Way of Spirit|3 no 05 part 4

ภาคผนวก

กฎบัตรว่าสิทธิครอบครัว



สันตะสำนัก ได้นำเสนอกฎบัตรนี้แก่ทุกคน แก่สถาบันและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของครอบครัวในโลกปัจจุบัน วันที่ 22 ตุลาคม .. 1983


อารัมถบท


เนื่องจากได้พิจารณาเห็นว่า :


. สิทธิส่วนบุคคล แม้ว่าจะแสดงออกในลักษณะสิทธิปัจเจกบุคคล ก็ยังมีมิติทางสังคมเป็นพื้นฐาน ที่พบว่ามีมาแต่กำเนิด และปรากฏให้เห็นชัดเจนในครอบครัว

.ครอบครัวมีพื้นฐานอยู่ในการแต่งงานที่มีความใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวของชีวิต ที่เสริมสร้างความสมบูรณ์ระหว่างชายและหญิง ซึ่งผูกพันกันด้วยข้อผูกมัดเสรี และประกาศอย่างเปิดเผย ถึงสายสัมพันธ์ของการต่างงานที่แยกไม่ได้ และเปิดสู่การสืบทอดชีวิต

.การแต่งงานเป็นสถาบันตามธรรมชาติ ซึ่งพันธกิจแห่งการสืบทอดชีวิต ได้มอบให้เป็นเอกสิทธิ

.ครอบครัวเป็นสังคมตามธรรมชาติ ดำรงอยู่ก่อนรัฐหรือชุมชนอื่นใด และยังมีสิทธิต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อันไม่อาจจะเปลี่ยนหรือทดแทนได้

.ครอบครัวเป็นชุมชนแห่งความรักและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งกว่าการเป็นเพียงชุมชนตามกฎหมายทางสังคม และทางเศรษฐกิจเท่านั้นทำให้ครอบครัวมีลักษณะเหมาะสมอย่างยิ่งในการอบรมสั่งสอนและสืบทอด วัฒนธรรม จริยธรรม สังคม รวมทั้งคุณค่าทางศาสนาและจิตวิญญาณ ซึ่งล้วนจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนา และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกของครอบครัวและของสังคม

.ครอบครัว คือที่อยู่ร่วมกันของมนุษย์ต่างวัยต่างอายุ แต่ละคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อจะเจริญเติบโตด้วยปรีชาญาณ และผสานสิทธิของปัจเจกชนเข้ากับความต้องการอื่นของชีวิตด้านสังคม

.ครอบครัวและสังคม เกี่ยวพันต่อกันด้วยความสัมพันธ์ที่เป็นระบบและมีชีวิตชีวา มีภารกิจร่วมกันในการปกป้อง และส่งเสริมพัฒนา ซึ่งความดีงามของแต่ละบุคคลและของมนุษยชาติ

.จากประสบการณ์ตลอดมาในประวัติศาสตร์ ในหลากหลายวัฒนธรรมได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่สังคมต้องรับรู้ และปกป้องสถาบันครอบครัว

.สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐและองค์กรนานาชาติต้องปกป้องครอบครัวโดยใช้วิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวิธีการตามกฎหมาย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความมั่นคงให้แก่ครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวปฏิบัติภารกิจเฉพาะของตนได้

.แม้ว่ามีการพัฒนา ปกป้องหรือสนับสนุนสิทธิต่างๆ ความต้องการขั้นพื้นฐาน สวัสดิภาพและคุณค่าของครอบครัวบ้างแล้ว แต่ในหลายกรณี หน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมทั้งแผนงานด้านเศรษฐกิจและสังคม ยังปล่อยปละละเลย และมิได้ให้ความสำคัญตามกฎหมาย

.ครอบครัวจำนวนมากถูกบังคับให้เจริญชีวิตอยู่ในความยากไร้ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่อาจปฏิบัติภารกิจของตนตามศักดิ์ศรีของมนุษย์

