Way of Spirit|2 page 3

บุตรคนเล็ก



พระเยซูเจ้าแค่ทองเล่าว่าชายคนหนึ่งมีบุตรสองคนโดยไม่ได้เข้าไปในรายละเอียด จากนั้นก็เข้าสู่หัวใจของเรื่องโดยไม่มีการเกริ่นนำแต่อย่างใด เหมือนกับว่าทรงต้องการเข้าประเด็นสำคัญและไม่อยากให้รายละเอียดอื่น ดึงความสนใจของคนฟังไปจากประเด็นสำคัญนี้


บุตรคนเล็กพูดกับบิดาว่า “พ่อครับ โปรดให้ทรัพย์สมบัติส่วนที่เป็นมรดกของลูกเถิด…” (ลก 15,12)


ตามกฎของโมเสส (ฉธบ 21,17) มีการกำหนดว่าบุตรชายหัวปีมีสิทธิ์ได้มรดกจากบิดาสองเท่าของบุตรอื่นๆ นอกนั้น บิดายังสามารถแบ่งมรดกให้ลูกๆ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยที่บิดายังถือสิทธิ์การบริหารทรัพย์สินนั้นจนกว่าจะสิ้นชีวิต ดังนั้น แม้ว่าบิดาจะแบ่งทรัพย์สมบัติให้บุตรคนเล็กแล้ว บุตรก็ยังไม่มีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินนั้นได้ตามใจชอบ


แม้การอยู่ในครอบครัว ร่วมชีวิตกับพ่อและพี่ชาย มีความพรั่งพร้อมทุกอย่าง แต่บุตรคนเล็กกลับไม่มีความสุข อยากจะเป็นอิสระ อยากจะมีวิถีชีวิตของตนเอง อยากจะมีความสุขอย่างที่ต้องการ


การขอแบ่งทรัพย์สมบัติ จึงเป็นการบอกถึงความต้องการที่จะเป็นอิสระ… อิสระจากความรักและความเอาใจใส่ของพ่ออิสระจากกรอบแห่งขนบธรรมเนียม และประเพณีของชีวิตครอบครัว…


บาปคือการบอกกับพระเจ้าว่า สิ่งที่พระองค์ประทานให้นั้นยังไม่พอ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง อยู่กับพระองค์ยังไม่มีความสุข จึงต้องการแยกออกมาเพื่อหาความสุขที่ต้องการ


บาปคือการถือว่าสิ่งอื่นดีกว่าพระเจ้า จึงไม่ลังเลใจที่จะเลือกสิ่งเหล่านั้นมากกว่าเลือกพระองค์


บาปคือการตอกย้ำ สิ่งสร้างในโลกมีคุณค่ามากกว่าพระผู้สร้าง จึงพร้อมที่จะมองข้ามทุกอย่างเพื่อจะได้สิ่งเหล่านี้มา

บาปคือการต้องการจะเป็นตัวของตัวเอง สามารถคิด สามารถตัดสิน สามารถเลือก สามารถทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง สามารถกำหนดทุกอย่างด้วยตนเองโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้


บาปคือการถือว่าชีวิตเป็นของตน จะทำอย่างไรกับชีวิตก็ได้แล้วแต่ใจต้องการ


บาปคือการเลือกความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง


“…บิดาก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกทั้งสองคน” (ลก 15,12)


พระเจ้าทรงเคารพในอิสรภาพของมนุษย์


นี่คือแก่นแห่งความรักของพระเจ้า กล่าวคือความรักที่อิสระทั้งในการให้และในการตอบรับ


หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง อิสรภาพเป็นเงื่อนไขของความไม่มีเงื่อนไขแห่งรัก


กระนั้นก็ดี อิสรภาพไม่ใช่สิทธิที่จะเลือกระหว่างความดีหรือความชั่ว เพราะในเมื่อความดีเป็นแก่นของความเป็นมนุษย์อันเนื่องมาจากการที่มนุษย์ถือกำเนิดมาจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์ความดี อิสรภาพจึงเป็นสิทธิที่จะเลือกความดีอันใดอันหนึ่งตามการชี้นำของเหตุผลและใจชี้บอก


