับพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบและด้วยใจกว้างขวาง พระบิดาเจ้าทรงกำหนดเส้นทางเดินให้พระองค์ การตอบรับพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าที่จะเข้ามาในโลกโดยการรับเอากายเป็นมนุษย์จบสิ้นลงพร้อมกับการตอบรับพระประสงค์ของพระบิดาขณะที่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน กระทั่งได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในการเสด็จขึ้นสวรรค์และประทับเบื้องขวาพระบิดา


การตอบรับพระประสงค์ของพระบิดาในการทำกิจการยิ่งใหญ่ที่พระบิดาทรงกำหนดให้ทำนี้ พระเยซูเจ้าทรงกระทำผ่านทางตัวกลางต่างๆ เฉกเช่นมนุษย์ทุกคน เราอาจจะนึกว่า เพื่อทำกิจการของพระบิดาเจ้า พระเยซูเจ้าคงต้องใช้วิธีการพิเศษ ต่างจากมนุษย์ทั้งหลาย ทว่าหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตและกระทำเหมือนเรามนุษย์ทุกอย่าง เว้นแต่บาป โดยทางการเข้าสู่ประวัติศาสตร์มนุษย์ ในบริบทและในสภาพแห่งยุคนั้นๆ


พระเยซูเจ้าจึงทรงเป็นแบบอย่างให้เรา เพราะพระองค์ทรงไถ่กู้มนุษย์จากภายในมนุษย์เอง ไม่ใช่จากเบื้องบน


ที่จริงแล้ว พระเจ้าสามารถมองข้ามตัวกลางต่างๆ และไถ่กู้เราได้ด้วยความปรารถนาของพระองค์อย่างเดียว แต่ก็ไม่ทรงประสงค์เช่นนั้น พระองค์ได้ทรงเลือกเส้นทางมนุษย์เพื่อไถ่กู้เรา


เอกสารวาติกันที่ 2 กล่าวว่า “พระวจนะที่ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ทรงประสงค์ที่จะร่วมชีวิตกับมนุษย์ ทรงร่วมงานสมรสที่เมืองคานา ทรงเข้าไปพักในบ้านของศักเคียส ทรงกินร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป พระองค์ทรงเผยความรักของพระบิดาและกระแสเรียกพิเศษสุดของมนุษย์ให้เราได้รู้ ทรงใช้ชีวิตในสังคม ใช้ภาษาและสิ่งที่เห็นรอบข้างในชีวิตประจำวันเพื่อสอนความจริงที่ลึกซึ้งให้แก่เรา พระองค์ทรงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ในสังคม ในเวลาเดียวกันพระองค์ก็ทรงทำตัวอยู่ในกฎหมายบ้านเมือง พระองค์ทรงประสงค์ดำเนินชีวิตเยี่ยงคนทำงานเลี้ยงชีพในสมัยของพระองค์และในบริบทของสมัยนั้น (GS 22)


เอกสารวาติกันตอนนี้ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่มีความหมายมากและสรุปชีวิตของพระเยซูเจ้าได้อย่างดีเยี่ยม


เราอยากจะหยั่งลึกลงไปอีกหน่อย

  1. พระเยซูเจ้าทรงเป็นคนแห่งสมัยของพระองค์ในทุกอย่าง พระองค์ทรงนำมาซึ่ง “ความเต็มเปี่ยมแห่งกาลเวลา” ที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้เพื่อเริ่มงานการไถ่กู้มนุษย์ ทว่าความเต็มเปี่ยมแห่งกาลเวลานี้เข้าอยู่ในประวัติศาสต์มนุษยชาติ เป็นช่วงเวลาที่เชื่อมอดีตและอนาคตเข้าด้วยกัน โดยไม่นำพาความยุ่งยากและปัญหาด้านสังคมและการเมือง และกระแสความคิดเห็นที่แตกต่าง เราไม่ควรจะลืมว่า ลัทธิและกระบวนเพื่ออิสรภาพในสมัยนั้นกำลังมองดูพระเยซูเจ้าเป็นความหวัง เพราะบุคลิกของพระองค์เด่นกว่าใคร กระนั้นก็ดี พระเยซูเจ้าไม่ทรงยอมให้ใครหรือกลุ่มใดมาสร้างเงื่อนไขให้ชีวิตของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองประเทศหรือกระแสความคิดเห็นในสมัยนั้น


