Deep Thoughts|20

อำนาจอะไรกันแน่


ติดตามข่าวสารบ้านเมืองแล้วอดปวดหัวไม่ได้

กับคำพูดของนักการเมือง วันนี้พูดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้ก็พูดอีกอย่างหนึ่งแต่ละอย่างที่พูดมีเหตุผลสนับสนุนหนักแน่นจริงจังเด็ดขาด จนไม่รู้ว่าจะเชื่อประเด็นไหนดี

ลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ ปรับตัวเปลี่ยนสีไปตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดหาเสียงทีแทนที่จะชูธงรบตอกย้ำความตั้งใจจริงจะเข้ามาทำงานเพื่อชาติและประชาชน กลับหาเรื่องป้ายร้ายป้ายสีกัน

คล้ายกับชี้บอกเป็นนัยว่า ประชาชนต้องตัดสินเอาเองว่าจะเอาคนชั่วน้อยกว่าหรือชั่วมากกว่าเข้ามาบริหารบ้านเมือง

แล้วก็สร้างภาพลักษณ์ให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า การเมืองเป็นเรื่องของการเชือดเฉือนกันด้วยการป้ายร้ายป้ายสี ด้วยการโกหกมดเท็จ ด้วยไหวพริบฉลาดแกมโกง...

แถมยังมี “เงิน” เป็นตัวแปรสำคัญที่จะตัดสินว่าใครได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองอีก การเมืองจึงเป็นเรื่องของคนมีเงินมากกว่าจะมีอุดมการณ์ มีเงินมากกว่ามีความสามารถ มีเงินมากกว่ามีความรักชาติบ้านเมือง...

แต่ละคนที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองจึงเข้ามาได้เพราะเงิน อยู่ไปวัน ๆ เพื่อเงิน ทำอะไรทีก็ต้องมีเงินเข้ามาเป็นตัวตัดสิน...จะได้ค่าคอมมิสชั่นมากหรือน้อยอันที่จริงจะว่านักการเมืองอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะระบบเงินซึ่งเป็นตัวแปรนี้เริ่มมาจากระดับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ในเมื่อการไปใช้สิทธิ์ไม่ได้กระทำไปเพราะความสำนึกในหน้าที่พลเมือง ที่จะไปสรรหาคนมีอุดมการณ์ มีความสามารถเข้าไปช่วยบริหารบ้านเมือง แต่กลับไปขายสิทธิ์อันสูงส่งด้วยเงินไม่กี่ร้อยบาท

และไม่เคยคิดกันบ้างว่า การไม่ยอมเอาเงินสามร้อยสี่ร้อยตอนนี้แล้วเลือกคนดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง ผลตอบแทนระยะยาวจะมากกว่าเงินจำนวนนี้เป็นไหนๆ

ส่วนมากมักจะถือกันอย่างที่ฝรั่งพูดว่า “นกหนึ่งตัวในกำมือ ย่อมดีกว่านกเป็นร้อยเป็นพันในพุ่มไม้”

แล้วก็ตัดสินกันว่าสามร้อยสี่ร้อยตอนนี้ดีกว่าไปหวังลม ๆ แล้งๆ ในภายหน้าบ้านเมืองซึ่งบรรพบุรุษรักษาเรามาด้วยความหวงแหน ด้วยชีวิตเลือดเนื้อ

พอมีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องที่เรื่องทาง ก็ต้องเสียทั้งเวลาเสียทั้งเงินทองเพื่อเดินทางเข้าไปร้องเรียนเรียกร้องกันหน้าทำเนียบ เหน็ดเหนื่อยทั้งกายทั้งใจ

ก็เพราะ “นกหนึ่งตัวในกำมือ” นี่แหละ


คนที่มีสำนึกมีอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องท้อแท้ แล้วก็ได้แต่ปลงว่าอย่างไรเสียการเลือกตั้งต้องสกปรกอยู่แล้วเพราะไม่มีทางสกัดกั้นอำนาจเงินได้

ก็เลยต้องปล่อยไหลไปตามน้ำ... ไหนๆ เขาอุตส่าห์มาแจก ก็รับ ๆ ไป แถมยังพูดยืนยันจุดยืนว่า รับเงินแต่จะเลือกใครนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่แล้วก็ไม่วาย เกิดความรู้สึกในพันธะทางใจ ก็ต้องไปลงคะแนนให้เจ้าของเงินจนได้

และถึงแม้จะยืนหยัดไม่ไปลงคะแนนให้ การรับเงินก็เป็นการส่งเสริมวิธีการสกปรกในการเมืองอยู่ดี ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้วปัญหาไม่อยู่ที่อำนาจเงิน แต่อยู่ที่อำนาจกิเลสตัณหามากกว่า

หากสกัดกั้นอำนาจกิเลสตัณหาได้แล้ว การจะสกัดกั้นอำนาจอย่างอื่นนั้นไม่ยากแม้ว่านักการเมืองจะเอาเงินฟ่อนมาไล่แจกไล่แถม แต่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยืนหยัดอยู่ในความชอบธรรม ไม่ปล่อยให้กิเลสตัณหาครอบงำเงินก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้

การเลือกตั้งแต่ละครั้งจึงเป็นการพิสูจน์ใจคน ทั้งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง.