Way of Spirit|5 page 3

ชีวิตในพระคริสต์



เป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา1


ในช่วงเวลาที่ทรงอยู่ในโลกนี้ พระเยซูเจ้าทรงมีความสำนึกอยู่เสมอว่า พระองค์ทรงมาจากพระบิดา ทรงดำเนินชีวิตเพื่อพระบิดา ทรงประกาศข่าวดีเพื่อบอกให้ทุกคนรู้ถึงพระบิดา และสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่กู้มนุษยชาติและคืนมนุษย์ทุกคนให้แด่พระบิดาเจ้า


ความสำนึกนี้ทำให้พระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาในทุกอย่าง แม้กระทั่งในยามค่ำคืน ขณะที่ทุกคนหลับใหลด้วยความเหน็ดเหนื่อย พระองค์ก็ยังทรงปลีกพระองค์ไปในที่สงัดเงียบเพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่กับพระบิดาเจ้า


การภาวนาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการอยู่กับพระบิดาในความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่ลูกมีต่อพ่อ


พลังทั้งหมดของพระเยซูเจ้าในประกาศข่าวดี การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การบรรเทาใจ ตลอดจนการทำอัศจรรย์นั้น พระองค์ทรงได้รับมาจากการเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระบิดาเจ้าสวรรค์นั่นเอง



พระเยซูเจ้าทรงตอบรับพระบิดา

ตั้งแต่นิรันดรกาลจนถึงไม้กางเขน


ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ จะว่าตั้งแต่เริ่มต้นก็ว่าได้ เราจะพบเห็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่พระเยซูเจ้าทรงมีกับพระบิดาซึ่งมีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนและละเอียดละออ ทั้งในรูปแบบของเล่าเรื่องและในรูปของพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ตรัสในโอกาสต่างๆ


แต่ละประโยค แต่ละตอน ชี้บอกถึงจิตใจของพระเยซูเจ้าและความสำนึกของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระบุตรสุดที่รักของพระบิดา


  • เมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทิน…จะต้องถวายบุตรหัวปีทุกคนแด่พระเจ้า” (ลก. 2, 22)

  • คุณพ่อคุณแม่ตามหาลูกทำไม คุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบหรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก?” (ลก. 2, 49)

  • “…เรามิได้แสวงหาที่จะทำตามน้ำใจของเราแต่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา”(ยน. 5, 30)

  • อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของผู้ที่ทรงส่งเรามา”(ยน. 4, 34; 10, 18; 14, 31)

  • เพราะว่าเราลงมาจากสวรรค์มิใช่เพื่อทำตามใจของเรา แต่เพื่อทำตามพระประสงค์ของผู้ที่ทรงส่งเรามา”(ยน.6, 38)

  • เพราะว่าเราทำตามที่พระองค์พอพระทัยเสมอ” (ยน. 8, 29)

  • ข้าพเจ้าได้ทำให้พระองค์รับพระสิริรุ่งโรจน์ในโลกนี้แล้วโดยปฏิบัติภารกิจจนสำเร็จตามที่ทรงมอบหมายแก่ข้าพเจ้า”(ยน. 17, 4)

  • พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด กระนั้นก็ดี อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์เถิด”(ลก. 22, 42)

  • สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน. 19, 30)

  • เมื่อพระคริสตเจ้าเสด็จมาในโลก พระองค์ตรัสว่า ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์…” (ฮบ. 10, 5-10)



1. ตลอดทั้งชีวิตของพระเยซูเจ้าคือ “ขอรับ” ต่อพระบิดา

ให้เราแต่ละคนถือหนังสือพระวรสารไว้และพยายามเจาะลึกเข้าไปในชีวิตและข้อคำสอนของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นจุดอ้างอิงที่ครบครัน น่าตระหนัก และเต็มด้วยความรักเกี่ยวกับพระบิดา ผู้ซึ่งพระองค์ทรงยืนยันว่าจะทำตามพระประสงค์โดยไม่นำพาต่อสิ่งใดทั้งสิ้น


  • พระเยซูเจ้าทรงยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า ก่อนอื่นหมด ด้วยการยอมรับสภาพของบริบทที่พระองค์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ ยอมรับกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีอยู่ในบริบทนั้น พระเยซูเจ้าทรงถือทุกอย่างอย่างครบถ้วน ตามแบบฉบับของน.โยเซฟและพระมารดามารีย์ P. Rahner กล่าวว่า “พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงอยู่ใกล้ชิดกับพระบิดาตลอดเวลาและทรงสามารถพูดได้ว่า ‘ข้าพเจ้าทราบดีว่าพระองค์ไม่ทรงปล่อยให้ข้าพเจ้าอยู่ตามลำพัง’ พระองค์ทรงพูดถึงพระบิดาได้อย่างแท้จริง พระองค์จึงทรงเป็นผู้ภาวนาในจิตและความจริงที่ยอดเยี่ยมกว่าใครอื่น พระองค์จึงไม่ต้องใช้คารวกิจที่ต้องถือตามวันเวลาและสถานที่ พระองค์คือผู้เดียวที่ไม่เหมือนใคร ทรงมาจากเบื้องบน กระนั้นก็ดี พระองค์ทรงปฏิบัติตามกฎหมายทุกข้อเหมือนคนอื่น เราอาจจะพูดได้ว่า พระองค์เสด็จมาใน “แก่นของของศาสนา” คริสตศาสนาและพระศาสนจักรแห่งพันธสัญญาใหม่และนิรันดรจึงซึมซับเข้าไปในความเป็นอยู่ของคริสตชนในรูปแบบของกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และกฎหมายที่ถูกกำหนดจากภายนอกเพื่อเป็นแนวทาง (…) มิติศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการดลใจอันใด หรือแม้ความรักที่ยิ่งใหญ่ก็ ต้องปรากฏออกมาในรูปแบบที่เห็นได้ ต้องมีวินัย ต้องยึดลำดับแห่งคุณค่า ต้องสื่อออกมาในคารกิจภายนอก ในกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้” (Elevazioni sugli Esercizi spirituali di San’Ignazio, E.P. 1967, p. 249)


  • เมื่อถูกประจญ (มธ. 4, 1-11) พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงที่จะเดินไปในเส้นทางอื่น นอกจากเส้นทางที่พระบิดาได้ทรงกำหนดไว้ กล่าวคือ เส้นทางแห่งความสุภาพ ความทนทุกข์ทรมานและความตาย


ดังนั้น เมื่อ น. เปโตร พยายามชี้แนะให้พระองค์ทรงทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเส้นทางที่พระบิดาเจ้าทรงกำหนด พระเยซูเจ้าทรงตอบอย่างห้วนๆว่า “เจ้าซาตาน ไปให้พ้น เจ้าเป็นเครื่องกีดขวางเรา เจ้าไม่คิดอย่างพระเป็นเจ้า (มธ. 16, 23)


  • ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า ทรงสนพระทัยอยู่ตลอดเวลากับ ”สัญญาณ” ที่มาจากพระบิดา เพื่อจะได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาด้วยความซื่อสัตย์และเป็นรูปธรรม


ความฝัน” ของ น. โยเซฟในตอนที่พระเยซูเจ้ายังทรงพระเยาว์อยู่ เป็นตัวกำหนดรูปแบบและเวลาสำหรับพฤติธรรมของพระเยซูเจ้าและครอบครัวศักดิสิทธิ์


ในเหตุการณ์ของการรับพิธีล้าง เมื่อทรงเห็นว่า น. ยอห์น บัปติสต์ ลังเลใจเพราะคำนึงถึงฐานะของตนเมื่อเทียบกับพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงตัดบทด้วยการเรียกร้องอย่างแข็งขันให้เขาทำในสิ่งที่สูงส่งกว่านั้น “เราควรทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า” (มธ. 3, 15) ในโอกาสเดียวกันนั้น เสียงที่ลงมาจากสวรรค์ก็เป็นการให้ความมั่นใจจากพระบิดาที่พระเยซูเจ้าทรงต้องการและเป็นการยืนยันสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะทรงเริ่มพันธกิจของพระองค์


ในการกระทำมหัศจรรย์ บางครั้งก็ดูเหมือนว่าพระเยซูเจ้าจะทรงขอความเห็นชอบจากพระบิดา อย่างในกรณีของการทำให้ลาซารัสกลับคืนชีพ (ยน. 11, 41) เป็นต้น


  • พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นถึงการยอมอ่อนน้อมต่อพระบิดาและแผนการของพระองค์อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยแสดงให้เห็นว่าคำพยากรณ์ทั้งหลายกำลังสำเร็จลงในพระองค์ มีกี่ครั้งกี่หนที่ผู้นิพนธ์พระวรสารอ้างถึงประโยคนี้ “…ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นจริงตามพระคัมภีร์…” (มธ. 5, 17, ยน. 17, 12 ฯลฯ)


  • พระเยซูเจ้าผู้ตรัสว่า การทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเสมอเป็นอาหารสำหรับพระองค์ (ยน. 4, 34) พระองค์ทรงน้อมรับพระประสงค์ของพระบิดาผ่านบุคคลและเหตุการณ์ธรรมดาด้วย กล่าวคือ ทรงอ่อนน้อมเชื่อฟังบิดามารดา ทรงปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองและอำนาจที่ถูกต้อง


  • ช่วงเวลาที่มีความหมายและงดงามมากกว่าหมดของการยึดมั่นในพระบิดาด้วยความสนิทสนมและต่อเนื่องคือช่วงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงภาวนา เราอาจพูดได้ว่า ในช่วงเวลาเช่นนั้น พระเยซูเจ้าทรงอยู่หน้าต่อหน้าพระบิดา ทรงสดับฟังพระสุรเสียงของพระบิดา ทรงซึมซับทุกอย่างและตรัสตอบพระบิดาด้วยท่าทีนอบน้อม ในพระวรสารมีการพูดเกี่ยวกับการภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้หลายแห่ง เราคงไม่กล่าวถึงในที่นี้ กระนั้นก็ดี เราเห็นได้ชัดว่า การที่พูดถึงการภาวนาของพระเยซูเจ้าบ่อยๆนั้น ผู้นิพนธ์พระวรสารต้องการจะเน้นให้เห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่การภาวนาเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษเพื่อเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันพระบิดาเพียงผู้เดียวเท่านั้น


  • การที่พระเยซูเจ้าการยอมทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบรรลุถึงขั้นสูงสุดในการยอมรับไม้กางเขนและความทรมาน ในสวนมะกอกขณะที่ทรงอยู่ต่อหน้าภาพแห่งความทรมานที่น่าสยดสยองซึ่งพระองค์จะต้องรับทนนั้น ธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์กบฏและไม่ยินยอมตาม แต่แล้วพระเยซูเจ้าก็ได้ทรงร้องประกาศความรักอันสุดซึ้งต่อพระบิดาเจ้าว่า”…อย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามน้ำพระประสงค์เถิด” (ลก. 22, 42)


  • ดังนั้นพระเยซูเจ้าจึงสามารถพูดถึงพระองค์เองว่า “…พระบิดาผู้ทรงส่งเรามาได้ทรงบัญชาว่าเราต้องกล่าวอะไรและกล่าวอย่างไร เราทราบว่า พระบัญชาของพระองค์เป็นชีวิตนิรันดร ดังนั้น สิ่งที่เรากล่าวนั้น เราก็กล่าวดังที่พระบิดาได้ทรงกล่าวแก่เรา” (ยน. 12, 49-50) “โลกจะต้องรู้ว่าเรารักพระบิดาและทำสิ่งที่พระบิดาทรงสั่งให้เราทำ” (ยน. 8, 29)


  • เช่นนี้ ในบั้นปลายชีวิต พระเยซูเจ้าจึงสามารถร้องออกมาด้วยความสัตย์จริงว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” กล่าวคือ พันธกิจได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว (ยน. 19, 30)


เราสามารถพูดอย่างนี้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำและอย่างจริงใจหรือเปล่า?



  1. ขอรับ”ของเราต่อพระบิดา


บัดนี้ ให้เราใช้พระแบบฉบับของพระเยซูเจ้าเพื่อตรวจสอบความอ่อนน้อมของเราต่อพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าบ้าง เพราะนี่คือกระแสเรียกพื้นฐานของคริสตชนทุกคนและเป็นการตอบรับกระแสเรียกของเราแต่ละคน


ให้เราเริ่มต้นด้วยการสร้างความมั่นใจที่หนักแน่นให้แก่ตัวเรา หรือไม่ก็ต้องวอนขอความมั่นใจนี้จากพระเจ้า


  • เราจะต้องมีความมั่นใจว่า


- พระเจ้าทรงมีแผนการชีวิตสำหรับฉัน ซึ่งเป็นแผนการเกี่ยวกับตัวฉันโดยเฉพาะและไม่ซ้ำแบบใคร มันเป็นผลแห่งความรักอย่างมหาศาลของพระองค์ที่ทรงมีต่อฉัน ใช่แล้ว พระเจ้าทรงรักฉัน ทรงรักฉันแบบตัวต่อตัว พระองค์ทรงเลือกฉันโดยเรียกชื่อฉัน พระองค์ทรงรู้จักฉันตั้งแต่เมื่อฉันยังอยู่ในครรภ์มารดา (ยรม. 1, 5) ทรงมอบหมายให้ฉันทำให้แผนการแห่งความรักของพระองค์ที่ได้ทรงจัดเตรียมไว้ให้ฉันตั้งแต่นิรันดรสำเร็จลง


- ขอย้ำว่า แผนการนี้เป็นแผนการจำเพาะเจาะจง ไม่ซ้ำแบบใคร ที่พระองค์ทรงเตรียมไว้ให้ฉันโดยเฉพาะ สำหรับฉันเพียงผู้เดียวเท่านั้น


- ในแผนการนี้ มีพระหรรษทานและของประทานจากพระเจ้ามากมาย ซึ่งจะทำให้ฉันสามารถทำตามแผนการนี้ได้ ที่จริงแล้ว เมื่อพระเจ้าทรงเรียก พระองค์ก็ทรงประทานความสามรถให้ฉันทำได้สำเร็จ กล่าวคือ โปรดให้ฉันมีความสามารถที่ตอบรับการเรียกของพระองค์และทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จได้ ชีวิตของประกาศกในพระคัมภีร์ชี้บอกความจริงนี้ได้อย่างชัดเจน


- การยึดติดกับแผนการของพระเป็นเจ้าที่เกี่ยวกับชีวิตฉันนั้น ฉันทำได้ด้วยการทำให้แผนการนี้สำเร็จไปตามขั้นตอน กล่าวคือ ทำให้ชีวิตของฉันลุความเต็มเปี่ยมในทุกด้าน ซึ่งจะทำให้ฉันบรรลุถึงความสุขนิรันดร ไม่มีใครเป็นสุขได้หากเขาไม่บรรลุความเต็มเปี่ยมแห่งชีวิต เรามีความตระหนักว่าเราสามารถทำให้ชีวิตเราเต็มเปี่ยมได้ก็ด้วยการตอบรับและการทำให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จไปเท่านั้น


- เพื่อเผยให้เห็นถึงแผนการที่พระองค์ทรงกำหนดไว้สำหรับฉัน พระเจ้าทรงใช้ตัวกลางหลากหลายรูปแบบ กล่าวคือ สิ่งต่างๆที่เข้ามาในเส้นทางชีวิตฉัน (น่าจะย้อนรอยประวัติศาสตร์ของกระแสเรียกของฉันเพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์แห่งพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าและบทบาทของสิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบชีวิตฉัน อาทิ การพบปะ เหตุการณ์ ตัวช่วย ฯลฯ ซึ่งต่างก็เอื้อให้ฉันทำตามแผนการที่พระเจ้ากำหนดไว้ได้มาโดยตลอด)


- ทุกอย่างเหล่านี้ ล้วนเรียกร้องให้ฉันตั้งใจ อย่างที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งใจดูเครื่องหมายแม้แต่เล็กน้อยที่พระบิดาเจ้าทรงใช้เพื่อเผยแสดงแผนการของพระองค์ ถ้าเราต้องการให้ชีวิตของเรา เป็นชีวิตที่แท้จริงและบรรลุความเต็มเปี่ยม เราต้องมีความตั้งใจอย่างต่อเนื่องในเครื่องหมายที่พระบิดาทรงเผยให้ ในเสียงที่พระเจ้าตรัส ซึ่งแต่ละอย่างเรียกร้องให้เราถือเป็นพันธะที่จะทำตามอย่างซื่อสัตย์ ที่สำคัญคือ อย่ามองข้ามสถานการณ์ใดในชีวิต เพราะเราอาจจะพลาดพระสุรเสียงของพระเจ้าที่ตรัสกับเราผ่านทางสถานการณ์ต่างๆได้