.พระศาสนจักรคาทอลิก ตระหนักว่าความดีของบุคคล ของสังคม และของพระศาสนจักรเองได้รับผ่านมาจากครอบครัว จึงถือเสมอว่าเป็นพันธกิจของพระศาสนจักรในการประกาศแก่ทุกคนถึงแผนการของพระเจ้า ซึ่งจารึกอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน และครอบครัวเพื่อส่งเสริมสถาบันทั้งสองนี้ และปกป้องไว้จากผู้ที่ต้องการทำลายสถาบันเหล่านี้

.สมัชชาพระสังฆราช เมื่อปี 1980 (2523) ได้ให้คำแนะนำอย่างชัดเจนให้มีการร่างกฎบัตรว่าด้วยสิทธิครอบครัวขึ้น และให้นำเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สันตะสำนัก เมื่อได้ปรึกษากับสภาพระสังฆราช จึงนำเสนอกฎบัตรว่าด้วยสิทธิครอบครัวและขอเรียกร้องให้ทุกรัฐ องค์กรนานาชาติ หน่วยงานทั้งหลายที่สนใจ ตลอดจนบุคคลต่างๆ ให้ส่งเสริมความเคารพต่อสิทธิต่างๆ เหล่านี้ และช่วยทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะเห็นความสำคัญของสิทธิต่างๆ นี้ และนำไปปฏิบัติ


มาตรา 1


ทุกคน มีสิทธิเสรีในการเลือกสถานภาพการดำรงชีวิต มีสิทธิเลือกการแต่งงานและสร้างชีวิตครอบครัว หรือเลือกดำรงชีวิตในสถานภาพโสด

1.ชายหญิงทุกคน เมื่อมีอายุถึงเกณฑ์และมีศักยภาพพร้อมตามความจำเป็นย่อมมีสิทธิแต่งงานและสร้างครอบครัวได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือมีข้อจำกัดต่างๆตามกฎหมายต่อการปฏิบัติตามสิทธิประการนี้ ไม่ว่าจะมีลักษณะธรรมชาติเป็นการถาวรหรือชั่วคราวก็ตาม สามารถนำมาบังคับใช้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นที่มีเหตุผลหนัก และมีข้อเรียกร้องเชิงวัตถุวิสัยของตัวสถาบันแห่งการแต่งงานในตนเอง และของความสำคัญทางสังคมและสาธารณะในทุกกรณี ศักดิ์ศรี

ความเป็นมนุษย์ และบรรดาสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลต้องได้รับความเคารพ

2.บุคคล ซึ่งปรารถนาจะแต่งงานและสร้างครอบครัวมีสิทธิในการคาดหวังจากสังคม บรรดาเงื่อนไขต่างๆ ทาง ศีลธรรม การศึกษา การอบรมทางสังคม และทางเศรษฐกิจ อันจะช่วยให้พวกเขาสามารถปฏิบัติตามสิทธิของพวกเขาในการแต่งงาน ด้วยความรอบคอบและรับผิดชอบ

3.คุณค่าของสถาบันการแต่งงาน ต้องได้รับการสนับสนุน โดยอำนาจรัฐ สถานภาพของชีวิตคู่ที่ปราศจากการ แต่งงาน ต้องไม่อยู่ในสถานภาพอันเดียวกันกับสถานภาพ การแต่งงานที่กระทำอย่างถูกต้อง


มาตรา 2


การแต่งงานไม่อาจเป็นข้อผูกมัดอันถูกต้อง เว้นแต่ว่าจะกระทำอย่างเสรี และด้วยความยินยอมอย่างสมบูรณ์ของคู่สมรสที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน

1.ด้วยความเคารพต่อบทบาทของครอบครัวตามจารีตประเพณีในหลายวัฒนธรรม การให้คำแนะนำเรื่องการตัดสินใจเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้เป็นคู่สมรสแก่บุตรหลานของตน พึงหลีกเลี่ยงความกดดันทั้งมวล

2.ผู้ที่จะแต่งงานมีสิทธิ มีอิสรภาพในการนับถือศาสนา ดังนั้น การบังคับด้วยเงื่อนไขต่อการแต่งงานให้ปฏิเสธความเชื่อ หรือให้ปฏิบัติตามความเชื่ออันใดอันหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับมโนธรรม ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิประการนี้

