Deep Thoughts|43

แบบไทย ๆ


ทุกครั้งที่ทำอะไรแปลกๆ หรือผิดกฎผิดเกณฑ์กันไปบ้าง ก็มักจะพูดกันว่า “ทำแบบไทยๆ”

เป็นที่รู้กันว่า อย่าถือให้เป็นเรื่องเป็นราว หรือเอาผิดเอาถูกกันนัก เพราะนิสัยคนไทย อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ รู้จักรอมชอม อะลุ่มอล่วยกันได้

มันก็ดีในแง่หนึ่ง เพราะทำให้อยู่ด้วยกันไม่มากเรื่องแต่ก็เสียในแง่ของมาตรฐานความถูกผิด...ไม่เห็นชัดเจน อะไรที่ว่าถูก อะไรที่ว่าผิด

แค่ดูการโฆษณาเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง...พูดถึงการดื่มเบียร์ชนิดนี้ของคนระดับต่างๆ ฟังแล้ว คนที่ยังไม่เคยดื่ม ก็อยากจะลองบ้างส่วนคนที่ดื่มอยู่แล้วก็รู้สึกมีระดับขึ้นมา

เพราะนี่คือกลยุทธ์ของการโฆษณา... ซึ่งทำให้เกิดความอยากจะมี อยากจะใช้ อยากจะบริโภค

และหากมี หากใช้ หากบริโภคอยู่แล้ว ก็ทำให้เกิดความมั่นใจ...อย่างน้อยๆ ก็มั่นใจได้ว่าไม่น้อยหน้าใคร

คนไทยเป็นกันอย่างนี้เสียด้วย ถือกันว่าของโฆษณาคือของดี ของมีคุณภาพ ของมีระดับ

ใครใช้ ใครใส่ ใครกินของที่กำลังโฆษณาอยู่ถือว่า ยอด..แล้วก็เที่ยวแข่งขันกันว่า ใครจะใช้ ใครจะใส่ ใครจะกินของที่เพิ่งจะโฆษณาได้ก่อนเพื่อน เป็นกันตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ ก็เลยดูหรือฟังการโฆษณาแต่ละครั้งแล้ว ให้รู้สึกว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่มีระดับ หลุดโลก...ไปโดยปริยาย

พูดถึงการโฆษณาเบียร์ดังกล่าวแล้ว ผมยังอดสะดุดใจไม่ได้ พูดชักชวนให้ดื่มเบียร์จนเห็นดีเห็นชอบแล้ว ก็มีคำเตือนนิ่มๆ ทำนองว่า แอลกอฮอล์ไม่ดีสำหรับการขับขี่พาหนะ แถมท้ายเพียงเพื่อไม่ให้ผิดกฎ

แต่คำชักชวนกับคำเตือนช่างต่างกันเหลือเกิน ทำนองเดียวกันกับการโฆษณาเครื่องดื่มมึนเมาชนิดอื่นๆ แล้วอย่างนี้ คำเตือนจะมีผลได้อย่างไร เพราะแม้ว่าจะเขียนเตือนกันจะจะข้างซองบุหรี่ แต่คนก็ยังสูบกันราวกับเป็นสิ่งให้คุณมากกว่าโทษ

นับประสาอะไรกับคำเตือนเบา ๆ ไม่เต็มปากเต็มคำ พอเป็นพิธีแบบนี้...

ก็เลยทำกันแบบไทยๆ อีกนั่นแหละ

และนี่คือวิถีแห่งความนึกคิดในการปฏิบัติตนโดยทั่วไปขับรถเร็วมันสะใจดี จะบาดเจ็บหัวร้างข้างแตกหรือตาย ค่อยคิดทีหลัง

คดโกงทำให้ได้เงินใช้ทันใจดี จะผิดแค่ไหนอย่างไร ค่อยว่ากันทีหลัง กินเหล้าให้เมามายหายอยาก จะเสียผู้เสียคนอย่างไร ค่อยว่ากันทีหลัง

เที่ยวกันให้หัวราน้ำก่อน จะเสียงานเสียการหรือไม่ ค่อยมาว่ากันทีหลัง มีเงินใช้ให้มันมือ จะมีเหลือมีเก็บมีออมหรือไม่ ค่อยว่ากันทีหลัง สนุกกันไว้ก่อน อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ค่อยว่ากันทีหลัง ผลาญให้เต็มที่ ขาดเหลืออย่างไร ค่อยว่ากันทีหลัง ทำไปก่อน ผิดถูกค่อยว่ากันทีหลัง...พอทำไปแล้ว ถ้าดี ถ้าถูก ถ้าไม่เสียหาย..ก็ถือว่าเรียบร้อยไปแต่ถ้าทำแล้วไม่ถูกต้อง ส่งผลเสีย..ก็ถือว่าโชคร้ายไป แล้วก็จะพูดเหมือนๆ กันว่า “ทำยังไงได้ ทำไปแล้ว…”

ทำนองว่า แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ก็คงต้องปล่อยเลยตามเลยคราวหน้าค่อยว่ากันใหม่...

ว่ากันใหม่” ในที่นี้หมายถึงทำเหมือนเดิมนั่นแหละ ก็เลยพูดแบบไทย ๆ...อย่างที่ทำแบบไทยๆ นั่นเองเป็นไทยนะดี แต่พูดแบบไทย ๆ ทำแบบไทย ๆ...คงจะไม่ดีเป็นแน่.