351-400|th|386 สมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า

โรม, 13 มิถุนายน 2004

สมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า


พี่น้องสมาชิกที่รัก

พ่อเขียนถึงท่านในวันสมโภชพระกายของพระคริสตเจ้า (Corpus Domini) อันเป็น “ที่ระลึก” ของพระเจ้า และธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตของพระองค์ที่ถวายบนไม้กางเขน อีกทั้งเป็นเครื่องหมายแห่งความรักไม่มีเงื่อนไขของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา สมโภชนี้จึงเป็นการชี้บอกว่า พระศาสนจักรซึ่งเป็นหมู่คณะผู้มีความเชื่อถือกำเนิดจากศีลมหาสนิท เราต่างทึ่งในจินตนาการของพระเยซูเจ้าที่ทรงรับเอา “กาย” เพื่อเราและทำให้เราร่วมเป็นหนึ่งกับชีวิตพระของพระองค์

แม้บทอ่านของพิธีกรรมสมโภช ปี C จะเชิญเราให้รำพึงพระวรสารของลูกาที่พูดถึงการทวีขนมปัง เราคงไม่อาจจะมองข้ามพระวรสารของนักบุญยอห์น ที่พูดถึงศีลมหาสนิทอย่างลึกซึ้งได้ เพราะทำให้เราเข้าใจว่า พระวาจาทรงรับเอากายอย่างแท้จริงและผู้ฟังได้รับการเชื้อเชิญให้ร่วมโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ วันนี้ดังเช่นเมื่อวานนี้

พ่อขออวยพรให้การฉลองศีลมหาสนิทที่ระลึกถึงการที่พระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงดูเราด้วยปังแห่งพระวาจาและพระกาย ได้กลับเป็นต้นธารแห่งความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นพี่น้องกันในหมู่คณะของเรา และความกระตือรือร้นในการช่วยเยาวชนให้รอด เช่นนี้เราก็สามารถให้ชีวิตของเราเพื่อทำให้พวกเขามีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น

นี่คือเคล็ดลับแห่งพลังและความศักดิ์สิทธิ์ของบุญราศีใหม่ของเรา...คุณพ่อ Augusto Czartoryski, ซิสเตอร์ Eusebia Palomino และ ฆราวาสผู้ร่วมงานซาเลเซียน Alessandrina da Costa โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านสุดท้ายที่ดำเนินชีวิตตลอดเวลาสิบสามปีโดยไม่ทานอาหารอื่น นอกจากศีลมหาสนิท นอกนั้น ศีลมหาสนิทยังเป็นที่มาของความเข้มแข็งฝ่ายจิตของนักบุญเยาวชนของเรา กล่าวคือ ดอมินิก ซาวีโอ และ เลารา วีกุญญา ซึ่งหล่อเลี้ยงความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าด้วยพระวาจาและพระกายของพระเยซูเจ้า กระทั่งบรรลุถึงการอุทิศตนและมอบชีวิตเพื่อผู้อื่น นี่คือเส้นทางที่เราด้วยต้องเดินเพื่อกลับกลายเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้ การเป็นศิษย์และร่วมส่วนในชีวิตและพันธกิจของพระเยซูเจ้าไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ในความเป็นจริงแล้วก็เป็นอย่างนี้มาตลอด ผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่ต่างก็เล่าเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวคือ พระเยซูเจ้าใช้วิธีง่ายๆ ง่ายจนเกินไป (มก 1:16-20; ยน 2:1-11) ในการเรียกบางคนให้ติดตามพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงสามารถทำให้พวกเขาซื่อสัตย์อยู่กับพระองค์ได้นาน (มก 14:50; ยน 18:27)

พระวรสารเล่มที่สี่ทิ้งความทรงจำอันหนึ่งไว้ให้แก่เรา เป็นทั้งที่ระลึกและเรื่องราวน่าทึ่งของความยากลำบากของศิษย์ของพระเยซูเจ้าในการอยู่กับพระองค์ หลังจากทวีขนมปังอย่างน่าพิศวงบนภูเขาต่อหน้าต่อตาคนนับพัน (ยน 6:3-14) และการพบปะอย่างกะทันหันในทะเลสาบที่กำลังปั่นป่วนด้วยคลื่นลมในความมืดมิด (ยน 6:16-21) พระเยซูเจ้าก็ทรงประกาศในศาลาธรรมแห่งคาเปอร์นาอุมว่าจะมอบกายของพระองค์เพื่อดับความหิวของประชาชนและศิษย์ที่งงงันของพระองค์ดังปังแห่งชีวิตที่มาจากสวรรค์ (ยน 6:35-41) พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้พวกเขาเชื่อในพระวาจาและกินเนื้อของพระองค์ ผู้นิพนธ์พระวรสารชี้แจงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ศิษย์จำนวนมากเห็นว่า คำสอนของพระองค์แรงเกินไป และรู้สึกเป็นที่สะดุดจนต้อง “ถอยและไม่ติดตามพระองค์อีกต่อไป” (ยน 6:66;6:60)

สาวกทั้งสิบสองคน เมื่อถูกถามจากพระเยซูเจ้า ต่างก็ยืนยันเช่นเดียวกับเปโตรว่าจะอยู่กับพระองค์ต่อไป ไม่ใช่เพราะว่าเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ตรัส แต่เพราะเห็นว่าไม่มีใครที่สอนด้วยอำนาจเหมือนพระองค์ ไม่ใช่เพราะว่าคำพูดของพระองค์จะถูกเปลี่ยนแปลงให้อ่อนลง แต่เพราะเป็นพระวาจาทรงชีวิตนิรันดร (ยน 6:68) วันนี้เช่นเมื่อวานนี้ ศิษย์ที่แท้จริงจะอยู่เคียงข้างพระเยซูเจ้า ถึงแม้ว่าพระวาจาของพระองค์จะเรียกร้องมาก แต่ก็ไม่มีใครอื่นที่พวกเขาเชื่อได้สนิทใจเหมือนพระองค์ และพระวาจาของพระองค์ก็ให้ความหวังแก่การคาดหมายและให้หลักประกันแก่พวกเขาได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

สมาชิกที่รัก พ่ออยากให้เราทุกคนฟังพระเยซูเจ้า เหมือนศิษย์ทั้งสิบสองและทำอย่างที่พวกเขาทำ คือ หล่อเลี้ยงชีวิตเยาวชนด้วยปังและด้วยพระเจ้า พ่อมีความประสงค์ยิ่งใหญ่ให้เราฟังพระองค์ แม้กระทั่งเมื่อพระองค์ทรงมาหาเราขณะที่เราต้องอยู่ในความมืดและรายล้อมด้วยความชั่วต่างๆ เหมือนผู้ฟังที่สับสนและลำบากใจในสมัยของพระองค์ พ่อใฝ่ฝันที่จะเห็นเราทุกคนอุทิศเวลาสักเล็กน้อยเพื่อต้อนรับพระเยซูเจ้าและฟังพระวาจาของพระองค์ “สิ่งเดียวเท่านั้นที่จำเป็น” (ลก 10:42) เพื่อว่าในที่สุดแล้วเราจะได้เข้าใจว่าไม่มีใครนอกเหนือไปจากพระองค์ที่มีพระวาจาสามารถให้ความหวังแก่เราได้และทำให้เรามีชีวิตวันนี้และเสมอไป ดังนั้น พ่อจึงขอเชื้อเชิญท่านให้เริ่มต้นจากพระเยซูเจ้า พระวาจาของพระเจ้า


1. เพ่งพิจารณาดูพระคริสตเจ้าด้วยการฟังพระวาจาของพระเจ้า

ในโอกาสที่พ่อนำเสนอเอกสารของสมัชชา ซึ่งเป็นดังพันธกิจสำหรับระยะเวลาหกปี พ่อเขียนว่า “อนาคตแห่งความมีชีวิตชีวาของเราอยู่ที่ความสามารถของเราที่จะสร้างหมู่คณะที่มีความหมายแห่งพระพรพิเศษของพระจิตเจ้าสำหรับปัจจุบันนี้” แล้วนั้นพ่อก็เสริมว่า “เงื่อนไขพื้นฐานคือพันธะสู่ความศักดิ์สิทธิ์”1 ในความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นดังที่พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ตรัส “การมุ่งไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์เป็นโครงการเชิงสังเคราะห์แห่งทุกชีวิตของผู้ได้รับการเจิม แม้ในมุมมองแห่งการฟื้นฟูไปสู่สหัสวรรษที่สามด้วย”2

ดังนั้น พ่ออยากจะพูดคุยกับพี่น้องสมาชิกในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง โดยก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง และหยุดอยู่ที่ประเด็น “พระวาจาของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตหมู่คณะและชีวิตแต่ละคน”3 มาตรฐานสูงของชีวิตคริสตชน ซึ่งเราเองก็ถูกเรียกไปสู่มาตรฐานเดียวกันนี้ “ย่อมจะเข้าใจไม่ได้ถ้าไม่เริ่มต้นจากการฟังพระวาจาของพระเจ้าที่ได้รับการฟื้นฟูอยู่ตลอดเวลา”4 และถ้า “พระเจ้าต้องเป็นความสนใจอันดับแรกของเรา” และ “เป็นพระองค์ที่ทรงส่งเราไปหาเยาวชนและมอบเยาวชนให้เราดูแล”5 เราต้องมีพระวาจาของพระเจ้า “ในมือทุกวัน”6 เพื่อจะได้เข้าใจถ่องแท้ถึง “ความรู้อันสูงส่งเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า” (ฟป 3:8)7 และ “ก้าวไปกับเยาวชนเพื่อนำพวกเขาไปพบพระบุคคลของพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (พระวินัย 34)

จดหมายฉบับของพ่อฉบับนี้จึงเป็นการต่อเนื่องเส้นทางเดินที่พ่อได้ชี้แนะก่อนหน้านี้8 กล่าวคือ ความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็น “หน้าที่สำคัญ” ของเรา9 และเป็น “ของขวัญประเสริฐที่สุดที่เราสามารถมอบให้แก่เยาวชน” (พระวินัย 25) ซึ่งเป็นดังพันธกิจอันดับแรกของการพูดถึงพระเจ้าและมอบพระองค์ให้แก่เยาวชน นอกนั้นความศักดิ์สิทธิ์ของเราเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ได้รับการเจิม กล่าวคือ “ประจักษ์พยานเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และต่อหน้าพี่น้องถึงชีวิตและการกระทำของพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระวาจาที่รับเอากาย”10 มันเป็น “การต่อเนื่องการประทับอยู่ของพระเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพในประวัติศาสตร์”11 ดัง “รูปแบบหนึ่งของพระวรสารที่เคลื่อนไหวไปในศตวรรษ”12 ดังนั้น เพื่อจะได้เป็นในสิ่งที่เราได้รับเลือกให้เป็น กล่าวคือ ผู้เตือนความทรงจำถึงพระคริสตเจ้า เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการประทับอยู่ของพระองค์ในประวัติศาสตร์ และเป็นผู้ประกาศพระวรสารให้แก่โลก เราต้องอุทิศตนด้วยความตระหนักใจและใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อเพ่งพิจารณาดูพระคริสตเจ้า

ในความเป็นจริงแล้ว “กระแสเรียกแห่งชีวิตการรับเจิมเกิดจากการเพ่งพิจารณา โดยเริ่มจากช่วงเวลาแห่งความสัมพันธ์ที่เข้มข้น และปฏิสัมพันธ์แห่งมิตรภาพอันลึกซึ้งกับพระคริสตเจ้า และจากความงดงามและแสงอันเจิดจ้าที่เห็นได้จากพระพักตร์ของพระองค์ จากประสบการณ์เหล่านี้ ความปรารถนาที่จะอยู่กับพระองค์ตลอดไปก็ค่อยๆ สุกงอมขึ้น “พระเจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ” (มธ 17:4) และติดตามพระองค์ไปในที่สุด ทุกกระแสเรียกจึงได้รับการบ่มอย่างต่อเนื่องในความสนิทชิดเชื้อกับพระคริสตเจ้า”13

การพบปะกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพทุกวันนี้ ไม่เป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ หรือเป็นเรื่องบ้าคลั่ง แต่เป็นพระหรรษทานที่เป็นไปได้ และเป็นพระพรที่ทุกคนสามารถได้รับ เราทุกคนสามารถพบกับพระองค์ได้ “เพราะพระเยซูเจ้าประทับอยู่ ทรงดำเนินชีวิตและประกอบภารกิจในพระศาสนจักรของพระองค์ พระองค์ประทับอยู่ในพระศาสนจักร และพระศาสนจักรมีชีวิตอยู่ในพระองค์ (ยน 15:1…;กท 3:28; อฟ 4:15; กจ 9:5) พระองค์ประทับอยู่ในพระคัมภีร์ ซึ่งในแต่ละตอนมีแต่พูดถึงพระองค์ (ลก 24:27,44-47)14

เพื่อจะมาพบกับเรา “เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้” (กท 4:4) พระเจ้าทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ในพระเยซูเจ้าแห่งนาซาเรท ทว่าตั้งแต่เริ่มแรก ทรงเป็นพระวจนาตถ์ (ยน 1:1) ในฐานะที่เป็นพระวาจาแห่งปัจจุบันและผู้อยู่ในประวัติศาสตร์ พระเจ้าทรงมาพบเราทั้งในพระคัมภีร์ซึ่งเป็นการรับเอากายแห่งวจนาตถ์ของพระเจ้า และในพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าที่ทรงรับเอากาย เราจึงสามารถพบพระองค์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีสื่อกลางหรือแม้แต่คนกลาง พระคัมภีร์และประวัติของพระเยซูเจ้า จึงเป็นการรับเอากายอันเดียวกันที่มีสองแง่ กล่าวคือ พระวจนาตถ์ทรงรับเอากายในครรภ์ของพระแม่มารีอาและกลับกลายเป็นตัวอักษรในหนังสือพระคัมภร์ “นัยแรกถูกห่อหุ้มด้วยเลือดเนื้อ และนัยที่สองถูกห่อหุ้มด้วยตัวอักษร”15 ดังนั้น พระคัมภีร์จึงเป็น “หนังสือเล่มเดียว หรืออีกนัยหนึ่งเป็นพระคริสตเจ้า เพราะทั้งพระคัมภีร์พูดถึงพระคริสตเจ้าและพระคัมภีร์สำเร็จลงในพระคริสตเจ้า”16 นักบุญ Ignatius of Antioch เขียนอย่างกล้าหาญว่า “ข้าพเจ้าพบที่หลบภัยในพระวรสารเหมือนกับหลบภัยในพระกายของพระคริสตเจ้า”17 เพราะเหตุนี้นักบุญ Jerome ยืนยันว่า “ใครไม่รู้จักพระคัมภีร์ก็ไม่รู้จักพระคริสตเจ้า”18

เพื่อจะรู้จักพระเยซูเจ้า เราไม่สามารถจะทำอย่างอื่น นอกจากเข้าหาพระวาจาของพระเจ้า การเพ่งพิจารณาดูพระคริสตเจ้าจึงต้องผ่านทางการรู้จักพระคัมภีร์ ถึงแม้จะไม่ใช่วิธีเดียว ดังนั้น ต้องเป็นการรู้จักที่ใกล้ชิด ตัวต่อตัว และผ่านทางดวงใจเพราะ “มีแต่ดวงใจเท่านั้นที่มองเห็นพระวจนาตถ์”19 เมื่อใดที่ดวงใจของผู้มีความเชื่ออ่าน และตาของเขาตรวจสอบ20 พระวาจาที่เขียนไว้ก็กลับกลายเป็นพระวาจาทรงชีวิต และเมื่อมีการพบกับพระวาจาก็เกิดการจำลองแบบพระคริสตเจ้า นี่คือพันธะหน้าที่แรกของเรา ดังที่พระสันตะปาปาทรงเตือนผู้รับการเจิม “ทุกอย่างในชีวิตของผู้รับเจิม ถือกำเนิดและเกิดใหม่ทุกวันอย่างต่อเนื่องในการเพ่งพิจารณาดูพระพักตร์ของพระคริสตเจ้าอย่างต่อเนื่อง พระศาสนจักรเองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการเพ่งพิจารณาดูความงดงามแห่งพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า ผู้เป็นเจ้าบ่าว ถ้าคริสตชนแต่ละคนคือผู้มีความเชื่อที่เพ่งพิจารณาดูพระพักตร์ของพระพระเยซูคริสตเจ้า ท่านจะต้องทำเช่นนั้นอย่างพิเศษ ดังนั้น จงอย่าเบื่อหน่ายที่จะหยุดเพื่อรำพึงพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระวรสาร เพื่อชีวิตของท่านจะได้มีท่าทีของพระวจนาตถ์ผู้รับเอากาย”21

การหยุดเพื่อฟังพระวาจาจึงเป็นเงื่อนไขเพื่อการเพ่งพิจารณาดูพระคริสตเจ้า ซึ่งนะนำไปสู่การรักและการอุทิศตนทั้งครบด้วยความเต็มใจที่พร้อมจะเปิดใจให้การต้อนรับทุกคน มารีอาได้เรียนรู้ “สิ่งเดียวที่จำเป็น” จากพระเยซูเจ้าเอง กล่าวคือ การอุทิศตนเพื่อฟังพระวาจา นี่คือวิธีที่ดีที่สุดของการต้อนรับพระเจ้า (ลก 10:42) พระเยซูเจ้าตรัสกับสาวกที่มารวมตัวกันในอาหารค่ำครั้งสุดท้ายว่า “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขาและบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรามาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา” (ยน 14:23) ความคุ้นเคยซึ่งเกิดขึ้นจากการพบปะตัวต่อตัวกับพระคริสตเจ้าได้รับการหล่อเลี้ยงจากการฟังพระวาจา และนำไปปฏิบัติ (ลก 8:19-21) พร้อมกันนั้นก็นำไปสู่การลอกเลียนแบบพระบุคคลและภารกิจของพระองค์ สังคายนาวาติกันที่ 2 เรียกร้องว่า “นักบวชติดตามพระคริสตเจ้าดังสิ่งจำเป็นหนึ่งเดียว โดยการฟังพระวาจาของพระองค์และสนใจในสิ่งที่เกี่ยวกับพระองค์”22

เป็นการถูกต้องแล้วที่สมัชชา 25 ได้ยืนยันว่า “ทุกวันนี้หมู่คณะของเราได้รับเรียกให้เป็นประจักษ์พยานให้แก่เยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ยากจนแร้นแค้น ถึงความสำคัญอันดับหนึ่งของพระเจ้า ผู้ทรงเข้ามาในชีวิตของเรา พิชิตชีวิตของเราและทำให้เรารับใช้พระอาณาจักรของพระองค์”23 พระองค์ชี้นำเราให้ “จัดพระองค์เป็นศูนย์กลางความเป็นหนึ่งเดียว” ของชีวิตหมู่คณะของเรา และสนับสนุนให้ “พระวาจาของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิตหมู่คณะและชีวิตของแต่ละคน”24 นี่คือแนวทางหลักของสามประเด็นที่สมัชชา 25 ให้ความสนใจเป็นพิเศษ25 กล่าวคือ สมัชชา 25 เร้าเตือนให้คณะฟังเสียงเรียกร้องของพระศาสนจักรที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า จงกลับไปสู่การฟังพระวาจา คุ้นเคยกับสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงเรียกร้องและดำเนินชีวิตในครอบครัวของพระเจ้า (มก 3;31-35)

ดังนั้น หาก “ชีวิตจิตต้องอยู่ในอันดับแรก” ของชีวิตแห่งการเจิมถวายตัวของเรา และหากว่า “การเลือกอันดับแรกนี้...เป็นเงื่อนไขของประสิทธิผลของงานอภิบาล ความใจกว้างในความรักต่อคนจน และความน่าดึงดูดใจของกระแสเรียกของเราสำหรับชนรุ่นใหม่”26 ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าต้นธารแรกสุดคือพระวาจาของพระเจ้า เพราะพระวาจา “หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ตัวต่อตัวกับพระเจ้าผู้ทรงชีวิตและน้ำพระทัยของพระองค์... การรำพึงพระวาจาของพระเจ้าและธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าก่อให้เกิด... ความเข้มข้นแห่งการเพ่งพิจารณาและความร้อนรนแห่งกิจการแพร่ธรรม”27


