Way of Spirit|6 page 2

ชีวิตจิตซาเลเซียน1



ชีวิตจิตเป็นความสัมพันธ์กับพระเจ้า ซึ่งไม่เพียงอยู่ในการสวดภาวนา การทำกิจศรัทธา หรือการร่วมพิธีกรรมเท่านั้น หากแต่เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการพบกับพระเจ้า เห็นว่าพระองค์ทรงความดีและความรักยิ่งใหญ่ เห็นถึงการกระทำของพระเจ้าที่มาจากความเมตตาและความสงสารต่อมนุษย์ จนกระทั่งกลายเป็นความซาบซึ้งและเป็นความตระหนักใจว่าพระองค์ทรงให้รูปแบบครบครันแห่งการเป็นมนุษย์และเพื่อจะเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ มนุษย์ต้องปฏิบัติตามแผนการ คำสอน และแบบอย่างของพระองค์ในความดี ความรัก ความเมตตาและความสงสาร


พระเยซูเจ้าทรงผู้ทรงเป็นพระเจ้าและมนุษย์แท้ ได้ทรงเผยความดี ความรัก ความเมตตาและความสงสารของพระเจ้าให้เราเห็นเป็นรูปธรรม หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงเป็นความดี ความรัก ความเมตตาและความสงสารของพระเจ้าที่รับเอากายเป็นเลือดเนื้อ ตลอดชีวิตของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเผยแสดงองค์พระเจ้าให้มนุษย์เห็นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยชีวิตของพระองค์ ด้วยคำสอนและด้วยการกระทำของพระองค์ พร้อมกับทรงยืนยันว่า การจะเป็นเหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์นั้นต้องมีความรักเป็นที่ตั้ง รักพระเจ้าและรักเพื่อนพี่น้องจึงเป็นสรุปยอดของธรรมบัญญัติและกฎหมายทั้งปวง ในเวลาเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญ ทรงรบเร้า ให้เราเลียนพระบิดาเจ้าสวรรค์ “ฉะนั้น ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความีดอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5,48)


นี่คือสารัตถะแห่งชีวิตจิต นี่คือชีวิตจิตคริสตชน นี่คือชีวิตซาเลเซียน


ความรักอภิบาล


ในบทตอนก่อนๆ เราเห็นภาพลักษณ์ของผู้มีชีวิตจิตจากตัวอย่างของคุณพ่อบอสโก นั่นคือ ความเป็นมนุษย์ที่ลึกซึ้งและเปิดตนทั้งให้แก่พระเจ้า ความกลมกลืนระหว่างสองมิตินี้แสดงออกมาในโครงการชีวิตที่จริงจังและเด็ดเดี่ยว นั่นคือ การรับใช้เยาวชน “คุณพ่อบอสโกไม่เคยริเริ่มอะไร กล่าวคำใด และไม่ลงมือทำกิจการใด หากไม่มีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยเยาวชนให้รอด”2


หากเรามองดูโครงการของคุณพ่อบอสโกเพื่อเยาวชน เราจะพบว่ามี “หัวใจ” เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งไม่ซ้ำแบบใคร “หัวใจของคุณพ่อมีแต่คิดจะช่วยวิญญาณให้รอด”3


สิ่งที่ก่อให้เกิดเอกภาพในชีวิตของคุณพ่อบอสโกคือ การอุทิศตนเพื่อเยาวชนและส่งทอดประสบการณ์เกี่ยวกับพระเจ้าให้พวกเขา การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องของความใจกว้างอย่างเดียว หากแต่เป็นความรักอภิบาล ซึ่งเป็น “ศูนย์กลางและเนื้อหาสำคัญ” ของจิตตารมณ์ซาเลเซียนนั่นเเอง4


ศูนย์กลางและเนื้อหาสำคัญ” เป็นตัวยืนยันพันธกิจ เป็นการง่ายที่จะพูดถึงรายการของลักษณะแห่งจิตตารมณ์ซาเลเซียนโดยไม่ถือเป็นพันธะในอันที่จะทำให้ลักษณะเหล่านี้เป็นความจริงขึ้นมาตามลำดับความสำคัญ เราจึงจ้องเข้าไปในจิตวิญญาณของคุณพ่อบอสโกหรือของซาเลเซียนคนใดคนหนึ่งเพื่อค้นหาสิ่งที่ทำให้เกิดรูปแบบที่แตกต่างไปจากคนอื่น

