Way of Spirit|1 page 5

ชีวิตผู้รับเจิม


ศีลแห่งการคืนดี


เมื่อเปรียบเทียบระหว่างบาปและความหนักของความผิดที่เราทำกับวิธีการของพระเจ้าเพื่อยกโทษให้เราทางศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีนั้นดูช่างไม่สมดุลย์กันเลย


เราคงเข้าใจศีลแห่งการคืนดีไม่ได้หากไม่มองจากความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราแต่ละคน ความรักที่แสดงออกในท่าทีเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ


ความผิด นอกจากจะมีความหนักเบาในตัวมันเองแล้วยังมีตัวแปรอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ความผิดนั้นหนักมากหนักน้อย นั่นคือ บุคคลที่รับผลจากความผิดนั้น ยิ่งบุคคลนั้นยิ่งใหญ่สูงศักดิ์… ความผิดที่ทำก็ยิ่งหนักขึ้น

บาปที่เราทำ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อบุคคล ตัวเราเองหรือบุคคลอื่น ที่เราทำผิดแล้ว ยังเป็นความผิดต่อพระเจ้าด้วยเสมอ


ดังนั้น แม้จะเป็นความผิดที่ทำต่อตัวเราและคนอื่นที่เป็นแค่มนุษย์ แต่ตัวเราแต่ละคนและคนอื่นแต่ละคนต่างก็มีความเป็นพระฉายาและเป็นบุตรของพระเจ้าด้วย ความผิดจึงหนักขึ้นเพราะศักดิ์ศรีที่สูงส่งนี้


ความผิดทุกอย่างที่ทำต่อมนุษย์ ไม่ว่าใคร จึงเป็นความผิดต่อพระเจ้าด้วย…อย่างเลี่ยงไม่ได้


กระนั้นก็ดี ทุกครั้งที่เราเสียใจในความผิดที่เราทำสารภาพและขออภัยจากพระเจ้าในศีลแห่งการคืนดี พระองค์ก็ทรงยกโทษให้เราด้วยวิธีการที่เรียบง่ายแต่ทรงประสิทธิภาพโดยมีความรักของพระองค์เป็นประกัน


เรื่องการรักษาโรคเรื้อนของนาอามันที่มีการกล่าวถึงในพันธสัญญาเดิมช่วยสะท้อนให้เราเห็นความจริงในเรื่องนี้ได้ระดับหนึ่ง


เมื่อทราบจากทาสหญิงชาวอิสราเอลที่เป็นเด็กรับใช้ของภรรยาว่ามีประกาศกคนหนึ่งในประเทศอิสราเอลที่สามารถรักษาโรคเรื้อนได้ นาอามันซึ่งเป็นแม่ทัพของซีเรียได้ไปทูลให้กษัตริย์ซีเรียทรงทราบ แล้วก็ถือพระราชสารของกษัตริย์ตราทัพไปอิสราเอลพร้อมกับเครื่องบรรณาการ เมื่อไปถึงหน้าบ้านของประกาศกเอลีชา นาอามันก็คิดว่าประกาศกจะออกมาและทำพิธี…สวดและโบกมือเหนือแผลแล้วแผลก็หาย… แต่ปรากฎว่าประกาศกไม่ได้ออกมาด้วยซ้ำแค่ส่งลูกศิษย์คนหนึ่งออกมาบอกนาอามันให้ไปจุ่มตัวในแม่น้ำจอร์นแดน 3 ครั้ง นาอามันเป็นเดือดเป็นแค้น ทำท่าจะยกทัพกลับไปด้วยความผิดหวัง แต่คนใช้คนหนึ่งพูดให้สติว่า ถ้าประกาศกสั่งให้ทำอะไรยากๆ ก็คงทำ แต่นี่แค่ไปจุ่มน้ำในแม่น้ำจอร์นแดน 3 ครั้งก็จะหาย… นาอามันได้สติก็ไปที่แม่น้ำจอร์นแดนเพื่อจุ่มตัว พระคัมภีร์บอกว่าหลังจุ่มครั้งที่ 3 ขึ้นมาแล้วผิวหนังของนาอามัน เหมือนทารกที่พึ่งเกิดใหม่ (2 พกษ 5)


พระเจ้าทรงเลือกวิธีธรรมดาๆ เพื่อลบล้างบาปและทำให้เรามีดวงวิญญาณบริสุทธิ์… เหมือนเมื่อแรกเริ่ม


คนต่างศาสนา เมื่อได้ยินเกี่ยวกับศีลแห่งการคืนดี อดพิศวงไม่ได้ว่าทำไมคาทอลิกจึงมีโอกาสได้ลบล้างบาปง่ายอย่างนั้น ทั้งๆ ที่พวกเขาต้องทำอะไรมากมายเพื่อลบล้างบาปและความผิด และไม่แน่ใจได้อย่างเต็มที่ถึงประสิทธิผลของสิ่งที่พวกเขาทำ


พระเจ้าทรงยืนยันทางประกาศกอิสยาห์ถึงสิ่งที่พระองค์จะทรงทำเมื่อเราทำผิด สำนึกและขอโทษพระองค์ “พระเจ้าตรัสว่า ‘มา เรามาตกลงกัน ถ้าเจ้าเปื้อนสีแดงด้วยบาป แต่เราจะล้างเจ้าให้เป็นเหมือนหิมะ แม้ว่ารอยเปื้อนของเจ้าจะสีแดงเข้มเจ้าจะขาวเหมือนผ้าขนสัตว์’” (อสย 1,18)


นั่นเป็นวิถีของพระเจ้า ผู้ทรงเข้าใจในความอ่อนแอของมนุษย์และทรงรักด้วยความรักที่ไม่มีเงื่อนไข


กระนั้นก็ดี ตราบใดที่ยังมองบาปในแง่ของความหนักความเบา เราก็ยังไม่เข้าถึงความร้ายกาจของบาป


เฉพาะคนที่มองบาปจากมุมมองของความรัก จึงจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งถึงความเลวร้ายของบาปและมีความพยายามที่จะหลีกหนีบาป แม้ที่ถือกันว่าเป็นบาปเบา เพราะเมื่อบาปโยงไปถึงความรัก ความหนักและความเบาของบาปขึ้นอยู่กับการรักมากรักน้อยด้วย กล่าวคือ แม้จะเป็นความผิดเดียวกัน แต่สำหรับคนที่รักมากก็ย่อมจะเสียใจมาก ในขณะที่คนที่รักน้อยหรือแทบไม่ได้รักกันเลย ย่อมจะเสียใจน้อยหรือแทบจะไม่รู้สึกเสียใจเลยก็ว่าได้


พระเจ้าในฐานะพระผู้สร้างและพระบิดาทรงรักมนุษย์อย่างที่สุด รักแม้กระทั่งส่งพระบุตรของพระองค์ลงมาไถ่กู้มนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป


บาปที่แม้แต่เล็กน้อย ก็ทำให้พระองค์เสียใจมาก เพราะพระองค์ทรงรักมาก


ผู้ที่เข้าถึงความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้า นักบุญและผู้ศักดิ์สิทธิ์ ต่างก็รู้ดีถึงความเลวร้ายของความผิดและบาป แม้ความผิดเล็กน้อยหรือบาปเบา


การรับศีลแห่งการคืนดีจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการลบล้างความผิดและบาปอย่างเดียว แต่เป็นการเรียกร้องของความรัก ความรักที่ต้องเสียใจเพราะความผิดและบาป ความรักที่ต้องแตกร้าวเพราะความผิดและบาป


สำหรับผู้ที่มองความผิดและบาปจากแง่ของความรักย่อมจะเข้าใจดีว่า ความผิดต่อความรักนั้นต้องชดเชยด้วยความรักอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อสำนึกว่าได้ทำผิดต่อความรักก็ต้องชดเชยด้วยความรักที่มากขึ้น


เมื่อมองจากแง่นี้ ศีลแห่งการคืนดีจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์เพื่อการพัฒนาชีวิตจิต เพราะเป็นการเพิ่มความรักและความร้อนรนอย่างดียิ่ง นอกนั้นพระหรรษทานแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ช่วยเพิ่มความเข้มแข็ง ความเด็ดเดี่ยวและความมั่นคงในการดำเนินชีวิตด้วยความรักและความดีอีกด้วย


เอกสาร Vita Consecrata เน้นความสำคัญของศีลแห่งการคืนดีสำหรับผู้ที่เลือกเดินในเส้นทางฝ่ายจิตตามเยี่ยงอย่างของพระเยซูเจ้า โดยกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “นอกจากนี้ (ผู้รับการเจิม) ก็ยังมีการผูกมัดตนในอันที่จะกลับใจตลอดไปและชำระตนให้บริสุทธิ์อันเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งบุคคลผู้รับการเจิมปฏิบัติอยู่ในศีลแห่งการคืนดีหรือศีลอภัยบาป จากการได้พบกับพระเมตตากรุณาของพระเจ้าอยู่เนืองๆ บุคคลผู้รับการเจิมก็ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์และรื้อฟื้นจิตใจเสียใหม่ และอาศัยการสำนึกในความผิดบาปของตนด้วยใจสุภาพถ่อมตน ก็ทำให้การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับพระเจ้าก็มีความโปร่งใสบนเส้นที่เดินร่วมกันไปกับพี่น้องชายหญิงทั้งหลาย ประสบการณ์อันน่ายินดีของการได้รับอภัยในศีลอภัยบาป ก็ทำให้ใจหมดความดื้อดึงและรุมเร้าให้ผูกมัดตนในการถือซื่อตรงยิ่งขึ้นอีก” (95)