  1. พระเยซูเจ้าทรงเป็นคนของประชาชน ทรงเป็นยิวเหมือนชาวยิวทุกคน ในรูปแบบของหมู่คณะยิว พร้อมกันนั้น พระองค์ทรงถือขนบธรรมเนียมประเพณีทุกอย่างเหมือนทุกคน ทรงรับศีลตัดในวันที่แปดวันหลังจากที่ทรงประสูติ (ลก 2,21) ทรงถูกนำไปถวายในพระวิหารเฉกเช่นบุตรหัวปีทั้งหลาย (ลก 2,22) ทรงจาริกไปกรุงเยรูซาเลมและร่วมฉลองทุกอย่างตามกฎข้อบังคับ (เทียบ ลก 2,41) พระองค์ทรงปฏิบัติตามกฎหมายและธรรมเนียมของอิสราเอล ยกเว้นเมื่อทรงสอนความหมายแท้จริงของวันสับบาโต นั่นคือ “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (เทียบ มก 2,27) และในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ทรง “เป็นนายเหนือวันสับบาโตด้วย” (เทียบ มก 2,26) พระองค์ทรงไปสวดในศาลาธรรม “อย่างที่ทรงทำเป็นประจำ” (เทียบ ลก 4,16...) พระเยซูเจ้าจึงทรงเข้าอยู่ในบริบทของสังคมที่ทรงสังกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา เครื่องนุ่งห่ม วิถีชีวิต ฯลฯ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงตำหนิบรรดาหัวหน้าศาสนาที่ชอบทำตัวแตกต่างและชอบอวดตัวตามถนนและลานเมือง (เทียบ มธ 23,5...)


  1. พระเยซูเจ้าทรงถือกฎอย่างเคร่งครัด ยกเว้นเมื่อทรงต้องการจะสอนคนว่า การถือกฎไม่ควรจะอยู่แค่การถือตามลายลักษณ์อักษรและเฉพาะภายนอก หากแต่ต้องถือตามจิตตารมณ์ของกฎและภายในจิตใจด้วย พระองค์ทรงสั่งให้คนโรคเรื้อนที่ได้รับการรักษาให้ปฏิบัติตามที่กฎข้อบังคับกำหนดไว้ (เทียบ ลก 5,15) ทรงยืนยันว่าทุกคนต้องเสียส่วยให้แก่ซีซาร์ในสิ่งที่เป็นของซีซาร์ โดยไม่มานั่งถกเถียงเกี่ยวกับความชอบธรรมด้านการเมืองในสมัยนั้น (เทียบ มธ 22,16)


  1. พระเยซูเจ้าไม่อายที่จะแสดงความรักที่ทรงมีต่อประเทศชาติ (เทียบ มธ 23,37...; ลก 19,41)


  1. พระเยซูเจ้าทรงเป็น “คนของประชาชน” ทรงอยู่ในระดับชั้นกลางและค่อนข้างจะไปทางระดับคนยากจน ซึ่งต่างจาก “หัวหน้าศาสนา” ที่ถือว่าตนเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ ทำให้พระเยซูเจ้าต้องพูดโจมตีอย่างตรงไปตรงมา พระเยซูเจ้าทรงถือพระองค์เป็น “ลูกช่างไม้” (เทียบ มธ 13,55) และทรงสั่งศิษย์ของพระองค์ไม่ให้ใครเรียกเป็น “อาจารย์” (เทียบ มธ 23,8) หรือ “บิดา” หรือตำแหน่งทรงเกียรติใดๆ (มธ 23,9)


