Way of Spirit|6 page 1


บทความพิเศษ



นักบุญเปาโล อัครสาวกองค์ที่ 13


อัครสาวกองค์ที่ 13” ให้พระเยซูเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางชีวิตของท่านหลังจากการกลับใจไปหาพระคริสตเจ้า และกลายเป็น “แบบอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดของความพากเพียร”


ระหว่างที่พระสันตะปาปาทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชน เมื่อวันพุธที่ 25 ตุลาคม และ 8, 15พฤศจิกายน 2006 พระองค์ทรงรำพึงถึงนักบุญเปาโล ทั้งในฐานะที่เป็นบุรุษคนหนึ่ง และอัครสาวก ต่อไปนี้คือบทแปลจากคำสอนภาษาอิตาเลียนของพระองค์


พี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย


เราได้สรุปบทรำพึงของเราเกี่ยวกับอัครสาวก 12 องค์ ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงเรียกโดยตรงระหว่างที่พระองค์ทรงดำรงพระชนม์ชีพบนโลกนี้แล้ว วันนี้ เราจะเริ่มต้นพิจารณาบุคคลสำคัญต่าง ๆ ของพระศาสนจักรยุคต้น


บุคคลเหล่านี้ได้ดำรงชีวิตเพื่อพระเยซูเจ้า พระวรสาร และพระศาสนจักรเช่นกัน และเป็นชายและหญิงที่นักบุญลูกา ระบุในหนังสือกิจการอัครสาวก ว่าได้ “เสี่ยงชีวิตเพื่อพระนามของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (15:26)


คนแรกในจำนวนบุคคลเหล่านี้ได้รับเรียกให้มาเป็นอัครสาวกแท้โดยพระเยซูเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนชีพเอง ท่านคือเปาโลแห่งทาร์ซัส ท่านเปล่งแสงราวกับดวงดาวที่สว่างไสวที่สุดในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร และไม่เพียงในต้นกำเนิดของพระศาสนจักรเท่านั้น นักบุญยอห์น ครีซอสโตม ยกย่องให้ท่านอยู่เหนือทูตสวรรค์ และอัครเทวดาจำนวนมาก (เทียบ Panegirico 7, 3) ใน The Divine Comedy ดังเต อลิกิเอรี ได้รับแรงบันดาลใจจากข้อความในหนังสือกิจการอัครสาวก (เทียบ 9:15) และเรียกท่านว่า “ภาชนะที่ได้รับเลือกสรร” (Inf. 2:28) ซึ่งหมายถึงเครื่องมือที่พระเจ้าทรงเลือกสรรนั่นเอง คนอื่น ๆ เรียกท่านว่า “อัครสาวกองค์ที่ 13” หรือเรียกตรง ๆ ว่า “อัครสาวกองค์แรกรองจากอัครสาวกแท้ (the first after the Only)”


แน่นอนว่า ท่านเป็นหนึ่งในบรรดาอัครสาวกดั้งเดิมที่เรารู้ข้อมูลมากที่สุด รองจากพระเยซูเจ้า อันที่จริง เรามีทั้งเรื่องเล่าของนักบุญลูกา ในกิจการอัครสาวก และจดหมายจำนวนหนึ่งซึ่งท่านเขียนด้วยตนเองโดยไม่ผ่านสื่อกลาง ดังนั้น จึงเผยให้เห็นบุคลิกภาพ และความคิดของท่าน


นักบุญลูกาบอกเราว่า นามเดิมของท่านคือ เซาโล (เทียบ กจ 7:58; 8:1) หรือเรียกเป็นภาษาฮีบรูว่า เซาโล (เทียบ กจ 9:14, 17; 22:7, 13; 26:14) เช่นเดียวกับกษัตริย์ซาอูล (เทียบ กจ 13:21) และท่านเป็นชาวยิวที่ย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากเมืองทาร์ซัส ตั้งอยู่ระหว่างอนาโตเลีย และซีเรีย


ท่านเดินทางไปที่กรุงเยรูซาเล็ม เพื่อศึกษาแก่นแท้ของกฎหมายของโมเสส โดยเจริญรอยตามกามาลิเอล (เทียบ กจ 22:3) นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้อาชีพ คือเป็นช่างทำกระโจม (เทียบ กจ 18:3) ซึ่งในภายหลังได้ช่วยให้ท่านหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง โดยไม่เป็นภาระแก่พระศาสนจักร (เทียบ กจ 20:34; 1 คร 4:12; 2 คร 12:13)


ท่านต้องการรู้จักชุมชนที่เรียกตนเองว่าศิษย์ของพระเยซูเจ้า คนเหล่านี้ช่วยให้ท่านได้รู้จักศาสนาใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “วิถีทาง” ใหม่ ที่ไม่ได้ถือว่ากฎของพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นองค์พระเยซูเจ้า ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและฟื้นคืนชีพ ผู้บัดนี้ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการยกบาป ในฐานะชาวยิวที่เคร่งศาสนา สารข้อนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และถึงกับเป็นที่สะดุด ท่านจึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเบียดเบียนศิษย์ของพระคริสตเจ้า แม้แต่ศิษย์ที่อยู่นอกกรุงเยรูซาเล็ม


บนถนนสู่ดามัสกัส เมื่อต้นทศวรรษที่ 30 แห่งคริสตกาล ท่านได้เล่าว่า “พระคริสตเจ้าทรงทำให้ข้าพเจ้าเป็นของพระองค์” (ฟป 3:12) นักบุญลูกาเล่าเหตุการณ์อย่างละเอียด เช่น แสงสว่างของพระคริสตเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนชีพได้สัมผัสท่าน และเปลี่ยนชีวิตของท่านอย่างไร แต่ในจดหมายของท่านเอง ท่านกลับพูดถึงแก่นสาร และมิได้พูดถึงภาพนิมิต (เทียบ 1คร 9:1) แต่พูดถึงการส่องสว่าง (เทียบ 2 คร 4:6) และเหนืออื่นใด ท่านกล่าวถึงการเผยแสดง และกระแสเรียกให้มาพบกับพระผู้ทรงฟื้นคืนชีพ (เทียบ กท 1:15-)


อันที่จริง ท่านเรียกตนเองอย่างชัดเจนว่า “อัครสาวกโดยกระแสเรียก” (เทียบ รม 1:1; 1คร 1:1) หรือ “อัครสาวกตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (2 คร 1:1; คส 1:1) เสมือนจะย้ำว่าการกลับใจของท่านไม่ได้เกิดจากพัฒนาการทางความคิด หรือการไตร่ตรองใด ๆ แต่เป็นผลมาจากการแทรกแซงของพระเจ้า ซึ่งเป็นพระหรรษทานที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน


นับแต่นั้นมา ทุกสิ่งที่ท่านคิดว่ามีค่า ได้กลายเป็นความสูญเสีย และสิ่งปฏิกูล (เทียบ ฟป 3:7-10) และนับจากเวลานั้น ท่านได้ทุ่มเทกำลังทั้งหมดเพื่อรับใช้พระเยซูคริสตเจ้าและพระวรสารของพระองค์เท่านั้น ทั้งชีวิตของท่านจะเป็นอัครสาวกผู้ต้องการเป็น “ทุกสิ่งสำหรับทุกคน” (1 คร 9:82) โดยไม่ยึดเหนี่ยวสิ่งใดไว้เลย


ข้อความนี้สอนบทเรียนสำคัญว่า สิ่งสำคัญคือการให้พระเยซูคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิตของเรา เพื่อให้อัตลักษณ์ของเราถูกตราไว้ด้วยการพบ และความสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า และกับพระวาจาของพระองค์ ภายใต้แสงสว่างของพระองค์ คุณค่าอื่นทั้งหมดจะถูกเรียกคืนมา และชำระให้บริสุทธิ์จากที่เคยเป็นของเสีย


อีกบทเรียนหนึ่งที่ได้จากนักบุญเปาโล คือการแพร่ธรรมของท่านครอบคลุมอาณาเขตกว้างขวาง ท่านรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องยากที่คนต่างศาสนาและคนไม่มีศาสนาจะมารู้จักพระเจ้า ผู้ทรงเสนอความรอดให้แก่ทุกคนโดยไม่ละเว้นผู้ใดเลย โดยผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนและฟื้นคืนชีพ ท่านจึงอุทิศตนเผยแพร่พระวรสาร ซึ่งแปลความหมายตรงตัวได้ว่า “ข่าวดี” เพื่อประกาศถึงพระหรรษทานที่จะนำมนุษย์มาคืนดีกับพระเจ้า กับตนเอง และผู้อื่น


การประกาศพระวรสาร การเป็นพยาน มรณสักขีกรรม


นับจากวินาทีแรก ท่านได้เข้าใจแล้วว่า นี่คือความเป็นจริงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพียงชาวยิว หรือมนุษย์กลุ่มใดโดยเฉพาะ แต่มีคุณค่าเป็นสากล และเกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของทุกคน


การเดินทางของท่านเริ่มต้นจากพระศาสนจักรอันทิโอก ในซีเรีย ที่ซึ่งพระวรสารได้ถูกประกาศเป็นครั้งแรกแก่ชาวกรีก และเป็นสถานที่ซึ่งผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ถูกขนานนามว่า “คริสตชน” (เทียบ กจ 11:20, 26) เป็นครั้งแรก


จากที่นั่น ท่านเดินทางไปไซปรัสเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปเยือนภูมิภาคต่าง ๆ ของเอเชียน้อย (ปิสิเดีย ลาโกเนีย กาลาเทีย) ในเวลาต่าง ๆ กัน หลังจากนั้นจึงไปยังทวีปยุโรป (มาซีโดเนีย กรีก) เมืองที่สำคัญที่สุดคือ เอเฟซัส ฟิลิปปี เธสะโลนิกา โครินธ์ เบรีอา เอเธนส์ และมีเลตัส


งานแพร่ธรรมของนักบุญเปาโลมิได้ปราศจากอุปสรรค แต่ท่านเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้ด้วยความกล้าหาญ อันเกิดจากความรักต่อพระคริสตเจ้า ท่านเล่าว่า ท่าน “ลำบากตรากตรำ... ถูกจองจำ... ถูกโบยตี... ต้องเผชิญกับความตายหลายครั้ง ข้าพเจ้าถูกทหารโรมันเฆี่ยนตีสามครั้ง ถูกขว้างด้วยหินหนึ่งครั้ง เรืออับปางสามครั้ง ลอยคออยู่กลางทะเลหนึ่งวันกับหนึ่งคืน ข้าพเจ้าต้องเดินทางเสมอ ต้องเผชิญอันตรายในแม่น้ำ อันตรายจากโจรผู้ร้าย อันตรายจากเพื่อนร่วมชาติ อันตรายจากคนต่างชาติ อันตรายในเมือง อันตรายในถิ่นทุรกันดาร อันตรายในทะเล อันตรายจากพี่น้องทรยศ ข้าพเจ้าต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยลำบากตรากตรำ อดนอนบ่อย ๆ ต้องหิวกระหาย ต้องอดอาหารหลายครั้ง ต้องทนหนาว ไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่ นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ข้าพเจ้ายังถูกบีบคั้นทุกวัน นั่นคือเป็นห่วงพระศาสนจักรทุกแห่ง” (2 คร 11:23-28)


ข้อความหนึ่งในจดหมายถึงชาวโรมัน (เทียบ 15:24, 28) ท่านเสนอว่าจะเดินทางต่อไปให้ถึงสเปน ถึงดินแดนตะวันตกไกล เพื่อประกาศพระวรสารทุกแห่ง จนถึงปลายแผ่นดินโลก เราจะไม่ยกย่องชื่นชมบุรุษเช่นนี้ได้อย่างไร? เราจะไม่ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงประทานอัครสาวกผู้สูงส่งเช่นนี้ได้อย่างไร?


เห็นได้ชัดว่าท่านคนจะไม่สามารถเผชิญหน้ากับอุปสรรคเหล่านี้ และสถานการณ์ที่บีบคั้นในบางครั้งได้ ถ้าท่านไม่มีเหตุผลที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ย่อมไม่มีข้อจำกัดใดที่จะถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถเอาชนะได้ เราทราบดีว่า สำหรับนักบุญเปาโล เหตุผลนี้คือพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ที่ท่านเขียนถึงว่า “เพราะความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา ... เพื่อผู้มีชีวิตจะได้ไม่มีชีวิตเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่มีชีวิตเพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์ และทรงกลับคืนชีพเพื่อเขา” (2คร 5:14-15) เพื่อเรา และเพื่อทุกคน


อันที่จริง ท่านอัครสาวกได้หลั่งโลหิตเป็นพยานยืนยันความเชื่อ ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเนโร ในกรุงโรมนี้เอง ที่ซึ่งเราได้เก็บรักษา และแสดงความเคารพต่อศพของท่าน พระสันตะปาปาคลีเมนต์ แห่งโรม ผู้ทรงดำรงตำแหน่งก่อนข้าพเจ้าในสันตะสำนักนี้ ทรงเขียนถึงท่านในช่วงท้ายของศตวรรษที่หนึ่งว่า “เนื่องจากความริษยา และความขัดแย้ง เปาโลจึงต้องแสดงให้เราเห็นว่า เราจะได้รับรางวัลตอบแทนความอดทนได้อย่างไร ... หลังจากได้เทศน์สอนเรื่องความยุติธรรมให้แก่ทุกคนในโลก และหลังจากได้ไปจนถึงสุดขอบเขตของโลกตะวันตกแล้ว ท่านจึงได้ทนรับมรณสักขีกรรมเบื้องหน้าฝ่ายปกครองทางการเมือง ด้วยวิธีนี้ ท่านได้จากโลกนี้และบรรลุถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ของความพากเพียร” (To the Corinthians, 5)


