351-400|th|396 Strenna 2007

จดหมายอัคราธิการ 396



1 ธันวาคม 2007

วันสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า


สมาชิกที่รัก

วันนี้เราเริ่มต้นปีใหม่ที่เปิดไปสู่ความหวัง เป็นวันที่เราสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้าและวันสันติภาพสากล ความใหม่ของปีใหม่เตือนเราให้คิดถึงวันเวลาแห่งพระหรรษทาน โอกาสสำหรับการเติบโตพัฒนาด้านมนุษย์และด้านชีวิตจิต โอกาสสำหรับพันธะอันยิ่งใหญ่ในการดำเนินชีวิตของเราให้เป็นของขวัญ ในการช่วยเยาวชนให้ค้นพบกับความงดงามและความหมายแห่งชีวิต ในการปกป้องชีวิตและทำให้ชีวิตพัฒนาสู่ความเต็มเปี่ยม พ่อชอบสวดบทสดุดีนี้ “ข้าแต่พระเจ้า โปรดให้ลูกสำนึกเสมอว่าชีวิตของลูกสั้นเพื่อลูกจะได้มาซึ่งปรีชาญาณแห่งดวงใจ” (สดด 90,12) สันติภาพไม่อยู่แค่การไม่มีสงครามหรือความขัดแย้ง หรือปฏิญญาว่าด้วยการไม่บุกรุกกัน ซึ่งแม้ว่าสำหรับภาคพื้นที่กำลังมีสงครามอยู่อาจจะถือว่าเป็นสันติภาพได้ในระดับหนึ่งแล้ว ทว่า สันติภาพที่แท้จริงคือการที่มนุษย์คืนดีกับตนเอง กับผู้อื่น กับธรรมชาติ กับพระเจ้า ซึ่งสามารถเป็นไปได้หากมีความจริง ความยุติธรรม การพัฒนา การให้อภัย ทั้งในระดับปัจเจก ระดับสังคม และระดับชาติ พ่อชอบบทสดุดีนี้ “ความเมตตาและความซื่อสัตย์มาบรรจบกัน ความยุติธรรมและสันติภาพสวมกอดกัน” (สดด 84,11)


เพื่อบรรลุแผนการแห่งความรอดที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ พระศาสนจักรเชื้อเชิญให้เราสมโภชพระนางมารีย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระชนนีพระเป็นเจ้า พระนางจะทรงอยู่เคียงข้างเราตลอดปี 2007 และจะทรงนำเราไปพบกับพระเยซูเจ้าทางพิธีกรรมและช่วยเราต้อนรับพระองค์เข้ามาในชีวิตของเรา เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด(ยน 2,5) ในความเป็นจริงแล้ว พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อให้เรามีชีวิตและมีชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม (เทียบ ยน 10,10) เพราะพระองค์คือการกลับคืนชีพและชีวิต (เทียบ ยน 11,25) พระองค์ทรงเผยให้เราเห็นความหมายของชีวิตมนุษย์และทรงมีกุญแจเปิดประตูออกจากความตายเข้าสู่ชีวิต พ่อขออวยพรให้ท่านแต่ละคนมีชีวิตเต็มเปี่ยมในพระคริสต์ พร้อมกันนี้ก็ขอเสนอแผนชีวิตจิตและแผนอภิบาลสำหรับปีนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “ชีวิต”


ก่อนจะอธิบายคำขวัญปีนี้ พ่ออยากจะแบ่งปันเหตุการณ์ในสามเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2006 เป็นช่วงเวลาที่เข้มข้นมากสำหรับพ่อ พ่อได้เยี่ยมรองแขวงของอังโกลา แขวงที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสของอัฟริกาตะวันตกและแขวงมาดากัสกา ทั้งสามแขวงสมโภช 25 ปีของการเริ่มกิจการซาเลเซียน นอกนั้น พ่อได้ไปเยี่ยมแขวงเปรูซึ่งไม่มีการตรวจเยี่ยมของอัคราธิการมาเป็นเวลา 15 ปี แขวงโบลีเวียและชิเล พ่อคงจะไม่พูดยึดยาวเกี่ยวกับประสบการณ์และความประทับใจ เพราะท่าสามารถอ่านรายงานได้ในจดหมายเวียนฉบับนี้ หรือไม่ก็สามารถอ่านได้ในสำนักข่าว ANS ซึ่งคอยรายงานเหตุการณ์ต่างๆในคณะได้อย่างรวดเร็วทันใจ พ่อมีโอกาสร่วมงาน Hambée และงานส่งธรรรมทูตชุดที่ 13 ที่จัดขึ้นในวิหารคุณพ่อบอสโกแห่งกอลเล พ่อเป็นประธานประชุมคณะที่ปรึกษา ร่วมพิธีเปิดปีการศึกษาของมหาวิทยาลัยซาเลเซียน (UPS) บรรยายในสัมมนาเรื่อง “การฝึกอาชีพและเด็กด้อยโอกาส” ที่เมืองอาเรเซในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการเริ่มกิจการที่พระคาร์ดินัลยอห์น บัปติสต์ มอนตีนี ในสมัยที่เป็นพระอัครสังฆราชแห่งมิลานได้มอบหมายให้เราทำเพื่อ “เยาวชนอีกรูปแบบหนึ่ง” พ่อเทศน์เข้าเงียบให้เจ้าคณะแขวง คณะที่ปรึกษาเจ้าและอธิการของประเทศโปแลนด์ ร่วมพิธีปิดการชุมนุมผู้ร่วมงานซาเลเซียนระดับโลก ร่วมจัดสัมมนาเรื่อง “พื้นที่ธรรมทูตแห่งทวีปยุโรป” ร่วมการประชุมสมาพันธ์ผู้ใหญ่คณะนักบวชชาย ร่วมฉลอง 150 ปีแห่งมรณกรรมของคุณแม่มาร์เกริตา


พ่อคงสรุปประสบการณ์เหล่านนี้ได้ยาก คงได้แต่สรรเสริญพระเจ้าสำหรับสิ่งงดงามที่พระองค์ทรงโปรดให้พ่อได้สัมผัสด้วยตนเอง ใช่แล้ว พระเจ้าทรงใจกว้างและทรงดีกับเราอย่างคิดไม่ถึง การตอบรับอย่างแรกและดีที่สุดคือการสรรเสริญและโมทนาคุณพระองค์ เพื่อสมจะได้รับบุญกุศลและพระหรรษทานมากขึ้น


พ่ออยากจะพูดถึงเหตุการณ์สี่อย่างที่พ่อกล่าวมาข้างต้น เพราะเห็นว่ามีความหมายมากสำหรับคณะของเรา


การชุมนุมผู้ร่วมงานซาเลเซียนระดับโลก

การชุมนุมผู้ร่วมงานซาเลเซียนระดับโลกจัดขึ้นที่ซาเลซีอานุม (ศูนย์กลางใหญ่ของคณะ) ระหว่างวันที่ 9-12 พฤศจิกายน นับเป็นประสบการณ์ซาเลเซียนที่งดงามในบรรยากาศครอบครัวที่ทุกคนสัมผัสได้ การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นการสรุปข้อเสนอให้แยกระเบียบการสำหรับชีวิตแพร่ธรรมออกเป็นสองส่วน กล่าวคือ ส่วนแรกเกี่ยวกับกระแสเรียกและอัตลักษณ์ (กฎข้อบังคับ) ส่วนที่สองเกี่ยวกับการปฏิบัติ การจัดการ และความยืดหยุ่น (ระเบียบการ)


ภายใต้การนำของคณะที่ปรึกษาระดับโลก ผู้เข้าชุมนุมได้ร่วมกันศึกษาและปรึกษาหารือลงในระดับรากหญ้าเพื่อรื้อฟื้น ระเบียบการสำหรับชีวิตแพร่ธรรม กระทั่งมีการยกร่างเอกสารที่แบ่งออกเป็นสองภาคภายใต้ชื่อเดียวกัน นั่นคือ แผนแห่งชีวิตแพร่ธรรม

กระบวนการดังกล่าวได้เริ่มมาก่อนแล้วในระดับท้องถิ่นและระดับที่ปรึกษาแขวงเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอ หลังจากนั้นคณะที่ปรึกษาระดับโลกได้ยกร่างเป็นทางการในปี 2003 โดยยึดหลักด้านเทววิทยาและด้านพระพรพิเศษของฉบับดั้งเดิมไว้ (1986) ในเวลาเดียวกันก็มีการสอดแทรกองค์ประกอบที่เอื้อให้เกิดโครงสร้างเอกเทศและความไวต่อต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวกับฆราวาสตามการเรียกร้องของพันธกิจซาเลเซียนในโลกปัจจุบัน สิ่งที่ถือเป็นคุณค่ายิ่งใหญ่ในกระบวนการนี้คือการที่ฆราวาสสนับสนุนพันธกิจซาเลเซียนด้วยจิตสำนึกในกระแสเรียกแห่งการแพร่ธรรมซาเลเซียนจำเพาะของพวกเขามากขึ้น ได้มีการขอให้เปลี่ยนชื่อในแผนแห่งชีวิตแพร่ธรรมจาก “ผู้ร่วมงานซาเลเซียน” เป็น “ซาเลเซียนผู้ร่วมงาน” เป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า ผู้ร่วมงานมีความสำนึกชัดเจนว่าพวกเขาเป็น “ซาเลเซียนแผนกนอก” ที่ดำเนินชีวิตในโลกตามที่คุณพ่อบอสโกได้มุ่งหมายไว้


ยกร่างที่ผู้ร่วมงานซาเลเซียนทั่วโลกช่วยกันทำได้ถูกนำเสนอคุณพ่ออัคราธิการและคณะที่ปรึกษาระดับโลกให้พิจารณาร่วมกับอัคราธิณีคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ หลังจากนั้นได้ถูกนำเสนอเพื่อการลงคะแนนเสียงเพื่อ “ทดลองใช้” เป็นเวลาหกปี ซึ่งที่ประชุมได้ลงคะแนนเสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์


พ่ออยากจะเปลี่ยน “กลุ่มผู้ร่วมงาน” ให้เป็นกระบวนการแพร่ธรรมซาเลเซียนเคียงบ่าเคียงไหล่กับแผนกต่างๆในครอบครัวซาเลเซียน มีความเด่นชัด น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพในพันธกิจเพื่อเยาวชนสมัยนี้ ตามแนวทางของคุณพ่อบอสโก


การชุมนุมสิ้นสุดลงด้วยการรื้อฟื้นคำสัญญาในพระวิหารน.เปโตร หน้าหลุมฝังศพของท่านนักบุญ จากนั้นก็ไปร่วมฟังสารของพระสันตะปาปาที่ลานพระวิหารเพื่อตอกย้ำสิ่งที่เป็นคำขวัญของการชุมนุมครั้งนี้ นั่นคือ “เรารื้อฟื้นระเบียบการและระเบียบการรื้อฟื้นเรา” เป็นการบ่งบอกว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่การบรรลุถึงป้าหมาย หากแต่เป็นการออกเดินไปสู่เป้าหมายด้วยจิตใจที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่



การสัมมนา “พื้นที่ธรรมทูตของทวีปยุโรป”

เป็นการสัมมนาที่จัดโดยแผนกอภิบาลเยาวชนและแผนกธรรมทูตซาเลเซียนระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายนโดยมีที่ปรึกษาภาคพื้นยุโรปสามท่าน ผู้รับผิดชอบการอภิบาลเยาวชนระดับแขวงและตัวแทนแขวงจากสามภาคพื้นยุโรปเข้าร่วม แนวการสัมมนาเหมือนกับที่จัดทำสำหรับเจ้าคณะแขวงยุโรปในตอนต้นเดือนธันวาคม 2004และการประชุมที่ทางแผนกการอภิบาลเยาวชนได้จัดสำหรับทวีปยุโรป พ่อติดตามการสัมมนาตั้งแต่แรกจนจบ พร้อมกับเชื้อเชิญสมาชิกให้กล้าที่จะทำแผน “คืนวิญญาณให้แก่ทวีปยุโรป” ด้วยการอบรมเยาวชนไปสู่ความเชื่อและอบรมความเชื่อของเยาวชนด้วยความยินดี ใจกว้างและเชิงอาชีพ พ่อขอเสนอนักบุญเปาโลเป็นแบบอย่างของการประกาศข่าวดีแก่ทวีปยุโรป แม้ว่าท่านนักบุญจะอยู่ในห้องขังแคบๆที่กรุงโรม แต่ท่านก็ยังสามารถเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าและประกาศพระวรสารของพระองค์โดยไม่หวาดหวั่นต่อสิ่งใดทั้งสิ้น (เทียบ กจ 28,16-31)


ผู้ร่วมสัมมนาทุกคนแสดงออกถึงความรับผิดชอบในการวิเคราะห์สถานการณ์หลากหลายในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ภาคตะวันออกจรดภาคตะวันตกและภาคเหนือจรดภาคใต้ของทวีปยุโรป พร้อมทั้งแบ่งปันการริเริ่มที่ได้ทำกันในแขวงต่างๆ การแบ่งปันและการทำให้สิ่งที่แบ่งปันกลายเป็นมรดกร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญมาก เรารู้ดีว่าเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ได้เราเริ่มจากประสบการณ์ทรงค่าที่ได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา เราเห็นคุณค่าของโอกาสที่ประวัติศาสตร์เสนอให้ ในเวลาเดียวกัน เราก็ศึกษาวิธีการที่จะตอบรับการท้าทายของทวีปยุโรปในปัจจุบันโดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงองค์ประกอบที่เอื้อให้เราสามารถประกาศข่าวดีได้อย่างมีประสิทธิผล เราต่างก็สำนึกว่า หน้าที่อันดับแรกของเราคือการประกาศพระวรสารและเสนอพระคริสตเจ้าให้แก่ทุกคน เพื่อทำเช่นนี้ จำต้องมีรูปแบบใหม่ของผู้ประกาศที่มีความรักหลงใหลต่อ “Da mihi animas...” (ขอแต่วิญญาณ) อย่างที่คุณพ่อบอสโกมี ในเอกสารสรุป ซึ่งมีจดหมายที่พ่อเขียนถึงเจ้าคณะแขวงและสมาชิกทุกคนของภาคพื้นยุโรปแนบอยู่ด้วย มีการบันทึกสิ่งที่ได้ทำในช่วงการสัมมนาและพันธะที่ได้ตกลงร่วมกัน พ่อพอใจในทุกสิ่งและพ่ออยากให้ภาคพื้นอื่นๆทำประสบการณ์เดียวกันนี้ เพราะความเร่งด่วนของการประกาศข่าวดีไม่อยู่เฉพาะที่ทวีปยุโรปเท่านั้น