2. ฟังพระวาจาของพระเจ้าแบบซาเลเซียน

เราซาเลเซียนมีความตระหนักว่า แม้ว่า “พระวรสารจะเป็นฉบับเดียวและเหมือนกันสำหรับทุกคน” แต่ก็มี “รูปแบบการอ่านพระวรสารแบบซาเลเซียน ซึ่งเป็นที่มาของรูปแบบซาเลเซียนในการดำเนินชีวิตตามพระวรสาร”28 ผู้ตั้งคณะต่างก็อ้างอิงพระวรสารอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้มาซึ่งรูปแบบของกระแสเรียก วินิจฉัยพระพรพิเศษ (charism) และเลือกพันธกิจสำหรับสถาบันของตน 29 คุณพ่อบอสโกก็เช่นเดียวกัน “ได้จับตาอยู่ที่พระคริสตเจ้าเพื่อจะลอกเลียนแบบแนวทางที่สอดคล้องกับพันธกิจและจิตตารมณ์ที่จะยึดถือปฏิบัติ”30 ซึ่งมีการระบุไว้ในพระวินัยข้อ 11 ถึงลักษณะของพระเยซูเจ้าที่ “สะกิดใจเรามากกว่าหมดเมื่ออ่านพระวรสาร”

เราต่างรู้ซึ้งในพระคุณของพระเจ้า เรารู้ว่า “พระคุณของพระจิตเจ้า” ช่วยเราให้ค้นพบ “ความเข้าใจในพระวรสาร” กล่าวคือ “รูปแบบซาเลเซียน” ในการหยั่งถึงพระพักตร์และพันธกิจของพระคริสตเจ้า”31 โดยทางคุณพ่อบอสโก ในสมัยนั้นคุณพ่อบอสโก “ได้เริ่มอ่านพระวรสารแบบซาเลเซียน ทุกวันนี้เราต้องเลียนแบบคุณพ่อ ตามแนวของคุณพ่อ ภายใต้แสงสว่างเดียวกันกับคุณพ่อ และในจิตตารมณ์แห่งการเป็นลูก ในการอ่านพระวรสารในบริบทของเราและในรูปแบบซาเลเซียนปัจจุบัน32 รูปแบบการเข้าถึงพระวาจาแบบซาเลเซียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความอ่อนไหวต่อพระพรพิเศษ (charism) ซึ่งเราต่างก็ “รู้ดีและภาคภูมิใจ”33 พ่อกล้าที่จะบอกด้วยคำพูดของสมัชชาพิเศษว่า “ก่อนอื่นหมด มรดกฝ่ายจิตของเราอยู่ที่การอ่านพระวรสารนั่นเอง”34

การรู้จักพระคริสตเจ้าแห่งพระวรสาร ในรูปแบบที่คุณพ่อบอสโกรู้จักจะเป็นหลักประกันความเป็นซาเลเซียนในการเพ่งพิจารณาดูพระคริสตเจ้า ซึ่งก็เป็นอย่างที่เมื่อเร็วๆ นี้พ่อได้เชื้อเชิญท่านให้ดำเนินชีวิตแบบซาเลเซียน “โดยเพ่งพิจารณาดูพระคริสตเจ้าด้วยสายตาของคุณพ่อบอสโก”35 ประสบการณ์ตัวต่อตัวกับพระคริสตเจ้าดังที่คุณพ่อบอสโกเคยมี เป็นกุญแจเพื่อตีความพระวาจาของพระเจ้าแบบซาเลเซียน ซึ่งก็หมายความว่า ชีวิตและการกระทำของคุณพ่อบอสโกเป็น “พระวาจาของพระเจ้าที่รับเอากาย” สำหรับเรานั่นเอง36 กล่าวคือ มันเป็นการอ่านพระวาจาของพระเจ้าด้วยชีวิตและภายใต้พระพรพิเศษ


2.1 คุณพ่อบอสโก “สงฆ์แห่งพระวาจา”

ในสมัยของคุณพ่อบอสโก พระคัมภีร์ยังไม่ค่อยมีบทบาทในบริบทพระศาสนจักรและสังคม พระคัมภีร์ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นหนังสืออันดับหนึ่งของหนังสือว่าด้วยความเชื่ออื่นๆ ถึงแม้ว่าพระคัมภีร์จะมีบทบาทในชีวิตของคริสตชน แต่คริสตชนต้องเข้าถึงพระคัมภีร์ผ่านทางตัวกลางของพระศาสนจักร โดยเฉพาะในด้านพิธีกรรมและคำสอน และการนำไปประยุกต์ใช้ก็เน้นเรื่องที่สร้างเสริมจิตใจและที่เหมาะกับสถานการณ์37

  • การอบรมด้านพระคัมภีร์และอภิบาล

คำสอนที่คุณแม่มาร์เกรีตาสอน หรือจะพูดให้ดีกว่า คำสอนที่อยู่ในบรรยากาศที่ยอห์นเติบโตขึ้นมา แม้จะไม่มีการอ้างอิงพระคัมภีร์โดยตรง แต่ก็เต็มด้วยความอ่อนไหวและสาระแห่งพระคัมภีร์ ซึ่งมักแสดงออกมาใน “ความรู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า ความพิศวงในผลงานของพระองค์ในสิ่งสร้าง ความกตัญญูสำหรับความดีต่างๆ ที่ได้รับ การคล้อยตามน้ำพระทัย ความเกรงกลัวที่ทำผิดต่อพระองค์”38 พระเจ้าของคุณพ่อบอสโกคือพระเจ้าที่เป็นพระบุคคลผู้ทรงซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งต่างๆ ซึ่งทรงเป็นต้นกำเนิดและเป้าหมายปลายทางพระเจ้าที่ทรงเข้ามาในเหตุการณต่างๆ ที่มีการพูดถึงผ่านทางเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาและสามารถเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน39

ในช่วงที่คุณพ่อบอสโกศึกษาพระคัมภีร์อยู่ในบ้านเณรนั้น เราแทบจะไม่ได้ข้อมูลที่สำคัญอะไรนัก การศึกษาพระคัมภีร์ในสมัยนั้นดูจะมีความสำคัญน้อย ในประวัติศูนย์เยาวชนคุณพ่อบอสโกกล่าวถึงการเอาจริงเอาจังในการอ่านพระคัมภีร์พร้อมกับกล่าวถึงความชอบที่มีต่อภาษากรีกและฮีบรู40 ผลของการศึกษาวิชาเหล่านี้มีการกล่าวถึงในประวัติศูนย์เยาวชนในเชิงเกินความเป็นจริงไปบ้าง41 ในงานเขียนของคุณพ่อบอสโกเราพบว่ามีการอ้างอิงพระคัมภีร์หลายตอน ทว่าการใช้การอ้างอิงนั้นดูจะมีจุดหมายเพื่อเสริมสร้างจิตใจมากกว่า “เมื่อพระคัมภีร์ถูกสอดแทรกเข้าในเนื้อหาของเรื่องเล่า ก็ช่วยเสริมน้ำหนักให้แก่เนื้อหา ซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม ในความหมายกว้างๆ (...) หรือไม่ก็เป็นการพยายามสอดแทรกให้เข้ากับเรื่องที่เล่า (...)42

ในฐานะที่คุณพ่อบอสโกเป็นนักเทศน์ที่ได้รับการเชิญมากเนื่องจาก “คุณพ่อสามารถเทศน์เกี่ยวกับพระวาจาของพระเจ้าได้อย่างง่ายดาย” คุณพ่อกล่าวว่าวิธีเทศน์ของคุณพ่อ “เริ่มจากพระคัมภีร์ตอนหนึ่ง” คำเทศน์ของคุณพ่อจึงมีประสิทธิผล เพราะมีการอ้างคำสอนของพระศาสนจักรและเน้นชีวิตจิตบวกกับการติดนิสัย “อ้างอิงพระคัมภีร์และปิตาจารย์”43 ในช่วงการเทศน์ สิ่งที่สำคัญคือ คุณพ่อได้วอนขอพระหรรษทานพิเศษในวันที่ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ กล่าวคือ ขอให้คำพูดมีประสิทธิผล ดังที่คุณพ่อเขียนในบั้นปลายแห่งชีวิตว่า “ดูเหมือนว่าพระเจ้าสดับฟังคำภาวนาที่ต่ำต้อยของพ่อ”44

ในขณะที่ยืนยันว่าพระคัมภีร์เป็น “พระวาจาของพระเจ้า” เป็นอันดับแรก กระนั้นก็ดี คุณพ่อบอสโกก็ยังอ้างอิงคำสอนของพระศาสนจักร อย่างที่มักจะทำกันในสมัยนั้น45 คุณพ่อเขียนว่า คริสตชนคือผู้ที่มี “พระวาจาของพระเจ้านำทาง”46 เราพูดว่า “พระวาจาของพระเจ้าเป็นแสงสว่าง เพราะพระวาจาของพระเจ้าให้ความสว่างแก่คนและนำทางผู้มีความเชื่อในการกระทำและในการรักผู้อื่น พระวาจาของพระเจ้าจึงเป็นแสงสว่างที่ส่องเข้าถึงรายละเอียดและชี้ให้มนุษย์เห็นว่า เขาจะต้องเดินในเส้นทางไหนเพื่อจะไปถึงชีวิตนิรันดรและเปี่ยมสุข พระวาจาของพระเจ้าเป็นแสงสว่างเพราะทำให้ตัณหาของมนุษย์สงบลง ตัณหาซึ่งเป็นความมืดมิด... ความมืดที่สนิทและอันตรายซึ่งมีแต่พระวาจาของพระเจ้าเท่านั้นที่ขจัดมันได้ นอกนั้น พระวาจาของพระเจ้าเป็นแสงสว่าง เพราะเมื่อได้รับการประกาศอย่างเหมาะสม ก็จะดลบันดาลแสงสว่างแห่งพระหรรษทานเข้าไปในจิตใจของผู้ฟัง และทำให้พวกเขารู้ในความจริงแห่งความเชื่อ”47

  • วิธีการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับความสำคัญในการศึกษาพระคัมภีร์ในช่วงที่คุณพ่อบอสโกเป็นเณรนั้น มีหลายประเด็นที่น่าประทับใจ กล่าวคือ คุณพ่อมีวิธีที่จะประยุกต์พระวาจาของพระเจ้าเข้าไปในระบบการอบรม คุณพ่ออ้างอิง “พระวาจาของพระเจ้า” ในวิธีการอบรมของคุณพ่อตลอดเวลา คุณพ่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่เยาวชน บนพื้นฐานของการประกาศพระวรสาร กล่าวคือ ตั้งอยู่บนฐานของ “พระวาจาของพระเจ้า” และได้รับความกระจ่างจากพระวาจาของพระองค์

ในประวัติของนักบุญดอมินิก ซาวีโอ คุณพ่อบอสโกบรรยายถึงการเติบโตด้านชีวิตจิตของท่านนักบุญและกล่าวตอนหนึ่งว่า “ดอมินิกได้ทำให้พระวาจาของพระเจ้าลงรากในจิตใจ ซึ่งคอยชี้นำเขาให้เดินในเส้นทางสวรรค์” เมื่อกล่าวถึงการที่ดอมินิกอยากที่จะรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์บางตอนที่ยังไม่เข้าใจ คุณพ่อเสริมว่า “นี่เป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบชีวิตตัวอย่างและการก้าวหน้าในฤทธิ์กุศล การทำหน้าที่อย่างครบถ้วน ซึ่งถือว่าดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว”48 และก็เป็นอย่างนั้นจริง เพราะในระเบียบของจำพวกแม่พระนิรมลทินซึ่งดอมินิกได้ร่างขึ้น มีเขียนว่า “เราจะเก็บรักษาพระวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าไว้ในใจอย่างดีที่สุด และเราจะคิดถึงความจริงที่เราได้รับฟังบ่อยๆ”49

งานเขียนที่คุณพ่อบอสโกให้ความสำคัญแก่พระคัมภีร์ในเชิงการอบรมมากที่สุด คือ ประวัติศักดิ์สิทธิ์ (Sacred History) ในบทนำที่คุณพ่อเขียนเกี่ยวกับแรงจูงใจในการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ใหม่นั้น คุณพ่อเน้นให้เห็นข้อผิดพลาดของฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งก่อนๆ ว่าบางตอนยาวไปและอีกบางตอนสั้นไป อีกทั้งขาดการอ้างอิงลำดับเหตุการณ์และความสำคัญของวิธีการอบรม ในเวลาเดียวกันก็มีการปรับปรุงคุณภาพของเนื้อหา โดยบรรยายเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของพระคัมภีร์อย่างถูกต้องแม่นยำ พร้อมกับระวังไม่ให้เนื้อหาใดก่อให้เกิดความคิดที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชน เพื่อทำให้หนังสือมีเนื้อหาเหมาะสมสำหรับเยาวชนทุกคน กระทั่งสามารถชี้แนะพวกเขาได้เต็มปากเต็มคำว่า “จงเอาไปอ่าน” คุณพ่อบอสโกเสริมว่า เพื่อจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวคุณพ่อต้องมีประสบการณ์สัมผัสกับเยาวชน และศึกษาปฏิกิริยาของพวกเขาในสิ่งที่คุณพ่อนำเสนออย่างระมัดระวัง50

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่คุณพ่อบอสโกให้ความสำคัญในการอ้างอิงพระคัมภีร์อย่างมาก คือ เพื่อนเยาวชน (Companion of Youth) ซึ่งมีเนื้อหาที่ทรงไว้ซึ่งคุณค่า “ในด้านชีวิตจิตเช่นเดียวกับที่ “ระบบป้องกัน” (preventive system) มีคุณค่าด้านการอบรม” เนื่องจากเป็น “การเสนอโครงการของชีวิตจิตให้แก่เยาวชน ซึ่งคุณพ่อยืนหยัดจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิตของคุณพ่อ”51 คุณพ่อบอสโกเสนอหนังสือเล่มนี้เป็น “หนังสือศรัทธาเหมาะสำหรับกาลเวลา” และเขียนว่า “พ่อพยายามจะเขียนหนังสือที่เหมาะกับเยาวชน โดยมีพื้นฐานบนพระคัมภีร์และเข้ากับวัยของพวกเขา พร้อมกับเสนอคำสอนพื้นฐานของพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างย่อๆ และชัดเจน”52 ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเราวิเคราะห์หนังสือดังกล่าวก็เห็นว่ามีการอ้างอิงพระคัมภีร์กว่า 40 แห่ง แม้จะไม่ระบุอย่างชัดเจนในแต่ละตอน

นักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง วิเคราะห์งานเขียนของคุณพ่อบอสโกว่ามีแนวของพระคัมภีร์อยู่ในสิ่งที่คุณพ่อเขียน53 ในความเป็นจริงแล้ว ในฐานะนักอบรมและนักพูด คุณพ่อบอสโกใช้จินตนาการเพื่อสื่อสารด้วยทุกสิ่งที่คุณพ่อมี อาทิ การละเล่น ดนตรี ละคร การเดินเที่ยว พิธีกรรม ฉลอง ฯลฯ หนึ่งในวิธีการสื่อสารคือ การนำตอนต่างๆ ในพระคัมภีร์ไปติดตามระเบียงบ้านที่วัลดอกโก ผู้เขียนประวัติของคุณพ่อให้อรรถาธิบายว่า “คุณพ่ออยากให้แม้กระทั่งกำแพงบ้านพูดถึงความสำคัญในการเอาตัวรอดไปสวรรค์”54

เราเชื่อว่า การที่คุณพ่อบอสโกใช้พระคัมภีร์ในงานการอบรมเป็นเหตุผลด้านเทววิทยา กล่าวคือ พระคัมภีร์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ยอดเยี่ยม นอกนั้นก็มีแรงจูงใจอื่นๆ ช่วยเสริม อาทิ การอบรมที่คุณพ่อได้รับจากครอบครัวที่อบอวลด้วยความเชื่อแท้ในพระศาสนา และมีพื้นฐานในพระคัมภีร์ นอกนั้นก็มีประสบการณ์เหนือธรรมชาติที่คุณพ่อได้สัมผัส อาทิ ความฝัน ซึ่งก็เต็มด้วยร่องรอยของพระคัมภีร์ นิสัยใจคอของคุณพ่อและความโน้มเอียงที่จะศึกษาในวิชาสำคัญต่างๆ เช่นว่า ประวัติศาสตร์และการตีความพระคัมภีร์ ร่วมกับประสบการณ์เชิงวัฒนธรรมและการอบรมในสามเณราลัย ดังนั้น สำหรับคุณพ่อแล้ว การอ้างอิงพระคัมภีร์มีจุดมุ่งหมายด้านศีลธรรมและการอบรมอีกทั้งเป็นการช่วยให้มนุษย์คล้อยตามการกระทำของพระเจ้า

ในฐานะพระสงฆ์และนักอบรม คุณพ่อบอสโกถือว่าพระวาจาของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของงานอภิบาล จนกระทั่งคุณพ่อถูกขนานนามว่า “พระสงฆ์แห่งพระวาจา” คุณพ่อ Ceria เขียนว่า “ผู้รับใช้พระวาจาคือผู้ที่ทำให้พระวาจากลับเป็นการกระทำของตน ด้วยรสชาดและด้วยความตระหนักใจ ส่วนพระสงฆ์แห่งพระวาจาคือผู้ที่ทำหน้าที่อภิบาลด้วยพระวาจา เป็น misnisterium verbi… เป็นการใช้พระวาจาอย่างศักดิ์สิทธิ์ กระทำไปในนามของพระเจ้าและเพื่อรับใช้ฝ่ายจิตของพี่น้อง ตามหน้าที่แห่งกระแสเรียก”55


2.2 เยาวชน สถานที่ และเหตุผลในการฟังพระวาจาของพระเจ้าสำหรับเรา

การรับใช้พระวาจาของพระเจ้าคือกระแสเรียกของเรา ประโยคนี้เหมาะที่จะบรรยายเป้าหมายและแรงจูงใจแห่งการแพร่ธรรมซาเลเซียน ซึ่งเรียกร้องให้มีการอ่านพระวรสารแบบซาเลเซียนมาก่อน สมัชชา 21 เขียนไว้ว่า เราซาเลเซียนนั้น “ผู้แพร่ธรรมของเยาวชน และเราทำการแพร่ธรรมด้วยการเริ่มการแพร่ธรรมกับตัวเราก่อน ในขณะที่ง่วนอยู่กับกิจการฝ่ายโลก เรามักจะถูกล่อลวงจากพระเท็จเทียม เราจึงเห็นว่า เราต้องฟังพระวาจาของพระเจ้าและกลับใจตามการชี้นำของพระวาจาอย่างไม่หยุดหย่อน”56

เราจะอ่านพระวรสารอย่างไรและทำไมต้องอ่านแบบซาเลเซียน? เพื่อจะอ่านพระวรสารในวันนี้อย่างที่คุณพ่อบอสโกเคยอ่านและเลือกให้เหมาะสมกับกาลเวลา เราต้องเข้าถึงพระวรสารตามธรรมเนียมซาเลเซียนที่คุณพ่อบอสโกได้เริ่มไว้ เพราะในธรรมเนียมนี้เราจะเห็นว่าความเข้าใจในพระวรสารแบบคุณพ่อบอสโกได้รับการอนุรักษ์ พัฒนา หยั่งลึกและนำไปประยุกต์ “ความซื่อสัตย์อย่างมีศักยภาพและมีชีวิตชีวาของคณะต่อพันธกิจของคุณพ่อบอสโกในประวัติศาสตร์”57 เป็นหลักรับประกันแรกและดีกว่าหมดสำหรับการฟังพระวาจาของพระเจ้าแบบซาเลเซียน

การอ่านพระคัมภีร์แบบซาเลเซียน จึงไม่ขึ้นอยู่กับความแม่นยำด้านวิชาการเกี่ยวกับพระคัมภีร์ แม้ว่าทุกวันนี้จะมีการพัฒนาได้ดีเลิศ แต่ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ต่อพันธกิจของเรา กล่าวคือ เยาวชน (พระวินัย 3) ความต้องการของเยาวชนต้องก่อให้เกิดทิศทางสำหรับงานอภิบาลของเรา (พระวินัย 7) และเรายืนยันพร้อมกับคุณพ่อบอสโกที่จะเลือกอุทิศตนเพื่อเยาวชนที่ยากจน ถูกทอดทิ้งและอยู่ในอันตราย ที่ต้องการความรักและการแพร่ธรรมมากกว่าหมด (พระวินัย 26) ดังนั้น ซาเลเซียนซึ่งอ่านพระวาจาของพระเจ้าและอยากที่จะฟังพระองค์ตรัส ต้องรู้จักฟังเสียงของเยาวชน ความต้องการและความใฝ่ฝัน ความเงียบและความหวัง ความขัดสนและความต้องการของพวกเขา ในความเป็นจริงแล้ว เยาวชนเป็น “แหล่งบันดาลใจในด้านการแพร่ธรรมของเรา”58

ในฐานะที่ “ถูกส่งไปทำงานเพื่อเยาวชน” (พระวินัย 15) ซาเลเซียนต้องอยู่ท่ามกลางพวกเขาด้วย “ความรู้สึกชอบและเจตนารมณ์ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเยาวชน” (พระวินัย 39) พันธกิจซาเลเซียน “กระตุ้นเราให้มุ่งไปหาเยาวชนในถิ่นของเขาเอง และพบปะเขาตามสภาพชีวิตที่เขาดำเนินอยู่” (พระวินัย 41) พร้อมกับให้การต้อนรับพวกเขา “ในจุดที่ยอมรับอิสรภาพของเขา” (พระวินัย 38) การอยู่กับเยาวชน “เปิดทางให้เราเรียนรู้โลกของเยาวชน” (พระวินัย 39) เช่นนี้ “ในขณะที่อยู่ในโลกและสลวนกับงานอภิบาล” ซาเลเซียนก็ “เรียนรู้ที่จะพบปะกับพระเจ้าในบรรดาผู้ที่เราได้รับมอบหมายให้ไปทำงาน” (พระวินัย 95) และ “ยอมรับว่าพระหรรษทานทำงานในชีวิตของเยาวชน” (พระวินัย 86) ตามแบบอย่างคุณพ่อบอสโก

ดังนั้น เราไม่อาจจะเอาใจออกห่างเยาวชน หรือละทิ้งงานที่เราทำเพื่อเยาวชนได้ พวกเขาเป็นดัง “ปิตุภูมิของพันธกิจของเรา”59 พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของบท credo ซาเลเซียน “เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงรอเราอยู่ในเยาวชนเพื่อจะประทานพระหรรษทานแห่งการพบปะพระองค์ และส่งเราไปรับใช้พวกเขาและอบรมพวกเขาให้มีชีวิตเต็มเปี่ยม โดยสำนึกในเกียรติของพวกเขาแต่ละคน และเช่นนี้ การอบรมจึงเป็นช่วงเวลาและสถานที่พิเศษสำหรับการพบปะกับพระเจ้า”60 ถ้าเราอยากดำเนินชีวิตด้วยการเพ่งพิจารณาดูพระเจ้าและมีความพร้อมสรรพที่จะฟังพระสุรเสียงและพระวาจาของพระองค์ เราต้องอยู่กับเยาวชน อยู่ท่ามกลางพวกเขา เมื่อนั้นแหละพระเจ้าจะตรัสอย่างชัดถ้อยชัดคำกับเรา ที่จริงแล้ว “เราอยู่ท่ามกลางเยาวชนเพราะพระเจ้าทรงส่งเราไป และเมื่อเราเข้าถึงสถานการณ์เยาวชน พร้อมกับปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาพบพาน ก็เป็นพระองค์อีกนั่นแหละที่ทรงรอให้เราช่วยในตัวพวกเขานั่นเอง”61

ดังนั้น เพื่อจะอยู่กับพระเจ้าและฟังพระวาจาของพระองค์ เราไม่จำเป็นต้องทิ้งงานที่เราต้องทำเพื่อเยาวชน ไม่ว่าในแง่ของความรักและแง่ประสิทธิภาพหรือละทิ้งพันธกิจซาเลเซียน เมื่อเราทำภาระกิจในฐานะตัวแทนของพระองค์ และตามคำสั่งของพระองค์แล้ว เราก็จะมีแรงจูงใจให้ไปหาพระองค์และอยู่กับพระองค์ แม้หมู่คณะกำลังรำพึงเพ่งพิจารณาดูพระเจ้าอย่างดูดดื่ม วิสัยทัศน์แห่งการทำงานเพื่อความรอดของเยาวชนก็ไม่ควรเลือนลางไป62 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงต้อนรับพวกศิษย์ที่กลับมาจากงานอภิบาลครั้งแรกด้วยความกระตือรือร้นนั้น และก่อนที่จะส่งพวกเขาไปพักผ่อนตามลำพัง พระองค์ปล่อยให้พวกเขา “ทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่งที่พวกเขาได้ทำและสอน” (มก 6:30) การอยู่กับเยาวชน รับฟังความต้องการและตอบรับในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง จะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือข้ออ้างสำหรับการเสาะหาพระเจ้า และรับฟังพระวาจาของพระองค์ เราจะเรียนรู้สงสารเยาวชนยากจนถูกทอดทิ้งและอยู่ในอันตรายได้จากใคร ถ้าไม่เรียนรู้ด้วยการเพ่งพิจารณาดูพระมหาทรมานที่พระเยซูเจ้าทรงรับเพื่อพวกเขาและรับฟัง “หลายอย่าง” ที่พระองค์อยากจะตรัสกับเรา (มก 6:34)?

การเลียนแบบคุณพ่อบอสโก ศาสนบริกรแห่งพระวาจา และรู้จักเป็น “ธรรมทูตของเยาวชน”63 เป็นเงื่อนไขอันดับแรกและจำเป็นเพื่อฟังพระวาจาของพระเจ้าแบบซาเลเซียน และการเพ่งพิจารณาดูพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า ในสมัชชาพิเศษมีการกล่าวว่า “การรู้จักพระคริสตเจ้าแห่งพระวรสารอย่างลึกซึ้ง และวิธีการที่คุณพ่อบอสโกใช้เพื่อเข้าถึง และเลียนแบบพระองค์... ทำให้เราสามารถฟื้นฟูมุมมองพระวรสารแห่งจิตตารมณ์ซาเลเซียน และทำให้เกิดศักยภาพได้อย่างสอดคล้องกับโอกาสและความต้องการของโลกทุกวันนี้”64


3. ไม่สมควรที่เราจะละทิ้งการประกาศพระวาจาของพระเจ้า” (กจ 6:2)

พ่อมักจะคิดว่า เหตุการณ์ที่มีการเล่าไว้ในหนังสือกิจการที่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับหมู่คณะคริสตชนแรกและปฏิกิริยาของสาวกเป็นตัวชี้บอกถึงการมองการณ์ไกล “ไม่สมควรที่เราจะละทิ้งการประกาศพระวาจาของพระเจ้าเพื่อไปแจกอาหาร พี่น้องทั้งหลาย จงเลือกบุรุษเจ็ดคนจากกลุ่มของท่านทั้งหลาย เป็นคนที่มีชื่อเสียงดี เปี่ยมด้วยพระจิตเจ้าและปรีชาญาณ แล้วเราจะแต่งตั้งเขาให้ทำหน้าที่นี้ ส่วนเราก็จะอุทิศตนอธิษฐานภาวนาและประกาศพระวาจา” (กจ 6:2-4)

พระศาสนจักรแห่งเยรูซาเล็ม เนื่องจากประสบความสำเร็จในงานแพร่ธรรม (กจ 2:14-41;3:2-26;5:12-16) ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นอริจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (กจ 4:1-22;5:7-33) และมีปัญหาจากภายในที่ท้าทายชีวิตแห่งความเป็นพี่เป็นน้อง (กจ 2:41-47;4:32-35) และความอยู่รอด ที่จริงแล้ว วิกฤติภายในอันตรายมากกว่าการเบียดเบียนเสียอีก คือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มของผู้ที่มีความเชื่อ กรีกและยิว ซึ่งเริ่มมาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน (6,1) ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการเสี่ยงที่เกิดการแตกแยกในหมู่คณะ สาวกจึงได้ตัดสินใจตั้งสังฆานุกรขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแต่งตั้งครั้งแรกของพระศาสนจักร เพื่อให้พวกเขาคอยดูแลเรื่องอาหารของหมู่คณะ ช่วยสมานความเป็นพี่น้องและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เอกภาพ นับตั้งแต่นั้นมา สาวกไม่ต้องดูแลเรื่องการแจกอาหารประจำวัน ก็มุ่งมั่นจะอุทิศตนเพื่องานอภิบาลโดยเฉพาะ และเช่นนี้ จากวิกฤติของหมู่คณะก็เกิดมีศาสนบริกรขึ้นใหม่ซึ่งเน้นความรัก และเหนืออื่นใดมี “การกลับใจแท้จริงในตัวสาวก ที่ต้องกลับไปให้ความสนใจในความเชี่ยวชาญที่เหมาะกับพวกเขามากกว่า กล่าวคือ การภาวนาและการประกาศพระวาจาของพระเจ้า

แนวการปฏิบัติของสาวก นอกจากจะเป็นแบบอย่างให้เราแล้ว น่าจะเป็นกฎเกณฑ์สำหรับการกระทำของเราในวันนี้ด้วย เราพูดถึงเหตุการณ์นี้ก็เนื่องจากเป็นพระวาจาของพระเจ้า ใครในหมู่คณะคริสตชนที่อุทิศตนเพื่อการเทศน์สอนพระวาจาต้องรักษาไว้ซึ่งเอกภาพแห่งความเชื่อด้วยการฟื้นฟูความรัก แต่หลังจากนั้นต้องกลับไปสู่กิจกรรมซึ่งทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่น นั่นคือ ภาวนาและรับใช้พระวาจา เมื่อพวกสาวกเห็นว่าความพยายามในการแพร่ธรรมพบอุปสรรคก็ต้องกลับไปสู่กิจกรรมที่เป็นแก่นสาร กล่าวคือ หน้าที่อื่นนั้นสามารถจะมอบหมายให้คนอื่นทำได้ แต่การภาวนาและการเทศน์สอนเป็นหน้าที่ของพวกเขาโดยตรง และไม่สามารถมอบหมายให้ใครได้ แม้แต่การดูแลชีวิตหมู่คณะก็ไม่ทำให้สาวกต้องละเลยการภาวนาและพระวาจาของพระเจ้า ดังนั้น หน้าที่อะไรก็ตาม แม้จะเร่งด่วนต้องมอบหมายให้คนอื่นทำ พวกสาวกเข้าใจดีว่าพวกเขามีหน้าที่ปกป้องรักษาและดูแลชีวิตหมู่คณะของผู้มีความเชื่อ แต่ก็ต้องไม่ละเลยการภาวนาและพระวาจา ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเป็นการทรยศต่อหน้าที่ของสาวกที่พวกเขาได้รับมอบหมาย

พวกท่านบางคนอาจจะพูดถึงเรื่องนี้ ที่รู้ๆ กัน แต่ไม่ค่อยจะเข้าใจกันนัก และบอกว่าสิ่งที่พ่อกำลังพูดดูจะขัดแย้งกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระวินัยของเรา บทที่ 7 ที่ “พูดถึงการภาวนาซาเลเซียนว่าในความหมายที่ลึกซึ้งแล้วเป็นการสนทนากับพระเจ้า” นั้น มีการใส่ไว้ในตอนท้ายของภาคที่สองว่า “ให้เป็นข้อสรุปยอดของการกล่าวถึงโครงการซาเลเซียนทั้งหมด”65

กระนั้นก็ดี ก็คงไม่ถูกต้องที่จะตีความว่า การที่นำเรื่องภาวนาไปไว้ต่อจากบทที่ว่าด้วยพันธกิจซาเลเซียน (บทที่ 4) หมู่คณะ (บทที่ 5) และศีลบน (บทที่ 6) เป็นการบอกเป็นนัยว่าการภาวนามีความสำคัญน้อยกว่า ตรงกันข้าม การที่นำบทที่พูดถึงการภาวนาไปไว้ที่นั่น สมัชชา 22 อยากจะให้เข้าใจว่า ชีวิตแห่งการเจิมถวายตัวและแพร่ธรรมนั้นมีลักษณะเหนือธรรมชาติ ซึ่งเกินที่น้ำใจดีของเราจะปฏิบัติได้ ถ้าไม่มีพระจิตเจ้าและพระหรรษทานของพระเจ้า... นอกนั้นก็ยังบอกเป็นนัยอีกว่า พันธะแห่งชีวิตและกิจการซาเลเซียนต้องผลิบานในการภาวนาและกลายเป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระเจ้า”66

คำภาวนาเป็นวิญญาณของงานแพร่ธรรม แต่เวลาเดียวกัน การแพร่ธรรมก็บันดาลชีวิตและให้แรงบันดาลใจแก่การภาวนา”67 ดังนั้น จึงไม่มีความขัดแย้งระหว่างพันธกิจและการเพ่งพิจารณา หรือชีวิตแพร่ธรรมและชีวิตภาวนา ตรงกันข้าม พันธกิจและการแพร่ธรรมเกิดมาและได้รับการหล่อเลี้ยงจากการเพ่งพิจารณาดูและการภาวนา เพราะในความเป็นจริงแล้ว โครงการชีวิตและพันธกิจของเราถือกำเนิดมาจากพระเจ้า (พระวินัย 1) และเกิดใหม่จากพระเจ้าตลอดเวลา เช่นนี้ ชีวิตภาวนา ซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้าและเป็นคำตอบที่เราให้แก่พระองค์ (พระวินัย 85) จึงเป็นสายเชื่อมโยงแนบแน่นกับองค์ประกอบแห่งกระแสเรียกของเรา และเป็นแรงบันดาลใจที่ถาวร ดังนั้น ใครก็ตามที่ละเลยการฟังพระเจ้า หรือไม่มีเวลาสำหรับพระองค์ ไม่เร็วก็ช้าเขาก็จะเริ่มละทิ้งเยาวชน (งานอภิบาล) ละเลยชีวิตหมู่คณะ (ความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง) และเลิกติดตามพระคริสตเจ้า (ศีลบน) พี่น้องที่รัก จงกลับมาหาพระเจ้า “โดยอ่านพระคัมภีร์เป็นประจำทุกวัน” (พระวินัย 87) แล้วนั้น พันธกิจซาเลเซียนจะกลายเป็นความยินดีและเหตุผลสำหรับชีวิตการเจิมถวายตัวของเรา


3.1 ฟังพระวาจาเพื่อสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับพระเจ้า

สำหรับผู้ที่มีความเชื่อ การฟังพระเจ้าไม่ใช่เป็นการใช้เวลาว่างเพลินๆ หรือทำแค่เป็นครั้งเป็นคราว แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ภาพลักษณ์ที่ชี้บอกถึงพระเจ้าแท้ก็คือ ความประสงค์ที่จะเผยแสดงพระองค์ และความพยายามของพระองค์ที่จะมาพบมนุษย์ผ่านทางพระวาจา ก่อนอื่นโดยมีประกาศกเป็นคนกลางแล้วนั้น โดยทางพระบุตรของพระองค์ (ฮบ 1:2) โดยการเผยแสดงพระองค์ พระเจ้าที่เรามองไม่เห็น (คส 1:15;1ทธ 1:17) ตรัสกับมนุษย์ด้วยความรักเหมือนเพื่อน (อพย 33:11;ยน 15:14-15) และทรงปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (บรค 3:38) เพื่อเชิญมนุษย์ให้มาร่วมสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์”68

พระวาจาของพระเจ้าเผยให้เห็น ไม่เพียงการประทับอยู่ของพระเจ้าเท่านั้น แต่ธรรมชาติของพระองค์ด้วย พระเจ้าคือพระวาจา (ยน 1:1-4) แตกต่างจากพระเท็จเทียมอื่นๆ “ที่มีปากแต่พูดไม่ได้ ไม่สามารถส่งเสียงใดๆ ออกจากปาก” (สดด 115:5,7) พระเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่มีเสียงทรงพลัง สง่า และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและแรงสั่นสะเทือน (สดด 29:3-9) ต่างจากพระที่เป็นใบ้ (1คร 12:2) และมีแต่จะทำให้คนกราบไหว้บูชาต้องเงียบงัน (สดด 115:8) พระเจ้าตรัสกับทุกคนที่พร้อมจะฟังพระองค์ และผู้ที่ฟังพระองค์ก็จะกลายเป็นประกาศก (อมส 3:8; ยรม 1:6,9; อสย 6:5-7; อพย 3:1) ในขณะที่เรารอคอยวันที่เราจะเห็นพระเจ้า “หน้าต่อหน้า” (1คร 13:12) เราได้รับแรงบันดาลใจจากความจริงอันแน่นอนว่า เราจะไม่เสาะหาโดยเปล่าประโยชน์ ราวกับว่าพระองค์ตรัสในที่ลับ (อสย 45:19) เราสามารถเข้าถึงพระเจ้าโดยทางพระวาจาของพระองค์ และเราพบพระองค์ได้ในองค์พระบุตร “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้า พระบุตรเพียงองค์เดียวผู้สถิตอยู่ในพระอุระของพระบิดานั้นได้ทรงเปิดเผยให้เรารู้” (ยน 1:18)

เพื่อจะเข้าถึงพระวาจา เราต้องมีท่าทีฝ่ายจิตที่เหมาะสม การจะ “เสนอพระวาจาของพระเจ้าอย่างที่พระองค์ทรงเป็นไม่หมายความว่าจะเป็นการทำให้พลังของพระเจ้าเกิดขึ้นด้วย”69 แต่ต้องมีทีท่าแห่งความนอบน้อมแห่งความเชื่ออยู่ด้วย”70 ดังนั้น เพื่อพบกับพระเจ้าเราต้องมีวินัยแห่งการฟัง ที่ประกอบด้วยทีท่าแห่งความเชื่อสองอย่างซึ่งทุกวันนี้คนไม่ค่อยให้ความสนใจกันนัก แต่ก็สามารถทำให้เราได้พบกับพระเจ้าได้อย่างแน่นอน กล่าวคือ การนมัสการในความเงียบซึ่งเป็นเงื่อนไขแรก และการเลิกที่จะสร้างฉายาของพระเจ้า

  • นมัสการพระเจ้าในความเงียบ

อิสราแอลเอ๋ย จงเงียบและฟัง” (ฉธบ 27:9) เป็นคำสั่งที่ชัดเจน กล่าวคือใครต้องการฟังพระเจ้า ต้องรักความเงียบ นักบุญยอห์นแห่งไม้กางเขน อธิบายกฏสำหรับชีวิตจิตข้อนี้ว่า “พระบิดาตรัสพระวาจา ซึ่งกลับเป็นพระบุตร และพระองค์ ตรัสซ้ำในความเงียบนิรันดร ฉะนั้น จะต้องฟังพระวาจาของพระเจ้าในความเงียบด้วยจิตวิญญาณ”71 ความยิ่งใหญ่เหนือทุกสิ่งของพระเจ้าจะต้องเป็นที่ยอมรับจากผู้มีความเชื่อ ด้วย “การนมัสการในความเงียบและในการภาวนาที่ต่อเนื่อง”72 ก่อนอื่นหมด

