351-400|th|398 ร่วมพิธีศีลมหาสนิทเพื่อจะกลับเป็นศีลมหาสนิท

นี่คือกายของเราที่มอบเพื่อพวกท่าน

จงทำสิ่งนี้เพื่อระลึกเราเถิด”


ร่วมพิธีศีลมหาสนิทเพื่อจะกลับเป็นศีลมหาสนิท


สารบัญ


วันที่ 7 มิถุนายน 2007

สมโภชพระวรกาย

และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า


สมาชิกที่รัก

พ่อขอสวัสดีพวกท่านหลังจากกลับมาจากเมือง Aparecid แห่งบราซิล ซึ่งเป็นที่ประชุมของสภาสังฆราแห่งลาตินอเมริกาและการีเบียนครั้งที่ 5 โดยมี อัคราธิการ สมาชิกซาเลเซียน 13 คนและธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ 2 คนเข้าร่วม เป็นประสบการณ์พิเศษสุดของพระศาสนจักรซึ่งพ่อจะพูดในโอกาสอื่น ตอนนี้ก็ได้แต่ขอให้การประชุมครั้งนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความหวังและชีวิตสำหรับประชาชนของทวีปนี้ เพื่อว่าโดยทางพระศาสนจักรซึ่งเราซาเลเซียนสังกัดอยู่พวกเขาจะได้เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าที่น่ารักและสัตย์ซื่อ อีกทั้งเป็นธรรมทูตที่มีความตระหนักและกล้าหาญ ในจดหมายฉบับนี้พ่ออยากจะพูดถึงเรื่องที่พ่อรักมากและพ่อได้รำพึงไตร่ตรองตลอดปีที่ผ่านมา นั่นคือ ศีลมหาสนิท


พ่อทราบดีว่า ท่านบางคนอาจจะคิดว่าจดหมายเกี่ยวกับศีลมหาสนิทอีกฉบับหนึ่งคงจะซ้ำเรื่องเดียวกันหรือไม่ก็เกินความจำเป็น ท่านคงจำได้ดีว่าคุณพ่อ Vecchi ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปีศักดิ์สิทธิ์ 2000 ว่า “การค้นพบพระธรรมล้ำลึกและความหมายแห่งศีลมหาสนิทคือชีวิตและงานอภิบาลของเรา”1 กระนั้นก็ดี พ่อสามารถพูดได้ว่าหลายครั้งพ่ออดคิดไม่ได้ที่จะนำเรื่องนี้มาพูดอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับบอกท่านถึงความห่วงใยที่ค่อนข้างจะจริงจัง


  1. ประกอบพิธีศีลมหาสนิททุกวันนี้

ในขณะที่เราพยายามทำให้ “คุณพ่อบอสโกกลับมาอยู่ท่ามกลางเราใหม่” และค้นพบพระพรพิเศษและวิสัยทัศน์เชิงการอบรมของท่านอย่างสร้างสรรค์ พ่ออยากให้คณะของเราเจริญชีวิตแห่งศีลมหาสนิทเข้มข้นมากขึ้นและประกอบพิธีศีลมหาสนิทด้วยความสม่ำเสมอและด้วยความกตัญญู อีกทั้งนมัสการศีลมหาสนิททั้งในระดับบุคคลและในระดับหมู่คณะ เราจะประกาศการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าจนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาได้ด้วยการรับพระกายและพระโลหิตของพระองค์ แล้วตัวเรากลายเป็น “ปังที่บิออก” สำหรับเพื่อนสมาชิกและเยาวชน เป็น “เหล้าองุ่นที่ริน” เพื่อให้คนได้รับชีวิตที่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร? (เทียบ คร 11,26) เราจะช่วยเยาวชนให้รู้จักพระเจ้าผู้ทรงรักพวกเขาก่อน (เทียบ ยน 4,8-9.19) และรักจนถึงที่สุดได้อย่างไร? (เทียบ ยน 13,1)


    1. ศีลมหาสนิทในชีวิตพระศาสนจักรในระยะหลัง

ของขวัญแห่งศีลมหาสนิทเป็นต้นกำเนิดและจุดสุดยอดแห่งชีวิตและพันธกิจของพระศาสจักร2 “ซึ่งพระศาสนจักรถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่ามาโดยตลอด”3 อีกทั้งได้ติดตามและส่งเสริมให้เกิดกระบวนการแห่งการฟื้นฟูตามแนวทางแห่งสังคายนาวาติกันที่ 2 มาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น “การเฉลิมฉลองพิธีบูชามิสซาเป็นศูนย์กลางแห่งกระบวนการเติบโตของพระศาสนจักร”4 ในความเป็นจริงแล้ว “พระศาสนจักรได้รับชีวิตจากศีลมหาสนิท ซึ่งไม่เป็นแค่ประสบการณ์ประจำวันแห่งความเชื่อ แต่เป็นหัวใจแห่งพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรเอง”5


ตั้งแต่ก่อนที่สังคายนายังไม่เสร็จสิ้น พระสันตะปาปาปอลที่ 6 ก็ได้ประกาศพระสมณลิขิต “Mysterium Fidei” (3 กันยายน 1966) เกี่ยวกับคำสอนและการกราบไหว้ศีลมหาสนิท พระสันตะปาปาทรงเขียนว่า “บรรดาปิตาจารย์แห่งสังคายนาถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะเร้าเตือนสัตบุรุษให้ร่วมพิธีบูชามิสซาอย่างมีบทบาท ด้วยความเชื่อหนักแน่นและด้วยความศรัทธาสูงสุด”6

ในสมณสมัยที่ยาวนานแห่งการสั่งสอนของพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 “ได้มีการให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ศีลมหาสนิท”7 ในช่วงปีต้นๆแห่งสมณสมัย พระองค์ได้ทรงมีพระสมณลิขิต “Dominae Cenae” (24 กุมภาพันธ์ 1980) กล่าวถึง “บางประเด็นของพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทและผลกระทบต่อผู้มีหน้าที่เป็นศาสนบริกร”8 ต่อมา “เพื่อเน้นถึงการประทับอยู่และการกอบกู้ของพระเยซูเจ้าในพระศาสนจักรและในโลก” พระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2 ในโอกาสสมโภชปีศักดิ์สิทธิ์ ทรงประสงค์ให้จัดการชุมนุมศีลมหาสนิทระดับโลกขึ้นที่กรุงโรม พร้อมกับทรงสัญญาว่า “ปี 2000 จะเป็นแห่งศีลมหาสนิทที่เข้มข้น”9 สามปีต่อมา ในปี 2003 ในพระสมณลิขิต “Ecclesia de Eucharistia” (17 เมษายน 2003) พระองค์ทรงบอกเราว่า “สายตาของพระศาสนจักรจ้องจับอยู่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทับอยู่ในศีลมหาสนิทตลอดเวลา ณ ที่ซึ่งพระศาสนจักรได้ค้นพบการแสดงออกที่เต็มเปี่ยมแห่งความรักอันไม่มีขอบเขตของพระองค์”10 ปีต่อมา ในพระสมณลิขิต “Mane nobiscum Domine” (7 ตุลาคม 2004) พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ประกาศให้เป็นปีที่พระศาสนจักร “ดำเนินชีวิตแห่งพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทเป็นพิเศษ...ในปัญหาและในความยากลำบาก แม้กระทั่งในความผิดหวังที่ขมขื่น”11 การชุมนุมศีลมหาสนิทระดับโลกที่ Guadalajara ประเทศเม็กซิโกระหว่างวันที่ 10-17 ตุลาคม 2004 การประชุมพระสังฆราชด้วยเรื่อง “ศีลมหาสนิทเป็นแหล่งที่มาและจุดสูงสุดแห่งชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร” ที่วาติกันในช่วงวันที่ 2-23 ตุลาคม 2005 งานชุมนุมเยาวชนโลกที่เมือง Cologne ประเทศเยอรมันระหว่างวันที่ 16-21 สิงหาคม 2005 ภายใต้หัวข้อ “การทำให้ศีลมหาสนิทเป็นแหล่งชีวิตที่เยาวชนต้องตักตวงเพื่อเลี้ยงดูความเชื่อและความกระตือรือร้นของพวกเขา”12 ต่างก็ล้วนเป็นเหตุการณ์แห่งปีศีลมหาสนิทที่นำไปสู่ “ช่วงหลังแห่งแห่งสังคายนาและเริ่มปีศักดิ์สิทธิ์”13


เหตุการณ์สองอย่างนี้ ซึ่งเป็นดัง “การพัฒนาที่เป็นธรรมชาติแห่งแรงกระตุ้นเชิงอภิบาล” ซึ่งพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงก่อให้เกิดขึ้นในพระศาสนจักรในตอนเริ่มต้นแห่งสหัสวรรษที่สาม14 และพระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ได้ทรงรับช่วงต่อและนำไปสู่การสิ้นสุดสมบูรณ์


ที่เมือง Marienfeld Esplanade ค่ำวันที่ 20 สิงหาคม 2005 พระสันตะปาปาทรงเร้าเตือนเยาวชนให้กลับไปสู่การนมัสการพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทเพื่อนำไปสู่พิธีบูชามิสซาในวันรุ่งขึ้นและร่วมมีส่วนในพระธรรมล้ำลึกนี้ อีกทั้งทำให้ตนเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ พระสันตะปาปาตรัสว่า “ปังและเหล้าองุ่นกลายเป็นพระกายและพระโลหิต แต่ไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงต้องดำเนินต่อไป พระคริสตเจ้าทรงมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์แก่เราเพื่อเราจะรับการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน เราต้องเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า เป็นเลือดเนื้อและพระโลหิตของพระองค์...การนมัสการกลายเป็นการมีจิตหนึ่งใจเดียวกัน พระเจ้าไม่ทรงยืนอยู่เฉยๆต่อหน้าเราราวกับทรงเป็นใครอื่น พระองค์ทรงอยู่ในตัวเราและเราอยู่ในพระองค์”15


พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ทรงเข้าร่วมประชุมพระสังฆราชในช่วงสำคัญ และได้ทรงมีสมณลิขิตซึ่งเป็นผลจากการประชุมพระสังฆราชชื่อ “Sacramentum Caritatis” (22 กุมภาพันธ์ 2007) “เพื่อเราจะได้ตักตวงความมั่งคั่งและความหลากหลายแห่งจากข้อไตร่ตรองและข้อเสนอ...อีกทั้งแนวทางพื้นฐานเพื่อการฟื้นฟูด้านพันธกิจแห่งความกระตือรือร้นต่อศีลมหาสนิทและความศรัทธาแรงกล้าต่อศีลมหาสนิทในพระศาสนจักร”16 นอกนั้นพระองค์ได้ทรงรับข้อเสนอของบรรดาพระสังฆราชที่เข้าประชุมและนำข้อเสนอเหล่านั้นมาอ้างในพระสมณลิขิตฉบับแรกของพระองค์ชื่อ “Deus Caritas Est” ซึ่งมีการกล่าวถึงศีลมหาสนิทและเน้นความสัมพันธ์ระหว่างความรักคริสตชนที่มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนพี่น้อง “พระเจ้าทรงรักเอากายเพื่อนำเราให้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ เราจึงเข้าใจได้ว่าคำ “agape” (งานเลี้ยงในความรักฉันมิตร) เป็นคำที่ใช้สำหรับศีลมหาสนิทด้วย กล่าวคือ พระเจ้าใน “agape” ของพระองค์ได้ทรงมาหาเราเป็นตัวเป็นตนเพื่อต่อเนื่องงานของพระองค์ในตัวเราและผ่านทางเรา”17


การจาริกของพระศาสนจักรในปีหลังๆนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ปีศักดิ์สิทธิ์เป็นต้นมา “มีมิติแห่งศีลมหาสนิทอย่างเห็นได้ชัด”18 ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น “ศีลมหาสนิทคือพระคริสตเจ้าผู้ทรงมอบพระองค์แก่เราและทรงสร้างเราให้เป็นพระวรกายของพระองค์อย่างต่อเนื่อง...ดังนั้น ศีลมหาสนิทก่อให้ความเป็นและการกระทำของพระศาสนจักร”19 ถ้าเป็นความจริงที่ว่า “พระศาสนจักรได้รับชีวิตจากพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท พระศาสนจักรก็หล่อเลี้ยงตนเองและได้รับแสงสว่างจากพระองค์”20 และยังเป็นความจริงอีกว่า “เป็นเพราะศีลมหาสนิท พระศาสนจักรจึงได้เกิดใหม่ตลอดเวลา”21 พระศาสนจักรไม่สามารถสัตย์ซื่อต่อต้นกำเนิดของตนหรือเติบโตได้โดยไม่มีพิธีกรรมศีลมหาสนิท “ยิ่งสัตบุรุษมีความเชื่อในศีลมหาสนิทอย่างมีชีวิตชีวาเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งจะร่วมมีส่วนในชีวิตของพระศาสนาจักรมากขึ้นเท่านั้น” ยิ่งไปกว่านั้น “การปฏิรูปที่สำคัญทุกอย่างมักจะเชื่อมโยงถึงการค้นพบความเชื่อในการประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งศีลมหาสนิทในท่ามกลางประชาชนของพระองค์”22


    1. ศีลมหาสนิทในสภาพปัจจุบันของคณะซาเลเซียน

คุณพ่อ Vecchi เคยเขียนไว้ว่า “สำหรับเราก็เช่นกัน การฟื้นฟูระดับส่วนตัวและระดับหมู่คณะในด้านชีวิตจิตและการแพร่ธรรม...รวมอยู่ในการค้นพบที่ตระหนักและยินดีแห่งความมั่นคั่งที่ศีลมหาสินทเสนอให้แก่เราและความรับผิดชอบที่เราต้องตอบรับ” 23 พ่อขอใช้คำพูดนี้และเสนอให้เป็นหน้าที่สำคัญที่เราต้องทำโดยทำให้โครงการแห่งชีวิตจิตและการแพร่ธรรมของคุณพ่อบอสโกได้เป็นความจริง พร้อมกันนั้นก็หวังว่าเรา “ค้นพบจุดเริ่มต้นแห่งพระพรพิเศษของเราอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งค้นพบเป้าหมายของภารกิจของเราและอนาคตของคณะเราด้วย”24


ในจดหมายเรียกประชุมสมัชชาใหญ่ของคณะ พ่อได้บอกท่านว่า “พ่อมีความตระหนักใจว่าวันนี้คณะของเราต้องปลุกความร้อนรนแห่ง “Da mihi animas” ให้ตื่นขึ้นมาในจิตใจของสมาชิกแต่ละคน เพื่อจะได้นำ “การดลใจ แรงบันดาลใจและพลังในการตอบรับสิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากเราและความต้องการของเยาวชน”25 จิตใจของเราจะตื่นขึ้นมาถ้าเราเริ่มรู้สึกถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ หรืออีกนัยหนึ่ง เราร่วมรู้สึกกับพระองค์ ซึ่งไม่มีวิธีอื่นที่ตรงประเด็นและได้ผล นอกจากการประกอบพิธีศีลมหาสนิท เพราะ “ศีลมหาสนิทเป็นแหล่งที่มาและจุดสูงสุด ไม่เพียงในชีวิตพระศาสนจักรเท่านั้น แต่ในพันธกิจของพระศาสนจักรด้วย...เราไม่สามารถเข้าถึงพระแท่นบูชาได้โดยไม่สำนึกถึงการมีส่วนในพันธกิจแห่งการเข้าหาปวลชนโดยเริ่มต้นจากดวงพระทัยของพระเจ้า การเป็นธรรมทูตจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของศีลมหาสนิท26