การประชุมสมาพันธ์ผู้ใหญ่คณะนักบวชชาย

ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน มีการประชุมสมาพันธ์ผู้ใหญ่คณะนักบวชชายที่ซาเลซีอานุมภายใต้หัวเรื่อง “ร่วมกันเพื่อพระอาณาจักร” ในวันแรก นอกจากคณะผู้ใหญ่นักบวชชายแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ใหญ่คณะนักบวชหญิงเข้าร่วมด้วย เนื้อหาที่พูดคุยกันวันนี้เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการชุมนุม “ชีวิตผู้รับเจิมนานาชาติ” ที่จัดขึ้นที่กรุงโรมในเดือนพฤศจิกายน 2004 เนื้อหาสาระหลักคืการเชื้อเชิญให้ปฏิบัติจิตตารมณ์แห่งความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันด้วยการศึกษาวิธิการเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์ผู้ใหญ่นักบวชชายและสมาพันธ์ผู้ใหญ่นักบวชหญิง ระหว่างคณะที่มีพระพรพิเศษหรือภารกิจคล้ายคลึงกัน ซึ่งแต่ละอย่างจะนำไปสู่ความร่วมมือที่จริงจังและมีความหมายมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องของการทำยุทธศาสตร์เพื่อความอยู่รอดในยุคที่กระแสเรียกขาดแคลนดังที่เห็นได้ทางซีกโลกตะวันตก แต่เพื่อสร้างความสำนึกในพระศาสนจักรให้มากขึ้นและยอมให้พระจิตเจ้านำเราไปสู่ความหมายแท้จริงของชีวิตนักบวชในโลกปัจจุบันเพื่อร่วมส่วนในพันธกิจของพระคริสตเจ้ามากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องวิธีการ แต่เป็นเรื่องของเทววิทยาในแง่ที่ว่า พระจิตเจ้าทรงโปรดให้มีความหลากหลายและความมั่งคั่งแห่งพระพรพิเศษเพื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการเสริมสร้างพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า เราซาเลเซียนได้ก้าวเดินมานานพอควรแล้วในความร่วมมือกับฆราวาส โดยเปิดโอกาสให้ฆราวาสร่วมรับผิดชอบในภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะในด้านโรงเรียน เรามีความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นในการทำภารกิจร่วมกันในครอบครัวซาเลเซียน ในแขวงหลายแห่งได้มีการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆในครอบครัวซาเลเซียนและกับสถาบันนักบวชต่างๆในด้านภารกิจ ด้านการศึกษา และด้านศูนย์พักพิง สิ่งที่กำลังมีการพัฒนาในชีวิตแห่งการรับเจิมปัจจุบันนี้คือ “การร่วมมือกับผู้ที่มีสถานภาพเท่าเทียมกัน” กับสถาบันนักบวช กับสังฆมณฑลและกับองค์กรฆราวาส นอกนั้น มีการตกลงกันในระดับสถาบัน เพื่อร่วมกันในการวางแผน การตัดสินใจ และการประเมินผล การร่วมมือดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลายแห่งแล้ว อาทิ ในทวีปอัฟริกามีการร่วมมือแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ การค้ามนุษย์ ในเวลาเดียวกัน ก็มีการเข้าไปมีบทบาทในองค์การสหประชาชาติด้วย เพื่อจะทำเช่นนี้ ความกระตือรือร้นยังไม่พอ หากแต่ต้องเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องและมีผล กิจกรรมเหล่านี้ต้องมีข้อตกลงเป็นทางการโดยมีแผน เป้าหมาย กระบวนการ การตัดสินใจ ข้อตกลงด้านเศรษฐกิจ บุคลากร และยุทธศาสตร์เพื่อหาข้อสรุปสำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เราต่างก็รู้ดีว่าขนาดในระดับคณะ ระดับภาคพื้นและระดับแขวง เรายังต้องหาทางแก้ไขท่าทีต่อต้านและความยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อจะได้มาซึ่งความร่วมมือ สาอะไรกับระดับคณะต่างๆ พ่อจึงคิดว่า สิ่งที่สำคัญกว่าหมดคือการพัฒนาวัฒนธรรมแห่งความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันและความสำนึกว่าภารกิจที่เราจะทำร่วมกันเป็นภารกิจของพระคริสตเจ้าเอง ในวันสุดท้ายของการประชุม พ่อได้รับเลือกให้เป็นประธานสหพันธ์ผู้ใหญ่คณะนักบวชชาย พ่อถือว่า การเลือกครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในคณะซาเลเซียนมากกว่าในตัวพ่อเอง พ่อจะพยายามทำให้ดีที่สุดร่วมกับรองประธานและคณะกรรมการบริหาร เป้าหมายแรกคือการติดตามและการนำนักบวชไปในเส้นทางแห่งการติดตามพระคริสตเจ้าในปัจจุบัน เพื่อให้สมกับความคาดหมายของพระเจ้าและความต้องการของสมาชิกของพระศาสนจักร โดยเชื่อมั่นว่า ชีวิตรับเจิมสามารถรักษาเยียวยาสังคมของเราได้อย่างแท้จิรงหากเป็นชีวิตที่เห็นได้เด่นชัดและประจักษ์พยานน่าเชื่อถือถือแห่งการประทับอยู่และความรักของพระเจ้า (mystica) หากเป็นชีวิตที่ยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่กำลังคุกคามศักดิ์ศรีมนุษย์ หากเป็นชีวิตที่สอดคล้องกับแผนการของพระเจ้า (prophecy) และหากเป็นชีวิตที่อยู่เคียงข้างคน โดยเฉพาะคนยากจนและขัดสนกว่าหมด คนที่ตกขอบสังคม (diaconia) จึงเห็นได้ว่า ในปัจจุบันนี้ เราต้องฟังการดลใจของพระจิตเจ้าและยอมให้พระองค์นำทางเรา




การฉลองเป็นเกียรติคุณแม่มาร์เกริตา

การฉลองครบรอบ 150 ปีแห่งมรภาพของคุณแม่มาร์เกริตาเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดวามกระตือรือร้นและการริเริ่มที่งดงามหลายอย่าง ในจดหมายถึงเจ้าคณะแขวง พ่อได้ขอให้เจ้าคณะแขวงแจ้งให้พ่อทราบว่าพวกเขาตั้งใจจะฉลองเหตุการณ์นี้ในแขวงอย่างไร พ่อขอบคุณเจ้าคณะแขวงที่ส่งโปรแกรมที่พวกเขาจะจัดเทิดเกียรติคุณแม่มาร์เกริตา พ่อมีรายการกิจกรรมและการเฉลิมฉลองต่างๆที่จะจัดขึ้นตลอดปี 2006 เรามาถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน เต็มตื้นด้วยความยินดีสำหรับพระพรที่องค์พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เราผ่านทางสมณกระทรวงว่าด้วยการแต่งตั้งนักบุญ โดยกฤษฎีกาลงวันที่ 23 ตุลาคมซึ่งรับรองวีรกรรมแห่งชีวิตและฤทธิ์กุศลของคุณแม่มาร์เกริตา รวมทั้งชื่อเสียงด้านความศักดิ์สิทธิ์ และได้ประกาศคุณแม่ให้เป็นผู้น่าเคารพ พ่อขอขอบพระคุณพระสันตะปาปาเป็นพิเศษสำหรับการที่ทรงโปรดตามคำร้องขอให้มีการประกาศดังกล่าวก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายนโดยดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการ พ่อไม่คิดจะปิดบังว่า พ่อรู้สึกเต็มตื้นด้วยความยินดีเมื่อฟังการประกาศและรับกฤษฎีกาอย่างเป็นทางการ ตอนนี้เราคงต้องภาวนาต่อไปเพื่อขอพระเจ้าโปรดให้กระบวนการแต่งตั้งคุณแม่มาร์เกริตาเป็นบุญราศีและนักบุญดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ในเวลาเดียวกันให้เราส่งเสริมกระแสเรียกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ในครอบครัวซาเลเซียนต่อไป ไม่ว่าเรามีแผนการชีวิตของเราอย่างไร เราต้องมองว่าชีวิตประจำวันคือหนทางไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่อยู่ในการทำอะไรพิเศษ แต่อยู่ในการทำสิ่งธรรมดาอย่างพิเศษ พร้อมกันนี้พ่อขอให้ท่านจัดตั้ง “สมาคมแม่มาร์เกริตา” ในแต่ละทุก เพื่อให้บิดามารดาของผู้รับเจิมได้ถือเป็นพันธะในการติดตามกระแสเรียกของบุตรและสนับสนุนบุตรให้สัตย์ซื่อมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงเวลายุ่งยาก และเนื่องด้วยสมาคมแม่มาร์เกริตามีอยู่ในหลายแห่งแล้ว น่าจะถึงเวลาจัดให้เข้าสังกัดครอบครัวซาเลเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว



คำขวัญ 2007


ก่อนจะเข้าสู่การอธิบายคำขวัญ เราควรคำนึงว่า คำขวัญมีความสำคัญสำหรับโลกซาเลเซียนในแง่ที่คำขวัญแต่ละปีเป็นดังโปรแกรมสำหรับชีวิตจิตและงานอภิบาลของเรา จึงไม่ควรจะทำเป็นโปรมแกรมสั้นๆ และไม่สอดคล้องกับแผนอบรมอภิบาล (SEPP) ของบ้านและของแขวง แต่น่าจะทำให้คำขวัญเป็นโปรแกรมสำหรับครอบครัวซาเลเซียนทั้งหมด ไม่ใช่สำหรับซาเลเซียนเท่านั้น ดังนั้น จึงควรจะนำคำขวัญโยงเข้ากับการทำแผนอบรมอภิบาล (SEPP) เพื่อประยุกต์ใช้ในแผนอภิบาลทั้งหมด


  1. คำนำ

คำขวัญของปีที่แล้วได้รับการต้อนรับจากครอบครัวซาเลเซียนด้วยความกระตือรือร้นและก่อให้เกิดริเริ่มหลากหลาย พ่ออยากให้คำขวัญปีนี้ทำให้การริเริ่มเหล่านี้ดำเนินต่อไปและเปิดฟากฟ้าใหม่ในเวลาเดียวกัน


ในปี 2006 เราทุ่มเทความสนใจให้แก่ครอบครัว ซึ่งก็พอดีตรงกับการประชุมครอบครัวนานาชาติครั้งที่ 5 ที่พระศาสนจักรจัดขึ้น ในการประชุมนี้มีการยืนยันถึงคุณค่าแห่งความรักและชีวิตมนุษย์ซึ่งมีครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ พระดำรัสของพระสันตะปาปาแก่ผู้ที่เข้าเฝ้าจำนวนมาก ซึ่งมีสมาชิกของครอบครัวซาเลเซียนรวมอยู่ด้วย เป็นแหล่งที่มาแห่งความหวังและท้าทายเราให้ปกป้องชีวิตและฟื้นฟูครอบครัวให้เป็นเปลแห่งชีวิตและความรัก


ในเวลาเดียวกัน มีโศกนาฏกรรมที่ชีวิตมนุษย์ถูกย่ำยีอย่างโหดเหี้ยม สงครามในประเทศอิรักและในตะวันออกกลาง การก่อการร้าย ความรุนแรง การอพยพ ทารุณกรรมและการใช้เด็กและผู้หญิงเพื่อผลประโยชน์ กฎหมายที่อนุญาตให้ทำการทดลองเซลล์ของตัวอ่อน ฯลฯ


เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ทุกวันนี้ ชีวิตซึ่งเป็นของขวัญล้ำค่าได้รับการคุกคาม ดังที่พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ตรัสกับเยาวชนในวันเยาวชนโลกครั้งที่ 7 ว่า “เวลาล่วงเลยไป แต่การคุกคามต่อชีวิตยังไม่ลดลง ตรงข้าม มีแต่จะรุนแรงขึ้น การคุกคามนี้ไม่ได้มาจากภายนอก จากพลังธรรมชาติ หรือจาก “กาอิน” ที่ฆ่า “อาเบล” หากแต่เป็นการคุกคามที่มาจากโครงการวิทยศาสตร์อย่างเป็นระบบ ศตวรรษที่ยี่สิบเป็นยุคที่มีการโจมตีชีวิตขนานใหญ่ สงครามที่ไม่สิ้นสุด และการทำลายชีวิตมนุษย์ไร้เดียงสา ประกาศกและอาจารย์จอมปลอมต่างก็ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ”1

ในสถานการณ์เช่นนี้เราจะเมินเฉยไม่ได้ โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นสมาชิกครอบครัวซาเลเซียนซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากจิตตารมณ์ด้านความเป็นมนุษย์ของนักบุญฟรังซิส เดอ ซาลส์ ที่คุณพ่อบอสโกได้ใช้ดำเนินชีวิตและส่งต่อมาให้เราเป็นมรดกแห่งการอบรมที่ทรงค่า เป็นจิตตารมณ์ที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของแง่ดีในแต่ละคน ในสิ่งของวัตถุและในประวัติศาสตร์ พร้อมกันนั้นก็ปกป้องและบำรุงเลี้ยงแง่ดีเหล่านี้ให้คงอยู่ถาวร ทำให้เราเชื่อในพลังแห่งความดีและทุ่มเทชีวิตเพื่อส่งเสริมความดี แทนที่จะมานั่งบ่นว่าความไม่ดี ทำให้เรารักชีวิตและคุณค่าต่างๆที่มีอยู่ในชีวิตของเรา2


เราต้องรู้สึกถึงการท้าทายจากพระเจ้าผู้ทรงรักชีวิต ถ้าชีวิตมนุษย์มาจากจิตของพระเจ้า ถ้าชีวิตเป็นลมหายใจของพระเจ้า ถ้าเราถูกสร้างขึ้นมาตามพระฉายาพระเจ้า ชีวิตของเราก็ได้รับการสัมผัสจากความรักของพระเจ้า พระเจ้าทรงรักสิ่งที่มีชีวิต พระองค์ไม่สามารถจะเกลียดชังสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างด้วยด้วยความรักได้


หลายคนดำเนินชีวิตด้วยความตระหนักใจที่ผิดๆว่าพระเจ้าทรงคุกคามชีวิตมนุษย์ จึงต้องขจัดการประทับอยู่ของพระองค์เพื่อจะสามารถดำเนินชีวิตและสนุกสนานกับชีวิตได้อย่างเต็มเปี่ยม แต่เราอยากจะประกาศความเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงเป็นมิตรที่ดีที่สุดของมนุษยชาติและทรงเป็นผู้ปกป้องชีวิตมนุษย์ นี่คือสิ่งที่พระองค์แสดงให้เห็นในประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลดังที่ผู้ประพันธ์หนังสือปรีชาญาณเขียนไว้


ใช่ พระองค์ทรงรักทุกสิ่งที่มีตัวตนและพระองค์ไม่ทรงรังเกียจสิ่งใดที่ทรงสร้าง เพราะหากว่าพระองค์ทรงเกลียดสิ่งใด พระองค์ก็คงไม่ได้สร้างมันขึ้นมา จะมีสิ่งใดมีตัวตนอยู่ได้หากพระองค์ไม่ทรงประสงค์เล่า? และจะมีสิ่งใดดำรงอยู่ได้หากไม่พระองค์ไม่ทรงเรียกให้มันมีตัวตนขึ้นมา? ไม่มี พระองค์ทรงปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นอย่างที่เป็น เพราะทุกสิ่งเป็นของพระองค์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงรักชีวิต จิตของพระองค์ประทับอยู่ในทุกสิ่ง พระองค์จึงทรงแก้ไขคนที่ทำผิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป พระองค์ทรงตักเตือนและเตือนใจพวกเขาให้รู้ว่าพวกเขาได้ทำบาป เพื่อพวกเขาจะได้ละเว้นความชั่วและวางใจในพระองค์ ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ปชญ 11,24-12,2)


พระเจ้าประทานชีวิตผ่านทางความรัก ค้ำจุนชีวิตด้วยความรักและกำหนดให้ชีวิตมุ่งสู่ความรัก ความรักของพระเจ้าจึงกระตุ้นเตือนให้เรารักชีวิต อุปถัมภ์ค้ำจุนชีวิตด้วยความรับผิดชอบ ปกป้องชีวิตด้วยความหวัง ประกาศคุณค่าของชีวิตและความหมายของชีวิตให้แก่เยาวชนเป็นพิเศษ เพราะพวกเขาอ่อนแอและไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร ล่องลอยไปมาระหว่างความว่างเปล่าและความหวาดหวั่น


ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงขอเสนอสมาชิกครอบครัวซาเลเซียนยอมให้พระเจ้าผู้ทรงรักชีวิตและความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อชีวิตได้ชี้นำในการอุทิศตนปกป้องและส่งเสริมชีวิตด้วยความเด็ดเดี่ยว


ในขณะที่ชีวิตกำลังถูกคุกคาม ในฐานะที่เป็นครอบครัวซาเลเซียน เราจะทุ่มเทเพื่อ

- น้อมรับชีวิตดังของขวัญล้ำค่าด้วยความกตัญญูและด้วยความยินดี

- อุปถัมภ์ค้ำจุนชีวิตด้วยความรักและรับใช้ชีวิด้วยความรับผิดชอบ

- ปกป้องแต่ละชีวิตด้วยความหวัง สำนึกในศักดิ์ศรีและคุณภาพของแต่ละชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตที่อ่อนแอ ยากจน และไร้การปกป้องมากกว่าหมด


คำขวัญเป็น “การยืนยันที่ชัดเจนและเด็ดเดี่ยวในคุณค่าของชีวิตมนุษย์และสิทธิที่ไม่อาจจะล่วงล้ำได้ ในเวลาเดียวกันก็เป็นการขอร้องให้แต่ละคนและทุกคนในพระนามพระเจ้าให้เคารพ ปกป้อง รักและรับใช้ชีวิต ชีวิตมนุษย์แต่ละคน ถ้าทำเช่นนี้ท่านจะได้รับความยุติธรรม การพัฒนา อิสรภาพแท้จริง สันติภาพและความสุข”3



  1. วัฒนธรรมแห่งชีวิตที่เคลือบแคลง

พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ตรัสกับพระสงฆ์สังฆมณฑลโรมว่า “สำหรับข้าพเจ้าแล้ว นี่คือแก่นของงานอภิบาลของเรา นั่นคือ การช่วยคนให้เลือกชีวิต ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับพระเจ้า ความสัมพันธ์ที่ให้ชีวิตแก่เราและชี้เส้นทางไปสู่ชีวิต”4


ดังนั้น ความพยายามอย่างแรกของเราคือการพิจารณาไตร่ตรองความขัดแย้งของวัฒนธรรมในสมัยของเรา เพื่อให้เห็นปัญหาในการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน เพื่อจะได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เป็นแง่บวกของชีวิตสมัยใหม่และประณาม “วัฒนธรรมแห่งความตาย” ที่กำลังคุกคามชีวิตมนุษย์และโลก


  • คุณค่าแห่งชีวิตมนุษย์ที่ได้รับการประกาศยืนยันและปกป้อง แต่เวลาเดียวกันก็ถูกจู่โจมและคุกคาม

คนในยุคปัจจุบันมีความสำนึกในศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์แต่ละคนมากขึ้น ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร การทรมาน การทำทารุณ หรือการลงโทษใดๆที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของบุคคล กฎหมายและข้อตกลงด้านสังคมสะท้อนให้เห็นถึงการเรียกร้องความเคารพต่อบุคคลและการปกป้องชีวิตมนุษย์


กระนั้นก็ดี ไม่ควรจะมองข้ามการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ไม่สอดคล้องกับที่ประกาศไว้ในสังคมและตราเป็นกฎหมาย อาทิ การทำลายชีวิตมนุษย์ด้วยการทำแท้ง การทำให้ชีวิตของผู้ป่วยสิ้นสุดลงโดยอ้าง “ความเมตตา” หรือที่เรียกกันว่า “ความตายอย่างมีศักดิ์ศรี” หรือ การุญฆาต


การที่เด็กชายและเด็กหญิงถูกกระทำอย่างโหดร้ายหรือทารุณกรรมทางเพศเป็นโศกนาฏกรรมที่ส่งเสียงร้องไปถึงสวรรค์ เช่นเดียวกันกับการที่ผู้หญิงถูกบังคับให้เป็นโสเภณี ใช้เพื่อผลประโยชน หรือเป็นทาสของธุรกิจทางเพศ


ที่น่าสลดใจไม่น้อยคือการที่หลายคน โดยเฉพาะเยาวชน ต้องตกอยู่ในวังวนของสิ่งเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดำเนินชีวิตอย่างไร้จุดหมาย ขาดวินัยและไร้ความรับผิดชอบ


แม้ว่าในสังคมและโลกมีการพัฒนาทุกด้าน ซึ่งน่าจะเอื้อให้ชีวิตมีศักดิ์ศรีมากขึ้น กระนั้นก็ดี ยังมีคนที่ต้องตกขอบสังคม ต้องอยู่แบบมีชีวิตรอดไปวันหนึ่งๆ มีคนในประเทศและในทวีปที่ถูกใช้เพื่อแสวงผลประโยชน์แล้วก็ถูกทอดทิ้ง ต้องตกเป็นพลเมืองชั้นสองไป



  • คุณภาพชีวิต เป้าหมายที่เคลือบแคลง

นานมาแล้วที่คนสนใจแค่สิ่งจำเป็นและขาดไม่ได้เพื่อความอยู่รอด เป็นความใฝ่ฝันเดียวที่พวกเขามีเพราะยังไม่มีแหล่งทรัพยากรอย่างอื่น กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ คุณภาพชีวิตกลายเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับสังคมและปัจเจกชน


ความสลวนเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตก่อให้เกิดผลที่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถ้าไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากมนุษยธรรมที่นำไปสู่สภาพที่เอื้อให้คนมีชีวิตดีขึ้น ความสลวนก็จะกลายเป็นเป้าหมายของตัวมันเอง มองแค่ประโยชน์หรือความสนุกเป็นมาตรฐานและคุณค่า แล้วก็ขจัดทุกคนที่ไม่ตรงมาตรฐานที่ตั้งไว้ มีความแตกต่างระหว่างคนป่วยที่ต้องดูแลรักษาสุดความสามารถกับผู้ป่วยที่คุณภาพชีวิตมีขีดจำกัด (ความพิการ คนชราที่ไม่มีครอบครัว ผู้ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ) เลยถูกทอดทิ้งและไม่ได้รับการเยียวยาอย่างที่ควร หลายชีวิตถูกมองว่าไม่มีความสำคัญหรือมีประโยชน์น้อย ชีวิตที่อายุยืนนานเกินไปและถูกถือว่าคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตอื่น จึงถูกขจัดทิ้ง


เพื่อจะให้คนไม่กี่คนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในแง่ของความสนุกและแง่ของวัตถุสิ่งของ มีการทำลายสภาพแวดล้อมของโลก (ก่อให้เกิดมลภาวะรูปแบบต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ วิกฤติการของแหล่งน้ำ การจำกัดความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ) และหันไปให้ความสนใจแก่การพัฒนาไม่ยั่งยืนที่เสี่ยงต่ออนาคตของมนุษยชาติ



  • การรุกรานที่บ่อนทำลายมากขึ้น

พร้อมๆกับความเคารพต่อชีวิตมนุษย์ ความสนใจต่อสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดและความเคารพต่อสภาพแวดล้อม ยังมีความรุนแรงที่โหดร้ายและบ่อนทำลายเพิ่มขึ้น แค่คิดถึงสงครามและการค้าอาวุธที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เป็นพันๆตกเป็นเหยื่อ นอกนั้นก็มีการต่อสู้เหี้ยมโหดระหว่างประชาชนและเผ่าพันธุ์ที่ต่างกัน เป็นผลให้ประชาชนต้องพากันอพยพจากถิ่นฐานบ้านเกิดไปหาที่พักพิงนอกประเทศ ความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชังคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาซึ่งถูกมองว่าเป็นอันตรายและคุกคามจึงถูกเอารัดเอาและไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานใดๆทั้งสิ้น


นอกนั้นยังมีความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆที่มาจากท่าทีต่อต้านชีวิตเพราะรู้สึกผิดหวังในสิ่งใฝ่ฝันว่าจะได้จากชีวิต กลายเป็นท่าทีอริ ไม่ยอมรับ เกลียดชังชีวิตและผู้อื่น ทำลายสิ่งของ ก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง... ความรุนแรงแบบนี้พบได้ในกลุ่มเยาวชนหรือในกลุ่มคนที่เที่ยวก่อความรุนแรงตามท้องถนน ฯลฯ


  • วัฒนธรรมต่อต้านชีวิต

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการแพร่หลายของวิธีคิด วิธีตัดสินและพฤติกรรมซึ่งดูภายนอกเป็นปกติ หรือบางครั้งดูเหมือนจะเป็นการปกป้องอิสรภาพ แต่แทนที่จะปกป้องและส่งเสริมชีวิต กลายเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของชีวิต ทำให้ชีวิตไร้ความหมายและนำไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด นี่คือสิ่งที่พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเรียกว่า “วัฒนธรรมแห่งความตาย” พระองค์ทรงเขียนว่า “เรากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ใหญ่ไปกว่านั้นซึ่งเราสามารถเรียกว่าโครงสร้างของบาป สถานการณ์ซึ่งเป็นที่มาของวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันและในหลายกรณีกลายเป็น “วัฒนธรรมแห่งความตาย”... “แผนต่อต้านชีวิต” จึงเกิดขึ้น แผนนี้ไม่อยู่แค่ระดับปัจเจกชนในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครอบครัว หรือกลุ่มเท่านั้น แต่เลยไปถึงระดับนานาชาติในความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติและรัฐต่างๆด้วย”5


ต่อหน้าสภาพการณ์นี้เราในฐานะนักอบรมที่อยากจะช่วยเยาวชนให้ค้นพบคุณค่าสูงสุดของชีวิต โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ จะอยู่นิ่งดูดายไม่ได้ ต่อไปนี้คือการท้าทาย


  • หลักการแห่งคุณค่าสูงสุดของชีวิตมนุษย์

ทำไมชีวิตมนุษย์แต่ละชีวิตพึงได้รับการปกป้องและความเคารพในทุกสถานการณ์และทุกรณี? มีบางชีวิตที่มีคุณค่ามากกว่าชีวิตอื่นหรือ? เราจะพบบรรทัดฐานสำหรับคุณภาพชีวิตซึ่งควรค่าแก่ชีวิตมนุษย์ได้ที่ไหน?


  • สิ่งท้าทายในการส่งเสริมชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะ ที่อ่อนแอกว่าหมดและไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

การที่ปัจจุบันนี้คนมีความอ่อนไหวต่อการทำให้ชีวิตเต็มเปี่ยมและดีขึ้น แต่กลับเป็นการคุกคามชีวิตที่อ่อนแอและไม่สามารถปกป้องตนเองได้ถือว่าเป็นการกระทำที่มีมนุษยธรรมไหม?


  • สิ่งท้าทายการประกาศข่าวดีในบริบทและในวัฒนธรรมยุคนี้

เราจะเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมต่อต้านชีวิตและประกาศ “พระวรสารแห่งชีวิต” ให้เป็นรักษาเยียวยาและการให้ชีวิตสำหรับทุกคนได้อย่างไร? เราจะส่งเสริมหมู่คณะ เยาวชนและครอบครัวซาเลเซียนให้มีรูปแบบชีวิตที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคุณพ่อบอสโก ซึ่งจะนำทุกคนไปสู่ความรัก เห็นคุณค่า ปกป้องและส่งเสริมให้ชีวิตเป็นของขวัญและการรับใช้ได้อย่างไร?



  1. การเชื้อเชิญให้ครอบครัวซาเลเซียนปกป้องชีวิต

การแค่วิเคราะห์สถานการณ์เท่านั้นยังไม่ถือว่าได้ทำอะไรหากไม่มีความพยายามและการทุ่มเทที่เป็นรูปธรรมของกลุ่มต่างๆในครอบครัวซาเลเซียนตามส่วนต่างๆของโลก พ่ออยากเสนอแนวทางการริเริ่มที่จริงจังสำหรับครอบครัวของเรา ในเวลาเดียวกันก็อยากจะเชื้อเชิญท่านให้สำนึก เห็นคุณค่าและใช้สิ่งที่ริเริ่มทำและโอกาสที่มีอยู่แล้วในแต่ละประเทศและแต่ภาคพื้นเพื่อร่วมกันส่งเสริมชีวิตมนุษย์ ต่อไปนี้คือบางรายการของที่ครอบครัวซาเลเซียนกำลังทำเพื่อชีวิต


  • การร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความหายนะในปีที่ผ่านๆมา (คลื่นยักษ์สึนามิ อุทกภัย อัคคีภัย การโจมตี สงคราม...) ซึ่งแสดงถึงความพร้อมและความสงสารในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากและในการปกป้องชีวิตคนที่ยากจนกว่าหมด พร้อมกับให้ความหวังและอนาคต


  • การให้การต้อนรับเยาวชนที่อยู่ในความเสี่ยง เด็กเร่ร่อนและคนตกงาน ฯลฯ ที่นักอบรมจำนวนมากได้ทุ่มเทชีวิตด้วยใจกว้างขวางและด้วยจิตตารมณ์ซาเลเซียน เพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากการต้องอยู่ชายขอบสังคมและอันตรายต่างๆ และมีอนาคตที่ดีกว่า


  • โปรกรมช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่ครอบครัวซาเลเซียนจัดขึ้นในประเทศต่างๆ โดยให้การต้อนรับ ให้การอบรมและช่วยพวกเขาให้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่


  • โครงการต่างๆที่กำลังทำในทวีปอัฟริกา อาทิ โปรแกรม “หยุดเอดส์” และ “ความรักเท่านั้นช่วยได้” เพื่อช่วยขจัดโรคเอดส์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานในทวีปแห่งนี้และทำให้ผู้คนล้มตายเป็นล้านๆ ทิ้งเด็กให้เป็นกำพร้าจำนวนมาก ครอบครัวซาเลเซียนใช้มาตรการป้องกันด้วยการประชาสัมพันธ์ให้คนหนุ่มสาวเกี่ยวกับโรคร้ายนี้และอบรมให้พวกเขาตระหนักว่าการใส่ถุงยางอนามัยไม่สามารถยับยั้งมันได้อย่างที่โฆษณากัน


  • นักอบรมจำนวนมากที่กำลังอบรมเยาวชนและเตรียมพวกเขาให้เข้ามีบทบทในสังคมในกิจการและศูนย์ซาเลเซียนต่างๆ


  • งานด้านมนุษยธรรม อบรมและประกาศข่าวดีที่กำลังทำอยู่ตามศูนย์ธรรมทูต บ่อยครั้งก็ทำในรูปแบบปกป้องชีวิตและส่งเสริมการพัฒนาประชาชนแบบบูรณาการ


  • ในศูนย์ธรรมทูตหลายแห่งมีการอุทิศตนเพื่ออนุรักษ์ชนพื้นเมืองและช่วยพวกเขาพัฒนาตน หาทางให้พวกเขาเป็นที่ยอมรับทางสังคม มีสิทธิในด้านภาษา วัฒนธรรม ทัศนคติและชีวิตสังคมของพวกเขาเอง อีกทั้งมีตัวแทนในการเมืองด้วย


  • ครอบครัวจำนวนมากที่มีส่วนในการอบรมและการปกป้องชีวิตในชีวิตประจำวันอย่างทุ่มเทและใจกว้าง


  • งานอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ด้านสังคม ธรรมทูต กระแสเรียก


รวมถึงการริเริ่มและกิจกรรมอีกมากมายที่กลายเป็นเครือข่ายเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามและอยู่ในอันตราย อีกทั้งสนับสนุนให้พวกเขาสร้างวิถีชีวิตที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น มีการช่วยเหลือเกื้อกุลกันตามแนวแห่งพระวรสารและสร้าง “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” ซึ่งแต่ละอย่างกระทำกันด้วยความมุ่งมั่นและด้วยใจกว้างขวาง


พ่อเชื่อว่า พร้อมกับบุคคลที่มีคุณภาพเหล่านี้ เราสามารถเผชิญหน้ากับการท้าทายและช่วยกันปกป้องชีวิตได้สุดความสามารถ คำขวัญจึงเป็นการให้กำลังใจให้แต่ละคนพิจารณาไตร่ตรองกระแสเรียกแห่งชีวิตที่ตนได้รับ เป็นการเชื้อเชิญให้ผนึกกำลังและความพยายามในการตอบรับการท้าทายยิ่งใหญ่ด้วยวิธีการสร้างสรรค์และมีศักยภาพ



  1. พระเจ้าผู้ทรงรักชีวิต

ตั้งแต่หน้าแรกของหนังสือปฐมกาลถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือวิวรณ์ พระคัมภีร์ตอกย้ำความเชื่อและความตระหนักใจของประชากรพระเจ้าที่ว่าชีวิตมาจากพระเจ้าและต้องดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์ผู้ทรงคุ้มครองและป้องกันชีวิต ชีวิตจึงเป็นพระพรที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักและพระทัยดีของพระองค์ ชีวิตเป็นของขวัญยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระเจ้าประทานให้


เพราะเหตุนี้ สิ่งแรกที่เราต้องทำคือดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข พระบัญญัติแรกที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่เราคือจงดำเนินชีวิต เป็นพระบัญญัติที่ไม่มีจารึกอยู่บนแผ่นศิลา แต่จารึกไว้ในส่วนลึกแห่งชีวิตเรา ความนบนอบอย่างแรกของเราคือรักชีวิต ต้อนรับชีวิตด้วยใจกตัญญูและให้เอาใจใส่ในการพัฒนาชีวิตให้เต็มศักยภาพ


พระคัมภีร์เน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและชีวิต ชีวิตมนุษย์มาจากพระเจ้า พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสว่า “ชีวิตคือของขวัญที่พระเจ้าทรงแบ่งปันบางอย่างของพระองค์ให้กับสิ่งสร้าง”6 พระเจ้าทรงเป็นเจ้านายของชีวิต มนุษย์ไม่สามารถจัดการกับชีวิตามใจชอบได้ ชีวิตและความตายอยู่ในพระหัตถ์พระเจ้า “ชีวิตและลมหายใจของมนุษยชาติอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า” (โยบ 12,10) ทุกชีวิตมาจากพระเจ้าและพระเจ้าทรงคุ้มครองแต่ละชีวิต พระเจ้าไม่ทรงสร้างมนุษย์ให้ตาย แต่ทรงสร้างให้มีชีวิตอมตะ (เทียบ ปรีชาญาณ 2,23)


เพราะเหตุนี้เอง พระเจ้าแห่งชีวิตทรงเป็น “พระเจ้าของคนจน” คนที่มีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้าแห่งความยุติธรรม” ผู้ทรงปกป้องทุกคนที่ถูกคุกคามอย่างไม่เป็นธรรมจากคนที่แข็งแรงและมีอำนาจมากกว่า (เทียบ อพย 21,1-23) มีแต่พระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อต่อชีวิตเท่านั้นที่ทรงสามารถปกป้องชีวิตคนจน คนอ่อนแอ ผู้เป็นหม้าย คนแปลกหน้าและคนที่ไม่สามารถป้องกันตนได้ การรู้จักพระเจ้าคือการปฏิบัติความยุติธรรมต่อชีวิตและการต่อสู้ความยุติธรรมที่เข่นฆ่าชีวิต การเชื่อในพระเจ้าคือการเปิดใจเพื่อฟังและตอบถามของพระองค์ที่ว่า “เจ้าได้ทำอะไรพี่น้อง?” (เทียบ ปฐก 4,9-10)


ในพระธรรมใหม่ พระเจ้าทรงแสดงองค์เป็น “เพื่อนชีวิต” โดยทรงเป็นมนุษย์ในองค์พระเยซูเจ้าคริสต์ ศิษย์จึงสามารถเห็นและสัมผัสพระองค์ได้ใน “พระวจนะแห่งชีวิต” (เทียบ 1 ยน 1,11) พระวาจาและท่าทีของพระองค์ก่อให้เกิดชีวิตและเยียวยามนุษยชาติ และนี่คือสิ่งที่คริสตชนกลุ่มแรกยังจำได้ดีเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไปที่ใด ทรงกระทำความดีและทรงรักษาทุกคนที่อยู่ใต้อำนาจของปีศาจ เพราะพระเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์(กจ 10,38)


พระเยซูเจ้าทรงถือว่าชีวิตประเสริฐ “มากกว่าอาหาร” (มธ 6,25) การช่วยชีวิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ากฎวันสับบาโต (มก 3,4) เพราะพระองค์ไม่ใช่พระเจ้าของผู้ตาย แต่ของผู้เป็น” (มก 12,27) การปกป้องชีวิตเป็นเป้าหมายหลักในแผนแห่งพระอาณาจักร การประกาศพระอาณาจักรและการดูแลชีวิตมนุษย์เป็นส่วนสำคัญแห่งกิจการของพระเมสซีอา ดังที่เห็นได้ในพระวรสาร “พระเยซูเจ้าเสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสั่งสอนในศาลาธรรม ทรงประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิดของประชาชน(มธ 4,23; 9,35; ลก 6,18) การรักษาเยียวยาคือพันธกิจพระเมสซีอา “คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี(มธ 11,5)


ในพระวรสารน.ยอห์นก็เช่นกัน ชีวิตเป็นคุณค่าหลัก พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ประทานชีวิต “นิรันดร” กล่าวคือ ชีวิตที่พระเจ้าทรงส่งทอดให้บุตรของพระองค์ เป็นชีวิตที่ต่อเนื่องไปสู่นิรันดรภาพ น.ยอห์นจึงนำเสนอพระเยซูเจ้าในฐานะ “ปังแห่งชีวิต” (ยน 6,35.48) “แสงสว่างแห่งชีวิต” (ยน 8,12) “หนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14,6) “การกลับคืนชีพและชีวิต” (ยน 11,25) และ “ผู้ที่เชื่อในพระองค์ แม้ตาย แต่ก็จะมีชีวิตอยู่” (ยน 11,25)


ผู้ที่มีความเชื่อสามารถมีชีวิตนิรันดรได้ตั้งแต่เวลานี้ผู้ที่เชื่อก็มีชีวิตนิรันดร(ยน 6,47) ผู้ที่ฟังพระวาจาของพระองค์มีชีวิตนิรันดร...และได้ผ่านจากความตายสู่ชีวิต(ยน 5,24) “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรามีชีวิตนิรันดร และเราจะบันดาลให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย(ยน 6,54) แต่สิ่งที่ทำให้เราเปิดสู่ชีวิตปัจจุบันและนำไปสู่ความรอดนิรันดรคือความรักเรารู้ว่า เราผ่านพ้นความตายมาสู่ชีวิตแล้วเพราะเรารักพี่น้อง ผู้ใดไม่มีความรัก ย่อมดำรงอยู่ในความตาย(1 ยน 3,14)


พระเยซูเจ้าไม่เพียงประทานคุณค่าแก่ชีวิตและปกป้องชีวิตเท่านั้น แต่ทรงมอบชีวิตของพระองค์ด้วยความรักเพื่อว่ามนุษยชาติจะได้ไม่ต้องตายและถูกทำลายไปชั่วนิรันดรเราสละชีวิตของเรา...ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจ สละชีวิตนั้น เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก(ยน 10,17-18) การที่พระเยซูเจ้าทรงมอบชีวิตของพระองค์ กระทั่งสิ้นพระชนม์ ไม่ใช่เพราะเหยียดหยามชีวิต แต่เพราะทรงรักชีวิตมากและทรงอยากให้เราทุกคนมีชีวิต แม้แต่คนที่ไม่มีความสุขหรือน่าสมเพช พระองค์ทรงประสงค์ให้แต่ละชีวิตคือเป้าหมาย เต็มเปี่ยมและนิรันดร

ชีวิตที่ถูกตรึง” เพราะความรัก เป็น “ที่สะดุดและความโง่เขลา” สำหรับวิถีชีวิตในสังคมที่สับสนแห่งปัจจุบัน แต่สำหรับคริสตชนแล้ว เป็นบรรทัดฐานสำหรับแต่ละชีวิตเพื่อจะเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม ซึ่งไม่ควรทำให้เสียต้องความงดงามเพราะความเห็นแก่ตัว การขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หรือความอยุติธรรม สำหรับผู้มีความเชื่อ “ชีวิตที่ถูกตรึง” เป็นการเผยแสดงสูงสุดแห่งความรักของพระเจ้าที่ทรงมีต่อมนุษย์ ความเคารพและการการปกป้องชีวิตมนุษย์ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง “พระวรสารแห่งชีวิต” นั่นเอง


พระวรสารนี้มีจุดสุดยอดในการกลับคืนชีพ พระเจ้าผู้ทรงโปรดให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพคือพระเจ้าผู้ทรงใส่ชีวิตไว้ในที่ซึ่งมนุษย์ใส่ความตาย อย่างที่พระบรรดาสาวกเทศน์ “พวกท่านประหารพระองค์...แต่พระเจ้าทรงโปรดให้พระองค์กลับคืนพระชนมชีพ” (กจ 2,23-24) ใครก็ตามที่เชื่อในพระเจ้าผู้ทรงโปรดให้กลับคืนชีพ ก็จะเริ่มรักชีวิตอย่างถึงรากถึงโคนด้วยความรักทั้งครบ ความเชื่อแห่งปัสกาทำให้ผู้มีความเชื่อเลือกอยู่ฝ่ายชีวิตเมื่อใดก็ตามที่ชีวิตตกอยู่ในอันตราย ได้รับความรุนแรง หรือถูกทำลาย การต่อสู้กับความตายไม่ใช่เพราะเหตุผลตามหลักศีลธรรมเท่านั้น แต่เพราะความเชื่อในพระเจ้าผู้ทรงโปรดให้กลับชีพ ผู้ทรงประสงค์ให้มนุษย์ร่วมส่วนในชีวิตพระของพระองค์ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของชีวิตตามมุมมองคริสตชน “ศักดิ์ศรีของชีวิตไม่อยู่ในการที่ทุกชีวิตมาจากพระเจ้าเท่านั้น แต่อยู่ในจุดหมายปลายทางของชีวิตด้วย กล่าวคือ การรู้จักและรักพระเจ้า น.อิเรเนโอกล่าวยกย่องมนุษย์ว่า พระสิริมงคลของพระเจ้าคือมนุษย์ที่มีชีวิต และ ชีวิตของมนุษย์อยู่ในการเห็นพระเจ้า7



  1. ยอมให้ความรักของพระเจ้าชี้นำเรา

ความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อชีวิตคอยให้กำลังใจเราในหน้าที่เป็นประจักษ์พยาน ประกาศและรักคุณค่าแห่งชีวิต พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเขียนว่า “เราต้องนำพระวรสารแห่งชีวิตเข้าไปในจิตใจของชายหญิงแต่ละคนและทำให้แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของสังคม”8 การประกาศพระวรสารต้องทำให้ทุกคนเห็นถึงธรรมชาติอันแท้จริงของชีวิตด้วยความชัดเจนและเด็ดเดี่ยว


ชีวิตมนุษย์เปราะบาง ล่อแหลมและผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ทว่าเป็นชีวิตศักดิ์สิทธิ์และแตะต้องไม่ได้ พระเจ้าทรงเป่าลมแห่งพระจิตของพระองค์เข้าไปในมนุษย์ ทรงสร้างเขา “ในรูปแบบและความเหมือนของพระองค์” (ปฐก 1,27) ไม่มีใครจัดการชีวิตตามใจชอบได้ ไม่ว่าชีวิตตนเองหรือผู้อื่น นี่คือคุณค่าอย่างแรกที่เป็นพื้นฐานแห่งคุณค่าและสิทธิอื่นๆ


พระบัญญัติของพระเจ้าชัดเจนปราศจากความเคลือบแคลงใดๆ “อย่าฆ่า” (อพย 20,13) ถึงแม้จะเป็นคำสั่งในเชิงลบ แต่ก็ยืนยันคุณค่าของชีวิตและยังคงกระตุ้นเตือนให้ยืนยันคุณค่าของชีวิตต่อไปจนทุกวันนี้


มีรูปแบบหลากหลายของการโจมตีชีวิต ดังนั้น การสนันสนุนการอบรบให้มีความอ่อนไหวต่อคุณค่าชีวิต เคารพชีวิตและปกป้องชีวิตเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เป็นการอบรมที่เสนอมุมมองชีวิตและสุขภาพแบบครบองค์ อีกทั้งให้รู้ถึงหลักจริยธรรมเกี่ยวกับชีวิตด้วย ชนรุ่นใหม่ต้องการพ่อแม่และครูที่เป็น “อาจารย์แห่งชีวิต” พวกเขาต้องการคนที่สอนพวกเขาให้รู้คุณสำหรับชีวิตที่มีสุขภาพสมบูรณ์และพอเพียง อีกทั้งให้รับผิดชอบในการสร้างชีวิตที่พร้อมรับความล้มเหลว ความเสียสละ ความทุกข์ทรมาน ในการเฉลิมฉลองชีวิตและพระเจ้าผู้ทรงประทานชีวิต ในการดำเนินชีวิตด้วยความรักและอุทิศตน


เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ จำต้องคำนึงถึงกระแสเรียกและภารกิจของ ครอบครัว ครอบครัวมีหน้าที่อบรมสมาชิกทุกคนให้รักและรับผิดชอบชีวิต ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของหมู่คณะแห่งชีวิตและความรัก ครอบครัวมีหน้าที่ “ดูแลรักษา เผยแสดงและสื่อความรัก”9 ครอบครัวประกาศพระวรสารแห่งชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยการอบรมเด็กๆให้มีความเคารพต่อชีวิตและรู้คุณในพระพรแห่งชีวิต


การอบรมในครอบครัวจึงเป็นการอบรม มโนธรรมด้านศีลธรรม ครอบครัวสามารถสอน อบรมและช่วยให้คนในครอบครัวดำเนินชีวิตด้วยคุณค่าแห่งอิสรภาพ ความเคารพต่อกันและกัน การเสวนา ความสำนึกในความยุติธรรม ความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันและการการอุทิศตน ด้วยวิธีนี้ พ่อแม่จะช่วยอบรมบุตรให้รู้ถึงณค่าแท้จริงแห่งชีวิตมนุษย์ด้วยความมั่นใจและกล้าหาญ



  1. คุณพ่อบอสโกรักและส่งเสริมชีวิตเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ยากจนกว่าหมด

เรา สมาชิกแห่งครอบครัวซาเลเซียน มีคุณพ่อบอสโกเป็นแบบอย่างและอาจารย์ในความรักและหน้าที่ต่อชีวิต


เมื่อเป็นเด็ก คุณพ่อบอสโกเป็นคนมีชีวิตชีวา คุณพ่อเรียนรู้ถึงความงดงามแห่งธรรมชาติและชีวิตจากคุณแม่มาร์เกริตา คุณพ่อมีความสุขกับความงดงามของชนบท เนินเขาและทุ่งที่เต็มด้วยดอกไม้นานาชนิดแห่งหมู่บ้านเบ็กกี คุณพ่อจะเพ่งมองดวงดาวในท้องฟ้าด้วยความทึ่ง คุณพ่อเลี้ยงนกและดูแลมันด้วยความรัก คุณแม่มาร์เกริตาสอนให้คุณพ่อเห็นถึงผลงานอันน่าพิศวงของพระเจ้าผู้ทรงดูแลบุตรทุกคนของพระองค์ อีกทั้งพระปรีชาญาณและฤทธิ์อำนาจไร้ขอบเขตของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ คุณพ่อบอสโกจึงมีมองชีวิตในแง่ดี คุณพ่อสนุกกับสิ่งธรรมดาแห่งชีวิตชนบทและสามารถเผชิญหน้ากับความยากลำบากต่างๆด้วยความกล้าหาญ คุณพ่อพยายามแบ่งปันความยินดีแห่งชีวิตให้แก่เพื่อนๆ สร้างความสนุกสนานให้พวกเขาในวันฉลองด้วยการละเล่นต่างๆ ในเวลาเดียวกัน คุณพ่อทำแต่ละอย่างเพื่ออบรมเพื่อนๆด้วย กล่าวคือ ช่วยพวกเขาให้เป็นคนดีและทำหน้าที่คริสตชนที่ดี เมื่อยังเป็นนักศึกษาหนุ่มอยู่ที่เมืองกีเอรี คุณพ่อและเพื่อนร่วมกันตั้ง “สมาคมร่าเริง” โดยมีระเบียบข้อแรกคือ เป็นคนร่าเริงและพยายามหลีกหนีบาป


เมื่อเป็นพระสงฆ์หนุ่ม คุณพ่อบอสโกเดินไปตามถนนกรุงตุรินและไปเยี่ยมนักโทษ คุณพ่อเข้าใจว่าเยาวชนมองหาความสุข พวกเขาต้องการมีชีวิตที่สนุกสนาน เป็นที่ยอมรับและเห็นคุณค่า หลายครั้งพวกเขาออกนอกเส้นทางและจบลงในคุก ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนเลว แต่เพราะไม่มีใครเชื่อในตัวพวกเขาและช่วยพวกเขาให้พัฒนาพลังและพรสวรรค์ไปในทางที่ถูกที่ควร เพราะเหตุนี้ คุณพ่อบอสโกจึงได้อุทิศชีวิตเพื่อพวกเขาและพร้อมกับพวกเขาสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งจะเอื้อให้พวกเขามีชีวิตเต็มด้วยความยินดี มีสถานที่เล่นสนุกสนาน ฝึกงานและหางานให้พวกเขาทำ ช่วยให้พวกเขาสัมผัสกับความรัก เป็นที่ยอมรับและมีคุณค่าในบรรยากาศครอบครัว การละเล่น ดนตรี การแสดงบนเวทีและการเดินเที่ยวคือวิธีการที่คุณพ่อบอสโกใช้เพื่ออบรมและพิชิตหัวใจของเยาวชน เพื่อช่วยพวกเขาพัฒนาคุณภาพต่างๆที่มีอยู่ในตนให้เต็มศักยภาพ หมั่นทำดีและทำตนเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม ด้วยวิธีนี้ คุณพ่อบอสโกช่วยเยาวชนให้รู้จักและดำเนินชีวิตในมิตรภาพกับพระเยซูคริสต์


เราสามารถพูดได้ว่า คุณพ่อบอสโกและเด็กๆที่วัลดอกโกมีวิธีดำเนินชีวิตที่เต็มด้วยความยินดีและการเฉลิมฉลอง คุณพ่อเชื้อเชิญให้เด็กๆช่วยกันสร้างบรรยากาศนี้ขึ้น คุณพ่อเขียนในประวัติของฟรังซิส เบซุกโกว่า “ถ้าเธออยากเป็นคนดี จงปฏิบัติสามอย่างนี้และทุกอย่างจะดีไปหมด (...) กล่าวคือ ความร่าเริง การเรียนและความศรัทธา นี่คือโปรแกรมยิ่งใหญ่ เมื่อทำตามโปรแกรมนี้เธอจะมีชีวิตที่เป็นสุขและก่อให้เกิดความดีมากมายสำหรับวิญญาณของเธอ” ความยินดีคือลักษณะสำคัญของบรรยากาศครอบครัวและเป็นเครื่องหมายแห่งความรักใจดี การกระทำที่มีเหตุผลและศาสนาเป็นที่ตั้งอันเป็นผลมาจากการมีสันติกับพระเจ้า จากชีวิตแห่งพระหรรษทาน10 เพราะเหตุนี้เอง คุณพ่อบอสโกจึงถือว่า ความยินดีไม่เป็นแค่วิธีการอบรมเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีดำเนินชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งที่เด็กเป็นและสิ่งที่พวกเขาอยากได้ในชีวิต คุณพ่อบอสโกเข้าใจเรื่องนี้ดีและอยากจะทำให้มันเป็นความจริง คุณพ่อชื่นชมที่เห็นว่าลึกๆแล้วเยาวชนอยากจะดำเนินชีวิตด้วยความยินดี มีอิสรภาพ มีการละเล่น มีมิตรภาพ แต่เหนืออื่นใด ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์ คุณพ่อบอสโกเชื่อมั่นว่าศาสนคริสต์ไม่ใช่ศาสนาของข้อห้าม แต่เป็นศาสนาแห่งชีวิต แห่งความสุข แห่งความรัก ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อจึงช่วยเยาวชนให้เปิดรับพระเยซูเจ้า มีความสัมพันธ์แห่งมิตรภาพตัวต่อตัวกับพระองค์โดยทางการอบรมไปสู่การเฉลิมฉลองและความยินดี ทุกวันนี้เยาวชนหลายคนอาจจะได้รับข้อมูลว่าชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตที่น่าเศร้า เต็มด้วยข้อห้ามและการเสียสละ เป็นชีวิตที่ไม่เหมาะสำหรับเยาชน ทว่า คุณพ่อบอสโกเสนอรูปแบบชีวิตคริสตชนที่เต็มด้วยความสุขและความยินดีให้แก่พวกเขา


คุณพ่อบอสโกทำให้งานและความยินดีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุณพ่อเป็นนักบุญที่มีอารมณ์ขันและดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างมีชีวิตชีวาและรื่นรมย์... คุณพ่อจึงมีจุดยืนในการเข้าหาเยาวชนที่แตกต่างไปจากคนอื่น “ความรักของคุณพ่อมีพื้นฐานอยู่ในความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ เข้าใจสิ่งที่เยาวชนต้องการจากชีวิต คุณพ่อจึงทำให้ความรื่นรมย์ ความยินดีในการดำเนินชีวิต การทำงานและการภาวนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์”11


คุณพ่อบอสโกมีวิธีเสนอมุมมองชีวิตในเชิงบวกและอย่างครบองค์แก่ลูกๆ ผู้ร่วมงานและเพื่อนๆ คุณพ่อเชื่อในความดีและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่ยากจนและอยู่ในอันตรายมากกว่าหมด คุณพ่อเขียนไว้ว่า “นักอบรมต้องเชื่อมั่นว่าเยาวชนมีความฉลาดพอที่จะเห็นความดีที่พวกเขาได้รับและมีจิตใจรู้คุณ”12 คุณพ่อจึงเชื่อว่าเยาวชนแต่ละคนยังสามารถแก้ไขตนเองได้เสมอ คุณพ่อเชื่อในประสิทธิผลของงานอบรมที่ทำอย่างทุ่มเทและใช้วิธีแห่งเหตุผลและความรักใจดี


เราต้องช่วยเยาวชนที่ถูกทอดทิ้งหรือหลงออกนอกเส้นทางได้พบความหมายพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ช่วยให้พวกเขาอยากมีชีวิตและออกแรงทำงานเพื่อจะมีรายได้อย่างพอเพียงสำหรับตนเองและครอบครัว คุณพ่อบอสโกสร้างสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายความสัมพันธ์และมิตรภาพในรูปแบบครอบครัวสำหรับเยาวชนที่ขาดความรัก ซึ่งจะเอื้อให้เกิดความรัก ทำให้ชีวิตด้านอารมณ์ของพวกเขาพบกับความเต็มเปี่ยม


นอกนั้น คุณพ่อบอสโกมีความมั่นใจว่าความเชื่อคริสตชนและมิตรภาพกับพระเยซูเจ้าก่อให้เกิดพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยค้ำจุนงานอบรมและการดำเนินชีวิตที่เต็มด้วยความยินดีและมีสุขในโลกนี้และเป็นหลักประกันสำหรับความสุขนิรันดร เพราะเหตุนี้ คุณพ่อจึงถือว่าการอบรมสู่ความศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นเป้าหมายสูงสุด ความศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่อภิสิทธิ์ของบางคน แต่เป็นอุดมการณ์สำหรับทุกคน คุณพ่อได้พูดในโอวาท “ราตรีสวัสดิ์” ที่กระตุ้นให้ดอมินิค ซาวีโอ มุ่งมั่นจะบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ให้ได้ “พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราแต่ละคนเป็นนักบุญ การเป็นนักบุญนั้นง่ายมาก พระเจ้าทรงสัญญาจะให้รางวัลยิ่งใหญ่แก่นักบุญในสวรรค์” 13


ในฐานะที่คุณพ่อบอสโกเป็นพระสงฆ์และนักอบรม คุณพ่อชื่นชมและสนับสนุนทุกสิ่งที่เป็นแง่ดีของชีวิตและจิตใจคน พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมให้ดำเนินชีวิตแบบคริสตชน รู้จักเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ แง่ดีและสิ่งประเสริฐที่พบเห็นในชีวิตประจำวันและในจิตใจมนุษย์ แม้แต่ของคนเคราะห์ร้ายกว่าหมด ในเวลาเดียวกันก็ทำให้การอบรมและวัฒนธรรมเปิดรับพระเยซูเจ้าด้วยความสำนึกว่ามนุษย์จะพบความรอดได้ก็ในพระองค์แต่ผู้เดียว14


ดังนั้น ในฐานะครอบครัวซาเลเซียน เราได้รับเรียกให้เป็นประจักษ์พยานและประกาศว่าชีวิตมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์และแตะต้องไม่ได้ การไม่ทำลายชีวิตยังไม่พอ ยังต้องปกป้องและป้องกันชีวิตด้วย คุณค่าแห่งชีวิตเป็นเนื้อหาสำคัญของพระวรสาร ในวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ชีวิตถูกคุกคามอย่างถึงรากถึงโคน ครอบครัวซาเลเซียนต้องมีความอ่อนไหวต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษ พร้อมกันนั้น ต้องให้การอบรม การดูแลและให้การต้อนรับชีวิต ทุกชีวิตและชีวิตของแต่ละคน 15 ต้องพร้อมที่จะติดตามและปกป้องชีวิตตั้งแต่แรกเกิด ชีวิตเยาวชนจำนวนมากที่ถูกคุกคาม ต้องดิ้นรนต่อสู้กับความยากจน การอยู่ชายขอบสังคม ความทุกข์ทรมาน การขาดอุดมการณ์และไร้ความหมาย เราได้รับเรียกให้เป็น “เครื่องหมายและผู้นำความรักของพระเจ้า”16 ให้แก่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้แก่เยาวชน



7. พันธะครอบครัวซาเลเซียนต่อชีวิต

พระศาสนจักรได้รับ พระวรสารแห่งชีวิต และมีหน้าที่ประกาศและทำให้พระวรสารนี้กลับกลายเป็นความจริง กระแสเรียกและภารกิจนี้เรียกร้องให้สมาชิกแห่งพระศาสนจักร รวมทั้งครอบครัวซาเลเซียน ให้ร่วมส่วนด้วยใจกว้างขวาง ทุกวันนี้ เราต้องรับรู้ถึง “หน้าที่ของเราในการประกาศพระวรสารแห่งชีวิต เฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิตในพิธีกรรมและในชีวิตความเป็นอยู่ของเรา รับใช้พระวรสารแห่งชีวิตในโปรแกรมและโครงสร้างแห่งการสนับสนุนและส่งเสริมชีวิต”17


ในขณะที่มีการประกาศยืนยันสนับสนุนชีวิต ก็ยังมีท่าทีต่อต้านชีวิตให้เห็น เราต้องทำให้งานอบรม-อภิบาลของเราเป็นประจักษ์พยานและประกาศคุณค่าชีวิตด้วยการตั้งปณิธานที่จะปกป้องชีวิตและส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชีวิต


7.1. การปกป้องคุณค่าชีวิตมนุษย์

ชีวิตมนุษย์ต้องเผชิญกับอันตราย ความรุนแรงและความตาย ปัจจุบันนี้ การคุกคามต่อชีวิตมนุษย์ยังไม่ลดน้อยลง ตรงข้าม ยังเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว อย่างเป็นแบบแผนและเป็นวิชาการ หลายแห่งถือว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าและอารยธรรมด้วยซ้ำไป


การคุกคามชีวิตก่อให้เกิดความเกลียดชัง ความรุนแรงที่มาจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ (ฆาตกรรม สงคราม การเข่นฆ่า) ความเฉยเมยและการไม่รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกนั้นก็มีความรุนแรงต่อมนุษย์จำนวนล้านๆที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและต้องตายไปเพราะความหิวโหย การค้าอาวุธสงครามก็ยังดำเนินต่อไปทั้งๆที่มีการลงนามยุติกันหลายครั้งแล้ว การทำลายความสมดุลของสภาพแวดล้อม การแพร่หลายของสิ่งเสพติด อุบัติเหตุตามท้องถนน การโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่ก่อให้เกิดการนองเลือด จึงเห็นได้ว่า ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย ชีวิตมนุษย์ต้องตกอยู่ในอันตรายจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง


ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงนี้ มีความจำเป็นและความเร่งด่วนในการปกป้องคุณค่าที่แตะต้องไม่ได้และศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ เพราะเหตุนี้ เราต้องส่งเสริมท่าทีที่ดีต่อชีวิต ระหว่างเราเองและระหว่างเยาวชน ซึ่งเรียกร้องให้เรา :


  • ถือว่าชีวิตเป็นของขวัญ

บ่อยครั้ง คนมักคิดกันว่า ชีวิตเป็นผลผลิตของมนุษย์มากกว่าจะเป็นของขวัญจากพระเจ้า ทัศนคติแห่งการผลิตนำไปสู่การขจัดชีวิตที่ไม่ได้วางแผนให้เกิด ชีวิตที่ยากลำบาก หรือ “ชีวิตที่ไร้ค่า” อาทิ เด็กที่ยังไม่เกิด คนชรา คนพิการทางร่างกายหรือทางจิตใจ ชีวิตผิดปกติ เป็นต้น การถือว่าชีวิตเป็นของขวัญทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยความรู้คุณ สรรเสริญและยินดี ในเวลาเดียวกัน เราจะถือเป็นพันธะในการดูและรักชีวิต พร้อมกับพยายามพัฒนาชีวิตให้เต็มศักยภาพ


  • ส่งเสริมทัศนคติที่ครบองค์เกี่ยวกับชีวิต

ชีวิตมีอะไรมากกว่าการอยู่ดีกินดีหรือฐานะเศรษฐกิจ ชีวิตคือเส้นทางไปสู่ความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นบุคคล ความเต็มเปี่ยมที่ไม่อยู่แค่สิ่งกิจกรรมด้านวัตถุสิ่งของ ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านสังคม แต่รวมถึงการก้าวหน้าด้านชีวิตจิตด้วย การปกป้องชีวิตหมายถึงการที่เราพร้อมจะรับผิดชอบให้การดูแล รักและพัฒนาศักยภาพทุกอย่างแห่งชีวิตและธรรมชาติไปสู่ความเต็มเปี่ยมและมีคุณภาพ การดำเนินชีวิตโดยมีทัศนคติที่ครบองค์เรียกร้องให้เราไม่ให้ทุ่มกับการกระทำจนเกินไปซึ่งจะทำให้เรามองข้ามองค์ประกอบสำคัญอย่างอื่นของชีวิตไป เช่นว่า การพบปะตัวต่อตัวและมิตรภาพ ความเงียบและการรำพึงพิศเพ่ง ความยินดีและความงดงาม การรับใช้ที่ไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น



7.2. ปกป้องชีวิตคนจน

ชีวิตมนุษย์ประเสริฐและสมควรแก่การเคารพ ดังนั้น ไม่เฉพาะชีวิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ เป็นปกติและเป็นสุขเท่านั้นที่ควรค่า แต่ชีวิตที่ขาดคุณค่า ชีวิตที่เต็มด้วยความเจ็บปวดและโรคภัยไข้เจ็บ ชีวิตของเด็กที่ยังไม่เกิดและชีวิตคนพิการก็ควรค่าด้วยเช่นกัน ชีวิตประเสริฐ ไม่ใช่ชีวิตคนมีอำนาจเท่านั้น แต่ชีวิตคนจนและถูกทอดทิ้งด้วย


ในฐานะบุตรของคุณพ่อบอสโกเราได้รับเรียกให้ปกป้องและดูแลชีวิตเยาวชนจำนวนมากที่ต้องเติบโตขึ้นมาในความยากจน อยู่ชายขอบสังคม หรือต้องอพยพไปในที่ต่างๆ เราต้องหาทางและคิดค้นรูปแบบเพื่ออยู่ท่ามกลางคนที่อยู่ชายขอบสังคมและถูกทอดทิ้ง ต่อไปนี้คือข้อเสนอแนะบางอย่าง


  • ดูแลเยาวชนที่อยู่ในความเสี่ยง

ศูนย์ซาเลเซียนแต่ละแห่งมีหน้าที่ช่วยดูแลเยาวชนที่ดำเนินชีวิตชายขอบสังคมและอยู่ในความเสี่ยง อาทิ เด็กเร่ร่อนตามท้องถนนที่ไม่มีครอบครัวหรืออยู่ห่างไกลบ้าน เยาวชนที่ไม่มีโอกาสฝึกงานหรือตกงาน ผู้อพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่อพยพมาตามลำพัง เยาวชนที่เสี่ยงทำผิดหรือถูกใช้ในธุรกิจทางเพศ หรืออยู่ในสถานการณ์เลวร้ายซึ่งทำให้ชีวิตต้องตกอยู่ในอันตรายและตกต่ำ


เรามีหน้าที่ต้อนรับเยาวชน ช่วยพวกเขาให้ค้นพบความรักต่อชีวิตและคุณค่าแท้จริง อบรมและฝึกฝนพวกเขาให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยพวกเขาให้มีงานทำ สอนพวกเขาให้เปิดใจแก่พระเจ้าเพื่อจะได้เป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม แนะพวกเขาให้รู้จักพระเยซูเจ้าและนำพวกเขาไปสู่ความสัมพันธ์กับพระองค์ในรูปแบบชีวิตคริสตชนที่เรียบง่าย รื่นรมย์ งดงามและเหมาะสำหรับพวกเขา


  • ติดตามช่วยเหลือครบครัวที่มีปัญหา

เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่ครอบครัวที่อยู่ภายใต้ความกดดันหรือแตกแยก ครอบครัวที่มีปัญหาด้านการอบรมบุตร ครอบครัวที่อยู่ในความยากลำบาก มีหลายแห่งที่ตอบรับคำขวัญของปีก่อนและได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือพ่อแม่ในหน้าที่การอบรมบุตร ค้ำจุนและแนะนำคู่แต่งงานที่มีปัญหา สร้างกลุ่มครอบครัวและหมู่คณะ ฯลฯ พ่อขอเชื้อเชิญท่านให้ทำเช่นเดียวกัน เมื่ออธิบายคำขวัญปี 2006 พ่อได้แนะท่าทีและกิจกรรมหลายอย่าง พร้อมกับเชื้อเชิญท่านให้ทำให้เป็นรูปธรรม ครอบครัวคือสถานที่แห่งแรกเพื่อปกป้องและส่งเสริมชีวิต ครอบครัวจึงเป็นเป้าหมายอภิสิทธิ์แห่งงานอภิบาลของเรา



7.3. อบรมคุณค่าชีวิต

เพื่อจะปกป้องและดูแลชีวิต เราต้องรับการอบรมให้เห็นคุณค่าของชีวิต “เพื่อจะรับใช้ชีวิตอย่างแท้จริง เราต้องเสนอคุณค่าแห่งชีวิตอย่างต่อเนื่องและกล้าหาญ เริ่มจากการประกาศพระวรสารแห่งชีวิต แล้วนั้น สอนคำสอน เทศน์ พูดคุยตัวต่อตัวและอบรม”18


นี่คือหน้าที่สำหรับเราทุกคน พ่อแม่ ผู้อบรม ครู ผู้สอนคำสอน นักเทววิทยา... ชนรุ่นใหม่ต้องการที่จะเห็นพ่อแม่ ผู้อบรมและครูคำสอนเป็น “อาจารย์แห่งชีวิต” ที่แท้จริง พวกเขาไม่ต้องการเฉพาะความรู้ ข้อมูล หรือข้อคำสอน แต่อยากให้เราสอนให้พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งให้กำลังใจและติดตามพวกเขาในการพัฒนาคุณภาพและความสามารถที่พวกเขามี เราต้องเน้นให้พวกเขาเห็นถึงคุณค่าสูงสุดของชีวิตโดยทางชีวิตและคำพูดของเรา ในเวลาเดียวกันทุ่มเทเพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขามีคุณภาพเต็มเปี่ยม พร้อมกับส่งเสริมให้เคารพชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข มองพวกเขาในแง่ดีและให้ความหวังแก่อนาคต ต่อสู้กับสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้อื่น ท่าทีและการกระทำของเราในชีวิตประจำวันน่าจะเป็นบทเรียนแห่งชีวิตให้แก่เยาวชน


ในฐานะผู้อบรม เราต้องรู้จักช่วยเยาวชนให้พบความยินดีในการดำเนินชีวิต ชื่นชมกับคุณค่ามนุษย์ที่ลึกซึ้ง พบกับรสชาติแห่งการรับใช้ผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัวและดูแลรักษาธรรมชาติรอบข้าง เราต้องปลุกจิตสำนึกพวกเขาให้เห็นว่าชีวิตเป็นกระแสเรียกและการรับใช้ พร้อมกับอบรมพวกเขาให้เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบและมีบทบาทในการสร้างสังคมที่มีความเป็นมนุษย์ มีอิสรภาพและเอกภาพมากขึ้น


อีกแง่หนึ่งของหน้าที่อบรมคุณค่าชีวิตคือ “การช่วยเยาวชนให้ ยอมรับและดำเนินชีวิตด้านเพศ ความรักและชีวิตทั้งครบ ตามความหมายที่แท้จริงและในความสัมพันธ์ที่กลมกลืน...มีแต่ความรักแท้เท่านั้นที่สามารถปกป้องชีวิตได้”19 เพราะเหตุนี้เอง จึงต้องมีการอบรมด้านความรักตามแบบอย่างของคุณพ่อบอสโกและตามบรรทัดฐานแห่งระบบการอบรมของคุณพ่อ ซึ่งพ่อได้แยกแยะให้เห็นในคำอธิบายคำขวัญของปีก่อน เป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องนำมาพิจารณาในกระบวนการอบรมของเรา


เพื่อจะเห็นถึงคุณค่าชีวิตมนุษย์ได้อย่างแท้จริง เราต้องพบเห็นคุณค่านี้ใน ครอบครัว หากมองว่าความรุนแรง การขจัดชีวิตที่ลำบากหรือไม่เป็นที่ต้องการ เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้า หรือมองว่าการแข่งขัน ความสำเร็จหรืออำนาจเป็นเป้าหมายชีวิต ก็ยากจะที่เห็นคุณค่าแท้จริงของชีวิตได้ วิธีคิดและท่าทีทั้งเชิงบวกและเชิงลบมักจะมีการส่งทอดกันในชีวิตประจำวันของครอบครัว ชีวิตอบรมชีวิตทางคำพูดและตัวอย่าง ทางการเลือกและการตัดสิน ทางความสัมพันธ์ ทางสิ่งที่ทำและการแสดงออก


เมื่อพูดถึงหน้าที่อบรมคุณค่าชีวิต พ่อขอพูดถึงสถานที่บางแห่งและกิจกรรมการอบรมบางอย่างที่พ่อเห็นว่าน่าจะทำได้หากว่ามีบรรยากาศครอบครัวแท้จริง พ่อขอพูดถึงสองอย่างนี้เป็นพิเศษ คือ ศูนย์เยาวชนและงานอาสาสมัคร


  • ศูนย์เยาวชน ที่มีบรรยากาศ มีชีวิตชีวาและให้การต้อนรับเยาวชน ที่เยาวชนสามารถเป็นผู้นำและพบกับรสชาติแห่งชีวิต พร้อมกับมีบทบาทอย่างเต็มที่ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้อบรมและเยาวชน ที่ทุกคนมีบทบาทและสนับสนุนกันในกระบวนการแห่งการอบรม การเติบโตและการพัฒนาด้านมนุษย์และด้านคริสตชน


ศูนย์เยาวชนต้องเป็นดัง “โรงฝึกสำหรับชีวิตและชีวิตคริสตชน” ที่เยาวชนดำเนินชีวิต ได้แสดงออกและพัฒนาคุณภาพที่พวกเขามี คุณภาพแห่งการเป็นผู้นำ ความสัมพันธ์ต่อกันและกัน ได้รับการอบรมอย่างเป็นระบบ มีคนที่ให้การต้อนรับและติดตามพวกเขา


ศูนย์เยาวชนซาเลเซียนสามารถทำตามบทบาทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ต้องเป็นสถานที่เปิดและให้ความสนใจแก่มนุษย์สัมพันธ์ เยาวชนมีความสุขและมีความเป็นตัวของตัวเอง


  • ต้องจัดให้มีกิจกรรมที่สอดคล้องกับความคาดหมายและความต้องการของเยาวชน


  • ต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เป็นผู้นำ


  • ต้องจัดให้มีคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว คนหนุ่มสาว และผู้นำมาร่วมบทบาทในศูนย์เยาวชนเพื่อให้เป็นแบบอย่างและให้กำลังใจแก่เยาวชน


  • ต้องจัดให้มีโปรแกรมการศึกษาและวัฒนธรรมที่มีคุณภาพสูงสำหรับเยาวชน


  • ต้องมีโปรแกรมประกาศพระวรสารและอบรมสู่ความเชื่อที่เข้าถึงแก่นของชีวิตเยาวชน


เช่นนี้ ศูนย์เยาวชนจะกลายเป็นสถานที่ที่เยาวชนมารวมกันและจัดกิจกรรมที่พวกเขาได้ยินและได้ประสบมา ตลอดจนคุณค่าที่ได้สัมผัสมาจากที่อื่น (ครอบครัว โรงเรียน วัด กลุ่มเพื่อน ฯลฯ)เพื่อสร้างรูปแบบชีวิตที่มีความหมายสำหรับอนาคต



  • งานอาสาสมัคร เป็นประสบการณ์ที่สำคัญอย่างมากสำหรับเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกเขากำลังคิดถึงสิ่งที่พวกเขาจะทำอนาคต อาจจะเป็นประสบการณ์ระยะยาวและกลายเป็นโรงเรียนแห่งชีวิตในการรับใช้ในบริบทยากจนและขัดสนอย่างไม่เห็นแก่ตัวและมีประสิทธิภาพ งานอาสาสมัครช่วยเยาวชนเลือกและพัฒนาการเลือกแนวทางชีวิตได้ดีหากพวกเขาได้ผ่านกระบวนการเตรียมตัวอย่างเป็นระบบและบรรลุวุฒิภาวะ ซึ่งจำต้องมีการแนะนำเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ในงานอาสาสมัครเยาวชนเรียนรู้ที่จะเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบและคริสตชนที่อุทิศตน



7.4. ประกาศพระเยซูเจ้าผู้ทรงให้ความหมายและแหล่งที่มาของชีวิต

การประกาศพระวารสารแห่งชีวิตต้องนำเยาวชนไปพบปะและมีความสัมพันธ์ตัวต่อตัวกับพระเยซูเจ้า พวกเขาจะได้รับแบบอย่าง แนวและพลังในการดำเนินชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม การประกาศพระวรสารเป็นสิ่งเร่งด่วนสำหรับยุคนี้ เป็นการประกาศพระเยซูเจ้าในโลกที่ยกย่องการหลอกลวงและการล่อลวงนานาชนิด ซึ่งแต่ละอย่างไม่สามารถให้ความหมายแก่ชีวิตได้ บ่อยครั้งเยาวชนต้องพบกับความว่างเปล่าที่พวกเขาต้องพยายามถมให้เต็มด้วยความสนุกสนาน เพศและสิ่งเสพติด หรือปล่อยตัวไปตามเส้นทางแห่งความรุนแรงและอาชญากรรม กระนั้นก็ดี ความสนุกสนาน การบริโภค หรือการไขว่คว้าหาความสุขทุกรูปแบบ ไม่สามารถทำให้ความใฝ่ฝันและความต้องการของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมาได้เลย มีเยาวชนหลายคนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในสถานการณ์ด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ หรือมีชีวิตเปราะบางในโลกที่ดูจะโหดร้ายขึ้นทุกวัน ในสถานการณ์เช่นนี้ พระวรสารของพระเจ้าผู้ทรงเป็นเพื่อนแห่งชีวิตต้องเป็น “ข่าวดี” และทำให้คนทุกวันนี้สัมผัสกับการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าและแผนการแห่งความสุขที่พระองค์ทรงนำมาให้


การประกาศพระวรสารจึงเป็นการเสนอรูปแบบชีวิตมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมและมีความสุข เพราะเหตุนี้ เราจึงต้องทุ่มเทเพื่อประกาศพระวรสารอย่างตรงไปตรงมาในทุกแห่งที่มีเยาวชนอยู่ เนื่องจากเยาวชนมีความหลากหลาย การประกาศพระวรสารจึงต้องทำในรูปแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ของเยาวชน ณ ที่นี้เราจะพูดแค่บางสถานการณ์


  • สถานการณ์ที่เยาวชนดำเนินชีวิตไม่อินังขับขอบและผิวเผิน รูปแบบชีวิตที่ว่างเปล่าหรือหมกมุ่นกับวัตถุ เรานำเสนอกระบวนการที่ช่วยพวกเขาให้ค้นพบและชื่นชมในคุณค่าเชิงบวกและลึกซึ้ง ให้มีประสบการณ์ของความยินดีแห่งชีวิตภายในและความสงบเงียบ ปลุกเร้าความปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย เปิดตนเองให้แก่พระเจ้า พัฒนามิติศาสนาในชีวิต


  • สำหรับเยาวชนที่ปฏิบัติศาสนาเพราะความเคยชิน ผิวเผินหรือเพียงเพื่อผลประโยชน์หรือความต้องการบางอย่าง เราต้องช่วยพวกเขาให้ค้นพบพระบุคคลของพระเยซูเจ้า มีความกระตือรือร้นกับคำสอนของพระองค์ สนับสนุนให้พวกเขาติดตามพระองค์ และทุ่มเทเพื่อการอบรมสู่ความเชื่ออย่างจริงจัง


  • สำหรับเยาวชนหลายคนที่เข้ากลุ่มหรือขบวนการการอบรมคริสตชน เราต้องเสนอโปรแกรมที่จะช่วยเพวกเขาทำให้ความเชื่อกลับเป็นชีวิต ให้เฉลิมฉลองความเชื่อและทำให้ความเชื่อเป็นรูปธรรมในชีวิต กระทั่งกลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างมีวุฒิภาวะ


การส่งเสริมโปรแกรมการอบรมสู่ความเชื่อเหล่านี้เป็นการกระทำที่ประเสริฐและมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับเยาวชน



7.5. รู้คุณสำหรับชีวิตและเฉลิมฉลองชีวิต

ผลของการประกาศพระวรสารแห่งชีวิตคือความยินดี ความทึ่ง การสรรเสริญ และความกตัญญูต่อพระเจ้าสำหรับของขวัญแห่งชีวิตที่ได้รับ การประกาศนำไปสู่ท่าทีเฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิต ในฐานะที่ชีวิตเป็นของขวัญจากพระเจ้า นอกจากจะมีพันธะหน้าที่ในการทำให้ชีวิตเต็มเปี่ยมแล้ว เรายังมีหน้าที่กราบไหว้พระเจ้าด้วย จะว่าไปแล้ว ชีวิตในตัวมันเเองเป็นการสรรเสริญพระเจ้าอยู่แล้ว เพราะทุกชีวิตเป็นความน่าพิศวงแห่งความรัก การยอมรับชีวิตก็คือการสรรเสริญและโมทนาคุณพระเจ้านั่นเอง


การเฉลิมฉลองชีวิตทำให้เรามีท่าทีแห่งการรำพึงพิศเพ่งในทุกสิ่งทุกอย่าง ในธรรมชาติ โลก สิ่งสร้าง ชีวิต บ่อยครั้งเรามีท่าทีหวังผลประโยชน์และมุ่งบริโภคอย่างเดียว เลยทำให้เรามีความสัมพันธ์ผิวเผินและมุ่งเอาแต่ประโยชน์กับคนอื่นๆ ท่าทีกับโลกที่เน้นแค่สิ่งที่เราสนใจ...เราต้องขจัดท่าทีเห็นแก่ตัวและเปลี่ยนให้เป็นท่าทีแห่งการรำพึงพิศเพ่ง ซึ่งจะทำให้เรามองลึกลงไปเพื่อเห็นและชื่นชมความงามและความยิ่งใหญ่ของบุคคลและประวัติศาสตร์ เราต้องต้อนรับ เคารพและรักสิ่งของ บุคคลและชีวิตทุกรูปแบบ เราต้องรู้จักชื่นชอบความเงียบ รู้จักฟังด้วยความเพียร ทึ่งและแปลกใจกับสิ่งที่ไม่คาดคิดและคาดฝัน เราต้องเปิดใจให้แก่ผู้อื่นและมีความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อและไว้วางใจกับทุกคน


ท่าทีรำพึงพิศเพ่งนำไปสู่ การสรรเสริญและภาวนา การเฉลิมฉลองชีวิตคือการสรรเสริญ รักและสวดขอพระเจ้าแห่งชีวิต ผู้ทรงบันดาลให้เราปฏิสนธิในครรภ์มารดา คือการถวายพรและโมทนาคุณพระองค์ “ขอบคุณพระองค์สำหรับชีวิตน่าพิศวงของลูก สำหรับมหัศจรรย์แห่งสิ่งสร้าง” (สดด 139,14) ชีวิตมนุษย์คืออัศจรรย์ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งสิ่งสร้างทั้งมวล



7.6. ดูแลสิ่งสร้างด้วยความรัก

พระเจ้าทรงรักชีวิตมนุษย์และทุกชีวิต เพราะสิ่งสร้างทั้งหลายเป็นผลงานแห่งความรักของพระองค์ ตั้งแต่หน้าแรกของพระคัมภีร์แล้วที่มีการพูดถึงความดีของธรรมชาติอย่างชัดเจน “พระเจ้าทรงเห็นว่าทุกอย่างที่ทรงสร้างเป็นสิ่งดีงาม” (ปฐก 1,31) สัตว์ พืช ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ทะเล...ดีงามไปหมด แต่ละอย่างมีคุณค่าในตัวมันเอง


มนุษย์จึงต้องเห็นศักดิ์ศรีของโลก เคารพธรรมชาติ เปิดใจรับความมั่งคั่งแห่งสิ่งสร้าง เมื่อมนุษย์ยอมรับในศักดิ์ศรีของสิ่งสร้าง เขาก็จะยืนยันคุณค่าและสิทธิของสิ่งสร้าง พร้อมกับหลีกเลี่ยงการทำลายหรือใช้สิ่งสร้างอย่างผิดๆ และช่วยกันพัฒนาสิ่งแวดล้อมและอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน


สังคมอุตสาหกรรมเน้นการผลิตและประสิทธิผล แต่บ่อยครั้งก็ย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์ ทำให้มนุษย์เป็นแค่ผู้ผลิตและผู้บริโภค วัฒนธรรมแห่งชีวิตต้องนำไปสู่ท่าทีที่เอื้อต่อระบบนิเวศอย่างแท้จริง ซึ่งแสดงออกมาในการรักมนุษย์ รักสัตว์และพืช รักสิ่งสร้างทั้งมวล พร้อมกับถือเป็นหน้าที่ที่จะปกป้องและส่งเสริมชีวิตด้วยการต่อสู้กับการบ่อนทำลายและความตาย เมื่อพบเห็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรมและการทำลายธรรมชาติ การมุ่งแต่พัฒนา เราต้องคำนึงถึงคำของหัวหน้าใหญ่ซีเอตเติลที่ว่า “สิ่งที่ทำร้ายโลก ก็ทำร้ายบุตรชายและบุตรสาวของโลกด้วย”


นิเวศวิทยาเป็นการแสดงออกของความเป็นจิตหนึ่งอันเดียวกันระหว่างมนุษย์ในการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรของโลก ดังที่ทางพระสันตะสำนึกยืนยันในการประชุมสุดยอดว่าด้วยสนับสนุนการพัฒนาของโลกในปี 2002 การพัฒนาต้องมี “คุณค่าด้านจริยธรรม ไม่เช่นนั้นจะเป็นการพัฒนาที่ไม่ชอบธรรม” เพราะเหตุนี้เอง “การพัฒนาต้องคำนึงถึงแง่มนุษย์และอย่างครบองค์” ดังนั้น จึงมีการใช้คำว่า “นิเวศวิทยาเชิงมนุษย์” ซึ่ง “ต้องถือตามแนวศีลธรรมในกิจกรรมที่มนุษย์ทำต่อสภาพแวดล้อม” การดูแลครอบครัว การส่งเสริมและปกป้องงาน การต่อสู้กับความยากจน การพัฒนาด้านการศึกษาและการบริการด้านสาธารณสุข ความเป็นจิตหนึ่งเดียวกันระหว่างชาติเพื่อพัฒนามนุษย์อย่างครบองค์...คือบางประเด็นที่ทางพระสันตะสำนักได้เสนอแนะเพื่อทำให้นิเวศวิทยาควรค่าแก่มนุษย์”20


การดูแลและรักสิ่งสร้างจึงเป็นหน้าที่ของเราต่อระบบนิเวศ เป็นการส่งเสริมระบบนิเวศในชีวิตประจำวัน อบรมตัวเราเองและอบรมเยาวชนให้เคารพธรรมชาติและดูแลธรรมชาติ ใช้สิ่งที่ธรรมชาติมีให้ (น้ำ ต้นไม้ สัตว์ ฯลฯ) อย่างดีและอย่างพอเพียง พร้อมทั้งคำนึงถึงความดีของผู้อื่น สนับสนุนให้ปกป้องและค้ำจุนการพัฒนาแผ่นดินและทรัพยากรตามธรรมชาติ...ปัจจุบันนี้ การพัฒนาทัศนคติและท่าทีด้านนิเวศวิทยาเป็นแง่หนึ่งที่สำคัญของการอบรมแบบบูรณาการ


ให้เราคิดถึงนักบุญฟรังซิส อัสซีซีและบทเพลงแห่งธรรมชาติ


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ทรงฤทธิ์ พระทัยดี

คำสรรเสริญ สิริมงคล เกียรติ

และคำถวายพรทั้งหมด จงมีแด่พระองค์

ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นของพระองค์ผู้เดียว

ข้าแต่องค์พระผู้สูงสุด

ไม่มีมนุษย์ใดสมควรเอ่ยพระนามพระองค์


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

สิ่งสร้างทั้งหมดสรรเสริญพระองค์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยทางดวงอาทิตย์พี่ชาย

ที่นำวันใหม่มาให้ และทอแสงสว่างของพระองค์ให้แก่โลก

ดวงอาทิตย์ช่างงดงามและเจิดจ้าในความงดงามของมัน

สะท้อนความงดงามและประกายเจิดจ้าของพระองค์


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ลูกขอสรรเสริมพระองค์ผ่านทางดวงจันทร์พี่สาว

และดาราน้อยใหญ่

พระองค์ทรงสร้างมันไว้ในท้องฟ้า

แจ่มจรัส ประเสริฐ และงดงาม


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ลูกขอสรรเสริญพระองค์ผ่านทางสายลมพี่ชาย

และผ่านทางดินฟ้าอากาศ ทั้งในยามมีเมฆปกคลุมและยามปลอดโปร่ง

สภาพอากาศทุกชนิด

ที่พระองค์ทรงใช้เพื่อค้ำจุนสิ่งสร้างของพระองค์


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ลูกขอสรรเสริญพระองค์ผ่านทางน้ำพี่สาว

ซึ่งมีประโยชน์ สุภาพ ประเสริฐ และบริสุทธิ์


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
ลูกขอสรรเสริญพระองค์ผ่านทางไฟพี่ชาย

ซึ่งพระองค์ใช้ให้ส่องสว่างยามค่ำคืน

งดงาม ขี้เล่น กำยำ และแข็งแรง


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ลูกขอสรรเสริญพระองค์ผ่านทางโลกพี่สาว

ที่ให้เราอาศัยอยู่ ที่ปกครองเรา

และผลิตต้นไม้ดอกหลากหลายสีสันและสมุนไพร


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ลูกขอสรรเสริญพระองค์สำหรับผู้ที่ให้อภัยเพราะเห็นแก่ความรักต่อพระองค์

และอดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วยและความทุกข์ยากลำเค็ญทุกชนิด


บุญของผู้ที่รักษาสันติภาพ

เพราะเขาจะได้รับมุงกุฎจากพระองค์ พระเจ้าผู้สูงสุด


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ลูกขอสรรเสริญพระองค์ผ่านทางความตายพี่สาว

ซึ่งไม่มีมนุษย์คนใดหนีพ้นได้


วิบากแก่ผู้ที่ตายในบาปหนัก

บุญแก่ผู้ที่ตายขณะทำตามพระประสงค์ของพระองค์

เพราะความตายที่สองจะไม่อาจทำอันตรายแก่เขาได้เลย


ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า

ลูกขอสรรเสริญพระองค์

ขอโมทนาพระคุณ

และขอรับใช้พระองค์ด้วยใจสุภาพ



8. สรุป

เพื่อสรุปสิ่งที่ได้พูด พ่อขอเสนอเนื้อหาซึ่งผู้คนหลากหลายศาสนาร่วมกันร่างขึ้นในระหว่างการสัมมนา “รัฐสภาศาสนาของโลกครั้งที่ 4 เมืองบาร์เชโลนา 2004”


แด่โลก


เรา พลเมืองของโลก

ที่กำลังก้าวเดินไปข้างหน้า กำลังแสวงหา

และทายาทของขนบธรรมเนียมเก่าแก่ที่ส่งทอดมา

อยากจะประกาศว่า


ชีวิตมนุษย์ในตัวมันเองเป็นสิ่งน่าพิศวง

ธรรมชาติเป็นแม่และเป็นครอบครัวของเรา

ที่เราต้องรักและรักษาไว้


สันติภาพคือสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นด้วยความจริงจัง

ด้วยความยุติธรรม การให้อภัยและใจกว้าง


วัฒนธรรมต่างๆ

เป็นทรัพยากร ไม่ใช่อุปสรรค


โลกเป็นสมบัติ

ถ้าเราดำเนินชีวิตในความลึกซึ้ง

ศาสนาเป็นเส้นทาง

ที่นำไปสู่ความลึกซึ้ง


ศาสนาพบพลังและความหมายในการค้นหา

เปิดสู่พระธรรมล้ำลึกที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้


การสร้างหมู่คณะช่วยเราให้มีประสบการณ์นี้


ศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น

สำหรับสันติภายใน ความกลมกลืนกับตนเองและโลก

ก่อให้เกิดความความทึ่ง ความยินดี และความรู้คุณ


เราสังกัดอยู่ในขนบธรรมเนียมฝ่ายศาสนาที่หลากหลาย

ที่อยากจะเสวนากัน


เราอยากจะมีส่วนกับทุกคน

ในการดิ้นรนเพื่อโลกที่ดีกว่า

เพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติ

ความหิวโหยและความยากจน

สงครามและความรุนแรง

การทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติ

การไม่รู้จักเปิดสู่ประสบการณ์ลึกซึ้งแห่งชีวิต

การขาดความเคารพในอิสรภาพและความแตกต่าง


เราอยากแบ่งปันกับทุกคน

ผลของการเสาะหา

ความใฝ่ฝันสูงสุดของมนุษย์

ด้วยความเคารพในสิ่งที่แต่ละคนเป็น

พร้อมกับเสนอว่าเราสามารถอยู่ด้วยกัน

และมีชีวิตที่ควรค่าได้


ส่วนอีกเนื้อหานั้น พ่ออยากเสนอในรูปของนิทาน อย่างที่ทำในปีก่อน เป็นนิทานที่ชี้บอกถึงความสำคัญของท่าทีที่ดีต่อชีวิต เป็นท่าที่ที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมแห่งความตายที่เรากำลังมีชีวิตอยู่โดยไม่รู้ตัวและวัฒนธรรมแห่งชีวิตที่ทำให้ชีวิตเราและชีวิตผู้อื่นเปี่ยมด้วยความยินดี มีสีสันและใจกว้าง


เมื่อไปเยี่ยม Belarus พ่อประทับใจการแสดงของกลุ่มเยาวชนที่พบในเมือง Minsk พ่อชอบมากและคิดทันทีว่า พ่อจะแบ่งปันเรื่องนี้ให้ครอบครัวซาเลเซียน นี่คือสิ่งที่พ่ออยากจะมอบให้แก่สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวซาเลเซียน กล่าวคือร่มสีเหลืองของพ่อ ร่มที่พ่อได้รับจากคุณพ่อบอสโก


ร่มสีเหลือง


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีเมืองหนึ่งที่น่าเศร้ามาก เวลาฝนตก ทุกคนเดินไปมาตามถนนถือร่มสีดำ ดำสนิท


ทุกคนมีสีหน้าเศร้า...โดยเฉพาะเมื่ออยู่ใต้ร่มดำ วันหนึ่ง ฝนตกหนักเป็นพิเศษ มีชายคนหนึ่งดำเนินฝ่าสายฝน กางร่มสีเหลือง แถมยังมีสีหน้ายิ้มแย้ม คนที่เดินผ่านไปมาต่างก็มองเขาด้วยสีหน้าไม่พอใจ พึมพัมว่า “ดูสิ น่าทุเรศจัง เขาดูตลกมากที่ถือร่มเหลือง ฝนเป็นเรื่องจริงจัง ร่มจึงต้องเป็นสีดำ”


หลายคนโกรธและพูดอย่างไม่พอใจว่า “อะไรหนอที่นำเขามาที่นี่ แถมเดินกลางฝนด้วยร่มเหลือง อยากจะอวดดีหรือไง?” บางคนพูดกับเจ้าหน้าที่ว่า “เขาคงหยิ่งลำพองเอาการ อยากจะทำตัวเด่น เขาถือว่าฝนเป็นเรื่องเล่นๆหรือนี่?”


ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรขำในเมืองนี้ เพราะฝนตกบ่อยๆและร่มทุกคันสีดำ


มีแต่นาตาสชา เท่านั้นที่ไม่เข้าใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เธอครุ่นคิด “เมื่อฝนตก ร่มก็คือร่ม สีเหลืองหรือสีดำไม่สำคัญ ขอให้กันฝนได้ก็พอแล้ว” ยิ่งกว่านั้น เธอยังสังเกตว่าชายคนนั้นมีท่าทางสบายและเป็นสุขอยู่ใต้ร่มเหลือง เธอจึงอยากจะรู้ให้มากกว่านั้น


วันหนึ่ง นาตาสชากำลังออกจากโรงเรียน มารู้ตัวว่าลืมร่มดำไว้ที่บ้าน เธอยักไหล่และเริ่มเดินตากฝนกลับบ้าน ทันใดนั้น เธอเหลือบไปเห็นชายถือร่มเหลือง “เข้ามาในร่มไหม?” เขาเชื้อเชิญ นาตาสซาลังเล ถ้าเธอเข้าไปอยู่ใต้ร่มเหลือง ทุกคนก็จะพากันหัวเราะเยาะเธอ แต่แล้วเธอก็คิด “เมื่อฝนตก ร่มก็คือร่ม จะสีดำหรือสีเหลืองก็ร่มเหมือนกัน มีร่มกันฝนดีกว่าเดินตากฝนอยู่อย่างนี้” เธอจึงตอบรับคำเชิญและเข้าไปอยู่ใต้ร่มเหลืองเคียงข้างสุภาพบุรุษผู้ใจดี


แล้วนาตาสชาก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมสุภาพบุรุษคนนี้จึงมีความสุข อยู่ใต้ร่มเหลืองดินฟ้าอากาศดี ดวงอาทิตย์ส่องแสงและท้องฟ้าสีครามมีนกน้อยใหญ่บินไปส่งเสียงร้องไป ในขณะที่นาตาสชากำลังทึ่งอยู่ ชายผู้นั้นก็ระเบิดเสียงหัวเราะ พร้อมกับพูดว่า “ฉันรู้ เธอกำลังแปลกใจ ฟังนะ ฉันจะอธิบายทุกอย่างให้


ครั้งหนึ่งฉันก็เคยอยู่ในเมืองน่าเศร้าแห่งนี้ ฝนตกตลอดเวลา ฉันเคยใช้ร่มดำ วันหนึ่ง ขณะกำลังออกจากที่ทำงาน ฉันลืมเอาร่มออกมาด้วย แต่ฉันไม่ได้กลับไปเอามัน ฉันเริ่มออกเดินตากฝนกลับบ้าน มีชายคนหนึ่งเชิญให้ฉันเข้าไปอยู่ในร่มสีเหลืองของเขา ฉันลังเลใจเหมือนเธอ ฉันกลัวที่จะแตกต่างจากคนอื่นและถูกหัวเราะเยาะ แต่แล้วฉันก็ตอบรับเพราะกลัวจะเป็นหวัด


ฉันสังเกตว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในร่มเหลือง อากาศเลวร้ายก็หายไป ชายคนนั้นสอนฉันว่า คนที่อยู่ใต้ร่มดำมักจะเศร้าและไม่อยากจะพูดกับใคร เสียงฝนและร่มดำทำให้พวกเขารู้สึกหดหู่ เมื่อหันมามองเขา ฉันไม่เห็นเขาแล้ว มารู้ตัวว่าฉันกำลังถือร่มเหลืองอยู่ เขาลืมร่มหรือเปล่าหนอ? ฉันมองหาเขา แต่เขาไม่อยู่แล้ว ฉันเลยเก็บร่มเหลืองไว้ อากาศดีไม่เคยหายไปจากฉันเลย”


นาตาสชาอุทาน “เรื่องน่าทึ่งจัง คุณไม่อายหรือที่เก็บร่มคนอื่นไว้?” ชายคนนั้นตอบ “ไม่เลย เพราะฉันรู้ว่าร่มนี้เป็นของทุกคน ฉันแน่ใจว่าชายคนนั้นคงได้ร่มเหลืองมาจากคนอื่นเหมือนกัน”


เมื่อมาถึงหน้าบ้านของนาตาสชา พวกเขาร่ำลากัน ทันทีที่สุภาพบุรุษคนนั้นหายไป นาตาสชาก็มารู้ตัวว่าเธอกำลังถือร่มเหลืองอยู่ในมือ เขาหายไปไหน ไม่มีใครรู้ และเช่นนี้ นาตาสชาก็เก็บร่มเหลืองไว้ แต่เธอรู้แก่ใจว่า ร่มเหลืองนี้จะไปตกอยู่ในมือคนอื่น ต้องส่งความสุขต่อไปให้คนอื่น


สมาชิกที่รัก พ่อขอจบด้วยการส่งความสุขปีใหม่ 2007 ให้ท่าน พร้อมกับเชื้อเชิญท่านให้รื้อฟื้นความเชื่อมั่นในพระเจ้าผู้ทรงรักชีวิต พร้อมกันนั้นให้ร่วมมือกับพระองค์ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งชีวิต ดังที่บรรดามรณสักขีชาวสเปนผู้ได้รับการประกาศเป็นบุญราศีเป็นประจักษ์พยานให้แก่เรา พ่อขอมอบท่านไว้ในความอารักขาของพระมารดาแห่งพระเจ้าและพระมารดาของเรา ขอพระแม่ช่วยชี้นำ ประทานพรและทำให้ชีวิตและกระแสเรียกของท่านมีประสิทธิผล


ด้วยความรักในดอนบอสโก

คุณพ่อ Pascual Chávez Villanueva

อัคราธิการ












1 John Paul II, Address during the Prayer Vigil for the VIII World Youth Day at Denver, 14 August 1993, in L’Osservatore Romano, 17/18-8-1993.

2 Cfr. Mission Statement of the Salesian Family, nn. 9. 10. 16.

3 JOHN PAUL II, Encyclical Evangelium Vitae, 5.

4 L’Osservatore Romano, (Eng. Edition) 15-03-2006, p. 5.

5 Evangelium Vitae, 12.

6 Evangelium Vitae, 34.

7 Evangelium Vitae,38.

8 Ibid, 80.

9 John Paul II, Apostolic Exhortation Familiaris Consortio, 17.

10 Cfr. P. BRAIDO, Prevenire non Reprimere. LAS, Rome 1999, pp. 324-325.

11 F.Orestano, quoted by P.BRAIDO, op.cit. p. 236.

12 A.DA SILVA FERREIRA, Il dialogo tra don Bosco e il maestro Franceso Bodrato – 1864, RSS 3 (1984) 385.

13 J.BOSCO, The life of Dominic Savio, p. 50, OE XI p. 200,

14 Cfr.P.BRAIDO, op.cit. p. 233.

15 Cfr. Evangelium Vitae, 87.

16 SDB Constitutions, 2.

17 Evangelium Vitae, 79.

18 Evangelium Vitae, 82.

19 Evangelium Vitae, 97.

20 Cfr. Document of the Pontifical Council for Justice and Peace on the occasion of the World Summit on Sustainable development in Johannesburg (23 August-4 September 2002)

60