เพื่อจะเข้าใจว่า “ความรักอภิบาล” ประกอบด้วยอะไร ให้เราทำตามสามขั้นตอนนี้ กล่าวคือ พิจารณาทีละประเด็น เริ่มจากความรัก แล้วนั้นการอภิบาล และจบด้วยความรักอภิบาลซาเลเซียน


  1. ความรัก

นักบุญฟังซิส เดอ ซาลส์ กล่าวว่า “บุคคลคือความครบครันของจักรวาร ความรัก (love) คือความครบครันของบุคคล ความรักเมตตา (charity) คือความครบครันแห่งความรัก”5


คำพูดของท่านนักบุญบ่งบอกถึงรูปแบบสี่อย่างของชีวิตมนุษย์ นั่นคือ การเป็น การเป็นบุคคล ความรักที่อยู่เหนือรูปแบบของความสำนึกและความสัมพันธ์มนุษย์ และความรักเมตตาซึ่งเป็นการแสดงออกสูงสุดแห่งความรัก

ความรักคือวุฒิภาวะขั้นสูงส่งของบุคคล ไม่ว่าเขาจะเป็นคริสตชนหรือไม่ก็ตาม การอบรมจึงเป็นการชี้นำบุคคลให้สามารถมอบตนให้ผู้อื่น สามารถรักด้วยความเมตตาใจดี


นักจิตวิทยายืนยันว่าคนที่มีบุคลิกครบครันและเป็นสุขจะเป็นคนใจกว้างและไม่เห็นแก่ตัว ความรักของเขาหลุดพ้นการชี้นำของตัณหา กล่าวคือ ไม่หมกมุ่นอยู่กับความพึงพอใจที่มีคนรักตน ความเครียดและความยุ่งยากด้านจิตวิทยามักจะมาจากการที่เอาแต่ตนเป็นใหญ่ สนใจแต่ตนเองอย่างเดียว เพื่อบำบัดอาการเหล่านี้ จิตแพทย์มักจะแนะนำคนป่วยให้รู้จักมองออกจากตนเองและให้ความสนใจคนรอบข้าง


ความรักเมตตาเป็นเป้าหมายของชีวิตจิตทุกชนิด ไม่ใช่เป็นแค่พระบัญญัติที่สำคัญข้อแรกอย่างเดียว หากแต่เป็นโปรแกรมหลักในการเดินไปในเส้นทางแห่งชีวิตจิต ในเวลาเดียวกันก็เป็นแหล่งที่มาของพลังเพื่อก้าวหน้าไปในเส้นทางสายนี้ด้วย ในเรื่องนี้ น.เปาโล6 และ น. ยอห์น7 ได้พูดไว้อย่างละเอียดและชัดเจน


เราจะนำมาพิจารณาบางประเด็นที่เป็นแก่นสำคัญ


ความรักเมตตาที่เกิดขึ้นมาในตัวเรา เป็นพระธรรมล้ำลึกและพระหรรษทาน ไม่ได้มาจากการริเริ่มของมนุษย์ แต่เป็นการร่วมมีส่วนในชีวิตพระและเป็นผลของการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าในตัวเรา เราไม่สามารถรักพระเจ้าได้หากพระเจ้าไม่ได้ทรงรักเราก่อน พระองค์ทรงทำให้เรารู้ถึงความรักนี้และลิ้มรสความรักของพระองค์ จากนั้นเราจึงพร้อมที่ตอบรักพระองค์ เราไม่สามารถรักเพื่อนพี่น้องและเห็นภาพลักษณ์พระเจ้าในตัวพวกเขาได้ หากเรายังไม่มีประสบการณ์แห่งความรักของพระเจ้าแบบตัวต่อตัวเสียก่อน


ความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเราแผ่นซ่านในดวงใจของเราผ่านทางพระจิตผู้ที่พระเจ้าประทานให้เรา”8 ส่วนความรักประสามนุษย์ก็ยากจะอธิบายด้วยเหตุผลได้ เพราะเหตุนี้ ความรักจึงทำให้ตาบอด ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าทำไมคนหนึ่งจึงตกหลุมรักอีกคนหนึ่งได้


ความรักที่ทำให้เราร่วมมีส่วนในชีวิตพระและเป็นหนึ่งเดียวอย่างลึกลับกับพระเจ้าทำให้เราสามารถค้นพบและเข้าถึงพระเจ้าได้ ศาสนาที่ไม่มีความรักเมตตาจะเป็นศาสนาที่ห่างไกลจากพระเจ้า ความรักแท้ แม้จะเป็นความรักประสามนุษย์ทำให้คนห่างไกลเข้าใกล้ความเชื่อและบริบทของศาสนาได้ นิทานเปรียบเทียมเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีสะท้อนให้เราเห็นความจริงนี้ได้ดี


นักบุญยอห์นสรุปว่า “ท่านที่รักทั้งหลาย เราจงรักกันและกัน เพราะความรักมาจากพระเจ้าและทุกคนที่มีความรักย่อมบังเกิดจากพระเจ้าและรู้จักพระองค์ ผู้ไม่มีความรัก ย่อมไม่รู้จักพระเจ้า เพราะพระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1ยน 4,7-8) ความหมายของคำว่า “รู้จัก” คือ “การมีประสบการณ์” จึงไม่ใช่การมีข้อมูลของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ใครรักพระเจ้าก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับพระองค์


เนื่องจากความรักช่วยทำให้เรารู้จักพระเจ้าด้วยประสบการณ์ ความรักจึงทำให้เราชื่นชอบพระองค์ “ในเวลานี้เราเห็นพระเจ้าเพียงรางๆ เหมือนเห็นในกระจกเงา แต่เมื่อถึงเวลานั้น เราจะเห็นพระองค์เหมือนพระองค์ทรงอยู่ต่อหน้าเรา เวลานี้ ข้าพเจ้ารู้อย่างไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อถึงเวลานั้น ข้าพเจ้าจะรู้แจ้งเหมือนที่พระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า” (1คร 13,12)


ดังนั้น ความรักจึงไม่ใช่เป็นฤทธิ์กุศลประการหนึ่ง แต่เป็นต้นแบบและแก่นของฤทธิ์กุศลทุกประการและของทุกสิ่งที่เป็นองค์ประกอบแห่งความเป็นบุคคล “แม้ข้าพเจ้าพูดภาษาของมนุษย์และของทูตสวรรค์ได้...แม้ข้าพเจ้าจะประกาศพระวาจา...แม้ข้าพเจ้าจะมีความเชื่อพอที่จะเคลื่อนภูเขาได้...แม้ข้าพเจ้าจะแจกจ่ายทรัพย์สินทั้งปวงให้แก่คนยากจน...แต่ถ้าไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็มิได้รับประโยชน์อันใด” (1คร 13,1-13)


ความรักเมตตาและสิ่งที่เป็นผลตามมาจะคงอยู่ถาวร “ความรักไม่มีสิ้นสุด แม้การประกาศพระวาจาจะถูกยกเลิก แม้การพูดภาษาที่ไม่มีใครเข้าใจจะยุติ แม้ความรู้จะหมดสิ้นไป...เมื่อสิ่งสมบูรณ์มาถึง ความไม่สมบูรณ์จะสูญสิ้นไป” (1คร 13,8) สิ่งใดที่มีความรักเป็นที่ตั้งจะคงอยู่ถาวรและเสริมสร้างตัวเรา หมู่คณะของเรา สังคมของเรา ในขณะที่สิ่งใดมีความเกลียดชังและความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้งก็จะสูญสลายไปไม่เร็วก็ช้า


ดังนั้น ความรักเมตตาจึงยิ่งใหญ่กว่าหมดและเป็นรากฐานของพระพรพิเศษทุกอย่างที่สร้างพระศาสนจักรและกระทำในพระศาสนาจักร หลังจากที่ได้อธิบายถึงเป้าหมายและพันธะของพระพรพิเศษต่างๆแล้ว น.เปาโลเริ่มกล่าวถึงความรักเมตตาด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ “ท่านทั้งหลายจงพยายามแสวงหาพระพรพิเศษที่ประเสริฐยิ่งกว่านี้เถิด ข้าพเจ้าจะชี้ทางที่ดีกว่าให้ท่าน” (1คร 12,31)