- ช่วงเวลาที่พิเศษสุดของความตั้งใจในการรับเครื่องหมายของพระบิดาก็คือช่วงเวลาแห่งการภาวนา และ การรำพึงพิศเพ่ง จงจัดให้ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นระบบ ด้วยความเอาใจใส่และจัดสรรเวลาให้เพียงพอ เพราะนี่คือวิธีการแรกและสำคัญยิ่งของการติดต่อกับพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง ของการรับฟังคำเชื้อเชิญและรับรู้ถึงความรักความเอาใจใส่ของพระเจ้า ในเวลาเดียวกันก็มีความพร้อมที่จะตอบรับพระเจ้าด้วยความยินดีและความสัตย์ซื่อ ในการภาวนาและการรำพึงพิศเพ่งนี้เอง เราสามารถทูลพระเจ้าด้วยความสัตย์จริงว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดอย่าให้เป็นไปตามใจของข้าพเจ้า แต่ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์...” ตามที่พระเยซูเจ้าได้เคยตรัส


ให้เราเริ่มกล่าวเช่นนั้นทันทีและทำให้มีความพร้อมต่อความรักนี้อยู่ตลอดเวลา ขอย้ำอีกครั้ง นี่คือขั้นแรกของความสำเร็จในด้านชีวิตคริสตชน และเหนืออื่นใด ในด้านชีวิตสงฆ์หรือชีวิตรับเจิม


  • บัดนี้ให้เรามาพูดถึงพันธะบางอย่างซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากความมั่นใจที่กล่าวมาข้างต้น


ให้เราแต่ละคนกล่าวย้ำกับตนเอง


- ฉันด้วย ฉันอยากจะทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าเสมอ ฉันอยากให้ชีวิตของฉันเป็นชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ เป็นชีวิตที่เต็มด้วยความพร้อมสรรพ เป็นชีวิตที่ดำเนินไปในความรัก (อย่าหลอกตัวเองว่ารักพระเจ้า หากไม่คิดจะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่แสดงออกมาทางพระบัญญัติ ทางกฎเกณฑ์ของพระเจ้าและของพระศาสนจักร ทางสถานการณ์ต่างๆในชีวิต ด้วยความรัก) (1 ยน. 2, 3..)


- ฉันอยากจะทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเพื่อเป็นการแสดงความรักตอบความรักของพระองค์ที่ทรงเรียกฉัน ฉันอยากจะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าเพราะฉันรักพระองค์ ไม่ใช่ฉันที่เป็นฝ่ายเริ่มต้น แต่เป็นพระองค์ต่างหากที่ทรงเริ่ม จึงเป็นเรื่องของการเห็นถึงรักซึ่งมาถึงเราและรายล้อมตัวเรา ฉันถูกพิชิตโดยความรักของพระเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่างแสดงให้เห็น เฝ้าร้องตะโกน และชี้บอกให้ฉันเห็นถึงความรักของพระเจ้า แล้วฉันจะไม่ตอบรับความรักของพระองค์ได้อย่างไร?


- ดังนั้น ฉันต้องทำตัวให้เคยชินกับการเห็นและการรู้สึกถึงพระเจ้า ว่าพระองค์ไม่ทรงอยู่ห่างไกล ห่างไกลมากแบบพระของคนต่างศาสนา พระองค์ไม่ทรงเป็นวัตถุให้กราบบูชาแต่เป็นพระบุคคลที่อยู่ใกล้ตัว น่ารัก น่าพูดคุยด้วย พระองค์เป็นนักรัก พระเป็นเจ้าของฉันทรงสนิทสัมพันธ์แนบแน่นกับฉันมากกว่าตัวฉันเองเสียอีก จึงเป็นเรื่องของความเข้าใจความจริงข้อนี้อย่างต่อเนื่องและเป็นสุขกับความจริงนี้ จนแทบจะมึนเมากับมันก็ว่าได้