3.คู่แต่งงาน โดยธรรมชาติแห่งการร่วมชีวิต เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ให้แก่กันและกัน ระหว่างชายและหญิง ย่อมมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยการแต่งงาน


มาตรา 3


คู่สมรสมีสิทธิอันไม่อาจแลกเปลี่ยนทดแทนได้ในกาสร้างครอบครัวและในการตัดสินใจเรื่องช่วงเวลาแห่งการให้กำเนิดชีวิต และจำนวนของบุตรที่จะเกิดมา โดยพึงพิจารณาอย่างครบถ้วนถึงหน้าที่ของตนต่อตนเองต่อบุตรซึ่งได้เกิดมาแล้ว ต่อครอบครัว และสังคมในลำดับคุณค่าอันถูกต้อง และสอดคล้องกับแนวทางจริยธรรมเชิงวัตถุวิสัยที่เป็นจริง ที่ไม่ ยอมรับซึ่งการคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์ การทำหมัน และทำแท้ง

1.กิจกรรมทั้งหลายของอำนาจรัฐ และองค์กรเอกชนต่างๆ ซึ่งพยายามไม่ว่าโดยทางใดๆ ก็ตาม ในการจำกัดอิสรภาพของคู่แต่งงานในการตัดสินใจ เกี่ยวกับบุตรของเขา ย่อมเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต่อความยุติธรรม

2.ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อความก้าวหน้าของประชาชน ต้องไม่ถูกกำหนดเงื่อนไขด้วยการยอมรับโครงการคุมกำเนิด ทำหมัน หรือการทำแท้ง

3.ครอบครัวมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากสังคมใน การตั้งครรภ์ และเลี้ยงดูบุตร คู่แต่งงานซึ่งมีครอบครัวขนาดใหญ่มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมพอเพียง และต้องไม่ตกเป็นเหยื่อต่อการเลือกปฏิบัติ


มาตรา 4


ชีวิตมนุษย์ต้องได้รับความเคารพ และปกป้องอย่างสมบูรณ์สูงสุดโดยปราศจากเงื่อนไข นับแต่วาระแห่งการปฏิสนธิ

1.การทำแท้งเป็นการละเมิดโดยตรงต่อสิทธิพื้นฐานในการมีชีวิตของมนุษย์

2.ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ย่อมไม่ อาจยอมรับได้ซึ่งปฏิบัติการเชิงการทดลองใดๆ หรือการล่วงเกินใดๆ ต่อตัวอ่อนของมนุษย์

3.การก้าวก่ายแทรกแซงทุกประการต่อการสืบสายพันธุกรรมของบุคคลผู้เป็นมนุษย์ อันกระทำโดยมิได้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขความผิดปกติ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิในบูรณภาพทางร่างกายและเป็นปฏิปักษ์ต่อความดีงามของครอบครัว

4.ทารก ทั้งก่อนและหลังการคลอด มีสิทธิได้รับการปกป้อง และความช่วยเหลือเป็นพิเศษเช่นเดียวกับผู้เป็นมารดา ในระหว่างช่วงเวลาการตั้งครรภ์ และเวลาอันเหมาะสมตามเหตุผลภายหลังจากการคลอดบุตร

5.เด็กทุกคนไม่ว่าเกิดมาในหรือนอกการสมรสมีสิทธิอันเดียวกันในการได้รับความคุ้มครองจากสังคม ด้วยการพิจารณาถึงการพัฒนาบุคคลทั้งครบของพวกเขา

6.เด็กกำพร้า หรือเด็ก ซึ่งถูกแยกจากความช่วยเหลือของพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ อันเป็นหน้าที่ของสังคมฝ่ายรัฐต้องจัดเตรียมมาตรการทางกฎหมาย ในส่วนการเอาใจใส่ดูแล และการรับอุปการะ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่เหมาะสมให้ต้อนรับอุปการะเด็กๆ สู่บ้านของพวกเขา เด็กๆ ซึ่งต้องการความอบอุ่นเอาใจใส่เป็นการชั่วคราวหรือถาวร ในขณะเดียวกันมาตรการเหล่านี้ต้องเคารพต่อสิทธิตามธรรมชาติของพ่อแม่ด้วย