ความสำคัญของศีลแห่งการคืนดีสำหรับความก้าวหน้าของชีวิตฝ่ายจิตนั้นเห็นได้ชัดในข้อกำหนดหรือในธรรมวินัยของคณะนักบวชต่างๆ ซึ่งก็มักจะพูดในทางส่งเสริมให้มีการพบกับพระเจ้าในศีลแห่งการคืนดีนี้บ่อยๆ บ้างก็กำหนดเป็นรายสัปดาห์ บ้างก็กำหนดเป็นรายสองสัปดาห์ พร้อมกับมีการเสนอแนะให้รับศีลแห่งการคืนดีนี้ทุกครั้งที่จำเป็น ฯลฯ เพราะต่างก็ตระหนักดีว่าในเส้นทางชีวิตฝ่ายจิตและเส้นทางแห่งการติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิดนี้ การพบปะกับความรักและพระเมตตาของพระเจ้าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้


น่าเสียดายที่หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ศีลแห่งการคืนดีตามคำแนะนำของเอกสาร Vita Consecrata บ้างก็รับศีลแห่งการคืนดีเพราะต้องทำตามการกำหนดของพระวินัยมากกว่าเพราะความรู้สึกจำเป็น บ้างก็เหินห่างศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ไป อันเป็นผลมาจากการที่นโนธรรมที่ขาดความละเอียด หรือเพราะตามกระแสของสังคมที่พากันมองว่าสิ่งที่เป็นบาปนั้นมีน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ และใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น เป็นต้น


เพื่อสนับสนุนให้มีการรับศีลแห่งการคืนดีอันเป็นเส้นทางหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาชีวิตจิต พระศาสนจักรเชื้อเชิญผู้ได้รับการเจิมให้เห็นความสำคัญของการพิจารณามโนธรรมประจำวัน ซึ่งเป็นเหมือนกับการทบทวนชีวิตแต่ละวัน ทั้งในด้านความดีและความก้าวหน้า ทั้งในด้านบกพร่องและความเย็นชา เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการฟื้นฟูและการพัฒนาแต่ละวัน


คุณพ่ออัคราธิการซาเลเซียน ปัสกวัล ชาเวส เห็นในความสำคัญของการพิจารณานโมธรรมและเสนอวิธีการพิจารณามโนธรรมด้วยพระวาจาของพระเจ้า คุณพ่อพูดว่า “เราไม่สามารถทำการวินิจฉัยได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าในระดับบุคคลหรือระดับหมู่คณะถ้าไม่มีการพิจารณามโนธรรมประจำวัน… จึงต้องจัดให้มีเงื่อนไขจำเป็นเพื่อให้สมาชิกแต่ละคนสามารถให้ความหมายแห่งเอกภาพที่ลึกซึ้งแก่ชีวิตและการกระทำของตนด้วยการวินิจฉัยแบบพระวรสารในท่าทีแห่งการเสาะหาน้ำพระทัยพระเจ้า… การพิจารณามโนธรรมไม่ใช่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาวนาค่ำ แต่เป็นเส้นทางที่นำไปสู่วุฒิภาวะด้านจิตใจอย่างแท้จริง…การพิจารณามโนธรรมจึงเป็นการภาวนาอย่างหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาอยู่ที่ความเป็นอยู่ของตนเองและมีเป้าหมายอยู่ในการรับรู้แผนการของพระเจ้าสำหรับตน พร้อมกับรับผิดชอบให้มันเป็นไปตามแผนการของพระองค์ เป้าหมายและผลของการพิจารณามโนธรรมคือการสำรวจร่องรอยแห่งการประทับอยู่และกิจการของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา เช่น นี้ การพิจารณามโนธรรมนำเราไปสู่การค้นพบความหมายของชีวิตของเรา…” (AGC 386 หน้า 43-44)

นอกนั้น คุณพ่อปัสกวัล ชาเวส ยังเสนอรูปแบบและขั้นตอนการพิจารณามโนธรรมไว้อย่างละเอียดซึ่งสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล คุณพ่อบอกว่าการพิจารณามโนธรรมต้องมีการตั้งตัวอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า การโมทนาคุณพระเจ้าการยอมรับถึงหนี้ที่เรามีกับพระองค์ พันธะในการกลับใจ และพลังเพื่อดำเนินชีวิตสัตย์ซื่อต่อกระแสเรียก (เทียม AGC 386 หน้า 46-49) ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีพระวาจาของพระเจ้าที่นำไป

ใครที่เข้าหาพระเจ้า องค์ความศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ย่อมจะรู้สำนึกในการเป็นคนบาปและการที่ยังไม่ครบครันแห่งตน

นี่คือที่มาแห่งการกลับใจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาจะเกิดขึ้นหากมีความรู้สึกว่ายังไม่พอใจในสิ่งที่เป็นและในสิ่งที่มี นี่คือที่มาของการประดิษฐ์ทุกอย่างซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าและการพัฒนาในทุกระดับ

การพบปะกับพระเจ้าในศีลแห่งการคืนดีนั้น นอกจากจะพบกับความรักและพระเมตตาของพระองค์แล้ว เรายังเกิดความรู้สึกยังไม่พอใจในสภาพที่เราเป็นอันนำไปสู่ความมุ่งมั่นจะพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน .