Way of Spirit|5 page 1

อภิบาลเยาวชน



ท่าทีและความเชี่ยวชาญ

เพื่อการอภิบาลเยาวชน1


ผู้อบรมหลายคน แม้จะมีประสบการณ์และการทำงานเพื่อเยาวชนมาหลายปี แต่ก็ยังรู้สึกลำบากเมื่อต้องปรับเปลี่ยนวิธีเข้าหาเยาวชนและเปลี่ยนบทบาทในฐานะผู้ให้การอบรมเยาวชนในงานอภิบาลที่ทำอยู่ พวกเขารู้ว่าวิธีการอบรมและอภิบาลไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรอย่างที่เคยเป็นในอดีต แต่พวกเขาก็ยังเชื่อว่าหากมีความพยายามและทำมากขึ้น ในที่สุดแล้วพวกเขาก็จะสามารถทำให้เเยาวชนสนใจและมาร่วมส่วนในกระบวนการอบรมได้ ทว่า ท่าทีแบบนี้ไม่มีผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้ ดีไม่ดีอาจจะทำให้พวกเขาต้องท้อแท้ได้


ปัจจุบันนี้ การที่จะดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการอบรมและอภิบาลแค่ผิวเผินคงไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว จำต้องหารูปแบบของกิจกรรมด้านการอภิบาลที่สามารถตอบสนองการท้าทายของโลกเยาวชนทุกวันนี้ได้และนำมาประยุกต์ใช้


การแปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยรูปแบบใหม่ของการอบรมด้านอภิบาลซึ่งจะช่วยเราให้ค้นพบความกระตือรือร้นใหม่ในพันธกิจแห่งการเป็นผู้อบรมซึ่งจะช่วยเราทำงานอภิบาลด้วยความมั่นใจและมีประสิทธิผล


การอบรมด้านอภิบาลนี้มีจะต้องมีองค์ประกอบสองอย่างนี้


  • การรื้อฟื้นความสำนึกในพันธกิจของเรา ด้วยการค้นพบความยิ่งใหญ่ของพันธกิจ ปลุกเร้าความร้อนรนในการให้การอบรมและการประกาศข่าวดี ซึ่งจะช่วยเราขจัดความโน้มเอียงที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์อย่างง่ายๆและพอใจกับผลลัพธ์แบบทันใจและผิวเผินโดยไม่กล้าที่จะเรียกร้องมากไปกว่านั้น


  • การจัดลักษณะและรูปแบบของกิจกรรมด้านการอบรมและอภิบาลใหม่ โลกแห่งวัฒนธรรมและโลกของเยาวชนเปลี่ยนไปอย่างลึกซึ้งและเรียกร้องเราให้เปลี่ยนรูปแบบการอภิบาลของเรา นั่นคือ จัดรูปแบบของการอยู่กับเยาวชน พื้นที่ที่เราจะทำการอภิบาล วิธีการคิดและการจัดการอบรม ตลอดจนบทบาทของเราให้เข้ากับบริบทใหม่ จึงไม่อยู่ในการทำอะไรใหม่ๆ แต่เป็นการนำสิ่งที่เราทำอยู่ให้เข้าอยู่ในกรอบเดียวกันซึ่งจะทำให้เกิดโครงการแห่งการอบรมอย่างมีระบบ ไม่ใช่เน้นแค่กิจกรรมอย่างเดียวและไม่มีเป้าหมายชัดเจน


หากปราศจากซึ่งความรักหลงใหล (passion) ต่อการอบรมและความสำนึกอันลึกซึ้งในการฟื้นฟูตนเองและหมู่คณะ ก็ยากที่จะขจัดแนวโน้มของลัทธิแห่งการให้ความสำคัญแก่การกระทำอย่างเดียว ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกและการขาดจิตสำนึก อีกทั้งความผิวเผิน ซึ่งทำให้เราไม่สามารถเป็นจุดอ้างอิงให้แก่เยาวชน ไม่สามารถสนับสนุนเยาวชนให้วางแผนการอบรมชีวิตคริสตชนที่สามารถตอบรับความคาดหมายและความต้องการของพวกเขาด้วยความมั่นใจและด้วยความมุ่งมั่นได้


การอบรมด้านอภิบาลจึงเป็นความจำเป็นสำหรับผู้อบรมทุกคนที่ประสงค์จะมีความสัตย์ซื่อต่อกระแสเรียกแห่งการเป็นนักอบรมและมุ่งมั่นจุตอบสนองการเรียกร้องและความต้องการของเยาวชนทุกวันนี้อย่างมีประสิทธิผล



1. ซาเลเซียนนักอบรมและผู้อภิบาล (เทียบ Ratio 25-40)


ในขั้นตอนแรกของกระบวนการ การอบรมด้านอภิบาลเราต้องค้นพบความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระแสเรียกของเรา กล่าวคือ พันธกิจของการเป็นนักอบรมและผู้อภิบาลเยาวชน เพื่อจะสามารถรื้อฟื้นความกระตือรือร้นและความมั่นใจในพันธกิจนี้


นักบวชซาเลเซียนได้รับเรียกให้ดำนินชีวิตด้วยโครงการแพร่ธรรมของคุณพ่อบอสโกในพระศาสนจักร กล่าวคือ กระทำตนเป็นเครื่องหมายและผู้นำความรักของพระเจ้าให้เยาวชน โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้มากที่สุด (. 2)


กระแสเรียก-พันธกิจนี้ก่อให้เกิดรูปแบบของลักษณะชีวิตและการกระทำของคุณพ่อบอสโก ซึ่งท่านได้ส่งต่อมาให้เราในฐานะศิษย์ เพื่อจะได้เป็นอัตลักษณ์แห่งกระแสเรียกจำเพาะของเรา ซึ่งเป็นทั้งนักบวช ผู้แพร่ธรรม หมู่คณะ และซาเลเซียนในเวลาเดียวกัน (เทียบ ว. 3)


อัตลักษณ์แห่งกระแสเรียกนี้คือตัวกำหนดลักษณะของซาเลเซียนผู้เป็นนักอบรมและผู้อภิบาล อีกทั้งให้แนวทางจำเพาะของการอบรมด้วย (เทียบ ว. 97)


ต่อไปนี้คือลักษณะสำคัญของการอบรมด้านอภิบาล


  • ความรักอภิบาล (เทียบ ว. 10) เป็นศูนย์กลางและเป็นสรุปของกระแสเรียกซาเลเซียนในฐานะนักอบรมและผู้อภิบาล ความรักอภิบาลคือความสนิทชิดเชื้ออย่างพิเศษกับพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นนายชุมพาบาลที่ดี โดยทางความรัก ซึ่งทำให้ซาเลเซียนพบการประทับอยู่ของพระองค์ในเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ยากจน และเร่งเร้าให้ซาเลเซียนให้อุทิศชีวิตเพื่อความรอดของเยาวชน (Da mihi animas, cetera tolle)


ความรักอภิบาลกลับกลายเป็น ความรักอบรม ในตัวซาเลเซียน (เพื่อเยาวชน) และแสดงออกมาในความรักที่เป็นรูปธรรมและตัวต่อตัว ซึ่งทำให้ซาเลเซียนมุ่งความดีทั้งครบของเยาวชน พร้อมกับนำเยาวชนไปพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นมนุษย์ที่ครบครัน (เทียบ ว. 31)


ความรักได้รับความมีชีวิตชีวาจากพลังขับเคลื่อนแห่ง หัวใจศูนย์เยาวชน ที่แสดงออกผ่านทางประสบการณ์แห่งชีวิตจิต วิธีการอบรม และอภิบาลของคุณพ่อบอสโก ซึ่งมีชื่อว่า ระบบการอบรมแบบป้องกัน อันเป็นความรักที่กลับเป็นท่าทีแห่งความเห็นอกเห็นใจและความพร้อมที่จะเข้าหาเยาวชน (“อยู่กับพวกเธอที่นี่พ่อมีความสุข พ่อมีชีวิตเพื่ออยู่กับพวกเธอ) พร้อมกับการอยู่ที่น่าดึงดูดใจและเต็มด้วยการกระทำเพื่อเยาวชนและการชี้นำพวกเขาให้รับผิดชอบในการพัฒนาด้านความเป็นมนุษย์และการเติบโตด้านความเชื่อ (เทียบ ว. 38 และ 39)


  • ซาเลเซียนนักอบรม-อภิบาลคือ สมาชิกที่รับผิดชอบของหมู่คณะนักบวช ซึ่งเป็นผู้กระทำพันธกิจที่แท้จริง (เทียบ ว. 44) “การเจริญชีวิตและการทำงานร่วมกัน สำหรับเราซาเลเซียน เป็นความต้องการพื้นฐานและเป็นหนทางที่แน่นอนในอันที่จะเจริญชีวิตตามกระแสเรียกของเราอย่างแท้จริง(. 49) การสร้างหมู่คณะแห่งภราดรภาพเป็นการเปิดไปหาเยาวชน เป็นการรับใช้เชิงอภิบาลอย่างแรกที่เราเสนอให้แก่เยาวชน (เทียบ GC 25, 7.66)



  • ซาเลเซียนนักอบรม-อภิบาล ยังเป็น ประจักษ์พยานถึงพระวรสารอย่างถึงรากถึงโคน คุณพ่อบอสโกอยากให้บุคคลผู้รับเจิมเป็นศูนย์กลางของงานของคุณพ่อ ที่มุ่งไปยังความรอดและความศักดิ์สิทธิ์ของเยาวชน ซึ่งเป็นดังจุดโฟกัสของพระพรพิเศษของคุณพ่อ (เทียบ GC 24, 150)


ในฐานะที่เป็นนักบวช ซาเลเซียนประกอบพันธกิจในฐานะนักอบรมและนายชุมพาบาลในหมู่คณะเพื่อการอภิบาล (EPC) ด้วยการเป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นเอกของพระเจ้า ด้วยการเป็นประจักษ์พยานแห่งพระอาณาจักรและคุณค่าแห่งพระอาณาจักร ด้วยการเป็นเครื่องหมายและศูนย์กลางของการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการร่วมส่วน ด้วยการเป็นจุดอ้างอิงของอัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษซาเลเซียน (เทียบ GC 24, 159)


  • นักอบรม-อภิบาลดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์แห่งกระแสเรียก หนึ่งในสองรูปแบบที่เสริมกันและกัน นั่นคือ ในฐานะสงฆ์หรือในฐานะภราดา (เทียบ ว. 45) พันธกิจซาเลเซียนเป็นพันธกิจแห่งการอบรมที่ประกอบขึ้นด้วยกิจกรรมที่กระทำในสนามงานที่หลากหลายในโลกที่เยาวชนอาศัยอยู่ แต่ก็มุ่งจุดโฟกัสไปที่การนำเยาวชนไปสู่ความสัมพันธ์เชิงศีลศักดิ์สิทธิ์กับพระเจ้า การสร้างพระศาสนจักร การนำเยาวชนไปในเส้นทางของกระแสเรียกของแต่ละคน สองแง่แห่งพันธกิจของเรา (แง่ฆราวาสและแง่ศาสนบริกร) มีความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องเสริมสร้างและสร้างความมั่งคั่งให้แก่กันและกัน


หมู่คณะซาเลเซียนผู้ประกอบพันธกิจ ต้องดูแลรักษาเอกภาพนี้ด้วยการสร้างความมั่งคั่งให้แก่รูปแบบทั้งสองของกระแสเรียก นั่นคือ ฆราวาสและสงฆ์


เพื่อจะดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับลักษณะดังกล่าวจำต้อง


  • มีชีวิตจิตแห่งการแพร่ธรรมที่เข้มแข็ง


เราต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตโดยมี ชีวิตจิตเป็นแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นในการทำหน้าที่แห่งการอบรมและอภิบาล และทำให้กิจการที่เราทำกลับเป็นแรงกระตุ้นและแรงบันดาลใจให้แก่ชีวิตจิต การทำเช่นนี้จะช่วยขจัด ลัทธิแห่งการให้ความสำคัญแก่การกระทำอย่างเดียวซึ่งมักจะนำไปสู่ความผิวเผินและการขาดความสนใจในรสชาติของชีวิตจิตที่ลึกซึ้งและจริงจัง ในเวลาเดียวกันก็ขจัด ลัทธิแห่งการให้ความสำคัญแก่ชีวิตจิตอย่างเดียวซึ่งแยกตัวออกจากชีวิตและ

หน้าที่การอบรม อีกทั้งใช้เป็นข้ออ้างเพื่อการปลีกตัวและการหลบหนีหน้าที่ เราจึงต้อง


    • มีความสัมพันธ์ตัวต่อตัวที่หนักแน่นกับพระเยซูเจ้าในชีวิตประจำวัน


    • ต้องมีความพร้อมในการวินิจฉัยเชิงอภิบาลซึ่งนำไปสู่วิธีการมองชีวิต มองผู้คน และมองเหตุการณ์ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ


    • ต้องมีแผนสำหรับชีวิตส่วนตัว ดังที่มีการเสนอใน GC25, 14.


  • มีรากฐานของการเป็นงบุคคล การเป็นมนุษย์ และการเป็นคริสตชนที่ดี


เราต้องให้ความสนใจแก่การอบรมด้านมนุษย์และด้านคริสตชนเป็นพิเศษ เพื่อเราจะได้เป็นนักอบรมอย่างแท้จริงและเป็นประจักษ์พยานที่มีความหมายและน่าเชื่อถือให้แก่เยาวชนทุกวันนี้ เหนืออื่นใด เราต้องให้ความสนใจ


    • ใน การพัฒนาทัศนคติที่ถูกต้องและอย่างมีหลักการ เพราะว่า เมื่อเรามีความมั่นใจในตนเอง เราก็สามารถขจัดการขึ้นอยู่กับสถานการณ์มากเกินไป ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เราเปิดตนเอง พร้อมจะเสวนาและปรึกษาหารือกับคนอื่น


    • ความสามารถในการเรียนรู้จากชีวิตและจากเยาวชนอยู่เสมอ (การอบรมต่อเนื่อง) โดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่มีรูปแบบชีวิตที่เฉื่อยชา ผิวเผินและทำแบบที่เคยทำเป็นประจำแอบแฝงอยู่


    • กระบวนการต่อเนื่องในการทำให้ คุณค่า มาตรฐาน กฎเกณฑ์ ฯลฯ กลับกลายเป็น ชีวิตและประสบการณ์


  • ประสบการณ์หมู่คณะแบบบูรณาการ ซึ่งก่อให้เกิด


    • การสื่อสารและการแบ่งปัน ชีวิตและกิจกรรม


    • ความสำนึกแห่ง การเป็นส่วนหนึ่งของคณ ะที่มากขึ้น


    • การร่วมมือและ ทำงานเป็นทีม


2. ท่าทีและความชำนาญ (เทียบ Ratio 188-192)


การดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ของซาเลเซียนนักอบรม-อภิบาลเรียกร้องให้มีและพัฒนา ท่าที (คุณค่า) และ ความชำนาญ (ความสามารถในเชิงปฏิบัติ) ซึ่งทำให้ซาเลเซียนดำเนินชีวิตในเอกภาพกับกระแสเรียกอย่างมีประสิทธิภาพและในเวลาเดียวกัน ในรูปแบบที่มีความหมาย


2.1. ความสามารถในการอยู่ท่ามกลางเยาวชน โดยเฉพาะ เยาวชนที่ยากจน (เทียบ GC25,37ss)


การเป็นซาเลเซียนคือการมีเยาวชนอยู่ในหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่ยากจนและอยู่ในความเสี่ยง อีกทั้งอยู่ชายขอบพระศาสนจักร เพื่อจะพัฒนาพระพรแห่งความรักต่อเยาวชนเป็นพิเศษจำเป็นต้องมี


    • การเปิดออกสู่เยาวชน ความพร้อมที่จะออกจากโลกของตนเองเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกของพวกเขา


    • ความสามารถที่จะออกไปหาพวกเขา ด้วยท่าทีแห่งการต้อนรับ แสดงความสนใจต่อพวกเขาอย่างจริงใจ เปิดใจรับแง่ดีที่มีอยู่ในชีวิตของพวกเขา


    • ความสามารถที่ร่วมชีวิตกับพวกเขา เข้าร่วมโครงการและเป้าหมายของพวกเขา ให้ความสนใจแก่พวกเขาในฐานะปัจเจกบุคคล พูดคุยกับพวกเขาด้วยท่าทีเป็นมิตร


    • ความสามารถในการเสนอ ประจักษ์พยานแห่งชีวิต ที่มีความหมายให้แก่พวกเขาและเสนอ โอกาสในการศึกษาอบรม และติดตามพวกเขาอย่างใกล้ชิดด้วยความเคารพ


โดยทางการอบรมด้านอภิบาลนี้ ซาเลเซียนควร


  • รู้จักสังคมสมัยใหม่และโลกเยาวชนอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกของเยาวชนที่ยากจน


    • โดยพัฒนา ความสามารถในการสังเกตและตีความ สถานการณ์และพฤติกรรมของเยาวชน เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ ต้องเราหาเวลาในช่วงชีวิตประจำวันเพื่ออ่าน ไตร่ตรองร่วมกับผู้อื่น และเทียบเคียงประสบการณ์ของเรากับประสบการณ์ของผู้อื่น


    • โดยใช้ สายตาแห่งความเชื่อ ในการวินิจฉัยรูปแบบการกระทำของพระเจ้าและกิจการของพระจิตเจ้า เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ ต้องส่งเสริมให้มีการวินิจฉัยด้านการแพร่ธรรมในหมู่คณะ กล่าวคือ ความสามารถในการอ่านสถานการณ์และปัญหาในแต่ละวันภายใต้แสงสว่างของพระวาจา


    • ด้วย ความอ่อนไหวเชิงอภิบาลซาเลเซียน



ด้วยวิธีนี้ ผู้อบรมจะได้รับความช่วยเหลือเพื่อขจัดอันตรายที่พบเห็นกันมากในทุกวันนี้ อาทิ การแอบอยู่หลังโครงการสร้างและความสัมพันธ์อย่างทางการ การให้ความสนใจเฉพาะบทบาทของตน หรือ การเอาแต่กิจกรรมด้านการจัดการและบริหาร การไม่มีเวลาหรือการกลัวที่จะพบปะและใช้เวลากับเยาวชน หรือการอยากจะเป็นเยาวชนเสียเองจนลืมบทบาทในฐานะนักอบรม ความต้องการให้ตนเป็นที่ยอมรับให้ได้ การอยู่กับเยาวชนเพื่อหนีจากหมู่คณะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถให้การอบรมได้อย่างที่ควร


  • เน้น การบริหารกิจกรรมส่วนตัวและของหมู่คณะ เพื่อสนับสนุน การอยู่ของซาเลเซียน มากกว่าจะเน้นการบำรุงรักษาและสร้างโครงสร้างเพื่อประโยชน์ของเยาวชน กล่าวคือ การสร้างเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ ตลอดจนโครงการและวิธีการดำเนินการเพื่อรองรับพันธกิจแห่งการอบรมและการประกาศข่าวดี เพื่อรองรับกิจการแห่งความรักอภิบาลสำหรับเยาวชน โดยร่วมกับฆราวาสและครอบครัวซาเลเซียน (เทียบ GC25, 42) นี่คือการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการและทัศนคติที่มีความหมาย จึงไม่ใช่เรื่องของงาน หรือความต่อเนื่องหรือการฟื้นฟูในสิ่งที่เราทุ่มเทความพยายามให้ แต่เป็นการสร้างและการพัฒนาการอยู่ของของซาเลเซียนที่เต็มด้วยชีวิตชีวาและศักยภาพ ซึ่งดึงดูดและทำให้คนจำนวนมากมาร่วมบทบาทในโครงการอบรม-อภิบาลเพื่อรับใช้เยาวชน


  • ให้ความสำคัญเป็นพิเศษและให้ความสนใจที่มุ่งมั่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความลำบากและเยาวชนที่ยากจนกว่าหมด โดย


    • ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อบรมและเยาวชนเป็นการอบรมและมีความหมาย เพื่อให้เป็นวิธีการหลักในการป้องการและการเยียวยา ในเวลาเดียวกันก็สร้างความสัมพันธ์ที่เริ่มจากการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขซึ่งเอื้อให้มีการแบ่งปันกับเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบ่งปันประสบการณ์ของความทุกข์ทรมานที่เยาวชนได้ประสบมาในชีวิต ในเวลาเดียวกันก็ติดตามเยาวชนในการค้นพบรูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันโดยทางการดำเนินชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มและการพัฒนาความรับผิดชอบและการทำงานด้วยกัน...


    • ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการป้องกัน ซึ่งเอื้อให้เกิดทัศนคติเชิงป้องกันในตัวผู้อบรมซึ่งไม่เพียงแต่คอยดูแลและปกป้องเยาวชนเท่านั้น แต่เหนืออื่นใด ช่วยให้เยาวชนเห็นในคุณค่าของแง่ดีในตัวพวกเขาและใช้คุณค่าเหล่านี้เพื่อเติมเต็มชีวิตของพวกเขาเองด้วยจิตตารมณ์แห่งความหวัง พร้อมกับเปิดตัวเพื่อแบ่งปันความสัมพันธ์นี้กับผู้อื่นด้วยความมั่นใจและจิตใจแจ่มใส อีกทั้ง บริหารชีวิตของพวกเขาเองด้วยความรับผิดชอบและใจที่เปิดกว้างสู่ผู้อื่น


    • พัฒนากระบวนการอบรมจำเพาะ เพราะน้ำใจดีและความรู้ด้านทฤษฎีที่ได้มาจากการซึมซับในโลกการศึกษาอย่างเดียวยังไม่พอ สิ่งที่ต้องทำคือพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะร่วมชีวิตกับเยาวชน การไตร่ตรอง และการพูดคุยกับนักอบรมอื่นเพื่อจะได้หาบรรทัดฐานใหม่ๆ เพื่อแบ่งปันโครงการกระแสเรียกและแรงจูงใจโดยเชื่อมโยงโปรแกรมและสถาบันต่างเข้าด้วยกัน



2.2. ความสามารถที่จะดำเนินชีวิตในภาพรวมของโครงการอบรม-อภิบาลซาเลเซียน


ซาเลเซียนคือผู้อบรมที่นำเยาวชนไปหาพระเยซูเจ้า โดยวิธีการที่ชี้แนวทางไปสู่รูปแบบจำเพาะของชีวิตคริสตชน กล่าวคือ ชีวิตจิตเยาวชนซาเลเซียน ดังนั้น กิจกรรมอบรมและกิจกรรมอภิบาลจึงไม่ใช่สองขั้นตอน หรือกรรมวิธีที่ขนานกันไป แต่เป็นสองกระบวนการซึ่งต้องหลอมเข้าด้วยกันและมีอิทธิพลต่อกันและกัน


การดำเนินชีวิตและการใช้การ อบรมโดยการประกาศข่าวดีและประกาศข่าวดีโดยการอบรมเรียกร้องให้มีการอบรมที่ส่งเสริมให้มี


  • การสังเคราะห์ความเชื่อกับวัฒนธรรมในชีวิต โดย


    • พัฒนาท่าทีพื้นฐานของความเป็นมนุษย์บางอย่างให้แก่ชีวิตแห่งความเชื่อที่แท้จริง (อาทิ ความสามารถในการหล่อเลี้ยงชีวิตภายใน ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เห็นแก่ตัว อิสรภาพที่รู้จักรับผิดชอบ การมองชีวิตในแง่ดีและอย่างมั่นใจ ฯลฯ)


    • ส่งเสริมชีวิตด้านวัฒนธรรมที่จำเป็นโดยทางการอ่าน การศึกษา การพูดคุยกับผู้อื่น...ที่กระทำด้วยแรงจูงใจแห่งความรับผิดชอบต่อกระแสเรียกของตน



  • กระบวนการอบรมที่เปิดสู่การประกาศข่าวดี ซึ่งรวมถึง


    • การให้ความสำคัญแก่ปัจเจกบุคคล มากกว่าแก่โครงการและโครงสร้าง


    • จัด กระบวนการ การอบรมโดยมีเป้าหมายและขั้นตอนที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะเน้นแค่จำนวนของกิจกรรม


    • เน้นการอบรมไปสู่คุณค่า (ชีวิตภายใน ความสามารถในการตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบ ความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน การมีบทบาท มิติด้านศาสนา...) มากกว่าเน้นไปที่พฤติกรรมและนิสัย


    • มี วิธีการ ที่จะสนับสนุนให้มีการร่วมส่วน ทำงานเป็นกลุ่ม ให้ความสำคัญแก่ปัจเจกบุคคล



  • การประกาศข่าวดีที่มีมิติการอบรม


    • ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อสถานาการณ์และความคาดหมายของ แต่ละบุคคล


    • สร้างกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปแต่เรียกร้อง โดยเริ่มจากขั้นของการพัฒนาด้านมนุษย์ไปสู่ระดับสูงสุดของชีวิตคริสตชน กล่าวคือ ความศักดิ์สิทธิ์


    • โดยให้คำนึงถึง องค์ประกอบของการอบรมไปสู่ความเชื่อ เช่นว่า การสร้างคุณค่าพระวรสารให้แก่ตนเอง มากกว่าการฝึกฝนหรือวิธีประพฤติตน ความหลากหลายของวิธีการตามที่มีอยู่ การร่วมมีส่วนในวิธีการอย่างมีบทบาท...



  • การพิจารณาไตร่ตรองวัฒนธรรมที่สืบทอดมา โดยทางกิจกรรมอบรม-อภิบาลของซาเลเซียนและของหมู่คณะเพื่อการอบรม ถ้าไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองเชิงสังเคราะห์และความปรารถนาที่ชัดเจนของการส่งเสริมวัฒนธรรมทางเลือกใหม่ที่ได้รับแรงดลใจจากพระวรสารอย่างแท้จริง ก็จะเป็นการง่ายที่เราจะปล่อยตัวไปตามกระแสของวัฒนธรรมที่มีอยู่รอบตัวเรา หรือไม่เราก็แค่เสนอองค์ประกอบทางศาสนาบางอย่างเคียงข้างไปกับวัฒนธรรมเหล่านี้ ซึ่งไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือสามารถเป็นบรรทัดฐานสำหรับการตัดสินและพฤติกรรมของบุคคลที่เราให้การอบรมได้


ปัจจุบันนี้ การทำสังเคราะห์แบบนี้ค่อนข้างจะยากเพราะเรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุคของลัทธิโลกีย์วิสัยและในวัฒนธรรมซึ่งถือว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะเหตุนี้เอง เราจึงต้องปลูกฝังท่าทีบางอย่างที่จะช่วยเอื้อให้เราทำได้ อาทิ


    • การพิจารณาไตร่ตรองเพื่อต้าน ลัทธิการเน้นแต่การกระทำอย่างเดียว


    • การเปิดสู่ความสัมพันธ์ตัวต่อตัว เพื่อขจัดแนวโน้มที่จะหลบซ่อนอยู่หลังโครงสร้างที่เป็นทางการ


    • การประเมินที่ทำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขจัดการทำอะไรอย่างทันทีทันควันและการทำแบบครึ่งๆกลางๆ


    • การวินิจฉัยและการมองหาโอกาสใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อขจัดแนวโน้มที่จะทำอะไรตามแบบที่เคยทำเป็นประจำ


    • ความสามารถในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความเครียดได้ เพื่อจะหลีกเลี่ยงลัทธิปัจเจกนิยมและการตอบโต้ที่รุนแรง



2.3. ความสำนึกแห่งหมู่คณะ

งานอภิบาลซาเลเซียนเป็นงานของหมู่คณะ (เทียบ ว. 49) ในประเด็นนี้ ซาเลเซียนต้องสร้างวุฒิภาวะของการ ทำงานด้วยกันตามความแตกต่างของงานและบทบาท โดยมีความสำนึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะอบรม-อภิบาล ของครอบครัวซาเลเซียนและของขบวนการซาเลเซียน


การรับใช้ด้านการอบรมอย่างแรกที่เยาวชนต้องการจากเราคือการเป็นประจักษ์พยานของชีวิตแห่งภราดรภาพซึ่งเป็นดังการตอบรับความต้องการของเยาวชนที่อยากจะมีการสื่อสารอย่างลึกซึ้ง การเสนอรูปแบบชีวิตที่มีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ประกาศกแห่งพระอาณาจักร และการเชื้อเชิญให้ต้อนรับของขวัญของพระเจ้า(GC25, 7)


การสร้างวุฒิภาวะแห่งความสำนึกในหมู่คณะของกิจกรรมอภิบาลซาเลซียนเรียกร้องให้มี


  • สร้างคุณค่าแห่งชีวิตหมู่คณะในพันธกิจซาเลเซียน โดยขจัดอันตรายของการที่จะทำให้การทำงานกับเยาวชนเป็นอุปสรรคหรือเป็นการหนีหมู่คณะ หรือทำให้ชีวิตหมู่คณะกลายเป็นที่กำบังอันปลอดภัย หรือการแก้ตัวเพื่อจะหลีกเลี่ยงบทบาทผู้นำเมื่ออยู่กับเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ยากจน


  • พัฒนาจากการเข้าหาส่วนตัวไปสู่การเข้าหาแบบหมู่คณะและเป็นกลุ่ม โดยการร่วมกันร่างโครงสร้างและนำไปกระทำร่วมกัน โดยการเคารพหน้าที่และบทบาที่แตกต่างกัน โดยการยอมรับการประเมินที่ทำเป็นกลุ่มและโดยกลุ่ม โดยการรู้สำนึกในความรับผิดชอบร่วมกันในโครงการทั้งหมด แม้ว่าตนจะทำอยู่ในแผนกเดียว


  • เรียนรู้ที่จะทำงานกับฆราวาส โดยแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกับพวกเขา โดยให้ความเคารพต่อตำแหน่งและบทบาทของพวกเขาใน EPC และโดยการติดตามและร่วมมือกับพวกเขา


  • เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้จิตวิญญาณใน EPC โดยการชี้นำพลังของหมู่คณะซาเลเซียน ไม่ใช่แค่ในเรื่องการบริหารหรือการจัดการ แต่ติดตามและให้การอบรมแก่ผู้ให้การอบรมและเยาวชน โดยการให้จิตวิญญาณแห่กระบวนการของการอบรมและการประกาศข่าวดี โดยการร่วมมีบทบาทในกระบวนการของประชาชนที่ร่วมกับซาเลเซียนในการอบรมและการอภิบาล (เทียบ GC24,159; GC25,78-81)



2.4. ความสามารถในการให้จิตวิญญาณ


การให้จิตวิญญาณนั้นไม่ใช่การบริหารหรือการจัดกิจกรรม หรือสถาบันหรือโครงการ ทั้งไม่ใช่การส่งเสริมบรรยากาศครอบครัวซึ่งมีศักยภาพ ความยินดี และการร่วมส่วนเท่านั้น ทว่า เหนืออื่นใด การให้จิตวิญญาณคือ


    • การสร้างแรงบันดาลใจ กล่าวคือ การนำกิจกรรมการอบรมและอภิบาลไปตามคุณค่าและบรรทัดฐานของจิตตารมณ์ซาเลเซียนและวิธีการอบรม


    • สร้างเอกภาพ และการแบ่งปันในบริบทของ SEPPS ซึ่งสมาชิกทุกคนของ EPC ร่วมกันร่างโครงการและนำไปปฏิบัติ โดยส่งเสริมให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกันและร่วมมือกับนักอบรมอื่นๆ พร้อมกับประสานงานกับแผนกและกิจกรรมอื่น


    • พัฒนาความสำนึกแห่งอัตลักษณ์และการเป็นส่วนหนึ่งในงานและพันธกิจร่วมกันโดยให้ความสำคัญแก่การร่วมมือในที่ซึ่งเราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ มากกว่าการกระทำและการบริหารพันธกิจ โดยการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และระบบการให้ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร


ดังนั้น การให้จิตวิญญาณคือรูปแบบใหม่ของการอยู่และการกระทำในบทบาทการอบรมซึ่งต้องมีการเรียนรู้และการทำให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา การอบรมต่อเนื่องจึงต้องมี


  • การให้ความสำคัญแก่การเป็นก่อนการทำ นั่นคือ การเป็นประจักษ์พยานแห่งชีวิตต้องมาก่อนประสิทธิผลและผลสัมฤทธิ์แบบทันตาเห็น อัตลักษณ์แห่งกระแสเรียกต้องมาก่อนสิ่งที่เกี่ยวกับสถาบัน อิทธิพลอันแท้จริงมาก่อนอำนาจตามกฎหมายอันชอบธรรม


  • จัดให้โครงการเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่กิจกรรมของแต่ละคน ถือว่ากระบวนการตามขั้นตอนต้องมาก่อนการเพิ่มจำนวนกิจกรรม


  • สร้างวิสัยทัศน์แบบบูรณาการ ของความอุตสาหะด้านการอบรม-อภิบาล และขจัดมุมมองเฉพาะแผนกของตนอย่างเดียวให้หมดไป


  • ออกจากแนวการทำงานของแต่ละคนเพื่อมุ่งสู่ กระบวนการของหมู่คณะหรือกลุ่ม


  • สนับสนุนให้เยาวชนร่วมบทบาทโดยตรง โดยให้โอกาสพวกเขา สนับสนุนให้พวกเขาร่วมส่วน คอยติดตามและช่วยเหลือพวกเขา



2.5. ทัศนคติแห่งการวางแผน (Planning Mentality)


การอภิบาลเยาวชนซาเลเซียนคือการอภิบาลที่มีโครงสร้าง กิจกรรมและการดำเนินงานที่แตกต่างออกไปต้องนำมายังจุดหมายเดียวกัน กล่าวคือ การพัฒนาการของเยาวชนแบบบูรณาการใน EPC งานทั้งหมดจะต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวในรูปแบบของการเสริมกันและกันเพื่อจะได้ให้จิตวิญญาณแก่กระบวนการการอบรมเดียวกัน


เพื่อทำเช่นนี้ได้ต้องมีทัศนคติแห่งการวางแผน (เทียบ GC25,73) กล่าวคือ


    • วิธีคิดเกี่ยวกับกิจกรรมอภิบาลต้องเป็นการคิดเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งครบ ไม่คิดแค่จำนวนของกิจกรรมหลากหลายทีละอย่าง

    • วิธีการจัดกิจกรรม ต้องทำเป็นกระบวนการ กล่าวคือ กิจกรรมที่จัดเป็นชุดและโยงถึงกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการทีละขั้นตอนและพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

    • วิธีการกระทำ ซึ่งสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงและการร่วมมือของทุกคนและของปัจจัยต่างๆ เพื่อจะได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแท้จริงในคน ในสถาบัน และในสถานการณ์


การนำทัศนคติแห่งการวางแผนมาใช้เรียกร้องให้มีกระบวนการอบรมที่พัฒนาความสามารถในการวางแผน ของกิจกรรมด้านการอภิบาล กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้


    • การเรียนรู้วิธีการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆไปสู่เป้าหมายของโครงการ เพื่อให้แต่ละกิจกรรมสร้างความมั่งคั่งและเสริมสร้างกันและกัน


    • ใช้กระบวนการของการประเมินที่ต่อเนื่องและทำร่วมกัน โดยมีเป้าหมายและบรรทัดฐานที่เป็นรูปธรรม


    • ส่งเสริมการสื่อสาร การร่วมมือและการทำงานเป็นทีม



3. องค์ประกอบบางอย่างที่ต้องส่งเสริมในการอบรมด้านอภิบาลซาเลเซียน


ความซับซ้อนในสถานาการณ์ทุกวันนี้ การท้าทายของเยาวชน การเรียกร้องของการประกาศข่าวดีใหม่ และการแทรกซึมเข้าสู่วัฒนธรรม เรียกร้องให้มีการอบรมที่สามารถเตรียมซาเลเซียนให้ดำเนินชีวิตกระแสเรียกในรูปแบบที่มีศักยภาพและเหมาะสม เรียกร้องให้ทำพันธกิจในรูปแบบเชิงอาชีพและเชี่ยวชาญ และให้ซึมซับอัตลักษณ์แห่งพระพรพิเศษเป็นการเฉพาะตัว(ปฐกถาของอัคราธิการปิดสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 25) สิ่งนี้เรียกร้องให้มีท่าทีของการอบรมต่อเนื่องในแต่ละบุคคลและในหมู่คณะเพื่อจะได้ค้ำจุนความพยายามอย่างต่อเนื่องของการฟื้นฟูแรงจูงใจของกระแสเรียก เพื่อจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของแต่ละคนและของหมู่คณะในการตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องของบริบทวัฒนธรรมและสถานการณ์ของเยาวชน


ในกระบวนการนี้มีวิธีการซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษในปัจจุบันและที่เราแต่ละคนจะต้องเพิ่มความพยายามที่จะฟื้นฟูอยู่เสมอ


  • ทำให้ชีวิตประจำวันของหมู่คณะเป็นดังประสบการณ์แห่งการอบบรม (เทียบ GC25,58)


ควรจัดชีวิตหมู่คณะให้เป็นประสบการณ์แห่งการอบรม การวางแผนและการประเมินการประชุม การศึกษาและการไตร่ตรองร่วมกันเกี่ยวกับสถานการและการท้าทายที่มาจากกิจกรรมอบรม-อภิบาลของแต่ละวัน การปรึกษาหารือกับฆราวาสและความพยายามในการพัฒนาหมู่คณะเพื่อการอบรมและอภิบาล เหล่านี้คือวิธีการเพื่อการอบรมและการพัฒนา


เพื่อทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น จำต้องจัดให้จังหวะของชีวิตและงานให้


    • มีเวลาเพื่อไตร่ตรองและการสื่อสารทั้งในระดับบุคคลและระดับหมู่คณะ การขาดการไตร่ตรองในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับบุคคลที่ต้องเป็นผู้ให้จิตวิญญาณและเป็นผู้นำคนอื่น คืออุปสรรคใหญ่ของการฟื้นฟูงานด้านอภิบาล


    • มีเวลาเพื่ออ่านและศึกษา เกี่ยวกับโลกเยาวชน การอบรมและวิธีการอบรม เกี่ยวกับงานอภิบาลและชีวิตซาเลเซียน ถ้าไม่มีการศึกษาเช่นนี้ เราก็จะลงเอยด้วยการซ้ำสูตรเดิมๆ โดยไม่มีความชัดเจนของเนื้อหา และลงเอยด้วยวิธีการกระทำแบบเดิมๆ ซึ่งทำให้การฟื้นฟูกิจกรรมอบรม-อภิบาลสำเร็จได้ยาก


    • มีการวางแผนการอบรมเป็นรูปธรรม โดยร่างขึ้นในหมู่คณะและนำไปปฏิบัติ พร้อมกับการประเมินด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่ทำอะไรแบบฉุกละหุกหรือทำแบบเดิมๆ


  • ส่งเสริมกระบวนการของการทำให้คุณค่าและท่าทีเป็นกลายของตนเอง


การอบรมและการแพร่ธรรมนั้นต้องกระทำด้วยชีวิตมากกว่าด้วยการพูดหรือการแนะนำ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ให้การอบรมจะต้องทำให้คุณค่าที่ต้องการจะสอนเยาวชนกลับเป็นคุณค่าสำหรับตนเองเสียก่อน บ่อยครั้ง ในโครงการอบรม มีการเสนอคุณค่าเป็นชุดๆให้เป็นเป้าหมายของการอบรม แต่ก็มีอันตรายที่ว่า มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคุณค่าเหล่านี้ให้เห็นในชีวิตประจำวันน้อยมาก เป็นเพราะผู้ที่สอนเองยังไม่ได้นำคุณค่าเหล่านี้ไปใช้ในชีวิต


เพื่อให้เกิดกระบวนการของการซึมซับคุณค่าที่จะนำไปอบรมให้ผู้อื่น จำต้อง


    • สำนึกในเหตุผล ที่อยู่เบื้องหลังการอภิบาล เรียนรู้ที่จะทำให้เหตุผลเหล่านี้ลึกซึ้งและชัดเจนอย่างต่อเนื่องตามบรรทัดฐานของกระแสเรียกและพระพรพิเศษ


    • คุ้นเคยกับการประเมินท่าที ของชีวิตประจำวัน เพื่อให้ท่าทีเหล่านี้สอดคล้องกับคุณค่าที่เราอยากจะสอนให้เยาวชน


  • จัดให้มีการติดตามแบบอภิบาล


เราเรียนรู้สิ่งสำคัญในชีวิตพร้อมกับผู้อื่น เช่นเดียวกัน ในงานอบรม-อภิบาลเราต้องได้รับการติดตามและเราให้การติดตาม แพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตวิทยาบำบัด หรือคนประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งจำต้องมีการพูดปรึกษาหารือกับผู้อื่นเพื่อจะได้รักษาและปรับปรุงคุณภาพของงานเชิงอาชีพของพวกเขาฉันใด ผู้ให้การอบรมและผู้ทำงานด้านอภิบาลต้องเรียนรู้ที่จะขอคำแนะนำและการติดจากผู้อื่นเพื่อจะได้ไม่หลงคิดว่าตนเองทำได้หมดทุกอย่างคนเดียว


การติดตามแบบอภิบาลนี้มีหลายระดับซึ่งต่างระดับก็เสริมสร้างกันและกันและรวมถึง


    • การติดตาม ทีมงาน ซึ่งมีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่


    • โอกาสเพื่อ การวางแผนและการประเมิน สอดคล้องกับสถานการณ์ สอดคล้องกับคุณค่าและบรรทัดฐานของกิจกรรมอบรม-อภิบาลซาเลเซียน ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้


    • การติดตามของหมู่คณะ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงแง่การอบรม-อภิบาลเข้ากับแง่กระแสเรียกและมิติของชีวิตแต่ละคน (ชีวิตจิต หมู่คณะ ชีวิตนักบวช ฯลฯ)


    • การติดตามส่วนตัว ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการซึมซับคุณค่า การพัฒนาคุณภาพของการอบรมและอภิบาล


อาจจะเป็นไปได้ว่า การขาดการติดตามเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งของความล้มเหลวในความพยายามที่จะทำให้การอบรมและอภิบาลมีประสิทธิผล นักอบรมทุคนต้องพร้อมที่จะฝึกฝนและคุ้นเคยกับการติดตามในรูปแบบต่างๆ โดยตระหนักว่า การพิจารณาสิ่งต่างๆด้วยกันกับผู้อื่นคือวิธีที่ดีที่สุดในการปรับปรุงประสิทธิผลและคุณภาพ


  • สนับสนุนประสบการณ์ด้านการอบรมและอภิบาลซึ่งแตกต่างออกไปและเป็นขั้นตอน


เราเรียนรู้จากชีวิตได้มากกว่าจากการเข้าอบรมหรือการบรรยาย เช่นเดียวกัน ในการอบรมด้านอภิบาลต้องมีการสนับสนุนประสบการณ์ที่มีความหมายซึ่งสมาชิกสามารถดำเนินชีวิตในแง่ต่างๆของต้นแบบการอภิบาลซาเลเซียนได้ ประสบการณ์ของหมู่คณะเพื่อการอบรม รูปแบบของการสร้างจิตวิญญาณ การวางแผนและการประเมิน วิธีการและรูปแบบใหม่ของการประชุมและการอยู่กับเยาวชน ฯลฯ โดยทางประสบการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการวางแผนและนำไปไตร่ตรองในหมู่คณะ จะทำให้เราเข้าใจวิธีการอภิบาลด้วยประสบการณ์ส่วนตัวและไม่ตกใจกลัวกับสิ่งใหม่ๆและการเรียกร้องให้ฟื้นฟูอีกต่อไป


ทุกวันนี้ ชีวิตนักบวชซาเลเซียนต้องการความเป็นซาเลเซียน การเป็นนักบวช และการมีชีวิตชีวามากขึ้น ชีวิตนักบวชซาเลเซียนต้องการคนที่เต็มด้วยความรักหลงใหล เต็มด้วยชีวิตจิต เต็มด้วยอัตลักษณ์ และมีทัศนคติแห่งการวางแผน กล่าวคือ คนที่มีความรักเป็นแรงบันดาลใจสูงสุด คนที่ยอมให้พระจิตทรงนำทาง คนที่ยึดคุณพ่อบอสโกเป็นแบบอย่างและกฎแห่งชีวิตด้วยการทำให้คุณพ่อบอสโกยังมีชีวิตอยู่ในบริบทที่หลากหลาย ที่ซึ่งพวกเขากำลังดำเนินชีวิตและประกอบพันธกิจซาเลเซียน คนที่รู้จักทำงานอย่างเป็นเครือข่ายในทุกระดับกับแขวง กับแขวงอื่นๆในภาคพื้น กับฆราวาส กับครอบครัวซาเลเซียน กับเยาวชน กับผู้อื่นที่ทำงานด้านการอบรมและอภิบาลในซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่พวกเขาประจำอยู่เพื่อผนึกกำลังกัน หากซาเลเซียนรู้ว่า ทำไมพวกเขาก็จะรู้ว่าทำได้ อย่างไร(คุณพ่ออัคราธิการในโอกาสปิดการตรวจเยี่ยมภาคพื้นยุโรปตะวันตกด้วยกัน)


การอบรมด้านอภิบาลเป็นความพยายามมุ่งสู่อุดมการณ์นี้ เราจึงจะเข้าใจได้ถึงความสำคัญและความเป็นศูนย์กลางของกระบวนการการฟื้นฟูพันธกิจการอบรมและอภิบาลของเราได้




1 คุณพ่อ Antonio Domenech ที่ปรึกษาฝ่ายอภิบาลเยาวชน