7.เด็กพิการ มีสิทธิที่จะได้รับทั้งในบ้านและในโรงเรียน ซึ่งสิ่งแวดล้อมอันเหมาะต่อการพัฒนาการในการเป็นมนุษย์ของพวกเขา

มาตรา 5


เนื่องจากว่าพวกเขาได้ให้กำเนิดชีวิตแก่บุตรของเขา พ่อแม่ จึงมีสิทธิตามธรรมชาติ เป็นขั้นแรกอันไม่อาจแลกเปลี่ยนทดแทนได้ในการให้การอบรมบุตร เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าพ่อแม่เป็นผู้ให้การศึกษาอบรมแก่บรรดาบุตรของตนเป็นอันดับแรก เหนือกว่าผู้ใด

1.พ่อแม่มีสิทธิให้การศึกษาอบรมลูกของตนตามแนวทางความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมของตนโดยคำนึงถึงจารีตประเพณี วัฒนธรรมของครอบครัว ซึ่งส่งเสริมความดีงามและศักดิ์ศรีของเด็ก พวกเขาต้องได้รับความช่วยเหลือ สนับสนุนตามความจำเป็นจากสังคม เพื่อจะสามารถปฏิบัติบทบาทให้การศึกษาอบรมได้อย่างเหมาะสม

2.พ่อแม่มีสิทธิในการเลือกอย่างเสรีซึ่งโรงเรียนหรือวิธีการอื่นๆ ตามความจำเป็นเพื่อการศึกษาอบรมบุตรตามความเชื่อถือของตน อำนาจรัฐต้องรับประกันได้ว่าเงินอุดหนุนของรัฐจะจัดให้มีงบประมาณเพียงพอ เพื่อว่าพ่อแม่จะมีอิสรภาพแท้จริงในการปฏิบัติตามสิทธิประการนี้ โดยปราศจากการต้องรับแบกภาระหนักอันไม่เป็นธรรม พ่อแม่ไม่ควรต้องเสียค่าใช้จ่ายพิเศษ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมอันเป็นการปฏิเสธ หรือจำกัดสิทธิอันไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติ

เสรีภาพนี้ได้

3.พ่อแม่มีสิทธิที่จะได้รับการรับรองว่าบุตรของพวกเขาจะไม่ถูกบังคับให้ต้องเข้าชั้นเรียน ซึ่งไม่สอดคล้องกับจริยธรรมและความเชื่อทางศาสนาของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การศึกษาในเรื่องเพศเป็นสิทธิพื้นฐานของพ่อแม่และต้องได้รับการปฏิบัติภายใต้การดูแล แนะนำของพ่อแม่อย่างใกล้ชิดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือในสถานศึกษาใดๆ ที่พ่อแม่เป็นผู้เลือกและสามารถควบคุมดูแลในเรื่องนี้ได้

4.สิทธิของพ่อแม่ถูกละเมิดเมื่อระบบการศึกษาภาคบังคับซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลนั้น ปฏิเสธการให้การศึกษาอบรมทางศาสนาทั้งหมด

5.สิทธิเบื้องต้นของพ่อแม่ในการอบรมบุตร ต้องได้รับการสนับสนุนในทุกรูปแบบของการร่วมมือกันระหว่างพ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูป-แบบต่างๆของการร่วมมือกันมีส่วนร่วมซึ่งเป็นการเปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจของโรงเรียน และในการจัดเตรียมนำไปปฏิบัติใช้ซึ่งนโยบายทางการศึกษา

6.ครอบครัวมีสิทธิคาดหวังว่าสื่อต่างๆ ของการสื่อสารในสังคมจะเป็นเครื่องมือที่เป็นคุณแก่การเสริมสร้างสังคม และตอกย้ำถึงคุณค่าพื้นฐานของครอบครัว ในขณะเดียวกัน ครอบครัวมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสมเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงสมาชิกผู้ยังเยาว์ของครอบครัวจากอิทธิพลในด้านลบ และการใช้สื่อมวลชนอย่างผิดๆ