- ฉันอยากจะทูลพระเจ้าผู้ทรงรักฉันด้วยคำว่า “ขอรับ” ด้วยใจกว้างขวาง ถ้าฉันมีอายุมากแล้ว ฉันก็คงได้ทูลพระองค์ว่า “ขอรับ” ซึ่งเป็นคำที่ให้แนวทางแก่ชีวิตและการกระทำทั้งหมดของฉัน เป็นคำ “ขอรับ” ของพระมารดามารีอาในเวลาที่ได้ทรงรับสารและไม่เคยคืนคำ พระแม่ทรงกล่าวซ้ำอีกครั้งเมื่อทรงประทับยืนอยู่เชิงไม้กางเขนและเมื่อได้รับการยกย่องให้เข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ฉันต้องถามตัวฉันเราเองว่าฉันทำเช่นนี้ด้วยหรือเปล่า กล่าวคือ คำว่า “ขอรับ” ยังมีประสิทธิผลในตัวฉันอยู่หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่จะบ่งบอกถึงความสัตย์ซื่อในสิ่งเล็กน้อยที่จะนำไปสู่การตอบรับในสิ่งยิ่งใหญ่แห่งชีวิตประจำวันของฉัน ดังนั้น การพูด “ขอรับ” ครั้งแรกจะต้องทำให้ฉันพูด “ขอรับ” อย่างต่อเนื่องในทุกเหตุการณ์และในการกระทำทุกอย่างของฉัน ฉันจึงต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอสำหรับการนี้


- ฉันอยากจะมองไว้ล่วงหน้าและน้อมรับกางเขน การมอบตนเป็นพลี และการต่อสู้ทุกอย่างที่จะมีมา พระเยซูเจ้าทรงสอนฉันว่า กางเขนเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ของฉันกับพระบิดาเจ้า และฉันจะมองไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะสามารถรับกางเขนต่างๆที่มีตามเส้นทางชีวิตได้ตามเยี่ยงอย่างของพระคริสตเจ้า


  • เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ จำต้องทำตามเงื่อนไขเหล่านี้อย่างทันท่วงที ชีวิตของเราจำเป็นต้อง


  • เป็นชีวิตที่ดำเนินในแสงสว่างของพระเจ้า กล่าวคือ ดำเนินไปในสายพระเนตรของพระเจ้าและแวดล้อมด้วยความรักของพระองค์ เป็นชีวิตที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพระองค์ ซึ่งเป็นที่มาของศักดิ์ศรีที่แท้จริงของมนุษย์ (เทียบ GS,22) หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งคือ การไม่ยอมทำบาป บาปทุกชนิด ซึ่งเป็นที่มาของความมืดมนและความทุกข์ อีกทั้งทำให้ชีวิตไร้ค่าอย่างน่าเสียดาย


ให้เราสอดแทรกคำว่า “ขอรับ” ไว้ในชีวิตของเรา ให้เป็นคำพูดที่ทำให้เรากล้าตัดสินใจที่จะชำระและทำให้ชีวิตเราโปร่งใสด้วยการทำสงครามกับความชั่ว กับบาปทุกชนิด


- เป็นชีวิตแห่งการภาวนา ซึ่งเป็นความสนใจหลักของพระเยซูเจ้า เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์กับพระบิดาเจ้าและเป็นความสำเร็จแห่งภารกิจของพระองค์ สำหรับเราก็เช่นเดียวกัน เราต้องพูดให้ได้ว่า การภาวนาเป็นความสามารถ เป็นศักภาพ และเป็นความสำเร็จของเรา พูดง่ายๆ เป็นทุกอย่าง


- เป็นชีวิตแห่งความเชื่อ ซึ่งจะช่วยเราต่อสู้กับลัทธินิยมแนวนอน ลัทธิอเทวนิยม โลกานุวัตรนิยมสมัยใหม่ ต่อสู้กับเหตุผลนิยมซึ่งถือว่ามนุษย์และพลังของเหตุผลเป็นพระ หรือแทนที่ของพระเจ้าได้ในทุกอย่าง ต่อสู้กับกับลัทธิความเมินเฉยนิยมต่อศาสนาซึ่งทำให้ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชน ต้องตกเป็นเหยื่อของมันอย่างน่าสงสาร ความเชื่อเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพซึ่งมนุษย์ใช้เพื่อทำสงครามกับความชั่วและบาป เป็นการมองและจิตใจที่มุ่งไปสู่คุณค่าที่แท้จริง เป็นการทอดสมอในที่ปลอดภัย เป็นปราการ เป็นความมั่นคง เป็นชัยชนะเหนือโลก กล่าวคือ เหนือความชั่ว ความอ้างว้าง ความหลอกลวง (เทียบ 1 ยน. 5, 4-5)


ขอรับ” พระบิดาเจ้าข้า

ลูกจะไม่อายที่เป็นลูกของพระองค์และมีพระองค์ที่ทรงรักลูก .




1 Mons. Andrea Gemma