ความรักเมตตาเป็นพระพรพิเศษหลักที่แสดงออกมาในท่าทีประจำวัน ไม่หวือหวา ไม่มีอะไรพิเศษ อาทิ ในความอดทน เอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตน ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว ยินดีในความถูกต้อง ให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง (เทียบ 1คร 13,4-6)


สำหรับคุณพ่อบอสโกและคุณแม่มัซซาเรลโล ดังเช่นนักบุญทั้งหลาย ความรักเมตตาคือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตของพวกเขามุ่งไปที่ความรักเมตตา เราเองคงเคยมีประสบการณ์อย่างนี้ด้วยเหมือนกันเมื่อร่วมมีส่วนกิจกรรมแห่งความรักเมตตา และเมื่อสัมผัสกับความรักเมตตานี้อย่างเข้มข้นแล้ว เราเองก็สามารถพูดถึงความรักเมตตานี้ได้อย่างน่าประทับใจเช่นกัน


ในความฝันของคุณพ่อบอสโกเรื่องเพชร ความรักเมตตาอยู่ข้างหน้าและอยู่ในใจกลางของบุคคลในฝัน “เพชรสามเม็ดใหญ่อยู่กลางอก...เม็ดที่อยู่ตรงหัวใจมีเขียนคำว่า ความรักเมตตา9 และนี่คือแก่นแห่งจิตตารมณ์ซาเลเซียน


นอกนั้น ผู้ตั้งคณะของเราแนะนำเราให้ใช้ความรักเมตตาเป็นฐานแห่งชีวิตหมู่คณะ เป็นหลักการสำหรับการอบรม เป็นต้นแหล่งแห่งความศรัทธา เป็นตัวสร้างความสมดุลและความสุขของชีวิตเรา เป็นฐานของการปฏิบัติฤทธิ์กุศลต่างๆ ของมิตรภาพ ของมารยาทผู้ดี และของการสละผลประโยชน์ส่วนตัว


พระวินัยของเราระบุว่า ความรักเมตตาคือเป้าหมายของชีวิตนักบวช “เป็นเส้นทางเดินไปสู่ความรัก”10 สิ่งที่พระวินัยกำหนด ไม่ว่าจะเป็นแนวปฏิบัติหรือวินัย ข้อกำหนดหรือคำสอนฝ่ายจิต ล้วนแต่ช่วยให้เรารู้จักต้อนรับและรับใช้ผู้อื่นด้วยใจกว้างขวางทั้งนั้น



  1. ความรักอภิบาล

ความรักเมตตาแสดงออกมาในหลายรูปแบบ อาทิ ความรักของแม่ ความรักของสามี-ภรรยา ความเอื้อเฟื้อ ความเมตตาสงสาร เป็นต้น ในประวัติศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ ความรักเมตตาครอบคลุมทุกบริบทของชีวิตมนุษย์


ในบริบทซาเลเซียน เราพูดถึง “ความรักอภิบาล” ซึ่งมีให้เห็นหลายต่อหลายครั้งในพระวินัย เอกสารและคำบรรยายต่างๆ พระสังคายนาพูดถึงความหมายของ “ความรักอภิบาล” ได้อย่างชัดเจนเมื่อระบุว่าความรักอภิบาลเป็นการอบรมสู่ความเชื่อ “ผู้ที่มีบทบาทในการอบรมสู่ความเชื่อจะได้รับพระหรรษทานแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ เพื่อว่าเมื่อพวกเขาสวด ช่วยคนให้ศักดิ์สิทธิ์และเทศน์...พวกเขากลับเป็นศาสนบริกรแห่งความรักอภิบาล พวกเขาไม่กลัวที่จะมอบชีวิตให้แก่ลูกแกะ ทำตัวเป็นแบบอย่างให้แก่ฝูงแกะ เป็นแบบอย่างไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ในพระศาสนจักร”11


ความรักอภิบาล” ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบอย่างหนึ่งของความรักเมตตา โดยโยงไปถึงแบบอย่างของพระเยซูเจ้าทรงเป็นนายชุมพาบาลที่ดี (เทียบ ยน 10) ไม่เพียงในแง่ของความใจดี การตามหาแกะที่หลงฝูง การพูดคุย การให้อภัย เท่านั้น แต่เหนืออื่นใด ในแง่ของสารัตถะของศานบริการด้วย กล่าวคือ การเผยแสดงพระเจ้าให้แก่มนุษย์แต่ละคน ทั้งชายและหญิง


ความรักอภิบาลจึงต่างกับรูปแบบอื่นๆของความรักซึ่งมักจะเน้นให้ความสนใจแก่คนขัดสน ทั้งด้านสุขภาพ อาหาร และงาน


ลักษณะจำเพาะของความรักอภิบาลคือการประกาศพระวรสาร การอบรมสู่ความเชื่อ การสร้างหมู่คณะคริสตชน การเป็นเชื้อแป้งแห่งพระวรสารในบริบทของสังคม ความรักอภิบาลเรียกร้องให้มีความพร้อมสรรพและการอุทิศตนเพื่อความรอดของมนุษย์ ของคนแต่ละคน แม้เพียงคนเดียวเท่านั้น คุณพ่อบอสโกและซาเลเซียนแสดงออกซึ่งความรักนี้ในวิลีที่ว่า “ขอแต่วิญญาณ เอาสิ่งอื่นไปเถอะ”


คณะนักบวชและสถาบันชีวิตจิตทั้งหลายมักจะมีวลีสั้นๆที่เป็นเหมือนหัวใจของของพระพรพิเศษของตน อาทิ “เพื่อพระสิริมงคลยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” ของคณะเยซูอิต “สันติภาพและความดี” เป็นคำทักทายของคณะฟรังซิสกัน “สวดและทำงาน” เป็นโปรแกรมชีวิตของคณะเบเนดิกติน “รำพึงพิศเพ่งและมอบสิ่งที่รำพึงพิศเพ่งให้แก่ผู้อื่น” เป็นกฎของคณะดอมินิกัน


สำหรับคณะซาเลเซียน หลังจากที่ได้มีการศึกษาและพิจารณาไตร่ตรองมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ทางคณะได้มาถึงข้อสรุปว่า ชีวิตจิตซาเลเซียนคือ “Da mihi animas” (ขอแต่วิญญาณ)


คุณพ่อบอสโกมักจะพูดบางคำซ้ำไปซ้ำมา คำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะชีวิตจิตของคุณพ่อ คติพจน์ที่ดอมินิค ซาวีโอ เห็นติดอยู่บนกำแพงในห้องทำงานของคุณพ่อบอสโกซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่พระสงฆ์หนุ่ม (34 ปี) สร้างความประทับใจให้แก่เขาอย่างมาก จนต้องพูดออกมาว่า “ผมเข้าใจแล้ว ที่นี่ไม่มุ่งธุรกิจเกี่ยวกับเงินทอง เน้นแต่วิญญาณอย่างเดียว ผมเข้าใจแล้ว ผมหวังว่าวิญญาณของผมจะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ด้วย”12 ดอมินิคเข้าใจว่า คุณพ่อบอสโกไม่เพียงแต่ให้ที่อยู่และการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่เหนืออื่นใด ให้โอกาสที่จะเติบโตด้านชีวิตจิตด้วย


ในพิธีกรรมฉลองนักบุญยอห์น บอสโก มีคำภาวนาที่บ่งบอกถึงสารัตถะของชีวิตซาเลเซียนว่า “โปรดให้เรามีความรักอภิบาลเดียวกัน ซึ่งทำให้เราแสวงหาวิญญาณ เพื่อรับใช้พระองค์ผู้ทรงความดีหนึ่งเดียวและสูงสุดด้วยเทอญ”