มาตรา 6


ครอบครัวมีสิทธิในการดำรงอยู่ และพัฒนาขึ้นในฐานะเป็นครอบครัว

1.อำนาจรัฐต้องเคารพ ส่งเสริมศักดิ์ศรี อิสรภาพตามกฎหมายความเป็นส่วนตัว บูรณภาพ และความมั่นคงของครอบครัวทุกครอบครัว

2.การหย่าร้าง เป็นการโจมตีต่อหัวใจของสถาบันการสมรสและครอบครัว

3.ที่ใดมีระบบครอบครัวขยาย ครอบครัวเช่นนี้ ควรได้ รับการสนับสนุนให้ความสำคัญสูงยิ่ง และได้รับการช่วยเหลือให้สามารถปฏิบัติบทบาทได้ดียิ่งขึ้นตามประเพณีในความสมานฉันท์ และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันละกัน ในขณะเดียวกันต้องเคารพต่อสิทธิของครอบครัวเดี่ยว และศักดิ์ศรีส่วนบุคคลของสมาชิกแต่ละคน


มาตรา 7


ครอบครัวทุกครอบครัวมีสิทธิในการดำเนินชีวิตทางศาสนาภายในครอบครัวอย่างเสรี ภายใต้การแนะนำของพ่อแม่ นอกนั้นยังมีสิทธิในการยืนยันถึงความเชื่อของตนต่อสาธารณะ และประกาศเผยแพร่ความเชื่อ มีสิทธิในการร่วมพิธีกรรมทางศาสนาอย่างเปิดเผย และในการเลือกได้โดยเสรี ซึ่งการศึกษาคำสอนทางศาสนา โดยปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด



มาตรา 8


ครอบครัวมีสิทธิในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตาม บทบาททางสังคม และการเมือง เพื่อการร่วมสร้างสังคม

1.ครอบครัว มีสิทธิในการจัดตั้งสมาคมร่วมกับครอบครัวอื่นๆ หรือสถาบันอื่นๆ เพื่อความสัมฤทธิ์บทบาทครอบครัวอย่างเหมาะสมเต็มประสิทธิผล พร้อมกันนั้นก็เพื่อป้องกันสิทธิต่างๆ ทำนุบำรุงส่งเสริมความดีงาม และเป็นตัวแทนความสนใจและสิทธิประโยชน์ของครอบครัว

2.ในระดับของเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และวัฒนธรรม บทบาทอันชอบด้วยสิทธิของบรรดาครอบครัวต่างๆ และของสมาคมต่างๆ ของครอบครัว ต้องได้รับการให้ความสำคัญในการวางแผนและโครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตครอบครัว




มาตรา 9


ครอบครัวทั้งหลายมีสิทธิที่จะสามารถพึ่งพากับนโย-บายด้านครอบครัวที่เหมาะสมจากฝ่ายอำนาจรัฐในเรื่องทางกฎหมาย ทางเศรษฐกิจ สังคม และทางภาษี-การเงินแผ่นดินโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ

1.ครอบครัวทั้งหลายมีสิทธิในสถานภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกันถึงมาตรฐานการดำรงชีพอย่างเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการพัฒนาชีวิตอย่างสมบูรณ์ พวกเขาต้องไม่ถูกกีดกันจากการได้มา และคงรักษาไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล อันช่วยส่งเสริมสถานภาพชีวิตครอบครัวให้

มั่นคงกฎหมายเกี่ยวกับมรดกและการสืบทอดทรัพย์สมบัติ ต้องเคารพต่อความต้องการและสิทธิต่างๆ ของสมาชิกครอบครัว

2.ครอบครัวทั้งหลายมีสิทธิในมาตรการต่างๆ ทางสังคม ซึ่งคำนึงถึงความต้องการต่างๆ ของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรของพ่อแม่ทั้งคู่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของคู่แต่งงานทอดทิ้ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือไร้สมรรถภาพ การว่างงานหรือกรณีใดๆ ก็ตาม ซึ่งครอบครัวต้องแบกรับภาระหนักเพิ่มเป็นพิเศษ เนื่องด้วยสมาชิกของครอบครัวที่ชราภาพ พิการทางกาย หรือทางสมอง หรือภาระในการให้การศึกษาแก่บุตร

3.ผู้สูงอายุมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยความสุขภายในครอบครัวของตนเอง หรือภายในสถาบันที่เหมาะสม ในเมื่อไม่สามารถอยู่ในครอบครัวของตนได้และขณะเดียวกันก็สามารถร่วมกิจกรรมต่างๆ อันเหมาะสมกับวัยของพวกเขา และซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในชีวิตสังคมได้

4.สิทธิต่างๆ และความจำเป็นต่างๆ ในครอบครัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าของความกลมเกลียวเป็นหนึ่งของครอบครัว ต้องได้รับการนำมาพิจารณาในเรื่องมาตรการทางกฎหมาย และนโยบายเกี่ยวกับการลงโทษทัณฑ์โดยที่ว่าผู้ต้องขังยังคงสามารถติดต่อกับครอบครัวของเขาหรือของเธอได้ และโดยที่ครอบครัวจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ระหว่างช่วงเวลาการจองจำนั้น


มาตรา 10


ครอบครัวทั้งหลายมีสิทธิในระบบแบบแผนทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งการจัดระบบการทำงานอนุญาตให้สมาชิกของครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้และต้องไม่กีดกันความเป็นหนึ่งเดียวกันของครอบครัว สวัสดิภาพชีวิต สุขภาพ และความมั่นคงของครอบครัว ในขณะที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวสามารถมีโอกาสพักผ่อนร่วมกันได้

1.ค่าตอบแทนแห่งการทำงาน ต้องเพียงพอต่อการสร้าง และการรักษาครอบครัวด้วยเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีมนุษย์ ไม่ว่าโดยทางเงินเดือนที่เหมาะสมซึ่งอาจเรียกว่า "เงินเดือนครอบ-ครัว" หรือทางมาตรการอื่นๆ ทางสังคม เช่น ค่าใช้จ่ายสมทบเพื่อครอบครัว หรือค่าตอบแทนแห่งการทำงานในบ้านของพ่อแม่คนใดคนหนึ่ง จะต้องเป็นไปในลักษณะที่ผู้เป็นมารดาต้องไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องทำงานนอกบ้านอันก่อความเสียหาย ให้เกิดแก่ครอบครัวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการอบรมบุตร

2.การงานของมารดาภายในบ้านต้องได้รับการคำนึง ยอมรับ และเคารพเพราะคุณค่าแห่งงานนั้นต่อครอบครัวและสังคม


มาตรา 11


ครอบครัวมีสิทธิได้รับที่อยู่อาศัยอันสมศักดิ์ศรีเหมาะ-สมแก่ชีวิตครอบครัว และเหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนสมาชิกครอบครัว ในสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี ซึ่งช่วยให้บริการพื้นฐานแก่ชีวิตของครอบครัวและชุมชน





มาตรา 12


ครอบครัวทั้งหลายของผู้อพยพ มีสิทธิได้รับการคุ้มครองอันเดียวกันกับสิทธิต่างๆ ซึ่งครอบครัวอื่นๆ มี

1.ครอบครัวทั้งหลายของผู้อพยพมีสิทธิได้รับความ เคารพในวัฒนธรรมของตนเอง และต้องได้รับความช่วย-เหลือ และการสนับสนุนในการผสมผสานการดำเนินชีวิตในชุมชน ซึ่งพวกเขาร่วมชีวิตอยู่

2.คนงานอพยพที่เเยกออกจากครอบครัว มีสิทธิในการเห็นครอบครัวกลับมาร่วมเป็นหนึ่งเดียวโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะ สามารถ

3.ผู้อพยพลี้ภัยทางการเมืองและสงคราม มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือให้เกิดการกลับมาอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันอีกของครอบครัว