Evangelium Vitae


พระวรสารแห่งชีวิต Evangelium Vitae



ถ้อยแถลง

---------------------

ชีวิตมนุษย์มีต้นกำเนิดในองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์จึงมาจากพระเจ้าและเป็นของพระเจ้า ทุกชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่โลก

ชีวิตใหม่แต่ละชีวิตจึงเป็นการร้องประกาศถึงความรักของ

พระเจ้าที่เป็นเลือดเนื้อ เป็นรูปธรรมและสามารถสัมผัสได้

ชีวิตใหม่แต่ละชีวิตที่เกิดมาเป็นการบอกย้ำว่าพระเจ้ายังไม่เบื่อมนุษย์ ยังประสงค์ให้มีมนุษย์ต่อไปเพื่อเป็นผู้ดูแล เป็นนาย และเป็นผู้สร้างความกลมกลืนให้แก่ธรรมชาติที่พระองค์ทรงสร้าง

ขึ้น เพราะพระเจ้าทรงปกครองจักรวาลโดยทางมนุษย์

ทว่า ในยุคนี้ที่ให้ความสำคัญและคุณค่าแก่วัฒนธรรมวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ชีวิตมนุษย์ถูกมอง ไม่ใช่ในแง่การเป็นของขวัญของพระเจ้า แต่ในแง่ประโยชน์ใช้สอย ดังนั้น หากชีวิตหนึ่งที่ยังมีคุณค่าในด้านประโยชน์ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง ก็จะถูกถือว่าเป็นชีวิตที่มีคุณค่า แต่หากชีวิตหนึ่งไม่สามารถเป็นประโยชน์ได้ก็จะถูกถือว่าไร้คุณค่า อาทิ ชีวิตคนชรา ชีวิตคนป่วย ชีวิตเด็ก ชีวิตคนพิการ เป็นต้น และที่นี่คือจุดเริ่มต้นวัฒนธรรมแห่งความตายในสังคมทุกวันนี้ ที่ถือวิสาสะขจัดชีวิตเหล่านี้ตามใจชอบ ในรูปแบบต่างๆ โดย

ไม่คำนึงถึงที่มาที่ไปแห่งชีวิต

ยุคที่เน้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยมก่อให้เกิดกระแสสนุกนิยมที่ไร้ขอบเขตและหลักเกณฑ์ใดๆ จึงเป็นความสนุกสนานที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้องและความรับผิดชอบ กลายเป็นกระแสสังคม

ชีวิตเด็กทารกจำนวนมากจึงถูกสังเวยไปมากต่อมากในกระแสนี้


พระศาสนจักร โดยการนำของพระสันตะปาปา โดยเฉพาะ

อย่างยิ่ง พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้เห็นถึงปัญหา

และการท้าทายที่มาจากกระแสสังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม และสนุกนิยม จึงได้ประกาศวัฒนธรรมแห่งชีวิตให้เป็นข่าวดีของ

พระคริสตเจ้า ตอกย้ำให้คนยุคนี้เห็นและตระหนักว่า ทุกชีวิตมนุษย์คือพระวรสาร ทุกชีวิตมนุษย์คือข่าวดี และนี่คือที่มาของ

เอกสารฉบับนี้


ครอบครัวซาเลเซียนตอบรับวัฒนธรรมแห่งชีวิตและร่วมมือกับพระศาสนจักรสากลที่จะประกาศข่าวดีแห่งชีวิตให้แก่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก่เยาวชน ตามเจตนารมณ์ของคำขวัญของ

ปี ค..2007 “ให้ความรักพระเจ้าต่อชีวิตชี้นำเรา”

ศูนย์วรรณกรรมซาเลเซียนสนองนโยบายของพระศาสนจักร

และของคุณพ่ออัคราธิการซาเลเซียนด้วยการจัดแปลและพิมพ์เอกสาร “พระวรสารแห่งชีวิต” เพื่อนำเสนอสมาชิกครอบครัว

ซาเลเซียนในการเข้าถึงวัฒนธรรมแห่งชีวิตและประกาศข่าวดี

แห่งชีวิตในบริบทต่างๆ ไม่เพียงแต่ใน ปี ค..2007 เท่านั้น แต่

เสมอไป เพราะเราแต่ละคนเป็นสาวกแห่งชีวิตโดยกระแสเรียก ด้วยการส่งเสริมชีวิตและเติมเต็มชีวิตด้วยการอบรมและภารกิจ

ของเรา


บาทหลวงบรรจง สันติสุขนิรันดร

24 พฤษภาคม 2550


………………………………………………………..


บทนำ


1. พระวรสารแห่งชีวิตเป็นหัวใจสำคัญแห่งสารของพระเยซูเจ้า พระวรสารนี้ที่พระศาสนจักรได้รับมาด้วยความรักอยู่ทุกๆ วันนั้น ได้รับการประกาศอย่างพากเพียรด้วยความซื่อสัตย์ ในฐานะเป็น “ข่าวดี” แก่ผู้คนทุกยุคทุกสมัยและทุกวัฒนธรรม


เมื่อเริ่มต้นยุคแห่งความรอด การบังเกิดมาของเด็กผู้หนึ่งที่ได้รับการประกาศเป็นข่าวดีว่า “เรานำข่าวดีมาบอกท่านทั้งหลาย เป็นข่าวดีที่จะทำให้ประชาชนทุกคนยินดีอย่างยิ่ง วันนี้ในเมืองของกษัตริย์ดาวิด พระผู้ไถ่ประสูติเพื่อท่านแล้ว พระองค์คือพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 2:10-11) บ่อเกิดของ “ความยินดี

ยิ่งใหญ่” นี้คือการบังเกิดมาขององค์พระผู้ไถ่ แต่คริสตสมภพนี้ยังเผยแสดงถึงความหมายสมบูรณ์ของการบังเกิดเป็นมนุษย์ของทุกคนด้วย และเป็นความชื่นชมยินดีที่ควบคู่มากับการบังเกิดมาของเด็กๆ ทุกคนในโลกด้วย (เทียบ ยน 16:21)


เมื่อพระเยซูเจ้านำเสนอหัวใจของพันธกิจงานไถ่กู้ของ พระองค์ พระองค์ทรงตรัสว่า “เรามาเพื่อให้พวกเขามีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (ยน 10:10) ในความจริงแล้วพระองค์ทรงกำลังตรัสถึงชีวิต “ใหม่” และชีวิต “นิรันดร” นั้น ซึ่งมีอยู่ในการสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาเป็นชีวิตที่มนุษย์ทุกคนถูกเรียกมาอย่างอิสระให้มามีชีวิตนี้ในองค์พระบุตร โดยอาศัยอำนาจขององค์พระจิตผู้ทำให้มนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ ใน “ชีวิต” นี้เองที่ชีวิตมนุษย์ทุกแง่มุมทุกขั้นตอนได้รับความหมายชัดเจนสมบูรณ์คุณค่าอันมิอาจเปรียบเทียบได้ของบุคคลมนุษย์


2. มนุษย์ถูกเรียกให้มามีชีวิตสมบูรณ์นี้ ซึ่งไกลเกินกว่าทุกมิติแห่งการเป็นอยู่ของมนุษย์บนโลกนี้ เพราะว่าชีวิตสมบูรณ์นี้เป็นการร่วมส่วนในชีวิตของพระเจ้าเอง ความสูงส่งของกระแสเรียกเหนือธรรมชาตินี้เผยแสดงถึงความยิ่งใหญ่ และคุณค่าอัน

มิอาจประมาณการได้ของชีวิตมนุษย์แม้ขณะอยู่บนโลกนี้ อันที่จริงชีวิตที่อยู่ในกาลเวลาเป็นสภาพเงื่อนไขพื้นฐาน เป็นขั้นตอนแรกและเป็นส่วนประกอบสำคัญยิ่งของกระบวนการหนึ่งเดียวทั้งหมดของความเป็นอยู่ของเรามนุษย์ ชีวิตมนุษย์เป็นกระบวนการที่ได้รับแสงสว่างเห็นแจ้งอย่างไม่คาดหวังและอย่างไม่สมควรได้รับ

เลยจากคำสัญญานั้น และได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยการได้รับชีวิตพระเจ้า ซึ่งจะถึงขั้นสมบูรณ์เป็นจริงได้ในนิรันดรภาพ (เทียบ 1 ยน 3:1-2) ในขณะเดียวกัน การเรียกแบบเหนือธรรมชาตินี้เองช่วยเน้นให้เห็นถึงลักษณะแบบมีสัมพันธ์ต่อกันของชีวิตบนโลกนี้ของมนุษย์แต่ละคน เหนืออื่นใด ชีวิตบนโลกนี้มิใช่ความเป็นจริง “สุดท้าย” แต่เป็นความเป็นจริง “ก่อนสุดท้าย” ถึงกระนั้น ชีวิตบนโลกก็เป็นความเป็นจริงอันศักดิ์สิทธิ์ที่เรามนุษย์ได้รับมอบมา เพื่อให้มนุษย์ดูแลรักษาไว้ด้วยความรับผิดชอบ และทำให้ชีวิตนี้สมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติความรักและด้วยการมอบตัวเราเองแด่พระเจ้าและแด่พี่น้องชาย-หญิงของเรา


พระศาสนจักรรู้ว่า พระวรสารแห่งชีวิต ซึ่งพระศาสนจักรได้รับมาจากพระเจ้านั้น1 มีเสียงก้องสะท้อนอันลึกซึ้งและเชิญชวนอยู่ในหัวใจของบุคคลมนุษย์ทุกคน-ทั้งผู้มีความเชื่อและผู้ไม่มีความเชื่อด้วยเช่นกัน เพราะว่าพระวรสารแห่งชีวิตช่วยเติมเต็มความคาดหวังของหัวใจมนุษย์ทุกคนอย่างน่าอัศจรรย์ใจในขณะที่อยู่เหนือความคาดหวังเหล่านั้นอย่างไม่สิ้นสุด แม้ในท่ามกลางความยากลำบากและความไม่แน่นอนต่างๆ โดยอาศัยแสงสว่างของเหตุผลและกิจการอันซ่อนเร้นของพระหรรษทาน มนุษย์ทุกคนที่จริงใจเปิดใจรับความจริงและความดี ก็รับรู้ถึงคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์นับแต่แรกเริ่มชีวิตจนกระทั่งสิ้นสุดชีวิต ในกฎธรรมชาติที่มีจารึกอยู่ในหัวใจมนุษย์นั้น (เทียบ รม 2:14-15) และสามารถยืนยันถึงสิทธิของบุคคลมนุษย์ทุกคนที่จะให้สิ่งดีงามในตัวมนุษย์นี้ได้รับการเคารพนับถือในขั้นสูงสุดด้วย จากการ

รับรู้ถึงสิทธิการเป็นมนุษย์นี้เองที่ประชาคมมนุษย์และประชาคมทางการเมืองได้รับการสถาปนาขึ้นมา


ผู้มีความเชื่อในพระคริสตเจ้ามีหน้าที่พิเศษที่จะต้องปกป้อง และสนับสนุนสิทธิความเป็นมนุษย์นี้ โดยตระหนักว่าพวกตนเป็นส่วนหนึ่งของความจริงที่สภาพพระสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้กล่าวถึงไว้นั้น “โดยการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระองค์ พระบุตรของพระเจ้าก็ได้เข้ามาร่วมสนิทโดยวิธีใดวิธีหนึ่งกับมนุษย์ทุกคน”2 เหตุการณ์ที่ช่วยมนุษย์ให้รอดนี้เผยแสดงให้มนุษย์เห็นมิใช่เพียงแต่ความรักอันไม่มีขอบเขตของพระเจ้าผู้ “ทรงรักโลกอย่างมาก จึงประทานพระบุตรเพียงองค์เดียวของพระองค์” (ยน 3:16) เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงคุณค่าอันมิอาจเปรียบได้ของบุคคลมนุษย์ทุกคนด้วย


พระศาสนจักรผู้กำลังพิศเพ่งธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่กู้อย่างซื่อสัตย์อยู่นี้ ก็ตระหนักรู้ถึงคุณค่านี้ด้วยอัศจรรย์ใจใหม่อยู่เสมอ3 พระศาสนจักรสำนึกว่าตนได้รับการเรียกให้มาประกาศ “พระวรสาร” นี้แก่ประชาชาติทุกยุคทุกสมัย พระวรสารนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความหวังที่มิอาจเอาชนะได้และความชื่นชมยินดีแท้จริงสำหรัประวัติศาสตร์ของแต่ละยุคแต่ละสมัย พระวรสารเรื่องความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์ พระวรสารแห่งศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ และพระวรสารแห่งชีวิต เป็นพระวรสารหนึ่งเดียวที่มิอาจแยกจากกันได้


เพราะเหตุนี้เอง มนุษย์-มนุษย์ผู้มีชีวิต-จึงเป็นตัวแทนวิถีทางพื้นฐานสำหรับพระศาสนจักร4


ภัยคุกคามใหม่ๆ ต่อชีวิตมนุษย์


3. เป็นเพราะธรรมล้ำลึกเรื่ององค์พระวจนาตถ์ของพระเจ้า ผู้รับเอากายมาเป็นมนุษย์ (เทียบ ยน 1:14) มนุษย์ทุกคนจึงถูกมอบให้มาอยู่ในความดูแลเยี่ยงมารดาของพระศาสนจักร ฉะนั้นพระศาสนจักรจึงต้องมีความรู้สึกอยู่ในหัวใจของตนเสมอถึงภัยคุกคามทุกชนิดต่อศักดิ์ศรีและชีวิตมนุษย์ ภัยคุกคามเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อแก่นความเชื่อในเรื่องการบังเกิดมาไถ่กู้มนุษย์ของพระบุตรพระเจ้าและทำให้พระศาสนจักรต้องลงมือกระทำพันธกิจประกาศพระวรสารแห่งชีวิตไปทั่วโลกให้แก่สรรพสิ่งสร้างทั้งหลาย (เทียบ มก 16:15)


ในปัจจุบัน การประกาศข่าวดีนี้จำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะว่าภัยคุกคามชีวิตมนุษย์แต่ละคนและมวลมนุษย์ทั้งหลายนั้นเพิ่มทวีขึ้นมากและหนักมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ซึ่งชีวิตมนุษย์นั้นอ่อนแอ และไม่อาจป้องกันตนเองได้ นอกเหนือจากแรงกระหน่ำแบบเดิมๆ จากความยากจน ความหิว โรคระบาดต่างๆ ความรุนแรง และการสงคราม แล้วยังมีภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเตือนให้ระวังในระดับที่กว้างขวางยิ่งขึ้น


สภาพพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 กล่าวประณามอย่างรุนแรงต่ออาชญากรรมต่างๆ และการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ไว้ในข้อความตอนหนึ่ง ซึ่งยังมีผลเด่นชัดมาจนถึงทุกวันนี้ สามสิบปีให้หลัง ข้าพเจ้าขอใช้ถ้อยคำของสภาพระสังคายนาฯ กล่าวย้ำประณามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกันในนามของทั้งศาสนจักร โดยแน่ใจว่าข้าพเจ้ากำลังสะท้อนถึงความรู้สึกแท้ของมโนธรรมเที่ยงตรงทุกมโนธรรมด้วย “สิ่งใดก็ตามที่ทำลายชีวิต เช่น การฆ่าคนทุกชนิด การทำลายเผ่าพันธุ์ การทำแท้ง การทำ

การุณยฆาต หรือการจงใจทำร้ายตนเอง สิ่งใดก็ตามที่ละเมิดบูรณภาพของบุคคลมนุษย์ เช่น การทำให้ร่างกายพิการ การทำทรมานผู้อื่นทางร่างกายหรือจิตใจ การพยายามบังคับใจผู้อื่น สิ่งใดก็ตามที่สบประมาทศักดิ์ศรีมนุษย์ เช่น การให้กินอยู่อย่างไม่สมกับเป็นมนุษย์ การขังคุกตามอำเภอใจ การเนรเทศ การจับเป็นทาส การบังคับให้ค้าประเวณี การค้ามนุษย์หญิงและเด็ก รวมทั้งสภาพการทำงานอันย่ำแย่ที่ใช้ผู้คนเป็นเพียงเครื่องมือ เพื่อให้ได้กำไร แทนที่จะใช้เขาอย่างเป็นบุคคลอิสระและรับผิดชอบ การกระทำทั้งหมดนี้และอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ ล้วนเป็นการกระทำอันน่าชิงชัง

ทั้งสิ้น นอกจากจะทำลายสังคมมนุษย์แล้ว ยังทำร้ายผู้ที่ประพฤติเช่นนี้มากกว่าผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานเหล่านั้นเสียอีก ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการหมิ่นประมาทพระเกียรติศักดิ์ขององค์พระผู้สร้างอย่างร้ายแรงด้วย”5


4. โชคไม่ดีที่สภาพอันน่าเป็นห่วงเหล่านี้แทนที่จะลดน้อยลง กลัแพร่กระจายไปทั่ว กล่าวคือ พร้อมกับมุมมองใหม่ๆ ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปิดทางให้ ก็เกิดมีภัยคุกคามศักดิ์ศรีของมนุษย์ในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ในเวลาเดียวกัน บรรยากาศใหม่ๆ ทาง วัฒนธรรมกำลังพัฒนาขึ้นมามีอิทธิพล ทำให้อาชญากรรมล่วงละเมิดชีวิตนั้นมีลักษณะใหม่และ-ถ้า

เป็นไปได้-ก็จะร้ายแรงยิ่ง ก่อให้เกิดการให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ผู้คนแทบทุกวงการมีความเห็นพ้องต้องกันว่า อาชญากรรมละเมิดชีวิตมนุษย์บางอย่างนั้นกระทำได้ไม่ผิด โดยอ้างเรื่องสิทธิในการมีอิสระเสรีภาพของมนุษย์แต่ละคน และจากพื้นฐานนี้เองคนพวกนั้นมิใช่อ้างแต่เพียงว่า การล่วงละเมิดเหล่านั้นไม่ต้องมีการถูกลงโทษเท่านั้น แต่ยังมีการให้การรับรองการล่วงละเมิดเหล่านั้นให้ถูกต้องจากทางฝ่ายรับด้วย เพื่อพวกเขาจะได้กระทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยอิสระเต็มที่ทั้งนี้ด้วยการช่วยเหลือจากระบบทางด้านสาธารณสุขอีกด้วย


สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดกำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในเรื่องชีวิตมนุษย์และความสัมพันธ์กันของมนุษย์ทั้งหลาย มีข้อเท็จจริงว่า การออกกฎหมายในหลายประเทศ บางทีเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ กลับกำหนดให้ไม่ต้องมีการลงโทษการกระทำผิดล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์ และถึงกับทำให้การกระทำเหล่านั้นเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายไปด้วยซ้ำ จึงเป็นอาการที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง และนี่เป็นสาเหตุเด่นชัดที่ทำให้ศีลธรรมเสื่อม การเลือกกระทำการบางอย่างที่ครั้งหนึ่งผู้คนพร้อมใจกันถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด และความสำนึกทางศีลธรรมกับปฏิเสธไม่ยอมรับกันโดยทั่วไปนั้น กลับค่อยๆ เป็นที่ยอมรับกันทางสังคมมากขึ้น แม้กระทั่งผู้มีอาชีพทางด้านการแพทย์บางพวก ซึ่งโดยกระแสเรียกของอาชีพแพทย์นั้นมุ่งเพื่อพิทักษ์ดูแลชีวิตมนุษย์เป็นสำคัญ ก็ยังจงใจมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะกระทำการ

ล่วงละเมิดต่อชีวิตมนุษย์ในแบบต่างๆ เพราะเหตุนี้เอง ธรรมชาติของการมีอาชีพเป็นแพทย์จึงผิดเพี้ยนและขัดแย้งกัน และศักดิ์ศรีของผู้ที่กระทำการต่างๆ เช่นนี้ก็ตกต่ำลงไปด้วย ในสภาพการณ์ด้านการออกกฎหมาย และด้านวัฒนธรรมเช่นนี้เองที่ปัญหาเรื่องสถิติประชากร ปัญหาสังคม และปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาที่โถมทับมาบนประชาชาติต่างๆ ทั่วโลก และเป็นปัญหาที่ต้องให้องค์กรต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติให้ความสนใจเข้ามาร่วมรับผิดชอบทำให้เกิดประสิทธิภาพนั้น กลับเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขปัญหากันแบบผิดๆ และหลอกลวงกัน เป็นการแก้ปัญหาอันขัดต่อความจริง และขัดต่อความดีของบุคคลมนุษย์ และความดีของชนชาติทั้งหลายด้วย


ผลลัพธ์สุดท้ายของเรื่องนี้น่าสลดใจยิ่ง กล่าวคือ ไม่เพียงแต่มีข้อเท็จจริงที่ว่า การทำลายล้างชีวิตมนุษย์มากมายที่กำลังจะเกิดมา หรือชีวิตมนุษย์ที่อยู่ในวาระสุดท้ายนั้นมีกันรุนแรงและน่าเป็นห่วงยิ่งเท่านั้น แต่ที่รุนแรงและน่าเป็นห่วงไม่น้อย

กว่ากัน ก็คือข้อเท็จจริงในเรื่องมโนธรรม ที่ต้องมืดมนไป เพราะสภาพเงื่อนไขที่แผ่กระจายไปทั่วดังกล่าว ทำให้พบว่า เป็นการยากลำบากยิ่งขึ้นที่จะแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณค่าพื้นฐานของชีวิตมนุษย์


ในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระสังฆราชทั่วโลก


5. การประชุมคณะพระคาร์ดินัลครั้งพิเศษที่กรุงโรมเมื่อวันที่ 4-7 เมษายน ค..1991 มุ่งถกปัญหาเรื่องภัยต่างๆ ที่คุกคามชีวิตมนุษย์ในสมัยของเรานี้ หลังจากมีการอภิปรายกันในรายละเอียดต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวมนุษยชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประชาคมคริสตชนแล้ว คณะพระคาร์ดินัลก็พร้อมใจร้องขอให้ข้าพเจ้ายืนยันอีกครั้งหนึ่งด้วยอำนาจของผู้สืบตำแหน่งของท่านนักบุญเปโตร ถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ที่มิอาจล่วงละเมิดได้ ภายใต้สภาพการณ์และภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบัน


เพื่อเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องนี้ ในโอกาสฉลองพระจิตเจ้า ปี ค..1991 ข้าพเจ้าจึงมีจดหมายส่วนตัวไปถึงพี่น้องพระสังฆราชของข้าพเจ้าแต่ละองค์ ด้วยจิตตารมณ์ของการเป็นพี่น้องพระสังฆราชร่วมกัน ขอความร่วมมือให้ท่านเหล่านั้นจัดทำ

เอกสารพิเศษขึ้นมาฉบับหนึ่งข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งต่อบรรดาพระสังฆราชที่ตอบรับ และได้ให้ข้อเท็จจริงต่างๆ แก่ข้าพเจ้าในคำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆ ของพวกท่าน จากการกระทำดังกล่าว พวกท่านก็ได้เป็นสักขีพยานถึงความปรารถนาที่จะร่วมแบ่งปันในพันธกิจด้านข้อความเชื่อ และด้านงานอภิบาลของพระศาสนจักร อันเกี่ยวข้องกับพระวรสารแห่งชีวิตด้วย


ในจดหมายนั้น ที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นไม่นานหลังการเฉลิมฉลองครบรอบหนึ่งศตวรรษของพระสมณสาร Rerum Novarum ข้าพเจ้าเรียกร้องขอให้ทุกท่านให้ความสนใจโดยใช้เป็นคำอุปมาอุปไมยเปรียบให้เห็นว่า “เช่นเดียวกับที่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ชนชั้นกรรมาชีพถูกกดขี่ข่มเหงในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ และพระศาสนจักรก็เข้ามาต่อสู้ปกป้องพวกเขาอย่างกล้าหาญโดยประกาศยืนยันถึงสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของพวกคนงานเหล่านั้นในฐานะเป็นมนุษย์ ก็เช่นเดียวกันที่ในยุคนี้เมื่อมีมนุษย์อีกพวกหนึ่งกำลังถูกกดขี่ในเรื่องสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่พระศาสนจักรก็ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องแสดงความกล้าหาญเดียวกันนั้นที่จะพูดออกมาแทนคนพวกนั้นที่ไม่มีเสียง เสียงของพระศาสนจักรเป็นเสียงร้องประกาศพระวรสาร เพื่อต่อสู้ปกป้องคนยากจนทั้งหลายในโลก ที่ถูกคุมคาม ถูกดูหมิ่น และสิทธิของคนพวกนั้นก็ถูกละเมิดด้วย”7


ทุกวันนี้ มีมนุษย์จำนวนมากที่อ่อนแอและไม่อาจปกป้องตัวเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่ยังไม่เกิดมา ซึ่งสิทธิที่จะมีชีวิตของพวกเขาต้องถูกย่ำยี ถ้าหากเมื่อตอนปลายศตวรรษที่แล้ว พระศาสนจักรไม่อาจนิ่งเงียบต่อความอยุติธรรมทางสังคมของยุคอดีต ซึ่งยังไม่สามารถเอาชนะได้นั้น กำลังเพิ่มพูนขึ้นมากในดินแดนหลายแห่งทั่วโลก โดยความอยุติธรรมและการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ ที่หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะถูกนำเสนอเป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้าตามแนวคิดของการจัดระเบียบโลกแบบใหม่ก็ตาม


พระสมณสารฉบับนี้ ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของบรรดาพี่น้องพระสังฆราชจากทุกประเทศทั่วโลก จึงมุ่งเพื่อยืนยันอย่างหนักแน่นอีกครั้งหนึ่งว่า ชีวิตมนุษย์นั้นมีคุณค่าและมิอาจล่วงละเมิดได้และในเวลาเดียวกัน ก็เรียกร้องต่อมนุษย์แต่ละคนและทุกคนในนามของพระเจ้า ให้เคารพปกป้อง รักและรับใช้ชีวิต ชีวิตมนุษย์ทุกชีวิต! โดยวิถีทางเช่นนี้เองที่พวกท่านจะได้พบความยุติธรรม การพัฒนาก้าวหน้า อิสระเสรีภาพแท้สันติ และความสุขได้


ขอให้ถ้อยคำเหล่านี้เข้าถึงบรรดาบุตรชาย-หญิงของพระศาสนจักร ให้ถ้อยคำเหล่านี้เข้าถึงบุคคลผู้มีน้ำใจดีทุกท่านที่สนใจต่อความดีงามของมนุษย์ชาย-หญิงทั้งหลาย รวมทั้งสนใจต่อชะตากรรมของสังคมโดยรวมด้วย


6. ในการร่วมสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งกับพี่น้องชาย-หญิงทั้งหลายของข้าพเจ้าในความเชื่อและด้วยมิตรภาพแท้ที่มีแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์ทุกคน ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะทำการรำพึงถึงพระวรสารแห่งชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และประกาศพระวรสารแห่งชีวิตนี้ อันเป็นแสงสว่างแห่งความจริง ซึ่งช่วยส่องสว่างมโนธรรมทั้งหลาย เป็นแสงสว่างชัดเจนที่ช่วยขจัดการมองเห็นอันมืดมัวให้สิ้นไปและเป็นบ่อเกิดอันขาดเสียมิได้ที่ก่อให้เกิดความซื่อสัตย์ และความมั่นคงเข้มแข็งขึ้นในการเผชิญกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ ที่เราต้องพบอยู่เสมอตลอดเส้นทางชีวิตของเรามนุษย์


ในขณะที่ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงประสบการณ์การฉลองปีแห่งครอบครัว ดุจดังว่าต้องการเติมเต็มให้พระสมณสารฉบับนี้ที่ข้าพเจ้าเขียนว่า“ถึงครอบครัวทุครอบครัวในทุกส่วนของโลกเป็นพิเศษ”8 ข้าพเจ้าก็คาดหวังด้วยความมั่นใจในครอบครัวทุกครอบครัว และภาวนาขอให้มีการอุทิศตัวทำงานในทุกระดับเพื่อส่งเสริมชีวิตครอบครัวขึ้นมาอีกมากๆ และให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อว่าในยุคปัจจุบันนี้ด้วย-แม้จะตกอยู่ในท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากและการถูกคุกคามแสนสาหัสเพียงใดก็ตาม-ครอบครัวก็ยังคงดำรงอยู่เสมอเป็น “สักการะสถานแห่งชีวิต” สอดคล้องตาม

แผนการของพระเจ้า9


ข้าพเจ้าใคร่ขอร้องอย่างเร่งด่วนมายังสมาชิกทุกคนของพระศาสนจักร ผู้เป็นประชากรแห่งชีวิตและประชากรเพื่อชีวิต ขอให้พวกเราช่วยกันนำเสนอสัญญาณใหม่ๆ แห่งความหวังให้แก่โลกของเรานี้ และร่วมกันทำงานเพื่อให้แน่ใจได้ว่าความยุติธรรมและความสมานฉันท์จะทวีมากขึ้น และเพื่อว่าวัฒนธรรมใหม่เรื่องชีวิตมนุษย์นั้นจะได้รับการยืนยัน เพื่อเราจะได้ร่วมกันสร้างเสริมอารยธรรมแท้แห่งความจริงและความรักขึ้นมาได้

………………………………………………………..












บทที่ 1

เลือดของน้องชายของท่าน

จากพื้นดินร้องดังมาถึงเรา

สิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์

กาอินลงมือทำร้ายอาแบลน้องชาย และฆ่าเขาเสีย”

(ปฐก 4:8) : รากเหง้าของการกระทำรุนแรงต่อชีวิต


7. “ความตายมิได้มาจากพระเจ้า และพระองค์ก็ไม่ทรงพอพระทัยให้ผู้มีชีวิตต้องตายไป เหตุว่า พระองค์ทรงเนรมิตทุกสิ่งให้ดำรงคงอยู่...พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาให้เป็นอมตะ พระองค์ทรงสร้างมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์เอง แต่เป็นเพราะ

ความอิจฉาของปีศาจ ความตายจึงเข้ามาในโลก ผู้ที่อยู่ฝ่ายปีศาจจะประสบความตาย” (ปชญ 1:13-14 ; 2:23-24)


พระวรสารแห่งชีวิตที่ได้รับการประกาศตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษย์มีชีวิตสมบูรณ์นั้น (เทียบ ปฐก 2:7 ; ปชญ 9:2-3) กลับขัดแย้งกับการมีประสบการณ์อันเจ็บปวดเรื่องความตาย ซึ่งเข้ามาในโลก และทอดเงาแห่งการไร้ความหมายของมันแผ่คลุมการเป็นอยู่ทั้งหมดของมนุษย์ ความตายเข้ามาในโลกเป็นผลมาจากความอิจฉาของปีศาจ (เทียบ ปฐก 3:1,4-5) และมาจากบาปของบิดามารดาคู่แรกของเรามนุษย์ (เทียบ ปฐก 2:17 ; 3:17-19) และความตายนี้เข้ามาในโลกด้วยวิธีอันรุนแรงโดยการที่กาอินลงมือฆ่าอาแบลน้องชายของตน “ขณะที่สองคนอยู่ในทุ่งนา กาอินก็ลงมือทำร้ายอาแบลน้องชาย และฆ่าเขาเสีย” (ปฐก 4:8)


การฆ่าคนครั้งแรกนี้ถูกกล่าวถึงเพียงครั้งเดียวในหน้าหนังสือพระคัมภีร์ปฐมกาล ซึ่งมีความหมายเป็นสากล กล่าวคือ เป็นหน้าหนังสือประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ทุกๆ วัน ในลักษณะซ้ำแล้วซ้ำอีกและย่ำแย่ลงเรื่อยๆ


ให้เราร่วมกันอ่านพระคัมภีร์ตอนนี้อีกครั้งหนึ่งซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องแบโบราณๆ และแบบซื่อๆ ธรรมดาๆ แต่ก็มีบทเรียนสอนเราอย่างมาก


อาแบลเป็นคนเลี้ยงแกะ ส่วนกาอินเป็นคนเพาะปลูกวันหนึ่งกาอินนำผลที่เกิดจากแผ่นดินมาถวายเป็นบูชาแด่พระเจ้า ส่วนอาแบลนำแกะที่เกิดจากฝูงรุ่นแรกและไขมันแกะมาถวายด้วย พระเจ้าทรงพอพระทัยอาแบลและเครื่องบูชาของเขา กาอินโกรธมากหน้าบึ้งตึง พระเจ้าตรัสถามกาอินว่า ‘ท่านโกรธหน้าตาบึ้งตึงทำไมถ้าท่านทำดีท่านย่อมเงยหน้าขึ้นได้ แต่ถ้าท่านทำไม่ดีบาปกำลังหมอบอยู่ที่ประตูคอยตะครุบตัวท่าน แต่ท่านจะต้องเอาชนะมันให้ได้’”


กาอินพูดกับอาแบลน้องชายว่า ‘เราลงไปในทุ่งนากันเถิด’ ขณะที่ทั้งสองคนอยู่ในทุ่งนา กาอินก็ลงมือทำร้ายอาแบลและฆ่าเสีย พระเจ้าตรัสถามกาอินว่า ‘อาแบลน้องชายของท่านอยู่ไหน’ เขาทูลตอบว่า ‘ข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องหรือ’ พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านทำอะไรลงไป เลือดของน้องชายของท่านจากพื้นดินร้องดังมาถึงเรา บัดนี้ท่านจะต้องถูกสาปแช่งให้ออกไปจากแผ่นดินที่อ้าปากรับโลหิตของน้องชายที่ท่านฆ่า เมื่อท่านเพาะปลูก แผ่นดินจะไม่ให้ผลแก่ท่านอีก ท่านจะต้องเร่ร่อนหลบหนีไปบนแผ่นดิน’ กาอินทูลพระเจ้าว่า ‘โทษของข้าพเจ้าหนักเกินกว่าจะรับอภัยได้ ดูซิ วันนี้พระองค์ทรงขับไล่ข้าพเจ้าออกมาจากแผ่นดินนี้ ข้าพเจ้าต้องหลบซ่อนจากพระพักตร์พระองค์ เร่ร่อนหนีหน้าผู้คนบนแผ่นดิน ใครพบข้าพเจ้าก็จะฆ่าข้าพเจ้าเสีย’ พระเจ้าตรัสตอบว่า ‘ไม่ได้ ใครฆ่ากาอินจะถูกแก้แค้นเป็นเจ็ดเท่า’ และพระเจ้าทรงทำเครื่องหมายไว้ที่ตัวกาอิน เพื่อเตือนคนที่พบไม่ให้ฆ่าเขา กาอินออกไปพ้นพระพักตร์ของพระเจ้า และอาศัยอยู่ในแผ่นดินโนด ทางตะวันออกของเอเดน” (ปฐก 4:2-16)


8. กาอิน “โกรธมากหน้าบึ้งตึง เพราะพระเจ้าพอพระทัยอาแบลและเครื่องบูชาของเขา” (ปฐก 4:4-5) พระคัมภีร์ตอนนี้มิได้บอกถึงเหตุผลว่าทำไมพระเจ้าจึงทรงพอพระทัยเครื่องบูชาของอาแบลมากกว่าเครื่องบูชาของกาอิน อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์ก็บอกไว้ชัดเจนว่า แม้พระเจ้าจะทรงพอพระทัยเครื่องบูชาของอาแบลมากกว่า พระองค์ก็ไม่ปิดกั้นการสนทนากับกาอิน พระองค์ทรงตักเตือนกาอินโดยทรงบอกว่าเขามีอิสระเสรีเมื่อต้องเผชิญกับความชั่วร้าย นั่นคือ มนุษย์ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วให้ต้องเผชิญกับความชั่วร้าย แน่นอน กาอินก็เหมือนกับอาดัมที่ถูก

ล่อลวงจากพลังชั่วร้ายของบาป ซึ่งเปรียบประดุจสัตว์ร้ายที่หมอบอยู่ที่ประตูใจ คอยตะครุบตัวเขาเป็นเหยื่อของมันแต่กาอินยังคงเป็นอิสระเมื่อเผชิญกับบาป เขาสามารถเอาชนะบาปได้ และต้องเอาชนะมันให้ได้ “บาปกำลังหมอบอยู่ที่ประตูคอยตะครุบตัว

ท่าน แต่ท่านจะต้องเอาชนะมันให้ได้” (ปฐก 4:7)


ความอิจฉาและความโกรธเข้ามามีอำนาจครอบงำเหนือคำเตือนของพระเจ้า กาอินจึงลงมือทำร้ายอาแบลและฆ่าเขาเสีย ดังที่เราอ่านพบในหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกว่า “ในพระคัมภีร์การเล่าเรื่องกาอินพี่ชายฆ่าอาแบลผู้น้อง แสดงถึงว่าตั้งแต่แรกเริ่มประวัติศาสตร์มนุษย์ มนุษย์มีความโกรธฉุนเฉียวและอิจฉา อันเป็นผลเนื่องมาจากบาปกำเนิดมนุษย์ได้กลายเป็นศัตรูของมนุษย์ด้วยกัน”10


พี่น้องฆ่าพี่น้องด้วยกัน การฆ่าคนตายทุกครั้งก็เหมือนกับการที่พี่น้องฆ่ากันในครั้งแรกนั้น ถือเป็นการล่วงละเมิดต่อเผ่าพันธ์มนุษย์ “ทางด้านชีวิตจิต” ที่ผูกผันมนุษย์ทั้งหลายเป็นครอบครัวใหม่ร่วมกัน11 ซึ่งในครอบครัวใหญ่นี้ มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมในความดีงามขั้นพื้นฐานร่วมกัน นั่นคือ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ ไม่บ่อยครั้งนักที่เผ่าพันธ์ของ “เลือดเนื้อเดียวกัน” ถูกล่วงละเมิดด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นในกรณีการทำแท้ง หรือในบริบทที่กว้างขึ้นของครอบครัวหรือตระกูลหนึ่ง มีการยุยงหรือลงมือกระทำการุณยฆาตเกิดขึ้น เป็นต้น

ณ รากเหง้าของการกระทำรุนแรงล่วงละเมิดต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์เช่นนี้ ก็มีการยอมตาม “ความคิดชั่วร้าย” ซึ่ง “เป็นฆาตกรมาตั้งแต่แรกเริ่ม” (ยน 8:44) ดังที่ท่านยอห์นอัครสาวกเตือนเราไว้แล้วว่า“นี่คือคำสอนที่ท่านทั้งหลายได้ฟังมาตั้งแตแรกเริ่ม คือ เราจงรักกัน อย่าเป็นเหมือนกาอิน ซึ่งมาจากมารร้าย และฆ่าน้องชายของตน” (1 ยน 3:11-12) การที่กาอินฆ่าน้องชายของตนตั้งแต่แรกเริ่มประวัติศาสตร์มนุษย์จึงเป็นสักขีพยานอันน่าเศร้าถึงการที่ความชั่วร้ายแผ่กระจายเข้ามารวดเร็วยิ่งนัก นั่นคือ การที่มนุษย์เป็นกบฏต่อต้านพระเจ้า ก็ตามติดมาด้วยการรบสู้กันถึงตายระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง


หลังจากการก่ออาชญากรรมนั้น พระเจ้าทรงเข้ามาจัดการแก้แค้นให้ผู้ที่ถูกฆ่า ต่อพระพักตร์พระเจ้าผู้ตรัสถามกาอินเรื่องชะตากรรมของอาแบลน้องชาย แทนที่กาอินจะแสดงความเสียใจและขออภัย เขากลับย้อนตอบพระเจ้าอย่างยะโสว่า “ข้าพเจ้า

ไม่ทราบ ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องหรือ” (ปฐก 4:9) คำพูดที่ว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ” หมายถึงว่า กาอินพยายามปกปิดความผิดของตนโดยการกล่าวเท็จ สิ่งที่ได้เป็นมาและยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อลัทธิความคิดมากมายหลากหลายพยายามหาข้อแก้ตัว และหลบซ่อนการกระทำผิดอันโหดร้ายต่อชีวิตมนุษย์ “ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องหรือ” หมายถึงว่า กาอินไม่ต้องการคิดถึงเรื่องน้องชายของตน และไม่ยอมรับผิดชอบใดๆ ที่มนุษย์จะต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ นั้นด้วย เราอดคิดไม่ได้ว่า แนวโน้มในยุคปัจจุบันก็เป็นเช่นว่านี้ที่มนุษย์มากมายไม่ยอมรับผิดชอบต่อเพื่อนพี่น้องชาย-หญิงของตน สภาพเลวร้ายของแนวโน้มเช่นนี้ยังรวมถึงเรื่องการที่มนุษย์ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อสมาชิกที่อ่อนแอที่สุดในสังคมของตน ซึ่งได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย ผู้อพยพ และเด็กๆ และยังแสดงอาการเฉยเมยต่อกันซึ่งมักจะพบได้บ่อยๆ ในการแสดงความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างประชาชาติทั้งหลายในโลก แม้เมื่อคุณค่าพื้นฐาน อาทิเช่นเรื่องการเอาตัวรอด อิสระเสรีภาพ และสันติภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม


9. แต่พระเจ้าก็มิอาจปล่อยให้การกระทำผิดนั้นไม่ต้องถูกลงโทษได้ กล่าวคือ จากผืนแผ่นดินที่โลหิตหลั่งลงมาบนนั้น โลหิตของผู้ถูกฆ่าเรียกร้องให้พระเจ้าแสดงพระยุติธรรมของพระองค์ให้ปรากฏ (เทียบ ปฐก 37:26 ; อสย 26:21 ; อสค 24:

7-8)จากพระคัมภีร์ตอนนี้ พระศาสนจักรกล่าวถึง “บาปซึ่งส่งเสียงร้องขอพระยุติธรรมจากพระเจ้า” และบาปแรกในบรรดาบาปทั้งหลาย พระศาสนจักรก็บ่งถึง “บาปฆ่าคนโดยเจตนา”12 สำหรับชาวยิว เช่นเดียวกับชนชาติทั้งหลายในสมัยโบราณ ถือว่าเลือดเป็นบ่อเกิดชีวิต ที่จริงแล้ว “เลือดคือชีวิต” (ฉธบ 12:23) และชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตมนุษย์เป็นของของพระเจ้าผู้เดียว เพราะเหตุนี้เอง ใครที่ทำอันตรายต่อชีวิต เขาก็ทำร้ายพระเจ้าเอง


กาอินถูกพระเจ้าสาปแช่ง และถูกแผ่นดินสาปแช่งด้วยเช่นกัน โดยแผ่นดินจะไม่ให้ผลแก่เขา (เทียบ ปฐก 4:11-12) กาอินถูกลงโทษ กล่าวคือ เขาจะต้องไปอาศัยอยู่ตามที่เปลี่ยวในทะเลทราย การกระทำรุนแรงของมนุษย์ด้วยการฆ่าคนนั้นมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของมนุษย์ จากการที่ได้อยู่ในสวนเอเดน (ปฐก 2:15) สถานที่อันเปี่ยมสุขด้วยการมีความสัมพันธ์และมิตรภาพกับพระเจ้า แผ่นดินนั้นกลับกลายเป็น “แผ่นดินโนด” (ปฐก 4:16) ซึ่งเป็นสถานที่ยากลำบาก ต้องอยู่โดดเดี่ยว และแยกขาดจากพระเจ้า กาอินจะต้องกลายเป็น “ผู้เร่ร่อนหลบหนีไปบนแผ่นดิน” (ปฐก 4:14) นั่นคือ ความไม่แน่นอนและการไม่มีโอกาสหยุดพักผ่อนได้เลยนั้นจะติดตามเขาไปเสมอ


ถึงกระนั้น พระเจ้าผู้ทรงพระเมตตาอยู่เสมอแม้เมื่อพระองค์ทรงลงโทษมนุษย์ “ทรงทำเครื่องหมายไว้ที่ตัวกาอิน เพื่อเตือนคนที่พบไม่ให้ฆ่าเขา” (ปฐก 4:15) พระเจ้าทรงให้กาอินมีเครื่องหมายเด่นชัดเช่นนี้ มิใช่เพื่อประณามเขาให้เป็นที่เกลียดชังของคนอื่น แต่เพื่อป้องกันและพิทักษ์เขาไว้จากผู้ที่คิดจะฆ่าเขา เป็นการแก้แค้นให้กับการตายของอาแบล ไม่เพียงแต่ผู้ฆ่าคนอื่นตายจะต้องสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเท่านั้น พระเจ้าเองทรงให้คำมั่นไว้เช่นนี้ด้วย และ ณ ที่นี้เองก็แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงธรรมล้ำลึกอันมีลักษณะขัดแย้งกันแต่ก็เป็นจริงของความยุติธรรมอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระเจ้า ดังที่ท่านนักบุญอัมโบรซิโอเขียนไว้ว่า “เมื่อการกระทำผิดนั้นเป็นที่ยอมรับนับแต่แรกเริ่มเมื่อมีการฆ่าคนอันเป็นบาปผิดนั้นแล้ว กฎแห่งพระเมตตาของพระเจ้าก็ควรเข้ามาจัดการในทันที ถ้าจะมีการลงโทษผู้กระทำบาปผิดนั้น ในการใช้ความยุติธรรม มนุษย์ไม่มีทางอื่นใดนอกจากควรใช้ความอดทนและความพอประมาณเป็นหลัก แต่มนุษย์มักจะประณามผู้กระทำผิดให้ต้องถูกลงโทษในทันที...พระเจ้าทรงไล่กาอินให้พ้นจากพระพักตร์พระองค์ และส่งเขาไปสู่แดนเนรเทศไกลจากถิ่นที่อยู่ของตน ก็เพื่อว่าเขาจะได้พ้นไปจากชีวิตที่ได้รับความใจดีแบบมนุษย์ ไปสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงกับสภาพอันป่าเถื่อนแบบสัตว์ป่านั้น พระเจ้าทรงพอพระทัยให้มนุษย์ปรับปรุงแก้ไขตัวเองมากกว่าทรงต้องการความตายของคนบาป พระองค์ไม่ทรงปรารถนาให้การฆ่าคนนั้นจะต้องมีการลงโทษกันด้วยการฆ่า

คนอีกคนหนึ่งเป็นการชดเชย”13


ท่านทำอะไรลงไป” (ปฐก 4:10) :

เงามืดบดบังคุณค่าแห่งชีวิต


10. พระเจ้าตรัสแก่กาอินว่า “ท่านทำอะไรลงไป เลือดของน้องชายท่านจากพื้นดินร้องดังมาถึงเรา” (ปฐก 4:10) เลือดที่มนุษย์ทำให้หลั่งออกมานั้นยังคงส่งเสียงร้องต่อเนื่องเรื่อยมาจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งในรูปแบบที่แปลกใหม่และแตกต่างกันไปอยู่เสมอ


คำถามของพระเจ้าที่ว่า “ท่านทำอะไรลงไป” ซึ่งกาอินไม่อาจหนีพ้นได้นั้น ก็ยังคงเฝ้าถามผู้คนในยุคนี้อยู่ เพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงการล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์ที่แผ่กระจายไปทั่วและหนักหน่วงนั้น ยังคงเด่นชัดอยู่ในประวัติศาสตร์มนุษย์เรื่อยมา และเพื่อให้มนุษย์ได้ค้นพบสิ่งที่เป็นสาเหตุส่งเสริมให้มีการล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์เช่นนี้ รวมทั้งเพื่อให้มนุษย์คิดไตร่ตรองอย่างจริงจังถึงผลที่ตามมาอันเกิดจากการทำลายล้างเหล่านี้ที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งเป็นส่วนบุคคลและของประชาชาติทั้งหลายด้วย


ภัยคุกคามบางอย่างเกิดมาจากธรรมชาติแต่กลับถูกทำลายให้เลวร้ายลงเพราะมนุษย์ที่ช่วยแก้ไขได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งกลับทำผิดด้วยการเพิกเฉย และปล่อยปละละเลยไม่ลงมือกระทำการนั้นๆ ภัยคุกคามอื่นเป็นผลมาจากสถานการณ์ความรุนแรง การเกลียดชังกันบวกกับการขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งนำผู้คนให้ประหัตประหารผู้อื่นด้วยการฆ่า การสงคราม การฆ่าหมู่ และการฆ่าล้างเผ่าพันธ์มนุษย์


แล้วเราจะไม่นึกถึงได้อย่างไรในเรื่องการกระทำรุนแรงต่างๆ ต่อชีวิตผู้คนนับล้านๆ เป็นต้นพวกเด็กๆ โดยที่ผู้คนเหล่านั้นถูกบังคับให้ต้องตกอยู่ในสภาพยากจน ขาดอาหารและหิว เนื่องจากการแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ระหว่างประชาชาติมนุษย์

และระหว่างชนชั้นต่างๆ ทางสังคมนั้นเป็นไปอย่างอยุติธรรมอีกทั้งรุนแรงที่มีอยู่มิใช่ในเรื่องการทำสงครามกันเท่านั้นแต่ในเรื่องการค้าอาวุธสงครามอันน่าอัปยก่อให้เกิดการขัดแย้งเรื่องอาวุธกระจายไปทั่ว ทำให้โลกของเราเปื้อนเลือด รวมถึงเรื่องการที่ความตายแผ่กระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่มนุษย์ขาดความระมัดระวังเข้าไปรบกวนระบบสมดุลทางนิเวศของโลก การที่ยาเสพติดแผ่กระจายไปทั่วส่งผลให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้น การสนับสนุนกิจกรรมทางเพศบางอย่าง ซึ่งนอกจากเป็นสิ่งผิดศีลธรรมแล้ว ยังเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์ด้วย เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรยายได้หมดถึงภัยคุกคามหลากหลายต่อชีวิตมนุษย์ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันมากมาย ไม่ว่าจะปรากฏให้เห็นชัด หรือแฝงเร้นอยู่ก็ตามอันมีอยู่มากมายเหลือเกินในยุคของเรานี้


11. คราวนี้ เราจะให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการทำลายล้างชีวิตอีกจำพวกหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์นับแต่แรกเริ่มจนวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการทำลายล้างที่มีลักษณะใหม่ๆ เมื่อเทียบกันในอดีต และก่อให้เกิดปัญหารุนแรงแบบไม่ธรรมดาทีเดียว มิใช่เพียงตามความคิดเห็นโดยทั่วไปเท่านั้นที่การทำลายล้างเหล่านี้มีแนวโน้มที่ไม่ถือว่าเป็น “การกระทำที่ผิด” อีกต่อไป ในทางกลับกัน กลับมามีธรรมชาติเป็น “สิทธิ” แทน ถึงขั้นที่ว่ามีการเรียกร้องให้ทางฝ่ายรัฐต้องยอมรับรองให้การทำลายล้างเหล่านี้เป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย และให้มีสิ่งเหล่านั้นไว้บริการฟรีทางด้านสาธารณสุขอีกด้วย การทำลายล้างชีวิตแบบที่กล่าวถึงนี้จู่โจมชีวิตมนุษย์ในเวลาที่มนุษย์อ่อนแอที่สุด ยามที่มนุษย์ปราศจากเครื่องมือต่อสู้ป้องกันตัว ที่แย่กว่านั้นก็คือมีข้อเท็จจริงแสดงว่า บ่อยครั้งที่การทำลายล้างนั้นเกิดขึ้นมาในครอบครัวมนุษย์ และด้วยการสมรู้ร่วมคิดของครอบครัวนั้นเองครอบครัวมนุษย์ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ถูกเรียกมาเพื่อให้เป็น “สักการะสถานแห่งชีวิต”


สภาพการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ มากมายทางเบื้องหลังนั้นซึ่งมีวิกฤตลึกซึ้งในเรื่องวัฒนธรรม อันก่อให้เกิดความคิดไม่แน่ใจในเรื่องรากฐานแท้จริงของความรู้และจริยธรรมและเป็นสิ่งซึ่งทำให้ยากลำบากยิ่งขึ้นที่จะเข้าใจได้ชัดเจนถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ ความหมายของสิทธิและหน้าที่ของมนุษย์ นอกนั้นยังมีความยากลำบากมากมายหลายอย่างในเรื่องความเป็นอยู่และความสัมพันธ์กันของมนุษย์ซึ่งเลวร้ายลงเนื่องจากความซับซ้อนในสังคม ที่มนุษย์แต่ละคน คู่สามีภรรยาและครอบครัวมักจะถูกปล่อยให้อยู่เพียงลำพังกับปัญหาต่างๆ ของตนยังมีสภาพการณ์ของความยากจนข้นแค้น ความวิตกกังวลหรือความท้อแท้ผิดหวังของการพยายามให้บรรลุผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ มีความเจ็บปวดที่มิอาจรับทนได้ หรือความรุนแรงในลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะที่กระทำต่อผู้หญิงทำให้การเลือกส่งเสริมชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้โดยยากลำบากจนถึงขั้นที่ในบางครั้งต้องอาศัยวีรกรรมทีเดียว


ทุกสิ่งเหล่านี้พอจะอธิบายได้ว่าคุณค่าของชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องตกอยู่ภายใต้เงามืดได้อย่างไร ถึงแม้ว่ามโนธรรมของมนุษย์ยังไม่หยุดชี้ให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีคุณค่าอันมิอาจล่วงละเมิดได้ก็ตาม ดังเห็นได้ชัดจากแนวโน้มที่แฝงไว้ซึ่งอาชญากรรมบางประการอันล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์นับแต่แรกเริ่มหรือในขั้นตอนสุดท้ายของชีวิตโดยใช้คำศัพท์ทางการแพทย์แบบกลางๆหันเหความสนใจไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องนั้นแท้จริงแล้วเป็นเรื่องสิทธิในการมีชีวิตของบุคคลมนุษย์ต่างหาก


12. อันที่จริง ในขณะที่บรรยากาศของความไม่แน่นอนด้านศีลธรรมซึ่งแผ่กระจายไปทั่วนี้ อาจอธิบายในบางครั้งได้ว่า เพราะมีปัญหาสังคมหนักมากมายในยุคปัจจุบัน และปัญหาเหล่านี้บางครั้งก็ทำให้ความรู้สึกรับผิดชอบในมนุษย์แต่ละคนนั้นลดลงไปก็ตาม ก็หาเป็นความจริงน้อยลงไปไม่ที่ว่า เรามนุษย์กลับต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ใหญ่ยิ่งกว่า ซึ่งพอจะเรียกมันได้ว่า คือ โครงสร้างที่มีอยู่จริงของบาปนั่นเอง ความเป็นจริงที่ว่านี้มีลักษณะเด่นชัดจากการเกิดมีวัฒนธรรมหนึ่งขึ้นมาซึ่งไม่ยอมรับเรื่องความสมานฉันท์ของมนุษย์ และในหลายกรณีก็ออกมาในรูปของ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” วัฒนธรรมนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสอันทรงพลังทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดมีความคิดขึ้นมาว่า ต้องสร้างสังคมมนุษย์ให้สนใจเป็นพิเศษในเรื่องการมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาสภาพการณ์ดังกล่าวจากมุมมองที่ว่านี้ ก็เป็นไปได้ที่จะกล่าวถึงในทำนองว่า เป็นสงครามของผู้มีอำนาจขจัดผู้อ่อนแอ กล่าวคือ ชีวิตที่ต้องการ การยอมรับ ความรักและการดูแลเอาใจใส่นั้น กลับถูกถือว่าเป็นชีวิตที่ไร้ประโยชน์ หรือไม่ก็ถือว่าเป็นชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อความผาสุก และการดำเนินชีวิตของผู้ที่อยู่ในสภาพที่ดีเหล่านั้น จึงมีแนวโน้มถือว่าเขาเหล่านั้นเป็นศัตรูที่จะต้องต่อต้านหรือกำจัดเสียให้สิ้น เช่นนี้เองจึงเกิดมี “การสมคบคิดกันทำลายชีวิต” การสมคบกันเช่นนี้เกี่ยวพันมิใช่เพียงในเรื่องความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันในระดับเป็นส่วนตัว กับครอบครัว และกับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ เท่านั้น แต่ยังลามไปไกลกว่านั้นอีก ถึงขั้นที่เป็นภัยคุกคามและทำให้ความสัมพันธ์กันระหว่างประชาชาติต่างๆ และรัฐทั้งหลายผิดเพี้ยนไปในระดับนานาชาติอีกด้วย


13. เพื่อช่วยให้การทำแท้งแพร่กระจายไปได้ง่ายขึ้น จึงได้มีและยังคงมีการใช้เงินจำนวนมหาศาลลงทุนผลิตยาต่างๆ ขึ้นมาซึ่งทำให้ง่ายต่อการฆ่าตัวอ่อนในครรภ์มารดา โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทางการแพทย์เลย ในเรื่องนี้การศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ดูเหมือนจะมัวสลวนอยู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่จะใช้กำจัดชีวิตได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกทั้งในเวลาเดียวกันก็เป็ผลิตภัณฑ์ที่สามารถดึงเอาเรื่องการทำแท้งนี้ให้พ้นจากการควบคุมหรือจากความรับผิดชอบของสังคมด้วย


มักจะมีการกล่าวยืนยันกันอยู่บ่อยๆ ว่าการคุมกำเนิดนั้น หากทำให้ปลอดภัยและเข้าถึงทุกคนได้ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการทำแท้งอย่างได้ผล พระศาสนจักรคาทอลิกจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดมีการทำแท้ง เพราะว่าพระศาสนจักรยังยึดมั่นสอนอยู่เสมอมาว่า การคุมกำเนิดเป็นการทำผิดกฎศีลธรรม เมื่อพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว ข้อโต้แย้งดังกล่าวนั้นไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใดเลยอาจเป็นเพราะว่าผู้คนมากมายใช้วิธีการคุมกำเนิดโดยมีความคิดว่า จะได้ไม่ต้องถูกประจญให้ต้องไปใช้วิธีทำแท้งในภายหลัง แต่ทว่าคุณค่าด้านลบที่แฝงอยู่ใน “ความคิดที่ใช้การคุมกำเนิดนี้ ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากการเป็นพ่อแม่ผู้มีความรับผิดชอบที่เจริญชีวิตเคารพต่อความจริงสมบูรณ์ของการมีเพศสัมพันธ์กัน กลับทำให้ถูกประจญให้ใช้การทำแท้งมากยิ่งขึ้น เมื่อชีวิตที่ตนไม่ต้องการนั้นก่อกำเนิดขึ้นมา อันที่จริงวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการทำแท้งค่อนข้างจะแข็งแกร่งในที่ซึ่งคำสอนของพระศาสนจักรห้ามการคุมกำเนิดนั้นถูกปฏิเสธ แน่นอนจากมุมมองด้านศีลธรรมแล้ว การคุมกำเนิดและการทำแท้งเป็นความชั่วร้ายที่แตกต่างกันอย่างพิเศษ กล่าวคือ การคุมกำเนิดเป็นสิ่งที่ขัดแย้งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความจริงทั้งครบของการ

มีเพศสัมพันธ์กันในฐานะที่เป็นการแสดงออกโดยตรงซึ่งความรักฉันท์สามีภรรยา ในขณะที่การทำแท้งเป็นการทำลายชีวิตของบุคคลมนุษย์ การคุมกำเนิดเป็นการทำผิดคุณธรรมความบริสุทธิ์ในชีวิตสมรส ส่วนการทำแท้งเป็นการทำผิดคุณธรรมความยุติธรรมและทำผิดโดยตรงต่อบทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน”


แต่แม้ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะมีธรรมชาติและความหนักทางด้านศีลธรรมแตกต่างกันก็ตาม แต่เรื่องการคุมกำเนิดกับการทำแท้งก็มักจะเกี่ยวพันกันไปอย่างใกล้ชิด ดุจผลไม้จากต้นเดียวกันเป็นความจริงที่ว่าในหลายกรณี มีคนทำการคุมกำเนิดและแม้แต่ทำแท้งเนื่องจากถูกกดดันจากความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตจริงของตน ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ไม่ได้ยกเว้นจากการที่เขาจะต้องพยายามปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้าให้ครบถ้วน จากตัวอย่างอื่นๆ การปฏิบัติดังกล่าวนี้ลึกๆ แล้วเกิดจากการที่มนุษย์ต้องการหาความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ต้องการรับผิดชอบใดๆ ต่างหาก และการกระทำเช่นนี้ก็แฝงไว้ด้วยการมีความคิดเรื่องอิสรภาพแบบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยถือว่า การให้กำเนิดมนุษย์นั้นเป็นอุปสรรคขัดขวางความสุขส่วนตัวของตน ชีวิตมนุษย์ที่อาจจะเกิดขึ้นมาจากการมีเพศสัมพันธ์กันเช่นนี้จึงกลายเป็นศัตรู ที่จะต้องหลีกเลี่ยงทุกวิถีทาง และการทำแท้งก็กลายเป็นเพียงคำตอบหนึ่งเดียวเท่านั้นต่อการคุมกำเนิดอันผิดพลาดของตนนั่นเอง


ความเกี่ยวพันใกล้ชิดที่มีอยู่ในความคิดของผู้คนระหว่างการคุมกำเนิดกับการทำแท้งนั้นกำลังเป็นที่เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ความเกี่ยวพันนี้ถูกชี้ให้เห็นชัดในแบบที่น่าหวั่นวิตกยิ่งโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทางเคมี อุปกรณ์คุมกำเนิดในมดลูก และวัคซีนชนิดต่างๆ ซึ่งเมื่อแจกจ่ายไปง่ายๆ แบบยาคุมกำเนิด ก็

ทำให้เป็นตัวการกำจัดชีวิตนับแต่ขั้นตอนแรกของการพัฒนาชีวิต

ของทารกใหม่ที่กำลังจะถือกำเนิดมา


14. เทคนิคต่างๆ ในเรื่องการสืบพันธ์ที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้น ซึ่งอาจดูเหมือนว่าเพื่อรับใช้ชีวิต และมักจะถูกใช้เพื่อจุดมุ่งหมายนี้ ก็ยังเปิดโอกาสให้กับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่ทำลายชีวิตมนุษย์ด้วย นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าเทคนิคเหล่านี้

เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทางศีลธรรม เนื่องจากเทคนิคเหล่านี้แยกการให้กำเนิดมนุษย์ออกจากบริบทของการมีเพศสัมพันธ์กันของมนุษย์14เทคนิคเหล่านี้ยังมีอัตรล้มเหลวสูงมาก กล่าวคือ มิใช่ล้มเหลวในเรื่องการปฏิสนธิเท่านั้น แต่ยังล้มเหลวในเรื่องพัฒนาการที่ตามมาของตัวอ่อนมนุษย์(embryo)ในครรภ์มารดาด้วย ซึ่งตามปกติก็เสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้นยิ่งกว่านั้น จำนวนตัวอ่อนที่ผลิตออกมานั้นมักจะมีจำนวนมากเกินความต้องการที่จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในครรภ์ของมารดา และ

ส่วนที่เรียกว่า “ตัวอ่อนเหลือใช้” เหล่านั้นก็ต้องถูกทำลาย หรือไม่ก็ถูกนำไปใช้ในการศึกษาค้นคว้าโดยอ้างว่าเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ซึ่งแท้จริงแล้ว กลับเป็นการลดคุณค่าชีวิตมนุษย์ลงเป็นแค่ระดับ “วัตถุทางชีววิทยา” เพียงเพื่อจะจัดการได้ตามใจชอบเท่านั้น


การตรวจครรภ์มารดาก่อนคลอด ซึ่งก็ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทางด้านศีลธรรม ถ้าหากว่านำไปใช้เพื่อจะได้ชี้วัดในเรื่องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งอาจจำเป็นสำหรับเด็กในครรภ์มารดานั้น เรื่องนี้บ่อยครั้งเช่นกัน กลับเป็นโอกาสให้เกิดมีการทำแท้งขึ้น

การทำแท้งทางพันธุกรรมเช่นนี้ ที่ใช้มติมหาชนมาแก้ต่างให้เป็นสิ่งอันชอบธรรมบนพื้นฐานความคิด ที่เข้าใจกันผิดๆ ว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องต่างๆ ของ “การเข้ามาตัดสินทางด้านอายุรเวช” ซึ่งยอมรับชีวิตมนุษย์เพียงภายใต้เงื่อนไขบางประการเท่านั้น และไม่ยอมรับชีวิตมนุษย์เมื่อชีวิตนั้นได้รับผลกระทบจากข้อจำกัด จากความพิการ หรือจากความเจ็บป่วย


ตามตรรกะเดียวกันนี้ ก็มาถึงขั้นที่ว่าทารกที่เกิดมาพิการหรือป่วยหนัก ก็จะไม่ได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานแม้แต่การให้อาหารด้วย ยิ่งกว่านั้น ภาพที่เห็นในปัจจุบันก็ดูน่าวิตกยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลจากข้อเสนอเพิ่มเติมต่างๆ จากตรงนั้นตรงนี้ เพื่อพยายามทำให้การฆ่าทารกนั้นเป็นสิ่งอันชอบธรรม โดยใช้ข้อโต้แย้งเดิมๆ แบบที่ใช้อ้างสิทธิให้การทำแท้งเป็นสิ่งที่ชอบธรรมนั้น เช่นนี้เองที่เราหวนกลับไปสู่ยุคคนป่าอีก ซึ่งมนุษย์เราหวังจะผ่านพ้นยุคนั้น

ไปแสนไกลตลอดไปแล้ว


15.ยังมีภัยคุกคามที่รุนแรงไม่น้อยกว่ากันต่อชีวิตของผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย และผู้ที่กำลังจะตายด้วย ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้เป็นการยากที่จะเผชิญหน้าและยอมรับความทุกข์เช่นปัจจุบันนี้ก็มีการประจญมากขึ้นให้หาวิธีแก้ปัญหาความทุกข์ ด้วยการพยายามกำจัดความทุกข์ที่รากเหง้าของมันโดยใช้วิธีเร่งให้ตายเร็วขึ้น ณ เวลาที่เห็นว่าเหมาะสม


การพิจารณาต่างๆ นั้นปกติก็จะลงเอยที่การตัดสินใจเช่นนี้ ซึ่งการพิจารณาทั้งสิ้นก็ส่งผลออกมาในลักษณะที่น่าหวาดหวั่นเช่นเดียวกัน สำหรับคนป่วยความรู้สึกเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานรุนแรง รวมทั้งความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังเป็นเพราะต้องเจ็บป่วยทุกข์ทรมานเป็นเวลานานนั้นสามารถเป็นปัจจัยสำคัญได้ สภาพการณ์เช่นนี้ พร้อมกับผลลัพท์ซึ่งด้านหนึ่งคนป่วยที่แม้จะได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นทั้งด้านการแพทย์ และด้านสังคมก็ตาม ก็ยังเสี่ยงอยู่ที่เขาจะเกิดความรู้สึกถึงสภาพความอ่อนแอของตน ส่วนอีกด้านหนึ่งคนอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยก็ย่อมเกิดความรู้สึกเวทนาสงสารผู้ป่วยแบบที่พอจะเข้าใจได้ แต่ก็อาจผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้ถูกโถมทับเข้ามาด้วยบรรยากาศทางวัฒนธรรมที่ขาดการเข้าใจความหมายหรือคุณค่าของความทุกข์ของมนุษย์ แต่มักจะถือเอาว่าความทุกข์นั้นเป็นต้นแบบความชั่วร้ายที่จะต้องกำจัดให้สิ้นซาก สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นต้นในกรณีที่ขาดความสำนึกด้านศาสนา ซึ่งสามารถ

ช่วยให้มีความเข้าใจด้านบวกในธรรมล้ำลึกของความทุกข์ได้


ณ ระดับทั่วไปกว่า ในวัฒนธรรมร่วมสมัยในปัจจุบันก็มีทัศนคติหาญกล้าดุจโปรมิธิอัสเทพเจ้ากรีกที่นำให้ผู้คนทั้งหลายคิดว่ามนุษย์มีอำนาจควบคุมชีวิตและความตายได้ โดยที่มนุษย์เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องชีวิตและความตายนั้นเสียเอง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในกรณีเช่นว่านี้ก็คือมนุษย์แต่ละคนต้องพ่ายแพ้ย่อยยับต่อความตายที่ไม่มีวิสัยทัศน์ของความหมายหรือความหวังอยู่เลย เราเห็นภาพอันน่าเศร้าของทุกสิ่งนี้ได้จากการแพร่กระจายของการทำการุณยฆาต ที่แอบแฝงทำกันในลักษณะลับๆ ล่อๆ หรือที่ทำกันโดยเปิดเผยหรือแม้กระทั่งทำกันแบบถูกกฎหมายด้วย เช่นเดียวกันสำหรับเรื่องเหตุผลของการมีใจสงสารแบบไม่ถูกต้องเมื่อเห็นความทุกข์ทรมานของผู้เจ็บป่วย บางครั้งจึงมีความพยายามที่จะทำให้การทำการุณยฆาตเป็นสิ่งอันชอบธรรม โดยแรงจูงใจที่มุ่งหวังผลประโยชน์ที่พยายามไม่ให้เสียค่าใช้จ่ายใดๆที่ไม่ใหผลประโยชน์ตอบแทนหรือที่เป็นภาระแก่สังคม ฉะนั้นจึงมีการเสนอให้กระทำการุณยฆาตเพื่อกำจัดเด็กทารกพิการ คนที่พิการมากๆ คนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ คนสูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนพวกนั้นไม่อาจช่วยตัวเองได้และอยู่ในสภาพ

ป่วยหนักมาก เราไม่อาจเงียบเฉยอยู่ได้เมื่อต้องพบกับการทำการุณยฆาตในหลายรูปแบบที่หลบๆ ซ่อนๆ มากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรุนแรงน้อยกว่าและเป็นการทำการุณยฆาตจริงๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อจัดหาอวัยวะมนุษย์ไว้ให้พอเพียงสำหรับการปลูกถ่าย จึงมีการผ่าตัดอวัยวะมนุษย์โดยไม่เคารพมาตรฐานชี้วัดแท้จริงและพอเพียงที่พิสูจน์ได้ว่าผู้บริจาคอวัยวะนั้นตายแล้วจริงๆ


16. ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งในยุคปัจจุบัน ซึ่งมักจะนำมาใช้อ้างความชอบธรรมให้แก่การคุกคามทำลายชีวิตมนุษย์ก็คือ ปัญหาเรื่องจำนวนประชากร ปัญหาเรื่องนี้เกิดขึ้นในลักษณะ แตกต่างกันไปตามส่วนต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศร่ำรวยที่พัฒนาแล้ว อัตราการเกิดนั้นลดลงหรือไม่ก็ย่ำแย่อย่างน่าวิตก ส่วนประเทศทั้งหลายที่ยากจนกว่า อัตราการเจริญเติบโตของประชากรมักจะสูงขึ้น จนยากจะดำรงตนอยู่ได้เนื่องจากการพัฒนาค่อนข้างต่ำทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และมักจะอยู่ในสภาพพัฒนาล้าหลังเป็นอย่างมากด้วย เมื่อประเทศที่ยากจนกว่าต้องเผชิญปัญหาประชากรล้น แทนที่ระดับนานาชาติจะเข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ โดยนโยบายเน้นด้านครอบครัวและสังคม โครงการพัฒนาด้านวัฒนธรรม รวมถึงโครงการด้านการผลิตและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ อย่างยุติธรรม ตรงกันข้ามกลับมีนโยบายออกกฎหมายต่อต้านการกำเนิดมนุษย์มาแทน

การคุมกำเนิด การทำหมัน และการทำแท้งเป็นเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งว่าทำไมอัตราการเกิดของมนุษย์ จึงได้ลดลงมากเหลือเกิน ไม่ยากเลยที่มนุษย์จะถูกประจญให้ใช้วิธีการเหล่านี้คุกคามทำลายชีวิตมนุษย์ในที่ซึ่งมีสภาพการณ์ “ประชากรล้น”เหล่านั้น


กษัตริย์ฟาโรห์แห่งอดีต รู้สึกหวาดหวั่นเมื่อเห็นลูกหลานชาวอิสราเอลทวีจำนวนมากขึ้น ถึงกับยอมใช้วิธีกดขี่ข่มเหงทุกชนิด และมีบัญชาให้สังหารเด็กทารกชายทุกคนที่เกิดจากหญิงชาวฮีบรูให้สิ้น (เทียบ อพย 1:7-22) ในยุคปัจจุบัน ผู้มีอำนาจของโลกจำนวนไม่น้อยก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ พวกเขารู้สึกหวาดหวั่นต่อการเจริญเติบโตของประชากรโลกในยุคนี้และเกรงไปว่าประชาชาติที่ยากจนและมีลูกหลานเหล่านั้นจะมาเบียดบังความผาสุกและสันติที่มีอยู่ในประเทศของตน ผลที่ตามมาก็คือ แทนที่พวกเขาจะยอมเผชิญปัญหาและเข้ามาช่วยแก้ปัญหาร้ายแรง

เหล่านี้ด้วยการให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคนและครอบครัวและให้ความเคารพต่อสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิอันมิอาจล่วงละเมิดได้นั้น พวกเขากลับใช้ทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้สนับสนุนและยัดเยียดโครงการคุมกำเนิดแบบจำนวนมาก (massive program of birth control) แม้แต่เรื่องความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจที่พวกเขาพร้อมจะหยิบยื่นให้นั้น ก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขอันอยุติธรรมที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องยอมรับนโยบายต่อต้านการกำเนิดมนุษย์ด้วย


17. มนุษยชาติในยุคปัจจุบันทำให้เรามองเห็นภาพที่น่าหวั่นวิตกจริงๆ ถ้าเราพิจารณาดูไม่เพียงแต่ว่าภัยคุกคามชีวิตมนุษย์นั้นแพร่กระจายไปทั่วเพียงไรเท่านั้น แต่ยังมีภัยคุกคามชีวิตมนุษย์อีกเป็นจำนวนมากที่เราไม่เคยได้ทราบถึงแลข้อเท็จจริงที่ว่าภัยคุกคามเช่นนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันไปทั่วจากการเห็นพ้องต้องกันของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมนุษย์ จากการรับรองทางกฎหมาย และจากการเข้ามามีส่วนร่วมของบุคลากรทางด้านการแพทย์บางส่วนด้วย


ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวเน้นย้ำที่เมืองเดนเวอร์ในโอกาสฉลองวันเยาวชนสากลครั้งที่ 8 ว่า “พร้อมกับกาลเวลาที่ผ่านไป ภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ก็หาได้อ่อนกำลังลงไม่ ภัยคุกคามเหล่านี้กลับแผ่ขยายกว้างไกลยิ่งขึ้นมิเพียงแต่ภัยคุกคามชีวิตมนุษย์

ที่มาจากภายนอกมาจากพลังธรรมชาติหรือมาจากพวกกาอินที่ฆ่าพวกอาแบลเท่านั้นไม่ เปล่าเลย มันเป็นภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ที่มีการวางแผนด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบทีเดียว ศตวรรษที่ 20 นี้จะเป็นยุคที่มีภัยคุกคามทำลายชีวิตมนุษย์

มากมาย มีสงครามต่อเนื่องกันไม่สิ้นสุด และมีการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์กันอย่างต่อเนื่องประกาศกและอาจารย์จอมปลอมทั้งหลายได้รับชัยชนะยิ่งใหญ่แล้ว”15 นอกจากความตั้งใจดีต่างๆ ซึ่งมีแตกต่างกันไป และบางที่ก็ดูน่าประทับใจดีในหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถูกนำเสนอโดยอ้างชื่อเพื่อความสมานฉันท์ต่อกัน อันที่จริงเรากลับต้องพบกับ “การสมคบคิดกันทำลายล้างชีวิตมนุษย์” ที่มีอยู่จริงๆ โดยแม้กระทั่งสถาบันต่างๆ ระดับนานาชาติก็เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและลงมือทำการรณรงค์ที่จะให้การคุมกำเนิด การทำหมัน และการทำแท้ง เป็นสิ่งที่มนุษย์กระทำกันได้อย่างกว้างขวางด้วยอีกทั้งเรายังไม่อาจปฏิเสธได้ว่สื่อสารมวลชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการคบคิดกันทำลายล้างชีวิตมนุษย์นั้นด้วย โดยไปให้ความเชื่อถือกับวัฒนธรรมนั้นที่เสนอแนะให้มนุษย์พึ่งพาการคุมกำเนิด การทำหมัน การทำแท้ง และแม้กระทั่งการทำการุณยฆาตว่าสิ่งเหล่านั้นบ่งบอกถึงความจริงก้าวหน้าและชัยชนะแห่งอิสรภาพของมนุษย์ ในขณะเดียวกันสื่อสารมวลชนกลับให้ภาพคนที่มีจุดยืนทุ่มเท “เพื่อชีวิต” (pro-life) นั้นว่าเป็นศัตรูต่ออิสรภาพและความ

เจริญก้าวหน้าของมนุษย์ไปเสีย


ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องหรือ” (ปฐก 4:9):

ความคิดเบี่ยงเบนในเรื่องอิสรภาพของมนุษย์


18.ภาพมุมกว้างที่ชี้แจงมานี้จำเป็นที่เราต้องเข้าใจมิใช่เพียงเป็นปรากฏการณ์ความตาย ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณ์ของความตายเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจถึงสาเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความตายของมนุษย์ด้วย คำถามของพระเจ้าที่ว่า “ท่านทำอะไร

ลงไป” นั้น (ปฐก 4:10) ดูเหมือนจะเป็นคำเชื้อเชิญที่ทรงตรัสกับกาอินให้เขาข้ามพ้นมิติด้านวัตถุของการฆ่าคนตายของเขานั้น เพื่อเขาจะได้สำนึกรู้จากคำถามนั้นถึงความร้ายแรงของเหตุจูงใจต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เขาฆ่าคนอื่นและรู้สำนึกถึงผลที่ตามมาอันเกิดจากการฆ่าคนของเขานั้นด้วย