  1. เราต้องเสริมอีกว่า พระเยซูเจ้าทรงสอดแทรกเข้าอยู่ในบริบทและประวัติศาสตร์แห่งยุคของพระองค์ กระนั้นก็ดี พระองค์ไม่ยอมให้บริบทและประวัติศาสตร์เป็นตัวกำหนดชีวิตและการกระทำของพระองค์ จนดูเหมือนว่าพระองค์จะเป็นคนที่กบฏไม่ยอมถือกฎและขนบธรรมเนียมประเพณีแค่ในลายลักษณ์อักษร พระองค์ไม่ยอมรับกฎข้อบังคับที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พระองค์ทรงมีท่าทีตรงไปตรงมาและกล้าพูดกล้าทำ แต่ที่พระองค์ทรงทำเช่นนั้นก็เพื่อนำคนเข้าถึงแก่นของศาสนาและความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างถูกต้อง ในเวลาเดียวกันเพื่อช่วยให้คนสำนึกถึงกระแสเรียกแห่งการเป็นคนของพระเจ้าและปฏิบัติตนให้สอดคล้อง ดังที่สามารถเห็นได้ในพระวรสารโดยน.มัทธิวบทที่ยี่สิบสาม


2. เราต้องแทรกซึมเข้าสู่บริบทและประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน


ในฐานะที่เป็นผู้ติดตามพระเยซูเจ้า สิ่งที่เราได้เห็นในตัวพระเยซูเจ้านั้นเราต้องนำมาเป็นแนวทางสำหรับชีวิตเราด้วย เราต้องเลียนแบบพระองค์ในการเข้าสู่บริบทสังคม ร่วมชีวิตกับประชาชน ปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณี เข้าถึงวัฒนธรรมแห่งยุคของเราด้วยเช่นกัน


สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเราคือ การที่เราได้รับการอบรมไม่ครบองค์ ทำให้เราถือตนเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์โดยไม่รู้ตัว เราจึงมักทำตัวแปลกแยก หรือแยกตัวเราออกมาจากคนอื่น ไม่ใช่เพราะเครื่องแบบที่เราสวมใส่ แต่ในตำแหน่งหน้าที่หรือในวิถีชีวิตที่เราดำเนิน


เมื่อมองดูพระเยซูเจ้าแล้ว สิ่งที่เราสามารถแตกต่างจากคนอื่นได้คือวิถีชีวิตแห่งการรับเจิมของเรา กระนั้นก็ดี เราต้องสร้างความเข้าใจและมีความสมดุลในรูปแบบการดำเนินชีวิตผู้รับเจิม ซึ่งจะทำให้เราสามารถแทรกซึมเข้าในบริบทและช่วงประวัติศาสตร์อย่างสร้างสรรค์


เรามาอ่านตอนหนึ่งของพระสมณลิขิต “Pastore dabo vobis” (เรามอบนายชุมพาบาลแก่พวกท่าน) และรำพึงเนื้อหาด้วยกัน


มหาสมณะทุกองค์ย่อมได้รับการคัดเลือกจากมวลมนุษย์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนมนุษย์ในความสัมพันธ์ติดต่อกับพระเจ้า” (ฮบ 5,1)


จดหมายถึงชาวฮีบรูยืนยันชัดเจนถึงความเป็นมนุษย์แห่งงานอภิบาล สมณะถูกเลือกมาจากมวลมนุษย์และกลับไปสู่การรับใช้มนุษย์ โดยเลียนแบบพระเยซูคริสตเจ้า “ เพราะเหตุว่าเราไม่มีมหาสมณะที่ร่วมทุกข์กับเราผู้อ่อนแอไม่ได้ แต่เรามีมหาสมณะผู้ทรงผ่านการทดลองทุกอย่างเหมือนกับเรา ยกเว้นบาป” (ฮบ 4,15)


พระเจ้าทรงเรียกสงฆ์ของพระองค์ (และผู้รับเจิมด้วย) จากบริบทมนุษย์และบริบทพระศาสนจักร พวกเขามาจากบริบทและถูกส่งกลับไปสู่บริบทเพื่อรับใช้พระวรสารของพระคริสตเจ้า


เพราะเหตุนี้ ที่ประชุมพระสังฆราช เมื่อพูดถึงพระสงฆ์ ก็โยงพวกเขาเข้าสู่บริบทสังคมและพระศาสนจักรในยุคปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็มองไปสู่สหัสวรรษที่สามด้วย