ความดีที่มนุษย์สามารถเลือกได้ด้วยใจอิสระนั้น ประกอบด้วย ความดีที่พระเจ้าทรงกำหนด และ ความดีที่มนุษย์ยกย่องให้เป็นความดี ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับความดีที่พระเจ้าทรงกำหนด หรืออาจจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่พระองค์ทรงชี้บอกก็ได้


ทุกครั้งที่มนุษย์ใช้อิสรภาพในการเลือก จึงเป็นการเลือกความดีเป็นหลัก


ส่วนความดีที่มนุษย์เลือกนั้น อาจจะเป็นความดีในตัวมันเองหรือเป็นความดีที่มนุษย์คิดหรือเห็นว่าดีในขณะนั้น อาทิ ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่คนที่สูบก็มองแค่สิ่งที่คิดว่าดีจากการสูบบุหรี่ เป็นต้นว่า ความเท่ สมองผ่อนคลาย หายเครียด ช่วยการคิดและการแก้ปัญหา ฯลฯ จึงไม่มีใครที่จะหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ เพราะตั้งใจทำลายสุขภาพและก่อให้เกิดมะเร็งในปอดของตนเอง

ความดีที่มนุษย์ยกย่องขึ้นมานั้น หลายครั้งก็เป็นความชั่วที่มนุษย์เห็นเป็นแง่ดีหรือผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การหลงผิด หรือความเขลา เบาปัญญานั่นเอง


ในเมื่อลูกคนเล็กคิดว่า การจะได้มรดกมาเป็นกรรมสิทธิ์และใช้ได้ตามใจปรารถนาเป็นความดีที่เขาพึงได้มา บิดาก็เคารพในความคิดและการตัดสินใจของเขา แม้จะรู้แก่ใจว่าลูกกำลังเลือกสิ่งที่ผิด


ทุกครั้งที่มนุษย์เลือกความผิด พระเจ้าทรงเสียใจมากกว่ามนุษย์เสียอีก เพราะในขณะที่มนุษย์คิดได้แค่นั้น พระเจ้าทรงเห็นผลร้ายตามมาทั้งหมด จึงทรงเสียใจที่มนุษย์เลือกผิดและทรงเสียใจที่มนุษย์ต้องพบกับสิ่งเลวร้ายที่จะตามมา


“…ต่อมาไม่นาน บุตรคนเล็กรวบรวมทุกสิ่งที่มี แล้วเดินทางไปประเทศห่างไกล ที่นั่นเขาประพฤติเสเพลผลาญเงินทองจดหมดสิ้น” (ลก 15,13)


บุตรคนเล็กไม่สนใจความรู้สึกของบิดาผู้รักและอยากให้เขาอยู่บ้านที่ปลอดภัยและมีความรักความอบอุ่น


หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง เขาไม่สนใจความรัก ความปรารถนาดีและความเอาใจใส่ของบิดาเลยแม้แต่น้อย


เขาเลือกตนเองมากกว่าพ่อ


บุตรคนเล็ก นอกจากจะเรียกร้องสิทธิในมรดกแล้ว ยังเรียกร้องสิทธิในการจัดการมรดกนั้นตามที่ต้องการด้วย


หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง บุตรคนเล็กต้องการจะมีชีวิตเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับบิดา ไม่ว่าในกรณีใดๆ





บาปคือการเรียกร้องที่จะกำหนดเอาเองว่าอะไรดี อะไรไม่ดีโดยไม่คำนึงถึงพระเจ้าและพระบัญญัติของพระองค์


ว่ากันตามกฎหมายแล้ว บุตรคนเล็กมีแค่สิทธิในมรดกที่บิดาจะแบ่งให้ ทว่ายังไม่มีสิทธิที่จะจัดการมรดกนั้น แต่เขาเลือกที่จะมองข้ามกฎเกณฑ์และทำเหมือนว่าเขาเป็นเจ้าของมรดกนั้นๆ ในทุกแง่


ชีวิตมนุษย์เป็นของประทานจากพระเจ้า ทว่ากรรมสิทธิ์เหนือชีวิตนั้นยังเป็นของพระองค์


แต่มนุษย์เรียกร้องจะมีกรรมสิทธิ์เหนือชีวิตของตนโดยเบ็ดเสร็จ พร้อมกับยืนยันว่า ชีวิตเป็นของฉัน ฉันจะทำอะไรหรืออย่างไรกับมันก็ได้”


หลายคนจึงใช้ชีวิตอย่างสุรุ่ยสุร่าย ผลาญชีวิตอันทรงค่าไปอย่างไม่คิดเสียดาย


หลายคนจึงใช้ชีวิตไปทางที่ผิด ทำลายชีวิตตนด้วยตัณหาและบาปจนแทบหมดสิ้น


หลายคนจึงใช้พรสวรรค์ที่ได้รับมา เพื่อทำในสิ่งที่ทำให้พระเจ้าต้องเสียพระทัย


บาปจึงเป็นการนำสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ มาทำให้พระองค์ผิดหวังและเสียพระทัย


ความผิดจึงไม่อยู่ในการใช้ชีวิตในทางที่ผิดเท่านั้น แต่อยู่ในการทำให้สิ่งที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ดูแลต้องเสียหายไปด้วย


“…เมื่อเขาหมดตัว ก็เกิดกันดารอาหารอย่างหนักทั่วแถบนั้นและเขาเริ่มขัดสน” (ลก 15,14)


สมบัติที่มีเริ่มร่อยหรอลง จนหมดสิ้นในที่สุด

แต่ก่อนที่สิ่งของเงินทองหมดไปทีละอย่างสองอย่างนั้น คุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้สูญเสียไปหมดแล้ว… หมดไปตั้งแต่บุตรคนเล็กตัดสินใจจากบิดามา

เมื่อคุณค่าเหล่านี้หมดสิ้นไป ทุกอย่างก็มีอันต้องหมดสิ้นไปด้วยโดยปริยาย


บาปไม่เคยทำให้จิตใจอิ่มหนำ แต่จะทำให้เกิดการขาด จากอย่างหนึ่งไปยังอีกอย่างหนึ่ง อย่างไม่สิ้นสุด ในเมื่อธรรมชาติของบาปคือการทำลาย การสูญเสียจึงเป็นผลที่ตามมา เริ่มต้นจากการสูญเสียความดี ความสัมพันธ์ที่ดีและกลมกลืนกับตนเอง กับพระเจ้า กับผู้อื่น และกับสิ่งสร้าง ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียอื่นๆ ที่เป็นผลจากการกระทำของบาป


บุตรคนเล็กหมดความรักและความผูกพันกับบิดา ซึ่งเป็นคุณค่าและความมั่งคั่งอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เขาสามารถยืนผงาดอยู่ได้ แม้ว่าสิ่งอื่นๆ จะหมดสิ้นไปเพราะความผิดพลาดและความอ่อนแอ


ความรักและความผูกพันกับบิดาคือทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าซึ่งแม้จะยากไร้สิ่งของเงินทอง บุตรคนเล็กก็ยังสามารถมีความมั่งคั่งอยู่ได้อย่างสมภาคภูมิ


แต่พอความรักและความผูกพันนี้หมดไป คุณค่าอื่นๆ ก็พลอยหมดไปด้วย อาทิ ศักดิ์ศรี เกียรติ คุณค่า เป็นต้น


มนุษย์เมื่อห่างจากพระเจ้า ศักดิ์ศรีของเขาก็หมดไป


พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงทรงยืนยันว่า มนุษย์พบศักดิ์ศรีของเขาในพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระเจ้าและมนุษย์แท้พระองค์ทรงมาเป็นมนุษย์เพื่อคืนศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ให้แก่มนุษย์แต่ละคน


เมื่อมนุษย์ห่างพระเจ้าไป นอกจากไม่พบและไม่เห็นศักดิ์ศรีของตนแล้ว เขายังมองไม่เห็นศักดิ์ศรีในคนอื่นด้วย มนุษย์จึงไม่ลังเลที่มองคนอื่นแค่ผลประโยชน์ที่พึงได้ และหาประโยชน์จากคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงความผิดความถูก


ใครที่ไม่เคารพพระเจ้า ไม่ช้าก็จะหมดความเคารพต่อตนเองและต่อผู้อื่นด้วย


การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ การทะเลาะเบาะแว้ง สงคราม ฯลฯ จึงเกิดจากการที่มนุษย์ห่างจากพระเจ้าหรือปฏิเสธพระเจ้าก่อนอื่นหมด


การใช้อิสรภาพในทางที่ผิดทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ลดลงและหมดสิ้นไปในที่สุด พร้อมกันนั้นพระพรและพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ก็ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและอย่างไม่เห็นคุณค่าก็มีอันต้องหมดสิ้นไปด้วย


คนที่ทำบาปจึงตกอยู่ในสภาพขัดสน อ่อนแอ และหมดสภาพ


“…จึงไปรับจ้างอยู่กับชาวเมืองคนหนึ่ง คนนั้นใช้เขาไปเลี้ยงหมูในทุ่งนา” (ลก 15,15)


จากที่เคยเป็นบุตรของบิดา เป็นนายของบ่าวไพร่ในบ้าน บุตรคนเล็กต้องกลายเป็นคนรับจ้าง


บาปทำให้มนุษย์ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าและทายาทแห่งพระอาณาจักรของพระองค์กลายเป็นทาสของบาป ดังที่พระวาจาของพระเจ้ายืนยัน


เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่าทุกคนที่ทำบาปก็เป็นทาสของบาป” (ยน 8,34)


เพื่อว่าร่างกายที่ใช้ทำบาปของเราจะถูกทำลายและเราจะไม่เป็นทาสของบาปอีกต่อไป” (รม 6,6)


เมื่อบาปเป็นนายเหนือมนุษย์ มันจะเป็นนายที่เหี้ยมโหดไร้ความเมตตาและก่อให้เกิดการเป็นทาสต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุดจากบาปหนึ่งไปยังอีกบาปหนึ่ง


บาปจึงเป็นการเสพติดความชั่ว


Anne Wilson Schaef ในหนังสือ Sin as Addiction” โดย Patrick McCormick2 บรรยายลักษณะของการเสพติดว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้เราหมดอำนาจ สิ่งที่เราเสพติดควบคุมเราทำให้เราทำและคิดในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าของเรา ทั้งยังบังคับและครอบครองเรา แล้วนั้นก็ทำให้เราหลอกตัวเราเองและคนอื่นด้วยการโกหก การปฏิเสธ การปิดบังความจริง ในเวลาเดียวกันก็กลายเป็นความจำเป็นจนไม่สามารถจะเลิกได้…


นักบุญออกัสตินและนักบุญโทมัส อัคไควนัส ให้คำจำกัดความของบาปว่า “การตั้งใจถอยห่างจากพระเจ้าและหันหาสิ่งสร้างอย่างผิดๆ” (Aversio voluntaria da Deo per conversionem illicitam ad creaturas)


เมื่อทำบาปเราพยายามทำตัวเราแทนพระเจ้า แสวงหาความสุข และครบครันตามแบบของเรา อีกครั้งอยากเป็นใหญ่ในทุกเรื่องแก่นของกระบวนการของบาปอยู่ในการไม่ยอมรับขอบเขต ความไม่ครบครัน และการเป็นสิ่งสร้างในตัวเรา ทั้งหมดนี้คือการถอยห่างจากพระเจ้าอย่างรู้ตัวและเต็มใจ


เมื่อถอยห่างจากพระเจ้า มนุษย์ก็ยึดสิ่งสร้างเป็นสรณะแทนพระเจ้า พร้อมกันนั้นก็ให้ความสำคัญและคุณค่าแก่สิ่งสร้างเกินกว่าที่มันเป็น มองข้ามความจริงและความถูกต้อง เสาะหาและบริโภคสิ่งสร้างราวกับว่ามันเป็นคุณค่าสูงสุดแห่งชีวิต


เมื่อจมอยู่ในบาป เราก็มาพบว่า เราต้องสูญเสียมากกว่าได้สูญเสียศักดิ์ศรี สูญเสียอิสรภาพ จนกลายเป็นทาสของบาป… ทาสของสัญชาตญาณ ทาสของวัตถุสิ่งสร้าง… ไม่ต่างกับการเสพติดจนในที่สุดก็มาถึงความตระหนักใจว่า การเป็นนายในนรกยังดีกว่าเป็นทาสในสวรรค์


ผลที่ตามมาคือ อิสรภาพในการมอบตนให้เป็นของขวัญแก่ผู้อื่น และอิสรภาพในการรักและรับใช้ผู้อื่นค่อยๆ หมดไป เมื่อบาปมีอำนาจมากขึ้น คนบาปก็ค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการเปลี่ยนแปลง ในการพัฒนา หรือในการสำนึกผิด จนกระทั่งใจแข็งกระด้างและเสียงมโนธรรมดับเงียบลง