คำอธิบายพระวินัยข้อ 87 ในหนังสือโครงการชีวิตนั้นชัดเจนมาก “ท่าทีแรกของหมู่คณะที่ภาวนานั้น ไม่ใช่การพูด แต่ต้องเป็นการเงียบเพื่อฟัง อันเป็นท่าทีของผู้มีความเชื่อ”73 ดังนั้น การอยู่ต่อหน้าพระเจ้าจึงไม่ใช่เป็นการเสียเวลา หรือเป็นความว่างเปล่าที่ไร้ความหมาย แต่เป็นท่าทีแห่งความพิศวงที่เกิดขึ้นมาในจิตใจ ซึ่งเรียกร้องให้เรานมัสการพระเจ้าและถวายความคาราวะอย่างสมพระเกียรติ ถ้าไม่มีความเงียบภายนอก อาทิ เสียงพูดเสียงจา หรือเสียงอึกทึก และเหนืออื่นใด ถ้ามีความเงียบภายในที่ส่งผลให้ความอยากจะดำเนินชีวิตเพื่อตนเองและด้วยตนเองหมดลง พระวาจาของพระเจ้าก็ไม่สามารถพบพื้นที่เหมาะสมในตัวเรา และไม่ได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ นักบุญอากุสตินกล่าวว่า พระอาจารย์ตรัสภายในดวงใจเรา ทรงสอนเราในความใกล้ชิดสนิทสนม เลยทำให้เสียงอื่นๆ จากภายนอกเปล่าประโยชน์ไป74

หากในส่วนของพระเจ้าที่ตั้งแต่เริ่มแรกมีพระวาจา และในพระวาจานี้ เราต่างได้รับพระหรรษทานและความจริง (ยน 1:1,14) ในส่วนของเราก็ต้องมีความเงียบที่เต็มด้วยความเคารพและมีท่าทีต้อนรับเพื่อเป็นการเริ่มต้น ด้วยความเงียบนี้จึงเป็นความเงียบแฝงด้วยกิจการ ซึ่งรอรับพระวาจาของพระเจ้า และตัดขาดจากเสียงต่างๆ มันเป็นความเงียบอันเต็มเปี่ยมที่สำนึกถึงการอยู่ต่อหน้าพระเจ้าเพื่อนมัสการและพักอยู่กับพระองค์ พร้อมกับท่าทีของข้ารับใช้ที่สายตาจดจ้องอยู่ที่เจ้านาย (สดด 132:2) พระเจ้าตรัสกับมนุษย์ด้วยพลังแห่งการสื่อสารที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า หรือโดยที่มนุษย์ไม่สามารถกำหนดหรือปรารถนาได้ สิ่งเดียวที่มนุษย์ทำได้ก็คืออยู่ในความเงียบ พร้อมกับท่าทีแห่งการรอคอย เคารพยำเกรง และนบนอบ”75 ทุกวันนี้ เพื่อจะดำเนินชีวิตในฐานะผู้มีความเชื่อ เราต้องรู้จักอยู่กับความเงียบ การทำให้ชีวิตเต็มด้วยคำพูด และด้วยเสียงอึกทึกนั่นคือวิถีของผู้ไม่มีความเชื่อ “แต่ละคนควรค้นพบการเรียกของพระเจ้าให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ ตัวต่อตัว ในความเงียบและในการนมัสการ”76


  • เลิกสร้างพระฉายาของพระเจ้า

ประกาศกอิสยาห์ถามว่า “ท่านจะเปรียบเทียบพระเจ้ากับอะไร? ท่านจะพบเห็นพระฉายาใดของพระเจ้า? (อสย 40:18) เนื่องจากพระเจ้าทรงเป็นพระวาจา (ยน 1:1) ดังนั้นมีวิธีเดียวที่จะพบกับพระองค์ได้ คือ การฟังและการสนทนา คือวิธีปฏิสัมพันธ์กับพระองค์ พระเจ้าแท้จะไม่ยอมให้เราเห็น แม้กับเพื่อนที่สนิทที่สุดของพระองค์ (อพย 33:18-20) อย่างเช่นโมเสสที่สนทนากับพระองค์ “ชนิดหน้าต่อหน้า” (อพย 33:11; ฉธบ 34:10) นอกนั้น พระองค์ก็ยังทรงห้ามมิให้ใครสร้างรูปเหมือนของพระองค์อีกด้วย (อพย 20:4;2พกษ 11:18)

พระเจ้าทรงห้ามผู้ที่เชื่อถือพระองค์ไม่ให้หารูปเหมือนของพระองค์มาครอบครอง ไม่ว่ารูปนั้นจะทำด้วยมือหรือสร้างขึ้นมาในจินตนาการ (ฉธบ 4:16-18; 1พกษ 14:9; ฮชย 13:2) หรือในความปรารถนาในใจ (อพย 32:1) เพราะไม่มีสิ่งใดที่สร้างขึ้นมาด้วยมือมนุษย์ (สดด 115:4) จะสามารถสะท้อนพระสิริมงคลของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตได้เลย ดังนั้น การสร้างพระฉายาของพระเจ้าจึงทำให้พระองค์กลายเป็นพระเท็จเทียมไร้ชีวิตไป (สดด 115:2-4) การหล่อพระฉายาของพระเจ้าตามความจำเป็นของเราไม่สามารถช่วยแก้ไขอะไรได้เลย (อพย 32:1-8) ซ้ำร้ายกลับเป็นการเพิ่มทุกข์ร้อนให้แก่เราเสียอีก ชนชาติอิสราเอลเคยอยากได้พระเจ้าที่เสด็จนำหน้าพวกเขาไป (อพย 30:2) ที่สุดก็จำต้องขนพระที่มีขาแต่เดินไม่ได้ไปด้วย (อมส 5:26) นี่คือผลร้ายของการไม่ยอมรับพระเจ้าในฐานะพระวาจา ลงเอยก็ต้องสร้างพระฉายาของพระเจ้า ซึ่งก็เป็นผลงานของความคิดและฝีมือของตนเอง กล่าวคือ พระที่เป็นใบ้ ตาบอด และไร้ลมหายใจ (สดด 115:8)

ใครที่ต้องการได้ยินพระเจ้าตรัส ต้องรู้จักฟัง กล่าวคือ ต้อง “เห็นพระวาจา” (ฉธบ 4:9) หรืออีกนัยหนึ่งต้อง “มองพระคัมภีร์เหมือนมองพระพักตร์พระเจ้า” “รู้จักเห็นพระทัยของพระเจ้าในพระคัมภีร์” นั่นเอง77 การพบปะกับพระเจ้าในพระคัมภีร์เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ แต่เห็นไม่ได้ ดังนั้นคนที่สามารถพบพระเจ้าและสนิทชิดเชื้อกับพระองค์ได้ จึงไม่ใช่คนที่เห็นพระเจ้า แต่คือผู้ที่รู้จักพบพระเจ้าในพระคัมภีร์และเก็บรักษาไว้ในจิตใจ นักบุญออกัสตินยืนยันว่า สายตาของดวงใจเท่านั้นที่สามารถเห็นหัวใจของพระวาจา78 ดังนั้น พระเจ้าจึงไม่ทรงประสงค์ให้เราสร้างพระฉายาของพระองค์ เพื่อจะได้นำเราด้วยพระวาจา และหล่อเลี้ยงเราด้วยพระสัญญาของพระองค์


3.2 ฟังพระวาจาเพื่อสร้างเป็นหมู่คณะอยู่เป็นหมู่คณะเพื่อความรอด

พระเจ้าทรงรวบรวมหมู่คณะของเราและรักษาไว้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยคำเชื้อเชิญทางพระวาจาและความรักของพระองค์” (พระวินัย 85) คำพูดของพระวินัยตอนนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงพื้นฐานแห่งความเชื่อในพระคัมภีร์ ยิ่งไปกว่านั้น ในพระวินัยข้อ 87 มีการกล่าวไว้อย่างชัดเจนไปกว่านั้นอีก “ประชากรของพระเจ้ามารวมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”

ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อพระเจ้าตรัส ก็ทรงรวบรวมผู้ฟังเข้าด้วยกัน ดังนั้น ประชากรของพระเจ้าถือกำเนิดมาจากการเรียกของพระวาจาและสามารถรวมตัวกันอยู่ได้ก็เพราะการฟังพระวาจา ก่อนที่จะเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา โมเสสเตือนประชาชนว่า “วันนี้พวกท่านกลับเป็นประชากรของพระเจ้า จงฟังพระวาจาของพระเจ้าของเจ้า” (ฉธบ 27:9-10) พระเยซูเจ้าทรงเรียกคนที่เรียงรายอยู่รอบๆ พระองค์ กำลังฟังพระองค์และทำตามที่พระองค์สอนว่าเป็นพี่เป็นน้อง ไม่ใช่คนที่อยู่ข้างนอกและส่งคนเข้ามาตามหาพระองค์ (มก 3:31-35) ดังนั้น การอยู่เพื่อฟังพระเจ้าจึงเป็นที่มาและเหตุผลของการดำเนินชีวิตร่วมกัน เรากลับเป็นผู้มีความเชื่อด้วยการฟังพระวาจาของพระเจ้าและด้วยการดำเนินชีวิตแห่งความเชื่อด้วยกัน


  • อยู่ร่วมกันเพื่อความรอด

ชีวิตหมู่คณะ คือรูปแบบการดำเนินชีวิตไปสู่ความรอดของประชากรของพระเจ้า เพราะการดำเนินชีวิตร่วมกันก็คือการรอดพ้นจากความชั่วและเป็นอิสระจากตนเอง ชนชาติอิสราเอลได้เรียนรู้ความจริงอันนี้ผ่านทางประสบการณ์อันขมขื่นแห่งที่เปลี่ยว (อพย 17:1-17,25)ในแผ่นดินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถทำให้ประชากรอยู่ร่วมกันได้และเป็นอิสระ (ฉธบ 7:4;8,14;11:2-28) และมีแต่พระวาจาของพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถเลี้ยงดูให้พวกเขาอยู่รอดได้ (ฉธบ 8:3) เมื่อประกาศกฝันถึงความรอดใหม่ พวกเขาก็ประกาศให้ผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มารวมตัวกันอย่างถาวร (อสย 43”15;ยรม 23:3; อสค 11:17;34:14;36:24) ซึ่งก็กลายเป็นความจริงเมื่อคนหนึ่งยอมตายแทนคนทั้งชาติ “เพื่อรวบรวมบุตรของพระเจ้าที่กระจัดกระจายอยู่ให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 11:52)

หากว่าการฟังพระวาจาก่อให้เกิดประชากรของพระเจ้าขึ้นมา นั่นก็หมายความว่า ไม่มีใครอุปโลกน์ว่าได้ยินพระเจ้าตรัสโดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะผู้ฟังพระวาจา เนื่องจากว่า พระวาจาของพระเจ้าเป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตหมู่คณะ รูปแบบที่ดีกว่าหมดในการตอบรับพระวาจาของพระเจ้าก็คือความรับผิดชอบต่อชีวิตหมู่คณะนั่นเอง หลักการนี้เชื้อเชิญเราให้สำนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะที่มารวมตัวกัน “โดยทางพระวาจาของพระเจ้า” (พระวินัย 87) ให้เข้ามาหาพระองค์พร้อมกับเพื่อนพี่น้อง และฟังพระวาจาของพระเจ้าด้วยกัน ดังนั้น เราจึงเข้าถึงพระวาจาของพระเจ้าได้ก็โดยทางหมู่คณะ ที่ถือกำเนิดมาและได้รับการค้ำจุนด้วยพระวาจาของพระเจ้า และเช่นนี้ในหมู่คณะเราสามารถกล่าวยืนยันได้ว่าพระคัมภีร์คือพระวาจาของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต

การหลีกเลี่ยงการสนทนากับพี่น้อง การไม่ยอมดำเนินชีวิตรวม และการปลีกตัวออกจากการดำเนินชีวิตและการภาวนาประจำวัน ไม่เพียงจะทำให้เกิดความรู้สึกอยู่ไกลกันเท่านั้น แต่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าพระเจ้ากลายเป็นบุคคลแปลกหน้าสำหรับเรา และไม่มีความหมายสำหรับชีวิตของเราด้วย ซึ่งต่างกับประสบการณ์ของผู้ที่รู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า เพราะเขาสำนึกในการเป็นพี่เป็นน้องกัน และพบความยินดีในพันธะหน้าที่แห่งการอยู่ร่วมกันและการรับฟังพระเจ้าด้วยกัน

หนังสือปฐมกาลชี้ชัดว่า การที่อาดัมพยายามจะหลบหน้าพระเจ้า ไม่ยอมพบพระองค์และไม่ยอมตอบพระองค์ (ปฐก 3:8-9) ทำให้เขาต้องพบกับความขมขื่นแห่งความตายของคนรักและเอกภาพในครอบครัวต้องสูญเสียไป ดังนั้น พระเจ้าและพระวาจาของพระองค์ทำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันได้ เพราะทำให้เรามองเห็นพี่น้องในบุคคลที่อยู่ร่วมกับเรา แม้ว่าชีวิตฉันพี่น้องจะขึ้นอยู่กับน้ำใจดีและการร่วมมือของทุกคนในหมู่คณะ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าหมดคือ การฟังพระวาจาของพระเจ้าด้วยกัน “ความเป็นพี่เป็นน้องไม่ใช่เป็นผลอันเนื่องมาจากความพยายามของมนุษย์เท่านั้น แต่เหนืออื่นใด มันเป็นของประทานจากพระเจ้า และเป็นพระพรที่เกิดจากความนอบน้อมต่อพระวาจาของพระเจ้า”79


  • รับผิดชอบเพื่อนสมาชิก

หมู่คณะเป็นสถานที่แห่งการฟังพระวาจาของพระเจ้า จึงเป็นสถานที่ของความเป็นพี่เป็นน้องกันด้วย เราต่างก็ได้รับเชิญให้เข้ามาอยู่ในหมู่คณะและรักพี่น้องที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้เราดูแล (พระวินัย 50) ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่เมื่อพระเจ้าทรงมาหาเรา พระองค์จะทรงถามเราถึงพี่น้องของเรา นี่คือประสบการณ์ของกาอิน (ปฐก 4:9) ซึ่งเมื่อไม่ยอมรับหน้าที่ดูแลน้องชาย (อาแบล) ก็ปฏิเสธที่จะอยู่เป็นเพื่อนกับพระเจ้า (ปฐก 4:10) แต่การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้เขาเป็นอิสระจากพระองค์ และหลีกเลี่ยงคำถามของพระองค์ได้เลย

เมื่อพระเจ้าทรงมอบ “พี่น้องให้เรารัก” พระองค์ก็ทรงมอบหมายหน้าที่ให้เราดูแลพวกเขาด้วย ดังนั้น ความนบนอบต่อพระบัญชาของพระเจ้าสามารถพิสูจน์ได้ด้วยความรับผิดชอบต่อพี่น้องที่พระองค์ทรงหมายให้เราดูแล ในแง่หนึ่งมันเป็นสิ่งงดงามที่พระเจ้าทรงดูแลเราโดยโปรดให้เราเดินในเส้นทางแห่งความรัก เพื่อให้เราสามารถพัฒนาตัวเราให้เต็มเปี่ยม ซึ่งเส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางยอดเยี่ยมในความคิดของนักบุญเปาโล (1คร 12:31) แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นการเตือนโดยนัยให้ระวังท่าทีของกาอิน กล่าวคือ ใครที่ไม่ยอมตอบพี่น้อง เขาทำตนเป็นคนแปลกหน้าในโลกและในบ้านของตนเอง (ปฐก 4:14)

หากเราให้ความสนใจแก่พี่น้องตามที่พวกเขาสมควรจะได้รับ โดยเฉพาะพี่น้องที่อยู่ห่างไกลหรือรู้สึกว่าห่างไกล นอกจากเราจะทำหน้าที่เป็นนายชุมพาบาลที่ดีแล้ว เราจะพบสถานที่และคำพูดเพื่อสนทนากับพระเจ้า พระเยซูเจ้าในคำเทศน์บนภูเขา ทรงเตือนเราว่าเงื่อนไขอันดับแรกของการพบปะกับพระเจ้า คือความเป็นพี่เป็นน้องกันที่ไม่มีการแตกแยก หรือถ้าแตกแยกก็มีการแก้ไขและฟื้นฟูขึ้นใหม่ (มธ 5:20-24)

ในจดหมายฉบับที่หนึ่ง นักบุญยอห์นกล่าวว่า “ใครที่ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้ ย่อมจะไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้” (1ยน 4:20) การยอมรับว่าผู้ดำเนินชีวิตอยู่เคียงข้างเราเป็น “ผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับเรา” ซึ่งเราจะต้องให้ความสนใจ เราก็ทำตัวพร้อมจะรอคอยพระเจ้าและได้รับความสนใจจากพระองค์เช่นกัน ถ้าเราอยากจะทำให้ชีวิตของเราเป็นสถานที่แห่งการฟังพระเจ้า เราต้องทำตัวให้พร้อมเพื่อต้อนรับพี่น้องด้วยดวงใจเปิดกว้าง ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น จัดหาทุกสิ่งที่เขาต้องการ และค้ำจุนเขาในยามลำบาก (พระวินัย 52)


3.3 ฟังพระวาจาเพื่อยืนหยัดในความสัตย์ซื่อ

นักบุญเปาโลเขียนถึงชาวโรมันว่า “ความเชื่อเกิดจากการฟัง” (รม 10:7) การเข้าถึงพระวาจาของพระเจ้าในท่าทีของการภาวนาก่อให้เกิด “รากฐานแห่งชีวิตจิตของพระศาสนจักร รากฐานแห่งชีวิตจิตคริสตชน ซึ่งเป็นชีวิตจิตสองอย่าง แต่ไม่ขัดแย้งกัน ชีวิตจิตคริสตชนที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานพระวาจาไม่อาจจะอยู่ได้ในโลกที่ซ้ำซ้อนแบบปัจจุบันนี้ได้... โลกที่ยาก แตกแยก และไร้ทิศทาง”80 เราซาเลเซียนก็เช่นกัน เราไม่สามารถที่จะดำรงตนเป็นผู้มีความเชื่อในทุกวันนี้ได้ ถ้าเราไม่พยายามทำให้การฟังพระวาจาเป็นหน้าที่สำคัญกว่าหมดของชีวิต และเป็นต้นกำเนิดแห่งพันธกิจของเรา สมัชชาพิเศษได้เตือนไว้ว่า ในขณะที่ทำหน้าที่ต่างๆ ซาเลเซียนมักจะพบอุปสรรคในการฟังพระวาจา “ดังนั้น ซาเลเซียนที่ต้องดำเนินชีวิตรีบเร่งและผิวเผิน ต้องค้นหาเคล็ดลับเพื่อฟื้นฟูชีวิตด้วยการหยั่งลึกลงในพระวาจาของพระเจ้าด้วยความจริงจัง”81

เพื่อจะทำให้ความเชื่อตื่นตัวอยู่เสมอและได้รับการหล่อเลี้ยงอย่างเหมาะสม “การฟังพระวาจาต้องเป็นการพบปะกับพระเจ้าที่มีความสำคัญยิ่งยวด” กล่าวคือ “เป็นการค้นพบพระวาจาของพระเจ้าจากเนื้อหาพระคัมภีร์ ซึ่งท้าทาย ชี้นำ และหล่อหลอมชีวิตของเรา”82 ในความเป็นจริงแล้ว “พระอาจารย์ทรงเผยแสดงองค์ให้เรา อบรมสติปัญญาและดวงใจของเรา ผลก็คือ เกิดวุฒิภาวะในด้านความเชื่อขึ้นในตัวเรา และทำให้เรารู้จักมองความจริงและเหตุการณ์ทุกอย่างด้วยสายตาของพระเจ้า” จนกระทั่ง “เรามีความคิดของพระคริสตเจ้า” (1คร 2:16)83 ความเชื่อจึงไม่ใช่อะไรอื่น คือการมองความจริงต่างๆ ด้วยสายตาของพระเจ้า แต่เพื่อจะเห็นอย่างที่พระเจ้าทรงเห็น เราต้องฟังความเห็นของพระเจ้า และรับฟังพระวาจาของพระองค์ การฟังพระวาจา “ที่มีชีวิตและบังเกิดผล” (ฮบ 4:12) เป็นการทำให้พระวาจากลับกลายเป็นชีวิตและทำให้พระสัญญาของพระเจ้ากลายเป็นจริงในชีวิตของเราและผ่านทางตัวเราไปสู่โลก

พ่ออยากจะอธิบายสั้นๆ ถึง “ผลดีของพระวาจาของพระเจ้าที่เรารับฟังด้วยความเชื่อ”84 อย่างที่มีการพูดถึงในหนังสืออรรถาธิบายพระวินัยของเรา (พระวินัย 87)


  • ต้นกำเนิดแห่งชีวิตจิต (พระวินัย 87)

พระวาจาของพระเจ้าเป็นต้นกำเนิดแรกของชีวิตจิตคริสตชนทุกประเภท พระวาจาช่วยหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ตัวต่อตัวกับพระเจ้าผู้ทรงชีวิต และกับน้ำพระทัยที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์”85 การฟังพระวาจาของพระเจ้าก่อให้เกิดชีวิตในพระจิตเจ้า และด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์เราสามารถยืนหยัดในช่วงเวลาแห่งการภาวนา ในความเงียบและความสันโดดได้อย่างเหนียวแน่น และวอนขอพระพรแห่งปรีชาญาณในความยากลำบากแห่งชีวิตแต่ละวันของเรา (ปญจ 9:10)86 และเช่นนี้ เราผู้ได้รับการเจิมจะพบเอกลักษณ์ของเราและพบกับความสงบที่ลึกซึ้งภายใน พร้อมกับเพิ่มความตั้งใจในเสียงของพระวาจาที่มาถึงเราในชีวิตแต่ละวัน”87

เครื่องมือทรงประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาการฟังพระวาจาของพระเจ้าคือ lectio divina ซึ่งเป็นรูปแบบของการอ่านพระคัมภีร์ของผู้มีความเชื่อ และเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตศาสนา โดย “ได้รับการยกย่องอย่างมาก ว่าเป็นวิธีการที่ทำให้พระวาจาของพระเจ้าเข้าสู่ชีวิตและบันดาลให้เกิดปรีชาญาณ อันเป็นพระพรของพระจิตเจ้า”88 เพราะเหตุนี้ สมัชชา 25 เมื่อกล่าวถึงแนวทางแห่งการเป็นประจักษ์พยานแห่งพระวรสารจึงเชื้อเชิญหมู่คณะซาเลเซียนให้ “ตั้งพระเจ้าเป็นศูนย์รวมของความเป็นอยู่ และพัฒนามิติของหมู่คณะในเรื่องของชีวิตจิต โดยให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตหมู่คณะและของแต่ละคน ด้วยการใช้ lectio divina’89

พ่อหวังว่า คงไม่มีใครที่คิดว่า แนวทางของสมัชชา 25 เป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในชีวิตจิตของเรา ในความเป็นจริงแล้ว “มีการใช้ lectio divina อย่างมีคุณค่ามาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว”90 มีการใช้ในบ้านนักบวชตั้งแต่เริ่มแรกและมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ “คริสตชนแต่ละคนไม่สามารถลุวุฒิภาวะด้านความเชื่อ หรือสามารถตอบรับความต้องการของโลกปัจจุบันได้ ถ้าเขาไม่พยายามเรียนรู้การใช้ lectio divina ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง”91

พ่อคงไม่พูดแนะนำเกี่ยวกับวิธีนี้ที่ใช้เพื่อภาวนาพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย92 และพวกเราก็นำมาใช้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว พ่อเพียงแต่อยากกล่าวถึงเป้าหมายหลักของ lectio divina และกล่าวถึงวิธีการของมันอย่างสั้นๆ เพื่อเป็นการเชื้อเชิญให้เราแต่ละคนพยายามที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ และสามารถเป็นครูสอนคนอื่นได้

พ่ออยากจะบอกว่า เป้าหมายของ lectio divina คือการฟังพระเจ้าด้วยการภาวนาพระวาจาของพระองค์ เพื่อจะได้เห็นตัวเราอย่างที่พระองค์ทรงเห็น และอยากได้ในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ เราเข้าถึงเป้าหมายนี้ผ่านทางพระวาจาที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยยึดประสบการณ์ของผู้ที่อุทิศชีวิตฟังพระเจ้าเพื่อจะเข้าถึงความจริง และเข้าใจตนเองดังที่เข้าใจพระวาจาของพระเจ้า ใน lectio พระวาจาของพระเจ้าเป็นกุญแจเพื่อเข้าใจตัวเราเอง เราจึงต้องพยายามปล่อยให้พระเจ้าบอกว่าเราเป็นใครสำหรับพระองค์และพระองค์ทรงต้องการอะไรจากเรา

เพื่อจะคุ้นเคยกับ lectio divina เราต้องฝึกฝน อย่างที่เราต้องทำกับวิธีภาวนาแบบอื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือความพร้อมที่จะฟังและความพร้อมที่จะนบนอบพระวาจา วิธีการที่ทำกันมาแนะนำสี่ขั้นตอน หรือ “ความเข้มข้นฝ่ายจิต” กล่าวคือ การอ่าน (lectio) การรำพึง (meditation) การภาวนา (oratio) และการเพ่งพิจารณาดู (contemplation) นอกนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเพิ่มเข้าไปอีกขั้นตอนหนึ่งคือ การกระทำ (action) ในเวลาเดียวกันมีการกล่าวถึงองค์ประกอบอื่นๆ (ความเคารพ ความตั้งใจ การเปรียบเทียบ การบรรเทาใจ ฯลฯ) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ปรากฎอยู่ในขั้นตอนต่างๆ นั่นเอง

- การอ่าน เราเริ่มต้น lectio divina ด้วยการอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือ อ่านเนื้อหาพระคัมภีร์ที่เราพยายามจะฟังพระเจ้าตรัสซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ ครั้ง เนื้อหาพระคัมภีร์ที่เราเลือกอาจจะเข้าใจได้ง่ายหรือเรารู้ดี แต่นั่นไม่สำคัญ เราต้องอ่านซ้ำไปซ้ำมาจนรู้สึกคุ้นเคย เกือบจะขึ้นใจได้ “โดยดึงประเด็นที่สำคัญขึ้นมา”93 แล้วอย่าเพิ่งข้ามไปอีกขั้นตอนหนึ่งจนกว่าจะตอบคำถามนี้ได้ กล่าวคือ สิ่งที่ฉันอ่านนี้หมายความว่าอะไร?

- การรำพึง เมื่อพบความหมายของพระคัมภีร์ตอนนั้นแล้ว ผู้อ่านจะต้องนำเข้าหาตนเอง เพื่อนำมาประยุกต์กับชีวิตโดยถามตนเองว่า พระวาจาตอนนี้อยากจะบอกอะไรแก่ชีวิตฉัน? การรำพึงสิ่งที่อ่านควรนำไปสู่การประยุกต์โดยเปรียบเทียบกับตนเอง จึงเป็นเหมือนการเปิดหนังสืออีกเล่มหนึ่ง กล่าวคือ หนังสือชีวิต มันเป็นกระบวนการผ่านจากความคิดไปสู่ความเป็นจริง แล้วเราจะพบว่า พระวาจาก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในดวงใจและทำให้มีการวินิจฉัย”94 พระวาจาที่ได้ฟังเรียกร้องให้มีการยินยอม ดังนั้น จึงถือว่ายังไม่มีการตอบรับพระวาจาหากพระวาจายังไปไม่ถึงดวงใจและก่อให้เกิดการกลับใจขึ้น การเข้าใจเนื้อหาพระคัมภีร์นำไปสู่การเข้าใจตนเองภายใต้แสงสว่างแห่งพระวาจา และเช่นนี้ เนื้อหาพระคัมภีร์ที่อ่านและเข้าใจดีแล้วก็จะกลายเป็นแนวทางสำหรับชีวิต โดยถามตนเองว่า “ฉันต้องทำอะไรเพื่อทำให้พระวาจากลับเป็นความจริง และฉันต้องทำอะไรเพื่อสิ่งที่พระวาจาหมายถึงกลับเป็นชีวิตความเป็นอยู่ของฉัน?

- การภาวนา การรู้ การคาดคะเน และแม้แต่การจินตนาการว่าพระเจ้าทรงประสงค์อะไรนำเราไปสู่การภาวนา และเช่นนี้ก็เกิดความปรารถนาร้อนรนที่จะทำให้ความประสงค์ของพระเจ้ากลายเป็นชีวิตประจำวัน ผู้ภาวนาจะไม่สวดขอในสิ่งที่ตนขาด แต่ขอสิ่งที่พระเจ้าทรงเผยแสดงให้เห็นและเข้าใจ เขาเริ่มที่จะใฝ่หาในสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้อง และทำให้น้ำพระทัยของพระเจ้าที่เกี่ยวกับตัวเรากลับเป็นเนื้อหาของการภาวนา

- การเพ่งพิจารณาดู เราผ่านจากความปรารถนาที่จะทำตามน้ำพระทัยพระเจ้าไปสู่การนมัสการ ความเงียบ การสรรเสริญ และ “การมอบตนด้วยใจสุภาพและยากจนให้แก่น้ำพระทัยพระเจ้า โดยร่วมเป็นหนึ่งเดียวอย่างลึกซึ้งกับพระบุตรสุดที่รักของพระองค์”95 ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปและแทบจะไม่รู้ตัว ต่อจากการเพ่งพิจารณาดูตัวเราเองและโลกในมุมมองของพระเจ้า เราผ่านไปยังการเพ่งพิจารณาดูตัวเราเองอย่างที่พระเจ้าทรงมอง โดยสำนึกว่าอยู่ต่อหน้าพระผู้ทรงเป็นความปรารถนายิ่งใหญ่ของเราและผู้เดียวที่เราสวดขอ การภาวนาแบบเพ่งพิจารณาดูนี้ต่างกับขั้นตอนอื่นๆ ที่เพื่อจะได้ต้องใช้พลังแห่งน้ำใจ เนื่องจาก “เป็นพระพร เป็นพระหรรษทาน”96 ซึ่งไม่ธรรมดาหรือได้มาจากการออกแรงด้วยตนเอง แต่ต้องรอคอยและปรารถนา ขอและรับ เพราะไม่ใช่อะไรที่ได้มาโดยอัตโนมัติ

พ่อสำนึกในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากสมัชชา 25 ที่จะฟื้นฟูและแสดงออกถึงความเป็นเอกของพระเจ้าในหมู่คณะ” และกำหนดทิศทางให้คณะ ในอันที่จะทำให้ชีวิตของสมาชิกแต่ละคนและของหมู่คณะมีศูนย์กลางอยู่ที่พระวาจาของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทาง lectio divina97 พ่อขอพูดกับท่านโดยใช้คำของพระคาร์ดินัลมาร์ตีนี ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพ่อ เพราะว่าพ่อ “จะไม่มีวันเลิกราในการที่ตอกย้ำว่า lectio divina เป็นวิธีการหลักอันหนึ่งที่พระเจ้าทรงใช้เพื่อช่วยประชาชนทางตะวันตก ให้พ้นจากความเสื่อมด้านศีลธรรม ที่กำลังคุกคามสังคมด้วยความเย็นเฉยและความกลัวที่จะเชื่อ ดังนั้น lectio divina จึงเป็นยาแก้ความเสื่อมอันนี้ที่พระเจ้าประทานให้แก่ยุคของเรา และช่วยให้เราเติบโตภายใน ซึ่งหากขาดสิ่งนี้แล้วความเป็นคริสตชนก็เสี่ยงที่จะไม่สามารถรับการท้าทายของสหัสวรรษที่สามนี้ได้”98

รูปแบบที่ดีมากและเป็นรูปธรรมของ lectio divina คือการรำพึงประจำวัน (พระวินัย 93)99 คุณพ่อบอสโกแนะนำการรำพึงให้ลูกๆ ของท่านอย่างไม่หยุดหย่อน และได้เขียนบันทึกสำหรับอธิการบ้านว่า “จงอย่าละเลยการรำพึงทุกเช้า”100 พระวินัยสานต่อความคิดของคุณพ่อบอสโก กล่าวย้ำว่า “การรำพึงเป็นรูปแบบที่ขาดไม่ได้ของการภาวนา...มันทำให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเรากับพระเจ้ากระชับแน่นยิ่งขึ้น ช่วยเราไม่ให้ทำอะไรตามนิสัย ช่วยรักษาใจให้อิสระและช่วยหล่อเลี้ยงการอุทิศตนเพื่อผู้อื่น” พระวินัยข้อสุดท้ายยืนยันว่า การรำพึงที่ทำด้วยความซื่อสัตย์จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตด้วยความยินดี และเป็นหลักประกันของความซื่อสัตย์มั่นคงในกระแสเรียกของเรา พ่ออยากให้เราเห็นคุณค่าของการรำพึง ซึ่งมักจะไม่ได้รับความสนใจอย่างเพียงพอ

  • หล่อเลี้ยงการภาวนา (พระวินัย 87)

มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ดำรงชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (มก 4:4; ฉธบ 8:3) สำหรับชีวิตคริสตชน พระวาจาของพระเจ้า “เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงการภาวนาและการดำเนินชีวิตประจำวัน” นอกนั้น การภาวนาและการเพ่งพิจารณา “เป็นสถานที่เพื่อการรับพระวาจาของพระเจ้า”101 ดังนั้น คงไม่ใช่เป็นการบังเอิญที่สมัชชา 25 กล่าวถึงความเชื่อในหมู่คณะของเราที่หมดพลังลง โดยเห็นได้จาก “การละเลยการภาวนา”102 ในความเป็นจริงแล้ว “ชีวิตจิตที่แท้จริงเรียกร้องให้ทุกคน แม้จะแตกต่างในกระแสเรียก อุทิศเวลาแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะเข้าไปสู่ความลึกซึ้งภายในและสนทนาเงียบๆ กับพระเจ้าผู้ทรงรักแต่ละคน และเพื่อจะได้ร่วมชีวิตกับพระองค์และรับแสงสว่างจากพระองค์ในการก้าวเดินไปแต่ละวัน มันเป็นการกระทำที่เรียกร้องให้มีความซื่อสัตย์ เพราะทุกวันนี้เราถูกสังคมรอบด้านจู่โจมให้วอกแวกและฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อมวลชน ไม่น้อยครั้งความสัตย์ซื่อในการภาวนาส่วนตัวและการภาวนาในพิธีกรรมเรียกร้องให้เราออกแรงเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ไม่ปล่อยตนไปกับการเอาแต่ทำงานอย่างเดียว”103

มันเป็นไปได้ที่ความยากลำบากและการท้าทายที่หมู่คณะต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ (สมัชชา 25 ระบุเป็นรายการให้เห็น)104 มีต้นเหตุมาจากการที่สมาชิกไม่สามารถดำเนินชีวิตแห่งความเชื่อตามการชี้นำของพิธีกรรมและดำเนินชีวิตหมู่คณะที่ภาวนาร่วมกัน ตัวบ่งบอกเรื่องนี้เห็นได้จากการที่เราไม่ยอมดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะที่ภาวนาตามที่พระเจ้าทรงเรียกเรามา เราเลยไม่รู้จักวินิจฉัย “เครื่องหมายแห่งกาลเวลา” ว่ามีสิ่งใดที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทำ ดังนั้นการขาดความสำนึกแห่งการเป็นส่วนหนึ่งของคณะ และการพยายามจะไปหาพระเจ้าตามลำพัง จะทำให้เราไม่สามารถพบพระเจ้า หรือฟังพระวาจาของพระองค์ได้เลย สังคายนาวาติกันที่ 2 เตือนเราว่า “การอ่านพระคัมภีร์จะต้องทำควบคู่ไปกับการภาวนา เพื่อจะสามารถสร้างการเสวนาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ได้”105

การละเลยการภาวนาร่วมกัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในบางหมู่คณะหรือในสมาชิกบางคน ทำให้การอยู่ในหมู่คณะด้วยความยินดีและเป็นกันเองแทบจะเป็นไปไม่ได้ เวลาเดียวกันก็ทำให้ไม่สามารถได้ยินพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเรา ดังนั้น สำหรับผู้มีความเชื่อที่สนใจพระคัมภีร์ จะเห็นว่า เส้นทางสามัญที่พระเจ้าสื่อกับเราผ่านทางพระวาจาคือหมู่คณะที่ร่วมพิธีกรรม การเสาะหาน้ำพระทัยพระเจ้าด้วยใจจริง จะทำให้เราทำให้พิธีกรรมแห่งหมู่คณะเป็นเวลาและสถานที่พิเศษของการฟังพระเจ้า เวลาที่เราภาวนาบทสดุดีเรามักจะได้ยินบ่อยๆ ว่า พระเจ้าทรงขอให้เราฟังพระองค์ “ประชากรของเราเอ๋ย จงฟัง เราอยากจะเตือนว่า อิสราเอลเอ๋ย จงฟังเรา” (สดด 81:9;78:1) ในพระคัมภีร์เราจะเห็นว่า การภาวนาไม่ใช่เป็นเพียงโอกาสที่ประชากรของพระเจ้าทูลพระองค์ถึงความลำบากและความต้องการส่วนตัวเท่านั้น แต่เหนืออื่นใด เป็นโอกาสให้พระเจ้าได้ตรัสกับประชากรและบอกให้พวกเขารู้ถึงน้ำพระทัยของพระองค์ ดังนั้น ใครก็ตามที่อยากจะฟังพระเจ้าจะต้องอยู่กับพระองค์ในการภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวนาของหมู่คณะ

พ่ออยากจะพูดถึงช่วงเวลาสองช่วงของการภาวนาเป็นหมู่คณะที่เรา “น่าจะมีพระคัมภีร์อยู่ในมือ”106 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เราจะฝึกฝนการฟังพระวาจาของพระเจ้าในขณะที่เราสวดด้วยกัน

ช่วงเวลาแรก คือมิสซาบูชาขอบพระคุณ ซึ่งเป็น “กิจการประจำวันที่เป็นหัวใจของหมู่คณะซาเลเซียน และเป็นเวลาเหมาะสมเพื่อรับฟังพระวาจา” (พระวินัย 88) สิ่งที่พระวินัยยืนยันสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักใจของบรรดาปิตาจารย์ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ในคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ว่า พระองค์ทรงเป็นปังแห่งชีวิต โดยมอบพระวาจาและพระกายของพระองค์แก่ผู้มีความเชื่อในพระองค์ (ยน 6:47, 54) ดังนั้น เรารับพระเยซูเจ้าในพระวาจาที่เราฟัง อย่างที่เรารับพระองค์ทางศีลมหาสนิท107 พระศาสนจักรกราบไหว้พระคัมภีร์เหมือนกับกราบไหว้พระกายของพระคริสตเจ้า และหล่อเลี้ยงตนด้วยฟังแห่งชีวิตไม่ว่าทางพระวาจาหรือทางพระกายของพระคริสตเจ้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรม”108

ในการร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในแต่ละวัน เราได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาและพระกายของพระองค์ ซึ่งเป็นปังอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์เดียวกันที่ศิษย์สองคนแห่งเอมมาอุสได้สัมผัส และทำให้เรารู้จักเปิดตาและจำพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพขณะที่ทรงบิขนมปัง (ลก 24:30-31) แต่เพื่อให้เกิดสิ่งนี้ได้ เราต้องเดินไปกับพระองค์และฟังพระองค์อธิบายพระคัมภีร์ เมื่อนั้นแหละจิตใจเราจึงจะรุ่มร้อน (ลก 24:32) ดังนั้นเราต้องฟังพระองค์ก่อนแล้วจึงจะเห็นพระองค์

พ่อมั่นใจว่า หากเราคุ้นเคยกับพระวาจาของพระองค์และการเรียกร้องของพระวาจา เราก็จะจำพระองค์ได้ง่ายและพบว่าพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางเรา แต่เพื่อจะฟังพระองค์เราต้องรู้จักประยุกต์และศึกษาพระวาจาด้วยความสม่ำเสมอดังที่คุณพ่อ Vecchi กล่าวว่า “พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณมีพระวาจาของพระเจ้าแทรกซึมอยู่เต็มไปหมด (....) แต่ก็ยากที่จะเข้าถึงความมั่งคั่งแห่งพระวาจาทางการถวายมิสซาบูชาขอบพระคุณได้ หากไม่มีการเตรียมตัวด้วยพระคัมภีร์ก่อน”109