คุณพ่อบอสโกมีเป้าหมายชัดเจนเมื่อจะตั้งคณะซาเลเซียน “เป้าหมายของคณะนี้คือ สมาชิกของคณะรวมตัวกันเพื่อทำในสิ่งที่น.ออกัสตินได้เขียนไว้ว่า “divinorum divinissimum est in lucrum animarum operare” (กิจการเพื่อได้มาซึ่งวิญญาณเป็นกิจการสูงส่งแห่งพระเจ้า)13


ในประวัติศาสตร์ของคณะมีการบันทึกว่า “ค่ำวันที่ 26 มกราคม 1854 พวกเขามาประชุมกันในห้องของคุณพ่อบอสโกและมีการเสนอให้ทดลองปฏิบัติความรักเมตตาโดยความช่วยเหลือของพระเจ้าและของน.ฟรังซิส เดอ ซาลส์...แล้วนั้นก็มีการตั้งชื่อคนที่ประสงค์จะทดลองปฏิบัติความรักเมตตานี้ว่า ซาเลเซียน14


อัคราธิการซาเลเซียนแต่ละคนได้สานต่อความตะหนักใจนี้ต่อจากคุณพ่อบอสโก เป็นความตระหนักใจที่เกิดขึ้นมาเองและไม่มีใครเคยสงสัยในเรื่องนี้


คุณพ่อรัวได้กล่าวยืนยันถึงกระบวนการนี้ว่า... ปล่อยให้คนอื่นสะสมทรัพย์สมบัติ...วิ่งหาชื่อเสียงเกียรติยศ แต่คุณพ่อบอสโกไม่สนใจเรื่องใดนอกจากวิญญาณและยืนหยัดเช่นนั้นไม่ใช่ด้วยคำพูด แต่ด้วยการกระทำ Da mihi animas, coetera tolle”


คุณพ่ออัลเบราซึ่งคุ้นเคยกับคุณพ่อบอสโกมานานยืนยันว่า “แรงบันดาลใจหนึ่งเดียวของคุณพ่อบอสโกคือทำงานเพื่อวิญญาณ ถึงขนาดพร้อมจะพลีตนเพื่อช่วยวิญญาณให้รอด...อาจจะพูดได้ว่า นี่คือเหตุผลเดียวของการมีชีวิตของคุณพ่อ”15


คุณพ่อรีนัลดีมองลึกเข้าไปในแรงจูงใจในการกระทำของคุณพ่อบอสโกและเห็นว่า “Da mihi animas” เป็นเคล็ดลับแห่งความรัก พลัง และความเร่าร้อนแห่งความรักเมตตาของคุณพ่อ


เมื่อเทียบชีวิตซาเลเซียนกับคำสอนของสังคายนาวาติกันที่ 2 คุณพ่อวีกาโน่กล่าวว่า “พ่อมั่นใจว่าไม่มีคำพูดใดที่สามารถสรุปจิตตารมณ์ซาเลเซียนได้ดีไปกว่าคำพูดที่คุณพ่อบอสโกได้เลือกไว้ นั่นคือ Da mihi animas, coetera tolle


คำพูดนี้บ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งอันร้อนรนกับพระเจ้าที่บันดาลให้เราเจาะลึกเข้าไปถึงพระธรรมล้ำลึกของชีวิตแห่งพระตรีเอกภาพที่แสดงออกมาในภารกิจของพระบุตรและพระจิต กล่าวคือ ความรักอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีขอบเขตเพื่อความรอดของมนุษย์”16

เราอาจจะต้องถามว่า “คติพจน์นี้มีที่มาอย่างไรและหมายความว่าอะไร?” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่คำว่า “วิญญาณ” แทบจะไม่ได้บ่งบอกอะไรมาก ไม่เหมือนกันที่ยุคที่ผ่านมา