บาปจึงทำให้บูรณาการของมนุษย์ต้องเสียความสมดุล ความกลมกลืนระหว่างอารมณ์ จิตวิทยา ชีวิตจิต กายภาค และสติปัญญาลดน้อยลง จนกลายเป็นความขัดแย้ง


บาปทำให้เกิดความแตกแยก เพราะบาปทำลายความสัมพันธ์หรือทำให้ความสัมพันธ์ผิดเพี้ยนไป ยังผลให้ความแตกแยก การกดขี่ การครอบครอง และการยึดติดเข้ามาแทนที่การอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ความกลมกลืนและยุติธรรม คนบาปจึงกลายเป็นคนแปลกหน้ากับตนเองกับผู้อื่น กับสิ่งสร้างและกับพระเจ้า


บาปตั้งอยู่บนการโกหกและความเท็จ นักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารเตือนเราว่าบาปเกลียดแสงสว่างแห่งความจริงและซาตานได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งความเท็จ หนังสือปฐมกาลชี้ให้เราเห็นว่าปีศาจในร่างของงูพยายามโน้มน้าวและชักจูงอาดัมและเอวาด้วยความจริงเพียงครึ่งเดียวที่แฝงไว้ซึ่งการหลอกลวง การบิดเบือนและการสร้างภาพเกินความเป็นจริง “เนื่องจากพวกเขาแลกความจริงของพระเจ้ากับความเท็จ หันไปนมัสการสิ่งสร้างแทนพระผู้สร้าง… พระเจ้าจึงทรงทอดทิ้งพวกเขาให้ตกอยู่ในความปรารถนาฝ่ายต่ำที่จะประพฤติชั่ว” (รม 1,24-25)


บาป เหมือนสิ่งเสพติด นำมนุษย์ไปสู่ความตาย… ความตายฝ่ายจิตใจ ความตายของเหตุผล ความตายของมโนธรรมและความตายนิรันดร… เพราะบาปก่อให้เกิดความรุนแรงทุกชนิดในตนเองในเพื่อนพี่น้องและในสิ่งสร้าง หลายภาษาจึงเรียกบาปหนักว่าบาปแห่งความตาย (mortal sin) เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับรู้พระเจ้าพระองค์จึงทรงทอดทิ้งพวกเขาให้หลงผิดและประพฤติชั่ว ดังนั้น พวกเขาจึงจมอยู่ในความอธรรมทุกชนิด ความเลวทราม ความโลภและความชั่ว มีแต่ความอิจฉาริษยา การฆาตกรรม การทะเลาะวิวาท การทรยศและการอาฆาต การใส่ร้าย การนินทา การเป็นศัตรูกับพระเจ้า การเป็นคนหยาบคาย ความหยิ่งยะโสและโอหัง การทำความชั่วอยู่เสมอ การไม่เชื่อฟังบิดามารดา ความไม่มีสติ ไม่มีเกียรติ ไม่มีความรัก ไม่มีความสงสาร พวกเขาต่างรู้ตัวดีถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ว่า ผู้ประพฤติตนเช่นนี้สมควรจะต้องตาย…” (รม 1,28-32)


สรุปแล้ว คนบาปจึงเหมือนคนเสพติด เขาไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงสร้างเขามา ไม่ยอมให้พระเจ้าเป็นพระเจ้า เที่ยวสร้างโลกจอมปลอมขึ้นมาด้วยการหลอกลวง ไม่ยอมรับความเป็นจริง เลื่อนลายแตกแยกจากคนอื่น และทำลายตนเอง


บุตรคนเล็กต้องรับจ้างเลี้ยงหมู


อาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่ชาวยิวรังเกียจเพราะถือกันว่าการต้องคลุกคลีอยู่กับหมูสกปรกทำให้ไม่บริสุทธิ์และไม่เป็นที่ยอมรับของทางศาสนาด้วย


พระเยซูเจ้าทรงต้องการจะชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม ถึงผลของบาปที่ฉุดกระชากคนบาปให้ตกต่ำ มีมลทิน ทั้งต่อหน้าสังคมและเฉพาะพระพักต์พระเจ้า


“…เขาอยากกินฝักถั่วที่หมูกินเพื่อระงับความหิวแต่ไม่มีใครให้” (ลก 15,16)