ขอให้พระเจ้าทรงช่วยเราให้ปฏิบัติตามคำขอร้องที่ท่านอัครสาวกกล่าวไว้ในจดหมายของท่าน ว่า “จงยึดถือข้าพเจ้าเป็นแบบอย่าง เหมือนกับที่ข้าพเจ้ายึดถือพระคริสตเจ้าเป็นแบบอย่างเถิด” (1 คร 11:1)


ทรรศนะใหม่ของนักบุญเปาโล


ด้วยการยอมจำนนโดยสิ้นเชิงต่อความรักของพระเยซูคริสตเจ้า นักบุญเปาโลจึงกลายเป็นมนุษย์คนใหม่

ที่ไม่ได้ดำรงชีวิตเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระผู้เป็นเจ้า และพระผู้ไถ่ของท่าน


ในคำสอนของเราเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ข้าพเจ้าได้พยายามเล่าชีวประวัติอย่างคร่าว ๆ ของอัครสาวกเปาโล เราได้เห็นแล้วว่าการที่ท่านพบพระคริสตเจ้าระหว่างทางไปสู่ดามัสกัส ได้พลิกผันชีวิตของท่านอย่างไร พระคริสตเจ้าได้กลายเป็นเหตุผลในการดำรงชีวิตของท่าน และเป็นแรงกระตุ้นอันลึกล้ำเบื้องหลังงานแพร่ธรรมทั้งปวงของท่าน


ในจดหมายของท่าน นอกจากพระนามของพระเจ้า ซึ่งปรากฏมากกว่า 500 ครั้ง ท่านได้เอ่ยถึงพระคริสตเจ้าบ่อยครั้งที่สุด (380 ครั้ง) ดังนั้น เราจึงต้องตระหนักว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงสามารถส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งอย่างไรต่อชีวิตของบุคคลหนึ่งเช่นเดียวกับชีวิตของเราเอง แท้จริงแล้ว ประวัติศาสตร์แห่งความรอดบรรลุถึงจุดสูงสุดในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นจุดที่ช่วยให้เราสามารถแยกแยะความดีงามได้อย่างแท้จริงในการเสวนากับศาสนาอื่น


เมื่อพิจารณานักบุญเปาโล เราสามารถตั้งคำถามเบื้องต้นได้ว่า การพบกันระหว่างมนุษย์คนหนึ่งกับพระคริสตเจ้าเกิดขึ้นได้อย่างไร? และความสัมพันธ์ที่เกิดจากการพบกันนี้ประกอบด้วยอะไร? เราสามารถเข้าใจคำตอบของนักบุญเปาโลได้ในสองขั้นตอน


ขั้นต้น นักบุญเปาโลช่วยให้เราเข้าใจคุณค่าพื้นฐานที่ไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ของความเชื่อ ท่านเขียนในจดหมายถึงชาวโรมัน ว่า “เราถือว่ามนุษย์ได้รับความชอบธรรมโดยความเชื่อ ไม่ใช่โดยการปฏิบัติตามสิ่งที่ธรรมบัญญัติกำหนดไว้” (3:28)


ท่านเขียนในจดหมายถึงชาวกาลาเทียว่า “มนุษย์มิได้เป็นผู้ชอบธรรมจากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ แต่เป็นผู้ชอบธรรมจากความเชื่อในพระคริสตเยซูเท่านั้น เรามีความเชื่อในพระคริสตเยซู เพื่อจะได้เป็นผู้ชอบธรรมโดยอาศัยความเชื่อในพระคริสตเจ้า มิใช่จากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ เพราะไม่มีมนุษย์คนใดเป็นผู้ชอบธรรมจากการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ” (2:16)


การเป็นผู้ชอบธรรม” หมายถึงการดำรงชีวิตอย่างถูกทำนองคลองธรรม กล่าวคือ ความยุติธรรมอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระเจ้าจะยอมรับบุคคลนั้นให้เข้าสู่ความสนิทสัมพันธ์กับพระองค์ และส่งผลให้เขาสร้างความสัมพันธ์ที่จริงใจมากขึ้นกับพี่น้องทุกคนของเรา และเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อบาปของเราได้รับการอภัยอย่างครบถ้วนแล้ว


นักบุญเปาโลระบุอย่างชัดเจนยิ่งว่า สภาวะดังกล่าวของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับกิจการดีใด ๆ ที่เราสามารถกระทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับพระหรรษทานของพระเจ้าเท่านั้น “เราได้รับความชอบธรรมเป็นของประทานโดยทางพระหรรษทาน อาศัยการไถ่กู้เราให้เป็นอิสระในพระคริสตเยซู” (รม 3:24) ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ นักบุญเปาโล ได้ระบุสาระสำคัญของการกลับใจของท่าน และทิศทางใหม่ในชีวิตของท่าน อันเป็นผลมาจากการพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ


ก่อนที่ท่านจะกลับใจ นักบุญเปาโลมิใช่คนที่ห่างไกลจากพระเจ้า และจากการยึดถือธรรมบัญญัติ ตรงกันข้าม ท่านเคร่งครัดมากจนถึงขั้นคลั่งลัทธิทีเดียว แต่เมื่อท่านได้พบพระคริสตเจ้า ท่านจึงเข้าใจว่าท่านได้ใช้ความเคร่งครัดนี้สร้างภาพให้ตนเอง และสร้างความชอบธรรมในแบบของท่านเอง และด้วยความชอบธรรมทั้งหมดนี้ ท่านได้ดำรงชีวิตเพื่อตนเอง


ความจำเป็นต้องมีทรรศนะใหม่


ท่านตระหนักว่าท่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางการดำรงชีวิตแบบใหม่ และเราจะพบแนวทางใหม่นี้จากคำพูดของท่าน “ชีวิตที่ข้าพเจ้ากำลังดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรักข้าพเจ้า และทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20)


ดังนั้น นักบุญเปาโลจึงไม่ได้ดำรงชีวิตเพื่อตนเอง และเพื่อความชอบธรรมในแบบของท่านอีกต่อไป ท่านดำรงชีวิตเพื่อพระคริสตเจ้า และพร้อมกับพระคริสตเจ้า กล่าวคือ โดยการสละตนเอง ท่านไม่แสวงหา และสร้างภาพให้ตนเองอีกต่อไป นี่คือความชอบธรรมแบบใหม่ เป็นทิศทางใหม่ที่เราได้รับจากพระเยซูเจ้า และจากความเชื่อ


เบื้องหน้ากางเขนของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างสูงสุดถึงการสละตนเอง ไม่มีใครสามารถโอ้อวดตนเอง และความชอบธรรมที่เขาสร้างขึ้นมาเอง และสร้างขึ้นเพื่อตนเองได้ นักบุญเปาโล ได้สะท้อนความคิดของประกาศกเยเรมีย์ ด้วยการอธิบายความคิดนี้ว่า “ผู้ใดจะโอ้อวด ก็ให้ผู้นั้นโอ้อวดในองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด” (1 คร 1:31 = ยรม 9:23-24) หรือ “ส่วนข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้โอ้อวดสิ่งใด นอกจากเรื่องไม้กางเขนของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา อาศัยไม้กางเขนนี้ โลกถูกตรึงตายไปจากข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็ถูกตรึงตายไปจากโลกแล้ว” (กท 6:14)


เมื่อรำพึงถึงความหมายของความชอบธรรม มิใช่ในแง่ของกิจการ แต่ในแง่ของความเชื่อ เราต้องกล่าวถึงส่วนประกอบที่สองของอัตลักษณ์คริสตชนที่นักบุญเปาโล บรรยายไว้ในชีวิตของท่านเอง


อัตลักษณ์คริสตชนนี้มีสององค์ประกอบ คือการยับยั้งจากการแสวงหาตนเองด้วยตนเอง แต่ได้รับตนเองจากพระคริสตเจ้า และมอบตนเองพร้อมกับพระคริสตเจ้า ด้วยวิธีนี้ คริสตชนจึงมีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้า จนถึงกับเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ และแบ่งปันทั้งความตาย และชีวิตของพระองค์ นักบุญเปาโล เขียนในจดหมายถึงชาวโรมัน ว่า “เราทุกคน ... ได้รับศีลล้างบาปเข้าร่วมกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ด้วย ดังนั้น เราถูกฝังไว้ในความตายพร้อมกับพระองค์ ... รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ... ดังนั้น ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน ต้องถือว่าท่านตายจากบาปแล้ว แต่มีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าในพระคริสตเยซู” (รม 6:3, 4, 5, 11)


ถ้อยคำเหล่านี้บ่งบอกอาการ สำหรับนักบุญเปาโล เพียงการพูดว่าคริสตชนได้รับศีลล้างบาป หรือเป็นผู้มีความเชื่อนั้นยังไม่พอ ท่านคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเท่าเทียมกันที่จะพูดว่าคริสตชน “มีชีวิตอยู่ในพระคริสตเยซู” (เทียบ รม 8:1, 2, 39; 12:5, 16:3, 7, 10; 1 8i 1:2, 3 เป็นต้น) ในที่อื่น ๆ ท่านเปลี่ยนคำพูด และเขียนว่า “พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในเรา/ท่าน” (รม 8:10; 2 คร 13:5) หรือ “ในข้าพเจ้า” (กท 2:20)


การแทรกอยู่ในกันและกันระหว่างพระคริสตเจ้าและคริสตชน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคำสั่งสอนของนักบุญเปาโล สรุปคำอธิบายของท่านเกี่ยวกับความเชื่อ อันที่จริง แม้ว่าความเชื่อทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า แต่ความเชื่อเน้นความแตกต่างระหว่างเรากับพระองค์ แต่นักบุญเปาโลสอนว่า ชีวิตคริสตชนยังมีอีกองค์ประกอบหนึ่งที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “ธรรมล้ำลึก” เนื่องจากมีความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับพระคริสตเจ้า และระหว่างพระคริสตเจ้ากับเรา ในความหมายนี้ ท่านอัครสาวกถึงกับบรรยายความทุกข์ทรมานของเราว่า เป็น “ความทุกข์ทรมานของพระคริสตเจ้า” ในตัวเรา (2 คร 1:5) เพื่อว่าเราจะสามารถ “แบกความตายของพระเยซูเจ้าไว้ในร่างกายของเราอยู่เสมอ เพื่อว่าชีวิตของพระเยซูเจ้าจะปรากฏอยู่ในร่างกายของเราด้วย” (2 คร 4:10)



เราต้องบรรจุคำสอนทั้งหมดนี้ไว้ในชีวิตประจำวันของเรา โดยการปฏิบัติตามแบบอย่างของนักบุญเปาโล ผู้เจริญชีวิตในระดับกว้าง นอกจากนี้ ความเชื่อยังต้องแสดงออกทุกเมื่อถึงความอ่อนน้อมต่อหน้าพระเป็นเจ้า รวมถึงการนมัสการ และการสรรเสริญ


พระเจ้าทรงทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น


แท้จริงแล้ว เราเป็นคริสตชนได้เพราะพระองค์ และพระหรรษทานของพระองค์ เนื่องจากไม่มีสิ่งใด และผู้ใดมาแทนที่พระองค์ได้ เราจึงต้องไม่สักการะสิ่งใด หรือผู้ใด นอกจากพระองค์ ไม่ควรมีพระเจ้าเท็จเทียมใดมาปนเปื้อนจักรวาลฝ่ายจิตของเรา มิฉะนั้น แทนที่เราจะได้ชื่นชมยินดีกับอิสรภาพที่ได้รับ เราจะถดถอยกลับไปสู่รูปแบบหนึ่งของการเป็นทาสอย่างน่าอัปยศ


นอกจากนี้ การที่เราเป็นส่วนหนึ่งของพระคริสตเจ้า และความจริงที่ว่า “เราอยู่ในพระองค์” ต้องทำให้เรามีทัศนคติแห่งความวางใจอย่างสมบูรณ์ และความชื่นชมยินดีมหาศาล สรุปได้ว่า เราต้องยืนยันพร้อมกับนักบุญเปาโลว่า “ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ข้างเรา ใครจะสู้เราได้” (รม 8:31) และคำตอบคือ ไม่มีสิ่งใด และผู้ใด “จะพรากเราได้จากความรักของพระเจ้า ซึ่งปรากฏในพระคริสตเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (รม 8:39) ดังนั้น ชีวิตคริสตชนของเราจึงตั้งมั่นอยู่บนศิลาที่มั่นคงที่สุด และปลอดภัยที่สุดเท่าที่เราจะจินตนาการได้ และเราได้รับพละกำลังของเราจากศิลานี้ เช่นที่ท่านอัครสาวกเขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้าทำทุกสิ่งได้ในพระองค์ ผู้ประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้า” (ฟป 4:13)


ดังนั้น ขอให้เราเผชิญหน้ากับชีวิตของเราที่มีทั้งความสุขและความทุกข์ โดยได้รับการค้ำจุนจากความรู้สึกอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ที่นักบุญเปาโลเสนอแก่เรา เมื่อเราประสบกับสิ่งเหล่านี้แล้ว เราจะตระหนักในความจริงของนักบุญเปาโล ที่ว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ามอบความวางใจไว้กับผู้ใด และมั่นใจว่าพระองค์จะทรงรักษาสิ่งที่ข้าพเจ้ารับมอบไว้จนกว่าจะถึงวันนั้นได้” (2 ทธ 1:12) อีกนัยหนึ่งคือ จนกว่าจะถึงวันนั้น วันที่เราจะได้พบกับพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นองค์ตุลาการ พระผู้ไถ่ของโลก และพระผู้ไถ่ของชาวเรา







นักบุญเปาโล และพระจิตเจ้า


นักบุญเปาโล สอนว่าพระจิตเจ้าทรงนำเราไปสู่คุณค่ายิ่งใหญ่ของความรัก ความยินดี ความสนิทสัมพันธ์ และความหวัง ซึ่งเรามีหน้าที่แสวงหาประสบการณ์เหล่านี้ทุกวัน


วันนี้ก็เช่นเดียวกับคำสอนสองครั้งที่ผ่านมาของเรา เราจะย้อนกลับไปหานักบุญเปาโล และความคิดของท่าน เบื้องหน้าเราคือยักษ์ใหญ่ ไม่เพียงในความหมายของงานแพร่ธรรมที่แท้จริงของท่าน แต่หมายถึงคำสอนทางเทววิทยาของท่านที่ลึกซึ้งเป็นพิเศษ และเร้าใจ


หลังจากได้รำพึงถึงข้อเขียนของนักบุญเปาโล ว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลางในชีวิตแห่งความเชื่อของเรา วันนี้ ขอให้เราพิจารณาสิ่งที่ท่านพูดเกี่ยวกับพระจิตเจ้า และการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวเรา เพราะท่านอัครสาวกมีเรื่องสำคัญที่จะสอนเราในเรื่องนี้เช่นกัน


เราทราบเรื่องที่นักบุญลูกาบอกเราเกี่ยวกับพระจิตเจ้าในหนังสือกิจการอัครสาวก ที่บรรยายเหตุการณ์เปนเตกอสเต พระจิตแห่งเปนเตกอสเต ทรงนำแรงกระตุ้นอันรุนแรงมาพร้อมกับพระองค์ให้พร้อมที่จะปฏิบัติพันธกิจ เพื่อเป็นพยานยืนยันพระวรสารบนถนนหลวงของโลก


จริงทีเดียวที่กิจการอัครสาวก บอกเล่าพันธกิจต่าง ๆ ที่อัครสาวกได้ปฏิบัติ เริ่มต้นจากแคว้นสะมาเรีย ไปตามชายฝั่งปาเลสไตน์ จนถึงซีเรีย เหนืออื่นใด นี่คือการเล่าเรื่องการเดินทางแพร่ธรรมอันยิ่งใหญ่สามครั้งของนักบุญเปาโล ดังที่ข้าพเจ้าเตือนให้ระลึกถึงในการประชุมในวันพุธครั้งหนึ่งของเราก่อนหน้านี้


แต่ในจดหมายของนักบุญเปาโล ท่านได้พูดกับเราถึงพระจิตเจ้าจากมุมมองอื่น ท่านไม่ได้สรุปด้วยการบรรยายเพียงอย่างเดียวถึงมิติที่มีพลังของพระบุคคลที่สามแห่งพระตรีเอกภาพ แต่วิเคราะห์การประทับอยู่ของพระองค์ในชีวิตของคริสตชน ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งบอกอัตลักษณ์ของคริสตชน


เมื่อนักบุญเปาโลรำพึงถึงพระจิตเจ้า ท่านไม่เพียงอธิบายอิทธิพลของพระองค์ต่อกิจการของคริสตชนเท่านั้น แต่รวมถึงตัวตนของคริสตชนด้วย แท้จริงแล้ว ท่านเป็นผู้บอกเราว่า พระจิตของพระเจ้าสถิตอยู่ในตัวเรา (เทียบ รม 8:9; 1 คร 3:16) และว่า “พระเจ้าทรงส่งพระจิตของพระบุตรลงมาในดวงใจของเรา” (กท 4:6)



ด้านต่าง ๆ ของพระจิตเจ้า


ดังนั้น นักบุญเปาโลจึงคิดว่าพระจิตเจ้ากระตุ้นเราจนถึงส่วนลึกของตัวตนของเรา นี่คือคำพูดของท่านที่มีความหมายสำคัญในประเด็นนี้ : “กฎของพระจิตเจ้า ซึ่งประทานชีวิตในพระคริสตเยซูนั้นช่วยท่านให้พ้นจากกฎของบาป และกฎของความตาย ... ท่านทั้งหลายไม่ได้รับจิตการเป็นทาส ซึ่งมีแต่ความหวาดกลัวอีก แต่ได้รับจิตการเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งทำให้เราร้องออกมาว่า ‘อับบา พ่อจ๋า’ เป็นพระจิตเจ้าเอง” (รม 8:2, 15) ที่ตรัสในตัวเรา เพราะในฐานะบุตร เราย่อมสามารถเรียกพระเจ้าว่า “พ่อ” ได้


ดังนั้น เราจึงเห็นได้ชัดว่า แม้ก่อนที่คริสตชนจะทำอะไร เขาก็มีชีวิตภายในที่อุดมบริบูรณ์อยู่แล้ว ซึ่งเขาได้รับจากศีลล้างบาป และศีลกำลัง ซึ่งเป็นชีวิตภายในที่ทำให้เขามีฐานะเป็นบุตรของพระเจ้า นี่คือศักดิ์ศรียิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ไม่ได้เป็นเพียงภาพลักษณ์ แต่เป็นบุตรของพระเจ้า และเป็นคำเชิญให้เราดำรงชีวิตในฐานะบุตร มีสำนึกมากขึ้นว่าเราเป็นบุตรบุญธรรมในครอบครัวใหญ่ของพระเจ้า เป็นคำเชิญให้เปลี่ยนพระพรอันเป็นภววิสัยให้เป็นความจิรงอันเป็นอัตวิสัย เด็ดขาดทั้งวิธีคิด การกระทำ และการดำรงชีวิตของเรา


พระเจ้าทรงถือว่าเราเป็นบุตรของพระองค์ โดยทรงยกเราขึ้นสู่ศักดิ์ศรีที่คล้ายกับ ถ้าไม่เท่าเทียมกันกับพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบุตรแท้จริงเพียงพระองค์เดียว สภาวะบุตรของเรา และอิสรภาพที่เต็มไปด้วยความวางใจในความสัมพันธ์ของเรากับพระบิดาจึงถูกมอบให้ หรือคืนให้แก่เราในพระองค์


ดังนั้น เราจึงค้นพบว่าสำหรับคริสตชน พระจิตเจ้าไม่ได้ทรงเป็นเพียง “จิตของพระเจ้า” ดังคำบรรยายถึงพระองค์ในพันธสัญญาเดิม และตามที่คนทั่วไปยังคงย้ำในภาษาของคริสตชน (เทียบ ปฐก 41:38; อพย 31:3; 1 คร 2:11, 12; ฟป 3:3 เป็นต้น) และพระองค์ไม่ได้ทรงเป็นเพียง “พระจิตเจ้า” อย่างที่เข้าใจกันในพันธสัญญาเดิม (เทียบ อสย 63:10, 11; สดด 51 [50]: 13) และในคัมภีร์ของศาสนายูดาย อีกต่อไป


อันที่จริง ส่วนหนึ่งของความเชื่อของคริสตชน ประกอบด้วยการยอมรับว่าพระผู้ทรงกลับคืนชีพทรงมีส่วนร่วมในพระจิตเพราะพระองค์ทรงกลายเป็น “จิตซึ่งประทานชีวิต” (1 คร 15:45)


ด้วยเหตุนี้ นักบุญเปาโลจึงพูดโดยตรงถึง “พระจิตของพระคริสตเจ้า” (รม 8:9) “พระจิตของพระบุตรของพระองค์ (เทียบ กท 4:6) หรือ “พระจิตของพระเยซูคริสต์” (ฟป 1:19) ราวกับท่านต้องการบอกว่า ไม่เพียงแต่พระเจ้าพระบิดา ทรงปรากฏให้เห็นได้ในองค์พระบุตร (เทียบ ยน 14:9) แต่พระจิตของพระเจ้าเองทรงแสดงพระองค์ในชีวิต และกิจการของพระผู้ทรงถูกตรึงกางเขน และกลับคืนชีพ ...


นักบุญเปาโล ยังสอนสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งแก่เราด้วย ท่านบอกว่าไม่มีคำภาวนาใดที่เป็นคำภาวนาแท้จริง หากพระจิตเจ้าไม่ได้ประทับอยู่ภายในตัวเรา ท่านเขียนว่า “พระจิตเจ้าเสด็จมาช่วยเหลือเราผู้อ่อนแอ เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องอธิษฐานภาวนาขอสิ่งใดที่เหมาะสม แต่พระจิตเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาวอนขอแทนเรา ด้วยคำที่ไม่อาจบรรยาย และพระผู้ทรงสำรวจจิตใจ ทรงทราบความปรารถนาของพระจิตเจ้า เพราะว่าพระจิตเจ้าทรงอธิษฐานเพื่อบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (รม 8:26-27)


เหมือนกับจะบอกว่าพระจิตเจ้า ซึ่งหมายถึงพระจิตของพระบิดา และพระบุตร เป็นเสมือนวิญญาณของวิญญาณของเรา หรือส่วนลึกที่สุดในตัวตนของเรา ซึ่งจากที่นี้จะมีแรงกระตุ้นของคำภาวนาลอยขึ้นไปหาพระเจ้าอย่างไม่มีวันหยุด และเราไม่สามารถบรรยายคำภาวนาของพระองค์ได้


อันที่จริง พระจิตเจ้า ผู้ทรงตื่นตัวตลอดเวลาภายในตัวเรา ทรงเติมสิ่งที่ขาดไปภายในตัวเรา และถวายการนมัสการของเราแด่พระบิดา รวมทั้งความปรารถนาที่ลึกล้ำที่สุดของเราด้วย


แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ต้องมีความสนิทสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่ และทรงพลังกับพระจิตเจ้า นี่คือคำเชิญให้เรามีความรู้สึกไวมากขึ้น ใส่ใจมากขึ้นต่อการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าภายในตัวเรา เพื่อเปลี่ยนให้เป็นคำภาวนา เพื่อให้รู้สึกถึงการประทับอยู่นี้ และเรียนรู้ที่จะภาวนา และพูดกับพระบิดาเหมือนเด็ก ๆ ในพระจิตเจ้า





ความเกี่ยวเนื่องของพระจิตกับความรัก


นักบุญเปาโลสอนเราถึงอีกแง่มุมหนึ่งของพระจิตเจ้าด้วย คือความเกี่ยวเนื่องของพระองค์กับความรัก ท่านอัครสาวกเขียนไว้ว่า “ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะพระจิตเจ้า ซึ่งพระเจ้าประทานให้เรา ได้หลั่งความรักของพระเจ้าลงในดวงใจของเรา” (รม 5:5)


ในพระสมณสาสน์ Deus Caritas Est ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ยกประโยคที่ชัดเจนที่สุดของนักบุญออกัสตินมากล่าว ว่า “ถ้าท่านมองเห็นความรักเมตตา ท่านก็มองเห็นพระตรีเอกภาพ” (ข้อ 19) และข้าพเจ้าอธิบายต่อไปว่า “อันที่จริง พระจิตคือพลังภายในที่ทำให้ดวงใจของผู้มีความเชื่อสนิทสนมกลมเกลียวกับดวงพระทัยของพระคริสตเจ้า และผลักดันให้เขารักพี่น้อง เหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงรักเขา” พระจิตเจ้าทรงจุ่มเราลงในจังหวะชีวิตของพระเจ้า ซึ่งเป็นชีวิตแห่งความรัก ช่วยให้เราสามารถมีส่วนแบ่งในความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดา และพระบุตร

การที่นักบุญโล เรียงลำดับองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันเป็นผลของพระจิตเจ้า และท่านเอ่ยถึงความรักเป็นอันดับแรกนั้น มีนัยสำคัญ “ผลของพระจิตเจ้าก็คือความรัก ความชื่นชม ความสงบ” เป็นต้น (กท 5:22)


และเนื่องด้วยคำจำกัดความของความรัก คือ ความรักทำให้รวมเป็นหนึ่งเดียว จึงหมายความก่อนอื่นใดว่าพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้สร้างความสนิทสัมพันธ์ภายในชุมชนคริสตชน ดังที่เราขอยืมคำพูดของนักบุญเปาโลมากล่าวในตอนต้นพิธีบูชามิสซาว่า “ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ขอความรักของพระเจ้า และความสนิทสัมพันธ์ของพระจิตเจ้าสถิตอยู่กับทุกท่านเทอญ” (2 คร 13:14)


นอกจากนี้ ยังเป็นความจริงด้วยว่าพระจิตเจ้าทรงกระตุ้นเราให้สานความสัมพันธ์ด้วยความรักเมตตากับมนุษย์ทุกคน ดังนั้น เมื่อเรารัก เราจึงมีที่ว่างสำหรับพระจิตเจ้า และเปิดโอกาสให้พระองค์ทรงแสดงพระองค์อย่างเต็มที่ภายในตัวเรา


ดังนั้น เราจึงเข้าใจได้ว่าเหตุใด นักบุญเปาโล จึงกล่าวคำขอร้อง 2 ประการ ไว้ในจดหมายถึงชาวโรมัน ว่า “จงเปล่งแสงด้วยพระจิตเจ้า” และ “อย่าตอบแทนความชั่วด้วยความชั่ว” (รม 12:11, 17)


ท้ายที่สุด นักบุญเปาโล กล่าวว่า พระจิตเจ้าคือหลักประกันที่พระเจ้าประทานแก่เราให้เป็นมัดจำ และในเวลาเดียวกัน ก็ทรงเป็นสิ่งค้ำประกันว่าเราจะได้รับมรดกในอนาคต (เทียบ 2 คร 1:22; 5:5; อฟ 1:13-14)


ดังนั้น เราจึงเรียนรู้จากนักบุญเปาโลว่า พระจิตเจ้าทรงนำทางชีวิตเราไปสู่คุณค่ายิ่งใหญ่ของความรัก ความยินดี ความสนิทสัมพันธ์ และความหวัง เป็นหน้าที่ของเราที่จะแสวงหาประสบการณ์นี้ทุกวัน โดยคล้อยตามเสียงกระซิบภายในของพระจิตเจ้า และให้คำชี้นำของท่านอัครสาวกช่วยเราพิเคราะห์แยกแยะ

นักบุญเปาโล และพระศาสนจักร


นักบุญเปาโลเสนอว่าพระศาสนจักรเป็นทั้งพระกายของพระคริสตเจ้า และเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า อันเป็นการแสดงความลุ่มลึกของคำสอนของท่านเกี่ยวกับชุมชนพระศาสนจักร


ระหว่างการเข้าเฝ้าของสาธารณชนเมื่อวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พระสันตะปาปาทรงอธิบายคำสอนของนักบุญเปาโล เกี่ยวกับพระศาสนจักร ให้แก่สัตบุรุษที่ชุมนุมอยู่หน้าจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ ต่อไปนี้คือคำแปลคำสอนของพระองค์ที่ทรงกล่าวเป็นภาษาอิตาเลียน


พี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย


วันนี้ เราจะสรุปการพบปะของเรากับอัครสาวกเปาโล โดยอุทิศบทรำพึงสุดท้ายแด่ท่าน เป็นความจริงที่เราไม่สามารถลาจากท่านโดยไม่พิจารณาองค์ประกอบสำคัญของกิจกรรมของท่าน และความคิดที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งของท่าน คือความเป็นจริงของพระศาสนจักร


ก่อนอื่น เราต้องยอมรับว่าท่านติดต่อกับพระบุคคลของพระเยซูเจ้าเป็นครั้งแรกผ่านการเป็นพยานของชุมชนคริสตชนในเยรูซาเล็ม และเป็นการติดต่อที่โกลาหล เมื่อท่านได้พบกลุ่มคนที่มีความเชื่อใหม่ ท่านกลายเป็นคนที่เบียดเบียนคนกลุ่มนี้อย่างรุนแรง ท่านยอมรับความจริงข้อนี้อย่างน้อยสามครั้งในจดหมายหลายฉบับของท่านว่า “ข้าพเจ้าเคยเบียดเบียนพระศาสนจักรของพระเจ้า” (1 คร 15:9; กท 1:13; ฟป 3:6) ราวกับจะบรรยายว่าพฤติกรรมของท่านเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด


ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ตามปกติเรามักเข้าถึงพระเยซูเจ้าโดยผ่านทางพระศาสนจักร ซึ่งเท่ากับเรากล่าวว่านักบุญเปาโลได้พบกับพระศาสนจักร ก่อนจะพบกับพระเยซูเจ้า แต่ในกรณีของท่าน เป็นการพบที่ให้ผลตรงกันข้าม เพราะไม่ได้ส่งผลให้เกิดความผูกพัน แต่เป็นการปฏิเสธอย่างรุนแรง


สำหรับนักบุญเปาโล ความเลื่อมไสศรัทธาในพระศาสนจักรเกิดจากการเข้าแทรกแซงโดยตรงของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเผยพระองค์บนถนนสู่ดามัสกัส และทรงเผยว่าพระองค์คือพระศาสนจักร และทำให้นักบุญเปาโลตระหนักว่าการเบียดเบียนพระศาสนจักร ก็คือการเบียดเบียนพระองค์เอง


อันที่จริง พระผู้ทรงกลับคืนชีพตรัสแก่เปาโล ผู้เบียดเบียนพระศาสนจักรว่า “เซาโล เซาโล ท่านเบียดเบียนเราทำไม” (กจ 9:4) เมื่อท่านเบียดเบียนพระศาสนจักร ท่านเบียดเบียนพระคริสตเจ้า


ดังนั้น นักบุญเปาโลจึงกลับใจมาหาพระคริสตเจ้า และพระศาสนจักรในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่าเหตุใดในภายหลัง พระศาสนจักรจึงอยู่ในความคิด หัวใจ และกิจกรรมของนักบุญเปาโลเสมอ


การหันเหไปจากพระวรสาร


ในขั้นต้น ท่านคิดถึงพระศาสนจักรมากจนท่านก่อตั้งพระศาสนจักรขึ้นในเมืองต่าง ๆ ที่ท่านเดินทางไปประกาศพระวรสาร ท่านพูดถึง “ความเป็นห่วงพระศาสนจักรทุกแห่ง” (2 คร 11:28) บางครั้ง ท่านคิดถึงชุมชนคริสตชนที่ถือกำเนิดขึ้นในเมืองกาลาเทีย ไอโอเนีย มาซีโดเนีย และอาเคีย


พระศาสนจักรบางแห่งทำให้ท่านกังวล และเป็นทุกข์ เช่นที่เกิดขึ้นกับพระศาสนจักรกาลาเทีย ซึ่งท่านเห็นว่ากำลัง “หันเหไปเชื่อข่าวดีอื่น” (กท 1:6) ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านมุ่งมั่นต่อต้าน


แต่กระนั้น ท่านก็มีใจผูกพันกับชุมชนที่ท่านก่อตั้งขึ้น มิใช่ในลักษณะที่เย็นชา แต่ด้วยอารมณ์ที่เข้มข้นรุนแรง เช่นท่านเรียกชาวฟิลิปปี ว่า “พี่น้องที่รัก ผู้เป็นความปรารถนา เป็นความยินดี และเป็นประดุจมงกุฎของข้าพเจ้า” (ฟป 4:1)


ในโอกาสอื่น ๆ ท่านเปรียบเทียบชุมชนต่าง ๆ ว่าเป็นจดหมายรับรองที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง “ท่านทั้งหลายเป็นจดหมายรับรองที่จารึกไว้ในดวงใจของเราให้มนุษย์ทุกคนรู้ และอ่านได้” (2 คร 3:2)


นอกจากนี้ ท่านยังแสดงความรู้สึกที่มีต่อพวกเขาที่ไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกของบิดา แต่เป็นความรู้สึกของมารดา เช่นในเวลาที่ท่านเรียกคนเหล่านี้ว่า “ลูก ๆ ที่รัก ข้าพเจ้ามีความเจ็บปวดประหนึ่งว่ากำลังจะคลอดท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าพระคริสตเจ้าจะปรากฏอยู่ในท่านอย่างชัดเจน” (กท 4:19; เทียบ 1 คร 4:14-15; 1 ธส 2:7-8)


นักบุญเปาโลยังสอนเราเกี่ยวกับพระศาสนจักรในจดหมายของท่านด้วย ดังนั้น คำจำกัดความของพระศาสนจักรที่ท่านนิยามไว้เป็นคนแรกว่า “พระกายของพระคริสตเจ้า” จึงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งเราไม่พบในผลงานของนักประพันธ์คริสตชนคนอื่น ๆ ในศตวรรษที่หนึ่ง (เทียบ 1 คร 12:27; อฟ 4:12; 5:30; คส 1:24)


ในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกายพระคริสตเจ้า เราได้พบรากเหง้าที่ลึกที่สุดของคำจำกัดความอันน่าประหลาดใจของพระศาสนจักร นักบุญเปาโล กล่าวว่า “เพราะมีปังก้อนเดียว แม้ว่าจะมีหลายคน เราก็เป็นกายเดียวกัน” (1 คร 10:17) ในศีลมหาสนิทเดียวกันนี้ พระคริสตเจ้าประทานพระกายของพระองค์แก่เรา และทำให้เราเป็นพระกายของพระองค์ นักบุญเปาโลกล่าวแก่ชาวกาลาเทีย เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นหนึ่งเดียวในพระคริสตเจ้า” (กท 3:28) ด้วยคำพูดทั้งหมดนี้ นักบุญเปาโล ทำให้เราเข้าใจว่า พระศาสนจักรไม่เพียงเป็นของพระคริสตเจ้า แต่ยังมีรูปแบบบางอย่างของความเท่าเทียมกัน และเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าเอง


ดังนั้น ข้อความนี้จึงแสดงถึงความยิ่งใหญ่และสูงส่งของพระศาสนจักร และของเราทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร เนื่องจากเราเป็นอวัยวะของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อขยายมาจากการประทับอยู่ของพระองค์ในโลกนี้ เราจึงมีหน้าที่ต้องดำรงชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง


คำเตือนของนักบุญเปาโลเกี่ยวกับพระพรพิเศษต่าง ๆ ที่ให้ชีวิต และโครงสร้างของชุมชนคริสตชนก็สืบเนื่องมาจากข้อความนี้ และสามารถสืบสาวกลับไปได้ถึงต้นกำเนิดเดียวกัน คือพระจิตของพระบิดา และของพระบุตร โดยตระหนักดีว่าไม่มีใครในพระศาสนจักรที่ปราศจากพระพรพิเศษเหล่านี้ ดังนั้น ท่านอัครสาวกจึงเขียนไว้ว่า “พระจิตเจ้าทรงแสดงพระองค์ในแต่ละคนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” (1 คร 12:7)


ความเป็นหนึ่งเดียวของจิตในทางปฏิบัติ


กระนั้นก็ดี เป็นสิ่งสำคัญที่พระพรพิเศษต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันเพื่อสั่งสอนชุมชน และไม่ได้กลายเป็นสาเหตุของความแตกแยก


สำหรับเรื่องนี้ นักบุญเปาโลถามตนเองว่า “มีการแบ่งแยกในองค์พระคริสตเจ้ากระนั้นหรือ” (1 คร 1:13) ท่านทราบดี และสอนว่าเราจำเป็นต้อง “พยายามรักษาเอกภาพแห่งพระจิตเจ้าด้วยสายสัมพันธ์แห่งสันติ มีกายเดียว และจิตเดียว ดังที่พระเจ้าทรงเรียกท่านให้มีความหวังประการเดียว” (อฟ 4:3-4)


เห็นได้ชัดว่า การเน้นที่ความจำเป็นของความเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้หมายความว่าชีวิตพระศาสนจักรต้องมีมาตรฐานเดียวกัน หรือมีวิธีการทำงานเพียงหนึ่งเดียว นักบุญเปาโลเสนอความคิดว่า “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส 5:19) คือเปิดโอกาสให้แก่พลังที่คาดไม่ถึงของการแสดงพระพรพิเศษของพระจิตเจ้า ผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดของพลัง และความมีชีวิตชีวาที่ใหม่เสมอ


แต่ถ้าจะมีความเชื่อหนึ่งที่นักบุญเปาโลยึดถืออย่างเหนียวแน่น ความเชื่อนั้นคือการเสริมสร้าง “ท่านจงปฏิบัติทั้งหมดนี้เพื่อเสริมสร้างเถิด” (1 คร 14:26) ทุกสิ่งช่วยส่งเสริมให้ผืนผ้าพระศาสนจักรเรียบสม่ำเสมอ โดยไม่มีส่วนใดที่หย่อน เป็นรู หรือฉีกขาด


นอกจากนี้ ยังมีจดหมายของนักบุญเปาโล ที่เสนอว่าพระศาสนจักรเป็นเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ 5:21-33)


นักบุญเปาโล ได้หยิบยืมคำเปรียบเทียบโบราณ ซึ่งเปรียบให้ชาวอิสราเอลเป็นเจ้าสาวของพระเจ้าแห่งพันธสัญญา (เทียบ ฮชย 2:4, 21; อสย 54:5-8) ท่านทำเช่นนั้นเพื่อแสดงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระคริสตเจ้า และพระศาสนจักรของพระองค์ ทั้งในแง่ที่ว่าพระศาสนจักรคือเป้าหมายแห่งความรักอันอ่อนโยนสูงสุดของพระเยซูเจ้า และในแง่ที่ว่าความรักนั้นต้องเป็นความรักที่มีต่อกันทั้งสองฝ่าย และเราก็เช่นกัน ที่ต้องแสดงความซื่อสัตย์อันเปี่ยมด้วยความรักต่อพระองค์ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร


ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สิ่งที่สำคัญคือความสัมพันธ์ของความสนิทสัมพันธ์ กล่าวคือ ความสนิทสัมพันธ์ในแนวดิ่งระหว่างพระเยซูเจ้า และเราทุกคน รวมถึงความสนิทสัมพันธ์ในแนวราบระหว่างเราทุกคนที่มีความแตกต่างเพราะเรา “เรียกหาพระนามของพระเยซูคริสต์” (1 คร 1:2)


เรามีคำนิยามว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เรียกหาพระนามของพระเยซูคริสต์ ดังนั้น เราจึงเข้าใจว่าสิ่งที่นักบุญเปาโล คาดหวังควรจะเกิดขึ้นจริงอย่างไร เมื่อท่านเขียนในจดหมายถึงชาวโครินธ์ว่า “ถ้าผู้ไม่มีความเชื่อ หรือบุคคลภายนอกเข้ามาโดยบังเอิญ พระวาจาที่เขาได้ฟังนั้นจะทำให้เขารู้สึกว่าตนทำผิดและกำลังถูกตัดสิน ความลับในใจของเขาจะถูกเปิดเผย เขาจะซบหน้านมัสการพระเจ้า ประกาศว่า พระเจ้าประทับอยู่ในหมู่ท่านทั้งหลายอย่างแท้จริง” (1 คร 14:24-25)


การพบกันในพิธีกรรมของเราควรเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ไม่ใช่คริสตชน ที่เข้ามาในที่ชุมนุมของเรา ควรสามารถพูดได้ในที่สุดว่า “พระเจ้าประทับอยู่ในหมู่ท่านทั้งหลายอย่างแท้จริง” ขอให้เราภาวนาต่อพระเยซูเจ้าให้เราเป็นเช่นนี้ ในความสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า และในความสนิทสัมพันธ์ระหว่างพวกเรา