ดังนั้น หากไม่มีชีวิตศีลมหาสนิทก็ไม่มีชีวิตแพร่ธรรม คุณพ่อบอสโก “บุคคลแห่งศีลมหาสนิท”27 เป็นตัวอย่างและข้อพิสูจน์สำหรับเรา “ท่านสัญญากับพระเจ้าว่าจะอุทิศตนเพื่อเยาวชนจนถึงลมหายใจสุดท้าย และนี่คือสิ่งที่คุณพ่อได้ทำ การร่วมมีส่วนในศีลมหาสนิทแห่งการบูชาของพระคริสตเจ้านำเราไปสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ในความรู้สึกของการแพร่ธรรมและการอุทิศตนด้วยใจกว้างขวางตามการเรียกร้องแห่งพระอาณาจักร” (p 41) คุณพ่อ Vecchi เสริมว่า “ปัจจัยที่เผยให้เห็นถึงสิ่งที่พระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทมีบาบาทในชีวิตของคุณพ่อบอสโก...คือคติพจน์ ‘Da mihi animas, cetera tolle’ คำเหล่านี้...เป็นแผนการและกระบวนการที่หลอมคุณพ่อบอสโกเข้ากับพระคริสตเจ้า ผู้ทรงมอบชีวิตของพระองค์แด่พระบิดาเพื่อความรอดของมนุษยชาติ”28 เราซาเลเซียนจึงเลียนแบบคุณพ่อบอสโกในการตักตวง “ความกล้าหาญและพลังที่จะเป็นเครื่องหมายแห่งความรักอันทรงประสิทธิผลของพระเจ้าต่อมนุษยชาติโดยทางศีลมหาสนิทในสมัยของเราด้วย”29 พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ทรงให้กำลังใจเราว่า “จงมีสายตาปักอยู่ที่คุณพ่อบอสโกเสมอ คุณพ่อดำเนินชีวิตในพระเจ้าและเตือนเราให้สร้างเอกภาพแห่งชีวิตหมู่คณะในศีลมหาสนิท”30


ถ้าการเป็นธรรมทูตของเยาวชนเป็นความร้อนรนเพื่อความรอดของพวกเขา ทำให้เราดำเนินชีวิตในรูปแบบศีลมหาสนิท การได้รับเจิมจากพระเจ้า และเต็มด้วยความร้อนรนเพื่อพระองค์ก็เรียกร้องให้เราเป็นบุคคลแห่งศีลมหาสนิทเพื่อ “ยืนหยัดแบบศีลมหาสนิทในคุณลักษณะที่เราได้รับเรียกให้เป็น”31 จึงเป็นการง่ายที่จะเข้าใจว่า “การระลึกถึงรูปแบบชีวิตและการกระทำของพระเยซูเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นพระวจนะที่รับเอากายเป็นมนุษย์ในความสัมพันธ์กับพระบิดาและในความสัมพันธ์กับพี่น้อง”32 ทำให้ผู้รับเจิมดำเนินชีวิตเพื่อเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ และเช่นนี้กลายเป็นการระลึกถึงบูชาของพระคริสตเจ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการระลึกถึงพระคริสตเจ้าผู้ทรงถวายบูชาพระองค์เองและมอบพระองค์ให้แก่เราและแก่ผู้อื่นผ่านทางเราอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพเชิงศีลศักดิ์สิทธิ์ของการระลึกถึงนี้ไม่อยู่แค่การระลึกถึงการที่พระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เพื่อเราเท่านั้น แต่ต้องนำไปสู่การมอบชีวิตของเราแก่ผู้อื่นในฐานะผู้ร่วมมีส่วนในการระลึกถึงพระองค์ด้วย และนี่คือประสิทธิอันภาพแท้จริง ในฐานะที่เป็นผู้รับศีลล้างบาปและในฐานะที่เป็นนักบวช “การร่วมมีส่วนในบูชามิสซา อันเป็นต้นธารและจุดสุดยอดแห่งชีวิตคริสตชน ต้องเป็นการถวายพระเยซูเจ้าแด่พระเจ้าและถวายตัวเราพร้อมกับพระองค์”33 โดยการถวายตนเองเป็นเครื่องบูชานี่เอง เรากลับเป็นความทรงจำที่มีชีวิตของพระคริสตเจ้า เป็นการมอบชีวิตของเราครั้งแล้วครั้งเล่า อันเป็นการระลึกถึงการบูชาของพระคริสตเจ้า ผู้รับเจิมดำเนินชีวิตแห่งศีลมหาสนิท ไม่ใช่เพราะพวกเขาร่วมพิธีศีลมหาสนิทบ่อยๆ แต่เพราะพวกเขาใช้ชีวิตทั้งครบเพื่อผู้อื่น


เราซาเลเซียน ในฐานะผู้รับเจิมที่ได้เลือกพระคริสตเจ้าให้เป็นผู้เดียวที่ให้ความหมายแก่ชีวิตเรา เราต้องมีความปรารถนาที่จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับพระองค์อย่างเต็มเปี่ยมมากขึ้น เป็นหนึ่งเดียวในการมอบชีวิตตนเองเพื่อผู้อื่น เมื่อเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในพิธีบูชามิสซาเรารับพระกายของพระเยซูเจ้าและ เรามอบร่างกายและวิญญาณของเราให้แก่ผู้อื่น ศีลมหาสนิทจึง “เป็นอาหารเพื่อการจาริกและเป็นแหล่งที่มาของชีวิตจิตสำหรับแต่ละคนและสำหรับสถาบัน โดยทางศีลมหาสนิท ผู้รับเจิมทุกคนได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตพระธรรมล้ำลึกแห่งปัสกาของพระคริสตเจ้า ร่วมเป็นหนึ่งกับพระองค์ด้วยการถวายชีวิตแด่พระบิดาโดยทางพระจิตเจ้า”34


สมาชิกที่รัก พ่อถือว่าเราซาเลเซียนที่ได้รับเจิมต้องพบ “พลังที่จำเป็นเพื่อการติดตามพระคริสตเจ้าผู้นบนอบ ยากจน และบริสุทธิ์ อย่างถึงรากถึงโคนในพิธีบูชามิสซาและการนมัสการศีลมหาสนิท”35 เราจะตอบรับกระแสเรียกทั้งในระดับบุคคลและระดับหมู่คณะได้อย่างไรหากเราไม่ดำเนินชีวิตด้วยศีลมหาสนิทและเพื่อศีลมหาสนิท?”


    1. ศีลมหาสนิทในชีวิตสมาชิก

พ่อขอสารภาพว่าพ่อมีความรู้สึกเป็นห่วงว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเดินในเส้นทางที่พระศาสนจักรและคณะคาดหวังจากเรา จากการอ่านรายงานการตรวจเยี่ยมวิสามัญของแขวงต่างๆ รวมทั้งการเยี่ยมของพ่อเอง พ่อมาเห็นว่าในคณะเรายังขาดชีวิตแห่งศีลมหาสนิทที่เพียงพอ ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ใหม่ เพราะคุณพ่อ Vecchi ได้เคยชี้ให้เห็นและพูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจนมาแล้ว36 แค่ดูคุณภาพของการร่วมบูชามิสซาของหมู่คณะก็เห็นได้ชัดแล้ว คุณพ่อได้พูดถึง “ความสับสน การเน้นการริเริ่มส่วนตัว ความรีบเร่ง การให้ความสำคัญแก่การกระทำและสัญลักษณ์ของภาษาน้อยมาก การเน้นโลกธรรมแห่งวันอาทิตย์”37


ถ้าความรู้สึกของพ่อเป็นจริง ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย แน่นอนว่าสถานการณ์นี้ไม่ใช่เป็นสถานการณ์ของเราเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์ของหมู่คณะคริสตชนทั้งหมดด้วย พระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2 ทรงรู้สึก “เศร้าใจอย่างลึกซึ้ง” และทรงเขียนไว้ในพระสมณลิขิต “Ecclesia de Eucharistia” “ให้เราขจัดเมฆดำแห่งคำสอนและการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ศีลมหาสนิทยังเป็นประกายเจิดจ้าในพระธรรมล้ำลึกต่อไป”38 ในกรณีของเรา การขาดหรือการมีชีวิตศีลมหาสนิทที่ยังไม่เพียงพอกระทบถึงแก่นของพระพรพิเศษและการอบรมซาเลเซียนซึ่งเราแต่ละคนได้รับเรียกให้ “เป็นผู้อบรมแห่งความเชื่อในทุกโอกาส...เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเยาวชนเพื่อนำพวกเขาไปหาพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ” (. 34)


เรารู้ดีว่าสำหรับคุณพ่อบอสโกแล้ว “สิ่งที่น่าดึงดูดใจและน่าปรารถนาในศีลมหาสนิทคือ...ในศีลมหาสนิทเราค้นพบธรรมชาติลึกซึ้งแห่งความเชื่อและความรัก รสชาติของสิ่งฝ่ายสวรรค์ และจุดสุดยอดของความศักดิ์สิทธิ์คริสตชน” พระเยซูเจ้า โดยเฉพาะพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท “ครอบงำชีวิตจิตของคุณพ่อบอสโกและเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตของคุณพ่อ...คุณพ่อบอสโกพูดคุยกับพระเยซูเจ้าเมื่อไปเฝ้าศีลมหาสนิทในตอนบ่ายของแต่ละวัน คุณพ่อให้เด็กสวดขอพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทเมื่อคุณพ่อต้องเข้าเมืองเพื่อขอความช่วยเหลือสำหรับพวกเขา เมื่อคุณพ่ออายุมากและไม่สามารถควบคุมตนเองได้แล้ว ทุกครั้งที่รับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทคุณพ่อมักแสดงออกซึ่งความรักที่ลึกซึ้งต่อพระองค์และถวายมิสซาไปร้องไห้ไปตลอด”39


ในฐานะที่เป็นนักอบรม คุณพ่อบอสโกทำให้ความตระหนักใจแห่งความเชื่อและประสบการณ์ส่วนตัวเป็น “หลักการอบรม”40 “การแก้บาปและรับศีลมหาสนิทบ่อยๆ อีกทั้งการร่วมมิสซาประจำวัน เป็นเสาหลักที่ค้ำจุนรากฐานของการอบรม ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้การข่มขู่และการเฆี่ยนตี” พร้อมกันนี้คุณพ่อยังเสริมอย่างชาญฉลาดว่า “อย่าบังคับเด็กไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆ แต่จงสนับสนุนและให้ความสะดวกแก่พวกเขาที่จะได้รับผลดีจากศีลศักดิ์สิทธิ์”41 หลักการอบรมเกี่ยวกับศีลมหาสนิทเหล่านี้ได้รับการประยุกต์ใช้ที่วัลดอกโกตามลายลักษณ์อักษรและโยงถึงระบบการอบรมทั้งครบ42


ในความเห็นของพ่อ การขาดชีวิตแห่งศีลมหาสนิทอาจจะแอบซ่อนและขยับขยายขึ้นในชีวิตหมู่คณะและในความโกลาหลของงานแพร่ธรรม ซึ่งมักจะแสดงออกมาในการที่ไม่สามารถทำให้การร่วมมิสซา “เป็นกิจกรรมศูนย์กลางของหมู่คณะซาเลเซียนแต่ละแห่งและการเฉลิมฉลองของแต่ละวัน”(88) นอกนั้นก็แสดงออกมาในการขาด “ความเกรงขามต่อพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้า”43 ซึ่งได้มาจากความเพียรพยายามในการรำพึงพิศเพ่งความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้าที่เผยแสดงในพระคริสตเจ้าผู้ประทับอยู่ในศีลมหาสนิท ซึ่งประทับอยู่ “ในบ้านของเรา...ซึ่งบุตรของคุณพ่อบอสโกพึงพบปะกับพระองค์บ่อยๆ” (88) อย่างไรก็ตาม “คุณค่าและประโยชน์ฝ่ายจิตใจของพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทไม่ควรจะลดลงมาแค่บางแง่ แต่ควรจะสร้างประสบการณ์และดำเนินชีวิตให้เต็มเปี่ยม ทั้งในการเฉลิมฉลองและในการสนทนาส่วนตัวกับพระเยซูเจ้าเมื่อรับรับพระองค์ในศีลมหาสนิทแล้วหรือช่วงการนมัสการศีลมหาสนิทนอกเวลามิสซา นี่คือช่วงเวลาที่พระศาสนาจักรสร้างตนเองให้แข็งแกร่งขึ้น”44


การจะรู้อาการของโรคยังไม่ถือว่าสาเหตุของโรค ส่วนตัวแล้ว พ่อมั่นใจว่าจุดอ่อนของเราในความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทอยู่ในธรรมชาติของศีลมหาสนิทเอง โดยที่จุดอ่อนนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้นและฝังแน่นอยู่ในส่วนลึกของจิตใจเรา “ความสามารถของพระศาสนาจักรในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทฝังรากลึกอยู่ในการที่พระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์เองให้แก่พระศาสนจักร... ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท เรายืนยันถึงความเป็นเอกแห่งของขวัญของพระคริสตเจ้า...พระองค์ทรงรักเราก่อนที่เราจะรักพระองค์มาตั้งแต่นิรันดรแล้ว”45 ความเป็นเอกนี้ไม่อยู่แค่ในแง่ของกาลเวลาแต่อยู่ในแง่ของธรรมชาติแห่งความรักซึ่งพระเจ้าทรงรักเราด้วย ศีลมหาสนิทเป็นพระธรรมล้ำลึกเพราะเผยแสดงความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้า (เทียบ ยน 15,13) ความรักที่หลุดเลยความสามารถของเราและทำให้เราอิ่มเอมและทึ่งใจ แต่โดยไม่รู้ตัว เรามักจะรู้สึกยากที่จะรับของขวัญจากพระเจ้าในศีลมหาสนิทนี้ ในความรักของพระเจ้าที่แสดงออกมาในการที่พระคริสตเจ้าทรงมอบพระกายให้เรา (เทียบ ยน 3,16) ซึ่งเกินความสามารถของเราและท้าทายอิสรภาพของเรา พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่กว่าหัวใจของเราและทรงเข้าถึงตัวเราได้ลึกล้ำมากกว่าที่ความปรารถนาไม่ดีจะเข้าถึงได้


หลายคนถือว่าความปรารถนาที่จะมอบตนเองแก่พระเจ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่สมเหตุสมผล เกินความสามารถ พวกเขาจึงมักหาข้อแก้ตัวที่จะไม่ไปรับพระองค์ในศีลมหาสนิทและไม่สนใจนมัสการพระองค์ในความเงียบ ความรักลึกซึ้งทำให้เรากลัว เพราะมันเผยความน่าสมเพชของชีวิตเราออกมา ความปรารถนาลึกๆที่อยากจะรักไม่ยอมให้เราให้เวลาหรือใช้พลังทำตนให้คนอื่นรัก เราเลยมักทำตัวติดธุระ คอยปกปิดตัวเองอยู่ข้างหลังการกระทำมากมายเพื่อผู้อื่นและมอบตัวเราให้แก่ทุกคน46 ทำให้เราไม่รู้สึกทึ่งที่พระเจ้าทรงรักเรามาก การสำนึกถึงเรื่องนี้จะทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราเป็นและต้องการจะเป็นนั้นเราเป็นหนี้พระเจ้าเสมอ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าเราต้องนมัสการพระองค์และพระรับพระองค์ในศีลมหาสนิท


  1. ประสบการณ์ของศิษย์

เราไม่ควรแปลกใจ เรื่องนี้ไม่ใช่อะไรใหม่ เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ในผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ – ไม่ใช่แค่ยอมรับเรื่องนี้ – แสดงออกซึ่งความเป็นศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้า เพราะว่าเพียงแต่ผู้ที่ได้รับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าดังยของขวัญที่ไม่คาดคิด ไม่สมควรจะได้และไม่สามารถเข้าใจได้เท่านั้นที่จะมีความสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ใครจะกล้าพูดได้ว่าการรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นปังทรงชีวิตเป็นเรื่องไม่มีความหมาย และสามารถรับพระองค์ได้โดยไม่ต้องเตรียมตัวแต่อย่างใดและจะไม่มีผลตามมาแต่อย่างใด? เป็นไปไม่ได้ ในพระธรรมใหม่เป็นคนละเรื่อง


    1. ศิษย์ทอดทิ้งพระเยซูเจ้าครั้งแรก (ยน 6,66-71) 47

พระวรสารของน.ยอห์นบอกเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนอยู่ในศาลาธรรที่เมืองการเปอรนาอุม พระองค์ตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นปังแห่งสวรรค์และเนื้อของพระองค์เป็นอาหารแท้และเลือดของพระองค์เป็นเครื่องดื่มแท้ (ยน 6,55.59) “ศิษย์หลายคน” แสดงออกนอกหน้าว่ารับ “คำสอนขัดหูนี้” ไม่ได้ (ยน 6,60)


เราต้องไม่ลืมว่า พระวรสารของน.ยอห์นพูดถึงศิษย์เริ่มติดตามพระเยซูเจ้าผู้เสด็จผ่านมาและน.ยอห์น บัปติสต์ชี้แนะ พร้อมทั้งมีความอยากรู้ว่าพระองค์อาศัยอยู่ที่ไหน (ยน 1,35-38) พระเยซูเจ้าไม่ได้เรียกพวกเขาเป็นรายบุคคล (เทียบ มก 1,16-20) เป็นพวกเขาเองที่อยากจะมาอยู่กับพระองค์ (ยน 1,39) พวกเขาเริ่มเชื่อถึงพระองค์ตอนเหล้าองุ่นหมดในงานมงคลสมรสที่เมืองคานาแคว้นกาลิลี เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเข้าไปจัดการและทำให้แขกได้ดื่มอย่างเต็มที่ (ยน 2,1-11) กระนั้นก็ดี ความเชื่อที่เกิดขึ้นในงานมงคลสมรสตายไปเมื่อพระเยซูเจ้าทรงประกาศงานมงคลใหม่และน่าพิศวงกว่า งานนี้พระองค์ไม่ได้เป็นเจ้างานหรือเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะ แต่ทรงเป็นอาหารและเครื่องดื่มเอง พระเยซูเจ้าทรงเผยพระองค์ ไม่ใช่ในฐานะผู้จัดหาอาหารให้รับประทาน แต่ในฐานะผู้ที่มอบพระองค์เองเป็นอาหารให้รับประทาน (ยน 6,55-56)


พระเยซูเจ้าทรงสัญญาเรื่องนี้หลังจากที่ได้ทรงเลี้ยงฝูงชนจำนวนมาก “ผู้ชายราวห้าพันคน” (ยน 6,10) โดยในวันรุ่งขึ้นทรงบอกกับฝูงชนว่าพระองค์ทรงเป็น “ปังทรงชีวิต” (ยน 6,35) เพราะใครก็ตามที่กินปังนี้แล้วจะมีชีวิตนิรันดร (ยน 6,58) สิ่งนี้เป็นที่สะดุดสำหรับคนที่ไม่เชื่อ แม้กระทั่งสำหรับศิษย์เอง ทำให้ศิษย์หลายคนทอดทิ้งพระองค์ไป48 นี่คือครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นปังจากสวรรค์ก่อให้เกิดความแตกร้าวในบรรดาศิษย์ ทำให้หลายคนหันหลังให้พระองค์ ผู้ติดตามพระองค์ต้องได้รับการทดลองอย่างหนักเมื่อพระเยซูเจ้าทรงบอกเกี่ยวกับของขวัญยิ่งใหญ่แห่งพระกายที่เป็นอาหารแท้และพระโลหิตที่เป็นเครื่องดื่มแท้ ศิษย์ที่ได้เห็นพระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปัง (ยน 6,9.13) ทรงเดินบนผิวน้ำ (ยน 6,19) แต่กลับไม่เข้าใจว่าใครก็ตามสามารถมีชีวิตนิรันดรได้ด้วยการกินเนื้อของพระองค์ ดังนั้น ในขณะที่พระองค์ทรงบอกศิษย์ถึงการที่พระองค์จะมอบพระองค์ให้พวกเขา พวกเขากลับบ่น (ยน 6,61) และหลายคนจากพระองค์ไป (ยน 6.66)


นี่เป็นเรื่องบังเอิญหรือ? เปล่าเลย การที่พระองค์ทรงยืนยันที่จะมอบพระองค์เองเป็นอาหารกลายเป็นอุปสรรคทั้งในตอนนั้นและตอนนี้ เป็นหินที่ก่อให้สะดุดสำหรับผู้ร่วมมือใกล้ชิดของพระองค์ สำหรับศิษย์แล้ว การจะติดตามพระเยซูเจ้ายังง่ายกว่าการกินพระองค์ ติดตามพระองค์ยังน่าชื่นชมมากกว่าการกินพระองค์เป็นอาหาร กระนั้นก็ดี การที่ศิษย์จะติดตามพระอาจารย์นั้นถือว่ายังไม่พอ ศิษย์ต้องเลี้ยงตนเองด้วยพระกายและพระวาจาของพระอาจารย์ด้วย การที่พระเยซูเจ้าทรงมอบพระกายให้เป็นอาหารแห่งชีวิตเป็นสิ่งที่รับได้ยาก (ยน 6,51-58) จึงเป็นการท้าทายเราไปในตัว


.ยอห์นยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าศิษย์หลายคนจะไม่เชื่อพระองค์ (ยน 6,60.66) พระเยซูเจ้าก็ได้ทรงอธิบายเชิงเทววิทยาถึงการที่ศิษย์และประชาชนหลายคนพากันผิดหวัง ตอนแรกก็ทอดทิ้งพระองค์ไป ภายหลังก็ทรยศพระองค์ ปริศนาแห่งความไม่ซื่อสัตย์ของศิษย์มีคำตอบในคำตอบที่ขัดแย้งกัน กล่าวคือ การจะเชื่อไม่ขึ้นอยู่กับคนที่อยากจะเชื่อ แต่ขึ้นอยู่พระพรแห่งความเชื่อที่พระเจ้าจะประทานให้ ความเชื่อและความซื่อสัตย์เป็นผลของพระหรรษทานของพระเจ้า (ยน 6,64-65) ที่น่าตะลึงมากไปกว่านั้นคือ การจะใช้เวลาอยู่กับพระเยซูเจ้า ดำเนินชีวิตกับพระองค์ ยังไม่พอ เพราะน.ยอห์นบอกว่าในบุคคลที่อยู่กับพระเยซูเจ้า มีผู้ที่จะทรยศพระองค์ด้วย พระเยซูเจ้าทรงทราบดี (ยน 6,64 เทียบ 13,27) ว่า คนที่พระบิดาเจ้าทรงมอบให้พระองค์ (ยน 6,65) จะมอบพระองค์ให้แก่ศัตรูของพระองค์ (ยน 6,70-71) การที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกศิษย์เป็นรายบุคคลยังรับประกันไม่ได้ว่าจะไม่มีศิษย์คนใดหันหลังให้พระองค์


ที่ใดที่มีการทอดทิ้ง ความซื่อสัตย์สามารถกู้คืนมาได้ ศิษย์ไม่สามารถเข้าใจและซื่อสัตย์ต่อพระอาจารย์ได้ถ้าพวกเขายังยึดมั่นกับสามัญสำนึกและสิ่งปรากฏภายนอก แต่ผู้ที่ “พระบิดาทรงประทานความเชื่อให้” (ยน 6,65) เท่านั้นที่สามารถเข้าใจและซื่อสัตย์ได้ ใครก็ตามที่พระเจ้าไม่ได้ทรงชักนำไปหาพระเยซูเจ้าจะไม่รู้สึกว่าพระเยซูเจ้าน่าดึงดูดใจ ไม่สามารถร่วมโต๊ะเสวยกับพระองค์ ดังนั้น คนที่จะสามารถน้อมรับพระเยซูเจ้าเป็นปังทรงชีวิตได้ต้องเป็นคนที่พระบิดาทรงโปรดพระหรรษทานให้ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง เฉพาะคนที่เชื่อว่าตนเป็นของขวัญที่พระบิดาทรงมอบให้แก่พระคริสตเจ้าเท่านั้นจะสามารถรับพระกายของพระคริสตเจ้าและดื่มพระโลหิตของพระเจ้าได้โดยไม่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยง


มีน้อยคนที่ได้พระหรรษทานแห่งความซื่อสัตย์ รวมทั้งสาวกทั้งสิบสองด้วย49 พวกเขาเหล่านี้เลือกจะอยู่กับพระเยซูเจ้าต่อไป ซีโมน เปโตรพูดแทนทุกคนยอมรับว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปไหน พวกเขาจึงอยู่ต่อไปเพราะมีแต่พระเยซูเจ้าเท่านั้นที่มีพระวาจากทรงชีวิต พระองค์ผู้เดียวทรงสัญญาจะให้ชีวิตนิรันดร (ยน 6,68) และนี่คือแรงจูงใจแท้จริงแห่งความเชื่อ “พวกเขาเชื่อและรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” (6,69) การรู้จักพระเยซูเจ้าต้องควบคู่กับการเชื่อในพระองค์ รู้เพราะเชื่อ จึงมอบความไว้วางใจในพระองค์แต่ผู้เดียว อีกทั้งซื่อสัตย์กับพระองค์ ความซื่อสัตย์ไม่ได้มาจากน้ำใจดี หรือมาจากความประสงค์อันลึกซึ้ง แต่มาจากพระประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงรักเราเป็นฝ่ายแรกและเสมอไป จะซื่อสัตย์ได้หากถือว่าความซื่อสัตย์เป็นพระหรรษทานของพระเจ้า


    1. สาวกสิบสองคนทอดทิ้งพระเยซูเจ้า (มก 14,17-31) 50

การสัญญาว่าจะซื่อสัตย์เป็นคนละเรื่องกับความซื่อสัตย์ที่พิสูจน์ให้เห็นได้ ที่เมืองการเปอรนาอุม สาวกสิบสองคนเลือกจะอยู่กับพระเยซูเจ้า แต่แม้จะได้รับการเตือนในช่วงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายแล้ว ในสวนเกทเสมนีพวกเขาก็ยังทอดทิ้งพระองค์และหนีไป (มก 14,50) พวกเขาได้ตัดสินใจอยู่กับพระองค์ผู้ทรงมอบพระองค์ให้พวกเขาในฐานะปังทรงชีวิต แต่เพื่อพระองค์ทรงทำตามคำสัญญา (มก 14,22-25) พระองค์ก็ต้องบอกพวกเขาล่วงหน้าว่าจะมีคนหนึ่งในพวกเขาที่จะทรยศพระองค์ (มก 14,17-21) ตามด้วยการปฏิเสธว่ารู้จักพระองค์ (มก 14,29-30) สุดท้าย รู้สึกเป็นที่สะดุดและพากันหนีจากพระองค์ไปหมด (มก 14,26-27)


เป็นเรื่องที่น่าสลดซึ่งพระวรสารทั้งสี่ได้บันทึกไว้ ความไม่ซื่อสัตย์ของศิษย์ การบอกล่วงหน้า (มก 14,17-21; มธ 26,20-25; ลก 22,14.21-23; ยน 13,21-30) การทอดทิ้ง (มก 14,26-42; มธ 26,30-46; ลก 22,33-34.40-46; ยน 13,37-38) ในบริบทของอาหารค่ำครั้งสุดท้าย ( มก 14,22-25; มธ 26,26-29; ลก 22,15-20) ตอนที่พระองค์ทรงทำตามคำสัญญาที่จะมอบพระองค์เป็นปังและเหล้าองุ่น (มก 14,22.24) ในบริบทเดียวกันนี้พระองค์ทรงแจ้งให้สาวกรู้เกี่ยวกับการทรยศ อีกทั้งการรวมความตายของพระองค์และศีลมหาสนิทให้เป็นดังของขวัญแห่งชีวิตและปังแห่งชีวิต รวมทั้งการที่ทรงมอบพระองค์บนไม้กางเขนซึ่งกลายเป็นหินสะดุดเพราะยากเกินไปที่สาวกจะรับได้ ในช่วงเวลาอาหารค่ำครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นการถวายมิสซาเป็นครั้งแรก จิตใจของสาวกยังมีความมืดมนอยู่ แต่เมื่อถึงช่วงเวลาแห่งการตรึงกางเขน ความมืดก็อันตรธานหายไป (ยน 13,27)


2.2.1. การติดตามพระเยซูเจ้าไม่รับประกันว่าเราจะไม่ทรยศพระองค์

.มารโก ผู้บันทึกเหตุการณ์แห่งพระมหาทรมานและความตายของพระเยซูเจ้าได้เล่าถึงการทรยศของยูดาสโดยแบ่งช่วงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นสามฉาก (มก 14,1-72) .มารโกบรรยายให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของยูดาสที่จะมอบพระเยซูเจ้าแก่ผู้ใหญ่บ้านเมืองและความตั้งใจของพระเยซูเจ้าที่จะมอบพระองค์เอง “ยูดาส อิสคาริโอท หนึ่งในสาวกสิบสองคน ได้วางแผนที่จะไปพบบรรดาหัวหน้าสมณะเพื่อจะมอบพระเยซูเจ้า” (มก 14,10) ก่อนจะตั้งศีลมหาสนิท (มก 14,22-25) “ในขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น” (มก 14,18) พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยการทรยศที่จะเกิดขึ้นและชี้ตัวผู้ทรยศ ต่อมา ตอนดึก ในสวนเกทเสมนียูดาสได้มาถึงพร้อมกับ “คนจำนวนหนึ่ง ถือดาบและไม้ตะบองเป็นอาวุธ” และได้ทรยศพระเยซูเจ้าด้วยการจูบ ราวกับเป็นเพื่อนสนิท (มก 14,43-49)


แม้จะตัดสินใจทรยศพระเยซูเจ้า ยูดาสก็ยังมาร่วมโต๊ะอาหารกับพระองค์ นั่งเคียงข้างพระองค์ (มก 14,18) จิ้มขนมปังในในชามเดียวกัน (มก 14,20) ในเวลาเดียวกันก็ไม่เปลี่ยนความตั้งใจ (มก 14,45-46) จึงเป็นเรื่องน่าแปลก ในขณะที่ยูดาสตั้งใจจะทรยศพระเยซูเจ้า พระองค์ก็ยังทรงมอบพระองค์ในขนมปังที่บิออกและเหล้าองุ่นที่รินในถ้วย ถ้าหากการที่ร่วมในมิสซาแรกไม่สามารถเปลี่ยนใจยูดาสให้เลิกทรยศพระองค์ การที่มีผู้ทรยศอยู่ร่วมโต๊ะด้วยก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจพระเยซูเจ้าที่จะมอบพระองค์เองเพื่อทุกคนได้เช่นกัน ซึ่งก็หมายความว่า วันนี้ เช่นเมื่อวานนี้ เราสามารถร่วมส่วนในพิธีมิสซาและในเวลาเดียวกันก็ใจเราก็วางแผนที่จะทรยศและหมดความเชื่อในพระองค์ได้เหมือนกัน ยูดาสเคยละทิ้งทุกอย่างเพื่อติดตามพระเยซูเจ้า (เทียบ มก 3,13) แต่ภายหลังกลับทอดทิ้งพระองค์ ให้พระองค์ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูเพื่อเห็นแก่เงินก้อนหนึ่ง (มก 14,11)


สิ่งที่แย่ไปกว่านั้น การทรยศมาจากพื้นฐานแห่งความไม่มั่นใจ สาวกอื่นๆต่างก็ไม่มั่นใจว่าตนจะซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้าหรือไม่ จึงพากันถามว่าเป็นพวกเขาหรือเปล่า “ใช่ข้าพเจ้าหรือไม่” (มก 14,19) ในช่วงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย พวกเขาทุกคนได้รับปังซึ่งเป็นพระกายและเหล้าองุ่นซึ่งเป็นพระโลหิตแห่งพันธสัญญใหม่ (มก 14,22-23) กระนั้นก็ดี หนึ่งคนในพวกเขายังคงวางแผนที่จะทรยศพระเยซูเจ้าและคนอื่นๆยังไม่มั่นใจว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระองค์ได้หรือไม่


พระวรสารของน.มารโกอ่านแล้วต้องรู้สึกหดหู่ไม่น้อย ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระเยซูเจ้าและเพื่อนๆของพระองค์ แต่เพราะสิ่งเดียวกันนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ การที่ได้รับเรียกเป็นการส่วนตัวให้มาอยู่กับพระเยซูเจ้า (มก 3,13) การร่วมโต๊ะอาหารกับพระองค์เมื่อพระองค์ทรงมอบปังที่เป็นพระกายของพระองค์ไม่เป็นหลักประกันว่าเราจะซื่อสัตย์กับพระองค์เสมอไป สาวกทั้งสิบสองและผู้ที่อยู่กับพระองค์เพราะพระองค์ทรงมีพระวาจาแห่งชีวิต (ยน 6,68) ต่างก็ล้มเหลวในคืนแห่งอาหารค่ำครั้งสุดท้าย เราน่าจะถามตัวเราว่า ทำไมการอยู่กับพระองค์จึงยังไม่พอที่จะทำให้เราอยู่กับพระองค์ได้ตลอดไปได้อีก? ทำไมการกินพระองค์จึงยังไม่พอทีจะทำให้เราซื่อสัตย์ได้อีก?


2.2.2. คำสัญญาของพระเยซูเจ้าก็ยังไม่สามารถป้องกันเราไม่ให้ปฏิเสธพระองค์

แม้แต่คำสัญญาที่พูดด้วยความรักเต็มด้วยความกระตือรือร้นและจริงใจ แต่ยังไม่มีวุฒิภาวะก็ยังไม่พอ หลังจากที่ทานอาหารค่ำและตั้งศีลมหาสนิทแล้ว ขณะที่เดินไปสู่เขามะกอก พระเยซูเจ้ายังได้แจ้งว่าเปโตรจะทรยศพระองค์ถึงสามครั้ง (มก 14,26-31) อย่างไรก็ตาม เปโตรยืนยันอย่างแข็งขันว่าจะไม่ทำเช่นนั้น สาวกอื่นๆ “ก็พูดเหมือนกัน” (มก 14,31) ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงเตือนพวกเขาล่วงหน้า แต่พวกเขาก็ยังยืนยันความพร้อมที่จะตายพร้อมกับพระอาจารย์ สิ่งที่น่าสลดกว่าหมดคือคนที่สัญญาแข็งขันกว่าใคร กลับเป็นคนที่ปฏิเสธพระองค์มากกว่าหมด


เปโตรซึ่งตอนนี้ไม่ได้พูดในนามของสาวกอื่น ได้ยืนยันถึงการอยู่เคียงข้างพระเยซูเจ้า “ถึงแม้ว่าทุกคน...แต่ข้าพเจ้าจะไม่” (มก 14,29) เขามั่นใจในตนเองและเชื่อว่าเขาสามารถให้สัญญาที่จะซื่อสัตย์ได้ เขาเปลี่ยนความมั่นใจเป็นความหุนหัน เขารักองค์พระผู้เป็นเจ้ามากจนกระทั่งไม่อยากจะได้ยินหรือยอมรับคำทำนายของพระองค์ “ถึงแม้ข้าพเจ้าจะต้องตายพร้อมกับพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่ปฏิเสธพระองค์เลย” (มก 14,31) เขาไม่คัดค้านความตายของพระเยซูเจ้าที่ได้ทรงกล่าวไว้ (มก 8,32) แต่ก็ยืนยันว่าพร้อมจะอยู่เคียงข้าพระองค์ มันยากที่จะพูดถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ (ยน 15,13) และความซื่อสัตย์ แต่ช่องว่างระหว่างสองอย่างนี้เห็นได้ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าเปโตรจะปฏิเสธพระองค์หลายครั้ง แต่เปโตรก็ยืนกรานปฏิเสธคำเตือนของพระองค์ ศิษย์ที่ให้คำสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต้องมองเปโตรเป็นแบบอย่าง ความซื่อสัตย์ไม่ได้เป็นผลมาจากคำสัญญา แต่มาจากพระหรรษทาน เพราะเป็นการพิสูจน์ความรักจนถึงวาระสุดท้ายที่ขมขื่น


.มารโกเขียนให้เห็นความแตกต่างระหว่างการปฏิเสธของเปโตรที่ลานข้างล่างกับการยืนยันของพระเยซูเจ้าต่อหน้าสภาสูงของชาวยิว พระเยซูเจ้าทรงพร้อมจะเสี่ยงชีวิตในขณะที่เปโตรปฏิเสธทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตไว้ (มก 14,53-72) ศิษย์ผู้ยืนยันจะติดตามพระเยซูเจ้า แต่กลับไม่กล้าเผชิญหน้ากับคำถามจากหญิงรับใช้ เปโตรที่ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งพระเยซูเจ้า กลับปฏิเสธว่าเขาเป็นศิษย์ของพระองค์ เปโตรคือตัวแทนของศิษย์จำนวนมากที่ปฏิเสธองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะไม่ปฏิเสธตนเอง (เทียบ มก 8,34) ซึ่งเป็นท่าทีที่ขัดแย้งกับธรรมชาติแห่งศีลมหาสนิท


      1. ผิดพันธสัญญาในเมื่อต้องทำตาม

พระเยซูเจ้าทรงมอบพระกายและพระโลหิตเพื่อประทับตราพันธสัญญาและประกาศพระอาณาจักรพระเจ้า (มก 14,24-25) พันธสัญญาที่ทำขึ้นในช่วงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่ร่วมโต๊ะอยู่ในขณะนั้น แต่เพื่อคนเป็นจำนวนมาก (มก 14,24;มธ 26,28) สาวกทั้งสิบสองเป็นกลุ่มแรกในพันธสัญญาแต่ไม่ใช่กลุ่มเดียวเท่านั้น


ในการบรรยายการตั้งศีลมหาสนิท พระวรสารยังพูดถึงการที่ทุกคนที่ได้กินและดื่มร่วมโต๊ะอาหารค่ำครั้งสุดท้ายกับพระเยซูเจ้าได้ทอดทิ้งพระองค์ไม่นานหลังจากนั้น (มก 14,27.50) การที่มีลาภได้รับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ทำให้พวกเขาซื่อสัตย์ต่อพระองค์ได้เลย


การเดินทางของพระเยซูเจ้าไปสู่ไม้กางเขนไม่ได้เริ่มตอนที่ศัตรูจับพระองค์ แต่เริ่มตั้งแต่ตอนที่ศิษย์ทอดทิ้งพระองค์แล้ว เมื่อเข้าใกล้ไม้กางเขน ศิษย์เผยให้เห็นถึงความอ่อนแอและการขาดแรงจูงใจในการติดตามพระเยซูเจ้า ไม่มีใครสามารถติดตามพระเยซูเจ้าและถวายชีวิตแด่พระองค์ได้ถ้าพระองค์ไม่ได้ทรงมอบชีวิตของพระองค์ให้เขาก่อน สาวกทั้งสิบสองที่ได้ร่วมทานอาหารกับพระเยซูเจ้าไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนที่พระองค์ทรงมอบพระองค์เองให้พวกเขาในรูปแบบของปังและเหล้าองุ่น แต่พวกเขาจะระลึกได้ภายหลัง เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชน์และทรงกลับคืนชีพ ว่าการมอบชีวิตให้แก่พระองค์เป็นหน้าที่ของใครก็ตามที่ได้รับพระองค์ในศีลมหาสนิท


นี่คือ “การระลึก” ที่ต้องทำ (1คร 11,24) ระลึกถึงการที่พระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตต่อไปจนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาใหม่ (1คร 11,26) การระลึกนี้ไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกระลึกหรือไม่เลือกก็ได้ แต่เป็นคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่พระองค์ทรงสั่งให้ทำก่อนที่พระองค์จะทรงมอบชีวิตให้ผู้ที่ร่วมโต๊ะกับพระองค์ แม้ว่าพระเยซูเจ้าจะทรงรู้ว่าศิษย์จะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ กระนั้นก็ดี พระองค์ยังทรงบังคับให้พวกเขาระลึกถึงพระองค์และการกระทำของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงทำตัวน่าแปลกมาก พระองค์ไม่ทรงรอให้ศิษย์ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ก่อนจะสั่งให้พวกเขาทำสิ่งนี้เพื่อระลึกถึงพระองค์ แต่นี่ก็เช่นกัน เป็นพระหรรษทานของพระเจ้า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนครบครันเพื่อจะร่วมพิธีบูชามิสซา เพียงแต่ให้เรารู้สึกว่าพระเยซูเจ้าทรงรักเราจนถึงที่สุดก็เพียงพอแล้ว


    1. ท่าทีของพระเยซูเจ้าเมื่อถึงเวลากำหนด รักจนถึงที่สุด (ยน 13,1-20) 51

ในเรื่องนี้ พระวรสารเล่มที่สี่ให้คำตอบแก่เรา สิ่งที่แปลกและยังไม่สามารถอธิบายได้คือน.ยอห์นเมื่อบรรยายเกี่ยวกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าไม่ได้พูดถึงการตั้งศีลมหาสนิทในช่วงอาหารค่ำครั้งสุดท้าย แต่ไปให้ความสนใจแก่ช่วงเวลาสุดท้ายของพระเยซูเจ้าและความรักจนถึงที่สุดของพระองค์ (ยน 13,1) “โดยให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ของพระเยซูเจ้ากับผู้ที่เชื่อในพระองค์แต่ละคน”52 เป็นท่าทีแห่งความสัมพันธ์ที่แสดงออกในการที่พระอาจารย์ทรงล้างเท้าศิษย์ใน “เวลาอาหารค่ำ” (ยน 13,2) โดยการเล่าเรื่องนี้น.ยอห์นเผย “ความหมายแห่งการตั้งศีลมหาสนิท...พระเยซูเจ้าทรงคุกเข่าลงล้างเท้าศิษย์ของพระองค์ดังท่าทีแห่งความรักของพระองค์จนถึงที่สุด เป็นท่าทีที่บอกล่วงหน้าถึงการที่พระองค์ทรงลดองค์ลงแม้กระทั่งตายบนไม้กางเขน”53


การกระทำของพระเยซูเจ้าแบบไม่คาดคิดและน่าทึ่ง54 นี้สามารถอธิบายได้ (ยน 13,6-20) ในตอนที่พระองค์ทรงสนทนากับเปโตรก่อนที่จะทรงล้างเท้าสาวก (ยน 13,6-11) แล้วนั้นทรงกลับมานั่งที่โต๊ะอาหารและสอนพวกเขาทุกคน (ยน 13,12-20) สำหรับพระเยซูเจ้า ท่าทีดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์แห่งการมอบพระองค์ทั้งครบ แห่งความรักสูงสุดที่มีต่อศิษย์55 เนื่องจากถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะทรงจากพวกเขาไปเพื่อกลับไปหาพระบิดา (ยน 13,1) ความรักต่อคนของพระองค์ทำให้ชีวิตของพระองค์ต้องจบสิ้นลง เพราะพระองค์ทรงมอบชีวิตให้ศัตรู ชีวิตที่พิสูจน์ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข การล้างเท้าสาวกเป็นภาพลักษณ์และเครื่องหมายแห่งความรักสูงสุดนี้ (ยน 13,5) และก่อนที่จะมีการพูดถึง (ยน 13,4-5) การกระทำของพระเยซูเจ้าถูกถือว่าเป็นแสดงออกของความรัก (ยน 13,1) และความซื่อสัตย์ (ยน 10,17-18) ที่เป็นรูปธรรมแล้ว


พระเยซูเจ้าทรงตั้งหมู่คณะแห่งศิษย์เมื่อทรงกระทำกิจการต่ำต้อยเพื่อรับใช้ศิษย์ของพระองค์56 ใครก็ตามที่ต้องการจะมีส่วนร่วมกับพระองค์ต้องยอมให้พระองค์รับใช้เขา ดังหนึ่งเป็นเจ้านาย (ยน 13,9.14) “ความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันกับพระคริสตเจ้า” ที่เกิดจากการอวยพรถ้วยกาลิกส์และการบิปัง (1คร 10,16) คือ “การมีส่วนร่วม” กับพระองค์ (ยน 13,8) ราคาที่ต้องจ่ายคือการยอมให้พระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้ารับใช้ การคัดค้านของเปโตรดูสมเหตุสมผล (ยน 13,8) แม้ว่าเขายังเข้าใจและคิดตามประสามนุษย์ (ยน 13,7; 7,24; 8,15) เขาพยายามปฏิเสธท่าทีที่ไม่เหมาะสม ท่าทีที่ทำให้องค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาต้องลดตัวลงมาแบบนี้ (ยน 13,6) ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่เขาอยากจะมีเกี่ยวกับพระองค์ (เทียบ มธ 16,22) แต่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าใครก็ตามที่ไม่ยอมให้พระองค์รับใช้ในรูปแบบสุดๆนี้เสี่ยงที่จะไม่ได้ร่วมส่วนในชะตากรรมของพระองค์ (ยน 13,8) ศิษย์จะสามารถอยู่ฝ่ายพระองค์ได้ถ้าเขายอมให้พระองค์รับใช้เขา


สิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรชัดเจนขึ้นในสิ่งที่พระองค์ตรัสต่อจากนั้น นั่นคือ มีความเป็นไปได้ที่ถูกล้างแล้วแต่ก็ยังไม่สะอาด (ยน 13,10; เทียบ 1คร 11,26) เป็นไปได้ที่จะกินกับพระเยซูเจ้าแล้วยกส้นเท้าให้พระองค์ (ยน 13,18) การชำระไม่เป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีการยอมรับให้ถูกชำระด้วย แม้จะเป็นการชำระเท้า ใครก็ตามที่ไม่ยอมให้พระเยซูเจ้าผู้ทรงทำองค์เป็นข้ารับใช้ชำระ ใครก็ตามที่ไม่ยอมรับพระองค์อย่างที่ทรงปรารถนาจะเป็นเพื่อเห็นแก่เรา (ยน 13,20) เขาผู้นั้นไม่สมที่อยู่กับพระองค์และจะถูกขจัดออกจากหมู่คณะผู้มีความเชื่อ (ยน 13,17-30) คนทรยศยังสกปรกต่อไป เพราะไม่ยอมเชื่อ ที่เขาไม่ยอมเชื่อเพราะไม่ยอมรับพระเยซูเจ้าเป็นของขวัญ (ยน 13,11;6}64.70.71) ผู้ที่ไม่ยอมให้พระเยซูเจ้ารับใช้ก็ไม่สามารถอยู่ในหมู่คณะ และแม้เขาจะกินอาหารจากพระหัตถ์พระเยซูเจ้า แต่ซาตานกลายเป็นอาหารของเขาแล้ว (ยน 13,26-27a; เทียบ ลก 22,3) เฉพาะผู้ที่ยอมให้พระเยซูมอบพระองค์ให้แก่เขาทางศีลมหาสนิทและคนที่ยอมให้องค์พระผู้เป็นเจ้ารับใช้เขาเท่านั้นที่จะเป็นเพื่อนของพระองค์ได้ ไม่แต่ร่วมโต๊ะอาหารกับพระองค์อย่างเดียว แต่ต้องร่วมชีวิตกับพระองค์ตลอดไป จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เมื่อยูดาสออกจากห้องชั้นบนแล้วพระเยซูเจ้าทรง “ได้รับสิริรุ่งโรจน์” (ยน 13,31) และทรงสั่งให้ศิษย์รักกันและกันอย่างที่ทรงรักพวกเขา (ยน 13,34-35) พระเยซูเจ้าทรงมอบบัญญัติแห่งความรักให้ผู้ที่ยอมให้พระองค์รักจนถึงที่สุด


เมื่อทรงล้างเท้าของบรรดาศิษย์เสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าทรงสวมเสื้อคลุมอีกครั้งหนึ่ง” (ยน 13,12) หลังจากนั้นทรงนั่งลง และเริ่มสอนศิษย์ด้วยอำนาจ สิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำไม่ได้เป็นกิจกรรมพิเศษอย่างหนึ่ง แต่เป็นรูปแบบและแนวทางแห่งพฤติกรรม เป็นกฎเกณฑ์แห่งความประพฤติสำหรับศิษย์ (ยน 13,12-14) พระเยซูเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้การกระทำของพระองค์เป็นแค่ความทรงจำ แต่ทรงประสงค์ให้เป็นกฎแห่งการดำเนินชีวิตของคริสตชน การกระทำของพระองค์ไม่ได้เป็นแค่เครื่องหมาย แต่เป็นการแสดงออกของวิถีชีวิตใหม่สำหรับผู้ที่จะเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงส่งสั่งเขาให้รับใช้ทุกคน (ยน 13,15; 1ยน 3,16)


คนที่เชื่อว่าตนเองเป็นแค่ผู้รับใช้ไม่บังอาจที่ฝันจะได้เป็นนาย คนที่ถูกส่งยังคงต้องเป็นผู้ถูกส่งอยู่ดี การรับใช้กันและกันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เลือกทำได้ตามใจชอบ แต่เป็นหลักแห่งพฤติกรรมของบุคคลที่พระคริสตเจ้าทรงส่งไป (ยน 13,16) ยิ่งไปกว่านั้น การรับใช้กันฉันพี่น้องเป็นความยินดีของคริสตชน เป็นพระพรอันแท้จริง (ยน 13,17) น่าสังเกตว่า บุญลาภข้อแรกในพระวรสารของน.ยอห์นโยงไปถึงรูปแบบการทำอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ(ยน 20,29) เพราะไม่ใช่เป็นแค่ของขวัญ แต่เป็นแบบอย่างที่ต้องลอกเลียนแบบให้ได้ วิธีการกระทำของพระเยซูเจ้าเป็นพื้นฐานแห่งคำสั่งของพระองค์ พระบุคคลของพระเยซูเจ้าและท่าทีการกระทำของพระองค์เป็นกฎที่ต้องนำมาใช้ในความสัมพันธ์กันในหมู่คณะ หมู่คณะที่เกิดจากการรับใช้ของพระเยซูเจ้าไม่อาจจะดำเนินต่อไปได้หากไม่รับใช้กันและกันอย่างที่พระองค์ทรงทำ57


ดังนั้น การ “ทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก 22,19;1คร 11,24) ซึ่งอยู่ในคำเสกศีลของพิธีมิสซานั้นเปลี่ยนเป็น “จงทำเหมือนที่เราทำกับท่าน” ในพระวรสารของน.ยอห์น (ยน,14-15) ท่าทีแห่งศีลมหาสนิทที่หมู่คณะคริสตชนต้องทำเหมือนกันคือการมอบตนเองทั้งครบจนถึงที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการบิปังศักดิ์สิทธิ์และการรับใช้เพื่อนพี่น้องนั่นเอง พ่อแปลกใจว่าทำไมการล้างเท้าจึงไม่ได้เป็นการระลึกถึงศีลมหาสนิทอย่างหนึ่ง การรับใช้พี่น้องคือการระลึกถึงพระคริสตเจ้าที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง การดำเนินชีวิตเพื่อรับใช้เพื่อนพี่น้องน่าจะเป็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่งของการระลึกพระคริสตเจ้าแห่งศีลมหาสนิท


  1. กลายเป็นศีลมาหสนิททุกวันนี้

พระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2 ทรงเตือนว่า การเริ่มต้นใหม่จากพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นโครงการฝ่ายจิตของพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่สาม58 น่าจะเป็น “ศูนย์กลางแห่งโครงการชีวิตของแต่ละคนและแต่ละหมู่คณะ” พร้อมกับนั้นก็ทรงเสริมว่า “เพื่อนที่รัก จงพบกับพระองค์และพิศเพ่งพระองค์ในศีลมหาสนิทอย่างเป็นพิเศษ เฉลิมฉลองและนมัสการพระองค์ทุกวันดังแหล่งที่มาและเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิตและงานแพร่ธรรม”59 เหตุผลนั้นมีมากมาย นอกจากจะ “ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้ามากขึ้นทุกวัน” แล้ว การเริ่มต้นใหม่จากพระคริสตเจ้าหมายถึง “การประกาศว่าชีวิตผู้รับเจิมคือ... การระลึกถึงรูปแบบชีวิตและการกระทำของพระเยซูเจ้าอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละวัน’ ด้วย”60


พ่อจึงขอพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่มีการระลึกถึงพระคริสตเจ้าอันใดที่มีประสิทธิภาพมากเท่าศีลมหาสนิท อย่างเดียวเท่านั้นที่บันดาลให้พระคริสตเจ้ายังเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นความจริงที่ว่า “ในพิธีบูชามิสซาและการนมัสการศีลมหาสนิท” เราในฐานะที่เป็นผู้รับเจิมได้รับ “พลังเพื่อติดตามพระคริสตเจ้าอย่างถึงรากถึงโคน” นอกนั้น พระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทซึ่ง “เป็นอาหารแห่งการเดินทางและแหล่งที่มาของชีวิตฝ่ายจิตสำหรับแต่ละคนและสำหรับสถาบัน”61 “นำเราเข้าถึงการบูชาพระองค์เองของพระเยซูเจ้า ซึ่งนอกจากที่เราจะรับพระวจนะที่ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์แล้ว เรายังเข้าถึงศักยภาพแห่งการมอบพระองค์เองอีกด้วย”62 การร่วมมิสซาเป็นการเตือนเรา “ให้ดำเนินชีวิตแห่งพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ด้วยการถวายชีวิตเรา” ดังนั้นเราได้รับเชิญให้ร่วมเป็นหนึ่งกับพระองค์ มอบชีวิตของเราเพื่อเป็นการระลึกถึงพระคริสตเจ้า “ด้วยการร่วมมีส่วนในการถวายบูชาแห่งไม้กางเขน คริสตชนร่วมมีส่วนในความรักของกับพระคริสตเจ้าที่ทรงมอบพระองค์เพื่อเรา พร้อมกันนั้นก็ทำให้เขามีความพร้อมในพันธะแห่งการดำเนินชีวิตด้วยความรักเดียวกันนี้ทั้งในความคิดและกิจการ”63 คุณพ่อบอสโกแสดงออกซึ่งความรักนี้เมื่อพูดว่า “พ่อเรียน พ่อทำงานเพื่อพวกเธอ” พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 16 ทรงเขียนว่า “การนมัสการ การรับศีลมหาสนิท เป็นจุดรวมแห่งการถูกรักและการรักตอบ ศีลมหาสนิทที่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติความรักเป็นรูปธรรมเป็นศีลแตกแยกเป็นชิ้นเป็นส่วน”64


การกลับเป็นศีลมหาสนิท กล่าวคือ การกลายเป็นของขวัญสำหรับผู้อื่น”65 คือ “สิ่งที่พระศาสนจักรคาดหวังจะได้รับจากเรา”66 ความคาดหวังนี้คงเป็นไปไม่ได้หากเราไม่ดำเนินชีวิตเป็นศีลมหาสนิทและกลายเป็นศีลมหาสนิท ศีลมหาสนิท “เป็นรากฐานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทุกรูปแบบ...นักบุญหลายองค์ได้ก้าวหน้าบนเส้นทางไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะความศรัทธาที่มีต่อศีลมหาสนิท”67 ในบรรดานักบุญเหล่านี้มีคุณพ่อบอสโกรวมอยู่ด้วย


เพื่อให้กำลังใจท่านในการเริ่มต้นใหม่จากพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทในเส้นทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็น “หน้าที่หลักของเรา”68 “เป็นของขวัญล้ำค่าที่เรามอบให้เยาวชน” (25) พ่อขอพูดเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญแห่งชีวิตผุ้รับเจิมและรูปแบบการดำเนินชีวิตศีลมหาสนิท


ชีวิตผู้รับเจิมพบอัตลักษณ์ในการรำพึงไตร่ตรองเกี่ยวกับการระลึกถึงรูปแบบชีวิตและการกระทำของพระเยซูเจ้า หากลักษณะพิเศษของผู้รับเจิมคือการดำเนินชีวิตด้วยคุณค่าแห่งพระวรสารในรูปแบบเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ในการดำเนินชีวิต เราพึงสำเหนียกว่าเราสามารถพบปะพระเยซูเจ้าผู้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนชีพได้ในศีลมหาสนิท ดังนั้น “ศีลมหาสนิทจึงเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตผู้รับเจิม ทั้งในระดับบุคคลและระดับหมู่คณะ”69 นอกนั้น เราสามารถพูดได้ว่าชีวิตผู้รับเจิมต้องมีรูปแบบชีวิตแห่งศีลมหาสนิทอย่างเต็มเปี่ยม หากต้องการที่จะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับอุดมการณ์นักบวช เพราะผู้รับเจิมจะพบกับรูปแบบอุดมการณ์และความเต็มเปี่ยมแห่งชีวิตนักบวชได้ก็ในศีลมาหาสนิทเท่านั้น


3.1. ชีวิตรับเจิมคือชึวิตแห่งศีลมหาสนิท

ในแง่ที่ศีลมหาสนิทเป็นชีวิตจิตและชีวิตประจำวัน ซึ่งการประชุมบรรดาพระสังฆราชครั้งที่ 39 เรื่องศีลมหาสนิทแนะว่า “ประจักษ์พยานเชิงประกาศกแห่งชีวิตผู้รับเจิมทั้งชายและหญิง พึงรับพลังที่จำเป็นเพื่อติดตามพระคริสตเจ้าผู้นบนอบ ยากจนและบริสุทธิ์อย่างถึงรากถึงโคนในการร่วมมิสซาและการนมัสการศีลมหาสนิท ในศีลมหาสนิท ผู้รับเจิมจะพบซึ่งแหล่งที่มาแห่งการรำพึงพิศเพ่ง แสงสว่างเพื่องานแพร่ธรรมและงานธรรมทูต อีกทั้งเหตุผลหลักแห่งการอุทิศตนเพื่อคนยากจนและคนอยู่นอกขอบสังคม ตลอดจนข้อผูกมัดเพื่อพระอาณาจักร


ที่ประชุมพระสังฆราชไม่ได้อ้างอิงถึงศีลมหาสนิทในตัวมันเอง หรือพูดถึงการเฉลิมฉลองพิธีกรรมโดยเฉพาะ แต่กล่าวถึงพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงชีวิตและประทับอยู่ในพระธรรมล้ำลึกปัสกา เราจึงเข้าใจสิ่งที่พระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2 ทรงยืนยัน “ศีลมหาสนิทไม่ใช่ของขวัญชิ้นหนึ่ง แม้จะประเสริฐล้ำค่ากว่าของขวัญใดๆ แต่เป็นของขวัญสุดยอดเพราะเป็นของขวัญแห่งตัวพระองค์เอง”70


พ่อน้อมรับคำแนะนำของที่ประชุมพระสังฆราชพร้อมกับเชิญท่านให้รำพึงถึงองค์ประกอบหลักแห่งชีวิตรับเจิมจากมุมมองของศีลมหาสนิท โดยใช้รูปลักษณ์ที่เรียบง่ายนและมีความหมาย นั่นคือ หัวใจ การปฏิญาณถือตามคำแนะนำของพระวรสารซึ่งเป็นหัวใจของชีวิตรับเจิมที่เต้นเป็นสองจังหวะ นั่นคือความเป็นพี่น้องและภารกิจบันดาลให้มีชีวิตแห่งพระพรพิเศษแตกต่างกัน พ่อถือว่าเป็นเรื่องที่มีความหมายมาก เพราะมีความละม้ายกับมิติสองอย่างของศีลมหาสนิท ซึ่ง “เป็นหัวใจแห่งชีวิตพระศาสนจักร”71 และ “หัวใจ” แห่งชีวิตรับผู้เจิมนี้เกิดจากการปฏิญาณถือตามคำแนะนำแห่งพระวรสาร พระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2 ตรัสว่า “มิสซาเป็นทั้งการบูชาระลึกถึงการบูชาแห่งไม้กางเขนและงานเลี้ยงที่ต่อเนื่องแห่งพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าในเวลาเดียวกันและแยกจากกันไม่ได้”72


3.1.1. ชีวิตรับเจิมคือ “การระลึกถึง” โดยทางความนบนอบ

ในฐานะที่ชีวิตรับเจิม “เป็นการระลึกรูปแบบการดำเนินชีวิตและการกระทำของพระเยซูเจ้า” จึง “เป็นธรรมเนียมทรงชีวิตแห่งชีวิตและสาสน์ขององค์พระผู้ไถ่”73


เราต่างก็ทราบดีว่า การ “ระลึกถึง” ไม่หมายถึง “การซ้ำ” เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น หรืออยู่ในการ “จดจำเหตุการณ์ดังกล่าว แต่เป็นการทำให้เกิดขึ้นจริงและเป็นปัจจุบัน รูปแบบความคิดทางตะวันตกทำให้ยากแก่การทำให้เหตุการณ์เป็นปัจจุบันแม้จะใช้เพื่อเป็นพื้นฐานเพื่อการเข้าใจความหมายของฉลองในขนบธรรมเนียมแห่งวัฒนธรรมต่างๆ74


เพื่อจะบรรยาย “การระลึงถึง” ในแง่เหตุการณ์เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจจะต้องใช้ความเข้าใจเชิง “เทพนิยาย” ทำเหมือนกับว่าประวัติศาสตร์แห่งความรอดไม่มีแค่เฉพาะเหตุการณ์หนึ่งเดียวและไม่ซ้ำแบบ รวมทั้งความตายขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย (เทียบ ฮบ 7,27; 9,12; 10,10) ดังนั้น เราพูดถึง “เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น” ของการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระเยซูคริสตเจ้าผู้เป็นตัวเอกในเหตุการณ์ที่ได้สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ ชีวิตรับเจิมสามารถเป็น “การระลึกถึง” ของพระเยซูคริสตเจ้าถ้ายังคงทำให้ รูปแบบชีวิต ของพระองค์ยังเป็นปัจจุบันและเสมอไปทุกแห่ง และนี่คือแก่นแห่งความนบนอบของชีวิตผู้รับเจิม ซึ่งคุณพ่อบอสโกมักจะพูดอย่างสั้นๆว่า “พ่อเป็นพระสงฆ์เสมอ...”

เมื่อเราอ่านเอกสาร “Vita Consecrata” อย่างละเอียด เราจะเห็นว่าความนบนอบเป็นศูนย์กลางของคำแนะนำแห่งพระวรสาร ซึ่งสะท้อนประจักษ์พยานในพระคัมภีร์ ในพระธรรมเก่า เราพบว่าความนบนอบเป็นการแสดงออกของความเชื่อ ดังนั้น ผู้มีความเชื่อยิ่งใหญ่คือผู้นบนอบ ในช่วงก่อนเข้าสู่พระธรรมใหม่ พระนางมารีย์คือผู้ที่มีความเชื่อและน้อมรับที่จะร่วมมือกับพระเจ้าในแผนการแห่งความรอดของพระองค์ แต่เหนือใครหมด ชีวิตทั้งครบของพระเยซูเจ้า เริ่มตั้งแต่การรับเอากายเป็นมนุษย์ (เทียบ ฮบ 10,5.7; ยน 6,38) พันธกิจที่ทรงทำ (เทียบ มก 1,38; ลก 4,43; ยน 4,34) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหาทรมานของพระองค์ (มก 14,36; ยน 12,27-28; ฮบ 5,7-9) ล้วนแต่แสดงให้เห็นความนบนอบที่ครบครันของพระองค์ต่อพระบิดาเจ้า75


นอกนั้น เอกสาร “Vita Consecrata” ยังระบุว่า ศีลบนพรหมจรรย์และความยากจนเป็นผลต่อเนื่องของความนบนอบนั่นเอง “พระเยซูเจ้าทรงเป็นแบบอย่างแห่งความนบนอบ... ในท่าทีแห่งความอ่อนน้อมต่อพระบิดา พระคริสตเจ้าทรงดำเนินชีวิตพรหมจรรย์ ในขณะเดียวกันก็ทรงยืนยันและปกป้องศักดิ์ศรีแห่งชีวิตแต่งงาน พระองค์จึงทรงเผยให้เห็นถึงคุณค่าอันสูงส่งและประสิทธิผลฝ่ายจิตแห่งชีวิตพรหมจรรย์ การน้อมรับแผนการของพระบิดาอย่างเต็มเปี่ยมเห็นได้ในการตัดใจจากสิ่งของฝ่ายโลก... ความลึกซึ้งแห่งความยากจนของพระเยซูเจ้าเผยให้เห็นการถวายทุกสิ่งที่เป็นของพระองค์ให้แด่พระบิดาเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบ”76


การระลึกถึงไม่อยู่แค่การเฉลิมฉลองทางพิธีกรรมเมื่อมีการกล่าวซ้ำพระวาจาของพระเยซูเจ้า “นี่คือกายของเราที่มอบเป็นพลีเพื่อพวกท่าน” ในเวลาเดียวกันก็ไม่อยู่ในการทำซ้ำเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นครั้งหนึ่งและตลอดไป แต่อยู่ในการทำให้เหตุการณ์นี้เป็นจริงในศีลมหาสนิท (“ทำให้เป็นศีลมหาสนิท”) และในการกลับเป็นการระลึกถึงที่เป็นชีวิตแห่งรูปแบบการดำเนินชีวิตและการกระทำของพระองค์ (“ทำตนให้เป็นศีลมหาสนิท”) การต่อเนื่องการมอบตนทั้งครบของพระคริสตเจ้าในชีวิตของผู้รับเจิมแต่ละคนเป็นความจริงขึ้นมาในศีลบนความนบนอบ ศีลบนความนบนอบจึงเป็นศีลบนที่แสดงออกที่ดีที่สุดของการเป็นของพระเจ้าทั้งครบ เป็นการมอบตนทั้งครบแด่พระเจ้าโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งไม่คิดจะทำอะไรอื่นนอกจากจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระประสงค์ของพระบิดา ดังนั้น ชีวิตจิตแห่งศีลมหาสนิทจึงไม่อยู่ในการร่วมถวายมิสซาอย่างสง่างามและเต็มด้วยความศรัทธาเท่านั้น แต่แสดงออกมาในชีวิตแห่งความนบนอบ ซึ่งเป็นการระลึกถึงพระคริสตเจ้าและเรากลายเป็นการระลึกถึงที่มีชีวิต


      1. ชีวิตรับเจิมดัง “การบูชา” แห่งความบริสุทธิ์

มิติยิ่งใหญ่แห่งศีลมหาสนิทอย่างที่สองคือการถวายบูชา ณ ที่นี้ เราคงไม่พูดถึงการปฏิรูปหลังสังคายนาวาติกันที่บดบังแง่การบูชาของศีลมหาสนิทหรือไม่ให้ความสำคัญแก่ลักษณะแห่งการบูชาของศีลมหาสนิท77 ประจักษ์พยานด้านพระคัมภีร์ทั้งในพระวรสารทั้งสี่และจดหมายของนักบุญเปาโลต่างก็ยืนยันว่า

พระเยซูเจ้าทรงกำหนดความเกี่ยวโยงระหว่างปังที่บิออกกับพระกายของพระองค์ (มก 14,22; มธ 26,26; ลก 22,19; 1 คร 11,24)

พระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบระหว่างเหล้าองุ่น (ที่มีการดื่มในช่วงอาหารปัสกา) และพระโลหิตของพระองค์ พร้อมกับทรงเสริมว่าโดยทางพระโลหิตของพระองค์พันธสัญญาใหม่จะเกิดขึ้น (มก 14,24; มธ 26,28; ลก 22,20; 1 คร 11,25)

คำว่า “เพื่อ” ที่มีการบันทึกในห้าตอนนั้นเป็นการชี้บอกว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบพระกายและหลั่งพระโลหิตของพระองค์ “เพื่อใคร” (มก 14,24; มธ 26,28; ลก 22,20)78


ความหมายทางประวัติศาสตร์ของการบูชาแห่งศีลมหาสนิทที่ได้มาจากพระธรรมล้ำลึกปัสกาเป็นบทสอนล้ำค่าสำหรับเรา กล่าวคือ สิ่งที่เป็นแก่นแห่งการไถ่กู้ซึ่งเป็นงานของพระบิดาผ่านทางพระคริสตเจ้าและในพระจิตเจ้าไม่ใช่ความทุกข์ทรมาน แต่ความรักต่างหาก พระเยซูเจ้าทรงมอบชีวิตเพื่อเป็นดังของขวัญยิ่งใหญ่แห่งความรักของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นของขวัญยิ่งใหญ่ที่สุด “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15,13)


เรามักจะพูดว่าศีลมหาสนิทเป็น “การระลึก” ถึงความตายและการกลับคืนชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่นั่นก็ยังถือว่าไม่ถูกต้องนักหากไม่มีการอ้างอิงถึงพิธีศีลมหาสนิท ครั้งแรก ในอาหารค่ำครั้งสุดท้าย เพราะไม่เป็นแค่การระลึกถึง (anamnesis) แต่เป็นการกระทำล่วงหน้า (prolepsis) เป็นการนำหน้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนเนินกลโกธา “พระเยซูเจ้าทรงกระทำให้การบูชาต่อเนื่องผ่านทางการตั้งศีลมหาสนิทในอาหารค่ำครั้งสุดท้าย ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพล่วงหน้าด้วยการมอบพระองค์ พระกายและพระโลหิตในรูปแบบของปังและเหล้าองุ่นดังมานนาใหม่”79


ถ้าไม่มีการเฉลิมฉลองอาหารค่ำครั้งสุดท้าย เราก็คงไม่มีหลักฐานแห่งความหมายที่พระเยซูเจ้าทรงประสงค์จะให้แก่ความตายของพระองค์ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง การถวายบูชา “ปราศจากเลือด” (เพื่อความรัก) นำหน้าการถวายบูชา “ด้วยเลือด” (ความตายของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน) แง่พื้นฐานแห่งศีลมหาสนิทในฐานะเป็นการบูชายัญและการแสดงออกของความรักยิ่งใหญ่ที่พระเยซูเจ้าทรงมีต่อเรามีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับการปฏิญาณถือความบริสุทธิ์


มนุษย์ได้รับเรียกให้พบกับความเต็มเปี่ยมในความรักและนี่คือสิ่งที่เรียกร้องให้มีการมอบกายทั้งครบในรูปแบบของการมอบตนทั้งสิ้นเพื่อผู้อื่น การมอบตนแบบนี้เป็น “ภาษา” ทางเพศ โดยมีร่างกายเป็นตัวหลัก ซึ่งอาจจะกลายเป็นการโกหกหากไม่มีการมอบความเป็นบุคคลทั้งครบ เพราะโดยธรรมชาติของเพศแล้วต้องเป็นการมอบตนทั้งครบและเฉพาะเจาะจง80 การมอบตนทางเพศสัมพันธ์ไม่ใช่เป็นรูปแบบเดียวของการมอบกายเพื่อแสดงออกซึ่งความรักที่มี ในพระเยซูเจ้าเราพบว่าการมอบตนทางศีลมหาสนิทเป็นการแสดงออกของความรักที่ลึกซึ้งกว่าหมด เนื่องจากร่างกายเป็นเครื่องหมายและอุปกรณ์แห่งการมอบตน เป็นตัวเอกที่แท้จริงของความรักและไม่สังกัดอยู่แค่ในตัว แต่ “เพื่อทุกคน” พระเยซูเจ้าจึงไม่ได้แสดงความรักและการมอบตนของพระองค์ใน “แง่ทางเพศ” แต่ในแง่ของศีลมหาสนิท


สำหรับเราที่เป็นผู้รับเจิม รูปแบบพิเศษเพื่อดำเนินชีวิตแห่งความรักอย่างเต็มเปี่ยมและการมอบตนทั้งครบเรียกร้องให้เรางดการมอบร่างกายและความรักของแก่บุคคลเดียว แต่ให้มอบตัวเราทั้งครบแก่ทุกคน ในการกระทำเช่นนี้ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงของการมอบตนทางเพศ จึงเป็นไปได้ที่จะมอบกายโดยไม่ได้มอบตนเองทั้งครบ เลยกลายเป็นการมอบตนเองอย่างจอมปลอม โดยไม่มีการมอบกายทั้งครบ “ไม่มีการออกแรง” ทางร่างกาย อันเป็นการแสดงออกที่แท้จริงและเป็นแก่นสารของความรักในรูปแบบของศีลมหาสนิท


ดังนั้น มิติของการปฏิญาณถือความบริสุทธิ์เราสามารถพบได้ในชีวิตแห่งความเป็นพี่น้องและในการอุทิศตนเพื่อทำภารกิจ “ในศีลมหาสนิท พรหมจรรย์นักบวชพบแรงดลใจและการหล่อเลี้ยงสำหรับการมอบตนเองทั้งครบแด่พระคริสตเจ้า”81 ศีลมหาสนิทเป็นแหล่งที่มาและสุดยอดของชีวิตและภารกิจของพระศาสนจักร เพราะ “ความรักที่เราเฉลิมฉลองในศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่ใช่ความรักที่เราเก็บไว้ตัวคนเดียว แต่โดยธรรมชาติของความรักนี้แล้วเราต้องแบ่งปันให้แก่ทุกคน”82 ในแนวทางสองอย่างนี้ ความรักแห่ง “อาคาเป” (agape) (ความรักพี่น้องที่บริสุทธิ์ ยังมีความรักแบบ “เอโรส” (eros) (ความรักที่เห็นแก่ตัว) แอบแฝงอยู่ จึงต้องพยายามทำให้ความรักแบบ “อาคาเป” เป็นความรักที่เห็นได้ ที่น่ารัก และไม่ใช่อยู่แค่ในความเชื่อเพราะไม่มีใครสามารถเห็นได้83


      1. ชีวิตรับเจิม “แบ่งปันอาหาร” ผ่านทางความยากจน

ในที่สุด เราจะพิจารณาชีวิตรับเจิมจากแง่ของศีลมหาสนิทในฐานะที่เป็นการร่วมรับประทานอาหาร ในแง่มนุษย์ “การกินด้วยกัน” เป็นเรื่องที่น่าดึงดูดใจเรื่องหนึ่งของพระคัมภีร์ และเมื่อคำนึงถึงแง่ของธรรมเนียมและวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันใน “ความเป็นพี่น้อง” เป็นประสบการณ์ที่เข้มข้นและเต็มด้วยความหมายของการแบ่งปัน “ร่วมโต๊ะอาหารคือร่วมชีวิต”84


ลักษณะจำเพาะอย่างหนึ่งของการประกอบภารกิจของพระเยซูเจ้าคือการกินด้วยกัน โดยเฉพาะกับผู้ต่ำต้อย ผู้ยากจน ผู้อยู่นอกขอบสังคม และเหนืออื่นใดกับ “คนเก็บภาษีและคนบาป” (ลก 5,29-30) ในการยินยอมให้คนที่ไม่เป็นที่ยอมรับด้านศาสนาและศีลธรรมให้มาร่วมโต๊ะด้วยนั้น พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงมีความยินดีที่จะมอบความรอดให้แก่คนบาปและให้อภัยพวกเขา85


เราเห็นว่า การกินด้วยกันไม่ใช่เป็นการแสดงออกของความใกล้ชิดของพระเจ้าอย่างเดียว แต่อยู่ในการเทศน์สอนของพระองค์ด้วย โดยเฉพาะในอุปมาเกี่ยวกับพระอาณาจักรสวรรค์ (มธ 8,11; 22,1-14; ลก 12, 35-57; 14,12-24; 15,23-32; 19,5-10) ในตอนต่างๆเหล่านี้ เราพบเห็นท่าทีของพระเยซูเจ้าและธรรมชาติแห่งการให้เปล่าๆของพระเจ้าที่ทรงเชิญให้มาร่วมงานเลี้ยง ที่จริงแล้ว ไม่มีใครสมควรจะมางานนี้เลย ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือท่าทีของเด็กน้อย (เทียบ มธ 10,15) ซึ่งยอมรับทุกอย่างด้วยความยินดีและรู้คุณเพราะรู้สึกว่าตนไม่สมจะได้รับสิ่งใดทั้งนั้น เป็นท่าทีของคนจน คนขอทาน คนต่ำต้อย ของคนที่ต้องเร่ร่อนอยู่ตามลาน ตามถนน เพราะไม่มีที่อยู่อาศัย (เทียบ ลก 14,21; มธ 22, 8-10) ตรงข้าม คนที่ยึดติดกับกฎแห่ง “ความยุติธรรม” จะต้องรู้สึกโกรธและไม่ยอมเข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับการกลับมาของน้องชาย (เทียบ ลก 15,25-32) หรืออาจจะมีหลายอย่างต้องทำและหยิ่งเกินไปที่จะมางานเลี้ยงฟรีๆ ถือว่าไมสมศักดิ์ศรี (เทียบ ลก 14,18-20)


มิติของการร่วมทานอาหารสะท้อนออกมาในชีวิตนักบวชทางความหมายแท้จริงแห่งความยากจน ซึ่งไม่ใช่เป็นความขัดสนตามธรรมชาติหรือการสมัครใจตัดขาดจากสิ่งของ แต่เป็นการแบ่งปันสิ่งที่ตนเป็น สิ่งที่ตนมี ให้เปล่าๆ ซึ่งปรากฏในคำเล่าเรื่องการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท (1คร 11,17-34) ของกลุ่มคริสตชนที่เฉลิมฉลองอาหารค่ำขององค์พระผู้เป็นเจ้าโดยไม่ยอมแบ่งปันสิ่งที่แต่ละคนมีให้แก่ผู้ที่ขัดสน คริสชนแห่งโครินธ์จึงยังห่างไกลจากอุดมการณ์ของหมู่คณะที่น.ลูกาบรรยายในหนังสือกิจการอัครสาวก ซึ่ง “ทุกคนที่มีความเชื่อต่างมารวมกันและมีทุกอย่างร่วมกัน...ทุกๆวัน เขาพร้อมใจกันไปที่พระวิหารและไปตามบ้านเพื่อทำพิธีบิขนมปัง ร่วมกินอาหารด้วยความยินดีและด้วยใจกว้าง...” (กจ 2,44.46; เทียบ 4,32)


ความยากจนของผู้รับเจิมไม่ใช่เป็นปฏิกิริยาต่อทรัพย์สิ่งของ หรือถือว่าการไร้ซึ่งสิ่งใดๆเป็นอุดมการณ์ที่พึงลุถึงตามความเชื่อของศาสนาทางตะวันออก บุคคลที่ยากจน ในฐานที่เป็นผู้มีความเชื่อ น้อมรับสิ่งประทานจากพระเจ้าด้วยความเรียบง่ายและพอเพียง โดยนำมาแบ่งปันด้วยความรักในสองรูปแบบ กล่าวคือ แบ่งปันทุกสิ่งในหมู่คณะฉันพี่น้องและเชื้อเชิญทุกคนให้ “ร่วมโต๊ะศักดิ์สิทธิ์แห่งพระอาณาจักร” โดยให้ความรักเป็นพิเศษแก่คนยากจนกว่าหมด คนถูกทอดทิ้ง คนอยู่นอกขอบสังคม คนบาป คนไร้ความหมาย... ตามกระแสเรียกที่ได้รับจากพระเจ้า เป็นการเชื้อเชิญไม่เพียงเฉพาะเพื่อนหรือญาติ (เทียบ ลก 14,12-13; มธ 5,46-47) ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ไม่ตรงกับ “แนวทางแห่งพระวรสาร” และไม่น่าแปลกเพราะ “คนต่างชาติก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน” (มธ 5,47) ความยากจนตามแนวพระวรสารกลายเป็นอิสรภาพที่จะออกไปและเชื้อเชิญคนที่อยู่ไกลให้มาร่วมโต๊ะศักดิ์สิทธิ์แห่งพระอาณาจักร ความร้อนรนด้านธรรมทูตที่เกิดจากจิตใจของคนยากจนซึ่ง “ไม่มีอะไรจะเสีย” และทำทุกอย่างเพื่อพระคริสตเจ้าและพระอาณาจักรของพระองค์



    1. ซาเลเซียนคือคนแห่งศีลมหาสนิท

มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดระหว่างพระธรรมล้ำลึกแห่งศีลมหาสนิทและชีวิตรับเจิม ผู้รับเจิมหากประสงค์จะเป็นผู้รับเจิมต่อไปจะต้องเป็นคนแห่งศีลมหาสนิท การเจิมของนักบวชมี “โครงสร้างศีลมหาสนิท กล่าวคือ การมอบถวายตนทั้งครบ" เพราะเหตุนี้ชีวิตรับเจิมจึง “ร่วมมีส่วนใกล้ชิดกับการถวายบูชาแห่งศีลมหาสนิท”86


เราได้เริ่มด้วยการพูดถึงศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตของเราแต่ละคนและของคณะ พ่อจึงอยากจะพูดสั้นๆเกี่ยวกับศีลมหาสนิทซึ่งเป็น “อาหารและแหล่งที่มาของชีวิต”87 ว่าเป็นรูปแบบของ “วิถีชีวิตแห่งศีลมหาสนิท” ทำให้เราเป็นเหมือนพระคริสตเจ้าและทำให้เราเป็นบุคคลแห่งศีลมหาสนิท พ่อขอเริ่มจากแง่ภายนอกของศีลมหาสนิทซึ่งเริ่มจากการเฉลิมฉลองพิธีกรรมไปสู่การดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระธรรมล้ำลึก เริ่มจากความรักที่พร้อมจะมอบตนเองไปสู่การนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ถูกตรึงกางเขนและกลับคืนชีพ เริ่มจากการพิศเพ่งพระคริสเตจ้าไปสู่พันธะกิจแห่งการทำตนเป็นปังเพื่อผู้อื่น


3.2.1. จากการเฉลิมฉลองสู่ความสอดคล้อง

ศีลมหาสนิทเป็น “ศูนย์กลางประจำวันของทุกหมู่คณะซาเลเซียน” (88) “เผยให้เห็นถึงแผนการแห่งความรักที่นำประวัติศาสตร์แห่งความรอด” (เทียบ อฟ 1,10; 8-11) ในศีลมหาสนิท พระตรีเอกภาพซึ่งเป็นองค์ความรัก (เทียบ 1ยน 4,7-8) ร่วมมีส่วนอยู่ในสถานภาพมนุษย์ ในปังและเหล้าองุ่น...ชีวิตพระเจ้าพบกับเราและแบ่งปันกับเราทางศีลศักดิ์สิทธิ์ ... เป็นของขวัญที่ให้เปล่าๆ เป็นการทำให้พระสัญญาของพระเจ้าสำเร็จลง”88


ผู้ที่เฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ไม่เพียงแต่จะยืนยันความเป็นเอกแห่งของขวัญของพระคริสตเจ้าด้วยความพิศวงและความรู้คุณเท่านั้น แต่จะยินยอมให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จเข้ามาในชีวิตของตน หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง “ยินยอมให้ความรักของพระเจ้าครอบครองตน”89 ในพระคริสตเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ในศีลมหาสนิทเราพบกับพระเจ้าไม่ใช่ในรูปแบบของความคิดลอยๆ หรือถือว่าทรงเป็นโครงการชีวิตของเรา แต่ “ทรงเป็นบุคคลที่ฉันสามารถสร้างสัมพันธภาพแห่งมิตรภาพ แห่งการเป็นบุตร แบบผู้ใหญ่และมีความรับผิดชอบ เป็นสัมพันธภาพแห่งพันธสัญญาและพันธะที่ไม่มีเงื่อนไขในภารกิจเพื่อความรอดของมนุษยชาติ”90 และเช่นนี้ “ความเต็มเปี่ยมแห่งความชิดสนิทกับพระคริสตเจ้ากลายเป็นความจริง กลายเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ และดำเนินชีวิตเหมือนพระองค์ตามกระแสเรียกแห่งการรับเจิม”91 “ความจริงแห่งความรักของพระเจ้าในพระคริสตเจ้าพบปะกับเรา ดึงดูดใจเราและทำให้เรามีความปีติยินดี ทำให้เราหลุดจากตนเองและนำเราไปสู่กระแสเรียกแท้จริงของเรา กล่าวคือ ความรัก”92

เมื่อพบกับความรักตัวต่อตัวกับพระเจ้า ซาเลเซียนจึงรู้จักรักและมอบตนเอง ก่อนอื่นแด่พระเจ้า แล้วนั้นมอบตนเองพร้อมกับพระเจ้าเพื่อผู้อื่น ในการมอบตนนี้เองทำให้เรากลายเป็นหนึ่งกับพระคริสตเจ้า เพราะเมื่อกับพระกายและพระโลหิตของพระองค์แล้วเราก็ดำเนินชีวิตแบบศีลมหาสนิทซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะแห่งชีวิตและความตายของพระเยซูเจ้า ดังนั้น การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทแต่ละวัน “แม้สัตบุรุษไม่สามารถมาร่วมได้”93 ส่งผลดีด้านจิตใจที่ไม่ซ้ำแบบ อันเนื่องมาจากคุณค่าที่ไม่มีขอบเขตแห่งศีลมหาสนิท เพราะเหตุนี้เอง สมัชชาคณะครั้งที่ 25 ส่งเสริมให้เราพัฒนามิติของหมู่คณะด้านชีวิตจิต “ด้วยการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทประจำวันด้วยความยินดี รู้จักสร้างสรรค์และด้วยความกระตือรือร้น”94 การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท “เป็นการอบรมในความหมายลึกซึ้งแห่งคำ เพราะทำให้พระสงฆ์สวมใส่องค์พระคริสตเจ้า”95.ออกัสตินกล้ากล่าวว่า “เราไม่กลับเป็นคริสตชนอย่างเดียว แต่กลับเป็นพระคริสตเจ้าด้วย” ในปังและเหล้าองุ่นแห่งศีลมหาสนิท “พระคริสตเจ้าทรงมอบพระกายและพระโลหิตที่ได้หลั่งเพื่อลบล้างบาปให้แก่เรา ถ้าท่านรับพระกายและพระโลหิตของพระองค์อย่างสมควร ท่านก็จะกลับเป็นสิ่งที่ท่านได้รับ”96


เนื่องจากในพิธีกรรมแห่งศีลมหาสนิทซึ่งเป็นการ “กระทำตามคำสั่งของพระคริสตเจ้า” พระเจ้าทรงมอบพระบุตรของพระองค์ให้แก่เรา “พิธีกรรมศีลมหาสนิทจึงเป็นการกระทำของพระเจ้า (action Dei) และ “โครงสร้างพื้นฐานของพิธีกรรมศีลมหาสนิทจึงไม่ขึ้นอยู่กับเราที่จะเปลี่ยนตามใจชอบหรือตามกระแสล่าสุด”97 ความเคารพต่อโครงสร้างของการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิททำให้เราเห็นถึงของขวัญยิ่งใหญ่เกินที่เราจะอาจเอื้อมและพันธะของเราในการน้อมรับของขวัญนี้ด้วยความรู้คุณ” เป็นไปไม่ได้ที่อยากจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงมอบพระองค์ทั้งครบแต่เฉลิมฉลองศีลมหาสนิทโดยไม่ให้ความสำคัญแก่โครงสร้างแห่งพิธีกรรมเลย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า “วิธีประกอบพิธีศีลมหาสนิท (ars celebrandi) จึงเป็นวิธีดีที่สุดเพื่อจะร่วมพิธีกรรมอย่างได้ผล98


      1. จากความสอดคล้องสู่การนมันการ

เราตอบรับการท้าทายให้ดำเนินชีวิต “สอดคล้องกับชีวิตพระคริสตเจ้า”99 ได้ในการทำให้พิธีกรรมแต่ละวันเป็นดังการฉลอง (เทียบ ว 88) และไม่อยู่แค่ “การระลึก” ถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในห้องอาหารชั้นบน หรือซ้ำท่าทีภายนอกของพระเยซูเจ้า แต่ต้องเป็น “การระลึก” ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นไปได้หากการเฉลิมฉลองนำไปสู่การพิศเพ่งพระธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่นี้ อันที่จริง “การนมัสการศีลมหาสนิทเป็นผลตามมาของการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นการนมัสการที่สูงส่งของพระศาสนจักร การรับศีลมหาสนิทคือการนมัสการพระเยซูเจ้าผู้ที่เรารับ”100


การพิศเพ่งต้องนำไปสู่ความพิศวงในของขวัญที่พระเจ้าทรงมอบให้เราในพระคริสตเจ้า ทึ่งที่ได้รับความรักยิ่งใหญ่จนไม่อาจจะอธิบายหรือรู้คุณได้อย่างเพียงพอ น.เปาโลพูดด้วยความทึ่งว่า “การที่คนหนึ่งตายสำหรับคนชอบธรรมนั้นยากอยู่แล้ว แต่พระเจ้าทรงแสดงความรักต่อเราชนิดที่ว่าในขณะที่เรายังเป็นคนบาปพระคริสตเจ้าก็ยังทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา” (รม 5,7-8) ใครก็ตามที่เห็นว่าพระเจ้าทรงรักเขาถึงขนาดนั้น ย่อมจะยินยอมให้พระองค์รักตนอย่างไม่มีขอบเขตและสามารถมอบตนเองจนถึงที่สุดได้เหมือนกัน เราไม่สมควรจะได้รับความรักยิ่งใหญ่นี้หรือเข้าใจความรักนี้ได้ได้ เราได้แต่ชื่นชมอย่างเงียบๆด้วยความรู้คุณ


การนมัสการพระเจ้าจึง “ไม่เป็นเพียงการเห็นว่าเราสามารถทำอะไรบางอย่างให้คนรอบข้างได้เท่านั้น” แต่ “อยู่ในการค้นพบพระหัตถ์พระเจ้าในสิ่งสร้าง พบเหตุผลและความรักที่เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวารและที่จักรวาลชี้บอกให้เรารู้...ต่อหน้าสิ่งที่เกิดขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆในโลก เราต้องนมัสการพระเจ้า การกระทำเช่นนี้จะทำให้เราเป็นอิสระ ทำให้เรามีบรรทัดฐานสำหรับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ในโลกที่ไม่มีบรรทัดฐานชี้นำและเสี่ยงที่แต่ละคนจะยึดตนเองเป็นบรรทัดฐานนี้ เราต้องเน้นการนมัสการ” สำหรับคริสตชน การนมัสการพระเจ้าคือการนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้า “ผู้ประทับอยู่ในศีลมหาสนิทด้วยพระกายและพระโลหิต ด้วยร่างกายและวิญญาณ ด้วยความเป็นพระและความเป็นมนุษย์” ในศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นแค่ปังเพื่อให้กิน แต่เป็นความรักเพื่อการพิศเพ่ง ซึ่งหากไม่มีความรักที่มอบให้ ศีลมหาสนิทก็ไร้เหตุผลหรือจุดยืน “ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่เพียงรับบางสิ่งบางอย่างในศีลมหาสนิท แต่เป็นการพบปะและการเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้า พระองค์ผู้เสด็จมาเพื่อพบกับเราและทรงประสงค์รวมเราให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า เราจะเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ได้โดยทางการนมัสการ ดังนั้น การรับศีลมหาสนิทคือการนมัสการพระองค์ผู้ที่เรารับ และเช่นนี้เราก็เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ได้”101.ออกัสตินเขียนว่า “ไม่ควรมีผู้ใดรับพระกายโดยไม่นมัสการพระกายก่อน เราคงทำบาปหากเราไม่นมัสการพระกาย”102


เราต่าง “ได้รับเรียกจากการเจิมให้ต่อเนื่องการพิศเพ่ง...พระเยซูเจ้าในตู้ศีลทรงประสงค์ให้เราอยู่ใกล้ๆพระองค์เพื่อพระองค์จะได้ทำให้หัวใจของเราเต็มด้วยประสบการณ์แห่งมิตรภาพของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่ให้ความหมายและทำให้ชีวิตเราบรรลุความเต็มเปี่ยม”103 สมาชิกที่รัก พ่ออยากให้พวกเรามีความศรัทธาต่อศีลมหาสนิทมากขึ้น เป็นความศรัทธาแบบซื่อๆแต่ก็มีประสิทธิผลแบบซาเลเซียนซึ่งแสดงออกมาในการเฝ้าและการนมัสการพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิทอันเป็นธรรมเนียมทรงค่าของเรามาโดยตลอด พ่ออยากให้เราปล่อยให้ตัวเราได้รับการหล่อหลอมจากการประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ในเวลาเดียวกันก็เป็นการดำเนินชีวิตตามลักษณะจำเพาะแห่งพระพรพิเศษของเราด้วย


เราต่างรู้ดีว่า การรับศีลมหาสนิทบ่อยๆเป็นการปฏิบัติความศรัทธาอย่างหนึ่งที่คุณพ่อบอสโกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการอบรมเยาวชนและการอบรมฝ่ายจิตของซาเลเซียน104 คุณพ่อเขียนเกี่ยวกับดอมินิค ซาวีโอ ว่า “สำหรับดอมินิค การได้มีเวลาเพื่อนมัสการต่อหน้าศีลมหาสนิทถือเป็นความสุขแท้จริง”105 และในการเข้าเงียบของสมาชิกที่เมืองโตรฟาเรลโล (Trofarello) ในปี 1968 คุณพ่อบอสโกแนะนำสมาชิกให้เฝ้าศีลมหาสนิทโดยให้ถือว่าเป็นกิจศรัทธาประจำวันอย่างหนึ่ง “ถ้ามีเวลาจำกัด ก็อย่างน้อยให้เราคุกเข่าหน้าตู้ศีลและสวดบทข้าแต่พระบิดา วันทามารีอา และสิริพึงมี การกระทำเช่นนี้จะช่วยเราให้เข้มแข็งในกาต่อสู้การประจญ”106 “สำหรับเราที่เป็นบุตรของคุณพ่อบอสโก การที่มีศีลมหาสนิทอยู่ในบ้านเราต้องเป็นเหตุผลที่เราจะต้องพบปะกับพระเยซูเจ้าบ่อยๆ” “เราได้รับพลังและความบากบั่นในการทำงานเพื่อเยาวชน” จากการพบปะกับพระคริสตเจ้าผู้ประทับในศีลมหาสนิทที่เราหมั่นเข้าเฝ้าอย่างเสมอต้นเสมอปลายไม่ใช่หรือ? (88) ด้วยวิธีนี้เรา “สามารถเผชิญหน้ากับความเครียดประจำวันซึ่งทำให้เราต้องเสียสมาธิและพบกับพลังฝ่ายจิตที่เราต้องการเพื่อกระทำตามความรับผิดชอบด้านอภิบาลของเราในบูชาแห่งศีลมหาสนิทซึ่งเป็นศูนย์กลางชีวิตและภารกิจของเราไม่ใช่หรือ เช่นนี้ กิจการประจำวันจึงกลายเป็นศีลมหาสนิทอย่างแท้จริง”107


      1. จากการนมัสการสู่ภารกิจ

สมาชิกที่รัก เนื่องจาก “เฉพาะในการนมัสการเท่านั้นจึงจะสามารถมีการพัฒนาที่ลึกซึ้งและแท้จริงได้” ในพระคริสตเจ้าแห่งศีลมหาสนิท “การพบปะส่วนตัวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านภารกิจสังคมซึ่งมีอยู่ในศีลมหาสนิท”108 ผู้ที่นมัสการความรักของพระเจ้าในศีลมหาสนิทย่อมรู้สึกว่าตนถูกรัก มีประสบการณ์แห่งความรักที่ได้รับ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของพลังแห่งการมอบชีวิตตามเยี่ยงอย่างของพระคริสตเจ้าที่เรานมัสการและรับพระองค์ในศีลมหาสนิท “ความรักแบบอาคาเป (agape) ของพระเจ้ามาถึงเราในรูปแบบร่างกายเพื่อต่อเนื่องงานของพระองค์ในเราและผ่านทางเรา”109 ก่อนที่ความรักจะเป็นบัญญัติ ความรักได้ถูกมอบให้เราแล้ว เราจึงของความรักนี้ได้เสมอ


เราจะเฉลิมฉลองการมอบพระกายของพระคริสตเจ้าให้แก่คนจำนวนมากและร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์อย่างเหมาะสมได้อย่างไรหากเรายังคงเย็นชาต่อกันและกัน? เราจะรับพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทซึ่งเป็นขวัญยิ่งใหญ่ที่สุดได้อย่างไรหากไม่ตักตวงพลังจากพระองค์ในการมอบตนเพื่อผู้อื่น? เราจะนมัสการพระคริสตเจ้าผู้ประทับอยู่ในศีลมหาสนิทได้อย่างไรหากไม่ยอมถือเป็นพันธะที่จะมอบชีวิตเพื่อรับใช้ผู้ขัดสน? ความศรัทธาที่ไม่มีการอุทิศตนขัดกับจิตตารมณ์และลายลักษณ์อักษรของศีลมหาสนิทแห่งคริสตชน


การนมัสการนำไปสู่ความปรารถนาที่จะตอบแทนความรักด้วยความรักจนถึงที่สุด (ยน 13,1) และก่อให้เกิดผลแห่งการกลับใจ ดังนั้น จึงมี “ความเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดระหว่างรูปแบบชีวิตแห่งศีลมหาสนิทและการเปลี่ยนแปลงด้านศีลธรรม... ที่จริงแล้ว ด้วยการร่วมส่วนในเครื่องบูชาแห่งไม้กางเขน คริสตชนร่วมส่วนในความรักแห่งการมอบตนของพระคริสตเจ้าและพร้อมที่จะถือเป็นพันธะที่จะดำเนินชีวิตในความรักเดียวกันกับพระองค์ทั้งในความคิดและกิจการ”110 คริสตชนที่ยอมให้พระคริสตเจ้ามอบพระองค์เอง กลายเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะและเปลี่ยนพระองค์เองให้เป็นปังที่บิออกเพื่อชีวิตของโลก ทำให้สิ่งที่ยังขาดอยู่ในพระทรมานขององค์พระผู้เป็นเจ้าครบถ้วนขึ้น (เทียบ คส 1,24)


ดังนั้น การเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าที่ครบครันเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าพระองค์ทรงรักเราและเรารักผู้อื่นต่อ “ศีลมหาสนิทที่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติความรักอย่างเป็นรูปธรรมเป็นศีลมหาสนิทที่แตกแยก”111 “เราหลอกตัวเองไม่ได้ มีแต่ความรักต่อกันและกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักต่อผู้ขัดสนเท่านั้นที่ทำให้เราเป็นผู้ติดตามพระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง” ( เทียบ ยน 13,35; มธ 25,31-46) นี่คือบรรทัดฐานที่ใช้เพื่อตรวจสอบว่าการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทของเรานั้นแท้จริงหรือไม่”112 การร่วมมีส่วนในศีลมหาสนิทยังไม่แท้จริงหากไม่นำไปสู่การอุทิศตนเพื่อสร้างโลกนี้ให้มีความเป็นพี่น้องมากขึ้น เพราะในศีลมหาสนิท “พระเจ้าของเราทรงแสดงให้เห็นถึงความรักจนถึงที่สุด หลุดพ้นจากบรรทัดฐานแห่งอำนาจที่ใช้กันในความสัมพันธ์ต่อกัน ในเวลาเดียวกันก็เป็นการยืนยันบรรทัดฐานแห่งการรับใช้อย่างถึงรากถึงโคนด้วย”113


ความพิศวงในของขวัญที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่เราในพระคริสตเจ้า” “เรียกร้องให้เราเป็นประจักษ์พยานแห่งความรักของพระองค์” เราทำเช่นนั้นได้ “เมื่อการกระทำ คำพูดและรูปแบบการดำเนินชีวิตของเราทำให้พระคริสตเจ้ายังคงประทับอยู่ในโลก” หลังจากที่ได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระองค์แล้ว เราสามารถเป็นประจักษ์พยานของพระองค์ด้วยชีวิตของเรา เป็นประจักษ์พยานที่มาจากการดำเนินชีวิตแบบศีลมหาสนิท ทำตัวเราให้เป็นศีลมหาสนิท สามารถแม้กระทั่งมอบตัวเราให้แก่ผู้อื่น ถึงขั้นมรณสักขี ซึ่งในประวัติศาตร์ของพระศาสนจักรถือเป็นสุดยอดแห่งการนมัสการฝ่ายจิต”114 “ความรักที่เราเฉลิมฉลองในศีลศักดิ์สิทธิ์นี้เราไม่ควรจะเก็บไว้สำหรับเราเอง เพราะโดยธรรมชาติแห่งความรักแล้วต้องมีการแบ่งปันกับทุกคน...ศีลมหาสนิทจึงไม่แค่เป็นแหล่งที่มาและสุดยอดแห่งชีวิตพระศาสนจักรเท่านั้น แต่ของพันธะกิจของพระศาสนจักรด้วย เพราะพระศาสนจักรแห่งศีลมหาสนิทที่แท้จริงคือพระศาสนจักรแห่งธรรมทูต... เราจึงไม่อาจจะเข้าถึงศีลมหาสนิทได้หากเราไม่สำนึกถึงบทบาทแห่งการเป็นธรรมทูตที่เปิดสู่ผู้อื่น ซึ่งเริ่มต้นในดวงพระทัยพระเจ้าเอง การออกสู่ผู้อื่นในด้านธรรมทูตจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของรูปแบบศีลมหาสนิทแห่งชีวิตคริสตชน”115


สมาชิกที่รัก เราต้องถามตนเองอย่างจริงจังว่าความรักแพร่ธรรมมีจุดเริ่มต้นที่ไหนในตัวเราและเราจะทำให้มันกลายเป็นตัวเป็นตนในชีวิตของเรา “ที่มีลักษณะพิเศษในพลังร้อนรนแบบคนวัยหนุ่มแน่น ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนและเข้มข้นในผู้ตั้งคณะและในระยะเริ่มแรกของคณะของเรา” (10)ได้อย่างไร ถ้าภารกิจของเราไม่รับแรงบันดาลใจจาก “ดวงพระทัยของพระคริสตเจ้า ผู้เป็นสาวกของพระบิดา” (11) ที่เผยแสดงองค์และได้รับการนมัสการในศีลมหาสนิท ภารกิจของเราก็จะไม่มีประสิทธิผลและไม่มีอนาคต


สรุป

พ่ออยากสรุปด้วยการมอบท่านไว้กับพระนางมารีย์ผู้เป็นพระอาจารย์แห่งชีวิตจิตด้านศีลมหาสนิท แม้ตอนแรกดูเหมือนว่าในพระวรสารไม่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ “พระนางมารีย์ทรงนำเราไปสู่ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ เพราะพระนางทรงมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับศีลศักดิ์สิทธิ์นี้” พระสันตะปาปายอห์นปอล ที่ 2 ตรัสว่า “ในการเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ไม่มีการกล่าวถึงพระนางมารีย์” ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นก็ได้ เพราะยังมีความไม่ชัดเจนว่าพระนางได้ทรงร่วมรับประทานอาหารค่ำครั้งสุดท้ายด้วยหรือไม่ “แต่ถ้ามองในภาพรวมแล้ว เราจะเห็นว่าตั้งแต่พระนางมารีย์มีความพร้อมสรรพภายในที่จะต้อนรับพระวจนะที่รับเอากาย พระนางมารีย์ก็ทรงเป็นสตรีแห่งศีลมหาสนิทไปตลอดชีวิตแล้ว”116 ที่จริง “ในแง่หนึ่ง พระนางมารีย์ทรงดำเนินชีวิตแห่งความเชื่อศีลมหาสนิทตั้งแต่ก่อนที่จะมีการตั้งศีลมหาสนิทด้วยซ้ำไป” พระนางทรงให้การต้อนรับพระวจนะด้วยความเชื่อและถวายเลือดเนื้อให้พระองค์ในครรภ์ “เป็นการบอกล่วงหน้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคริสตชนไปรับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าทางปังและเหล้าองุ่น จึงมีความคล้ายคลึงที่ลึกซึ้งระหว่างคำว่า “Fiat” (ขอให้เป็นไป) ที่พระนางมารีย์ตรัสตอบเทวทูตและคำว่า “Amen” ซึ่งทุกคนที่ไปรับพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้ากล่าวยืนยัน”117 พ่อจึงวอนขอพระเจ้าโปรดให้เรามีความพร้อมที่จะต้อนรับพระองค์ดังเช่นพระนางมารีย์ ให้เลือดเนื้อแก่พระองค์ในกายของเราและมอบพระองค์ให้แก่เยาวชนในฐานะพระผู้ไถ่กู้


รักในดอนบอสโก

คุณพ่อปัสกัล ชาเวส

อัคราธิการ


1

2

3

4

5

6

7

8

9

68