อย่างไรก็ตาม “มีลักษณะบางอย่างของสงฆ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ พระสงฆ์วันพรุ่งนี้ เฉกเช่นวันนี้ ต้องเป็นเหมือนพระคริสตเจ้าเมื่อทรงมีชีวิตอยู่ในโลก พระเยซูเจ้าทรงทำให้เราเห็นโฉมหน้าแห่งสงฆ์อย่างเป็นทางการ สงฆ์ที่อภิบาล การอภิบาลที่บรรดาสาวกได้รับการแต่งตั้งให้ทำ ความเป็นสงฆ์นี้ต้องต่อเนื่องไปในทุกยุคของประวัติศาสตร์ พระสงฆ์แห่งสหัสวรรษที่สามต้องเป็นผู้ต่อเนื่องความเป็นสงฆ์ที่สืบทอดกันมาในพระศาสนจักร และแม้ในปีสองพันเป็นต้นไป พระสงฆ์ยังได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตหนึ่งเดียวแห่งความเป็นสงฆ์ของพระคริสตเจ้า” เสมอไป ในทำนองเดียวกัน ชีวิตและการอภิบาลของสงฆ์ (เช่นเดียวกับชีวิตรับเจิม) ต้องเข้าสู่บริบทแห่งชีวิตของแต่ละยุคด้วย...เราจึงต้องรู้จักเปิดตนสู่ความสว่างจากองค์พระจิตเจ้าเพื่อจะได้ค้นพบกระแสของสังคมปัจจุบัน เห็นถึงความต้องการฝ่ายจิตใจอันลึกซึ้งของคนในสังคม พร้อมกับกำหนดพันธะที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการอภิบาลเพื่อตอบรับความคาดหวังของมนุษย์ทุกคน”


เราต้องปรับการอภิบาลให้เข้ากับช่วงเวลาและลักษณะจำเพาะของยุคปัจจุบัน ทางที่ประชุมพระสังฆราชได้พยายามแยกแยะสิ่งท้าทายแห่งยุคปัจจุบันเพื่อให้เห็นว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือแรงบันดาลใจเชิงบวกในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมปัจจุบันและของพระศาสนจักรที่ส่งผลกระทบถึงเด็ก เยาวชนและชายหนุ่มซึ่งจะช่วยให้พวกเขาลุวุฒิภาวะแห่งกระแสเรียกสงฆ์ อะไรเป็นปัญหาและอะไรเป็นโอกาสใหม่ๆที่เอื้อให้ศาสนบริการของสงฆ์สอดคล้องกับศีลศักดิ์สิทธิ์ อะไรคือการเรียกร้องด้านชีวิตจิตที่จำเป็นสำหรับการเป็นสงฆ์ เป็นต้น


ดังนั้น เราเป็นบุคคลเป้าหมายที่พระเจ้าทรงเลือกสรรเพื่อแผนการของพระองค์ เป็นการเลือกสรรตัวต่อตัวและยากจะขัดขืน แผนการของพระเจ้าปรากฏในประวัติศาสตร์และช่วงเวลาที่พระองค์ทรงเรียกเรามามีชีวิต แผนการของพระเจ้าปรากฏในประวัติศาสตร์ของเราแต่ละคน โดยมีการเรียกของพระเจ้า มีพระหรรษทานแห่งความสว่างและพลังสนับสนุนเพื่อให้เราตอบรับการเรียกของพระองค์ได้อย่างจริงจัง แต่เพื่อจะสัตย์ซื่อต่อแผนของพระเจ้า เราต้องน้อมรับแผนการของพระองค์ในชีวิตประจำวันโดยที่หลายครั้งเราอาจจะไม่เห็นชัดเจนและไม่เห็นความเกี่ยวเนื่องระหว่างสิ่งที่เราทำและแผนการของพระเจ้า


เราต้องตระหนักว่า พระเจ้าทรงประสงค์จะเข้ามาในประวัติศาสตร์ ทั้งในเหตุการณ์เล็กและใหญ่ที่เราดำเนินชีวิตอยู่ ผ่านทางความสัตย์ซื่อของเรา


เราต้องยอมรับที่จะเป็น “คนแห่งยุคของเรา” โดยไม่เสียเวลากับเรื่องไร้สาระหรือเอาแต่จมอยู่อดีต หรือกังวลกับอนาคต การเป็นคนแห่งยุคคือการปรารถนาและถือเป็นพันธะที่จะรู้จักยุคที่เราดำเนินชีวิตอยู่ให้ดี ให้ลึกซึ้ง ผ่านทางการศึกษาและการไตร่ตรอง เพื่อจะได้รักยุคของเรา ชื่นชมแง่บวกต่างๆที่พบเห็น ในเวลาเดียวกันเพื่อจะได้ไม่รับผกระทบแง่ลบจากบริบทแห่งยุคที่เราอยู่ เราต้องรู้จักและรักยุคของเราเพื่อจะได้เข้าใจและสามารถช่วยเพื่อนพี่น้องที่ร่วมยุคด้วยกันให้รอด นี่คืองานแพร่ธรรม เราไม่สามารถช่วยโลกหากเราไม่รู้จักและรักโลก หรือไม่รู้จักมองโลกด้วยความชื่นชม นอกนั้น การรู้จักและความชื่นชมนี้เป็นด่านแรกของการเข้าสู่การเสวนาที่นำไปสู่ความรอด เมื่อนักบุญโอรีโอเนผู้เป็นสาวกแห่งยุคใหม่ขอให้สมาชิกของท่าน “เข้าไปในโลกตามวิธีการของโลกและออกมาตามวิธีการของเรา” ท่านต้องการเน้นให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ประวัติศาสตร์อย่างมีน้ำใจต่อกัน นักบุญเปาโลเตือนว่า “ดังนั้น พี่น้องทั้งหลาย สิ่งใดจริง สิ่งใดประเสริฐ สิ่งใดชอบธรรม สิ่งใดบริสุทธิ์ สิ่งใดน่ารัก สิ่งใดควรยกย่อง ถ้ามีสิ่งใดเป็นคุณธรรม ถ้ามีสิ่งใดน่าสรรเสริญ ท่านจงพิจารณาสิ่งเหล่านี้ด้วยการใคร่ครวญเถิด” (ฟป 4,8...) และ “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า อย่าดูหมิ่นการประกาศพระวาจา จงทดสอบทุกสิ่งและยึดสิ่งที่ดีงามไว้ จงละเว้นความชั่วทุกรูปแบบ ขอองค์พระเจ้าผู้ประทานสันติ บันดาลให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ ขอพระองค์ทรงคุ้มครองท่านให้พ้นคำตำหนิทั้งด้านจิตใจวิญญาณและร่างกาย เมื่อพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราเสด็จมา” (1ธส 5,19-21)


เราจึงต้องยอมที่สอดแทรกเข้าไปในท่ามกลางประชาชน เข้าไปในวัฒนธรรม ในขนบธรรมเนียม โดยไม่ถือตัวหรือดูถูกผู้อื่น โดยไม่มีปมด้อย โดยไม่พยายามไหลลื่นไปตามกระแสแห่งวัฒนธรรม เราต้องทำเช่นนี้ในบริบทที่เราถือกำเนิดมาและในบริบทที่เราไปเป็นธรรมทูต ผู้ที่เป็นธรรมทูตแท้จะต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับบริบทของประชาชน ในทุกแห่งที่เขาไปเพื่อรับใช้ เพราะเขาต้องนำพระคริสตเจ้าและสาสน์ของพระองค์ไปทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นบริบทใด


เราต้องสอดแทรกเข้าในหมู่คณะโดยทางศีลบนความนบนอบ เราต้องเข้าไปในหมู่คณะด้วยความพร้อมที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันกับพี่น้องและมอบทุกอย่างของตัวเราให้แก่ทุกคน การสอดแทรกเข้าหมู่คณะ นอกจากจะเป็นโอกาสทำงานเสริมสร้างกันและกันแล้ว ยังเป็นความรักและความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันฉันพี่น้องด้วย


ในที่สุด เราต้องเป็นตัวกลางของกฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นด้านวินัย การคุมคุมตนเอง ซึ่งจะช่วยเปิดไปสู่การดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว และในเรื่องนี้ ผู้รับเจิมน่าจะเป็นแบบอย่างให้แก่ทุกคน .










1 Mons. Andrea Gemma