จากที่บุตรคนเล็กเคยกินอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เขาต้องลดตัวลงมาแย่งอาหารหมูเพื่อประทังชีวิต คนกินอาหารสัตว์ สัตว์ที่ถือว่าสกปรก ต่ำช้า…


มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่เมื่อคลุกคลีกับความชั่วความประเสริฐก็มีอันต้องลดน้อยลง ยิ่งถ้าเขายอมให้สัญชาตญาณมาเป็นใหญ่และชี้นำความคิด ทรรศนะ และพฤติกรรมของเขาด้วยแล้ว การดำเนินชีวิตของเขาก็ยิ่งจะไม่ต่างไปจากสัตว์ทั้งหลาย


การอยากกินอาหารหมูจึงบ่งบอกถึงการดำเนินชีวิตตามการชี้นำสัญชาตญาณนั่นเอง “พวกเขาจมอยู่ในราคะตัณหาที่เสื่อมทราม” (รม 1,26)


นักบุญเปาโลเรียกการดำเนินชีวิตตามสัญชาตญาณว่าเป็นการดำเนินชีวิตตามความปรารถนาของเนื้อหนังตรงกันข้ามกับการดำเนินชีวิตตามพระจิตเจ้า พร้อมกันนั้นก็แจงให้เห็นว่า เมื่อปล่อยให้ความต้องการตามธรรมชาติมาเป็นใหญ่ บาปต่างๆ เหล่านี้ก็ตามมา นั่นคือ “การผิดประเวณี ความลามกโสมม การปล่อยตัวตามราคะตัณหา การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้เวตมนตร์คาถา การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยกการแบ่งพรรคแบ่งพวก การเมามายการสำมะเลเทเมา ฯลฯ” ต่างกับผู้ที่ประพฤติตนภายใต้การชี้นำของพระจิตผู้ทรงทำให้มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งทำให้เกิดคุณค่างดงามขึ้น กล่าวคือ “ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง” (กท 5, 19-23)


ถึงแม้บุตรคนเล็กจะต้องลดตัวลงมา พร้อมจะกินอาหารหมูเพื่อดับความหิว แต่ก็ไม่มีใครให้เขากิน เหมือนกับบอกเป็นนัยว่า หมูยังมีค่ามากกว่าบุตรคนเล็กเสียอีก ดังนั้น เก็บอาหารหมูไว้เลี้ยงหมูยังจะเป็นประโยชน์กว่า


บาป นอกจากจะลดศักดิ์ศรีของคนทำบาปลงมาอยู่ในระดับของสัญชาตญาณแล้ว ยังทำให้คนที่ทำบาปตกต่ำไปกว่านั้นอีก เพราะในขณะที่สัตว์ดำเนินชีวิตและแสดงออกตามการชี้นำของสัญชาตญาณก็ยังจะอยู่แค่ระดับสัญชาตญาณ แต่มนุษย์นอกจากจะมีการชี้นำของสัญชาตญาณแล้ว เขายังมีสติปัญญาที่ทำให้เขาสามารถเลยระดับสัญชาตญาณไปอีก เช่นว่า ถ้ามนุษย์ดุร้ายและเห็นแก่ตัว การแสดงออกของความดุร้ายและเห็นแก่ตัวไม่อยู่แค่ระดับสัญชาตญาณเท่านั้น แต่สติปัญญายังชี้นำให้การแสดงออกของความดุร้ายและเห็นแก่ตัวเป็นไปในรูปแบบแยบยลและรุนแรงอย่างไม่มีขอบเขต ซึ่งต่างกับสัตว์ทั้งหลายที่จบอยู่แค่ผลประโยชน์ที่ได้รับเดี๋ยวนั้น


เมื่อชั่วร้าย มนุษย์มักจะชั่วร้ายมากกว่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะสติปัญญาของเขา


พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมในการบรรยายถึงสภาพของบุตรคนเล็กที่คนถือว่ามีคุณค่าน้อยกว่าหมู ถึงขนาดไม่มีใครยอมให้เขากินอาหารหมู ในเวลาเดียวกัน ก็ทรงตอกย้ำว่าคนที่ห่างไกลไปจากพระเจ้าก็มักจะไม่ได้รับความรักและความเมตตาจากมนุษย์ด้วยกัน .



2 Cfr. Patrick McCormick, C.M., Sin as Addiction, pp. 149-151.