เราพบวลีนี้ในหนังสือปฐมกาล บทที่ 14 ที่พูดถึงกษัตริย์สี่องค์ที่รวมตัวทำสงครามกับกษัตริย์อีกห้าองค์ หนึ่งในจำนวนกษัตริย์ห้าองค์นี้คือกษัตริย์ของเมืองโซโดม ในช่วงการเข้าจู่โจมเมือง พระองค์ทรงตกเป็นเชลย รวมทั้งโลดหลานของอับราฮัมและครอบครัวทั้งหมด มีคนไปแจ้งเรื่องนี้ให้อับราฮัมรู้ ท่านก็นำเผ่าทั้งหมดพร้อมกับอาวุธครบมือไปรบ ท่านมีชัยชนะเหนือผู้บุกรุก ยึดของคืนและช่วยคนให้เป็นอิสระได้หมด กษัตริย์แห่งโซโดมเต็มด้วยความรู้คุณตรัสกับอับราฮัมว่า “ขอคนไว้ อย่างอื่นท่านเอาไปได้หมด” เมลคิเซเด สมณะผู้ที่ไม่รู้ว่ามาจากที่ใดได้อวยพรอับราฮัม ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้มีความหมายเชิงศาสนาและเชิงพระเมสิยาห์ จนกลายเป็นเหตุการณ์ฝ่ายจิตไป สิ่งที่กษัตริย์ได้ทรงขอจากอับราฮัมบอกให้เห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่าง “บุคคล” และ “สิ่งของ” ในเวลาเดียวกันก็ยืนยันว่า “บุคคล” มีคุณค่ามากกว่า “สิ่งของ”


คุณพ่อบอสโกได้ตีความคำพูดนี้ในด้านศาสนาและวัฒนธรรมแห่งศตวรรษที่แล้ว “วิญญาณ” บ่งบอกถึงแง่จิตของบุคคล เป็นศูนย์กลางแห่งอิสรภาพ เป็นเหตุผลแห่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ เป็นพื้นที่ที่เปิดสู่พระเจ้า


เมื่อนำความหมายด้านพระคัมภีร์และด้านการตีความของคุณพ่อบอสโก เราก็เห็นถึงการท้าทายที่เป็นรูปธรรมที่มาจากวัฒนธรรมของเรา


ก่อนอื่นหมด ความรักอภิบาลมุ่งบุคคลเป็นหลักและกิจการทุกอย่างมุ่งสู่ความดีของบุคคลทั้งครบ ทุกอย่างเน้นให้ความสนใจแก่บุคคล การพัฒนาและทรัพยากรในตัวบุคคลเป็นหลัก การให้ “สิ่งของ” มักจะตามมาภายหลัง การรับใช้บุคคลคือการช่วยให้เขาเติบโตพัฒนาในความสำนึกถึงศักดิ์ศรีของตน


นอกนั้น ความรักเมตตาที่มีต่อบุคคลได้รับการชี้นำจาก “เจตคติ” ที่มีต่อบุคคลนั้นๆ คนไม่อยู่ได้ด้วยอาหารอย่างเดียวแต่ความต้องการอย่างอื่นด้วย คนมีความใฝ่ฝันในสิ่งอมตะ เขาอยากได้ความดีฝ่ายวัตถุ แต่ก็อยากได้คุณค่าฝ่ายจิตไม่แพ้กัน น.ออกัสตินกล่าวว่า “มนุษย์ถูกสร้างเพื่อพระเจ้า จึงกระหายหาพระเจ้า”


ดังนั้น ความรอดที่ความรักอภิบาลนำมาให้จึงเป็นความรอดที่เต็มเปี่ยมและถาวร สิ่งอื่นๆต้องใช้เพื่อนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการเริ่มต้นชีวิตศาสนา การเริ่มเข้าสู่ชีวิตพระหรรษทานและการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า


หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง ในการอบรมและส่งเสริมการพัฒนาบุคคล เราต้องให้ความสำคัญแก่มิติศาสนาเป็นอันดับแรก มันไม่ใช่เป็นเรื่องของการมอมเมาคน แต่เป็นความมั่นใจว่านี่คือที่มาของการเติบโตพัฒนาของบุคคลอย่างถึงรากถึงโคน


คำขวัญยังชี้บอกถึงวิธีการด้วย กล่าวคือ ในการสร้างคน เราต้องช่วยเขาสร้างและทำให้พลังฝ่ายจิตมีชีวิตชีวา กระชับมโนธรรมฝ่ายศีลธรรม ช่วยเขาเให้ปิดตัวต่อพระเจ้า และมีเป้าหมายแห่งชีวิตนิรันดรอยู่ต่อหน้าต่อตาเสมอ วิธีการอบรมของคุณพ่อบอสโกเป็นวิธีการอบรมแห่งวิญญาณ เป็นการอบรมเหนือธรรมชาติ เมื่อใดที่การอบรมของเรามาถึงจุดนี้ เมื่อนั้นการอบรมที่แท้จริงก็เพิ่งจะเริ่มต้น ไม่เช่นนั้น ก็เป็นแค่การอบรมที่ยังไม่แท้จริงหรือเป็นแค่การอบรมเตรียมความพร้อมเท่านั้นเอง


คุณพ่อบอสโกได้ยืนยันเช่นนี้ในชีวประวัติของไมเกิล มาโคเน เขาเลิกการเตร่อยู่ตามถนนและมุ่งสู่ศูนย์เยาวชน เขารู้สึกพอใจกับสถานที่ใหม่และดูเหมือนจะเป็นเด็กดี เป็นกันเองและจริงใจ เล่น เรียน คบเพื่อน ฯลฯ แต่เขายังขาดอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การเข้าใจชีวิตพระหรรษทาน ความสัมพันธ์กับพระเจ้าและทุ่มเทเพื่อการนี้ เขาไม่ค่อยจะรู้เรื่องศาสนาและเคว้งคว้าง จนกระทั่งเกิดวิกฤติการจนต้องร้องไห้เมื่อเขาเทียบตัวเขาเองกับเพื่อนๆและเห็นว่าเขายังขาดสิ่งนี้อยู่ คุณพ่อบอสโกได้คุยกับเขา และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระบวนการอบรมก็เริ่มต้น เขาเริ่มเห็นและเข้าถึงมิติของศาสนา


บุคคลที่มีแรงบันดาลใจจากความรักอภิบาลจะมาถึงคำว่า “Coetera tolle”... ปล่อยวางสิ่งอื่นๆ เขาต้องสละหลายอย่างเพื่อจะรักษาสิ่งสำคัญไว้ เขาอาจจะมอบเรื่องต่างๆให้คนอื่นช่วยทำและอาจจะต้องสละงานบางอย่างเพื่อจะได้มีเวลาและความพร้อมที่จะช่วยเยาวชนให้เปิดตัวแด่พระเจ้า การกระทำดังกล่าวไม่อยู่แค่ระดับส่วนตัวเท่านั้น แต่ในระดับแผนงานและกิจกรรมแพร่ธรรมต่างๆด้วย


ใครก็ตามที่อ่านชีวิตคุณพ่อบอสโก เข้าถึงจิตใจของท่านและค้นหาร่องรอยแห่งความคิดของท่านจะพบว่าท่านมีหลักการชัดเจน นั่นคือ ความรอดในพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งเป็นศาสนาที่มีวิธีการและเครื่องมือแห่งความรอดแต่เพียงผู้เดียว คุณพ่อถือเป็นการท้าทายที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กที่ถูกทอดทิ้ง ยากจน ไร้ทิศทาง ได้เข้าสู่สังคมและพระศาสนจักรอย่างมีคุณภาพโดยทางวิธีการอบรมที่มีความอ่อนหวานและความรักเมตตาเป็นที่ตั้ง เป็นวิธีการที่ถือกำเนิดมาจากความรารถนาอันร้อนรนที่จะช่วยเยาวชนให้รอดนิรันดร”17 .


1 Juan Vecchi

2 พระวินัยซาเลเซียน, 21.

3 Ibid.


4 พระวินัยซาเลซียน, 10.

5 Cf SAN FRANCESCO DI SALES, Trattato dell’amore di Dio, Vol. II, libro X, c. 1.

6 Cf 2 คร 12,13-14.

7 1 ยน 4.

8 รม 5,5.

9 MB XV, p. 183.

10 พระวินัย 196.

11 LG 41.

12 J.BOSCO, Life of St. Dominic Savio, SEI, Torino 1963

13 MB VII, p. 622.

14MB V, p. 9.


15 P.BROCARDO, Don Bosco profondamente uomo-profondamente santo, LAS, Roma 1985, p. 84.

16 Idem, p. 85.

17 P.STELLA, Don Bosco nella storia della religiosita’ cattolica, Vol. II, Pas Verlag, Zurigo 1969, p. 13.