ช่วงเวลาที่สองคือช่วงการภาวนาเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสวดทำวัตร ซึ่งมีพระวาจาของพระเจ้าประทับอยู่มากกว่าหมด และถือว่าเป็น “หัวใจของแต่ละวันของผู้มีความเชื่อ”110 การสวดทำวัตรทำให้ “ผลของมิสซาบูชาขอบพระคุณต่อเนื่องไปในช่วงเวลาต่างๆ ของวัน”111 และในการสวดทำวัตร “หมู่คณะสรรเสริญและวิงวอนพระบิดาเจ้า หล่อเลี้ยงชีวิตสนิทกับพระองค์ และพร้อมทำตามน้ำพระทัยพระเจ้า” (พระวินัย 89)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การค้นพบการสวดทำวัตรอีกครั้งหนึ่งถือได้ว่า “เป็นการได้มาที่ประเสริฐยิ่ง” ของช่วงหลังสังคายนาวาติกันที่ 2 การสวดทำวัตรร่วมกันหรือสวดบางตอนด้วยกัน ทำให้ชีวิตภาวนาของหมู่คณะหลายแห่งกระเตื้องขึ้น เพราะเป็นการสัมผัสพระวาจาของพระเจ้าและการภาวนาของพระศาสนจักร”112 ดังนั้นเราจึงควรทำด้วย “ความสง่าสมศักดิ์ศรีและด้วยใจศรัทธาร้อนรนตามที่คุณพ่อบอสโกเคยเตือนให้ปฏิบัติ” (พระวินัย 89)

การภาวนาพร้อมกับพระศาสนจักร และอย่างที่พระศาสนจักรสวดย่อมเป็นแรงจูงใจให้เราสวดทำวัตรประจำวันซึ่งเป็นสถานที่และช่วงเวลาแห่งการอบรมฝ่ายจิตด้วยความเอาใจใส่113 แต่พ่ออยากจะบอกท่านว่า มีแรงจูงใจอีกสองอย่างที่พ่อเห็นว่ามีความสำคัญและน่าจะคำนึง กล่าวคือ ในบทสดุดีเราพบพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเรา เพราะพระคัมภีร์นั้นศักดิ์สิทธิ์ ในเวลาเดียวกัน เราพบคำพูดของเราที่ทูลพระเจ้า เพราะเป็นคำภาวนาของเรา นั่นหมายความว่า บทสดุดีเป็นคำที่พระเจ้าตรัสและคำที่เราใช้เพื่อพูดกับพระองค์ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง โดยทางบทสดุดีที่เราสวดนั้น พระเจ้าตรัสถึงพระองค์เอง ตรัสเกี่ยวกับเราและตรัสเกี่ยวกับผู้อื่น อีกทั้งตรัสเกี่ยวกับแผนการของพระองค์ ในเวลาเดียวกันก็เป็นบทสดุดีที่เราสวดเพื่อทูลสิ่งที่เราต้องการให้พระองค์ทราบ ยิ่งไปกว่านั้น บทสวดทำวัตรเช้าและเย็น เมื่อจัดให้เข้ากับตารางของงานประจำวัน จะช่วยให้เราพบพระเจ้าอีกครั้ง หลังจากที่ได้เสาะหาและรับใช้พระองค์ในงานประจำวันของเราหรืออาจจะลืมพระองค์ไปบางช่วงเวลา

- ให้ความสว่างเพื่อรู้ถึงน้ำพระทัยของพระเจ้าในเหตุการณ์ต่างๆ” (พระวินัย 87)

จงอย่าคล้อยตามความประพฤติของโลกนี้ แต่จงเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยการฟื้นฟูความคิดขึ้นใหม่ เพื่อจะได้รู้จักวินิจฉัยว่าสิ่งใดเป็นที่พอพระทัยอันสมบูรณ์พร้อมของพระองค์” (รม 2:2) ทุกวันนี้มีการพูดถึงการวินิจฉัยกันมาก และพ่อก็เห็นว่าดี การวินิจฉัยเป็นผลของการฟังพระวาจาด้วยท่าทีอ่อนน้อมและพากเพียร เพื่อจะได้รู้ว่าวันนี้พระเจ้าทรงต้องการอะไรจากเรา และพระองค์ทรงต้องการอย่างไร เพื่อจะสามารถตีความ “เครื่องหมายแห่งกาลเวลาในสถานการณ์ของเรา ซึ่งมากด้วยความมืดมนและลึกลับ เราจึงต้องมีพระเจ้าเสด็จร่วมทางกับเราและประทานพระพรของพระจิตให้เรา อย่างที่ทรงร่วมเดินทางไปกับศิษย์แห่งเอมมาอูส มีแต่พระองค์ผู้เดียวที่ประทับอยู่ท่ามกลางเรา สามารถช่วยให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงพระวาจาของพระองค์และช่วยเรา ทำให้พระวาจาเป็นความจริง อีกทั้งช่วยส่องสว่างสติปัญญาและทำให้จิตใจเราเร่าร้อน”114

ในความเป็นจริงแล้ว “ทั้งชายและหญิง ซึ่งเป็นคนแห่งการภาวนา สามารถวินิจฉัยและปฏิบัติตามพระวาจาได้อย่างแท้จริง อีกทั้งสามารถกระทำกิจการยิ่งใหญ่ได้ ทั้งนี้เพราะพวกเขาเข้าหาพระวาจาของพระเจ้าบ่อยๆ และได้รับแสงสว่างที่จำเป็นเพื่อวินิจฉัยทั้งในแง่ส่วนตัวและในแง่หมู่คณะ ซึ่งช่วยให้ค้นพบวิถีของพระเจ้าในเครื่องหมายแห่งกาลเวลา ผลก็คือ พวกเขามีสัญชาตญาณเหนือธรรมชาติ”115 กล่าวคือ สายตาแห่งความเชื่อ ซึ่งถ้าขาดเสียแล้ว “ชีวิตก็จะค่อยๆ หมดความหมาย มองใบหน้าของพี่น้องไม่ชัดเจน และไม่สามารถเห็นพระพักตร์ของพระคริสตเจ้า เวลาเดียวกันเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ดูเคลือบคลุม ไร้ซึ่งความหวัง พันธกิจแห่งการแพร่ธรรมและความรักกลับกลายเป็นแต่กิจกรรมที่ไร้ความหมาย”116

เมื่อเห็นว่าหมู่คณะมีความยากลำบากในการที่จะเป็น “ของประทานและประกาศกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน”117 สมัชชา 25 เรียกร้องหมู่คณะแต่ละแห่งให้คุณค่าแก่ “การวินิจฉัยด้วยกันกับหมู่คณะ ภายใต้แสงสว่างแห่งพระวาจาของพระเจ้าและพระวินัย”118 และจัดให้มี “เงื่อนไขจำเป็น เพื่อให้สมาชิกแต่ละคนสามารถให้ความหมายแห่งเอกภาพที่ลึกซึ้งแก่ชีวิตและการกระทำของตน ด้วยการวินิจฉัยแบบพระวรสารในท่าทีแห่งการเสาะหาน้ำพระทัยพระเจ้า”119

พ่อต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถทำการวินิจฉัยได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าในระดับบุคคลหรือระดับหมู่คณะ ถ้าไม่มีการพิจารณามโนธรรมประจำวัน120 พ่อขออธิบายเพิ่มเติมว่า ชีวิตของเราเป็นกระแสเรียก เรามีชีวิตอยู่เพราะพระเจ้าทรงสร้างเรามา “ปั้นและหล่อหลอมด้วยพระหัตถ์” (สดด 118:73; ปฐก 2:7) เราดำเนินชีวิตไม่ใช่เพราะเราต้องการ แต่เพราะพระเจ้าทรงต้องการเราและเรียกเราจากความว่างเปล่า (ปฐก 1:26) และเนื่องจากชีวิตเป็นผลมาจากพระประสงค์ของพระเจ้า เราจึงไม่อาจจะดำเนินชีวิตต่างหากหรือนอกเหนือจากน้ำพระทัยพระองค์ ดังนั้น เราจึงดำเนินชีวิตอยู่ไม่ใช่เพราะเราเลือก หรืออย่างที่เราเห็นดี เพราะชีวิตเป็นของประทานมาเปล่าๆ จึงต้องมีกฎเกณฑ์ที่ต้องถือตาม (ปฐก 2:6-17) และมีบทบาทที่ต้องทำ (ปฐก 1:28-31)

ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะยอมรับพระเจ้าและหน้าที่ที่ต้องมีต่อพระองค์ หากว่าเราไม่พยายามที่จะเสาะหาพระองค์ในชีวิตของเรา และจัดชีวิตเราให้สอดคล้อง อย่างที่นักบุญ Ignazio di Loyola แนะนำ121 ดังนั้นเราต้องตั้งใจฟังพระสุรเสียงของพระเจ้าเพื่อจะได้รู้ว่าวันนี้พระองค์ทรงต้องการอะไรจากเรา และเพื่อจะได้รู้ว่าพระองค์แจ้งสิ่งใดให้เรารู้ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราพบเห็น การวินิจฉัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น กล่าวคือ การ “มีความสามารถที่จะวินิจฉัยว่าสิ่งใดในการกระทำของเราสอดคล้องกับจิตตารมณ์ของพระคริสตเจ้า และสิ่งใดตรงข้ามกับจิตตารมณ์ของพระองค์บ้าง” “เพื่อจะได้ไม่ทำตามแรงกระตุ้นเฉพาะหน้า” และเพื่อทำอะไรก็ “เข้าใจได้ว่าแรงจูงใจมาจากไหน”122 ผลที่เกิดคืออะไรและมันจะนำไปถึงไหน

เราวินิจฉัยได้อย่างไร? ก็โดยทางการพิจารณามโนธรรมซึ่งไม่ใช่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาวนาค่ำ แต่เป็นเส้นทางที่นำไปสู่วุฒิภาวะด้านจิตใจอย่างแท้จริง ใครที่เดินในเส้นทางนี้ก็จะรู้จักมองความจริงที่เกี่ยวกับตนเองและผู้อื่นด้วยสายตาของพระเจ้าและในดวงพระทัยของพระองค์ การพิจารณามโนธรรมจึงเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาอยู่ที่ความเป็นอยู่ของตนเอง และมีเป้าหมายอยู่ในการรับรู้แผนการของพระเจ้าสำหรับตน พร้อมกับรับผิดชอบให้มันเป็นไปตามแผนการของพระองค์ เป้าหมายและผลของการพิจารณามโนธรรม คือการสำรวจร่องรอยแห่งการประทับอยู่และกิจการของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา เช่นนี้ “การพิจารณามโนธรรมนำเราไปสู่การค้นพบความหมายของชีวิตของเรา เพื่อทำเช่นนี้ได้ เราต้องเริ่มจากการฟังพระเจ้าที่ตรัสผ่านทางบุคคล การพบปะ เหตุการณ์ และประวัติศาสตร์”123

ในฐานะที่เป็นสาวกผู้ได้รับการเจิม เราต้องสร้างความสามารถที่จะทำแผนการชีวิตที่ช่วยเราให้เติบโตในวิถีชีวิตจิตอย่างแท้จริง และในฐานะนักอบรมโดยกระแสเรียก เราต้องมีความกล้าที่จะเสนอการพิจารณามโนธรรม ให้เป็นรูปแบบของการภาวนาที่เราสวดร่วมกับเยาวชน และฆราวาสที่ร่วมงานกับเรา แม้ใช้เวลาแค่สิบนาที แต่ต้องทำสม่ำเสมอทุกวัน- การพิจารณามโนธรรมก็ช่วยเราให้สามารถพบพระเจ้าในชีวิตประจำวัน และเห็นกิจการของพระองค์ที่ทำในตัวเราและเพื่อเรา (รม 8:28)

พ่อขอเสนอวิธีง่ายๆ เพื่ออ่านชีวิตเราต่อพระพักตร์พระเจ้า

- ตั้งตัวอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ก่อนที่จะเริ่มพิจารณามโนธรรมให้สำนึกตนว่ากำลังอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า และพระเจ้าทรงมองและรักเราผู้ที่มีความเชื่อ ก่อนที่จะเพ่งพิจารณาดูตนเอง สำนึกว่าตนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ฝึกฝนที่จะมองตนเองและเป็นอย่างที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เป็น

- โมทนาคุณพระเจ้า (“confession laudis”) เราเริ่มการพิจารณามโนธรรม “ด้วยการสรรเสริญและโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระพรต่างๆ ที่เราได้รับ สำหรับแผนการแห่งความรักของพระองค์ และสำหรับความดีที่เราพบเห็นในตัวเรา เมื่อเห็นถึงพระพรของพระเจ้า เราเกิดความรู้สึกอยากตอบสนองแผนการของพระองค์ในรายละเอียดและด้วยความเป็นจริงมากขึ้น124 โดยไม่ต้องมีความพึงพอใจในตนเองหรือสงสารตนเอง

พิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ เป็นจุดเริ่มต้นบังคับเพื่อจะไปถึงการรับรู้ในความดีที่เราได้รับ ดังนั้น ผู้มีความเชื่อยอมรับว่าตนเองได้รับพระหรรษทานหลากหลายมากกว่าจะมองว่าตนถูกพิพากษา ได้รับความรักมากกว่าจะถูกปรับโทษ ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า เขาต้องเข้าใจว่าพระเจ้าทรงทำอะไรเพื่อเขาบ้าง (1ธส 5:18) ก่อนจะยอมรับว่าตนมีขอบเขตจำกัด การพิจารณามโนธรรมอย่างแรกต่อพระพักตร์พระเจ้าคือ พิจารณาถึงพระพรที่ได้รับและจะได้รับ (ยน 4:10) พร้อมกับสำนึกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าผู้ประทานพระพรต่างๆ เหล่านี้ให้เรา และประทานพระองค์ให้แก่เราในสิ่งที่พระองค์ประทานให้

- การยอมรับถึงหนี้ (“confession vitae”) การสำนึกในพระพรที่ได้รับนำเราสู่การยอมรับหนี้ที่เรามี ยิ่งเราได้รับพระหรรษทานมากเท่าใด เราก็ยิ่งมีความรับผิดชอบเท่านั้น การรับรู้ถึงหนี้ของเราและยอมรับว่ามันก็เป็นพระหรรษทานอย่างหนึ่งที่เราต้องสวดขอ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นแห่งการกลับไปหาพระเจ้าผู้ทรงประทานการอภัยให้เรา การจะยอมรับบาปหรือข้อบกพร่องข้อใดข้อหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องรู้จักอธิบายหรือหาข้อแก้ตัวให้มัน หรือมีชีวิตอยู่กับมันอย่างสันติ ในความเป็นจริงแล้ว การยอมรับว่าเป็นคนบาปต่อพระพักตร์พระเจ้าเป็นพระพรแห่งการรู้ตัวว่าตนถูกรักจากพระเจ้าก่อนอื่นใด และรักอย่างไม่มีขอบเขต ดังนั้นการยอมรับว่าตนได้ทำบาปช่วยให้เราสุภาพ นำเรากลับไปสู่ต้นกำเนิดของเรา ไปสู่ humus กล่าวคือ ดินที่ยังไม่ได้รับลมแห่งชีวิตจากพระจิต โดยไม่ต้องปรักปรำตนว่าต่ำช้า ใครที่วอนขอการอภัยจากพระเจ้าก็ขอพระพรแห่งความรักจากพระองค์ด้วย

ความแปลกใจที่พบว่าตนเองถูกรักจากพระเจ้า นำไปสู่การตัดสินใจเด็ดขาดที่จะละทิ้งความชั่วและดำเนินชีวิตแห่งฤทธิ์กุศล การรู้ว่าตนเป็นที่รักของพระเจ้านำไปสู่การเป็นทุกข์ถึงบาป ยอมรับว่าเป็นคนบาป สารภาพบาปและวอนขอการอภัยจากพระเจ้า ความรักของพระเจ้าที่เป็นพลังจะทำให้เรารู้จักป้องกันตนไม่ให้ทำบาปอีกในอนาคต ความตั้งใจจะพัฒนาตนให้ดีขึ้นและไม่ทำบาปอีก ตลอดจนการตัดสินใจที่จะสละบาปจะเป็นวิธีที่ทรงประสิทธภาพหากการตัดสินใจนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรักของพระเจ้าที่ทำให้เราต้องแปลกใจและถึงขนาดร้องไห้ ดังนั้น การค้นพบบาปของเราเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า หรือพบได้โดยพระหรรษทานที่พระองค์ประทานให้ นำเราไปสู่การเป็นทุกข์ถึงบาป การเป็นทุกข์ถึงบาปนำเรากลับมาหาตัวเราเอง”125

- พันธะในการกลับใจ (confession fidei”) ใครที่กลับมาหาพระเจ้าก็จะพยายามที่จะอยู่กับพระองค์ พระพรแห่งการอภัยบาปทำให้เกิดความปรารถนาจะมอบตนให้พระเจ้านำ ความตั้งใจที่จะชดใช้ความผิดหรือในความพยายามที่จะออกแรงเพื่อเพิ่มเติมในสิ่งที่ยังขาดอยู่ เป็นสิ่งที่เกินความสามารถของเราที่จะทำได้ เพราะความปรารถนาที่จะแก้ไขความผิดจะต้องมาจากพระหรรษทานที่เราไม่ได้ตอบสนอง ดังนั้น ผู้ที่มีความเชื่อจึงไม่ใช่ผู้ที่จะกำหนดเป้าหมายสำหรับการกลับใจ อย่างมากก็ทำได้แค่กำหนดวิธีการและแนวทางเพื่อบรรลุถึงเท่านั้น แต่เป็นพระเจ้าผู้ทรงรักเรามากที่จะเผยให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงต้องการอะไรจากเรา พระหรรษทาน และพระประสงค์ของพระเจ้าจึงก่อให้เกิดความปรารถนาในตัวเราที่จะกลับไปหาพระองค์และอยู่กับพระองค์ ดังนั้น พระหรรษทานที่เรียกร้องให้เรากลับใจก็เริ่มจากการที่เราสำนึกถึงพระหรรษทานที่เราได้รับและสัมผัสได้ในประสบการณ์

เป้าหมายของการพิจารณามโนธรรม ไม่อยู่ที่การวิเคราะห์จิตใจอันลึกซึ้งของเราเท่านั้น แต่อยู่ในการค้นพบ “พระเจ้าในทุกสิ่งและทุกสิ่งในพระเจ้า” ดังที่ผู้สันทัดกรณีในเรื่องนี้กล่าวไว้ “เป็นเพราะความคุ้นเคยกับพระเจ้าที่ได้จากการพิจารณามโนธรรม ทำให้เราสามารถรู้ว่าพระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ให้แก่เราอย่างไรและเราดำเนินชีวิตกับพระองค์ได้อย่างไร ซึ่งเอื้อให้เราลุวุฒิภาวะในความเชื่อได้อย่างแท้จริง นอกนั้น การพิจารณามโนธรรมช่วยให้เราสำนึกในการที่พระเจ้าทรงเห็นเรา และเราดำเนินชีวิตภายในความสัมพันธ์นี้อย่างไร ความสำนึกของการที่พระเจ้าทรงเห็นเราก็คือวุฒิภาวนาด้านความเชื่อ”126


- พลังเพื่อดำเนินชีวิตสัตย์ซื่อต่อกระแสเรียก” (พระวินัย 87)

แสงสว่างแห่งเส้นทางเดินของข้าพเจ้าคือพระวาจาของพระองค์ แสงสว่างแห่งการเดินของข้าพเจ้า” (สดด 118:105) ในยุคที่เราดำเนินชีวิตอยู่นี้เรารู้สึกถึง “ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ รูปแบบการดำเนินชีวิต มาตรฐานโครงสร้างและวิธีการอบรม-อภิบาล โดยมีความสัตย์ซื่อต่อพระพรพิเศษ (charism) ของเรา127 การเรียกร้องนี้ไม่ใช่มาจากการที่เราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่เหนืออื่นใดมาจากชีวิตซาเลเซียนที่ต้องมีความพร้อมเสมอที่จะตอบรับการท้าทาย และยืนหยัดสัตย์ซื่อต่อพันธกิจของเราในพระศาสนจักรเพื่อความดีของเยาวชน ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้รับการเจิม เราจะสามารถสัตย์ซื่อต่อการเจิมนี้ได้ ถ้าเรา “สามารถทบทวนชีวิตของเราบ่อยๆ ...ภายใต้แสงสว่างแห่งพระวาจาของพระเจ้า”128

ดำเนินชีวิตภายใต้การบอกนำของพระวาจาหมายความว่า ดำเนินชีวิตอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์อย่างที่เราเป็น โดยที่ไม่สามารถจะปิดบังอะไรพระองค์ได้ (ปฐก 3:8-9;138:9) แสงสว่างแท้จริงซึ่งส่องสว่างแก่มนุษย์” (ยน 1:9) ซึ่งเป็นพระวาจาที่ทำให้เราเห็นความจริงเกี่ยวกับตัวเราเอง ความจริงซึ่งเราไม่ค่อยได้เผชิญหน้าหรือบางครั้งก็ปฏิเสธมัน เช่นนี้ มุมมืดในดวงใจเราก็จะสว่างไสวและกลับมีความหมายขึ้น เพราะมันจะทำให้เราเห็นและยอมรับว่ามีอะไรบ้างที่ยังตรงกันข้ามกับพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นรากของความดึงดูดใจที่ขัดแย้งกับพระวรสาร หรือความโน้มเอียงแอบแฝงซึ่งยากจะค้นพบที่แผ่รากเข้าไปทำลายการเลือกชีวิตแห่งพระวรสารของเรา “การถอยห่างจากการพบกับพระวาจาของพระบิดาทำให้เราหมดโอกาสที่จะเข้าถึงตัวเอง ไม่สามารถแยกแยะตนเอง ไม่เข้าใจตนเอง ไม่ยกโทษให้ตนเอง ไม่ยอมรับตนเอง ไม่ยอมเป็นตัวเอง ไม่สามารถวางแผนตนเอง และไม่รักตนเอง”129 การฟังพระวาจาของพระเจ้าทำให้รู้สึกว่าพระเจ้าทรงรักเราและช่วยให้เรามีความสัตย์ซื่อในกระแสเรียกของเรา

การดำเนินชีวิตภาวนาภายใต้การชี้นำของพระวาจาของพระเจ้าหมายความว่า น้อมรับการเผยแสดงองค์ด้วยความชื่นชอบ เฝ้าชมการเผยแสดงองค์ในแต่ละวันให้แก่โลกและแก่ดวงใจของเราด้วยความพิศวง เมื่อพระเจ้าตรัสกับเรา พระองค์ก็ทรงเผยพระองค์เองให้เรา และบอกให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงเสาะหาเราเพราะทรงรักเรา พระองค์ทรงเผยให้เราเห็นความสัตย์ซื่อของพระองค์ซึ่ง “ไม่มีวันสิ้นสุดและรื้อฟื้นใหม่ทุกวัน” (พคค 3:23-23) ทรงตรวจสอบเราและเผยให้เรารู้ (สดด 138:11-12) และแม้เราจะไม่เชื่อ แต่ก็ทรงยืนยันความสัตย์ซื่อของพระองค์ (รม 3:3) เพราะความสัตย์ซื่อของพระองค์ไม่มีวันเลิกราถึงแม้เราจะละทิ้งพระองค์ไป ทำให้เราหันกลับไปสู่พันธสัญญาของพระองค์และรับรู้ในความสัตย์ซื่อของพระองค์ (ฮซย 2:21-22) การฟังพระวาจาทำให้เราสามารถสัมผัสความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ทำให้เรามีพลังและความกล้าที่จะอยู่กับพระองค์ด้วยความสัตย์ซื่อเช่นเดียวกัน โดยส่วนตัวแล้ว พ่อเห็นว่ายากที่จะคิดถึงชีวิตแห่งความสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า ถ้าไม่มีความตั้งใจ ความห่วงใย ความอ่อนน้อมและการน้อมรับพระวาจาของพระเจ้า


3.4 ฟังพระวาจาเพื่อเป็นสาวก

สิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังนี้ เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย” (1ยน 1:3) พระวาจาที่ฟังต้องนำไปถ่ายทอดให้คนอื่น จึงไม่ใช่ของประทานที่จะต้องเก็บไว้คนเดียวด้วยความหวงแหน ความนบนอบต่อพระเจ้ากลับกลายเป็นพันธกิจในโลก เพราะเราเป็นสาวก “เมื่อรับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา เรากลับเป็นมนุษย์ใหม่ เป็นอิสระ เป็นข่าวดี และได้รับการเจิมเพื่อจะได้เป็นข้ารับใช้ที่แท้จริงของพระวาจาในพันธกิจแห่งการประกาศพระวรสาร เช่นนี้เรา ก็ให้ความสำคัญอันดับหนึ่งแก่พระศาสนจักรในทศวรรษใหม่”130

ในโลกที่ร่องรอยของพระเจ้าหายไปบ่อยๆ นี้ ในฐานะซาเลเซียน เรามองดูโลกเยาวชนด้วยความห่วงใย พวกเขาคาดหวังจะได้เห็นประจักษ์พยานที่โน้มน้าวใจจากเรา เพราะต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างการประกาศ และการดำเนินชีวิต เวลาเดียวกันก็มีรูปแบบประกาศกที่ยืนยันความเป็นใหญ่ของพระเจ้าและความดีนิรันดร ทว่า “ประกาศกแท้จริงเกิดขึ้นจากพระเจ้า จากมิตรภาพกับพระองค์ กับการฟังพระวาจาด้วยความตั้งใจในบริบทต่างๆ ของประวัติศาสตร์ ประกาศกต้องมีความปรารถนาอันเร่าร้อนในดวงใจในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า และเมื่อได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในการภาวนาพระวาจาแล้ว ก็ประกาศความสักดิ์ศิทธิ์นี้ด้วยชีวิต ด้วยคำพูดและด้วยท่าที โดยทำตนเป็นกระบอกเสียงของพระเจ้าในการต่อต้านความชั่วและบาป การเป็นประจักษ์พยานเชิงประกาศกเรียกร้องให้มีความสนใจในการแสวงหาน้ำพระทัยพระเจ้า ความเป็นหนึ่งเดียวอย่างไม่ขาดสายกับพระศาสนจักร การวินิจฉัยฝ่ายจิตและความรักต่อความจริง นอกนั้นก็แสดงออกมาในการไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ตรงข้ามกับน้ำพระทัยพระเจ้า และในการแสวงหารูปแบบใหม่ๆ เพื่อทำให้พระวรสารเป็นความจริงในประวัติศาสตร์ ในขณะที่รอการมาของพระอาณาจักรของพระเจ้า”131

ในฐานะที่เป็นนักอบรมและผู้ประกาศพระวรสารให้เยาวชนในทศวรรษที่ 3 เราต่างมีความรับผิดชอบในการฟังพระวาจาของพระเจ้าเพื่อเยาวชนและพร้อมกับเยาวชน ซึ่งสองอย่างนี้ไม่ควรละเลยในการอภิบาลเยาวชน


  • สามารถสร้างบรรยากาศอบอวลด้วยชีวิตจิต

การที่พ่อขอร้องให้เรากลับไปสู่เยาวชนนับตั้งแต่ที่พ่อเขียนจดหมายถึงท่านในฐานะอัคราธิการ132 และมักจะพูดเรื่องเดียวกันนี้ทุกแห่งที่พ่อไปเยี่ยม ไม่ได้มีแรงจูงใจเพียงแค่ให้ความมั่นใจว่า “พระเจ้าทรงรอพวกเราในเยาวชนเพื่อจะประทานพระหรรษทานแห่งการพบกับพระองค์แก่เรา”133 เท่านั้น แต่มาจากความจริงที่ว่า ทุกวันนี้ เยาวชนต้องการพระเจ้าเป็นอย่างมาก แม้ว่าพวกเขาไม่แสดงออกมาก็ตาม

เราทุกคนได้รับเรียกให้เป็นผู้อบรมปลูกฝังความเชื่อในทุกโอกาส” เราซาเลเซียน “เดินไปพร้อมๆ กับเยาวชน เพื่อนำพวกเขาไปพบองค์พระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ” เพื่อช่วยพวกเขาให้ “ค้นพบความหมายสูงสุดของชีวิตในพระองค์ และในพระวรสาร” (พระวินัย 34) การดำเนินชีวิตโดยมีพระคริสตเจ้าเป็นจุดอ้างอิงหลัก คือเป้าหมายของการอภิบาลของเรา ถ้าเราต้องการช่วยเยาวชนอย่างแท้จริง “ให้เรามองดูประวัติศาสตร์อย่างที่พระคริสตเจ้าทรงมอง ให้ตัดสินสิ่งต่างๆ ในชีวิตอย่างที่พระองค์ทรงตัดสิน ให้เลือกและรักเช่นเดียวกับพระองค์ ให้หวังในสิ่งที่พระองค์ทรงสอน และให้ดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาและพระจิต”134 เราต้องชี้นำพวกเขาให้พบปะตัวต่อตัวกับพระคริสตเจ้า ซึ่งเสด็จมาหาพวกเขาทางพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ (พระวินัย 36)

พระสันตะปาปาตรัสถึง “ความจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นคริสตังที่แตกต่างจากศาสนาอื่นในศิลปะแห่งการภาวนา” หรืออีกนัยหนึ่ง “มันไม่ใช่ เครื่องหมายแห่งกาลเวลา อีกหรือที่โลกนี้ซึ่งมีแนวโน้มของการเน้นมุมมองฆราวาสในทุกอย่าง และมีการแพร่หลายความต้องการฝ่ายชีวิตจิตที่แสดงออกมาในความต้องการการภาวนา?135 เราต่างก็มีประสบการณ์เดียวกันกับพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ที่พบว่าเยาวชน “มีความต้องการการภาวนา การดำเนินชีวิตอย่างมี ความหมาย และการมีมิตรภาพไม่ใช่หรือ?136 ดังนั้น มันจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับเราที่ต้องทำให้ “การอบรมในด้านภาวนาต้องเป็นจุดเด่น และทรงคุณภาพของโครงการอภิบาลเยาวชนทุกโครงการ”137 หมู่คณะของเรา ดังเช่นหมู่คณะคริสตชนทุกแห่งต้องเป็น “โรงเรียนสอนการภาวนาอย่างแท้จริง ที่ซึ่งการพบปะกับพระคริสตเจ้าไม่เป็นแค่การทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ แต่เป็นการโมทนาคุณ สรรเสริญ นมัสการ เพ่งพิจารณาดู ฟัง รักร้อนรน และแม้กระทั่งตกหลุมรักพระองค์” ดังนั้น การภาวนาที่เข้มข้นจึงไม่ทำให้เราละเลยหน้าที่ในประวัติศาสตร์ เพราะการเปิดใจรักพระเจ้าก็เป็นการเปิดตัวรักพี่น้อง และสามารถสร้างประวัติศาสตร์ตามแผนการของพระเจ้าได้”138

เพราะเหตุนี้เอง สมัชชา 25 ได้เรียกร้องให้ทุกหมู่คณะสร้าง “บรรยากาศเข้มข้นด้วยชีวิตจิต” สำหรับเยาวชนของเรา ซึ่งพวกเขาหลายคนต้องอยู่ในโลกที่เน้นมุมมองฆราวาสในทุกสิ่ง... และพยายามเสาะหาประสบการณ์ชีวิตจิตใหม่ๆ อีกทั้งดำเนินชีวิตโดยไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่ความเชื่อ”139 ในบริบทที่มีแนวโน้มไปสู่ประสบการณ์แห่งคุณค่าพระวรสาร” เช่นนี้ เราต้องนำเสนอรูปแบบการดำเนินชีวิต “ด้วยช่วงเวลาแห่งประสบการณ์ฝ่ายจิตที่เข้มข้นกับเยาวชน”140 โดยสนับสนุนให้มีโรงเรียนแห่งการภาวนาที่มีรูปแบบที่สอดคล้องกับพระพรพิเศษ (charism) กับชีวิตจิต และการอ่านพระคัมภีร์ด้วยกัน”141 ซึ่งจะช่วยอบรมเยาวชนให้รู้จักภาวนาส่วนตัว พบกับพระวาจาของพระเจ้าและศีลมหาสนิท

เราต้องเป็น “อาจารย์ ผู้นำ และผู้อบรมที่ศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับที่คุณพ่อบอสโกเคยเป็น”142 โดยมีเงื่อนไขว่า หมู่คณะของเราต้องพยายามที่จะ “เป็นสถานที่เพื่อการรับฟังและการแบ่งปันพระวาจา การประกอบพิธีจารีต การสอนภาวนา การติดตามและแนะนำฝ่ายจิตให้แก่เยาวชน”143 หากในฐานะหมู่คณะ เราเปิดใจรับพระหรรษทานและยอมให้พระวาจาของพระเจ้าผ่านทางเราด้วยพลัง และหากเราให้การต้อนรับเยาวชนในบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง เพื่อให้พวกเขาได้ “มีประสบการณ์ฝ่ายจิต เรียนรู้การภาวนา เข้าเงียบ เข้าสู่ความสงบ รับฟังและมีการแนะนำฝ่ายจิต” เราก็จะสามารถนำพวกเขา “ไปสู่การวินิจฉัยน้ำพระทัยพระเจ้าสำหรับพวกเขาได้ดีขึ้น และตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ความเชื่อเรียกร้องด้วยความกล้าหาญ บางครั้งถึงขั้นวีรกรรม”144 พ่อขอยืนยันว่า ในเรื่องนี้พ่อก็คงไม่สามารถให้กำลังใจท่านได้ดีไปกว่านี้ หรือเห็นว่ามีงานอภิบาลไหนที่ดีไปกว่านี้


- เสนอการอภิบาลแห่งกระบวนการสู่วุฒิภาวะฝ่ายจิต

สมัชชา 25 ถามว่า “ในวัฒนธรรมที่ซับซ้อนและแตกแยกนี้ หมู่คณะจะสามารถทำการวินิจฉัย กลับใจในเชิงอภิบาล และเปลี่ยนจากงานอภิบาลที่เน้นการกระทำและความเร่งด่วน ไปสู่การอภิบาลที่เน้นกระบวนการได้อย่างไร”145

สมัชชา 23 ได้ให้คำตอบแล้ว เมื่อระบุว่า คณะได้ผ่านกระบวนการฟื้นฟูที่นำเราไปสู่การกู้พันธกิจจำเพาะของซาเลเซียนกลับคืนมาใหม่ (สมัชชา 20) โดยที่หมู่คณะทำเป็นโครงการขึ้นมา (สมัชชา 21) และนำมาดำเนินชีวิตให้เป็นความรักต่อพระเจ้าท่ามกลางเยาวชน (สมัชชา 22) กระทั่งกลายเป็นความปรารถนาที่จะเดินไปในความเชื่อพร้อมกับพวกเขา และตามความพร้อมของพวกเขา146 เพื่อจะปฏิบัติตามพันธะของเรานี้ เราต้องวางรูปแบบของการเดินแห่งความเชื่อ ซึ่ง “ในแก่นสารแล้วก็เป็นชีวิตจิตเยาวชนซาเลเซียนนั่นเอง” ผู้เข้าร่วมสมัชชาเสนอให้เราทำ “ทุกอย่างตามพระฉบับแบบของพระเยซูเจ้าและตามวิธีการแห่งความรักของนายชุมพาบาลที่ดีในเส้นทางสู่เอมมาอุส”147

ข้อเสนอให้อ่านเรื่องเอมมาอุส (ลก 24:13-35) เป็นการชี้แนะให้รู้จักมองไปให้ไกลในงานอภิบาลเยาวชนทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการอ้างอิงพระวาจาของพระเจ้าเพื่อนำเสนอรูปแบบของกระบวนการอภิบาลเยาวชนซาเลเซียน ซึ่งไม่มีแค่เป้าหมายที่จะต้องลุถึงเท่านั้น แต่มีวิธีการสำหรับนำไปใช้ และประสบการณ์ที่ต้องดำเนินชีวิตอีกด้วย พูดอีกนัยหนึ่ง มันเป็นเรื่องของการเดินในเส้นทางแห่งความเชื่ออีกครั้งหนึ่ง และ “นำเยาวชนไปพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (พระวินัย 34)

ให้เราเป็นฝ่ายริเริ่มการพบปะและให้เราอยู่เคียงข้างกับเยาวชน” (สมัชชา 23,93) อย่างที่พระเยซูเจ้าได้ทรงทำกับศิษย์สองคนแห่งเอมมาอุส และให้เราเป็นตัวแทนของพระองค์ในการไปพบปะพวกเขาในที่ที่พวกเขาอยู่ และให้คุณค่าแก่สิ่งดีๆ ที่เราพบเห็นในพวกเขา ให้เราใกล้ชิดกับพวกเขาและเดินไปกับพวกเขา (ลก 24:15) ให้เราต้อนรับพวกเขาในบริบทของเรา โดยไม่หาผลประโยชน์อย่างใดจากพวกเขาและด้วยความห่วงใย เวลาเดียวกันเราต้องไม่สนใจท่าทีที่ไม่แน่ใจ และสับสนของพวกเขา แต่ยอมรับพวกเขาอย่างที่พวกเขาเป็น โดยไม่มีอคติหรือการกล่าวโทษ และให้เราเดินไปเป็นเพื่อนพวกเขาในเส้นทางแห่งชีวิตของพวกเขา การอยู่ใกล้ชิดและมิตรภาพของเรา จะช่วยทำให้พวกเขาค้นพบพระเยซูเจ้าที่ทรงดำเนินชีวิตและให้ความสนใจในพวกเขา

ให้เราเดินไปกับเยาวชน ฟัง และร่วมความกังวลและความใฝ่ฝันของพวกเขา” (สมัชชา 23,93) การเดินไปเป็นเพื่อน ซึ่งแม้จะเป็นกันเอง ก็ยังถือว่าไม่พอ ต้องมีการพูดคุยในเรื่องที่เยาวชนสนใจหรือเป็นกังวล เพื่อจะได้รู้ถึงความต้องการและความฝันที่พวกเขามีจากตัวพวกเขาเอง ไม่ใช่ฟังที่อื่นมา และเพื่อจะได้เห็นมุมมองของพวกเขา ตลอดจนเห็นคุณค่าของพวกเขาด้วย และเป็นที่ยอมรับของเยาวชน เราต้องยอมรับโลกของพวกเขา รู้ถึงแรงจูงใจของพวกเขาเพื่อจะได้ร่วมส่วนกับพวกเขา และถ้าเป็นไปได้ก็รับมาเป็นแรงจูงใจของเราด้วย เพราะ “เมล็ดแห่งพระอาณาจักรนั้นซ่อนเร้นอยู่ในความคาดหวังของพวกเขา”148 การไปพบปะเยาวชน...และสนใจในสิ่งที่พวกเขาถามและในความใฝ่ฝันของพวกเขาเป็นการเลือกพื้นฐานสำหรับเราที่ต้องมาก่อนขั้นตอนอื่นๆ ของการอบรมไปสู่ความเชื่อ”149

เราอธิบายสารที่เรียกร้องของพระวรสารให้แก่เยาวชนด้วยความพากเพียร” (สมัชชา 23,93) เมื่อได้ฟังสิ่งที่พวกเขาพูด สิ่งที่พวกเขาสนใจ รับรู้ในสิ่งที่ทำให้พวกเขาเศร้าและสับสนแล้ว เราต้องช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าพระเยซูเจ้ายังทรงชีวิตอยู่ (ลก 24:23-24) และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้า การทำเช่นนี้จึงเป็นการเปลี่ยนจากชีวิตที่สื่อออกมาไปสู่ชีวิตที่ตีความด้วยพระวรสาร (ลก 24:27) เช่นนี้ ปัญหาที่ประสบหรือยังไม่ได้รับการแก้ไขก็เริ่มมีความหมายและความหวัง ความคิดผิดๆ หรือโครงการที่ยากจะเป็นจริงก็ได้รับการปรับมิติใหม่ “ไม่ว่าในกรณีใดๆ เราจะช่วยเยาวชนให้เปิดรับความจริงและสร้างสรรค์ตนเองให้รู้จักใช้อิสรภาพด้วยความรับผิดชอบ” (พระวินัย 32)

เราหยุดพร้อมกับเยาวชนเพื่อทำการบิขนมปังและกระตุ้นให้เกิดความเชื่อในพวกเขา ซึ่งจะเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นประจักษ์พยานและผู้ประกาศที่น่าเชื่อถือ” (สมัชชา 23,93) เราไม่เพียงจะพูดถึงพระคริสตเจ้าให้พวกเขาฟัง แต่จะต้องอยู่กับพวกเขาและจะไม่ละทิ้งพวกเขาไปจนกว่าพวกเขาจะพบกับพระองค์ตัวต่อตัว “เราจะเฉลิมฉลองการพบปะกับพระคริสตเจ้าในการรับฟังพระวาจา ในการภาวนา และในการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับพวกเขา” (พระวินัย 36) เราดำเนินชีวิตพร้อมกับเยาวชนในความสัมพันธ์ตัวต่อตัวกับพระคริสตเจ้า ผู้ทรงคืนดีและให้อภัย ผู้ทรงมอบพระองค์และสร้างความสัมพันธ์หนึ่งเดียวผู้ทรงเรียกและส่งพวกเขาไป และทรงเชื้อเชิญให้พวกเขาเป็นผู้สร้างสังคมใหม่”150

การค้นพบพระคริสตเจ้าทรงชีวิตในพระวาจา ผู้ทรงทำให้ชีวิตเราเต็มเปี่ยมและมอบพระกายให้แก่เรา ทำให้เยาวชนพบกับเส้นทางเดินเพื่อกลับไปสู่หมู่คณะผู้มีความเชื่อ (ลก 24:33) ที่ซึ่งพวกเขาจะเป็นประจักษ์พยานแห่งการได้พบกับพระองค์ และจดจำได้ว่าจิตใจของพวกเขารุ่มร้อน “ในขณะที่พระองค์ตรัสกับพวกเขาตามเส้นทางเดินและได้ทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้พวกเขาฟัง” (ลก 24;32) และช่นนี้ พวกเขาจะกลับเป็นผู้ประกาศพระวรสารให้แก่เยาวชนอื่นๆ เป็นสาวกสำหรับเพื่อนๆ และเป็นประจักษ์พยานของพระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ


4. ดังเช่นพระแม่มารีอา เราน้อมรับพระวาจาและรำพึงในใจ” (พระวินัย 87)

สมาชิกที่รัก พ่ออยากจะสรุปจดหมายด้วยการพูดถึงสิ่งที่พระสันตะปาปาทางเชื้อเชิญให้คริสตชนทวีปยุโรปเข้าสู่สหัสวรรษที่ 3 โดยถือพระวรสารไว้ในมือ “ในการศึกษาพระวาจาอย่างเอาใจใส่เราจะพบอาหารหล่อเลี้ยงใจ และพลังเพื่อทำพันธกิจของเราแต่ละวัน ให้เราหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ให้เรารับหนังสือเล่มนี้จากพระเจ้าผู้ทรงมอบให้เราผ่านทางพระศาสนจักรอย่างต่อเนื่อง (วว 10:8) ให้เราอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความหิวกระหาย (วว 10:9) เพื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะได้เป็นลมหายใจสำหรับชีวิตของเรา ให้เราชิมรสเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้หวานดุจน้ำผึ้ง (วว 10:9-10) แล้วเราจะเปี่ยมด้วยความหวังและสามารถที่จะถ่ายทอดให้แก่ทุกคนที่เราจะพบเห็นในเส้นทางเดินของเรา”151

พ่อเอง เมื่อนำเสนอเอกสารของสมัชชาครั้งล่าสุดนี้ เสนอให้ท่าน “ศึกษาเอกสารนี้โดยเริ่มจากพระวาจา ซึ่งเป็นท่าทีเดียวกันของพระแม่มารีอาต่อหน้าพระวาจา กล่าวคือ ฟัง คล้อยตาม ทำตัวเป็นข้ารับใช้ และกลับเป็นผู้มีความเชื่อ”152 ด้วยการเชื้อเชิญอันนี้ พ่ออยากจะเตือนท่านให้ทำตามที่พระวินัยของเราเชื้อเชิญเราให้ทำ กล่าวคือ ให้มีพระวรสารอยู่ในมือทุกวันตามแบบอย่างของพระมารดามารีอา “ให้เรารับฟังพระวาจาของพระเจ้าแบบพระนางมารีอา และรำพึงในใจจนเกิดผลและสามารถนำไปประกาศพระวาจานั้นด้วยใจร้อนรน” (พระวินัย 87)

ไม่มีโรงเรียนใดเสมอเหมือนโรงเรียนของพระมารดามารีอา153 ที่สอนเราให้เข้าถึงการเพ่งพิจารณาและการน้อมรับ การเก็บรักษาและการประกาศพระวาจาของพระเจ้า “เมื่อแม่พระทรงยินยอมอ่อนน้อมตามพระวาจาของพระเจ้า ผู้ทรงรับเอากายในตัวพระแม่ พระมารดามารีอาทรงเป็นแบบอย่างของการตอบรับพระหรรษทานสำหรับมนุษย์ทุกคน”154 ไม่มีมนุษย์คนใดที่สามารถให้การต้อนรับพระวาจาได้ดีเหมือนพระแม่ ซึ่งทรงทำให้พระวาจากลายเป็นเลือดเนื้อในครรภ์ของพระนาง แม่พระทรงสอนเราว่า ใครที่เชื่อในพระวาจาก็ต้องทำให้พระวาจากลายเป็นเลือดเนื้อของตน ใครที่รับใช้พระวาจาจะต้องทำให้พระวาจาเป็นชีวิตของตน และใครที่อ่อนน้อมต่อพระเจ้า (ลก 1:38) พระองค์ก็จะทรงทำให้เขาเป็นลูกของพระองค์ (ลก 1:43) เรากล้าที่จะเรียกตัวเราเป็นมารดาของพระคริสตเจ้าหรือเปล่า? นักบุญออกัสตินย้ำถาม แล้วก็ตอบว่า “แน่นอนเรากล้าที่จะเรียกตัวเราเป็นมารดาของพระคริสตเจ้า...อวัยวะต่างๆ ของพระกายของพระคริสตเจ้าถือกำเนิดมาโดยทางพระจิตเจ้า แบบเดียวกับที่พระมารดามารีอาทรงปฏิสนธิพระคริสตเจ้าในพระครรภ์ เพราะเหตุนี้ ท่านก็เป็นมารดาของพระคริสตเจ้า (ถ้าท่านทำให้พระวาจากลายเป็นเลือดเนื้อในตัวท่านโดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า-ผู้แปลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจ)155

ฉะนั้น การที่เราสามารถมีความสุขเดียวกันกับพระมารดามารีอาจึงไม่ใช่เรื่องเหลวไหล พระเจ้าของพระแม่ยังทรงมีแผนการแห่งความรอดในปัจจุบันนี้ด้วย ดังนั้น พระองค์ทรงมองหาผู้มีความเชื่อที่สนใจในพระวาจา และพร้อมที่จะรับพระวาจาเข้าสู่ชีวิต และทรงเตรียมการผจญภัยและพระหรรษทานยิ่งใหญ่ให้เขา แบบเดียวกับที่ทรงประทานให้แก่พระมารดาของพระองค์ ดังนั้นเพื่อจะสามารถมีบุญแบบพระมารดามารีอา (ลก 1:45) และดำเนินชีวิตเปี่ยมด้วยหรรษทาน (ลก 1:28) เราเพียงแค่ต้องเชื่อเช่นเดียวกับพระแม่ มอบความไว้วางใจทั้งครบให้แก่พระเจ้าและทำตนเป็นข้ารับใช้ที่สุภาพต่ำต้อย ถ้าเราสามารถมอบตัวเราให้แก่พระเจ้า อย่างที่พระแม่มารีอาได้ทรงทำ เราก็จะเป็นเหมือนพระแม่ในการประกาศว่าพระเจ้าทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่ในตัวเรา

อย่าลืมว่า ความสัมพันธ์ของพระมารดามารีอากับพระเจ้าและกับพระคริสตเจ้านั้นไม่ใช่จะเหมือนกันตลอดหรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย ตรงกันข้าม เริ่มแรกเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและสม่ำเสมอ กล่าวคือ ในช่วงหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงบังเกิด (ลก 1-2) ต่อมาในช่วงที่พระเยซูเจ้าออกเทศนาสั่งสอน ความสัมพันธ์นี้ก็ถูกเก็บซ่อนไว้ (ยน 2:1-22; ลก 8:19-21; 11:27-28) แล้วนั้นความสัมพันธ์นี้ก็เข้มข้นขึ้นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์แห่งพระมหาทรมาน (ยน 19:25-27) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นฝ่ายเริ่มความสัมพันธ์กับเราและกำหนดเวลาและเป้าหมาย ดังนั้น ความสัมพันธ์จึงไม่เหมือนกันเสมอไป แม่พระทรงเรียนรู้เช่นนั้นในเหตุการณ์ต่างๆ อาทิ ในช่วงที่พระแม่ให้กำเนิดพระเยซูเจ้า พระแม่ไม่ทรงเข้าใจสิ่งที่คนพูดกันเกี่ยวกับพระองค์ (ลก 2:18-19) ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีการประกาศถึงอนาคตของพระบุตร (ลก 2:34-35) พระแม่ก็ยิ่งไม่เข้าใจเพราะไม่ตรงกับที่มีการกล่าวไว้ในเวลาที่พระแม่ได้รับสารจากเทวดา (ลก 1:30-33,35) การที่พระเยซูเจ้าทรงหายไปในพระวิหารจึงเป็นการบ่งบอกล่วงหน้าถึงความเศร้าโศกที่พระแม่จะต้องได้รับ นอกนั้นพระแม่ต้องร่วมชีวิตอยู่ในบ้านกับพระบุตรที่พระแม่ทรงรู้ว่าเป็นพระเจ้า แต่ยังต้องอยู่ใต้อาณัติของพระแม่ไปอีกระยะหนึ่ง (ลก 2:49-51)... ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อไม่เข้าใจพระแม่ก็จะ “เก็บรักษาทุกสิ่งเหล่านี้และรำพึงอยู่ในใจ” (ลก 2:19,51)

สมาชิกที่รัก พ่อขอมอบท่านไว้ในดวงพระทัยของพระมารดามารีอาผู้ที่เราเชื่อว่า “ประทับอยู่ท่ามกลางเรา” (พระวินัย 8) และวอนขอพระแม่ “ผู้ทรงเป็นแบบฉบับในการภาวนาและความรักอภิบาล ทรงเป็นอาจารย์แห่งปรีชาญาณและผู้นำครอบครัวของเรา” (พระวินัย 92) ได้ทรงสอนเราให้รับพระวาจาและรักษาพระวาจาไว้ในใจของเรา “จนเกิดผลและสามารถนำไปประกาศด้วยความร้อนรน” (พระวินัย 87) เช่นนี้ โดยผ่านทางโรงเรียนของแม่พระและเริ่มจากพระวาจา ซึ่งเป็นพระคริสตเจ้า เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตด้วยความรักต่อพระเจ้าและต่อเยาวชน เช่นเดียวกับคุณพ่อบอสโก

คุณพ่อ Pascual Chaves V.



1 Presentation, The Salesian Community Today. Chapter Documents: AGC25, p. 20.

2 Vita Consacrata, 93.

3 AGC25, 31.

4 CIVCSVA, Starting afresh from Chris, 24.

5 AGC25, 191.

6 Perfectae caritatis, 6.

7 Dei Verbum, 24.

8 “Dear Salesians, be sainte” (AGC379); “You are my God, my happinewss lies in you along”
  (AGC 382); “Looking at Christ through the eyes of Don Bosco” (AGC 384)

9 JOHN PAUL II, Discorso ai partecipanti al Capitolo Generale, in “L'Osservatore Romeno”,
  13-04-2002 , p. 5. Cf. GC25, 170.

10 Vita Consacrata, 22.

11 Vita Consacrata, 19.

12 CIVCSVA, Starting afresh from Christ, 2.

13 CIVCSVA, Starting afresh from Christ, 25.

14 Ecclesia in Europa, 22.

15 ORIGEN, Homilies on Leviticus I, 1: SC 286,66.

16 HUGH OF ST VICTOR, De arca Noe Morale 2,8: PL 176, 642.

17 IGNATIUS OF ANTIOCH , Ai Filadelfesi 5,1.

18 JEROME, Comm. In Is. Prol.: PL 24,17. Cf Dv 25.

19 AUGUSTINE, Commentary on the Letter of St John 1,1 in Opere XXIV/2, Citt? Nuova, Rome
  1985, pp. 1638-1639.

20 The figure is St. Jerome 's, Comm. In Is 15,55: PL 24,536.

21 JOHN PAUL II, Homily of the Feast of thePresentaion of Mary. V Day of Consecrated Life
   ( 2 February 2001 ): L'Osservatore Romano, 4 febraio 2001.

22 Perfectae caritatis, 5. (Italics mine).

23 GC25, 22.

24 GC25, 31.

25 Cf. GC25, 5.

26 Vita Consacrata, 93.

27 Vita Consacrata, 94.

28 Project of life of Salesians of Don Bosco. 168.

29 Cf. Vita Consacrata, 94.

30 Project of life of Salesians of Don Bosco p. 168. 

31 SGC, 89.

32 J. AUBRY, Lo Spirito Salesiano. Lineamente (Rome 1974), p. 53.

33 AGC 384 (2003) p. 10.

34 SGC, 89.

35 Letter of Rector Major, AGC (2003) 384, pp.3-41.

36 C.BISSOLI, “La Linea Biblica nelle Costituzioni Salesiane”, in AA. VV., Contributi di Studio su
  Coxtituzioni e Regolamenti SDB. Vol 2 (Rome 1982), pag 292.

37 Cf. C. BISSOLI, “La Bibbia nella Chiesa e tra I cristiani”, in R FABRIS (a cura di), La Bibbia
   nell'epoca moderna e contemporanea, ed. Dehoniane (Bologna 1992) 182-183.

38 E. CERIA, Don Bosco con Dio. Ed. S.D.B. (Rome 1988). p. 37.

39 Cf. P. STELLA, Don Bosco nell Storia della Spiritualita' Cattolica. Vol. II: Mentalit? Religiosa e
  Spiritualit?. Ed. LAS (Rome 1981) pp. 13-27

40 G. BOSCO, Memorie dell'Oratorio di S. Francesco di Sales, dal 1841 al 1855, A. Da Silva
  Ferreira (a cura di). Ed. LAS (Rome 1991) pp.106-108

41 Cf. MB I, p. 395.423; II, pp. 510-511; XVII, p. 122.

42 Cf. P. STELLA, Don Bosco nella Storia della Spintualita' Cattolica. Vol. I: Vita e Opere.Ed. LAS
  (Rome 1979) p. 239.

43 G. Bosco, Memorie dell'Oratorio, ed. Cit. p. 97.112. Cf. MB III, p. 62; IX, p. 342.

44 MB I p. 513. Cf. CERIA, Don Bosco con Dio, p. 173.

45 A single quotation will suffice as a demonstration: “Just as a body without food become sick and
 dies, so the same thing happens in our souls if we do not feed it. The food and nourishment of
 our soul are the word of God, i.e. sermons, explanations of the Gospel and catechism” (Don
 Bosco, Companion of Youth ( Turin 1885), in OE XXXV, pp. 145-146.

46 J. BOSCO, Il mese di maggio consacrato a Maria Ss. Immacolata, Tip. Paravia (Turin 1858),
  in OE X, p. 356.

47 J. BOSCo, Il Cattolico nel secolo. Libreria Salesiana (Turin 1883), in OE XXXIV, 369-370.

48 G. BOSCo, Vita del giovanetto Savio Domenico. Tip. Paravia (Torino 1859), in OE XI, pp. 188-189.

49 ibid p. 229

50 He concluded as follows: “In every page the same principle applied: to enlighten the mind for
 the good of the heart and to popularize as much as possible knowledge of the Holy Bible, the
 founddation of our holy Religion, while giving dagmas and their proofs so as to facilitate moral
 and religious teaching, for which no other method is more useful and important than this”
 (J. BOSCO, Storia Sacra, in OE III, pp. 7-9).

51 P. STELLA, Valori spirituali nel “Giovane Provveduto” di San Giovanni Bosco. Extract from a
  doctoral dissertation ( Rome 1960), p. 80-81.

52 J. BOSCO, Memorie del'Oratorio, ed. Cit. p. 169.

53 “How can one not be struck by the extraodinary similarity between some events recounted in
  the Memorie and well-know passages in the Old and New Testaments?” (M. GUASCO, Don
 Bosco nella storia religiosa del suo tempo, in Don Bosco e le sfide della modernita' (Torino 1988)22).

54 MB VI p. 948

55 E. CERIA, Don Bosco con Dio, p. 184. MB VI p. 948

56 GC21, 15.

57 GC21, 377.

58 GC21, 12.

59 E. VIGANO, Consagracio'n aposto'lica y novedad cultural. Ed. CCS (Madrid 1987) p. 159.

60 GC23, 95.

61 .VIGANO, “Confirma Fratres tuos”: ASC 295 (1980) p. 26. Italics mine.

62 Project of life of Salesians of Don Bosco. 671.

63 JOHN PAUL II: cf. GC22, 13.

64 SGC, 89.

65 Project of life Salesians of Don Bosco p. 274.

66 Project of life Salesians of Don Bosco p. 662-663.

67 Vita Consacrata, 67.

68 VATICAN II, Dei Verbum 2.

69 CARLO M. MARTINI, In Principio, la Parolal. Letter to the clergy and the faithful on the topic:
  “The Word of God In the liturgy and in life” for the pastoral year 1981-82 ( Milan 1981) p. 29.

70 Dei Verbum, i. Cf. Rm 16,26: 2 Cor 10.5-6.

71 ST JOHN OF THE CROSS, Sentenze. Spunti d'amore, 21, in Opere (Rome 1967 2 ) 1095.

72 Cf. CARLO M. MARTINI, Il sogno di Giacobbe. Partenza per un itinerario spirituale (Cadale
  Monferrato; Piemme, 1989) p. 80.

73 Project of life of Salesians of Don Bosco, p. 678.

74 Cf. ST AUGUSTINE, Meditation on the letter on love of St John ( Rome 1980 2 ) p. 107-110.

75 CARLO M. MARTINI, La Dimensione contemplativa della vita. Letter to the clergy and the
  faithful of the Archdiocesis of Milan for the pastoral year 1980-81. Milan 1980, p. 20.

76 CARLO M. MARTINI, La Dimensione contemplativa della vita, p. 27.

77 Cf GREGORY THE GREAT, Moralia I 16,43;Epist. 31:PL77,4\\706.

78 De Doctrina christiana 4, 5: PL 34, 92.

79 CIVCSVA, Fraternal Life in Community, 48

80 CARLO M. MARTINI, Perche' Gesu' parlava in parabole (Bologna 1985), p. 114.

81 SGC, 287.

82 Novo Millennio Ineunte, 39.

83 CIVCSVA, Starting afresh from Christ, 24.

84 Project of life of Salesians of Don Bosco p. 678

85 Vita Consacrata, 94

86 Vita Consacrata,71.

87 Ivi.

88 Vita Consecrata, 94.

89 GC25, 31. Emphasis mine.

90 Novo Millennio Ineunte, 39

91 CARLO M.MARTINI, Diocesan Pastoral Programmes 1980-1990 (Milan 1991), 440-441.

92 The classical presentation – and in my opinion, the best – is that of GUIGO II IL CARTOSIANO,
  Scala Claustralium: PL 184, 475-484. I strougly recommend that you read it.

93 CARLO M. MARTINI, La gioia del vangelo. Meditation for the young (Casale Monferrato 1988),p.12.

94 Catechism of the Catholic Church, 2706.

95 Catechism of the Catholic Church, 2712.

96 Catechism of the Catholic Church, 2713.

 151 Ecclesia in Europa, 65.

152 GC25, presentation 2,2, p. 15

153 Cf. Rosarium Virginis Mariae, 1

154 Vita Consacrata, 28.

155 AUGUSTINE, Discorso 72 A, 8, in Opere di sant'Agostino. Discorsi II/1 ( Rome 1983), p. 481