การตัดสินใจกระทำล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์นั้นบางครั้งเกิดมาจากสภาพการณ์ยากลำบากหรือน่าสลดใจยิ่งของความทุกข์สาหัส ความโดดเดี่ยว การขาดโอกาสด้านเศรษฐกิจ ความท้อแท้สิ้นหวังและความหวั่นวิตกเกี่ยวกับอนาคต สภาพแวดล้อมเช่นว่านี้สามารถทำให้มนุษย์ลดระดับความรับผิดชอบของตนลงไปมาก แล้วเปิดโอกาสให้คนพวกนั้นที่เลือกกระทำการ ซึ่งในตัวมันเองเป็นสิ่งชั่วร้าย กระทำผิดเช่นนี้ได้โดยง่าย แต่ทุกวันนี้ปัญหานั้นไปไกลเกินกว่าการที่ต้องสำนึกรู้ถึงสภาพการณ์ส่วนตัวเหล่านี้ของมนุษย์ไปแล้ว มันเป็นปัญหาซึ่งเป็นอยู่ ณ ระดับวัฒนธรรม สังคม และการเมือง ซึ่งเผยแสดงให้เห็นถึงมิติอันเลวร้าย และน่าหวั่นวิตกต่อแนวโน้มที่มนุษย์ไม่เคยร่วมมือกันเช่นนี้มาก่อนเลย ที่จะตีความการกระทำผิดต่างๆ ต่อชีวิตมนุษย์ ที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้นนั้นว่าเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย ที่มนุษย์แต่ละคน

แสดงออกถึงการมีอิสรภาพของตน และเป็นสิ่งที่จะต้องยอมรับและปกป้องว่าเป็นสิทธิโดยแท้ของมนุษย์ด้วย


ในแบบนี้เองและด้วยผลตามมาอันน่าเศร้า กระบวนการทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ก็มาถึงจุดผกผัน กระบวนการนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งนำไปสู่การค้นพบเรื่อง “สิทธิมนุษย์” อันเป็นสิทธิที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน และมีอยู่ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายของรัฐ ปัจจุบันนี้ กลับแปรเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามอย่างน่าประหลาดใจยิ่ง โดยเฉพาะในยุคนี้ที่มีการประกาศว่า สิทธิของบุคคลมนุษย์นั้นมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ และคุณค่าของชีวิตมนุษย์ก็ได้รับการยืนยันอย่างเปิดเผยด้วยนี้ สิทธิการมีชีวิตอยู่กลับถูกปฏิเสธหรือไม่ก็ถูกย่ำยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ เวลาสำคัญยิ่งของการมีชีวิต กล่าวคือ ณ เวลากำเนิดมาและ ณ เวลาสิ้นชีวิต


ทางด้านหนึ่ง คำแถลงการณ์หลากหลายยืนยันถึงสิทธิมนุษย์ และการริเริ่มงานต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคำแถลงการณ์

เหล่านั้น ก็แสดงให้เห็นในระดับโลกว่ามนุษย์มีสำนึกด้านศีลธรรมมากขึ้น มนุษย์ตื่นตัวตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์มากขึ้น โดยไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ความคิดด้านการเมือง หรือชนชั้นทางสังคมใดๆ


แต่อีกด้านหนึ่ง ก็น่าเสียดายที่คำแถลงการณ์อย่างสง่าเหล่านี้กลับถูกขัดแย้งด้วยการไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ในทางปฏิบัติ การไม่ยอมรับดังกล่าวนี้ยิ่งน่าเศร้ายิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงก็เป็นที่สะดุดยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าการปฏิเสธนั้นเกิดขึ้นในสังคมที่มีจุดหมายแรกอวดอ้างว่าเพื่อยืนยันและปกป้องสิทธิมนุษย์ การยืนยันถึง

หลักการข้อนี้จะไปได้อย่างไรกับการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการหาข้อแก้ตัวที่กระจายไปทั่วมาสร้างความชอบธรรมให้กับการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ได้เล่า? เราจะสามารถทำให้คำแถลงการณ์เหล่านั้นไปได้อย่างไรกับการไม่ยอมรับคนที่อ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือ หรือผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เพิ่งปฏิสนธิได้เล่า? การคุกคามชีวิตมนุษย์นี้ขัดแย้งโดยตรงกับการเคารพชีวิตมนุษย์ และมันเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อวัฒนธรรมทั้งหมดของสิทธิความเป็นมนุษย์ มันเป็นภัยคุกคาม ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็ทำลายความหมายแท้ของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์แบบประชาธิปไตย กล่าวคือ แทนที่จะเป็นสังคมของ “ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกัน” เมืองใหญ่ต่างๆ กลับเสี่ยงภัยที่จะกลายเป็นสังคมที่รวมกันของผู้คนที่ถูกปฏิเสธ ผู้ถูกกีดกัน ผู้คนที่ถูกย้ายจากถิ่นที่อยู่และผู้ถูกกดขี่ แล้วถ้าเราพิจารณาดูในมุมมองที่กว้างขึ้นในระดับโลก เราก็อดไม่ได้ที่จะต้องคิดมิใช่หรือว่า เรื่องการยืนยันถึงสิทธิของมนุษย์ทุกคนและของประชาชาติทั้งหลายที่ทำกันในที่ประชุมสำคัญๆ ระดับนานาชาติเหล่านั้น ก็เป็นเพียงการใช้วาทศิลป์แบบลมๆ แล้งๆ แทบทั้งสิ้น ถ้าเรายังไม่อาจถอดหน้ากากความเห็นแก่ตัวของชาติร่ำรวยเหล่านั้นได้ ซึ่งมักจะกีดกันไม่ให้ชาติที่ยากจนกว่าได้เข้าถึงการพัฒนาก้าวหน้า หรือไม่ก็ทำให้การเข้าถึงนั้นต้องขึ้นอยู่กับข้อบังคับต่างๆ ตามใจชอบของพวกตนที่ห้ามเรื่องการกำเนิดมนุษย์ โดยตั้งแง่โต้แย้งในเรื่องการพัฒนากับตัวมนุษย์นั้นเอง เราควรจะตั้งคำถามมิใช่หรือ ถึงเจ้าตัวต้นแบบเศรษฐกิจที่รัฐต่างๆ รับเอามาใช้นั้น ซึ่งเป็นผลจากการถูกกดดันจากนานาชาติ และจากรูปแบบต่างๆ ของการตั้งเงื่อนไข ก็ก่อให้เกิดสภาพความอยุติธรรมและความรุนแรงหนักยิ่งขึ้นในสภาพการณ์ที่ชีวิตของประชาชาติถูกลดคุณค่าและถูกย่ำยีด้วย


19. อะไรเป็นสาเหตุรากเหง้าก่อให้เกิดการขัดแย้งอันสำคัญยิ่งนี้?เราสามารถพบสาเหตุเหล่านี้ได้โดยการประเมินโดยรวมเรื่องธรรมชาติด้านวัฒนธรรมและด้านศีลธรรม ที่เริ่มต้นด้วยการพิจารณาดูท่าทีที่นำเอาความคิดเรื่องอัตวิสัย (concept of subjectivity) ไปสู่ขั้วสุดโต่ง และถึงขั้นบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไป และพิจารณาดูท่าทีที่ยอมรับผู้มีสิทธิ์เป็นบุคคลมนุษย์เพียงเฉพาะผู้ที่มีความเป็นตัวเอง (autonomy) โดยสมบูรณ์หรืออย่างน้อยที่สุดก็เริ่มมีอยู่บ้าง หรือยอมรับผู้ที่พ้นจากสภาพของการที่ต้องพึ่งพาคนอื่นแล้วเท่านั้น แต่เราจะทำให้แนวคิดที่ว่านี้ไปด้วยกันได้อย่างไรกับการยกย่องมนุษย์ว่าเป็น “ผู้ที่ต้องไม่ถูกใช้ประโยชน์” เล่า? ทฤษฎีเรื่องสิทธิเป็นมนุษย์นี้มีพื้นฐานอยู่บนการยืนยันที่ว่าบุคคลมนุษย์ ซึ่งไม่เหมือนกับสัตว์หรือสิ่งของ ไม่อาจตกอยู่ใต้อำนาจควบคุมของมนุษย์คนอื่นได้ เรายังต้องกล่าวถึงท่าทีที่มุ่งจะทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นเท่าเสมอกับสมรรถภาพทางด้านการติดต่อสื่อสารด้วยคำพูด และการแสดงออกภายนอกหรืออย่างน้อยก็ทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ เป็นที่ชัดเจนว่า บนพื้นฐานของการตั้งสมมุติฐานเหล่านี้เอง จึงทำให้ไม่มีที่สำหรับผู้ใดก็ตามที่เป็นส่วนอ่อนแอในโครงสร้างทางสังคม อาทิ เด็กที่ยังไม่เกิดมาหรือผู้ที่กำลังจะตาย หรือสำหรับผู้ที่แสดงให้เห็นว่ามีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยความเมตตาของผู้อื่น ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอด และสามารถติดต่อสื่อสารได้ก็เพียงอาศัยภาษาเงียบของการแสดง

ความรักใคร่เอ็นดูต่อกันอย่างลึกซึ้งเท่านั้น ในกรณีนี้เป็นการใช้กำลังบังคับมาเป็นมาตรการชี้วัดการเลือกและการกระทำในการมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในชีวิตด้านสังคม แต่สิ่งนี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ฝ่ายรัฐซึ่งปกครองโดยกฎหมายในฐานะประชาคมที่ “เหตุผลของการใช้กำลังบังคับ” (reasons of force) กลับถูกแทนที่ด้วย “การใช้กำลังบังคับเหตุผล” (force of reason) ที่ตามประวัติศาสตร์แล้วก็มุ่งที่จะยืนยันถึงสิ่งนี้


ณ อีกระดับหนึ่ง สาเหตุรากเหง้าของการขัดแย้งกันระหว่างการประกาศยืนยันถึงสิทธิการเป็นมนุษย์กับการไม่ยอมรับสิทธินี้ในทางปฏิบัตินั้น เกิดมาจากความรู้ในเรื่องอิสรภาพซึ่งยกย่องปัจเจกบุคคลมนุษย์อยู่สูงสุด และไม่มีที่ให้กับเรื่องความผูกพันธ์ต่อกัน เรื่องการเปิดใจรับผู้อื่นและเรื่องการรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในขณะที่เป็นความจริงว่า การทำลายล้างชีวิตที่ยังไม่เกิดมา หรือชีวิตที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายนั้น บางครั้งก็แสดงให้เห็นชัดเจนจากการมีความคิดแบบผิดๆ เรื่องการมีความสงสารแบบมนุษย์ อยากให้เขาสบาย จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวัฒนธรรมแห่งความตาย เมื่อพิจารณาโดยรวม ก็ทรยศต่อความคิดเรื่องอิสรภาพของมนุษย์แต่ละคนโดยสิ้นเชิง ซึ่งลงท้ายกลายเป็นอิสรภาพของ “ผู้แข็งแรง” กดขี่ผู้อ่อนแอที่ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องยอมตามเท่านั้น


ตามความหมายนี้เองที่คำตอบของกาอินต่อคำถามของพระเจ้าที่ว่า “อาแบลน้องชายของท่านอยู่ไหน” จึงออกมาเช่นนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแลน้องหรือ?” (ปฐก 4:9) ถูกแล้วมนุษย์ทุกคนเป็นผู้ดูแล “พี่น้องเพื่อนมนุษย์” เพราะว่า

พระเจ้าทรงมอบเรามนุษย์ให้แก่กันและกัน และจากมุมมองของการมอบหมายให้ดูแลกันและกันนี้เอง พระเจ้าก็ทรงมอบอิสรภาพให้แก่มนุษย์ทุกคน เป็นอิสรภาพที่มีมิติสัมพันธ์ภายในต่อกันและกัน อิสรภาพนี้เป็นของประทานจากพระเจ้าที่พระองค์ทรงมอบให้มนุษย์เพื่อเขาจะได้นำไปใช้ช่วยทำให้ตัวเขาเป็นมนุษย์สมบูรณ์โดยทางการมอบตัวเองและเปิดตัวเองแก่ผู้อื่น แต่เมื่ออิสรภาพนั้นถูกเก็บกักไว้เป็นสมบัติส่วนบุคคล อิสรภาพนั้นก็ขาดหายไปซึ่งความหมายเดิมของมัน และความหมายกับศักดิ์ศรีของมันก็ขัดแย้งตรงกันข้าม


ยังมีอีกมิติหนึ่งที่ลึกซึ้งกว่า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องกล่าวเน้นนั่นคือ อิสรภาพปฏิเสธและทำลายตัวมันเองและกลายเป็นปัจจัยนำไปสู่การทำลายผู้อื่น เมื่ออิสรภาพนั้นไม่ยอมรับและให้ความเคารพต่อสายสัมพันธ์สำคัญกับสัจธรรมอีกต่อไป เมื่ออิสรภาพอันเกิดจากความปรารถนาที่จะแยกตัวเองออกจากธรรมประเพณีและอำนาจทุกรูปแบบ ปิดตัวเองไม่ยอมรับแม้กระทั่งหลักฐานชัดแจ้งที่บ่งถึงสัจธรรมที่เป็นจริงและสากล ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตทั้งส่วนบุคคลและของชีวิตสังคมมนุษย์ด้วย บุคคลมนุษย์ผู้นั้นจึงลงเอยด้วยการไม่ยอมรับสัจธรรมเรื่องความดีและความชั่วเป็นหลักอ้างอิงอันหลีกเลี่ยงมิได้เพียงอย่างเดียวสำหรับการเลือกของตนอีกต่อไป แต่กลับทำตามความนึกคิดแบบอัตวิสัยอันเปลี่ยนแปลงได้ของตน หรือที่จริงแล้วก็เป็นการทำตามความพอใจและตามอารมณ์ความรู้สึกแบบเห็นแก่ตัวของตนเท่านั้นเอง


20. ความคิดเรื่องอิสรภาพแบบนี้นำไปสู่การทำให้ชีวิตในสังคมผิดเพี้ยนไป ถ้าการส่งเสริมตัวเองของมนุษย์ถูกเข้าใจว่าคือการเป็นตัวของตนเองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (absolute autonomy) แล้วไซร้ ผู้คนทั้งหลายก็มาถึงขั้นที่ต้องปฏิเสธ

กันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มนุษย์คนอื่นถูกถือว่าเป็นศัตรูที่ตนจะต้องต่อกรด้วย ฉะนั้นสังคมมนุษย์จึงเป็นแค่ฝูงคนที่มาอยู่ข้างเคียงกันเท่านั้น โดยไม่มีสายสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน มนุษย์แต่ละคนต่างต้องการยืนยันว่าตนเองเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาผู้ใด และอันที่จริงก็มุ่งเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองไว้ ถึงกระนั้นเมื่อต้องพบกับผลประโยชน์ที่ใกล้เคียงกันกับของผู้อื่นก็พบว่ายังมีการประนีประนอมกันในบางอย่างได้ ถ้าหากมนุษย์ยังต้องการให้มีสังคมที่คอยรับประกันอิสรภาพสูงสุดให้มนุษย์แต่

ละคนอยู่ เช่นนี้เองที่การกล่าวถึงคุณค่าร่วมกันและถึงสัจธรรมที่ผูกพันมนุษย์แต่ละคนไว้ด้วยกันไว้อย่างเด็ดขาดนั้นก็สูญหายไป และชีวิตด้านสังคมของมนุษย์ก็ก้าวไปอย่างทุลักทุเลสู่ลัทธิสัมพันธ์นิยม (relativism) สมบูรณ์แบบ ณ จุดนี้เองที่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ใช้การเจรจาตกลงกัน ทุกสิ่งทุกอย่างเปิดสู่การต่อรองกัน นั่นคือ มีการต่อรองกันแม้กระทั่งในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ คือ สิทธิการมีชีวิตอยู่ด้วย


นี่คือสิ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ระดับการเมืองและการปกครองด้วย กล่าวคือ สิทธิการมีชีวิตอันมีอยู่แต่ดั้งเดิมและมิอาจลบล้างได้นั้น กลับถูกตั้งคำถามหรือไม่ก็ถูกปฏิเสธ โดยใช้วิธีการลงคะแนนเสียงในรัฐสภา หรือโดยความต้องการของผู้คนส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นคนหมู่มากก็ตาม นี่เป็นผลร้ายแรงอันเกิดจาก ลัทธิสัมพันธ์นิยมนั้น ซึ่งมีอยู่อย่างที่ไม่มีการโต้แย้งใดๆ กล่าวคือ “สิทธิ” กลับหมดสภาพการเป็นสิทธิ เพราะว่ามิได้ตั้งอยู่บนรากฐานของศักดิ์ศรีอันมิอาจล่วงละเมิดได้ของมนุษย์ แต่กลับ

ตกอยู่ภายใต้ความต้องการ (will) ของฝ่ายที่เข้มแข็งกว่า เช่นนี้เองระบอบประชาธิปไตย ที่ขัดแย้งกับหลักการของตัวมันเอง ก็กลายรูปแบบไปเป็นการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalita-rianism) รัฐมิใช่เป็น “บ้านอยู่ร่วมกัน” ที่ผู้คนทั้งหลายสามารถเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกันบนพื้นฐานหลักการของความเสมอภาค

ขั้นพื้นฐานอีกต่อไป แต่กลับแปรเปลี่ยนไปเป็นรัฐทรราช (tyrant state) ที่แอบอ้างว่าฝ่ายรัฐมีสิทธิที่จะจัดการกับสมาชิกที่อ่อนแอที่สุด และสมาชิกที่ไม่อาจดูแลตัวเองได้ นับแต่เด็กที่ยังไม่เกิดมาจนถึงผู้สูงอายุทั้งหลายด้วย โดยอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งที่แท้ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้คนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้จริงๆ ก็เป็นเพียงการเล่นละครตลกอันน่าเศร้าล้อเลียนการออกกฎหมายเท่านั้นส่วนอุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อยอมรับรู้และปกป้องศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์แต่ละคนนั้น กลับถูกทรยศ ณ ระดับรากฐานของประชาธิปไตยทีเดียว จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะพูดถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์แต่ละคนในเมื่อยังยินยอมให้มีการฆ่าผู้อ่อนแอและผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายอยู่ได้ โดยอ้างถึงความยุติธรรม ในเมื่อมีการกระทำแบบเลือกปฏิบัติอันอยุติธรรมอยู่มากมาย นั่นคือ บุคคลบางคนถือว่าสมควรได้รับการปกป้อง ในขณะที่อีกหลายคนกลับถูกปฏิเสธ ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ของตน16 เมื่อเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้น กระบวนการอันนำไปสู่การล่มสลายของการเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์ และการแตกแยกของตัวรัฐเองก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว


การอ้างว่ามีสิทธิทำแท้งได้ ฆ่าเด็กได้ และทำการุณยฆาตได้ อีกทั้งยังยอมรับสิทธินั้นไว้ในกฎหมายด้วย ก็หมายถึงว่าเป็นการทำให้อิสรภาพของมนุษย์มีลักษณะผิดเพี้ยนและชั่วร้าย นั่นคือ เป็นการยอมให้คนบางคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือคนอื่นและทำลายคนอื่นได้ นี่คือความตายของอิสรภาพแท้ของมนุษย์ “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ทุกคนที่ทำบาปก็เป็นทาสของบาป” (ยน 8:34)


และข้าพเจ้าต้องหลบซ่อนจากพระพักตร์ของพระองค์”

(ปฐก 4:14) : เงามืดบดบังสำนึกถึงพระเจ้า และสำนึกถึงมนุษย์


21. ในการค้นหาสาเหตุรากเหง้าลึกสุดของการต่อสู้กันระหว่าง “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” กับ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” นี้ เราไม่อาจจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะที่ความคิดผิดเพี้ยนในเรื่องอิสรภาพตามที่กล่าวถึงมานั้นเพียงเรื่องเดียวได้ เราจะต้องเข้าไปให้ถึงหัวใจของโศกนาฏกรรมที่ผู้คนยุคปัจจุบันกำลังประสบอยู่ นั่นคือ เงามืดที่บดบังสำนึกถึงพระเจ้าและสำนึกถึงมนุษย์ อันมีต้นแบบที่เห็นได้ชัดจากบรรยากาศทางสังคมและทางวัฒนธรรมที่ถูกครอบงำโดยโลกานุวัตรนิยม (secularism) ซึ่งมีเครือข่ายโยงใยไปทุกแห่งทั่วโลก บ่อยครั้งก็ประสบผลสำเร็จในการทำให้คริสตชนกลุ่มต่างๆ ต้องถูกทดลองบ้าง ผู้คนที่ยอมให้บรรยากาศเช่นว่านี้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำได้ง่ายๆ ก็ตกอยู่ในวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย (vicious circle) อันน่าเศร้า นั่นคือ เมื่อสำนึกถึงพระเจ้าสูญหายไปก็ย่อมมีแนวโน้มที่เขาจะสูญเสียสำนึกถึงมนุษย์ สำนึกถึงศักดิ์ศรี และคุณค่าชีวิตมนุษย์ไปด้วย ในทางกลับกัน การล่วงละเมิดกฎศีลธรรมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในเรื่องอันสำคัญยิ่งคือ เรื่องการเคารพต่อชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ก็ก่อให้เกิดมีการบดบังมืดมิดมากขึ้นต่อสมรรถภาพของมนุษย์ที่จะวินิจฉัย (capacity to discern) การประทับอยู่ที่ให้ชีวิต และที่ช่วยให้รอดของพระเจ้า


อีกครั้งหนึ่งที่เราสามารถรับแสงสว่างได้จากเรื่องการฆ่าอาแบลโดยกาอินพี่ชาย หลังจากที่กาอินถูกพระเจ้าสาปแช่ง เขาก็ทูลพระเจ้าว่า “โทษของข้าพเจ้าหนักเกินกว่าจะรับอภัยได้ ดูซิ วันนี้พระองค์ทรงขับไล่ข้าพเจ้าออกจากแผ่นดินนี้ ข้าพเจ้าต้องหลบซ่อนจากพระพักตร์ของพระองค์ เร่ร่อนหนีหน้าผู้คนบนแผ่นดิน ใครพบข้าพเจ้าก็จะฆ่าข้าพเจ้าเสีย” (ปฐก 4:13-14) กาอินนั้นมั่นใจว่าบาปของตนจะไม่ได้รับอภัยจากพระเจ้า และชะตากรรมอันมิอาจหลีกพ้นได้ของตน ก็คือ เขาจะต้อง “หลบซ่อนจากพระพักตร์ของพระองค์” ถ้าหากกาอินสามารถสารภาพออกมาได้ว่าความบาปผิดของตนนั้น “หนักเกินกว่าจะรับอภัยได้” ก็เป็นเพราะเขาสำนึกว่า ตนนั้นอยู่ต่อพระพักตร์พระเจ้าและอยู่เบื้องหน้าการตัดสินอันยุติธรรมของพระองค์นั่นเอง นี่เป็นประสบการณ์ของกษัตริย์ดาวิดหลังจากที่พระองค์ “ได้กระทำสิ่งชั่วร้ายในสาย

พระเนตรของพระเจ้า” และถูกประกาศกนาธันกล่าวตำหนิแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสออกมาว่า “ข้าพระองค์ทราบถึงการละเมิดของข้าพระองค์แล้ว และบาปของข้าพระองค์อยู่ต่อหน้าข้าพระองค์เสมอ ข้าพระองค์ได้ทำบาปต่อพระองค์ ต่อพระองค์เท่านั้น และได้กระทำสิ่งชั่วร้ายในสายพระเนตรพระองค์” (สดด 51:3-4)


22. ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อมนุษย์สูญเสียสำนึกถึงพระเจ้า สำนึกถึงมนุษย์ก็ถูกคุกคามและกลายเป็นพิษไปด้วย ดังที่สภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ได้สรุปไว้อย่างกระชับสั้นๆ ว่า “ถ้าไม่มีพระผู้สร้าง สรรพสัตว์ก็ย่อมมีไม่ได้...แต่เมื่อมนุษย์ลืมพระเจ้า

เสียแล้ว มนุษย์ก็ไม่อาจเข้าใจสรรพสัตว์ได้”17 มนุษย์ไม่สามารถเห็นตัวเองว่า “แตกต่างอย่างล้ำลึก” จากสรรพสัตว์อื่นๆ ของโลกนี้อีกต่อไป มนุษย์ถือว่าตนเองเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตอีกสิ่งหนึ่ง เหมือนเป็นองคาพยพหนึ่ง ซึ่งอย่างมากที่สุด ก็ได้ขึ้นถึงพัฒนาการขั้นสูงมากระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อมนุษย์ปิดขังตัวเองอยู่แค่เพียงระดับแนวราบแคบๆ ของธรรมชาติทางด้านกายภาพของตนเท่านั้น เขาจึงถูกลดคุณค่าลงมาเป็นแค่ “ของสิ่งหนึ่ง” และไม่เข้าใจถึงคุณลักษณะ “เหนือธรรมชาติ” (transcendent character) ของการเป็นอยู่แบบมนุษย์ของตนเลย เขาไม่ถืออีกต่อไปว่าชีวิตมนุษย์เป็นของประทานวิเศษสุดจากพระเจ้า ชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงมอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของเขา และให้เขาต้องดูแลด้วยความรักและให้ “ความเคารพ” ต่อชีวิตด้วย ชีวิตมนุษย์กลายเป็นเพียง “สิ่งของ” ที่มนุษย์ถือสิทธิ์เก็บไว้เป็นสมบัติชิ้นหนึ่งของตน อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลเด็ดขาดของตนเท่านั้น


ฉะนั้นในเรื่องชีวิตมนุษย์ตอนเกิดหรือตอนตายนั้น มนุษย์ก็ไม่สามารถตั้งคำถามหาความหมายจริงแท้ที่สุดแห่งการเป็นอยู่ของตนเองได้ อีกทั้งยังไม่สามารถทำให้ช่วงขณะอันสำคัญยิ่งแห่งประวัติศาสตร์ของตนเองนั้นกลมกลืนไปกับอิสรภาพแท้จริงได้ด้วย มนุษย์ให้ความสนใจแต่เพียงเรื่อง “การทำ” และใช้เทคโนโลยีทุกชนิดสลวนอยู่กับการวางแผน การบังคับควบคุมการเกิดและการตาย แทนที่การเกิดและการตาย จะเป็นประสบการณ์แรกที่มนุษย์จะต้องนำมา “เจริญชีวิตอยู่” การเกิดและการตายนั้นกลับกลายเป็นสิ่งของที่มนุษย์เพียงแค่ “เป็นเจ้าของ” หรือไม่ก็

ปฏิเสธ” ไม่ยอมรับเท่านั้น


ยิ่งกว่านั้น เมื่อมนุษย์ไม่ยอมกล่าวอ้างถึงพระเจ้าเลย ก็ไม่น่าประหลาดใจที่ความหมายของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นจะผิดเพี้ยนไปอย่างลึกซึ้ง จากที่ธรรมชาติเป็นเสมือน “มารดา” (mater) ก็ถูกลดค่าลงมาเป็นแค่ “สสาร” (matter) และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมทุกรูปแบบ นี่เป็นทิศทางที่วิธีคิดแบบทางเทคนิคและแบบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน ปรากฏให้เห็นว่ากำลังนำไปสู่ทิศทางนี้ เมื่อมันไม่ยอมรับความคิดที่ว่าสัจธรรมแห่งการเนรมิตสร้างสรรพสิ่งนั้นมีอยู่จริง ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องยอมรับรู้ หรือไม่ก็ไม่ยอมรับแผนการของพระเจ้าเพื่อชีวิต ซึ่งมนุษย์จะต้องให้ความเคารพ สิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นเมื่อความสนใจในเรื่องผลที่ตามมาของ “อิสรภาพที่ปราศจากกฎหมาย” (freedom without law) นั้น นำบางคนไปสู่จุดยืนในทางตรงกันข้ามของการออก “กฎหมายอันปราศจากอิสรภาพ” ( law without freedom ) ทีเดียว ตัวอย่างเช่น ในหลายอุดมคติที่ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายที่จะเข้าไปแทรกแซงธรรมชาติ ก็เลย “ทำให้ธรรมชาติเป็นพระเจ้า” ไป (divinizing) นี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกเหมือนกันในเรื่องการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติตามแผนการของพระผู้สร้าง จึงเป็นที่ชัดเจนว่า การสูญเสียการติดต่อสัมพันธ์กับแผนการอันชาญฉลาดของพระเจ้านั้น ถือเป็นสาเหตุรากเหง้าลึกสุดก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นกับมนุษย์ในยุคสมัยใหม่นี้ ทั้งเมื่อการสูญเสียดังกล่าวนี้นำไปสู่อิสรภาพที่ปราศจากกฎระเบียบควบคุม และเมื่อการสูญเสียนี้ปล่อยให้มนุษย์ตกอยู่ใน “ความหวาดกลัว” ต่ออิสรภาพของตน


โดยการเจริญชีวิต “ราวกับว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง” มนุษย์ไม่เพียงแต่สูญเสียการมองเห็นธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าเท่านั้น แต่เขายังมองไม่เห็นธรรมล้ำลึกเรื่องโลก และธรรมล้ำลึกเรื่องการเป็นของตัวเขาเองด้วย


23. เงามืดที่บดบังสำนึกถึงพระเจ้าและสำนึกถึงมนุษย์ย่อมนำไปสู่ลัทธิวัตถุนิยมเชิงปฏิบัติ (practical materialism) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งขยายพันธ์ออกเป็นลัทธิปัจเจกชนนิยม (individualism) ลัทธิประโยชน์นิยม (utilitarianism) และลัทธิสุขารมณ์นิยม (hedonism) ณ ที่นี้เราเห็นว่าถ้อยคำของท่านอัครสาวกเปาโลยังใช้การได้เสมอ “เนื่องจากพวกเขาไม่ยอมรับรู้พระเจ้า พระองค์จึงทรงทอดทิ้งพวกเขาให้หลงผิด และประพฤติชั่ว” (รม 1:28) คุณค่าของ “การเป็น” ถูกแทนที่ด้วย “การมี” มนุษย์ถือเอาเป้าหมายเดียว คือ มุ่งหาความผาสุกด้านวัตถุให้ชีวิตตน สิ่งที่เรียกกันว่า “คุณภาพชีวิต” นั้น มีความหมายแรกหรือไม่ก็ หมายถึงเพียงเฉพาะแค่เรื่องของการมีประสิทธิภาพทางด้านเศรษฐกิจ การบริโภคเกินพอ การมีความสวยงามทางร่างกาย และการมีความสนุกสนานในชีวิต จนถึงขั้นละเลยต่อมิติที่ลึกซึ้งกว่าของการเป็นอยู่แบบมนุษย์ นั่นคือ การมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การมีชีวิตฝ่ายจิต และการมีศาสนาประจำชีวิต


ในบริบทเช่นนี้ ความทุกข์อันเป็นภาระที่ความเป็นอยู่แบบมนุษย์มิอาจหลีกพ้นได้ แต่ก็เป็นปัจจัยช่วยให้มนุษย์แต่ละคนเจริญเติบโตได้ ก็ “ถูกตรวจสอบ” ถูกปฏิเสธหาว่าเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ และที่จริงก็ถูกโต้แย้งด้วยว่าความทุกข์เป็นสิ่งชั่วร้ายที่มนุษย์จะต้องหลีกเลี่ยงให้พ้นจากมันเสมอทุกวิถีทาง เมื่อไม่อาจหลีกพ้นความทุกข์ไปได้ และเมื่อมองไม่เห็นอนาคตอันผาสุกสดใสของตน ชีวิตมนุษย์ก็ดูเหมือนจะสูญเสียซึ่งความหมายทุกอย่าง และเกิดมีการประจญขึ้นในตัวมนุษย์ให้อ้างสิทธิที่

จะกำจัดความทุกข์ให้สิ้น


ในบรรยากาศทางวัฒนธรรมเดียวกันนี้ ร่างกายมนุษย์มิได้รับการเข้าใจว่าเป็นสภาพความเป็นจริงส่วนบุคคลของตัวเองโดยเฉพาะ เป็นเครื่องหมายและเป็นสถานที่สำหรับมนุษย์ติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น กับพระเจ้า และกับโลก ร่างกายมนุษย์กลับถูกลดคุณค่าลงเป็นแค่วัตถุสสารอย่างหนึ่งเท่านั้น นั่นคือ ร่างกายมนุษย์เป็นเพียงองค์รวมของอวัยวะต่างๆ ของการทำหน้าที่ต่างๆ และของพละกำลังที่มนุษย์นำมาใช้ด้วยมาตรฐานเดียวคือ เพื่อความสุขารมณ์ของตนและเพื่อความมีประสิทธิผลเป็นสำคัญ ผลที่ตามมาก็คือ เพศมนุษย์จึงถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์และถูกกดขี่ข่มเหง นั่นคือจากที่ร่างกายมนุษย์เป็นเครื่องหมาย เป็นสถานที่และเป็นภาษาของความรัก ของการมอบตัวเองให้แก่กันและกันและยอมรับกันและกันในความเป็นตัวบุคคลของผู้นั้นเพศมนุษย์กลับกลายเป็นโอกาสและเครื่องมือเพื่ออวดอ้างตัวเองและเพื่อหาความสนุกสนานพึงพอใจแบบเห็นแก่ตัวตามความอยากปรารถนาและตามสัญชาตญาณของตนเอง ฉะนั้น ความสำคัญดั้งเดิมของเพศมนุษย์จึงผิดเพี้ยนไปและไม่ตรงตามความจริง และความหมายสองประการคือ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันและเพื่อให้กำเนิดมนุษย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติของการมีเพศสัมพันธ์กันฉันท์สามีภรรยา ก็ถูกแบ่งแยกจากกันด้วยการกระทำของมนุษย์ นั่นคือ ในแบบนี้เอง เอกภาพของการสมรสจึงถูกทรยศและการมีบุตรจึงตกอยู่ภายใต้การทำตามใจชอบของสามีภรรยานั้น การให้กำเนิดมนุษย์กลับกลายเป็น “ศัตรู” ที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดมีขึ้นในการมีเพศสัมพันธ์กัน นั่นคือ ถ้ามีการตั้งครรภ์ขึ้นก็ต้องมาจากความ

ต้องการอยากมีบุตรเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องมาจากความตั้งใจจริงของตนที่ต้องการมีบุตรให้ได้ “ทุกวิถีทางเท่านั้น” และกลับมิใช่เป็นเพราะว่าการมีเพศสัมพันธ์กันนั้น บ่งบอกถึงว่าเป็นการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์ และเป็นการเปิดตัวเองให้

ความสมบูรณ์ของชีวิตที่มีบุตรนั้นเป็นตัวแทนบ่งถึง


จากมุมมองแบบวัตถุนิยมที่อธิบายความมาจนถึงเวลานี้ ความสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลนั้นตกต่ำลงอย่างร้ายแรง คนพวกแรกที่ถูกทำร้ายก็คือพวกผู้หญิง เด็กๆ คนเจ็บป่วยหรือคนที่

กำลังทุกข์ทรมานและคนชรา มาตรการชี้วัดศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งเรียกร้องให้มีความเคารพ ความมีใจเมตตากรุณาและการับใช้

กันนั้น ถูกแทนที่ด้วยมาตรการชี้วัดในเรื่องการมีประสิทธิภาพ

การทำงานได้และการมีผลประโยชน์ให้เป็นสำคัญ กล่าวคือ มนุษย์คนอื่นนั้นถูกพิจารณามิใช่ในสิ่งที่เขา “เป็น” แต่ในสิงที่เรามี “ทำ หรือผลิตได้” ต่างหาก นี่แหละคือสภาวะการณ์ที่ผู้แข็งแรงแสดงอำนาจเหนือผู้อ่อนแอ


24. ณ แก่นของมโนธรรมด้านศีลธรรมนี้เองที่เกิดเงามืดบดบังสำนึกถึงพระเจ้าและสำนึกถึงมนุษย์อันมีผลตามมาหลากหลายซึ่งนำความตายมาสู่ชีวิตมนุษย์ เหนืออื่นใด มันเป็นเรื่องมโนธรรมของแต่ละบุคคลที่อยู่ตามลำพังต่อหน้าพระเจ้า18

แต่ก็เป็นปัญหาพอสมควรในเรื่อง “มโนธรรมด้านศีลธรรมของสังคม” ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ สังคมก็มีส่วนรับผิดชอบด้วยเหมือนกันในทางหนึ่งมิใช่เพียงเพราะว่าสังคมทนรับหรือสนับสนุนพฤติกรรมที่ต่อต้านชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะว่าสังคมส่งเสริม “วัฒนธรรมแห่งความตาย” ที่ก่อให้เกิดและเสริมพลังให้ “โครงสร้างบาป” ที่ต่อต้านชีวิตมนุษย์ด้วย มโนธรรมด้านศีลธรรม ทั้งมโนธรรมส่วนบุคคลและมโนธรรมของสังคมในยุคนี้ตกอยู่ในภัยอันตรายร้ายแรงน่าเป็นห่วงมาก โดยเป็นผลมาจากอิทธิพล

เจาะลึกของสื่อสารมวลชน นั่นคือ เกิดมีความสับสนระหว่างความดีกับความชั่ว โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิต สังคมโดยส่วนใหญ่ในยุคนี้ดูแล้วน่าเศร้ายิ่ง เป็นเหมือนกลุ่มคนพวกนั้นที่ท่านอัครสาวกเปาโลกล่าวถึงในจดหมายถึงชาวโรมัน ว่าเป็นสังคมที่ประกอบด้วย “คนที่ปิดบังความจริงในความอธรรมของตน” (รม 1:18) กล่าวคือ เมื่อพวกเขาปฏิเสธพระเจ้า และเชื่อว่าตนสามารถสร้างอาณาจักรขึ้นมาบนโลกนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพระองค์ “ความคิดหาเหตุผลของ

พวกเขาใช้การไม่ได้ และจิตใจที่ขาดสำนึกของพวกเขาก็มืดบอดลง” (รม 1:21) “พวกเขาอ้างว่าตนเป็นคนฉลาด แต่ในความเป็นจริงพวกเขาเป็นคนโง่” (รม 1:22) ที่กระทำการต่างๆ อันสมจะต้องตาย และ “พวกเขาไม่เพียงแต่ประพฤติตนเช่นนี้เท่านั้น แต่ยังยกย่องคนที่ทำเช่นเดียวกันอีกด้วย” (รม 1:32) เมื่อมโนธรรมอันเป็นดวงประทีปสุกใสส่องสว่างจิตวิญญาณ (เทียบ มธ 6:22-23) “เรียกความชั่วเป็นความดี และเรียกความดีเป็นความชั่ว” (อสย 5:20) แล้วมโนธรรมนั้นก็กำลังก้าวไปบนเส้นทางนำไปสู่ความพินาศอันน่ากลัว และไปสู่ความมืดบอดสนิททางศีลธรรม


และถึงกระนั้น การตั้งเงื่อนไขและความพยายามต่างๆ ที่บีบบังคับให้เงียบเสียง ก็มิอาจกลบเสียงของพระเจ้าที่สะท้อนก้องอยู่ในมโนธรรมของมนุษย์แต่ละคนได้ นั่นคือ จากสักการะสถานภายในของมโนธรรมนี้เองที่เส้นทางเดินแห่งความรัก การเปิดใจ และการรับใช้ชีวิตมนุษย์สามารถเริ่มต้นขึ้นใหม่ได้


ท่านเข้ามาถึงพระโลหิตที่ประพรมแล้ว” (เทียบ ฮบ 12:22,24) :

เครื่องหมายแห่งความหวังและคำเชื้อเชิญให้อุทิศตนทำงาน


25. “เลือดของน้องชายของท่านจากพื้นดินร้องดังมาถึงเรา” (ปฐก 4:10) มิใช่เพียงเลือดของอาแบล มนุษย์ผู้บริสุทธิ์คนแรกที่ถูกฆ่าตายเท่านั้น ที่ร้องดังขึ้นถึงพระเจ้า ผู้เป็นบ่อเกิดชีวิตและผู้ปกป้องชีวิต เลือดของมนุษย์คนอื่นๆ ทุกคนที่ถูกสังหารนับจากอาแบลเรื่อยมาก็ร้องดังขึ้นถึงพระเจ้าเช่นกัน ดังที่ผู้นิพนธ์จดหมายถึงชาวฮีบรูเตือนเราเป็นการเฉพาะไว้ว่า พระโลหิตของพระคริสต์ที่มีอาแบลเป็นรูปแบบหมายถึง ตามคำของประกาศกนั้น ก็ร้องดังถึงพระเจ้าด้วยว่า “ท่านเข้ามาถึงภูเขาศิโยน และนครแห่งพระเจ้าผู้ทรงชีวิต...เข้ามาถึงองค์พระเยซูเจ้า ผู้เป็นคนกลางแห่งพันธสัญญาใหม่มาถึงพระโลหิตที่ประพรม ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่าโลหิตของอาแบล” (ฮบ 12:22,24)


โลหิตนี้คือพระโลหิตที่ประพรมแล้วเครื่องหมายและสัญลักษณ์ตามคำประกาศของโลหิตนี้ก็คือโลหิตของเครื่องถวายบูชาตามพันธสัญญาเดิม ซึ่งพระเจ้าทรงแสดงน้ำพระทัยของพระองค์ที่จะสื่อชีวิตของพระองค์แก่มวลมนุษย์ ชำระล้างพวกเขา และทำให้พวกเขาศักดิ์สิทธิ์ไป (เทียบ อพย 42:8 ; ลนต 17:11) บัดนี้ทุกสิ่งเหล่านั้นสำเร็จสมบูรณ์เป็นจริงขึ้นมาแล้วในองค์พระคริสตเจ้า นั่นคือ พระโลหิตที่ประพรมแล้วของพระองค์เป็นพระโลหิตที่ช่วยไถ่กู้ ชำระให้บริสุทธิ์และช่วยมนุษย์ให้รอด เป็นพระโลหิตของคนกลางแห่งพันธะสัญญาใหม่ “ที่หลั่งออกมาเพื่ออภัยบาปสำหรับคนจำนวนมาก” (มธ 26:28) โลหิตนี้ที่หลั่งออกมาจากสีข้างของพระคริสตเจ้าบนไม้กางเขน (เทียบ ยน 19:34) “กล่าวถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่า” โลหิตของอาแบล อันที่จริงโลหิตนี้บ่งบอกและเรียกร้อง “ความยุติธรรม” ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเหนืออื่นใดเป็นโลหิตที่ร้องขอพระเมตตา19เป็นโลหิตที่อ้อนวอนขอต่อพระบิดาเพื่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์ทุกคน (เทียบ ฮบ 7:25) และโลหิตนี้เป็นบ่อเกิดของการไถ่กู้อันสมบูรณ์ และเป็นของประทานชีวิตใหม่ให้มนุษย์


ในขณะที่พระโลหิตของพระคริสตเจ้าเผยแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่แห่งความรักของพระบิดา ก็แสดงให้เห็นด้วยว่ามนุษย์มีค่าล้ำเลิศเพียงใดในสายพระเนตรของพระเจ้า และชีวิตมนุษย์นั้นมีคุณค่าสูงส่งสักเพียงใด ท่านอัครสาวกเปโตรเตือนเราให้ระลึกว่า “ท่านรู้ว่าท่านได้รับการไถ่กู้ หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ มิใช่ด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายได้เช่นเงิน หรือทอง แต่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้าดังเลือดของลูกแกะไร้มลทิน หรือจุดด่างพร้อย” (1 ปต 1:18-19) โดยการรำพึงถึงพระโลหิตล้ำค่าของพระคริสตเจ้า อันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการมอบตัวพระองค์เองด้วยความรักต่อมนุษย์นี้เอง (เทียบ ยน 13:1) ผู้มีความเชื่อก็เรียนรู้ที่จะชื่นชมกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ใกล้เคียงกับพระเจ้า และสามารถกล่าวออกมาด้วยความอัศจรรย์ใจของพระคุณพระเจ้าอยู่เสมอว่า “มนุษย์ช่างมีค่าล้ำ

สักเพียงใดในสายพระเนตรพระเจ้า ในเมื่อมนุษย์ได้รับองค์พระผู้ไถ่ผู้ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ (บท Exsultet ในค่ำวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์) และในเมื่อพระเจ้าทรงมอบพระเนตรแต่องค์เดียวของพระองค์ ‘เพื่อที่มนุษย์จะไม่ต้องพินาศไป แต่จะมีชีวิตนิรันดร์’ (เทียบ

ยน 3:16)”20

ยิ่งกว่านั้นพระโลหิตของพระคริสตเจ้ายังเผยแสดงให้มนุษย์เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของตนเองและกระแสเรียกของมนุษย์จึงอยู่ที่การมอบตนเองด้วยความจริงใจ เพราะเหตุนี้เอง พระโลหิตนี้จึงหลั่งออกมาเพื่อเป็นของขวัญประทานชีวิต พระโลหิตของพระคริสตเจ้ามิใช่เป็นเครื่องหมายแห่งความตายอีกต่อไป มิใช่เป็นเครื่องหมายแห่งการแยกขาดจากพี่น้องเพื่อนมนุษย์ แต่เป็นเครื่องหมายของการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งได้แก่ชีวิตอันอุดมสำหรับมนุษย์ทุกคน ผู้ที่ได้รับพระโลหิตของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิทก็ดำรงอยู่ในพระเยซูเจ้า (เทียบ ยน 6:56) และถูกดึงดูดเข้ามาสู่พลังแห่งความรักและของขวัญประทานชีวิตของพระองค์ ทั้งนี้ก็เพื่อจะเติมเต็มกระแสเรียกเดิมของมนุษย์ที่ให้เขารัก อันเป็นกระแสเรียกที่เป็นของมนุษย์ทุกคน (เทียบ ปฐก 1:27 ; 2:18-24)


จากพระโลหิตของพระคริสตเจ้านี้เอง มนุษย์ทุกคนได้รับพลังที่จะอุทิศตนกระทำการส่งเสริมชีวิต พระโลหิตนี้เท่านั้นเป็นบ่อเกิดอันทรงพลังแห่งความหวัง เป็นรากฐานแท้จริงแห่งความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า ตามแผนการของพระเจ้า ชีวิตจะประสบ

ชัยชนะอย่างแน่นอน ดังที่มีเสียงดังจากพระบัลลังก์ของพระเจ้าในนครเยรูซาเล็มในสวรรค์ลงมาว่า “และจะไม่มีความตายอีกต่อไป” (วว 21:4) ท่านนักบุญเปาโลก็รับรองกับเราด้วยว่า การมีชัยชนะเหนือบาปในเวลานี้เป็นสัญญาบ่งบอกล่วงหน้าแล้วถึงชัยชนะแน่นอนเหนือความตายเมื่อ “จะเป็นจริงตามคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘ความตายจะถูกชัยชนะกลืน ความตายเอ๋ยชัยชนะของเจ้าอยู่ที่ไหน ความตายเอ๋ย พิษของเจ้าอยู่ที่ไหน?’” (1 คร 15:54-55)


26. ในทางผลที่เกิดขึ้น เครื่องหมายที่บ่งบอกชัยชนะนี้มิได้ขาดหายไปจากสังคมมนุษย์และวัฒนธรรมต่างๆ เลย ที่แม้จะถูกชี้ชัดว่าเป็น “วัฒนธรรมแห่งความตาย” ก็ตาม ฉะนั้น อาจเป็นการให้ภาพเพียงด้านเดียว อันอาจนำไปสู่การรู้สึกท้อแท้ที่ไม่เกิดผลดีใดๆ ถ้าหากการประณามการคุกคามทำลายล้างชีวิตมนุษย์นั้นมิได้ควบคู่ไปกับการนำเสนอให้เห็นถึงเครื่องหมายด้านบวกต่างๆ ที่กระทำการอยู่ในสภาพการณ์ปัจจุบันของมนุษยชาติด้วย


โชคไม่ดีที่บ่อยครั้งก็เป็นการยากที่จะมองเห็นและรับรู้เครื่องหมายด้านบวกเหล่านั้นได้ บางทีอาจเป็นเพราะว่าเครื่องหมายด้านบวกเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจเพียงพอจากแวดวงสื่อสารมวลชนก็เป็นได้ ถึงกระนั้น ก็ช่างมีงานริเริ่มต่างๆ มากมายเหลือเกินที่ให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ผู้คนทั้งหลายที่อ่อนแอ และคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ เกิดขึ้นมาและยังคงมีเกิดขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ในหมู่คณะคริสตชนและในประชาสังคมทั้งหลายด้วย ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ โดยอาศัยการพยายามมากมายจากผู้คนทั้งหลายทั้งจากส่วนบุคคล จากกลุ่มบุคคล จากขบวนการและองค์กรต่างๆ มากมายเหล่านั้นด้วย


ยังคงมีคู่สามีภรรยามากมายหลายคู่ที่มีความสำนึกรับผิดชอบด้วยใจกว้าง พร้อมที่จะยอมรับบุตรทุกคนเหมือนเป็น “ของขวัญล้ำค่าที่พระเจ้าทรงประทานให้ในการสมรส”21 อีกทั้งยังไม่ขาดครอบครัวมากหลายที่นอกเหนือจากการเจริญชีวิต

ประจำวันรับใช้ชีวิตแล้ว พวกเขายังเต็มใจรับดูแลเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้ง เด็กชาย-หญิง และวัยรุ่นที่ประสบทุกข์ยาก คนพิการ ผู้สูงอายุชาย-หญิงทั้งหลายที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่เพียงลำพังมีศูนย์สนับสนุนชีวิต และสถาบันที่คล้ายคลึงกันนี้อยู่มากมาย ที่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากส่วนบุคคล และจากกลุ่มบุคคลมากมาย ที่รู้สึกชื่นชมกับความเสียสละอุทิศตนของพวกเขา ก็ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านกำลังใจ และด้านวัตถุปัจจัยต่างๆ แก่ผู้เป็นมารดาที่ประสบความยากลำบากในชีวิตและถูกประจญให้หันเข้าหาวิธีทำแท้งบุตรของตนในหลายแห่ง ก็ปรากฏว่ามีกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เตรียมพร้อมที่จะให้การต้อนรับดูแลผู้ที่ไม่มีครอบครัว ที่พบว่าตนเองตกอยู่ในสภาพท้อแท้หดหู่ หรือผู้ที่ต้องการได้รับสภาพแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนให้เขาเอาชนะนิสัยเลวร้ายต่างๆ ของตนและค้นพบความหมายชีวิตของตนนั้นเสียใหม่


ต้องขอบคุณความพยายามทุ่มเทมากมายของนักวิจัยและแพทย์ทั้งหลายที่ช่วยให้วิทยาการทางการแพทย์ ยังคงพยายามต่อไปที่จะค้นคิดหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือ การรักษาที่ครั้งหนึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้ แต่เวลานี้ก็เป็นการรักษาที่ช่วยให้ความหวังสำหรับอนาคต ก็ได้รับการพัฒนาในปัจจุบันเพื่อช่วยเด็กที่ยังไม่เกิดมา ผู้เจ็บป่วยที่ทุกข์ทรมาน และผู้ที่อยู่ในสภาพป่วยหนักมาก หน่วยงานและองค์กรต่างๆ หลากหลายก็กำลังพยายามอย่างมากที่จะนำเอาผลดีมีประโยชน์ของยาที่ทันสมัยที่สุดไปสู่ประเทศต่างๆ ที่ต้องประสบกับความยากจนและโรคระบาดต่างๆ ในทำนองเดียวกัน สมาคมระดับชาติและระดับนานาชาติของพวกแพทย์ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมามากมายเพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยเร่งด่วนที่เกิดจากการประสบภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือสงคราม ถึงแม้ว่าการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ในระดับนานาชาติจะยังอยู่ไกลเกินความเป็นจริงนักก็ตาม เราจะไม่ยอมรับรู้ได้อย่างไรถึงเครื่องหมายต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสมานฉันท์ที่เติบโตขึ้นมาในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย ซึ่งดำเนินการกันเป็นขั้นเป็นตอนเรื่อยมาจนปัจจุบัน เป็นการมีสำนึกแบบมนุษย์ที่มีศีลธรรมอันน่าสรรเสริญยิ่ง และเป็นการให้ความเคารพต่อชีวิตมนุษย์


27. ในเรื่องกฎหมายที่ยอมให้มีการทำแท้งและในเรื่องความพยายามต่างๆ ที่ได้รับความสำเร็จในบางแห่งในการออกกฎหมายรับรองการทำการุณยฆาตนั้น ขบวนการและงานริเริ่มต่างๆ เพื่อปลุกจิตสำนึกของสังคมให้ตระหนักถึงการปกป้องชีวิตมนุษย์ก็เกิดมีขึ้นมาทุกหนแห่งทั่วโลก เมื่อขบวนการเหล่านั้นมุ่งกระทำการตามหลักการของตนโดยไม่ใช้ความรุนแรง พวกเขาก็

ช่วยส่งเสริมการสำนึกถึงคุณค่าชีวิตมนุษย์ให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น และช่วยกระตุ้นให้มีการลงมือกระทำการอันเด็ดเดี่ยวเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์


ยิ่งกว่านั้น เราจะไม่ยอมพูดถึงได้อย่างไรเกี่ยวกับการแสดงออกต่างๆ เหล่านั้นในชีวิตประจำวัน ที่บ่งบอกถึงการเปิดใจรับผู้อื่น การเสียสละ และการดูแลเอาใจใส่แบบไม่เห็นแก่ตัวที่ผู้คนนับไม่ถ้วนปฏิบัติอยู่ด้วยความรักในครอบครัว ตาม

โรงพยาบาล บ้านเด็กกำพร้า บ้านสำหรับผู้สูงอายุ หรือหมู่คณะที่ปกป้องชีวิตมนุษย์ เมื่อพระศาสนจักรยอมให้แบบฉบับของพระคริสตเจ้า “ชาวสะมาเรียผู้ใจดี” (เทียบ ลก 10:29-37) ช่วยนำทาง และได้รับพลังจากพระองค์ พระศาสนจักรก็พร้อมอยู่

แนวหน้าเสมอในเรื่องการจัดเตรียมให้ความช่วยเหลือด้านเมตตาจิต นั่นคือ บรรดาบุตรชาย-หญิงของพระศาสนจักร โดยเฉพาะนักบวชชาย-หญิงทั้งหลายก็ได้มอบและยังมอบถวายชีวิตของตนแด่พระเจ้าอยู่ ทั้งในรูปแบบตามธรรมประเพณีที่สืบต่อกันมา และในรูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยมอบตัวเองอย่างอิสระด้วยความรักต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้อ่อนแอและผู้ขัดสน กิจการเหล่านี้ช่วยเพิ่มพลังให้แก่พื้นฐานของ “อารยธรรมแห่งความรักและชีวิต” ซึ่งหากปราศจากสิ่งนี้ ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนและชีวิตของสังคมมนุษย์ก็จะสูญเสียคุณภาพมนุษย์ที่แท้จริงไปสิ้น ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นไม่เป็นที่สังเกตเห็นและยังคงซ่อนเร้นจากผู้คนส่วนใหญ่ก็ตาม ความเชื่อก็ทำให้เราแน่ใจได้ว่า พระบิดาเจ้า “ผู้ทรงเห็นในที่ลับ” (มธ 6:6) จะไม่เพียงแต่ประทานรางวัลตอบแทนการกระทำเหล่านี้เท่านั้น แต่พระองค์จะทรงทำให้สิ่งเหล่านั้นบังเกิดผลถาวร เพื่อความดีงามของทุกคน แม้แต่บนโลกนี้ในขณะนี้แล้ว


ในบรรดาเครื่องหมายต่างๆ ที่แสดงถึงความหวัง เราควรจะตั้งความหวังไว้กับการเกิดมีความสำนึกใหม่ๆขึ้นในหลายระดับของความคิดเห็นของประชาคมแพร่กระจายต่อต้านสงครามกันมากยิ่งขึ้น โดยที่มนุษย์ใช้สงครามเป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างประชาชาติทั้งหลาย และมุ่งมาก

ยิ่งขึ้นที่จะค้นหาวิธีการอันมีประสิทธิภาพแต่ “ไม่รุนแรง” เพื่อจัดการกับผู้รุนแรงที่ใช้อาวุธ ในมุมมองเดียวกันนี้เอง ก็มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการที่ผู้คนพากันต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตกันมากขึ้น แม้แต่เมื่อโทษเช่นนั้นจะถูกมองจากฝ่ายของสังคมว่าเป็น “การปกป้องสังคมอันชอบด้วยกฎหมาย” ก็ตาม อันที่จริง สังคมยุคใหม่ก็มีเครื่องมือที่ช่วยกำจัดการกระทำผิด ที่ได้ผลอยู่มากมาย โดยช่วยให้ผู้กระทำผิดเหล่านั้นหมดพิษภัยได้โดยไม่จำเป็นต้องปฏิเสธโอกาสให้เขาเหล่านั้นปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น


เครื่องหมายด้านดีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มีการให้ความสนใจกันมากขึ้นในเรื่องคุณภาพชีวิตมนุษย์และเรื่องนิเวศวิทยา โดยเฉพาะในสังคมมนุษย์ที่พัฒนาดีแล้ว ซึ่งความคาดหวังของผู้คนเหล่านั้นมิได้เน้นถึงเรื่องปัญหาความอยู่รอดของมนุษย์ มาก

เท่ากับให้ความสนใจในเรื่องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยรวมให้ดีขึ้นเป็นสำคัญ ที่เด่นชัดเป็นพิเศษ ก็คือ มีการปลุกกระแสให้มีการพิจารณาทบทวนด้านจริยธรรมในเรื่องสำคัญๆ อันส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ความเร่งด่วน และพัฒนาการด้านชีวจริยธรรม (bioethics) ที่กระจายไปทั่วมากขึ้นนั้นก็กำลังส่งเสริมให้มีการพิจารณาทบทวนและการเสวนากัน ระหว่างผู้มีความเชื่อกับผู้ไม่มีความเชื่อ รวมทั้งผู้นับถือศาสนาที่แตกต่างกันด้วย ในเรื่องปัญหาด้านจริยธรรม รวมทั้งเรื่องพื้นฐานสำคัญอื่นๆ อันเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ด้วย


28. สภาพการณ์เช่นนี้ที่มีทั้งแสงสว่างและเงามืดควรจะทำให้เราตระหนักมากขึ้นว่า เรากำลังพบกับการปะทะกันอันหนักหน่วงระหว่างความดีกับความชั่วระหว่างความตายกับชีวิต ระหว่าง “วัฒนธรรมแห่งความตาย” กับ “วัฒนธรรมแห่งชีวิต”

เราพบตัวเองมิใช่เพียง “เผชิญหน้ากับ” แต่ต้อง “อยู่ท่ามกลาง” การขัดแย้งนี้โดยจำเป็นด้วย นั่นคือ เราทุกคนเข้ามาเกี่ยวพันและมีส่วนร่วมในการขัดแย้งนี้โดยที่มีความรับผิดชอบอันมิอาจหลีกพ้นได้ในการเลือกเพื่อชีวิต (pro-life) อย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ

คำเชื้อเชิญของโมเสสนั้นดังก้องชัดเจนสำหรับเราด้วยว่า “จงฟังเถิด ในวันนี้ข้าพเจ้ากำลังเสนอให้ท่านเลือกชีวิตหรือความตาย เลือกความดีหรือความชั่ว...ข้าพเจ้าเสนอให้ท่านเลือกชีวิตหรือความตาย เลือกคำอวยพรหรือคำสาปแช่งท่านจงเลือกชีวิตเถิด เพื่อท่านและบุตรหลานของท่านจะมีชีวิต” (ฉธบ 30:15,19) คำเชื้อเชิญนี้เหมาะสำหรับเรายิ่งนัก เพราะเราเป็นผู้ถูกเรียกอยู่ทุกวันให้ทำการเลือกระหว่าง “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” กับ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” แต่เสียงเรียกร้องของหนังสือเฉลยธรรมบัญญัตินี้ลึกซึ้งไปกว่านั้น เพราะกระตุ้นให้เราทำการเลือกในสิ่งที่เป็นเรื่องของศาสนาและศีลธรรมโดยตรง เป็นเรื่องของการกำหนดทิศทางพื้นฐานให้กับการเป็นอยู่ของเราเอง และการเจริญชีวิตถือซื่อสัตย์มั่นคงต่อบทบัญญัติของพระเจ้าเป็นสำคัญ “ถ้าท่านปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระยาห์เวห์ พระเจ้าของท่าน ที่ข้าพเจ้าสั่งท่านในวันนี้ ให้รักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน และเดินตามวิถีทางของพระองค์ ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของพระองค์ แล้วท่านจะมีชีวิต...ดังนั้น ท่านจงเลือกชีวิตเถิด เพื่อท่านและลูกหลานของท่านจะมีชีวิต จงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน จงเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์ และซื่อสัตย์ต่อพระองค์ เพราะพระองค์ผู้เดียวประทานชีวิตแก่ท่าน ทรงบันดาลให้ท่านอาศัยอยู่ยืนนาน” (ฉธบ 30:16,19-20)


การเลือกเพื่อชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ นี้เข้าถึงความหมายครบถ้วนด้านศาสนาและศีลธรรม เมื่อการเลือกนี้เกิดจากความเชื่อในพระคริสตเจ้า และได้รับการหล่อเลี้ยงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจากการมีความเชื่อในพระองค์นั่นเอง ไม่มีสิ่งใดจะช่วยให้เราเผชิญกับการขัดแย้งระหว่างความตายกับชีวิตที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วยนี้ ได้ดีเท่ากับการที่เรามีความเชื่อในองค์พระบุตรพระเจ้า ผู้ทรงมาเป็นมนุษย์ และประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์ เพื่อว่า “พวกเขาจะได้มีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (ยน 10:10) เป็นเรื่องของการมีความเชื่อในองค์พระเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพพระองค์ผู้ทรงมีชัยเหนือความตาย เป็นความเชื่อในพระโลหิตของพระคริสตเจ้า “ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ดียิ่งกว่าโลหิตของอาแบล” (ฉธบ 12:24)


ดังนั้น ด้วยแสงสว่างและพลังของความเชื่อนี้เอง ในการเผชิญกับการท้าทายต่างๆ ของสภาพการณ์ยุคปัจจุบัน พระศาสนจักรกำลังตระหนักยิ่งขึ้นถึงพระพรและความรับผิดชอบ ซึ่งพระศาสนจักรได้รับมาจากพระเจ้าให้ประกาศ เฉลิมฉลองและรับใช้พระวรสารแห่งชีวิต


บทที่ 2

เรามาเพื่อให้พวกเขามีชีวิต

สารของคริสตชนเรื่องชีวิตมนุษย์


ชีวิตนั้นได้ปรากฏ และเราได้เห็น” (1 ยน 1:2) :

ตาเรามักดูพระคริสตเจ้า ผู้เป็น “พระวจนาตถ์

แห่งชีวิต”


29. เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามชีวิตมนุษย์อย่างหนัก อย่างที่เป็นอยู่ในโลกสมัยใหม่นี้ มนุษย์อาจรู้สึกหวาดหวั่นกับความไร้สมรรถภาพโดยสิ้นเชิงของตน นั่นคือ หวั่นเกรงว่าความดีอาจไม่มีพลังพอที่จะเอาชนะความชั่วได้


ณ เวลาเช่นนี้เองที่ประชากรของพระเจ้า รวมทั้งผู้มีความเชื่อทุกคนถูกเรียกให้ประกาศด้วยใจสุภาพถ่อมตนและด้วยความกล้าหาญยืนยันความเชื่อในองค์พระเยซูคริสตเจ้า ผู้เป็น “พระวจนาตถ์แห่งชีวิต” (1 ยน 1:1) พระวรสารแห่งชีวิตมิใช่เป็นเพียงการพิจารณาทบทวนในเรื่องชีวิตมนุษย์ แม้ว่าจะใหม่และลึกซึ้งเพียงใดก็ตาม อีกทั้งมิใช่เป็นเพียงบทบัญญัติที่มุ่งเพื่อปลูกสำนึกและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นในสังคมมนุษย์เท่านั้น ที่น้อยกว่านั้นก็คือ พระวรสารแห่งชีวิตมิใช่เป็นคำสัญญาลวงตาว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่านี้ด้วย พระวรสารแห่งชีวิตเป็นสิ่งที่เป็นของจริงและเป็นส่วนบุคคล เพราะเป็นการประกาศถึงองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง พระเยซูเจ้าทรงให้พระองค์ เป็นที่รู้จักแก่ท่านอัครสาวกโทมัส และในท่านโทมัสนั้นเอง พระองค์ทรงให้มนุษย์ทุกคนรู้จักพระองค์ด้วยพระวาจาที่ว่า “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:6) พระองค์ทรงตรัสถึงตัวพระองค์เองเช่นเดียวกันนี้แก่มาร์ธา น้องสาวของลาซารัสว่า “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต ใครเชื่อในเราแม้ตายไปแล้วก็จะมีชีวิต และทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเรา จะไม่มีวันตายเลย” (ยน 11:25-26) พระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์พระบุตรผู้ได้รับชีวิตจากพระบิดาแต่นิรันดร (เทียบ ยน 5:26) และเป็นผู้ที่ทรงเสด็จมาอยู่ท่ามกลางมนุษย์ เพื่อมนุษย์จะได้มีส่วนร่วมในของประทานนี้ “เรามาเพื่อให้พวกเขามีชีวิตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (ยน 10:10)


โดยทางพระวาจา โดยทางกิจการต่างๆ และโดยทางตัวพระบุคคลของพระเยซูเจ้าเอง มนุษย์ก็ได้รับโอกาสเป็นไปได้ที่จะ “รู้จัก” ความจริงครบถ้วนในเรื่องคุณค่าของชีวิตมนุษย์จาก“บ่อเกิด”นี้เองมนุษย์ได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่ความสามารถที่จะทำให้ความจริงนี้สำเร็จบริบูรณ์ไป (เทียบ ยน 3:21) กล่าวคือ ยอมรับและทำให้ความรับผิดชอบนี้สมบูรณ์ไปในการรักและรับใช้ ในการปกป้องและส่งเสริมชีวิตมนุษย์ ในองค์พระคริสตเจ้า พระวรสารแห่งชีวิตได้รับการประกาศอย่างแน่นอน และมอบให้มนุษย์อย่างครบถ้วน นี่คือ พระวรสารที่มีอยู่แล้วในการเผยแสดงของพระเจ้าในพันธะสัญญาเดิม และแท้จริงก็ถูกจารึกไว้ในใจมนุษย์ชาย-หญิงทุกคนสะท้อนก้องอยู่ในมโนธรรมของทุกคน “นับแต่แรกเริ่ม” จากเวลาเนรมิตสร้างโลกแล้ว ในลักษณะที่ว่า นอกจากเรื่องผลด้านลบของบาปแล้ว พระวรสารแห่งชีวิตก็สามารถเป็นที่รู้จักได้จากลักษณะสำคัญๆ ด้วยเหตุผลของมนุษย์เรา ดังที่สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 สอนไว้ว่าพระคริสตเจ้า “ทรงทำให้การไขแสดงของพระเจ้าสมบูรณ์ไปโดยทางการประทับอยู่ของพระองค์ และโดยทางการเผยแสดงตัวเองพระองค์ โดยทางพระวาจาและกิจการของพระองค์ด้วยเครื่องหมายและการอัศจรรย์ต่างๆ แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยทางการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์จากผู้ตาย และโดยทางการส่งพระจิตแห่งความจริงมาเป็นขั้นตอนสุดท้าย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้ทรงยืนยันด้วยการเป็นพยานในฐานะเป็นพระเจ้าถึงสิ่งที่การไขแสดงนั้นประกาศ นั่นคือ พระเจ้าทรงประทับอยู่กับเรา เพื่อช่วยเราให้พ้นจากความมืดของบาปและความตาย และเพื่อยกเราขึ้นสู่ชีวิตนิรันดร์”22


30. ฉะนั้น ด้วยการที่เราปักตาจ้องมองอยู่ที่พระเยซูเจ้า เราก็ปรารถนาจะได้ยิน “พระวาจาของพระเจ้า” (ยน 3:34) จากพระองค์อีกครั้งหนึ่ง และรำพึงถึงพระวรสารแห่งชีวิตความหมายลึกซึ้งดั้งเดิมของการรำพึงถึงสิ่งที่การไขแสดงนี้บอกเราเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์นั้น ท่านอัครสาวกยอห์นได้นำมาขึ้นต้นจดหมายฉบับแรกของท่านว่า “เราประกาศเรื่องราวเกี่ยวกับพระวจนาตถ์แห่งชีวิต ซึ่งเป็นอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม เราได้ฟัง เราได้เห็นด้วยตา เราได้เฝ้ามองและได้สัมผัสด้วยมือของเรา ชีวิตนั้นได้ปรากฏ เราได้เห็นและได้เป็นพยาน เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ถึงชีวิตนิรันดร ซึ่งอยู่กับพระบิดาและปรากฏให้เราเห็น สิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังนั้น เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย เพื่อท่านจะได้สนิทสัมพันธ์กับเรา” (1 ยน 1:1-3)


ในองค์พระเยซูเจ้า ผู้เป็น “พระวจนาตถ์ของพระเจ้า” ชีวิตนิรันดรของพระเจ้าก็ได้รับการประกาศและมอบให้มนุษย์จากการประกาศนี้และของประทานนี้เองที่ชีวิตฝ่ายกายและชีวิตฝ่ายจิตของเรา ที่ยังมีสภาพอยู่ในโลกนี้ได้รับคุณค่าและความหมายครบถ้วน เช่นนี้เองพระวรสารแห่งชีวิตจึงรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบการณ์และเหตุผลของมนุษย์ บอกเราเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตมนุษย์ โดยการยอมรับ ชำระล้างให้บริสุทธิ์ยกย่อง และนำชีวิตนี้ไปสู่ความสมบูรณ์


พระเจ้าทรงเป็นพละกำลังและบทเพลงของข้าพเจ้า พระองค์ทรงเป็นความรอดของข้าพเจ้า”(อพย 15:2) : ชีวิตเป็นสิ่งดีเสมอ


31. ในพระคัมภีร์พันธะสัญญาเดิม ได้มีการเตรียมการเพื่อสารพระวรสารเกี่ยวกับชีวิตไว้ครบถ้วนแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ต่างๆ ในหนังสืออพยพ ซึ่งเป็นศูนย์กลางประสบการณ์ความเชื่อของพันธะสัญญาเดิม ชาวอิสราเอลค้นพบว่าชีวิตมนุษย์ เป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งในสายพระเนตรของพระเจ้า เมื่อชีวิตดูเหมือนต้องประสบเคราะห์กรรมถูกทำลายล้าง เนื่องจากความตายกำลังคุกคามทารกชายที่เกิดมาของพวกตน (เทียบ อพย 1:15-22) พระเจ้าก็ทรงเผยแสดงองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดแก่ชนอิสราเอลด้วยฤทธานุภาพที่ให้ประกันอนาคตของพวกเขาที่ปราศจากความหวัง ชาวอิสราเอลจึงมารู้แน่ชัดว่า ความเป็นอยู่ของตนนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับกษัตริย์ฟาโรห์ ผู้สามารถทำลายล้างพวกเขาเมื่อไรก็ได้แล้วแต่ความพอใจแบบทรราชของพระองค์ ตรงกันข้าม ชีวิตของชนอิสราเอลนั้นเป็นของรักของหวงของพระเจ้ายิ่งนัก

การเป็นอิสระจากการเป็นทาสนั้นหมายถึงของประทานแห่งการมีเอกลักษณ์ (Identity) ของพวกเขา เป็นการรับรู้ถึงศักดิ์ศรีอันมิอาจทำลายได้และเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งในประวัติศาสตร์นี้เองที่การค้นพบพระเจ้า และการค้นพบตัวตนเองของพวกเขานั้นควบคู่กันไป เรื่องการอพยพเป็นประสบการณ์พื้นฐานและเป็นตัวต้นแบบสำหรับอนาคต โดยทางการอพยพนี้เอง ชนอิสราเอลก็เรียนรู้ว่า เมื่อไรก็ตามที่ความเป็นอยู่ของตนถูกคุกคาม พวกเขาก็จำเป็นต้องหันเข้าหาพระเจ้าด้วยความไว้วางใจเสียใหม่ เพื่อจะได้พบความช่วยเหลืออันทรงประสิทธิภาพได้ในพระองค์ผู้เดียว “เราได้ปั้นเจ้า เจ้าเป็นผู้รับใช้ของเรา โอ อิสราเอลเอ๋ย เราจะไม่ลืมเจ้าเลย” (อสย 44:21)


ฉะนั้น ในการได้มารู้จักคุณค่าของความเป็นอยู่ของตนนี้เอง ชนอิสราเอลจึงเติบโตขึ้นในการมีความเข้าใจถึงความหมายและคุณค่าของชีวิตด้วย การพิจารณาทบทวนถึงเรื่องนี้ได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษยิ่งขึ้นในวรรณกรรมพระปรีชาญาณ บนพื้นฐานจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันในเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิต และการมีความสำนึกถึงภัยคุกคามต่างๆ ที่ชีวิตมนุษย์ต้องประสบอยู่นั้น เมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้งต่างๆ ในชีวิต ความเชื่อก็ถูกท้าทายให้ต้องตอบสนอง


เหนือสิ่งอื่นใด เป็นปัญหาเรื่องความทุกข์ซึ่งท้าทายความเชื่อ และคอยทดสอบความเชื่ออยู่เสมอ เราจะไม่รู้สึกชื่นชมกับความทุกข์ของผู้คนในโลกได้อย่างไร เมื่อเรารำพึงถึงเรื่องนี้ในหนังสือโยบ? เราพอเข้าใจได้ว่า มนุษย์ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกโถมทับด้วยความทุกข์นั้นถึงกับต้องร้องออกมาด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า “ไฉนหนอ มนุษย์ผู้ทนทุกข์เวทนาอย่างนี้ ยังได้รับแสงสว่าง และผู้ที่มีใจระทมทุกข์ได้รับชีวิต ผู้คอยความตาย มันก็ไม่มา และขุดหามันมากกว่าหาสมบัติที่ซ่อนอยู่” (โยบ 3:20-21) แต่แม้เมื่อตกอยู่ในความมืดมิด ความเชื่อก็ยังมุ่งไปสู่การรับรู้ที่เปี่ยมด้วยความไว้วางใจและถวายเกียรติพระเจ้าถึง “ธรรมล้ำลึก” นี้ “ข้าพระองค์ทราบแล้วว่า ข้าพระองค์กระทำทุกสิ่งได้ และพระประสงค์ของพระองค์จะไม่ถูกขัดขวาง” (โยบ 42:2)

การไขแสดงของพระเจ้านี้ค่อยๆ เผยให้มนุษย์ได้มีความรู้เป็นครั้งแรกถึงชีวิตอมตะที่องค์พระผู้สร้างได้ทรงปลูกไว้ในใจมนุษย์ เพื่อมนุษย์จะได้รับรู้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่า “พระองค์ทรงกระทำให้สรรพสิ่งงดงามตามฤดูกาลของมัน พระองค์ทรงบรรจุนิรันดร์กาลไว้ในจิตใจของมนุษย์” (ปชญ 3:11) ความรู้ประการแรกถึงความสมบูรณ์ครบถ้วนนี้กำลังรอคอยให้ได้รับการเผยแสดงในความรัก และนำไปสู่ความสมบูรณ์โดยพระพรที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์ฟรีๆ โดยทรงให้มนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตนิรันดรของพระองค์


พระนามเยซู...ทำให้ชายผู้นี้กลับมีกำลังขึ้นมาอีก”

(กจ 3:16) : พระเยซูทรงนำความหมายของชีวิต

ไปสู่ความสมบูรณ์ในท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ

ของชีวิตมนุษย์


32.ประสบการณ์ของประชากรแห่งพันธะสัญญาถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในประสบการณ์ของ “มนุษย์ผู้ยากจนทุกคน” ที่พบปะกับพระเยซูเจ้า ชาวนาซาเร็ธผู้นี้ ดังที่พระเจ้า “ผู้ทรงรักสิ่งมีชีวิต” (เทียบ ปชญ 11:26) ได้ทรงทำให้ชนอิสราเอลเกิดความแน่ใจในท่ามกลางภยันตรายนั้น ก็เช่นเดียวกันในบัดนี้ที่พระบุตรพระเจ้าทรงประกาศแก่ทุกคนที่ถูกคุกคามและถูกขัดขวางว่า ชีวิตของพวกเขาเป็นสิ่งดีงามด้วยเช่นกัน ที่ความรักของบิดาให้ความหมายและคุณค่าต่อชีวิตนั้น


คนตาบอดกลับแลเห็น คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายจากโรค คนหูหนวกกลับได้ยิน คนตายกลับคืนชีพ คนจนได้ฟังข่าวดีที่ประกาศแก่พวกเขา” (ลก 7:22) ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ของประกาศกอิสยาห์ (เทียบ อสย 35:5-6 ; 61-1) พระเยซูเจ้าก็

ทรงให้ความหมายแห่งพันธกิจของพระองค์ นั่นคือ ผู้ที่ต้องทนทุกข์เนื่องด้วยชีวิตของตน “ด้อยค่าลง” ทางใดทางหนึ่ง ก็จะได้ฟัง “ข่าวดี” จากพระองค์ว่า พระเจ้าทรงสนพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็รู้แน่ว่า ชีวิตของตนนั้นเป็นของประทานที่ได้รับการพิทักษ์ปกปักไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดาเจ้าด้วย (เทียบ มธ 6:25-34)


พระเยซูทรงเทศน์สอนและกระทำการต่างๆ ก่อนใดหมดก็เพื่อ “คนยากจนทั้งหลาย” ฝูงชนคนป่วยและคนที่ไม่มีใครคบหาที่พากันติดตามและแสวงหาพระองค์ (เทียบ มธ 4:23-25) ได้พบการเผยแสดงให้เห็นถึงคุณค่ายิ่งใหญ่แห่งชีวิตของตนและพบวิธีที่จะสร้างความหวังในความรอดได้จากพระวาจาและกิจการต่างๆ ของพระองค์


สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นในงานพันธกิจของพระศาสนจักรนับแต่แรกเริ่มด้วยเช่นกัน เมื่อพระศาสนจักรประกาศว่า พระคริสตเจ้าเป็นผู้ที่ “เสด็จไปที่ใด ก็ทรงกระทำความดี และทรงรักษาทุกคนที่อยู่ใต้อำนาจของปีศาจ เพราะพระเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์” (กจ 10:38) พระศาสนจักรสำนึกถึงการเป็นผู้รับสารแห่งความรอด ซึ่งสะท้อนเป็นสารใหม่อยู่ท่ามกลางความทุกข์ลำบากและความยากจนของชีวิตมนุษย์ ท่านนักบุญเปโตรได้รักษาชายง่อยที่นั่งขอทานอยู่ทุกวันที่ “ประตูงาม” ของพระวิหารกรุงเยรูซาเล็ม โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีเงิน ไม่มีทอง แต่ข้าพเจ้าจะให้ท่านในสิ่งที่ข้าพเจ้ามี เดชะพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า ชาวนาซาเร็ธ จงเดินไปเถิด” (กจ 3:6) โดยความเชื่อในพระเยซู ผู้เป็น “เจ้าชีวิต” (กจ 3:15) ชีวิตนั้นที่ถูกทอดทิ้ง และร้องขอความช่วยเหลือก็ได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีคืนมาครบถ้วน


พระวาจาและกิจการต่างๆ ของพระเยซูเจ้าและวาจากับกิจการของพระศาสนจักร มิได้หมายถึงเฉพาะสำหรับผู้เจ็บป่วย หรือผู้ทุกข์ทรมานหรือผู้ถูกทอดทิ้งไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากสังคมมนุษย์เท่านั้น ณ ระดับที่ลึกซึ้งกว่า วาจาและการกระทำต่างๆ นั้นส่งผลกระทบต่อความหมายโดยตรงของชีวิตมนุษย์ทุกคน ทั้งด้านศีลธรรมและด้านชีวิตจิตด้วย ผู้ที่ยอมรับว่าชีวิตของตนเต็มไปด้วยบาปความผิดเท่านั้น จึงจะสามารถค้นพบสัจธรรมและความเป็นอยู่แท้จริงของตนได้ในการพบปะกับพระเยซู องค์พระผู้ไถ่กู้มนุษย์ พระเยซูเจ้าเองทรงตรัสว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนป่วยต้องการ เรามิได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:31-32)

แต่คนที่เป็นเหมือนเศรษฐีที่ดินในเรื่องอุปมาในพระวรสารนั้นคิดว่า ตนสามารถทำให้ชีวิตของตนมั่นคงปลอดภัยได้ด้วยการสะสมทรัพย์สมบัติเพียงอย่างเดียว เขากำลังหลอกตัวเอง ชีวิตก็หลุดลอยไปจากเขา และไม่ช้าเขาก็พบว่าตนเองต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่ไม่เคยได้ชื่นชมกับความหมายแท้จริงของชีวิตเลย “คนโง่เอ๋ยคืนนี้เขาจะเรียกเอาชีวิตเจ้าไป แล้วสิ่งที่เจ้าได้เตรียมไว้จะตกเป็นของใครเล่า” (ลก 5:12-20)


33. ในชีวิตของพระเยซูเจ้าเอง นับแต่แรกเริ่มจนวาระสุดท้าย เราพบ “การโต้แย้งกัน” (วิภาษวิธี dialectic) อย่างหนึ่ง ระหว่างประสบการณ์ความไม่แน่นอนของชีวิตมนุษย์ กับการยืนยันถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ชีวิตของพระเยซูเจ้านั้นเต็ม

ไปด้วยความไม่แน่นอนนับแต่วาระแรกที่พระองค์ถือกำเนิดมา แน่นอนที่พระองค์ได้รับการต้อนรับจากคนชอบธรรมผู้สะท้อนคำตอบรับของพระนางมารีย์ด้วยใจปิติยินดีในทันที (เทียบ ลก 1:38) แต่นับแต่แรกเริ่มก็มีการไม่ยอมรับพระองค์แล้วจากทางฝ่ายโลก ซึ่งตั้งตนเป็นอริ และค้นหาพระกุมารน้อย “เพื่อจะฆ่าเสีย” (มธ 2:13) โลกที่ยังคงทำเฉยเมย และไม่สนใจต่อธรรมล้ำลึกของชีวิตนี้ที่เข้ามาในโลก “ไม่มีที่พักสำหรับพวกเขาในโรงแรมเลย” (ลก 2:7) ในการขัดแย้งกันระหว่างการคุกคามชีวิตและความไม่ปลอดภัยด้านหนึ่ง กับพลังของของประทานจากพระเจ้านี้อีกด้านหนึ่งนั้น พระสิริซึ่งส่องแสงมาจากบ้านที่นาซาเร็ธและจากรางหญ้าที่เบ็ธเลเฮ็ม ก็ทอแสงส่องประกายเจิดจ้ายิ่ง นั่นคือ ชีวิตนี้ที่บังเกิดมา เป็นความรอดสำหรับมวลมนุษย์ทั้งหลาย (เทียบ ลก 2:11)

พระเยซูเจ้าทรงยอมรับการขัดแย้งและการเสี่ยงต่างๆ ของชีวิต “แม้ทรงร่ำรวย พระองค์ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจน เพราะเห็นแก่ท่าน เพื่อท่านจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์” (2 คร 8:9) ความยากจนที่ท่านนักบุญเปาโลกล่าวถึงนี้มิใช่หมายถึงเพียงการยอมสละศักดิ์ศรีความเป็นพระเจ้าเท่านั้น แต่ทรงมายอมรับสภาพต่ำสุดและเจ็บปวดที่สุดของชีวิตมนุษย์ด้วย (เทียบ ฟป 2:6-7) พระเยซูเจ้าทรงเจริญชีวิตยากจนเช่นนี้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายบนไม้กางเขนนั้น "พระองค์ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน เพราะเหตุนี้เอง พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นสูงส่ง และประทานพระนามให้แก่พระองค์ พระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้น" (ฟป 2:8-9) โดยการสิ้นพระชนม์พระองค์เช่นนี้เอง พระเยซูเจ้าจึงเผยแสดงถึงความสว่างสุกใสและคุณค่าของชีวิตโดยที่การพลีพระองค์เป็นเครื่องบูชาบนไม้กางเขนนั้น กลายเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตใหม่สำหรับมนุษย์ทั้งหลาย (เทียบ ยน 12:32) ในการดำเนินชีวิตของพระองค์ท่ามกลางการขัดแย้ง และการยอมสูญเสียชีวิตของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงมีความมั่นใจนี้นำทางพระองค์ว่า ชีวิตของพระองค์อยู่ในพระหัตถ์ของพระบิดาเสมอ ดังนั้น บนไม้กางเขน พระองค์จึงสามารถทูลพระบิดาได้ว่า “พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอมอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) กล่าวคือ มอบชีวิตของข้าพเจ้า คุณค่าของชีวิตมนุษย์ ต้องยิ่งใหญ่จริงๆ ในเมื่อพระบุตรพระเจ้าทรงยอมรับชีวิตนี้ และทำให้ชีวิตมนุษย์กลายเป็นเครื่องมือนำความรอดมาให้มนุษยชาติ


ผู้ที่พระองค์ทรงเรียกมา...พระองค์ทรงกำหนดให้เป็นภาพลักษณ์ของพระบุตรของพระองค์”(รม 8:28-29) :

พระสิริของพระเจ้าส่องประกายอยู่บนใบหน้าของมนุษย์


34. ชีวิตเป็นสิ่งดีเสมอ นี่เป็นการรับรู้ตามสัญชาตญาณ และเป็นข้อเท็จจริงของประสบการณ์ และมนุษย์ถูกเรียกให้มารับรู้เหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้


ทำไมชีวิตจึงเป็นสิ่งดี? คำถามนี้พบได้ทุกแห่งในพระคัมภีร์ และตั้งแต่หน้าแรกของพระคัมภีร์แล้วที่คำถามนี้ได้รับคำตอบอันทรงพลังและน่าทึ่งมาก ชีวิตที่พระเจ้าทรงประทานให้มนุษย์นั้นแตกต่างจากชีวิตของสรรพสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ มากนัก โดยที่ในฐานะเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะถูกสร้างขึ้นมาจากฝุ่นดินก็ตาม (เทียบ ปฐก 2:7 ; 3:19 ; โยบ 34:15 ; สดด 103:14 ; 104:29) มนุษย์ก็เป็นผู้เผยแสดงให้เห็นพระเจ้าในโลก มนุษย์เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงการประทับอยู่ของพระเจ้า มนุษย์เป็นภาพร่างแห่งพระสิริของพระเจ้า (เทียบ ปฐก 1:26-27 ; สดด 8:6) นี่เป็นสิ่งที่ท่านนักบุญอีเรเนอุส แห่งลิอองส์ต้องการเน้นย้ำในคำนิยามอันลือชื่อของท่านที่ว่า "มนุษย์ผู้มีชีวิตเป็นพระสิริของพระเจ้า"23 มนุษย์ได้รับศักดิ์ศรีสูงส่งที่มีพื้นฐานมาจากสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่ผูกพันมนุษย์ไว้กับองค์พระผู้สร้างเขาขึ้นมา กล่าวคือ ภาพสะท้อนถึงพระเจ้าส่องแสงอยู่ในตัวมนุษย์


หนังสือพระคัมภีร์ปฐมกาลยืนยันถึงสิ่งนี้ในสำนวนแรกที่เล่าถึงเรื่องการเนรมิตสร้างโลก เมื่อวางมนุษย์ไว้ ณ จุดสูงสุดเสมือนมงกุฎของงานเนรมิตสร้างของพระเจ้า เป็นอันดับสุดท้ายของกระบวนการซึ่งนำเอาภาพอันสับสนวุ่นวายไปสู่การเป็นสิ่งสร้างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างในการเนรมิตสร้างนั้นถูกจัดระเบียบมุ่งไปสู่มนุษย์ และทุกสิ่งถูกสร้างมาให้อยู่ภายใต้การดูแลของมนุษย์ “จงมีลูกมากและทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงเป็นนายเหนือทุกสิ่งที่มีชีวิต” (ปฐก 1:28) นี่เป็นพระบัญชาของ

พระเจ้าแก่มนุษย์ชาย-หญิง สารทำนองเดียวกันนี้ยังพบได้ในสำนวนเล่าเรื่องการเนรมิตสร้างโลกอีกสำนวนหนึ่ง “พระยาเวห์พระเจ้าทรงนำมนุษย์มาไว้ในสวนเอเดน เพื่อเพาะปลูกและดูแลสวน” (ปฐก 2:15) เราเห็นได้ ณ ที่นี้ถึงการยืนยันว่ามนุษย์เป็นนายเหนือทุกสิ่ง สรรพสิ่งถูกสร้างขึ้นมาให้อยู่ต่ำกว่ามนุษย์ และถูกมอบให้มนุษย์ดูแลรับผิดชอบ จึงไม่มีเหตุผลใดที่มนุษย์จะต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจของมนุษย์คนอื่น และเกือบจะถูกลดค่าลงเป็นแค่สิ่งของได้


จากเรื่องเล่าตามพระคัมภีร์นี้ ข้อแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งสร้างทั้งหลายนั้น ถูกแสดงให้เห็นเหนืออื่นใดจากข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์นั้นถูกนำเสนอเป็นผลอันเกิดจากการตัดสินใจเป็นพิเศษของพระเจ้า เป็นการพอพระทัยของพระเจ้าที่ทรงให้มนุษย์มีสายสัมพันธ์พิเศษเฉพาะกับองค์พระผู้สร้าง “เราจงสร้างมนุษย์ขึ้นตามภาพลักษณ์ของเรา ให้มีความคล้ายคลึงกับเรา” (ปฐก 1:26) ชีวิตที่พระเจ้ามอบให้มนุษย์ เป็นของประทานที่พระเจ้าทรงแบ่งปันบางสิ่งที่เป็นของพระองค์แก่สิ่งสร้างของพระองค์นี้


ชนอิสราเอลคงได้พิจารณาไตร่ตรองเป็นเวลายาวนานถึงความหมายของสายสัมพันธ์เฉพาะนี้ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า หนังสือพระคัมภีร์บุตรสิราก็รับรู้เหมือนกันว่า ในการสร้างมนุษย์พระเจ้า “ทรงประทานกำลังวังชาเหมือนกับของพระองค์ให้มนุษย์ และทรงเนรมิตมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์” (บสร 17:3) ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ฉบับนี้เห็นว่า ส่วนหนึ่งของการเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้านี้มิใช่เพียงการที่มนุษย์มีอำนาจปกครองโลกเท่านั้น แต่มนุษย์ยังมีคุณสมบัติฝ่ายจิตที่เป็นของมนุษย์เองโดยเฉพาะ อาทิเช่น เหตุผล การวินิจฉัยแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่ว รวมทั้งน้ำใจอิสระของมนุษย์ด้วย “พระองค์ทรงโปรดให้เขาเปี่ยมด้วยความรู้และความเข้าใจ และให้เขารู้จักความดีและความชั่ว” (บสร 17:6) ความสามารถที่จะรู้ถึงสัจธรรมและอิสรภาพนั้นเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะของมนุษย์ ในฐานะที่มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นองค์ความสัจ และองค์ความยุติธรรม (เทียบ ฉธบ 32:4) ในบรรดาสรรพสิ่งสร้างที่มองเห็นได้ มีมนุษย์ผู้เดียวเท่านั้นที่ “สามารถรู้จักและรักองค์พระผู้สร้างของตนได้”24 ชีวิตที่พระเจ้าทรงประทานให้มนุษย์นั้นเป็นมากกว่าแค่การเป็นอยู่ในกาลเวลา ชีวิตนี้เป็นการมุ่งไปสู่ชีวิตสมบูรณ์ เป็นผลของการเป็นอยู่ที่ข้ามพ้นขอบเขตจำกัดของกาลเวลา “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาให้เป็นอมตะ พระองค์ทรงสร้างเขามาตามภาพลักษณ์แห่งชีวิตนิรันดรของพระองค์” (ปชญ

2:23)


35. ตำนานยาห์วิสต์เรื่องการเนรมิตสร้างโลกก็แสดงถึงความมั่นใจเดียวกันนี้ ตำนานโบราณนี้ กล่าวถึงลมของพระเจ้าที่ทรงเป่าลมเข้าสู่มนุษย์เพื่อเขาจะได้มีชีวิต “พระเจ้าทรงเอาฝุ่นจากพื้นดินมาปั้นเป็นมนุษย์ และทรงเป่าลมแห่งชีวิตเข้ามาในจมูกของเขามนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิต” (ปฐก 2:7)


ลมแห่งชีวิตอันมีต้นกำเนิดมาจากพระเจ้านี้ช่วยอธิบายถึงความไม่สมใจอยาก (dissatisfaction) ที่มนุษย์ประสบอยู่เสมอตลอดวันเวลาที่เขามีชีวิตอยู่บนโลกนี้ เนื่องด้วยมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้า และเขาก็มีภาพลักษณ์ของพระเจ้าอันมิอาจลบออกได้ฝังแน่นอยู่ในตัวเขา มนุษย์จึงถูกดึงดูดเข้าหาพระเจ้าโดยธรรมชาติของมนุษย์เอง เมื่อมนุษย์ค้นหาความปรารถนาสุดลึกของหัวใจตน มนุษย์ทุกคนก็จำต้องนำเอาถ้อยคำแห่งความจริงของท่านนักบุญเอากุสตินมาใช้ ที่ท่านกล่าวว่า “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงสร้างเรามาเพื่อพระองค์ และหัวใจของเรามิอาจพักผ่อนได้ จนกว่าจะได้พักผ่อนอยู่ในพระองค์เท่านั้น"25


ความไม่สมใจอยากนี้เห็นได้เด่นชัดยิ่งจากชีวิตมนุษย์ในสวนเอเดน ที่มีเพียงสิ่งเดียวที่ต้องสนใจ ก็คือ โลกของพืชและสัตว์ (เทียบ ปฐก 2:20) การเกิดมีมนุษย์หญิงขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งเป็นเนื้อจากเนื้อของชายและกระดูกจากกระดูกของชาย (เทียบ ปฐก 2:23) และเป็นผู้ที่จิตของพระเจ้าองค์พระผู้สร้างอยู่ในนางจึงทำให้นางมีชีวิต จึงสามารถตอบสนองความต้องการการมีสัมพันธ์ต่อกันของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการเป็นอยู่ของมนุษย์ ในอีกบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม มีภาพสะท้อนถึงองค์พระเจ้าอยู่ในตัวผู้นั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายและความสมบูรณ์ของมนุษย์ทุกคน

ผู้นิพนธ์บทเพลงสดุดีอัศจรรย์ใจยิ่งร้องขับขานว่า“มนุษย์เป็นผู้ใดเล่าที่พระองค์ทรงระลึกถึงเขา และบุตรของมนุษย์เป็นใครเล่า ซึ่งพระองค์ทรงเยี่ยมเขา” (สดด 8:4) เมื่อเปรียบกับจักรวาลกว้างใหญ่ไพศาลนี้ มนุษย์ช่างเล็กเหลือเกิน ถึงกระนั้น ข้อแตกต่างนี้ก็เผยแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ “พระองค์ทรงสร้างเขาให้ต่ำกว่าพระเจ้าหน่อยเดียว และสวมศักดิ์ศรีกับเกียรติให้แก่เขา” (สดด 8:5) พระสิริของพระเจ้าส่องแสงอยู่บนใบหน้ามนุษย์ ในมนุษย์พระผู้สร้างทรงพบการพักผ่อนของพระองค์ ดังที่ท่านนักบุญอัมโบรซิโอกล่าววิพากษ์ไว้ด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น “ในวันที่หก พระผู้สร้างเสร็จสิ้นงานเนรมิตสร้างโลกของพระองค์ด้วยการสร้างผลงานชิ้นเอก คือมนุษย์ ผู้มีอำนาจเหนือสรรพสิ่งสร้างที่มีชีวิต และมนุษย์เป็นผลงานสุดยอดของการเนรมิตสร้างจักรวาล และเป็นความงดงามสูงสุดของสรรพสิ่งสร้างทั้งหลาย เราจึงต้องสงบนิ่งแสดงความเคารพ เพราะว่าพระเจ้าทรงพักจากงานทุกอย่างที่พระองค์ทรงกระทำในโลก พระองค์จึงทรงพักผ่อนอยู่ในที่สุดลึกของมนุษย์พระองค์ทรงพักอยู่ในจิตใจของมนุษย์ เหนืออื่นใดพระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ให้มีเหตุผล ให้มนุษย์สามารถเลียนแบบอย่างพระองค์ ให้เขาลอกเลียนคุณธรรมของพระองค์ ให้เขาปรารถนาถึงพระพรแห่งสวรรค์ พระเจ้าทรงพำนักอยู่ในของประทานของพระองค์ พระองค์ตรัสว่า ‘ที่พำนักของเราอยู่ที่ไหน ที่นี่ต่างหากที่เราจะพำนักคือในเขาผู้ถ่อมตนและสำนึกผิดในใจ และตัวสั่นเพราะคำของเรา’ (อสย 66:1-2) ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณพระเจ้าของเรา ผู้ทรงสร้างงานอันน่าอัศจรรย์ยิ่ง พระองค์ทรงพักผ่อนอยู่ในผลงานชิ้นนี้ของพระองค์”26


36.โชคไม่ดีที่แผนการอันล้ำเลิศของพระเจ้าถูกบาปเข้ามาขัดขวางในประวัติศาสตร์มนุษย์ ด้วยการทำบาปมนุษย์เป็นกบฏต่อพระเจ้าและลงท้ายด้วยการหันไปกราบไหว้สิ่งสร้าง “พวกเขาแลกความจริงของพระเจ้ากับความเท็จ และหันไปนมัสการสิ่งสร้างแทนพระผู้สร้าง” (รม 1:25) ผลก็คือมนุษย์ไม่เพียงแต่ทำให้ภาพลักษณ์พระเจ้าในตัวเขาเสียรูปร่างไปเท่านั้น แต่ถูกประจญให้ทำอันตรายต่อภาพลักษณ์นั้นในมนุษย์ผู้อื่นอีกด้วย โดยแทนที่ความสนิทสัมพันธ์กันนั้น ด้วยท่าทีของการไม่ไว้วางใจกัน การเฉยเมยต่อกัน การเป็นศัตรูกัน และการเกลียดชังเข่นฆ่ากันเมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับรู้พระเจ้าเป็นพระเจ้า ความหมายลึกซึ้งของความเป็นมนุษย์ก็ผิดเพี้ยนไป และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ก็ตกอยู่ในอันตราย


ในชีวิตของมนุษย์ ภาพลักษณ์พระเจ้าส่องแสงใหม่และถูกเผยแสดงอีกครั้งอย่างสมบูรณ์ในการเสด็จมาของพระบุตรพระเจ้าในสภาพมนุษย์ “พระคริสตเจ้าทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น” (คส 1:15) พระองค์ “ทรงเป็นรังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า และทรงเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ขององค์พระเจ้า” (ฮบ 1:3) พระองค์ทรงเป็นภาพลักษณ์สมบูรณ์ของพระบิดาเจ้า


แผนการชีวิตที่พระเจ้าทรงวางใว้ให้อาดัมมนุษย์คนแรกนั้น ในที่สุดก็พบความสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้า ในเมื่อการไม่ยอมนบนอบของอาดัมนั้นได้ทำลายและขัดขวางแผนการของพระเจ้าสำหรับชีวิตมนุษย์ และนำความตายเข้ามาในโลก การ

นบนอบของพระคริสตเจ้าที่นำการไถ่กู้มาสู่มนุษย์ ก็เป็นบ่อเกิดพระหรรษทานที่หลั่งลงมาสู่มนุษยชาติ เปิดประตูกว้างสู่อาณาจักรชีวิตให้แก่มนุษย์ทุกคน (เทียบ รม 5:12-21) ดังที่ท่านนักบุญเปาโลกล่าวไว้นั้น “อาดัมมนุษย์คนแรกถูกสร้างขึ้นมาเป็นสิ่งมีชีวิต อาดัมคนสุดท้ายเป็นจิตซึ่งประทานชีวิต” (1 คร 15:45)

ทุกคนที่อุทิศตนติดตามพระคริสตเจ้าก็ได้รับชีวิตสมบูรณ์ นั่นคือ ภาพลักษณ์ของพระเจ้าได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ ได้รับการฟื้นฟูและนำไปสู่ความสมบูรณ์ในมวลมนุษย์ แผนการของพระเจ้าสำหรับมวลมนุษย์ ก็คือ เพื่อให้มนุษย์ “เป็นรูปแบบเดียวกันกับภาพลักษณ์ของพระบุตรของพระองค์” (รม 8:29) เมื่อเป็นดังนี้เท่านั้นในแสงสว่างสุกใสของการเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้านี้เอง มนุษย์จึงจะสามารถเป็นอิสระจากการเป็นทาสของการนมัสการสิ่งอื่นเป็นพระเจ้า (idolatry) สามารถสร้างเสริมสัมพันธภาพที่สูญเสียไปนั้นขึ้นมาใหม่ และสามารถพบความเป็นเอกลักษณ์

แท้จริงของตนขึ้นมาใหม่ด้วย


ทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเราจะไม่มีวันตายเลย”

(ยน 11:26) : ของประทานแห่งชีวิตนิรันดร


37. ชีวิตที่พระบุตรพระเจ้าทรงนำมาให้มวลมนุษย์นั้นไม่อาจถูกลดค่าลงมาเป็นแค่การเป็นอยู่ในกาลเวลาได้ ชีวิตซึ่งเป็นอยู่ “ในพระองค์” และเป็นชีวิตที่เป็น “แสงสว่างสำหรับมนุษย์” (ยน 1:4) นั้น เป็นการถือกำเนิดมาจากพระเจ้าและ

เป็นการร่วมส่วนในความรักสมบูรณ์ของพระองค์ “ผู้ใดที่ยอมรับพระองค์ คือผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ประทานอำนาจให้ผู้นั้นกลายเป็นบุตรของพระเจ้า เขามิได้เกิดจากสายเลือด มิได้เกิดจากความปรารถนาตามธรรมชาติ มิได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า” (ยน 1:12-13)


บางครั้งพระเยซูเจ้าทรงตรัสถึงชีวิตที่ว่านี้โดยทรงเรียกง่ายๆ ว่า “ชีวิต” และทรงนำเสนอว่า หากมนุษย์ต้องการบรรลุถึงจุดหมายตามที่พระเจ้าทรงสร้างเขามานั้นมนุษย์ก็จำเป็นต้องเกิดจากพระเจ้า “ไม่มีใครเห็นพระอาณาจักรพระเจ้า ถ้าเขาไม่ได้เกิดใหม่” (ยน 3:3) จุดมุ่งหมายแท้จริงของพันธกิจของพระเยซูเจ้าก็คือเพื่อมอบชีวิตให้มนุษย์ กล่าวคือพระองค์ทรงเป็น “ผู้ที่ลงมาจากสวรรค์ และประทานชีวิตให้แก่โลก” (ยน 6:33) พระองค์จึงสามารถกล่าวได้จริงๆ ว่า “ผู้ที่ตามเรามา...จะมีแสงสว่างส่องชีวิต” (ยน 8:12)


ณ โอกาสอื่น พระเยซูเจ้าทรงตรัสถึง “ชีวิตนิรันดร” ในที่นี้คำคุณศัพท์ “นิรันดร” นี้บ่งบอกถึงมิติที่อยู่นอกเหนือกาลเวลา ชีวิตที่พระเยซูทรงสัญญาจะมอบให้นั้นเป็นชีวิต “นิรันดร” เพราะว่าเป็นชีวิตที่ร่วมส่วนอย่างสมบูรณ์ใน “องค์ชีวิตนิรันดร” ผู้นั้น ใครก็ตามที่เชื่อในพระเยซูและเข้าสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ก็มีชีวิตนิรันดร (เทียบ ยน 3:15 ; 6:40) เพราะเขาได้ฟังพระวาจาซึ่งเผยแสดงและสื่อสารถึงความเป็นอยู่และชีวิตสมบูรณ์ของตนจากพระเยซูเจ้า พระวาจาเหล่านี้เป็น “พระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร” ซึ่งท่านนักบุญเปโตรได้ยอมรับในการสารภาพความเชื่อของท่านว่า “พระเจ้าข้าพวกเราจะไปหาใครเล่า พระองค์มีพระวาจาแห่งชีวิตนิรันดร พวกเราเชื่อและรู้ว่าพระองค์เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” (ยน 6:68-69) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตรัสกับพระบิดาด้วยคำภาวนาแบบสงฆ์นั้น ก็ทรงประกาศถึงสิ่งที่ชีวิตนิรันดรนั้นเป็นอยู่ “ชีวิตนิรันดร คือ การรู้จักพระองค์พระเจ้าแท้จริงแต่พระองค์เดียว และรู้จักผู้ที่พระองค์ทรงส่งมาคือ พระเยซูคริสตเจ้า” (ยน 17:3) การรู้จักพระเจ้าและพระบุตรของพระองค์ คือการยอมรับเอาธรรมล้ำลึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวในความรัก คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต เข้ามาในชีวิตของตน ซึ่งเวลานี้ก็เปิดสู่ชีวิตนิรันดรแล้ว เพราะว่าชีวิตนั้นเข้าร่วมส่วนในชีวิตขององค์พระเจ้า


38. ฉะนั้น ชีวิตนิรันดรจึงเป็นชีวิตของพระเจ้าเองและในเวลาเดียวกันก็เป็นชีวิตของผู้เป็นบุตรของพระเจ้าทุกคนด้วย ในขณะที่ผู้มีความเชื่อพิจารณาไตร่ตรองถึงความจริงอันมิอาจคาดหวังได้ และมิอาจกล่าวออกมาได้นี้ ซึ่งมาสู่มนุษย์เราจาก

พระเจ้าในพระคริสตเจ้า พวกเขาก็อดไม่ได้ที่จะเต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจและขอบพระคุณพระเจ้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ พวกเขาสามารถกล่าวด้วยถ้อยคำของอัครสาวกยอห์นได้ว่า “จงดูเถิดว่า ความรักที่พระบิดาประทานให้เรานั้นยิ่งใหญ่เพียงใด เมื่อทำให้เราได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า และเราก็เป็นเช่นนั้นจริง...ท่านที่รักทั้งหลาย บัดนี้เราเป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว แต่เราจะเป็นอย่างไรในอนาคตนั้น ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง เราตระหนักดีว่า เมื่อพระองค์ทรงปรากฏ เราจะเป็นเหมือนพระองค์ เพราะเราจะได้เห็นพระองค์อย่างที่พระองค์ทรงเป็น” (1 ยน 3:1-2)


ณ ที่นี้ ความจริงแบบคริสตชนเกี่ยวกับชีวิตก็กลายเป็นสิ่งที่นำความสงบใจมาให้ ศักดิ์ศรีของชีวิตนี้ถูกเชื่อมโยงมิใช่กับชีวิตเมื่อตอนแรกเริ่ม กับความเป็นจริงที่ว่าชีวิตนี้มาจากพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับจุดหมายสุดท้ายของชีวิต คือ กับเป้าหมายของการสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในความรู้และความรักกับพระองค์ด้วย ภายใต้แสงสว่างนี้เองที่ท่านนักบุญอิเรเนอุสได้กล่าวสดุดีมนุษย์ไว้อย่างยอดเยี่ยมสมบูรณ์ที่สุดว่า “มนุษย์ผู้มีชีวิตเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” แต่ “ชีวิตของมนุษย์นั้นอยู่ที่การได้เห็นพระเจ้า”27

ผลที่ตามมาทันทีก็เกิดมาจากความจริงนี้สำหรับชีวิตมนุษย์ในสภาพที่อยู่บนโลก ที่ชีวิตนิรันดรก็เริ่มต้นและเจริญเติบโตจากชีวิตเช่นว่านี้แล้ว แม้ว่าโดยสัญชาตญาณมนุษย์ก็รักชีวิต เพราะชีวิตเป็นสิ่งดี ความรักนี้ก็พบกับพลังและแรงบันดาลใจ พบกับลมหายใจและความลึกซึ้งใหม่ในมิติความดีที่มาจากพระเจ้า ในทำนองเดียวกันความรักที่มนุษย์ทุกคนมีต่อชีวิต ก็ไม่อาจถูกลดค่าลงมาเป็นแค่ความปรารถนาที่จะมีที่ว่างพอ เพียงเพื่อการแสดงออกของตน และเพื่อเข้าสู่การมีความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นเพียงเท่านั้น แต่น่าจะเป็นว่า ชีวิตนั้นพัฒนาก้าวหน้าไปด้วยความตระหนักยินดีว่าชีวิตนี้กลายมาเป็น “สถานที่” ซึ่งพระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์เอง ที่เราจะได้พบกับพระองค์ และเข้าสู่ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์มากกว่า ชีวิตที่พระเยซูเจ้านำมาให้มนุษย์นั้นมิได้ลดคุณค่าการเป็นอยู่ของเรามนุษย์ในกาลเวลาลงไปเลย ชีวิตที่พระองค์มอบให้นั้นนำชีวิตมนุษย์นี้มุ่งไปสู่เป้าหมายสุดท้ายชีวิต กล่าวคือ “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต...ทุกคนที่มีชีวิตและเชื่อในเรา จะไม่มีวันตายเลย” (ยน 11:25-26)


เราจะลงโทษมนุษย์ที่ได้ฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

(ปฐก 9:5) : การให้ความเคารพรักต่อชีวิตมนุษย์

ทุกชีวิต


39. ชีวิตมนุษย์มาจากพระเจ้า ชีวิตนี้เป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นภาพลักษณ์และรอยประทับของพระเจ้าในมนุษย์ เป็นการร่วมส่วนในลมหายใจแห่งชีวิตของพระเจ้า ดังนั้น พระเจ้าจึงเป็นเจ้าของชีวิตแต่พระองค์เดียว มนุษย์ไม่สามารถทำอะไรกับชีวิตตามใจปรารถนาของตนได้ พระเจ้าเองทรงตรัสถึงเรื่องนี้

ไว้อย่างชัดเจนแก่โนอาห์หลังน้ำท่วมใหญ่นั้นว่า “ถ้าผู้ใดหลั่งโลหิตของมนุษย์ เราจะมาทวงชีวิตของเขา... และจะลงโทษมนุษย์ที่ได้ฆ่าเพื่อนมนุษย์ของตน” (ปฐก 9:5) พระคัมภีร์ตอนนี้ต้องการเน้นว่าชีวิตมนุษย์นั้นช่างศักดิ์สิทธิ์เพียงใด เพราะมีรากฐานอยู่ในพระเจ้าและในกิจการเนรมิตสร้างของพระองค์ “เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์” (ปฐก 9:6)


ชีวิตของมนุษย์และความตายของมนุษย์อยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า อยู่ในอำนาจของพระองค์ ท่านโยบร้องออกมาว่า “ชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ทั้งลมหายใจของมนุษย์ทั้งปวง” (โยบ 12:10) “พระเจ้าทรงนำไปสู่ความตายและทรงนำไปสู่ชีวิต พระองค์ทรงนำลงไปถึงแดนคนตาย และก็

นำขึ้นมา” (1 ซมอ 2:6) พระองค์ผู้เดียวสามารถตรัสได้ว่า “เราผู้เดียวเป็นผู้ประทานความตายและประทานชีวิต” (ฉธบ 32:39)


แต่พระเจ้ามิได้ทรงใช้อำนาจนี้ตามอำเภอใจและในแบบที่คุกคามมนุษย์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของความรักและความเอาใจใส่ที่พระองค์ทรงมีต่อสรรพสิ่งสร้างของพระองค์ ถ้าเป็นความจริงที่ว่าชีวิตมนุษย์นี้อยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า ก็เป็นความจริงไม่น้อยไปกว่านั้นที่ว่าพระหัตถ์นี้เป็นพระหัตถ์แห่งความรัก เหมือนอยู่ในมือของมารดาซึ่งยอมรับเลี้ยงดู และคอยปกป้องบุตรของตน “ข้าพระองค์ได้สงบและระงับจิตใจของข้าพระองค์อย่างเด็กที่หย่านมแล้วสงบอยู่ที่อกมารดาของตน จิตใจของข้าพระองค์สงบอยู่ภายในข้าพระองค์” (สดด 131:2 ; เทียบ อสย 49:15 ; 66:12-13 ; ฮชย 11: 4) ชนอิสราเอลจึงไม่พบในประวัติศาสตร์ของชนชาติอื่นทั้งหลาย และในชะตากรรมของตนเอง ซึ่งผลอันเกิดมาจากเหตุบังเอิญหรือโชคชะตาแบบบอดมืด แต่กลับพบผลอันมาจากแผนการเปี่ยมด้วยความรักที่พระเจ้าทรงนำศักยภาพต่างๆ ของชีวิตมารวมกัน และทรงขัดขวางอำนาจความตายอันเกิดจากบาป “ความตายมิได้มาจากพระเจ้า และพระองค์ก็ไม่ทรงพอพระทัยให้ผู้มีชีวิตต้องตายไป เหตุว่าพระองค์ทรงเนรมิตทุกสิ่งให้ดำรงอยู่” (ปชญ 1:13-14)


40. ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตก่อให้เกิดการห้ามละเมิดชีวิต ซึ่งจารึกอยู่ในใจมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่ม แล้วในมโนธรรมของเขา คำถามที่ว่า “ท่านทำอะไรงลงไป?” (ปฐก 4:10) ซึ่งพระเจ้าทรงตรัสถามกาอินหลังจากที่เขาฆ่าอาแบลน้องชายนั้น มีความหมายต่อประสบการณ์ของมนุษย์ทุกคน กล่าวคือ ณ ส่วนลึกสุดของมโนธรรม มนุษย์ถูกเตือนอยู่เสมอมิให้ล่วงละเมิดชีวิต-ทั้งชีวิตของตนเองและชีวิตของผู้อื่น-อันเป็นสิ่งที่มิใช่เป็นของของเขา เพราะชีวิตเป็นสมบัติของพระเจ้า และเป็นของประทานของพระเจ้าองค์พระผู้สร้าง และพระบิดา


บทบัญญัติที่ห้ามการล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์นั้นสะท้อนก้องอยู่ในใจมนุษย์ถึง “บทบัญญัติสิบประการ” ในพันธสัญญา

แห่งภูเขาซีนายนั้น (เทียบ อพย 34:28) ในตอนแรก บทบัญญัตินั้นห้ามการฆ่าคน “อย่าฆ่าคน” (อพย 20:13) “อย่าประหารผู้บริสุทธิ์หรือผู้ชอบธรรม” (อพย 23:7) แต่ในการออกกฎหมายภายหลังของชนอิสราเอล บทบัญญัตินี้ยังห้ามการทำร้ายใดที่

กระทำต่อบุคคลอื่นด้วย (เทียบ อพย 21:12-27) แน่นอนเราต้องรู้ด้วยว่าในพระคัมภีร์พระธรรมเดิมนั้น สำนึกถึงคุณค่าของชีวิต แม้ว่าจะปรากฏค่อนข้างชัดเจนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นยอดเยี่ยมแบบที่พบได้ในคำเทศนาบนภูเขานั้น นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นบางด้านในเรื่องการออกกฎหมายกำหนดบทลงโทษในยุคนี้ที่ให้มีกาลงโทษทางกายรุนแรงหลายรูปแบบและถึงขั้นให้มีโทษประหารชีวิตด้วย แต่สารโดยรวมที่พระคัมภีร์พระธรรมใหม่จะนำไปสู่ความสมบูรณ์นั้น เป็นการเรียกร้องอย่างแข็งขันให้เคารพต่อการห้ามละเมิดชีวิตฝ่ายร่างกาย และให้เคารพต่อบูรณภาพของบุคคล

มนุษย์ด้วย บทบัญญัติด้านบวกบังคับให้เราต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนบ้านเหมือนรับผิดชอบต่อตนเอง “ท่านจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (ลนต 19:18)


41. บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” ที่รวมถึงคำสั่งอันแสดงออกมาเต็มที่ทางด้านบวกให้รักเพื่อนบ้านของตนนั้น ได้รับการยืนยันอย่างแข็งขันอีกครั้งจากพระเยซูเจ้าเอง เมื่อเศรษฐีหนุ่มผู้นั้นทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์ข้าพเจ้าต้องทำความดีอะไร เพื่อจะมีชีวิตนิรันดร” พระเยซูเจ้าทรงตอบเขาว่า “ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด” (มธ 19:16-17) แล้วพระเยซูเจ้าทรงอ้างบทบัญญัติประการนี้เป็นข้อแรก คือ “อย่าฆ่าคน” (มธ 19:18) ในคำเทศนาบนภูเขาพระเยซูทรงเรียกร้องบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้มีความชอบธรรมที่เหนือกว่าความชอบธรรมของพวกธรรมาจารย์ และชาวฟาริสี ในเรื่องการมีความเคารพต่อชีวิตด้วย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคนผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่าทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องก็จะต้องขึ้นศาล (มธ 5:21-22)


โดยทางพระวาจาและกิจการต่างๆ ของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยถึงข้อเรียกร้องด้านบวกของบทบัญญัติอันเกี่ยวกับการห้ามล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์ ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ถูกนำเสนออยู่แล้วในพันธะสัญญาเดิม ซึ่งการออกกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของการป้องกัน และปกป้องชีวิตที่อยู่ในสภาพอ่อนแอ และถูกคุกคามในกรณีเป็นคนต่างชาติ หญิงม่าย ลูกกำพร้า คนป่วย และคนยากจนทั่วไป รวมทั้งเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาด้วย (เทียบ อพย 21:22 ; 22:20-26) ข้อเรียกร้องด้านบวกเหล่านี้ได้รับแรงผลักดันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องปฏิบัติจากพระเยซูเจ้า และได้รับการเผย

แสดงทั้งมิติด้านกว้างและด้านลึกด้วย คือ นับแต่การเอาใจใส่ดูแลชีวิตของเพื่อนมนุษย์ของตน (ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิต คนที่เป็นเชื้อชาติเดียวกันกับตน หรือคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินอิสราเอล ก็ตาม) ไปจนถึงให้ความสนใจต่อคนแปลกหน้า ถึงขั้นที่จะต้องรักศัตรูของตนด้วย

คนแปลกหน้ามิใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไปสำหรับผู้ที่กลายมาเป็นเพื่อนมนุษย์กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งหลาย ถึงขั้นที่เขายอมรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้นั้น ดังที่แสดงให้เห็นชัดในเรื่องอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีนั้น (เทียบ ลก 10:25-37) แม้กระทั่งผู้เป็นศัตรู ก็ไม่เป็นศัตรูอีกต่อไปสำหรับผู้ที่จะต้องรักเขา (เทียบ มธ 5:38-48 ; ลก 6:27-35) “ทำดี” ต่อเขา (เทียบ ลก 6:27,33,35) และตอบสนองความต้องการของเขาผู้นั้นในทันที โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน (เทียบ ลก 6:34-35) ความรักขั้นสูงสุดนี้ก็คือสวดภาวนาให้ผู้เป็นศัตรูของตน โดยการกระทำดังนี้ เราก็ปฏิบัติสอดคล้องกับความรักของพระเจ้าที่คอยดูแลเอาใจใส่มนุษย์ “แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า จงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาพระเจ้าสวรรค์ พระองค์โปรดให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ขึ้นเหนือคนดีและคนชั่ว

โปรดให้ฝนตกเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม” (มธ 5:44-45 ; เทียบ ลก 6:28-35)


ฉะนั้นสาระสำคัญอันลึกซึ้งที่สุดของบทบัญญัติของพระเจ้าที่ให้ปกป้องชีวิต ก็คือ ข้อเรียกร้องให้เรามีความเคารพรักต่อบุคคลมนุษย์ทุกคนและต่อชีวิตของเขาด้วย นี่เป็นคำสั่งสอนของท่านอัครสาวกเปาโล ที่สะท้อนพระวาจาของพระเยซูเจ้ามาใช้อบรมคริสตชนที่กรุงโรมว่า “พระบัญญัติกล่าวว่าอย่าผิดประเวณี อย่าฆ่าคน อย่าลักขโมย อย่าโลภ และถ้ามีบทบัญญัติอื่นอีก ก็สรุปได้ในข้อความนี้ว่าจงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน” (รม 13:9-10)


จงมีลูกมาก และทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน”

(ปฐก 1:28) : ความรับผิดชอบที่มนุษย์ต้องมีต่อชีวิต


42. การปกป้องและส่งเสริมชีวิต การแสดงความเคารพรักต่อชีวิต เป็นภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบแก่มนุษย์ทุกคน โดยทรงเรียกเขาเป็นภาพลักษณ์ที่มีชีวิต เพื่อให้มนุษย์เข้ามาร่วมส่วนในการเป็นนายปกครองโลกร่วมกับพระองค์ “จงมีลูกมาก และ

ทวีจำนวนขึ้นจนเต็มแผ่นดิน จงปกครองแผ่นดิน จงเป็นนายเหนือปลาในทะเล นกในอากาศ และสัตว์ทุกชนิดที่เคลื่อนไหวอยู่บนแผ่นดิน” (ปฐก 1:28)


พระคัมภีร์ตอนนี้แสดงให้เห็นชัดถึงมิติด้านกว้างและด้านลึกของการเป็นนายปกครองโลกซึ่งพระเจ้าทรงมอบให้มนุษย์ ก่อนอื่นหมด เป็นเรื่องของการที่มนุษย์เป็นนายปกครองเหนือผืนแผ่นดินและสรรพสิ่งที่มีชีวิต ดังที่หนังสือพระคัมภีร์พระ

ปรีชาญาณกล่าวไว้ชัดเจนว่า “ข้าแต่พระเจ้าของบรรพบุรุษพระผู้ทรงเมตตา...ทรงปั้นมนุษย์ด้วยพระปรีชาญาณ เพื่อให้มนุษย์ครอบครองสรรพสัตว์ที่มาจากพระหัตถ์ของพระองค์ เพื่อให้ปกครองโลกด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ยุติธรรม และพิพากษาด้วยใจเที่ยงธรรม” (ปชญ 9:1,2-3) ผู้ขับเพลงสดุดีก็สรรเสริญความเป็นเจ้านายนี้ที่ถูกมอบให้มนุษย์ เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งถึงเกียรติและศักดิ์ศรีที่มนุษย์ได้รับจากองค์พระผู้สร้าง “พระองค์ทรงมอบอำนาจให้ครอบครองบรรดาหัตถกิจของพระองค์ พระองค์ทรง

ให้สิ่งทั้งปวงอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเขา คือฝูงแกะและฝูงวัวทั้งสิ้น และสัตว์ป่าทั้งหลายด้วย ตลอดทั้งนกในอากาศ ปลาในทะเล และอะไรต่างๆ ที่ไปมาอยู่ตามทะเล” (สดด 8:6-8)


ในฐานะที่มนุษย์ถูกเรียกให้มาเพาะปลูกและดูแลสวนของโลกนี้ (เทียบ ปฐก 2:15) มนุษย์จึงมีความรับผิดชอบพิเศษต่อสภาวะแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่นั้น รับผิดชอบต่อสิ่งสร้างที่พระเจ้าทรงมอบไว้เพื่อให้รับใช้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ รับใช้ชีวิตของมนุษย์ มิใช่เพื่อชนยุคปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่เพื่อชนรุ่นหลังในอนาคตด้วย มันเป็นเรื่องระบบนิเวศ-นับตั้งแต่เรื่องการพิทักษ์แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดต่างๆ และของรูปแบบชีวิตอื่นๆ ไปจนถึง “ระบบนิเวศของมนุษย์” โดยตรง28- ซึ่งในพระคัมภีร์ก็พบคำแนะนำด้านจริยธรรมอันเข้มแข็งที่นำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการ

ให้ความเคารพต่อความดีงามยิ่งใหญ่ของชีวิตทุกชีวิต อันที่จริง “การเป็นเจ้านายปกครองที่องค์พระผู้สร้างทรงประทานแก่มนุษย์นั้นมิใช่เป็นอำนาจเด็ดขาด อีกทั้งไม่อาจกล่าวถึงเรื่องอิสรภาพในการ ‘ลองผิดลองถูก’ หรือจัดการสิ่งต่างๆ ตามใจชอบของตนได้ ข้อจำกัดที่องค์พระผู้สร้างเองทรงกำหนดให้มนุษย์นับแต่แรกเริ่ม และแสดงออกทางสัญลักษณ์ด้วยการห้ามกินผลไม้จากต้นไม้ต้นนั้น (เทียบ ปฐก 2:16-17) แสดงให้เห็นชัดพอแล้วว่า เมื่อกล่าวถึงโลกธรรมชาติ มนุษย์มิเพียงต้องอยู่ภายใต้กฎชีววิทยาเท่านั้น แต่ยังต้องอยู่ภายใต้กฎศีลธรรมด้วย ที่เรามนุษย์ไม่อาจละเมิดกฎเหล่านั้นได้โดยมิต้องถูกลงโทษ”29


43. การที่มนุษย์มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้านายของพระเจ้านั้น เห็นได้ชัดในเรื่องความรับผิดชอบพิเศษต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับมอบมาให้รับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์เป็นความรับผิดชอบนี้ขึ้นถึงจุดสุดยอดในการมอบชีวิตของตนโดยการที่มนุษย์ชาย-หญิงที่แต่งงานกันให้กำเนิดมนุษย์ ดังที่สภาพพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 สอนเราว่า “พระเจ้าเองเป็นผู้ตรัสว่า ‘มนุษย์อยู่เพียงคนเดียวนั้นไม่ดีเลย’ (ปฐก 2:18) และพระองค์ ‘ผู้ทรงสร้างมนุษย์แต่แรกเริ่มเป็นชายและหญิง’ (มธ 19:4) ทรงปรารถนาจะแบ่งปันการมีส่วนร่วมพิเศษในงานเนรมิตสร้างของพระองค์กับมนุษย์ พระองค์จึงทรงอวยพรมนุษย์ชาย-หญิง นั้นว่า ‘จงมีลูกมาก และทวีจำนวนขึ้น’” (ปฐก 1:28)30

เมื่อกล่าวถึง “การมีส่วนร่วมเป็นพิเศษ” ของมนุษย์ชาย--หญิงใน “งานเนรมิตสร้าง” ของพระเจ้าสภาพพระสังคายนาฯ ก็ต้องการชี้ให้เห็นว่า การให้กำเนิดบุตรนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เป็นของมนุษย์โดยลึกซึ้งและเต็มด้วยความหมายด้านศาสนา ตราบเท่าที่การให้กำเนิดนี้เกี่ยวพันระหว่างสามีภรรยาทั้งสองนี้ซึ่ง “รวมเป็นเนื้อเดียวกัน” (ปฐก 2:24) กับพระเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ด้วย ดังที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในพระสมณสารถึงครอบครัวทั้งหลายว่า “เมื่อมนุษย์คนใหม่ถือกำเนิดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยา เขาก็นำเอาภาพลักษณ์คล้ายคลึงกับพระเจ้าโดยเฉพาะเข้ามาในโลกนี้ด้วยต้นกำเนิดของบุคคลมนุษย์นั้นถูกสลักอยู่ในชีววิทยาของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ในการกล่าวว่าคู่สามีภรรยาในฐานะเป็นพ่อแม่ ร่วมมือกับพระเจ้าองค์พระผู้สร้างในการปฏิสนธิ และให้กำเนิดมนุษย์คนใหม่ขึ้นมานั้น เรามิได้กล่าวถึงเพียงแต่เรื่องกฎทางชีววิทยาเท่านั้น เราต้องการจะเน้นย้ำว่าพระเจ้าเองทรงประทับอยู่ในการเป็นพ่อ เป็นแม่นั้น ซึ่งแตกต่างจากที่พระองค์ทรงประทับอยู่ในการกำเนิดของสิ่งอื่นๆ ‘บนโลก’ อันที่จริงพระเจ้าผู้เดียวทรงเป็นบ่อเกิดของ ‘ภาพลักษณ์และความคล้ายคลึง’ นั้น ที่เป็นของมนุษย์โดยเฉพาะ ดังที่มนุษย์ได้รับตั้งแต่แรกเนรมิตสร้างมนุษย์ขึ้นมานั้น การให้กำเนิดมนุษย์ถือเป็นงานต่อเนื่องการเนรมิตสร้างของพระเจ้า”31


นี่เป็นสิ่งที่พระคัมภีร์สอนเราโดยใช้ภาษาตรงๆ และสื่อความหมายได้ดี เมื่อเล่าถึงเสียงร้องแสดงความดีใจของสตรีคนแรกผู้เป็น “มารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย” (ปฐก 3:20) โดยที่ตระหนักว่าพระเจ้าทรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นางเอวาจึงร้องออกมาว่า “ดิฉันได้ลูกชายมาเดชะพระเจ้า” (ปฐก 4:1) ฉะนั้นในการให้กำเนิดมนุษย์โดยทางการมอบผ่านชีวิตจากพ่อแม่ไปสู่บุตรของตนภาพลักษณ์และความคล้ายคลึงของพระเจ้าก็ถูกส่งผ่านไปสู่บุตร เนื่องจากพระเจ้าทรงสร้างวิญญาณมนุษย์ให้เป็นอมตะ32 หนังสือลำดับเชื้อสายของอาดัมเริ่มต้นดังนี้ “เมื่อพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ พระองค์ทรงสร้างเขาให้เหมือนพระเจ้า ทรงสร้างเขาเป็นชายและหญิง และเมื่อทรงสร้างแล้ว พระองค์ทรงอวยพรเขา ทรงเรียกเขาว่า ‘มนุษย์’ เมื่ออาดัมอายุหนึ่งร้อยสามสิบปี เขามีบุตรเหมือนเขาตามภาพลักษณ์ของตน ตั้งชื่อบุตรว่า ‘เสท’” จากบทบาทของคู่สามีภรรยในฐานะเป็นผู้ร่วมงานกับพระเจ้า ผู้ทรงมอบผ่านภาพลักษณ์ของพระองค์เองให้แก่มนุษย์คนใหม่นี้เอง ที่เราเห็นความยิ่งใหญ่ของคู่สามีภรรยาผู้พร้อมที่จะ “ร่วมมือกับความรักขององค์พระผู้สร้าง และพระผู้ไถ่กู้มนุษย์ ผู้จะทรงช่วยขยายและเสริมสร้างครอบครัวของพระองค์โดยทางคู่สามีภรรยาวันแล้ววันเล่า”33 นี่จึงเป็นเหตุให้พระสังฆราชอัมฟิโลกิอุสกล่าวชื่นชมว่า “การสมรสเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก เป็นของประทานที่ถูกเลือกสรรและถูกยกให้สูงค่ากว่าของประทานอื่นใดทั้งสิ้นในโลกนี้ ของประทานนี้คือการให้กำเนิดมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้สร้างภาพลักษณ์ของ

พระเจ้า”34


ฉะนั้น มนุษย์ชาย-หญิงที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในการสมรส ก็กลายเป็นหุ้นส่วนในภารกิจของพระเจ้า กล่าวคือ โดยทางการให้กำเนิดมนุษย์ ของประทานของพระเจ้าก็ได้รับการยอมรับ และชีวิตใหม่ชีวิตหนึ่งก็เปิดสู่อนาคต

แต่ทว่านอกเหนือจากพันธกิจพิเศษในการเป็นพ่อแม่นี้แล้ว ภารกิจของการยอมรับและรับใช้ชีวิตก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน และภารกิจต่อชีวิตมนุษย์จะต้องสำเร็จสมบูรณ์ไปเป็นต้น เมื่อชีวิตนี้อ่อนแอที่สุด พระคริสตเจ้าเองเป็นผู้เตือนเราถึงเรื่องนี้ เมื่อเราถูกเรียกร้องให้รักและรับใช้พระองค์ในเพื่อนมนุษย์ชาย-หญิง ผู้กำลังทุกข์ทรมานไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ กล่าวคือ คนที่หิว คนที่กระหาย คนแปลกหน้า คนที่ไม่มีเสื้อผ้า คนเจ็บป่วย คนที่ถูกขังคุก... สิ่งที่ท่านทำต่อคนเหล่านี้แต่ละคน ท่านทำต่อพระคริสตเจ้าเอง (เทียบ มธ 25:31-46)

เพราะพระองค์ทรงปั้นส่วนภายในของข้าพระองค์”

(สดด 139:13) : ศักดิ์ศรีของเด็กที่ยังไม่เกิดมา


44. ชีวิตมนุษย์พบตัวเองบาดเจ็บที่สุด เมื่อชีวิตนั้นเข้ามาในโลก กับเมื่อชีวิตต้องจากโลกนี้ไปตามกาลเวลา เพื่อเข้าสู่นิรันดรภาพ พระวาจาของพระเจ้ามักจะเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มนุษย์ ดูแลเอาใจใส่และเคารพชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชีวิตนั้นต้องอ่อนแอลงเพราะความเจ็บป่วยหรือเพราะวัยชราแม้ว่าจะไม่มีเสียเรียกร้องชัดแจ้งโดยตรงให้ปกป้องชีวิตมนุษย์ตอนช่วงแรก เป็นต้นชีวิตที่ยังไม่ถือกำเนิดมา และชีวิตช่วงใกล้วาระสุดท้ายก็ตาม สิ่งนี้ก็สามารถอธิบายได้ง่ายๆ โดยข้อเท็จจริงที่ว่าความเป็นไปได้ที่จะทำร้าย ทำลายชีวิต หรือปฏิเสธไม่ยอมรับชีวิตในสภาพการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่เลยในความคิดทั้งด้านศาสนาและวัฒนธรรมของประชากรของพระเจ้า


ในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม การไม่มีบุตรถือเสมือนเป็นคำสาป ในขณะที่การมีบุตรมากถือเป็นการอวยพรจากพระเจ้า“บุตรทั้งหลายเป็นมรดกจากพระเจ้า ผลิตผลของครรภ์นั้น เป็นรางวัล” (สดด 127:3 ; เทียบ สดด 128:3-4) ความเชื่อเช่นนี้มีพื้นฐานมาจากการที่ชนอิสราเอลตระหนักถึงการเป็นประชากรแห่งพันธสัญญา ที่ได้รับการเรียกให้ทวีมากขึ้นตามคำสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำไว้กับท่านอับราฮัมว่า “จงมองดูท้องฟ้า นับจำนวนดวงดาวเถิด ถ้าท่านนับได้...ลูกหลานของท่านจะมีจำนวนมากมายเช่นนี้” (ปฐก 15:5) แต่เหนืออื่นใดที่เห็นได้เด่นชัด ณ ที่นี้ก็คือ ความแน่ใจที่ว่าชีวิตที่พ่อแม่ถ่ายทอดมาสู่บุตรนั้นมีต้นกำเนิดในพระเจ้า เราเห็นสิ่งนี้ได้รับการยืนยันในพระคัมภีร์หลายตอน ซึ่งกล่าวด้วยความเคารพรักถึงการปฏิสนธิ ถึงการที่ชีวิตหนึ่งเติบโตเป็นรูปร่างขึ้นมาในครรภ์มารดา ถึงการให้กำเนิดบุตร และถึงการเกี่ยวพันใกล้ชิดระหว่าง ณ ขณะจิตนั้นที่เกิดเป็นชีวิตมนุษย์ขึ้นมากับการกระทำการของพระเจ้าองค์พระผู้สร้าง


เราได้รู้จักเจ้า ก่อนที่เราได้ก่อสร้างตัวเจ้าที่ในครรภ์ และก่อนที่เจ้าคลอดจากครรภ์ เราก็ได้เจิมเจ้า” (ยรม 1:5) นั่นคือ ชีวิตของมนุษย์ทุกคน นับแต่แรกเริ่ม ก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระเจ้าแล้ว จากความรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ อยู่ภายใน ท่านโยบ

จึงหยุดพิศเพ่งดูผลงานของพระเจ้าผู้ทรงปั้นร่างกายของท่านขึ้นมาในครรภ์มารดา ท่านจึงพบเหตุผลที่ทำให้ท่านวางใจในพระเจ้า แล้วท่านก็แสดงความเชื่อนั้นออกมาว่าพระเจ้าทรงมีแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตของท่าน “พระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์ และบัดนี้พระองค์ทรงหันมาทำลายข้าพระองค์ ขอทรงระลึกว่า พระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์ด้วยดิน พระองค์จะทรงนำข้าพระองค์ให้กลับเป็นผงคลีดินหรือ พระองค์มิได้ทรงเทพระองค์ให้แข็งเหมือนเนยแข็งหรือ พระองค์ทรงห่มข้าพระองค์ไว้ด้วยหนังและเนื้อ และทรงสนข้าพระองค์ด้วยกระดูกและเส้นเอ็น พระองค์ทรงประทานชีวิตและความรักมั่นคงแก่ข้าพระองค์ และความดูแลรักษาของพระองค์ได้สงวนจิตวิญญาณของข้าพระองค์ไว้” (โยบ 10:8-12) การแสดงออกถึงความหวาดหวั่นและความอัศจรรย์ใจต่อการที่พระเจ้าทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในครรภ์มารดานั้นมีขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในบทเพลงสดุดีทั้งหลาย35

ใครจะสามารถคิดไปได้อย่างไรกันว่า องค์พระผู้สร้างจะทรงยอมให้กระบวนการแม้แค่แวบหนึ่งของการเปิดรับชีวิตมนุษย์ แยกจากการกระทำการอันเปี่ยมด้วยพระปรีชาญาณและความรักของพระองค์ไปได้ และปล่อยให้เป็นไปตามใจชอบของมนุษย์ มารดาของบุตรทั้งเจ็ดนั้นไม่คิดเช่นนี้แน่ นางประกาศความเชื่อของนางในพระเจ้าผู้เป็นทั้งบ่อเกิดและผู้ประกันชีวิตนั้นนับแต่เริ่มปฏิสนธิ และทรงวางรากฐานความหวังแห่งชีวิตใหม่

หลังความตายไว้แล้ว “แม่ไม่รู้ว่าเจ้ามาปฏิสนธิในครรภ์ของแม่ได้อย่างไร ไม่ใช่แม่ที่ให้เจ้าหายใจได้และมีชีวิต หรือจัดธาตุต่างๆ ที่ประกอบเป็นตัวลูกขึ้นมา ฉะนั้นพระเจ้าผู้สร้างโลกเป็นผู้ให้มนุษย์ทุกคนเกิดมา พระเจ้าจะเมตตาประทานลมหายใจและชีวิตคืนให้ลูก ก็เพราะลูกไม่นึกถึงตัวเอง แต่เห็นแก่บทบัญญัติของพระองค์” (2 มคบ 7:22-23)


45.การเผยแสดงทางพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ยืนยันการรับรู้อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ถึงคุณค่าชีวิตมนุษย์นับแต่แรกเริ่มชีวิตนั้น การยกย่องการมีบุตรและความหวังรอคอยอย่างใจจดจ่อถึงชีวิตนั้นสะท้อนออกมาทางคำแสดงความชื่นชมยินดีของนางเอลิซาเบ็ธในการตั้งครรภ์ของนางเองว่า “พระเจ้าทรงทำเช่นนี้เพื่อข้าพเจ้า...พระองค์ทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากความอับอายที่ข้าพเจ้ามีต่อหน้าคนทั้งหลายแล้ว” (ลก 1:25) และยิ่งกว่านั้นคุณค่าของบุคคลมนุษย์ตั้งแต่แรกปฏิสนธิก็ได้รับการเฉลิมฉลองในการพบกันระหว่างพระนางพรหมจารีมารีย์กับนางเอลิซาเบ็ธ และระหว่างทารกน้อยสองคนที่นางทั้งสองอุ้มไว้ในครรภ์นั้น เป็นทารกน้อยทั้งสองนี้เองที่เผยแสดงการมาถึงของยุคพระเมสสิยาห์ กล่าวคือ ในการพบกันนั้น พลังไถ่กู้แห่งการประทับอยู่ของพระบุตรพระเจ้าท่ามกลางมนุษย์ก็ทำงานเป็นครั้งแรก ดังที่ท่านนักบุญอัมโบรซิโอเขียนไว้ดังนี้ “การมาถึงของพระนางมารีย์และพระพรแห่งการประทับอยู่ของพระเจ้านั้นได้รับการประกาศโดยพลัน...นางเอลิซาเบ็ธเป็นคนแรกที่ได้ยินเสียงประกาศนี้ แต่ทารกยอห์นเป็นคนแรกที่สัมผัสกับพระหรรษทาน นางเอลิซาเบ็ธได้ยินเสียงนั้นตามระเบียบของธรรมชาติ ส่วนทารกยอห์นโลดเต้น เนื่องจากพระธรรมล้ำลึก นางเอลิซาเบ็ธรับรู้การมาถึงของพระนางมารีย์ ส่วนทารกยอห์นรับรู้การมาถึงขององค์พระเจ้าสตรีผู้นั้นรับรู้การมาถึงของสตรีอีกผู้หนึ่ง ส่วนทารกยอห์นรับรู้การมาถึงของทารกน้อยอีกท่านหนึ่ง สตรีทั้งสองกล่าวถึงพระหรรษทาน ส่วนทารกน้อยทั้งสองนั้นทำให้พระหรรษทานเกิดผลดีงามจากภายในแก่มารดาทั้งสองของตน ซึ่งโดยการอัศจรรย์สองต่อนี้ นางทั้งสองก็ได้กล่าวคำทำนายภายใต้การดลใจจากบุตรของนาง ทารกนั้นโลดเต้นยินดี ส่วนมารดาก็เปี่ยมด้วยพระจิต ผู้เป็นมารดามิได้เปี่ยมด้วยพระจิตก่อนบุตรของนาง แต่หลังจากที่บุตรของนางเต็มเปี่ยมด้วยพระจิตแล้ว เขา (ยอห์น) จึงทำให้มารดาของตนเปี่ยมด้วย

พระจิตเช่นกัน”36


ข้าพเจ้ายังเชื่ออยู่ แม้เมื่อข้าพเจ้าว่า

ข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ยากใหญ่ยิ่ง’” (สดด 116:10)

: ชีวิตในยามแก่ชรา และในยามทุกข์ทรมาน


46. ในเรื่องเกี่ยวกับช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตมนุษย์ด้วยเช่นกัน ที่คงจะเป็นเรื่องผิดยุคผิดสมัยที่เราจะหวังเห็นการเผยแสดงจากพระคัมภีร์ที่บ่งบอกถึงเรื่องสำคัญๆ ในยุคปัจจุบันในเรื่องการให้ความเคารพต่อชีวิตผู้สูงอายุและผู้เจ็บป่วย หรือ

เรื่องการประณามอย่างเปิดเผยต่อความพยายามต่างๆ ที่จะบีบบังคับให้คนพวกนั้นตายไปโดยเร็ว บริบทของพระคัมภีร์ทางด้านวัฒนธรรมและด้านศาสนานั้นไม่เคยสัมผัสการประจญให้ทำเช่นว่านี้เลย ที่จริงแล้วในบริบทดังกล่าว ความปรีชาและประสบการณ์ของผู้สูงอายุเป็นที่รับรู้ว่าเป็นบ่อเกิดของการช่วยเสริมสร้างครอบครัว

และสังคมมนุษย์ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย


วัยสูงอายุมีศักดิ์ศรีเป็นลักษณะเด่นและมีผู้ห้อมล้อมให้ความเคารพนับถือ (เทียบ 2 มคบ 6:23) คนชอบธรรมไม่หาทางพ้นจากวัยสูงอายุและภาระหนักตามวัยของตน ตรงกันข้ามเขากลับอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงเป็นความหวัง ความไว้วางใจของข้าพระองค์ตั้งแต่วัยหนุ่ม...แม้จะถึงวัยชราผมหงอกก็ตาม ข้าแต่พระเจ้า ขออย่าทรงทอดทิ้งข้าพระองค์จนกว่าข้าพระองค์จะประกาศถึงพระอานุภาพของพระองค์แก่ชาติพันธุ์ถัดไป” (สดด 71:5,18) อุดมคติแห่งยุคพระเมสสิยาห์นั้นถูกนำเสนอเป็นยุคที่ “จะไม่มี...คนแก่ที่อายุไม่ครบกำหนดเลย” (อสย 65:20)


มนุษย์ควรจะเผชิญกับชีวิตอันเสื่อมถอยของตนในวัยชราอย่างไร? มนุษย์ควรทำตัวเช่นไรยามที่ต้องเผชิญกับความตาย ผู้มีความเชื่อรู้ว่าชีวิตของตนอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า “ข้าแต่

พระเจ้า ขอทรงรักษาส่วนมรดกของข้าพเจ้าไว้” (เทียบ สดด 16:5) และเขายอมรับว่าเขาจำต้องตาย “เป็นกฎที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับมนุษย์ทุกคน ไฉนเล่าเจ้าจึงกระด้างกระเดื่องต่อน้ำพระทัยพระผู้สูงสุด?” (บสร 41:3-4) มนุษย์มิใช่เป็นนายเหนือชีวิตและเขาก็มิใช่เป็นนายเหนือความตายด้วยเช่นกัน เขามอบตนเองโดยสิ้นเชิงทั้งชีวิตและความตายไว้ “แด่น้ำพระทัยเมตตาขององค์พระผู้สูงสุด” ให้เป็นไปตามแผนการความรักของพระองค์


ในยามที่เจ็บป่วยด้วยเช่นกันที่มนุษย์ถูกเรียกให้มีความไว้วางใจเดียวกันนี้ต่อพระเจ้า และให้รื้อฟื้นความเชื่อของตนในองค์พระเจ้า “ผู้ทรงรักษาโรคทั้งสิ้นของท่าน” (เทียบ สดด 103:3) เมื่อความหวังทุกอย่างที่จะมีสุขภาพดีดูเหมือนจางหายไปต่อหน้าต่อตาเขา-เหมือนกับจะทำให้มนุษย์ต้องร้องออกมาว่า “วันเวลาของข้าพระองค์เหมือนเงาเวลาเย็น ข้าพระองค์เหี่ยวไปเหมือนหญ้า” (สดด 102:11)-แม้กระทั้งเวลานั้น ผู้มีความเชื่อก็ยังรักษาความเชื่อมั่นคงไม่หวั่นไหวในพลังที่ให้ชีวิตของพระเจ้า ความเจ็บป่วยไม่ทำให้เขาท้อแท้สิ้นหวังและแสวงหาความตาย แต่กลับทำให้เขาร้องออกมาด้วยความหวังว่า “ข้าพเจ้ายังเชื่ออยู่ แม้เมื่อข้าพเจ้าว่า ‘ข้าพเจ้าได้รับความทุกข์ยากใหญ่ยิ่ง’” (สดด 116:10) “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ร้องทูลขอความอุปถัมภ์จากพระองค์ และพระองค์ได้ทรงรักษาข้าพระองค์ให้หาย ข้าแต่พระเจ้า พระองค์ทรงนำจิตวิญญาณของข้าพระองค์ขึ้นมาจากแดนผู้ตาย ทรงทำให้ข้าพระองค์มีชีวิต จึงไม่ต้องลงไปขุมอเวจี” (สดด 30:2-3)


47. พันธกิจของพระเยซูเจ้าที่พระองค์ทรงรักษาผู้คนมากมายให้หายจากโรคนั้น แสดงถึงความเอาพระทัยใส่อันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงสนพระทัยแม้กระทั่งชีวิตฝ่ายร่างกายของเรามนุษย์ พระเยซูเจ้าในฐานะ “นายแพทย์ผู้รักษาทั้งร่างกายและจิตใจมนุษย์”37 ถูกส่งมาจากพระบิดา เพื่อประกาศข่าวดีแก่คนยากจน และเพื่อรักษาผู้ทุกข์ระทมใจ (เทียบ ลก 4:18 ; อสย 61:1) ภายหลังเมื่อพระองค์ทรงส่งบรรดาสาวกของพระองค์ไปในโลก พระองค์ก็ทรงมอบหมายงานให้พวกเขา เป็นพันธกิจที่มีการรักษาคนเจ็บป่วยควบคู่ไปกับการประกาศพระวรสาร “และจงไปประกาศว่าอาณาจักรสวรรค์ใกล้เข้ามาแล้ว จงรักษาคนเจ็บไข้ จงปลุกคนตายให้กลับคืนชีพ จงรักษาคนโรคเรื้อนให้สะอาด จงขับไล่ปีศาจให้ออกไป” (มธ 10:7-8 ; เทียบ มก 6:13 ; 16-18)


แน่นอน ชีวิตของร่างกายในสภาพที่อยู่บนโลกนี้มิใช่เป็นสิ่งที่ดีนักสำหรับผู้มีความเชื่อ โดยเฉพาะเมื่อเขาถูกเรียกร้องให้อุทิศชีวิตของตนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ดังที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเราและเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้” (มธ 8:35) พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ให้ตัวอย่างเราไว้มากมายในเรื่องนี้ พระเยซูเจ้ามิได้ทรงลังเลพระทัยที่จะพลีพระองค์เอง และทรงยินดีมอบพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาแด่พระบิดาเจ้า (เทียบ ยน 10:17) และเพื่อทุกคนที่เป็นของพระองค์ (เทียบ ยน 10:15) ความตายของท่านยอห์น บัปติส ผู้นำหน้าองค์พระผู้ไถ่ ก็เป็นสักขีพยานได้ว่า การเป็นอยู่บนโลกนี้นั้นมิใช่เป็นสิ่งดีงามแบบเด็ดขาด สิ่งสำคัญกว่าก็คือ การดำรงตนซื่อสัตย์ต่อพระวาจาของพระเจ้า แม้กระทั่งต้องเสี่ยงชีวิตของตนก็ตาม (เทียบ มก 6:17-29) ท่านสเทเฟนผู้ยอมสละชีวิตของท่านบนโลกนี้เพราะท่านซื่อสัตย์เป็นพยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ก็ได้ดำเนินตามแบบอย่างของพระอาจารย์ และได้เผชิญหน้ากับคนเหล่านั้นที่กำลังเอาหินขว้างใส่ท่านด้วย คำอธิษฐานภาวนาของพระเจ้าโปรดทรงอภัยให้พวกเขาด้วย (เทียบ กจ 7:59-60) ท่านจึงกลายเป็นมรณสักขีองค์แรกของบรรดามรณสักขีอีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่พระศาสนจักรเคารพให้เกียรติท่านนับแต่แรกทีเดียว


อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครเลือกได้ตามใจชอบของตนว่าเขาจะมีชีวิตอยู่หรือจะตายผู้เป็นนายเหนือการตัดสินใจนี้แต่ผู้เดียวคือองค์พระผู้สร้างที่“เรามีชีวิเคลื่อนไหว และมีความเป็นอยู่ในพระองค์” (กจ 17:28)


ใครๆ ที่ยึดมั่นในบทบัญญัติของพระเจ้า จะมีชีวิต”

(มรค 4:1) : จากบทบัญญัติแห่งภูเขาซีนายมาถึง

การประทานพระจิตเป็นของขวัญ


48. ชีวิตถูกความจริงของชีวิตนั้นทำเครื่องหมายอันมิอาจลบออกได้เอาไว้ โดยการยอมรับของประทานนี้จากพระเจ้า มนุษย์ก็จะต้องรักษาชีวิตนี้ไว้ตามความจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญของชีวิตนี้ไว้ การแยกจากความจริงนี้ก็เป็นการทำให้ชีวิตไร้ซึ่งความหมายและความสุขและอาจกลายเป็นภัยคุกคามความเป็นอยู่ของมนุษย์คนอื่นด้วย เพราะว่าสิ่งป้องกันที่ให้ประกันถึงการเคารพให้เกียรติและปกป้องชีวิตนั้นถูกทำลายไปแล้วในสภาวการณ์ทั้งหมด


ความจริงของชีวิตได้รับการเผยแสดงโดยบทบัญญัติของพระเจ้า พระวาจาของพระเจ้าแสดงให้เห็นชัดถึงทางเดินที่ชีวิตจะต้องดำเนินไป ถ้าหากชีวิตนั้นจะเคารพต่อความจริงและรักษาศักดิ์ศรีของชีวิตเอาไว้ การปกป้องชีวิตมิใช่ได้รับประกันจากบท

บัญญัติว่า “อย่าฆ่าคน” (อพย 20:13 ; ฉธบ 5:17) นี้เท่านั้น ธรรมบัญญัติทั้งหมดของพระเจ้าก็มีไว้เพื่อปกป้องชีวิตด้วย เพราะว่าธรรมบัญญัตินั้นเผยแสดงความจริงที่ชีวิตพบกับความหมายสมบูรณ์


ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะเห็นว่าพันธสัญญาของพระเจ้ากับประชากรของพระองค์นั้นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับมุมมองในเรื่องชีวิต และแม้กระทั่งมุมมองในเรื่องชีวิตทางร่างกายด้วย ในพันธสัญญา บทบัญญัติของพระเจ้าถูกนำเสนอให้เป็นทางเดินของชีวิต “ในวันนี้ข้าพเจ้ากำลังเสนอให้ท่านเลือกชีวิตหรือความตาย เลือกความดีหรือความชั่ว ข้าพเจ้าสั่งท่านในวันนี้ให้รักพระเจ้าของท่าน และเดินตามวิถีทางของพระองค์แล้วท่านจะมีชีวิต และทวีจำนวนขึ้น พระเจ้าของท่านจะทรงอวยพรท่านในแผ่นดินที่ท่านกำลังจะเข้าไปครอบครอง” (ฉธบ 30:15-16) สิ่งสำคัญจึงมิใช่เป็นเรื่องแผ่นดินคานาอัน และการเป็นอยู่ของชนอิสราเอลเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของโลกปัจจุบันและโลกอนาคตรวมทั้งการเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติทั้งหมดด้วย ที่จริงแล้วเป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้นสำหรับชีวิตที่จะคงอยู่เป็นชีวิตเที่ยงแท้สมบูรณ์อยู่ได้ ถ้าหากแยกขาดจากความดี และในทางกลับกัน ความดีก็ถูกผูกติดอยู่กับบทบัญญัติของพระเจ้าด้วย นั่นคือ ติดอยู่กับ “กฎแห่งชีวิต” (มสร 17:10) ความดีที่จะต้องทำนั้นมิใช่เป็นภาระเพิ่มเติมที่โถมทับเข้ามาในชีวิต เพราะว่าจุดหมายแท้จริงของชีวิตก็คือความดี และโดยการทำความดีเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างชีวิตขึ้นมาได้


บทบัญญัติโดยรวมปกป้องชีวิตมนุษย์เต็มที่ นี่จึงอธิบายได้ว่าทำไม่จึงยากนักที่จะยังคงซื่อสัตย์ต่อบทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นั้นอยู่ได้ ในเมื่อ “พระวาจาแห่งชีวิต” อื่นๆ (เทียบ กจ 7:38) ที่ผูกติดอยู่กับบทบัญญัติประการนี้มิได้รับการถือปฏิบัติ หาก

แยกจากโครงร่างกว้างๆ นี้แล้ว บทบัญญัติประการนี้ก็คงจะไม่เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับจากภายนอก และไม่นานเรามนุษย์ก็จะหาข้อจำกัดต่างๆ ของกฎเกณฑ์นี้ และพยายามหาช่องโหว่และข้อยกเว้นต่างๆ แน่ เมื่อมนุษย์เราเปิดใจรับ

ความจริงสมบูรณ์เรื่องพระเจ้า เรื่องมนุษย์และ เรื่องประวัติศาสตร์เท่านั้น บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” ก็จะส่องแสงอีกครั้งเป็นความดีสำหรับมนุษย์ในตัวมนุษย์เอง และในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ในมุมมองเช่นนี้เองที่เราสามารถเข้าถึงความจริงสมบูรณ์ของข้อความจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ที่พระเยซูเจ้าทรงนำมากล่าวซ้ำตอบโต้การถูกประจญในข้อแรกนั้นว่า “มนุษย์มิได้มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารเท่านั้น แต่มีชีวิตด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า” (ฉธบ 8:3 ; เทียบ มธ 4:4)


โดยการฟังพระวาจาของพระเจ้า เราจะสามารถเจริญชีวิตมีศักดิ์ศรีและมีความยุติธรรมได้ โดยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้าเท่านั้นที่เราจะสามารถบังเกิดผลเป็นชีวิตและความสุขได้ “ใครที่ละทิ้งบทบัญญัตินั้น ก็จะต้องตาย” (มรค 4:1)


49. ประวัติศาสตร์ของชนอิสราเอลแสดงให้เห็นว่าช่างยากลำบากสักเพียงไรที่จะดำรงตนซื่อสัตย์ต่อบทบัญญัติแห่งชีวิต ที่พระเจ้าทรงสลักไว้ในใจมนุษย์ และที่พระองค์ทรงมอบให้แก่ประชากรแห่งพันธสัญญาบนภูเขาซีนาย เมื่อชนชาติอิสราเอล

แสวงหาทางดำเนินชีวิตโดยเพิกเฉยต่อแผนการของพระเจ้า บรรดาประกาศกก็ทำหน้าที่เฉพาะของพวกท่านในการตักเตือนพวกเขาอย่างรุนแรงกว่า พระเจ้าเท่านั้นเป็นบ่อเกิดของชีวิต ประกาศกเยเรมีย์จึงเขียนว่า “ประชากรของเราได้กระทำความชั่วถึงสองประการ เขาได้ทอดทิ้งเราเสีย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ให้ชีวิต แล้วสะกัดหินขังน้ำไว้สำหรับตนเอง เป็นแอ่งแตกซึ่งขังน้ำไม่ได้” (ยรม 2:13) บรรดาประกาศกพากันชี้นิ้วตำหนิพวกที่สบประมาทชีวิตและล่วงละเมิดสิทธิของผู้คนทั้งหลาย“เขาทั้งหลายเหยียบย่ำศีรษะของคนจนลงไปที่ฝุ่นบนพื้นดิน” (อมส 2:7) “พวกเขาทำให้สถานที่นี้เต็มด้วยโลหิตของผู้ไม่ผิด” (ยรม 19:4) ในบรรดาประกาศกทั้งหลาย ประกาศกเอเสเคียลมักจะกล่าวประณามกรุงเยรูซาเล็มอยู่บ่อยๆ เรียกนครนี้ว่า “นครเปื้อนเลือด” (อสค 22:2 ; 24:6,9) เป็น “นครที่หลั่งโลหิตผู้ไร้ความผิดให้ถึงตาย” (อสค 22:3)


แต่ในขณะที่บรรดาประกาศกประณามการกระทำผิดต่อชีวิต พวกท่านก็ให้ความสนใจเหนืออื่นใดในเรื่องการปลุกความหวังในหลักการใหม่ของชีวิตที่สามารถก่อให้เกิดการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายขึ้นใหม่ และสามารถเปิดโอกาสพิเศษใหม่ๆ ให้เข้าใจ และลงมือกระทำการตามข้อเรียกร้องทั้งหมดในพระวรสารแห่งชีวิต สิ่งนี้จะเป็นไปได้ก็โดยทางของประทานคือองค์พระเจ้าผู้ทรงชำระให้สะอาดและฟื้นฟูขึ้นใหม่นั้น “เราจะนำเอาน้ำสะอาดพรมเจ้า และเจ้าจะสะอาดจากมลทินทั้งหลายของเจ้า และเราจะชำระเจ้าจากรูปเคารพทั้งหลายของเจ้า เราจะให้ใจใหม่แก่เจ้า และเราจะบรรจุจิตวิญญาณใหม่ไว้ในเจ้า เราจะนำใจหินออกไปเสียจากเนื้อของเจ้า และให้ใจเนื้อแก่เจ้า” (อสค 36:25-26 ; เทียบ ยรม 31:34) “ใจใหม่” นี้จะทำให้มนุษย์ชื่นชอบและเข้าถึงความหมายแท้จริงลึกซึ้งที่สุดของชีวิตได้ นั่นคือ การเป็นของประทานที่เป็นจริงขึ้นมาในการมอบตนเอง นี่เป็นสารยอดเยี่ยมในเรื่องของชีวิต ซึ่งมาสู่เราทางรูปแบบการเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า (the Servant of the Lord) “เมื่อพระองค์ทรงกระทำให้วิญญาณของท่านเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป ท่านจะเห็นพงศ์พันธุ์ของท่าน ท่านจะยืดวันทั้งหลายของท่าน...ท่านจะเห็นผลแห่งทุกข์ลำบากแห่งวิญญาณจิตของท่าน และพอใจ” (อสย 53:10,11)


การเสด็จมาของพระเยซูแห่งนาซาเร็ธทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ไป และใจใหม่ก็ถูกมอบให้มนุษย์โดยทางพระจิตของพระองค์ พระเยซูเจ้ามิได้ปฏิเสธธรรมบัญญัติ แต่พระองค์ทรงทำให้ธรรมบัญญัตินั้นสมบูรณ์ไป (เทียบ มธ 7:12) ในพระเยซู ธรรมบัญญัติกลายมาเป็น “พระวรสาร” เป็นข่าวดีของการเป็นเจ้านายของพระเจ้าปกครองโลก ซึ่งนำทุกชีวิตกลับมาสู่รากเหง้า และจุดหมายเดิมของมัน นี่คือกฎบัญญัติใหม่เป็น “กฎของพระจิตเจ้าซึ่งประทานชีวิตในพระคริสตเยซูนั้น” (รม 8:2) และการแสดงออกเบื้องต้นที่ดำเนินตามแบบฉบับของพระองค์ผู้ทรงมอบชีวิตของตนแด่มิตรสหาย (เทียบ ยน 15:13) ก็คือ การมอบตนเองด้วยความรักต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์ชาย-หญิงทั้งหลาย “เรารู้ว่าเราผ่านพ้นความตายมาสู่ชีวิตแล้ว เพราะเรารักพี่น้อง” (1 ยน 3:14) นี่เป็นกฎแห่งอิสรภาพ ความปิติยินดี และการได้

รับพระพร


เขาทั้งหลายจะมองดูผู้ที่เขาแทง” (ยน 19:37) :

พระวรสารแห่งชีวิตสำเร็จสมบูรณ์ไปบนไม้กางเขนนั้น


50. จากการที่เราได้พิจารณาทบทวนสารของคริสตชนเรื่องชีวิตมนุษย์ในบทนี้มาถึงตอนท้ายแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอพักสักครู่เพื่อรำพึงร่วมกับพวกท่านถึงผู้ที่ถูกแทงผู้นั้นและเป็นผู้ที่ดึงดูดมนุษย์ทุกคนเข้ามาหาพระองค์ (เทียบ ยน 19:73 ; 12:32) เมื่อมองดู “ภาพนั้น” บนไม้กางเขน (เทียบ ลก 23:48) เราจะได้พบความสมบูรณ์และการเผยแสดงครบถ้วนถึงพระวรสารแห่งชีวิตทั้งครบได้ในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งไม้กางเขนนั้น

ในบ่ายวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์นั้นเอง “ทั่วแผ่นดินมืดมิดไป...เพราะดวงอาทิตย์มืดลง ม่านในพระวิหารฉีกขาดตรงกลาง” (ลก 23:44,45) นี่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึง การแปรปรวนที่เกิดขึ้นในโลกและพลังขัดแย้งกันระหว่างความดีกับความชั่ว ระหว่างชีวิตกับความตาย ในปัจจุบัน เราก็ยังพบตัวเราเองอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอันน่าหวาดหวั่นนี้ระหว่าง “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” กับ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” ด้วยเช่นกัน แต่ความมืดก็ไม่อาจมีชัยเหนือพระสิริรุ่งโรจน์ของไม้กางเขนนั้นได้ ตรงกันข้าม ไม้กางเขนนั้นกลับส่องแสงสุกใสกว่าเดิม และเผยแสดงให้เห็นว่ากางเขนนั้นเป็นศูนย์กลาง เป็นความหมายและเป็นจุดหมายของประวัติศาสตร์และของมนุษย์ทุกชีวิตด้วย


พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน และทรงถูกยกขึ้นเหนือพื้นโลก พระองค์ทรงสัมผัสกับช่วงเวลาแห่ง “การไร้ซึ่งอำนาจทั้งสิ้น” และชีวิตของพระองค์ดูเหมือนจะถูกศัตรูของพระองค์เย้ยหยัน และตกอยู่ในเงื้อมมือของผู้ประหารชีวิตพระองค์

นั่นคือ พระองค์ทรงถูกหัวเราะเยาะถูกเยาะเย้ยถากถาง และถูกสบประมาทต่างๆ นานา (เทียบ มก 15:24-36) ถึงกระนั้นในท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ นายร้อยโรมันผู้นั้นพอเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์ ก็ถึงกับกล่าวออกมาว่า “ชายคนนี้เป็นบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว” (มก 15:39) ในขณะที่พระองค์ทรงไร้ซึ่งพลังอย่างที่สุด ทรงอ่อนแออย่างที่สุดนี้เอง ที่พระบุตรพระเจ้าทรงได้การเผยแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใด นั่นคือบนไม้กางเขน พระสิริของพระองค์ปรากฏแจ้ง


โดยการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงทอแสงให้ความหมายแก่ชีวิตและความตายของมนุษย์ทุกคน ก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระเยซูทรงอธิษฐานวอนขอพระบิดาโปรดทรงอภัยแก่ผู้ประหารพระองค์ (เทียบ ลก 23:34) และทรงตรัสตอบผู้ร้ายคนนั้นที่ทูลขอให้พระองค์โปรดระลึกถึงเขาด้วย เมื่อเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์ว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” (ลก 23:43) หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ “คูหาที่ฝังศพเปิดออกร่างของผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายร่างที่ล่วงลับไปแล้ว กลับคืนชีพ” (มธ 27:52) งานช่วยให้รอดของพระเยซูนี้นำชีวิตและการกลับคืนชีพมาให้มนุษย์ ตลอดพระชนม์ชีพบนโลกนี้ของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงประทานความรอดนี้ให้มนุษย์โดยทรงรักษาผู้คนให้หายและทรงทำแต่ความดี (เทียบ กจ 10:38) แต่การอัศจรรย์ต่างๆ การรักษาโรค และแม้กระทั่งการที่พระองค์ทรงปลุกคนตายให้ฟื้นคืนชีพนั้น เป็นเพียงเครื่องหมายบ่งบอกถึงการช่วยให้รอดอีกอย่างหนึ่งของพระองค์ เป็นการช่วยให้รอดโดยการให้อภัยบาป กล่าวคือ เป็นการช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นเป็นอิสระจากการเจ็บป่วยใหญ่สุดของตน และช่วยเขาให้ฟื้นคืนชีพมาสู่ชีวิตพระเจ้านั่นเอง


บนไม้กางเขน การอัศจรรย์ของรูปงูที่โมเสสยกขึ้นในถิ่นทุรกันดาร (ยน 3:14-15 ; เทียบ กดว 21:8-9) ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ และนำไปสู่ความสมบูรณ์ครบถ้วนในยุคนี้เช่นกัน จากการมองดูผู้ที่ถูกแทงผู้นั้น มนุษย์ทุกคนที่ชีวิตของตนถูกภัยคุกคามอยู่นี้ ก็เกิดมีความหวังแน่นอนที่จะได้พบอิสรภาพและการไถ่กู้นั้น (ยน 19:30) หลังจากนั้น ทหารโรมันคนหนึ่ง “ใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที” (ยน 19:34)

บัดนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาถึงซึ่งความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว “การมอบ” จิตของพระองค์บ่งถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า เป็นการตายเหมือนการตายของมนุษย์คนอื่นๆ ทุกคน แต่ก็เป็นการตายที่บ่งความหมายถึง “การมอบพระจิต” ที่พระเยซูได้ทรงใช้ไถ่ถอนเรามนุษย์จากความตายนั้น และเปิดทางชีวิตใหม่ให้แก่เราด้วย


นี่คือชีวิตของพระเจ้าที่ทรงร่วมแบ่งปันให้มนุษย์เป็นชีวิตที่โดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร ซึ่งมีน้ำและพระโลหิตที่ไหลจากพระสีข้างของพระคริสตเจ้าเป็นสัญลักษณ์ ยังถูกมอบให้แก่บรรดาบุตรของพระเจ้าเรื่อยมา ทำให้พวกเขาเป็นประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่จากไม้กางเขนนั้นซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต “ประชากรแห่งชีวิต” ก็ถือกำเนิดมาและทวียิ่งขึ้น การพิศเพ่งรำพึงถึงไม้กางเขนช่วยนำเราเข้าถึงแก่นแท้ (หัวใจ) ของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อพระเยซูเสด็จมาในโลก พระองค์ทรงตรัสว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์”


51. แต่ยังมีเหตุการณ์เฉพาะอีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกสะเทือนใจอย่างมากเมื่อพิเคราะห์ดูอยู่นั้น “เมื่อพระเยซูเจ้าทรงจิบน้ำองุ่นเปรี้ยวแล้ว ตรัสว่า ‘สำเร็จบริบูรณ์แล้ว’ พระองค์ทรงเอนพระเศียรสิ้นพระชนม์” (ยน 19:30) หลังจากนั้น ทหารโรมันคนหนึ่ง “ใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหนออกมาทันที” (ยน 19:34)


บัดนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาถึงซึ่งความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว “การมอบ” จิตของพระองค์บ่งถึงการสิ้นพระชนม์ เป็นการตายเหมือนการตายของมนุษย์คนอื่นๆ ทุกคน แต่ก็เป็นการตายที่บ่งถึง “การมอบพระจิต” ที่พระเยซูได้ทรงใช้ไถ่ถอนเรามนุษย์จาก

ความตายนั้น และเปิดทางชีวิตใหม่ให้แก่เราด้วย


นี่คือชีวิตของพระเจ้าที่ทรงร่วมแบ่งปันให้มนุษย์เป็นชีวิตที่ โดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร-ซึ่งมีน้ำและพระโลหิตที่ไหลจากพระสีข้างของพระคริสตเจ้าเป็นสัญลักษณ์-ยังถูกมอบให้แก่บรรดาบุตรของพระเจ้าเรื่อยมา ทำให้พวกเขาเป็นประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่ จากไม้กางเขนนั้น ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต “ประชากรแห่งชีวิต” ก็ถือกำเนิดมาและทวียิ่งขึ้น


การพิศเพ่งรำพึงถึงไม้กางเขนช่วยนำเราเข้าถึงแก่นแท้ (หัวใจ) ของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อพระเยซูเสด็จมาในโลก พระองค์ทรตรัสว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์” (เทียบ ฮบ 10:9)


พระองค์เสด็จมา “มิใช่เพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์” (มก 10:45) และทรงบรรลุถึงความรักสูงสุดนั้นบนไม้กางเขน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) และพระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อเรา ขณะที่เรายังเป็นคนบาป (เทียบ รม 5:8)

เช่นนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าชีวิตพบศูนย์กลาง ความหมาย และความสมบูรณ์เมื่อชีวิตนั้นถูกมอบให้ผู้อื่น


ณ จุดนี้เองที่การรำพึงถึงเรื่องชีวิตกลายมาเป็นการสรรเสริญโมทนาคุณพระเจ้า และในเวลาเดียวกันก็กระตุ้นเราให้เลียนแบบพระคริสตเจ้า และเดินตามรอยเท้าของพระองค์ (เทียบ 1 ปต 2:2)


พวกเราถูกเรียกมาให้มอบชีวิตของเราเพื่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์ชาย-หญิงของเราเช่นกัน และเมื่อทำเช่นนี้เราก็จะได้สำนึกถึงความจริงสมบูรณ์ของความหมายและจุดหมายแห่งการเป็นอยู่ของเราได้


ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายจะทำเช่นนี้ได้ก็เพราะพระองค์ทรงมอบแบบฉบับไว้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายและได้ทรงประทานพลังแห่งพระจิตของพระองค์แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายแล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายจะสามารถทำเช่นนี้ได้ทุกวัน ร่วมกับพระองค์ และเหมือนกับพระองค์ได้ หากข้าพเจ้าทั้งหลายนอบน้อมเชื่อฟังพระบิดา และทำตามน้ำพระทัยของพระองค์


ดังนั้นขอพระองค์ทรงโปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รับฟัง และเปิดใจให้กว้างรับฟังพระวาจาทุกคำที่มาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้าด้วย ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้เรียนรู้มิใช่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” เท่านั้น แต่ให้ความเคารพรักและส่งเสริมชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตด้วย พระเจ้าข้า












บทที่ 3

อย่าฆ่าคน

บทบัญญัติของพระเจ้า

ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร

ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด” (มธ 19:17) :

พระวรสารและพระบัญญัติ


52. “ชายคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ทูลถามว่า ‘พระอาจารย์ข้าพเจ้าต้องทำความดีอะไร เพื่อจะมีชีวิตนิรันดร’” (มธ 19:16) พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ถ้าท่านอยากเข้าสู่ชีวิตนิรันดร ก็จงปฏิบัติตามบทบัญญัติเถิด;” (มธ 19:17) พระอาจารย์เจ้ากำลังตรัสชีวิตนิรันดร นั่นคือ การมีส่วนร่วมในชีวิตของพระเจ้า ชีวิตนี้จะได้มาก็โดยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า รวมทั้งบทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” ด้วยนี่เป็นกฎเกณฑ์ข้อแรกที่พระเยซูเจ้าทรงอ้างมาจาก “บทบัญญัติสิบประการ” (Decalogue) ให้ชายหนุ่มผู้นั้นซึ่งก็ถามพระองค์ต่อว่า เขาจะต้องปฏิบัติตามกฎบัญญัติข้อใด พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักขโมย...” (มธ 19:18)


บทบัญญัติของพระเจ้าไม่เคยแยกจากความรักขอพระองค์เลย กล่าวคือบทบัญญัติเป็นของประทานเพื่อมุ่งให้มนุษย์เจริญเติบโตและมีความปิติสุข เมื่อเป็นเช่นนี้ บทบัญญัติก็ชี้ให้เห็นมิติสำคัญอันจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อพระวรสารได้กลายเป็น “ข่าวดี” ได้จริงๆ คือเป็นข่าวที่นำความปิติยินดีมาสู่มนุษย์ พระวรสารแห่งชีวิตเป็น

ทั้งของประทานยิ่งใหญ่จากพระเจ้า และเป็นภารกิจโดยตรงของมวลมนุษย์ พระวรสารแห่งชีวิตก่อให้เกิดความรู้สึกประทับใจและขอบคุณขึ้นในบุคคลมนุษย์ที่ได้รับพระพรแห่งการมีอิสรภาพและเรียกร้องให้มนุษย์ต้อนรับ รักษาและชื่นชมยกย่องพระวรสารนี้ด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบด้วย ในการมอบชีวิตให้มนุษย์ พระเจ้าทรงเรียกร้องให้มนุษย์รักเคารพและส่งเสริมชีวิตของประทานนี้จึงกลายเป็บทบัญญัติ และบทบัญญัติก็เป็นของประทานจากพระเจ้านั่นเอง


ในฐานะที่มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า องค์พระผู้สร้างจึงปรารถนาให้มนุษย์เป็นเจ้านายและผู้ปกครองเหนือสรรพสิ่ง ท่านนักบุญเกรกอรี่แห่งนิสซา เขียนไว้ว่า “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้สามารถปฏิบัติตามบทบาทของตนในฐานะราชา

แห่งโลกนี้...มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้าผู้ทรงปกครองจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างชี้แสดงว่านับแต่แรกเริ่มธรรมชาติมนุษย์ถูกทำเครื่องหมายด้วยการเป็นราชาไว้แล้ว...มนุษย์เป็นราชา มนุษย์ที่ถูกสร้างมาให้เป็นนายปกครองโลก ก็ได้รับมอบความคล้ายคลึงกับพระราชาแห่งโลกจักรวาลนั้น มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ที่มีชีวิตผู้มีส่วนร่วมโดยศักดิ์ศรีเฉพาะของมนุษย์เองกับความสมบูรณ์ของต้นฉบับองค์พระเจ้านั้น”38เนื่องจากมนุษย์ถูกเรียกให้กำเนิดลูกหลานทวีจำนวนขึ้นเพื่อครอบครองแผ่นดิน และปกครองสรรพสิ่งสร้างที่ด้อยกว่าตน (เทียบ ปฐก 1:28) มนุษย์จึงเป็นเจ้านายและผู้ปกครองมิใช่เพียงเหนือสิ่งต่างๆ เท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขาเป็นนายเหนือตนเองด้วย39 และในความหมายหนึ่ง เขาก็เป็นนายเหนือชีวิตที่เขาได้รับมา และเหนือชีวิตที่เขาส่งผ่านไปโดยทางการให้กำเนิดบุตร ที่เขากระทำด้วยความรักเคารพต่อแผนการของพระเจ้านั้น อย่างไรก็ตาม การเป็นเจ้านายของมนุษย์ก็มิใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นเรื่องของการดำเนินการ (ministerial) นั่นคือ เป็นภาพสะท้อนแท้จริงถึงการเป็นเจ้านายโดยเฉพาะและไม่มีขอบเขตขององค์พระเจ้า ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องใช้ความเป็นเจ้านายนี้ด้วยความปรีชาฉลาดและความรักโดย

ร่วมส่วนในพระปรีชาญาณและความรักของพระเจ้า และสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้โดยการนอบน้อมตามบทบัญญัติอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าเท่านั้น กล่าวคือโดยการนอบน้อมเชื่อฟังด้วยใจอิสระและยินดีของตน (เทียบ สดด 119) อันเกิดขึ้นมาและได้รับการเสริมส่งจากการที่มนุษย์ตระหนักว่ากฎเกณฑ์ของพระเจ้านั้นเป็นของประทานแห่งพระพรที่พระเจ้าทรงมอบให้มนุษย์ เพื่อความดีของมนุษย์เอง เพื่อมนุษย์จะได้รักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนและมุ่งสู่ความสุขของชีวิต


ในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งต่างๆเป็นต้นในเรื่องชีวิตมนุษย์มิใช่เป็นนายผู้มีสิทธิเด็ดขาด และมิใช่เป็นผู้ตัดสินสุดท้าย แต่มนุษย์เป็นเพียง “ผู้ดำเนินการตามแผนการของพระเจ้า”40 มากกว่า และนี่ก็เป็นความยิ่งใหญ่อันมิอาจเปรียบเทียบได้ของมนุษย์เอง


ชีวิตที่พระเจ้าทรงมอบไว้ให้มนุษย์เป็นสมบัติที่มนุษย์จะต้องไม่ใช้ไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย ดังเช่นเงินตะลันต์นั้น ซึ่งต้องรู้จักใช้จ่ายอย่างดี มนุษย์จะต้องรายงานให้เจ้านายของตนทราบบัญชีใช้จ่ายของตนนั้นด้วย (เทียบ มธ 25:14-30 ; ลก 19 :12-27)

ถ้าผู้ใดหลั่งโลหิตของมนุษย์ คือปลิดชีวิตของเขา

เราจะมาทวงชีวิตของเขาด้วย” (ปฐก 9:5) :

ชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ และล่วงละเมิดมิได้


53. “ชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่านับแต่แรกเริ่มชีวิตมนุษย์ก็เกี่ยวข้องกับ ‘การเนรมิตสร้างของพระเจ้า’ ชีวิตนั้นคงอยู่เสมอไปในความสัมพันธ์พิเศษกับองค์พระผู้สร้าง ซึ่งเป็นจุดหมายหนึ่งเดียวของชีวิต พระเจ้าผู้เดียวทรงเป็นเจ้านายเหนือชีวิตนับแต่แรกเริ่มจนวาระสุดท้ายของชีวิต กล่าวคือ ไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิไม่ว่าในสถานการณ์ใด ที่จะทำลายชีวิตของมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยตรงได้”41 พร้อมกับถ้อยคำเหล่านี้คำสั่งสอนเรื่องของขวัญแห่งชีวิต (Instruction Donum Vitae) จึงกำหนดเนื้อหาหลักของการไขแสดงของพระเจ้าอยู่ที่เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ และเรื่องชีวิตมนุษย์มิอาจถูกล่วงละเมิดได้


อันที่จริง พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นำเสนอกฎเกณฑ์ “อย่าฆ่าคน” นี้เป็น “บทบัญญัติของพระเจ้า” (อพย 20:13 ; ฉธบ 5 :17) ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวย้ำมาแล้วว่าบทบัญญัตินี้พบได้ในบทบัญญัติสิบประการ (Decalogue) ซึ่งเป็นหัวใจของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับประชากรเลือกสรรของพระองค์แต่บทบัญญัตินี้ก็มีอยู่แล้วในพันธสัญญาดั้งเดิมนั้นที่พระเจ้าทรงกระทำกับมนุษยชาติหลังจากที่พระองค์ทรงลงโทษชำระล้างโลกด้วยน้ำท่วมใหญ่นั้น อันมีสาเหตุจากการแพร่กระจายของบาปและความรุนแรง (เทียบ ปฐก 9:5-6)

พระเจ้าทรงประกาศว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้านายผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตมนุษย์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์คล้ายคลึงกับพระองค์ (เทียบ ปฐก 1:26-28) ชีวิตมนุษย์ได้รับมอบคุณลักษณะศักดิ์สิทธิ์และมิอาจล่วงละเมิดได้ ซึ่งสะท้อนถึงการ

ที่มนุษย์ไม่อาจล่วงละเมิดองค์พระผู้สร้างของตนได้ เพราะเหตุนี้เอง พระเจ้าจะทรงตัดสินการละเมิดบทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน”นี้ อันเป็นบทบัญญัติที่เป็นพื้นฐานของทุกชีวิตที่อยู่ร่วมกันในสังคม พระเจ้าทรงเป็น “ผู้พิทักษ์” คือเป็นผู้ปกป้องผู้บริสุทธิ์ (เทียบ ปฐก 4:9-15 ; อสย 41 :14 ; ยรม 50:34 ; สดด 19:14) พระเจ้าจึงทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงยินดีในความตายของผู้มีชีวิต (เทียบ ปชญ 1:13) ปีศาจเท่านั้นที่ยินดีกับความตาย นั่นคือ เพราะว่าโดยความอิจฉาของปีศาจ ความตายจึงเข้ามาในโลก (เทียบ ปชญ 2:24) มนุษย์ผู้เป็น “ฆาตกรมาตั้งแต่แรกเริ่ม” ก็

เป็น “ผู้พูดเท็จและเป็นบิดาของการพูดเท็จ” ด้วย (ยน 8:44) โดยการหลอกลวงมนุษย์ปีศาจก็นำมนุษย์ไปสู่วิถีของบาปและความตาย โดยมันทำให้สิ่งเหล่านั้นปรากฏเป็นเสมือนเป้าหมายและผลของชีวิต


54. บทบัญญัตินี้ที่เขียนไว้เป็นสูตรชัดเจนว่า “อย่าฆ่าคน” นั้นบ่งชี้เป็นทางด้านลบมาก นั่นคือ บ่งถึงขอบเขตสุดโต่งที่ไม่สามารถเกินเลยไปได้ อย่างไรก็ตามในส่วนภายในแล้วบทบัญญัติประการนี้ก็กระตุ้นทัศนคติด้านบวกให้เคารพชีวิต

อย่างยิ่งยวดด้วยเช่นกัน บทบัญญัตินี้ชี้นำให้ส่งเสริมชีวิตและให้ก้าวหน้าไปตามวิถีทางความรักที่ให้รับและรับใช้ ประชากรแห่งพันธสัญญาก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ตามแนวทางความคิดแบบนี้ แม้ว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ และมีปัญหาข้อขัดแย้งอยู่บ้างก็ตาม และพวกเขาก็เตรียมพร้อมที่จะรับการประกาศของพระเยซูเจ้าที่ว่า บทบัญญัติให้รักเพื่อนมนุษย์ ก็เป็นเช่นเดียวกับบทบัญญัติให้รักพระเจ้านั่นเอง “ธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสองประการนี้” (เทียบ มธ 22:36-40) ท่านนักบุญเปาโลกล่าวย้ำว่า “พระบัญญัติกล่าวว่า ‘อย่าฆ่าคน...และบทบัญญัติอื่นก็สรุปได้ในข้อความที่ว่า ‘จงรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง’” (รม 13:9 ; เทียบ กท 5:14) บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นี้ ซึ่งถูกนำเข้าสู่ความสมบูรณ์ในบทบัญญัติใหม่นั้น ก็เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นยิ่งต่อการ “เข้าสู่ชีวิต”

(เทียบ มธ 9:16-19) ในมุมมองเดียวกันนี้ ถ้อยคำของท่านอัครสาวกยอห์นจึงดังก้องชัดเจนยิ่งกว่า “ทุกคนที่เกลียดชังพี่น้องของตน ย่อมเป็นฆาตกร และท่านก็รู้ว่า ไม่มีฆาตกรคนใดมีชีวิตนิรันดรอยู่ในตัวเขา” (1 ยน 3:15)

นับแต่แรกเริ่ม ธรรมประเพณีอันมีชีวิตของพระศาสนจักร ดังที่แสดงให้เห็นในหนังสือดีดาเก (Didache) ซึ่งเป็นงานเขียนเก่าแก่ที่สุดของคริสตชน ที่มิใช่เป็นพระคัมภีร์ ก็ได้เน้นย้ำชัดเจนถึงบทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นี้ “มีทางอยู่สองทาง คือทางแห่งชีวิตและทางแห่งความตาย มีข้อแตกต่างอย่างมากระหว่างสองเส้นทางนี้...เส้นทางอันสอดคล้องตามข้อบัญญัติของคำสอนที่ว่า ‘อย่าฆ่าคน’ ก็คือ อย่าฆ่าเด็กทารกด้วยการทำแท้ง และอย่าฆ่าเขาเมื่อเขาเกิดมา... เส้นทางแห่งความตายก็คือ พวกเขาไม่มีใจสงสารต่อคนยากจน พวกเขาไม่ร่วมทนทุกข์กับผู้ทุกข์ทรมาน พวกเขาไม่ยอมรับรู้องค์พระผู้สร้างของตน พวกเขาฆ่าบุตรของตน และด้วยการทำแท้งพวกเขาก็เป็นสาเหตุทำให้สิ่งสร้างของพระเจ้าต้องพินาศ พวกเขาขับไล่ผู้ที่ต้องการให้ช่วย พวกเขาเป็นทนายแก้ต่างให้คนรวยและเป็นผู้ตัดสินที่อยุติธรรมต่อคนยากจน ใจเขาเต็มไปด้วยบาปทุกอย่าง ลูกที่รักทั้งหลาย ขอให้ลูกทำตัวให้ห่างจากบาปเหล่านี้ให้ได้เถิด”42


ขณะที่กาลเวลาผ่านไป ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรก็ยังคงสั่งสอนอยู่อย่างมั่นคงเรื่อยมาเรื่องคุณค่าเด็ดขาดไม่เปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติที่ว่า “อย่าฆ่าคน” นี้ เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันโดยทั่วไปว่าในช่วงศตวรรษแรกๆ นั้น การฆ่าคนเป็นบาปหนักที่สุดข้อหนึ่งในบาปหนักสามประการ ซึ่งอีกสองประการได้แก่บาปการประกาศละทิ้งความเชื่อ และบาปการล่วงประเวณีและจำเป็นต้องมีการใช้โทษบาปที่ทั้งหนักและยาวนานต่อหน้าสาธารชนด้วย ก่อนที่ผู้กระทำผิดที่สำนึกผิดผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษ และได้รับกลับเข้ามาสู่หมู่คณะคริสตชนของตนอีกครั้งหนึ่งได้


55. เรื่องนี้ไม่ควรทำให้เราแปลกใจอะไรเลย การฆ่ามนุษย์ ซึ่งมีภาพลักษณ์ของพระเจ้าประทับอยู่ในตัวเขานั้น ถือเป็นบาปผิดหนัก เพราะพระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นเป็นเจ้านายเหนือชีวิต ถึงกระนั้น ตั้งแต่แรกเริ่มแล้วเมื่อต้องพบกับกรณีอันน่าเศร้ามากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์แต่ละคนและในสังคมมนุษย์ การพิจารณทบทวนแบบคริสตชนก็แสวงหาความเข้าใจอันลึกซึ้ง และสมบรูณ์กว่าของสิ่งที่บทบัญญัติของพระเจ้าสั่งห้ามและสั่งให้ปฏิบัตินั้น43 อันที่จริงมีหลายสถานะการณ์ที่คุณค่าชีวิตซึ่งบทบัญญัติของพระเจ้าเสนอให้นั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันแท้จริง (genuine paradox) สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเช่นในกรณีเรื่องการป้องกันตัวที่ถูกต้อง

ชอบธรรม (legitimate defense) ซึ่งในการป้องกันตัวนั้น สิทธิในการปกป้องชีวิตของตน ในทางปฏิบัติก็ยากยิ่งนักที่จะไปได้กับหน้าที่ที่เขาจะต้องไม่ทำร้ายชีวิตของอีกฝ่ายหนึ่ง แน่นอน คุณค่าภายในของชีวิตและหน้าที่ที่จะต้องรักตนเองไม่น้อยไปกว่าที่จะต้องรักผู้อื่นนั้น เป็นพื้นฐานของสิทธิแท้จริงในการปกป้องตนเอง บทบัญญัติที่เรียกร้องให้รักเพื่อนมนุษย์ที่มีอยู่ในพันธสัญญาเดิมและได้รับการยืนยันจากพระเยซูเจ้านั้น บ่งถึงว่ามนุษย์ต้องมีความรักตนเองเป็นตัวตั้งเปรียบนั้นเสียก่อน “ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” (มก 12:31) ผลที่ตามมาก็คือไม่มีใครสามาถแยกสิทธิในการป้องกันตนเองออกจากการขาดความรักต่อชีวิตหรือต่อตนเองนั้นได้ สิ่งนี้สามารถทำได้ก็ด้วยความรักขั้นวีรกรรม ซึ่งทำให้ความรักตนเองนั้นลึกซึ้งและเปลี่ยนรูปไปสู่การมอบตนเองจริงๆ ตามจิตตารมณ์มหาบุญลาภแห่งพระวรสาร (เทียบ มธ 5:38-40) แบบฉบับสุดยอดของการมอบตนเองนี้ ก็คือ พระเยซูเจ้า

นั่นเอง


ยิ่งกว่านั้น “การป้องกันตนเองโดยถูกต้องชอบธรรมนั้นมิใช่เป็นแค่สิทธิเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของคนอื่นๆ และต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของครอบครัว หรือของรัฐด้วย”44 แต่ก็โชคไม่ดีนักที่เกิดขึ้นมาว่า ความจำเป็นต้องจัดการกับผู้ก้าวร้าวที่ไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ บางครั้งก็ถึงขั้นเอาชีวิตของเขาผู้นั้นทีเดียว ในกรณีเช่นนี้ผลร้ายที่เกิดขึ้นนั้นก็ถูกโยนให้กับผู้ก้าวร้าวนั้นที่เป็นผู้ก่อให้เกิดเรื่องขึ้นจากการกระทำของเขา ถึงแม้ว่าทางด้านศีลธรรม เขาอาจไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะว่าเขาขาดการใช้เหตุผล45


56. นี่เป็นบริบทที่เราจะกล่าวถึงปัญหาเรื่องการลงโทษประหารชีวิต ในเรื่องนี้มีแนวโน้มมากขึ้น ทั้งในพระศาสนจักรคาทอลิกเองและในสังคมพลเมืองทั่วไป เรียกร้องให้ใช้การลงโทษเช่นนี้ให้น้อยที่สุดหรือกำจัดให้สิ้นไปให้หมดได้ก็ยิ่งดี ปัญหานี้จะต้องพิจารณากันในเรื่องระบบการลงโทษตามความยุติธรรมที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่สุดก็ย่อมสอดคล้องกับแผนการของพระเจ้าสำหรับมนุษย์และสังคมมนุษย์ด้วย จุดหมายของการลงโทษที่สังคมกำหนดขึ้นก็คือ "เพื่อแก้ไขความวุ่นวายต่างๆ อันเกิดจากการกระทำผิดนั้น"46 เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองจะต้องแก้ไขการกระทำผิดละเมิดสิทธิของบุคคลและสังคมด้วยการออกกฎหมายที่มีบทลงโทษที่เหมาะสมต่อผู้กระทำผิด โดยให้เป็นเงื่อนไขช่วยให้ผู้กระทำผิดมีโอกาสใช้อิสรภาพของตนได้ใหม่ เช่นนี้เองอำนาจทางฝ่ายบ้านเมืองก็บรรลุผลตามจุดหมายแล้วคือการปกป้องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของส่วนรวม และความปลอดภัยของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เสนอสิ่งที่จะช่วยให้ผู้กระทำผิดนั้นเปลี่ยนแปลงแก้ไขความประพฤติของตนและกลับสู่สภาพปกติได้ดังเดิมด้วย47


เป็นที่ชัดเจนว่า เพื่อจะบรรลุผลตามจุดหมายดังกล่าวได้ ก็จะต้องมีการประเมินผลและทำการตัดสินใจอย่างรอบคอบในเรื่องธรรมชาติ และขอบเขตของการลงโทษ และไม่ควรให้ไปสุดโต่งจนถึงขั้นให้มีการลงโทษประหารชีวิตผู้กระทำผิด ยกเว้นในกรณีจำเป็นจริงๆ เท่านั้น นั่นคือ เมื่อไม่อาจหลีกเลี่ยงเป็นอื่นได้เพื่อจะปกป้องสังคมส่วนรวมให้สงบสุข อย่างไรก็ตาม จากผลของการปรับปรุงที่มีอยู่ในองค์กรที่ดูแลเรื่องระบบลงโทษผู้กระทำความผิด กรณีการลงโทษประหารชีวิต แม้จะยังมีอยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก


ในเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น หลักการที่มีกำหนดอยู่ในหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิก ก็ถือว่าถูกต้องใช้การได้ ที่ว่า “ถ้าการใช้วิธีอันปราศจากการนองเลือด เป็นสิ่งพอเพียงที่จะปกป้องรักษาชีวิตมนุษย์จากผู้ก้าวร้าว และป้องกันความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนได้ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็จะต้องจำกัดให้ใช้เพียงวิธีดังกล่าวนี้เท่านั้น เพราะเป็นวิธีที่ตอบสนองได้ดีกว่ากับสภาพเงื่อนไขที่เป็นจริงของความดีส่วนรวม และสอดคล้องยิ่งขึ้นกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ด้วย”48


57. ถ้าหากถึงกับจำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลให้มีการเคารพต่อชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตแม้กระทั่งชีวิตของอาชญากรและผู้ข่มเหงผู้อื่นอย่างยุติธรรมแล้วไซร้ บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นั้นก็ย่อมมีคุณค่าสูงสุดเมื่อคำนึงถึงผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิด และยิ่งเป็น

เช่นนั้นกับกรณีของมนุษย์ผู้อ่อนแอและไม่อาจปกป้องตนเองได้ที่พบการต่อสู้กับความหยิ่งยโส และอารมณ์ตามใจของผู้อื่นได้

มากที่สุดก็ในกฎบังคับให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้าประการนี้เท่านั้น


ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การห้ามล่วงละเมิดชีวิตของผู้บริสุทธิ์โดยเด็ดขาดนี้เป็นความจริงทางศีลธรรมที่พระคัมภีร์สอนเราไว้อย่างชัดเจน และอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรก็ได้เสนอแนะเช่นนี้เรื่อยมา คำสั่งสอนอันมั่นคงนี้เป็นผลที่เห็นได้ชัดจาก “การมีสำนึกแบบเหนือธรรมชาติในเรื่องความเชื่อ” ซึ่งเมื่อได้รับการดลใจและค้ำชูจากพระจิตเจ้า ก็ช่วยพิทักษ์รักษาประชากรของพระเจ้าให้พ้นจากความหลงผิด เมื่อ “คำสั่งสอนนี้แสดงให้เห็นถึงการเห็นพ้องต้องกันไปทั่วโลกในเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรม”49

เมื่อพระศาสนจักรต้องพบกับสภาพอ่อนแอยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในมโนธรรมของมนุษย์แต่ละคนและในสังคมมนุษย์ ในเรื่องการสำนึกถึงความไม่ถูกต้องอย่างยิ่งทางศีลธรรมที่จะกำจัดชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยตรง เป็นต้น ชีวิตตอนเริ่มต้นและชีวิตตอนวาระบั้นปลายของมนุษย์ อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรจึงประกาศออกมาบ่อยครั้งยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องชีวิต ว่าชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ และมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ อำนาจสั่งสอนของพระสันตะปาปา (The Papal Magisterium) ที่ยืนยันเน้นย้ำในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอจากคำสั่งสอนของบรรดาพระสังฆราช ด้วยเอกสารทางด้านข้อความเชื่อและด้านการอภิบาลที่กระชับชัดเจนจำนวนมาก ออกมาจากสภาพระสังฆราชหลายแห่ง หรือจากบรรดาพระสังฆราชเป็นการส่วนบุคคลด้วย สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ก็ได้กล่าวยืนยันเรื่องนี้ไว้อย่างหนักแน่นด้วยข้อความที่กระชับชัดเจนไว้ด้วยเช่นกัน50

ดังนั้น โดยอาศัยอำนาจที่พระคริสตเจ้า ทรงมอบไว้แด่ท่านนักบุญเปโตรและผู้สืบตำแหน่งจากท่าน และในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับบรรดาพระสังฆราชแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ข้าพเจ้าขอประกาศยืนยันว่า การจงใจฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์นั้นผิดหนักทางศีลธรรมเสมอ ข้อความนี้ที่มีพื้นฐานอยู่บนกฎที่มิได้เขียนไว้ แต่ภายใต้แสงสว่างแห่งเหตุผล มนุษย์ก็พบกฎนี้ได้ในใจของตนเอง (เทียบ รม 2:14-15) กฎนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งจากพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกมอบผ่านต่อๆ กันมาทางธรรมประเพณีของพระศาสนจักร และได้รับการสอนด้วยอำนาจสั่งสอนแบบ

ปกติและแบบสากลของพระศาสนจักร51


การตัดสินใจตามอำเภอใจที่จะคร่าชีวิตไปจากมนุษย์นั้นเป็นความชั่วทางศีลธรรมเสมอ และไม่อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้เลย ไม่ว่าจากจุดมุ่งหมายที่ฆ่าโดยตรงหรือที่ใช้การฆ่าเป็นเครื่องมือเพื่อจุดมุ่งหมายที่ดีกว่าก็ตาม อันที่จริงการฆ่าคนเป็นการกระทำผิดความนบนอบต่อกฎศีลธรรม และการกระทำผิดต่อพระเจ้าโดยตรงด้วย เพราะพระองค์เป็นเจ้าชีวิตและเป็นผู้ให้ประกันกฎศีลธรรมนี้ การฆ่าคนเป็นการกระทำผิดต่อคุณธรรมพื้นฐานความยุติธรรมและความรัก “ไม่มีอะไร และไม่มีใครจะสามารถปล่อยให้มีการฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์ได้ไม่ว่าทางใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตัวอ่อนมนุษย์หรือทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา ไม่ว่าจะเป็นทารกที่เกิดมาแล้วหรือคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้เป็นโรคเจ็บป่วยที่มิอาจรักษาให้หายได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของตนเอง หรือชีวิตของผู้ที่ถูกมอบไว้ให้เขาดูแลรักษาก็ตาม อีกทั้งมนุษย์ไม่สามารยินยอมให้มีการฆ่าคนเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะกระทำโดยเปิดเผยหรือกระทำโดยซ่อนเร้นก็ตาม อีกทั้งผู้ที่มีอำนาจก็ไม่สามารถแนะนำหรือยินยอมให้การกระทำผิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แบบถูกต้องตามกฎหมายด้วย”52


ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิการมีชีวิตอยู่นั้น มนุษย์ผู้บริสุทธิ์ทุกคนมีสิทธินี้เท่าเทียมกันกับมนุษย์คนอื่นทั้งหลาย ความเสมอภาคนี้เป็นพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์แท้จริงทางสังคมทุกชนิด ซึ่งจะให้เป็นไปได้เช่นนี้ ก็จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงและความยุติธรรม โดยรับรู้และปกป้องมนุษย์ชาย-หญิงทุกคนในฐานะเป็นบุคคลมนุษย์ และมิใช่เป็นสิ่งของที่ผู้อื่นจะใช้หาประโยชน์ได้ ก่อนที่จะมีกฎศีลธรรมที่ห้ามการคร่าชีวิตของมนุษย์ผู้บริสุทธิ์โดยตรงนั้น “ก็ไม่มีเอกสิทธิ์พิเศษ หรือการยกเว้นใดๆ สำหรับมนุษย์ผู้ใดเลย ไม่แตกต่างกันเลยไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นเจ้านายของโลกหรือเป็น ‘คนยากจนที่สุด’ บนผืนแผ่นดินโลกก็ตาม ต่อหน้ากฎเรียกร้องทางศีลธรรมแล้ว มนุษย์ทุกคนเท่าเสมอกันทั้งสิ้น”53




พระเนตรของพระองค์ทรงเห็นส่วนประกอบ

ที่ยังไม่เป็นตัวของข้าพระองค์”(สดด 139:16) :

การทำแท้งเป็นอาชญากรรมที่น่าชิงชังที่สุด


58. ในบรรดาอาชญากรรมที่กระทำผิดล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์นั้น การทำแท้งที่มีการเตรียมการไว้ (procured abortion) ถือว่ามีลักษณะเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงและเลวร้ายที่สุด สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 กล่าวประณามการทำแท้งรวมทั้ง

การฆ่าเด็กทารกว่าเป็น “อาชญากรรมที่น่าชิงชังที่สุด”54


แต่ปัจจุบันนี้ ในมโนธรรมของผู้คนมากมาย การมองเห็นถึงความหนักร้ายแรงของการทำแท้งยิ่งทีก็ยิ่งสลัวมัวยิ่งขึ้น การยอมรับการทำแท้งในความคิดของผู้คนทั้งหลาย ในพฤติกรรมและแม้แต่ในกฎหมายก็กำลังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงวิกฤติที่เป็นอันตรายร้ายแรงยิ่งในเรื่องสำนึกด้านศีลธรรม ซึ่งกำลังทำให้มนุษย์ยิ่งทีก็ยิ่งไม่สามารถแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่วได้ แม้กระทั่งสิทธิพื้นฐานที่จะมีชีวิตอยู่ก็กำลังตกอยู่ในอันตรายด้วย เมื่อเห็นสภาพการณ์ย่ำแย่เช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีความกล้าหาญในเวลานี้ที่มากกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อมองจ้องเข้าไปในดวงตา เพื่อค้นหาความจริง และเพื่อจัดการทุกสิ่งให้ถูกต้อง โดยไม่ประนีประนอมง่ายๆ หรือยอมให้ถูกประจญให้หลอกตนเองได้ ในเรื่องนี้ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวตำหนิไว้ตรงๆ ทีเดียวว่า “วิบัติแก่คนเหล่านั้นที่เรียกความชั่วว่าความดี และความดีว่าความชั่ว ผู้ที่ถือเอาว่าความมืดเป็นความสว่าง และความสว่างเป็นความมืด” (อสย 5:20) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทำแท้งนี้มีการใช้ศัพท์อันคลุมเครือกันไปทั่ว อาทิเช่น ใช้คำว่า “การขัดจังหวะการตั้งครรภ์” (interruption of pregnaney) ซึ่งมุ่งปิดบังธรรมชาติแท้จริงของการทำแท้งและมุ่งให้ฟังรื่นหูดูไม่ร้ายแรงอะไรนักในความคิดเห็นขอสาธารณชน บางทีปรากฏการณ์ด้านการใช้ภาษาแบบนี้เองก็เป็นอาการบ่งบอกถึงความไม่สบายของมโนธรรมแล้ว แต่ก็ไม่มีคำคำใดจะมีอำนาจมาเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ได้ กล่าวคือ การทำแท้งที่มีการเตรียมการไว้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการอะไรก็ตาม ก็เป็นการจงใจฆ่ามนุษย์โดยตรง นับตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ความเป็นอยู่ของเขาแล้วเรื่อยไปจนถึงวาระที่เขาถือกำเนิดมานั้น


ความผิดหนักด้านศีลธรรมของการทำแท้งแบบมีการเตรียมการไว้นั้น ปรากฏเป็นความจริงออกมา หากเราเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการฆ่ามนุษย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราพิจารณาดูสาระสำคัญต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผู้ถูกกำจัดนั้นเป็นมนุษย์ ณ ตอนแรกเริ่มชีวิตของเขา เราไม่อาจจินตนาการถึงผู้ใดที่เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิดเท่านี้อีกแล้ว ไม่มีทางเลยที่ผู้เป็นมนุษย์ในสภาพเช่นนี้จะถือว่าเป็นผู้รุกรานได้ และยิ่งไม่อาจถือว่าเขาเป็นผู้รุกรานที่อยุติธรรมต่อผู้อื่นได้เลย เขานั้นอ่อนแอยิ่งไม่อาจปกป้องตัวเองได้ เขาไม่มีแม้แต่พลังขั้นน้อยสุดเช่นเสียง

ร้องและน้ำตาของเด็กทารกที่เพิ่งคลอดออกมาเสียด้วยซ้ำ ทารกที่ยังไม่เกิดมาก็อยู่ในการปกป้องดูแลของสตรีผู้เป็นมารดาที่อุ้มท้องเขาอยู่นั้นถึงกระนั้น บางครั้งกลับเป็นสตรีผู้เป็นมารดานั้นเองที่ตัดสินใจ และร้องขอให้กำจัดเด็กในครรภ์ของตน และแสวงหาทางที่จะให้มีการลงมือทำแท้งนั้นเสียเอง


เป็นความจริงที่ว่า การตัดสินใจทำแท้งมักจะเป็นสิ่งที่น่าเศร้า และเจ็บปวดยิ่งนักสำหรับผู้เป็นแม่ ในเมื่อการตัดสินใจที่จะต้องกำจัดผลของการตั้งครรภ์นั้นมิใช่มาจากเหตุผลอันเห็นแก่ตัวหรือเพื่อความสุขสบายของตัวเธอเอง แต่ที่ต้องตัดสินใจทำเช่นนั้น เกิดมาจากความต้องการปกป้องคุณค่าสำคัญบางประการ อาทิเช่น เพื่อสุขภาพของตัวเธอเอง หรือเพื่อว่าสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวจะได้พอมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้พอสมควร บางครั้งมาจากความหวั่นเกรงว่า เด็กที่เกิดมานั้นอาจต้องมีชีวิตอยู่ในสภาพที่แย่มาก ซึ่งจะเป็นการดีกว่าหากเขาไม่ต้องเกิดมา ถึงกระนั้นก็ตามเหตุผลต่างๆ เหล่านี้และเหตุผลอื่นๆ ทำนองนี้ แม้จะรุนแรงและน่าเศร้าเพียงไรก็ตาม ก็ไม่อาจนำเอามาแก้ต่างให้การจงใจฆ่าชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์นั้น เป็นสิ่งอันชอบธรรมไปได้เลย


59. เช่นเดียวกับผู้เป็นแม่ ก็ยังมีคนอื่นๆ อีกด้วยที่มักจะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเรื่องการให้เด็กที่อยู่ในครรภ์นั้นต้องตาย คนแรกสุดที่จะต้องถูกตำหนิก็คือผู้เป็นพ่อของเด็ก ไม่ใช่เพียงโดยทางตรงที่เขาบีบบังคับให้ฝ่ายหญิงไปทำแท้งเท่านั้น

แต่แม้โดยทางอ้อมด้วยที่เขามีส่วนกระตุ้นให้เธอจำต้องตัดสินใจทำเช่นนั้น เมื่อเขาทิ้งเธอให้ต้องเผชิญปัญหาการตั้งครรภ์นั้นเพียงลำพัง55 เช่นนี้เองที่ครอบครัวนั้นต้องได้รับบาดเจ็บสาหัส และต้องถูกลบหลู่ทั้งเรื่องธรรมชาติที่ให้ครอบครัวเป็นศูนย์รวมความรักและเรื่องกระแสเรียกที่ให้ครอบครัวเป็น “สักการะสถานแห่งชีวิต” ด้วย อีกทั้งเราไม่อาจมองข้ามความกดดันต่างๆ ที่บ่อยครั้งมาจากวงศาคณาญาติและมิตรสหายทั้งหลายด้วย บางครั้งสตรีผู้นั้นต้องตกอยู่ภายใต้ความกดดันบีบคั้นรุนแรง จนว่าเธอเกิดความรู้สึกทางจิตวิทยาให้ต้องไปทำแท้ง แน่นอนในกรณีเช่นนี้ ความรับผิดชอบทางศีลธรรมก็ตกอยู่กับผู้ที่มีส่วนกดดันทั้งโดยทางตรงหรือ

ทางอ้อมให้สตรีผู้นั้นต้องไปทำแท้งแพทย์และพยาบาลก็มีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกันเมื่อนำเอาทักษะที่ต้องใช้เพื่อส่งเสริมชีวิตมาใช้ก่อให้เกิดความตายเช่นนี้...


แต่ความรับผิดชอบยังตกอยู่กับพวกที่ออกกฎหมายเช่นกันด้วย ที่พวกเขาส่งเสริมและเห็นชอบอนุมัติกฎหมายทำแท้ง และไปถึงขั้นที่ว่าพวกเขามีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องนี้จัดการให้ผู้บริหารศูนย์ที่ให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเปิดให้บริการทำแท้งด้วย ความรับผิดชอบทั่วไปที่ร้ายแรงไม่น้อยกว่ากันก็ตกอยู่กับพวกที่สนับสนุนให้เผยแพร่ทัศนคติเรื่องการปล่อยเนื้อปล่อยตัวในการมีเพศสัมพันธ์กัน (an attitude of sexual permissiveness) กับเรื่องการขาดความนิยมยกย่องความเป็นแม่ และความรับผิดชอบยังตกอยู่กับผู้ที่ควรจะได้กำหนด แต่ก็ไม่ได้ทำนโยบายทางด้านครอบครัวและด้านสังคมแบบที่ช่วยสนับสนุนให้ครอบครัวทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่ครอบครัวที่มีขนาดใหญ่กว่า ด้วยการส่งเสริมครอบครัวเหล่านั้นเป็นต้นในเรื่องความจำเป็นทางด้านการเงินและการศึกษาประการสุดท้ายเราไม่อาจมองข้ามเรื่องเครือข่ายการสมคบคิดกัน ซึ่งครอบคลุมไปถึงสถาบัน มูลนิธิและสมาคมต่างๆ ในระดับนานาชาติ ที่ทำการรณรงค์กันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีการออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้และกระจายไปทั่วโลก ในกรณีเช่นนี้ การทำแท้งจึงเกินเลยความรับผิดชอบเป็นส่วนบุคคลของมนุษย์ และข้ามพ้นการเป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่ละคน ไปสู่มิติเด่นชัดยิ่งทางด้านสังคม การทำแท้งเป็นบาดแผลฉกรรจ์ที่ส่งผล

กระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ โดยผู้คนที่ควรจะเป็นผู้ส่งเสริมและปกป้องชีวิตมนุษย์เสียเอง ดังที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในพระสมณสารถึงครอบครัวทั้งหลายว่า “เรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหญ่หลวงล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์ มิใช่คุกคามชีวิตมนุษย์แต่ละคนเท่านั้น แต่คุกคามชีวิตอารยธรรมทั้งหมดของมนุษย์ด้วย”56 เรากำลังเผชิญกับสิ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “โครงสร้างบาป” (Structure of sin) ที่ขัดขวางชีวิตมนุษย์ที่ยังมิได้เกิดมานั้น


60. มีบางคนพยายามหาข้อแก้ต่างให้การทำแท้งเป็นสิ่งชอบธรรมโดยอ้างว่าผลของการปฏิสนธินั้น อย่างน้อยเมื่อนับกันตามจำนวนวันแล้ว ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นชีวิตของบุคคลมนุษย์ได้ แต่อันที่จริงแล้ว “นับแต่เมื่อไข่ได้รับการผสมพันธุ์ ชีวิตก็เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งชีวิตนั้นมิใช่เป็นของผู้เป็นพ่อ หรือของผู้เป็นแม่ แต่เป็นชีวิตของมนุษย์ใหม่อีกคนหนึ่งที่มีการเจริญเติบโตเป็นของตนเอง ชีวิตนั้นจะไม่เคยเป็นชีวิตมนุษย์ได้เลยถ้าหากมิใช่เป็นมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นมาแล้ว สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนเสมอมาและ...วิทยาการสมัยใหม่ด้านพันธุศาสตร์ก็ยืนยันชัดเจนในเรื่องนี้ วิทยาการนี้ชี้ให้เห็นว่านับแต่แรกปฏิสนธินั้น ก็เกิดมีโครงการเฉพาะของสิ่งที่ชีวิตใหม่นี้จะเป็นแล้ว นั่นคือ เป็นบุคคลมนุษย์ เป็นมนุษย์เฉพาะผู้หนึ่งที่มิติด้านคุณลักษณะต่างๆ ของเขาได้รับการกำหนดไว้แล้ว นับแต่เมื่อไข่ได้รับการผสมพันธุ์นั้น การเผชิญภัยของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งก็เริ่มต้นขึ้น และสมรรถภาพแต่ละอย่างก็ต้องอาศัยเวลา ซึ่งค่อนข้างเป็นเวลายาวนาน เพื่อจะได้พบสถานที่และตำแหน่งที่เขาจะแสดงตนได้”57 ถึงแม้เรื่องการที่วิญญาณเข้ามาอยู่ในกายมนุษย์นั้นจะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนแน่นอนด้วยข้อมูลด้านการทดลองก็ตาม ผลจากการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องตัวอ่อนมนุษย์ก็ให้ “การบ่งชี้อันมีคุณค่าสำหรับการวินิจฉัยได้ด้วยเหตุผลถึงการที่วิญญาณเข้ามาอยู่กับกายมนุษย์ ณ เวลาที่เริ่มเป็นชีวิตนั้นขึ้นมาแล้วเป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์คนหนึ่งจะไม่เป็นบุคคลมนุษย์ได้เล่า?”58


ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่สำคัญมากจากมุมมองด้านกฎข้อบังคับทางศีลธรรม ก็คือ เพียงแค่มีความน่าจะเป็นไปได้ว่ามีชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้ว ก็น่าจะเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่าเป็นการห้ามชัดเจนมิให้มีการเข้าไปแทรกแซงใดๆ ที่มุ่งเพื่อทำลายตัวอ่อนมนุษย์เป็นอันขาดเพราะเหตุนี้เองนอกเหนือจากข้อโต้แย้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และการยืนยันต่างๆ ทางด้านปรัชญา ซึ่งอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรยังมิได้ลงไปทำการเสวนาในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างชัดเจน พระศาสนจักรก็ได้สั่งสอนและยังคงสอนอยู่เสมอมาว่าผลของการสืบพันธุ์มนุษย์ นับแต่แรกเริ่มที่เกิดผสมพันธุ์กันขึ้นนั้น ต้องได้รับการประกันว่าจะได้รับความเคารพแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทางด้านศีลธรรมต่อความเป็นเอกภาพครบถ้วนของร่างกายและจิตวิญญาณของบุคคลมนุษย์ นั่นคือ “มนุษย์ต้องได้รับการเคารพให้เกียรติ และได้รับการปฏิบัติเช่นบุคคลมนุษย์นับแต่แรกเริ่มที่เขาปฏิสนธินั้น และนับแต่จุดนั้นแล้วที่สิทธิการเป็นมนุษย์ของเขาจะต้องได้รับการยอมรับ ซึ่งสิทธิแรกสุดก็คือ สิทธิอันมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ของบุคคลมนุษย์ผู้บริสุทธิที่จะมีชีวิตอยู่”59


61. หนังสือพระคัมภีร์ไม่เคยมีกล่าวถึงปัญหาเรื่องการจงใจทำแท้ง(deliberate abortion) จึงไม่มีการกล่าวประณามเรื่องนี้โดยตรงเป็นการเฉพาะ แต่ก็มีการแสดงถึงการให้ความเคารพอย่างมากต่อทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึงกับมีการเรียกร้องตามหลักเหตุผลตามมาว่าให้บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นี้ ครอบคลุมไปถึงทารกที่ยังไม่เกิดมานั้นด้วย


ชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์และมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ ณ ทุกขณะจิตของการเป็นอยู่ รวมถึงขั้นตอนระยะแรกก่อนที่ชีวิตนั้นถือกำเนิดมาด้วย มนุษย์ทุกคนจากครรภ์มารดานั้นเป็นของของพระเจ้า ผู้ทรงแสวงหาและรู้จักเขา ทรงสร้างเขาขึ้นมาและทรงถักทอเขาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทรงจ้องมองดูเขายังเป็นตัวอ่อนกระจิดริดที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และทรงเห็นภาพความเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่แห่งอนาคตของเขา ซึ่งวันเวลาของเขาก็ถูกนับไว้แล้ว และกระแสเรียกของเขาก็ถูกบันทึกไว้แล้วใน “หนังสือแห่งชีวิต” (เทียบ สดด 139:1, 13-16) แม้เมื่อเขายังอยู่ในครรภ์มารดา ดังที่มียืนยันอยู่ในพระคัมภีร์มากมายหลายตอน60 มนุษย์ก็เป็นสมบัติส่วนบุคคลแห่งการเอาพระทัยใส่ด้วยความรักดุจบิดาของพระเจ้า


ธรรมประเพณีคริสตชน ดังคำแถลงการณ์ที่ออกมาโดยพระสมณกระทรวงเพื่อข้อความเชื่อได้บ่งชี้ไว้นั้น61 ก็ชัดเจนและเห็นพ้องต้องกัน นับแต่แรกเริ่มจนมาถึงยุคปัจจุบันของเรานี้ ในการชี้แจงถึงเรื่องการทำแท้งว่าเป็นการทำผิดกฎศีลธรรมในข้อหนัก นับตั้งแต่พวกคริสตชนกลุ่มแรกทำการติดต่อกับโลกกรีก โรมัน ซึ่งมีการทำแท้งและการฆ่าเด็กแพร่กระจายอยู่ทั่วไปนั้น พวกคริสตชนก็ต่อต้านอย่างถึงรากถึงโคนกับประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น ดังที่แสดงให้เห็นในหนังสือดีดาเคที่กล่าวถึงมาข้างต้นแล้ว62 ในหมู่นักเขียนของพระศาสนจักรกรีก อาเธนาโกราสบันทึกไว้ว่า พวกคริสตชนถือว่าหญิงที่ใช้ยาช่วยทำแท้งบุตรนั้นเป็นฆาตกร เพราะว่าเด็กนั้นแม้จะยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดาก็ตาม “ก็อยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองแห่งพระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าแล้ว”63 ในหมู่นักเขียนลาติน แตร์ตลเลียนยืนยันว่า

การกีดกันผู้ใดไม่ให้เกิดมาก็ถือว่าเป็นการฆ่าคนก่อนแล้วจึงเป็นสิ่งแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นว่า เขาฆ่าวิญญาณนั้นที่เกิดมาแล้วหรือว่าฆ่าเขาเมื่อตอนถือกำเนิดออกมา เขาผู้ที่จะเป็นมนุษย์ในวันหนึ่งข้างหน้า ก็เป็นมนุษย์เรียบร้อยแล้ว”64 ตลอดประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์กว่าสองพันปี ข้อความเชื่อเดียวกันนี้ก็ได้รับการสั่งสอนเรื่อยมาโดยบรรดาปิตาจารย์ พระสงฆ์ผู้อภิบาลและนักปราชญ์ทั้งหลายของพระศาสนจักร แม้แต่การถกเถียงกันทางวิทยาศาสตร์และทางปรัชญาในเรื่องเวลาอันแน่นอนที่วิญญาณเข้ามาผสานกับร่างกาย ก็หาได้ทำให้เกิดการลังเลที่จะกล่าวประณามการทำแท้งไม่


62. อำนาจสั่งสอนขององค์พระสันตะปาปาเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ยืนยันอีกครั้งอย่างแข็งขันถึงข้อความเชื่อร่วมกันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ในพระสมณสาร Casti Connubii ของพระองค์ ทรงปฏิเสธการหาข้อแก้ต่างพิเศษให้การทำแท้งเป็นสิ่งอันชอบธรรม65 สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ทรงห้ามการทำแท้งโดยตรงทุกรูปแบบ กล่าวคือ ห้ามการกระทำทุกอย่างที่มุ่งโดยตรงที่จะทำลายชีวิตมนุษย์ในครรภ์มารดา “ไม่ว่าการทำลายล้างนั้นจะมุ่งทำเป็นจุดมุ่งหมายโดยตรง หรือเป็นเครื่องมือนำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นก็ตาม”66 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ทรงยืนยันอีกครั้งว่าชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่า “นับแต่แรกเริ่มชีวิตนั้น ชีวิตมนุษย์ก็เกี่ยวข้องกับการเนรมิตสร้างโดยตรงของพระเจ้า”67

สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ดังที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น ก็กล่าวประณามการทำแท้งไว้อย่างรุนแรงว่า “นับแต่เมื่อปฏิสนธิขึ้นมา ชีวิตนั้นต้องได้รับการพิทักษ์ดูแลด้วยความเอาใจใส่ ในขณะที่การทำแท้งและการฆ่าเด็กทารกนั้นถือเป็นอาชญากรรมที่น่าชิงชังที่สุด”68

กฎเกณฑ์ทางประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรนับแต่ศตวรรษแรกๆ มาแล้ว ก็ได้กำหนดบทลงโทษหนักต่อผู้กระทำผิดในเรื่องการทำแท้ง การถือปฏิบัติเช่นนี้ ซึ่งมีการลงโทษรุนแรงมากบ้างน้อยบ้าง ก็ได้รับการยืนยันมาตลอดหลายยุคหลายสมัยในประวัติศาสตร์ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรปี 1917 กำหนดโทษการทำแท้งถึงขั้นตัดขาดจากพระศาสนจักร69ส่วนประมวลกฎหมายพระศาสนจักรฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุดก็ยังคงยึดถือตามธรรมประเพณีนี้ เมื่อตราไว้เป็นกฎหมายว่า “บุคคลใดจัดให้มีการทำแท้งโดยมีผลสำเร็จตามมาต้องโทษถูกตัดขาดจากพระศาสนจักรโดยอัตโนมัติ”70 การตัดขาดจากพระศาสนจักรนี้มีผลถึงผู้สมคบคิดด้วย ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนพวกนี้ การกระทำผิดนั้นก็มิอาจสำเร็จผลได้71 โดยการกลับมายึดแนวบทลงโทษเช่นเดิมนี้ พระศาสนจักรก็บ่งบอกชัดเจนว่า การทำแท้งเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและเป็นภัยอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงกระตุ้นให้ผู้กระทำเช่นนั้น

ต้องรีบหาทางกลับใจโดยไม่ชักช้าในพระศาสนจักร โทษถูกตัดขาดจากพระศาสนจักรมีอยู่ก็เพื่อให้ปัจเจกบุคคลตระหนักเต็มที่ถึงบาปผิดหนักข้อนี้ และเพื่อช่วยกันสนับสนุนให้ผู้กระทำผิดนั้นกลับใจจริงและทำการใช้โทษบาป


ในเมื่อธรรมประเพณีด้านข้อความเชื่อและด้านกฎวินัยของพระศาสนจักรสอดคล้องกันเช่นนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 จึงทรงประกาศได้ว่าธรรมประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง และไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เลย72 ฉะนั้นด้วยอำนาจที่พระคริสตเจ้าทรงมอบแก่ท่านนักบุญเปโตรและผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน โดยร่วมสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาพระสังฆราช -ซึ่งในโอกาสต่างๆ พวกท่านก็ได้กล่าวประณามการทำแท้ง และข้าพเจ้าเองก็ได้ปรึกษาหารือกับพวกท่านเหล่านั้นดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แม้ว่าพวกท่านจะอยู่กระจัดกระจายกันไปทั่วทุกมุมโลกก็ตาม พวกท่านก็ได้แสดงความเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในข้อความเชื่อประการนี้-ข้าพเจ้าจึงประกาศว่าการทำแท้งโดยตรง กล่าวคือ การทำแท้งที่มุ่งเป็นจุดหมาย หรือที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุจุดหมายนั้น เป็นการกระทำที่ผิดหนัก

เสมอ เพราะว่าเป็นการฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์ตามอำเภอใจของตนเอง กฎธรรมชาติและพระวาจาของพระเจ้าที่มีเขียนไว้นั้น เป็นพื้นฐานของข้อความเชื่อนี้ ที่ส่งผ่านมาทางธรรมประเพณีของพระศาสนจักร และได้รับการสอนจากอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรท้องถิ่นและจากอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรสากลด้วย73


ไม่มีสถานการณ์ใด จุดมุ่งหมายใด กฎหมายใดที่มีอยู่ จะมาทำให้การกระทำนี้ ที่ภายในตัวมันเองเป็นสิ่งผิดทำไม่ได้นั้น กลับมาเป็นสิ่งถูกต้องที่ทำได้ เพราะว่ามันเป็นการกระทำขัดต่อกฎของพระเจ้า ซึ่งมีจารึกอยู่ในใจมนุษย์ทุกคน ที่มนุษย์สามารถรู้ได้ด้วยอาศัยเหตุผล และที่ได้รับการประกาศโดยพระศาสนจักร


63. การประเมินศีลธรรมในเรื่องการทำแท้งนี้จะต้องนำไปประยุกต์ใช้กับรูปแบบต่างๆ ที่เมื่อเร็วๆ นี้เข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับเรื่องตัวอ่อนมนุษย์ ซึ่งก็เกี่ยวพันอย่างหลีกเลี่ยงมิได้กับการฆ่าตัวอ่อนมนุษย์เหล่านั้นด้วย แม้ว่าจะถูนำมาใช้ด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม นี่คือกรณีเรื่องการทำการทดลองตัวอ่อนมนุษย์ ซึ่งแพร่กระจายยิ่งขึ้นในแวดวงการศึกษาค้นคว้าทางด้านชีวแพทย์ศาสตร์ (biomedical research) และเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตให้ทำได้โดยถูกต้องตากฎหมายในบางประเทศ ถึงแม้ว่า “เราจะต้องถือว่าเป็นกระบวนการที่ถูกต้องทำได้ที่จะดำเนินการในเรื่องตัวอ่อนมนุษย์ ที่มีการให้ความเคารพต่อชีวิตและอัตลักษณ์ (integrity) ของตัวอ่อนมนุษย์และไม่ถึงกับต้องเสี่ยงแบบไม่สมควรที่จะทำลายตัวอ่อนมนุษย์นั้น แต่มุ่งเพื่อให้การรักษา เพื่อการปรับปรุงสภาวะสุขภาพของตัวอ่อนมนุษย์หรือเพื่อช่วยให้ตัวอ่อนมนุษย์นั้นรอดชีวิตอยู่ได้เป็นสำคัญก็ตาม”74 ถึงกระนั้น ก็จำเป็นต้องกล่าวยืนยันไว้ว่า การใช้ตัวอ่อนมนุษย์หรือทารกในครรภ์มารดา (human embryos or fetuses) เป็นวัสดุสำหรับการทดลองนั้นเป็นการกระทำผิดหนัก(crime) ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลผู้นั้น ที่เขามีสิทธิจะได้รับความเคารพเช่นที่เด็กที่เกิดมาแล้วคนหนึ่งสมควรได้รับความเคารพนั้นเท่าๆ กับบุคคลมนุษย์ทุกคน75

การประณามทางศีลธรรมเช่นนี้ยังถือด้วยว่าขั้นตอนต่างๆ ที่กระทำผิดต่อตัวอ่อนมนุษย์และทารกที่มีชีวิตอยู่ในครรภ์มารดาที่บางครั้ง “ถูกผลิตขึ้นมา” เป็นพิเศษเพื่อจุดมุ่งหมายนี้โดยการผสมเทียมในหลอดแก้ว (in vitro fertilization)-ถูกนำมาใช้เป็น “วัสดุทางชีววิทยา” หรือไม่ก็ถูกใช้เป็นตัวจัดการให้มีอวัยวะหรือชิ้นส่วนร่างกายที่จะนำไปใช้ปลูกถ่าย (for tramsplants) ในการรักษาโรคบางอย่าง การฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์เช่นนี้ แม้ว่าจะกระทำเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่มนุษย์ผู้อื่นก็ตาม ก็เป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้เลย


เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการประเมินผลศีลธรรมในเรื่องการใช้เทคนิคต่างๆ ตรวจสอบการตั้งครรภ์ของมารดาก่อนคลอด ซึ่งช่วยให้มีการตรวจสอบแต่เนิ่นๆ ดูสิ่งผิดปกติที่อาจเป็นไปได้ในตัวทารกที่ยังไม่เกิดมานั้นในเรื่องความซับซ้อนของเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ การตัดสินทางด้านศีลธรรมที่ถูกต้องและเป็นระบบนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อเทคนิคเหล่านั้นไม่เป็นเรื่องการเสี่ยงอันไม่เหมาะสมกับชีวิตของทารกและมารดา และมุ่งทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ที่จะให้การบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ หรือแม้แต่มุ่งแสดงความชื่นชอบอย่างสงบยอมรับทารกที่ยังไม่เกิดมาตามที่ทราบผล

นั้น เทคนิคเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องทำได้ทางศีลธรรม แต่เนื่องจากศักยภาพที่จะทำการบำบัดรักษาทารกก่อนเกิดมานั้น ยังมีขีดจำกัดอยู่มากในปัจจุบัน บางครั้งจึงเกิดขึ้นว่าเทคนิคเหล่านี้กลับถูกนำไปใช้ด้วยจุดประสงค์ทางด้านพันธุศาสตร์ที่ยอมรับเอาการทำแท้งแบบที่คัดเลือกแล้ว (selective abortion) เพื่อกันมิให้ทารกที่มีความผิดปกติด้านต่างๆ นั้นถือกำเนิดมา ทัศนคติเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าละอายและน่าชิงชังเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นทัศนคติที่นำมาใช้วัดคุณค่าชีวิตมนุษย์ด้วยมาตรการเพียงว่ามนุษย์ผู้นั้นมีร่างกาย “เป็นปกติ” สมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่เท่านั้น จึงเปิดโอกาสให้การฆ่าทารกและการทำการุณยฆาตเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย


ถึงกระนั้น การที่พี่น้องชาย-หญิงของเรายอมรับทุกข์ทรมานจากความพิการร้ายแรงของตนดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความกล้าหาญอย่างสงบนั้น เมื่อพวกเราได้เห็นถึงการยอมรับและความรัก ก็ช่วยเป็นสักขีพยานเด่นชัดชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ให้คุณค่าแท้แก่ชีวิต และแม้พวกเขาจะตกอยู่ในสภาวะอันยากลำบากสักเพียงไรก็ตาม การเป็นสักขีพยานนี้ก็ทำให้ความทุกข์นั้นกลับเป็นสิ่งล้ำค่ายิ่งสำหรับพวกเขาเองและสำหรับคนอื่นๆ ด้วยพระศาสนจักรอยู่ใกล้ชิดคู่สามีภรรยา ที่แม้จะตกอยู่ในความเศร้าและความทุกข์ ก็ยังเต็มใจยอมรับบุตรที่พิการของตนไว้ พระศาสนจักรรู้สึกขอบคุณครอบครัวเหล่านั้นที่รับเอาเด็กๆ ที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งเพราะพวกเขาพิการหรือเจ็บป่วยมาดูแลเอาใจใส่แทน


เราแต่ผู้เดียว คือผู้นำทั้งความตายและชีวิตมาให้ได้”

(ฉธบ 32:39) : สภาพอันน่าสลดใจของการ

ทำการุณยฆาต


64. ณ อีกปลายด้านหนึ่งของภาพชีวิตมนุษย์ มนุษย์ชาย-หญิงทั้งหลายพบว่า ตนกำลังเผชิญกับธรรมล้ำลึกเรื่องความตาย ปัจจุบันเนื่องจากความเจริญที่ปิดรับความจริงโพ้นธรรมชาติ (the transcendent) ประสบการณ์ของผู้กำลังจะตายจึงมีรูปลักษณ์ใหม่ๆ เมื่อแนวโน้มที่มักจะตีคุณค่าชีวิตมนุษย์เพียงในแง่ที่ว่าชีวิตนั้นนำความพึงพอใจและความผาสุกมาให้หรือไม่เท่านั้น ความทุกข์จึงดูเหมือนเป็นการถอยหลังที่ไม่อาจรับทนได้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะหลีกหนีให้พ้น ความตายถูกถือว่าเป็นสิ่งที่ “ไร้ความหมาย” (senseless) หากว่าจู่ๆ มันเข้ามาขัดขวางชีวิตที่กำลังเปิดสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ในอนาคตของตนอยู่ แต่ความตายกลับกลายเป็น “การปลดปล่อยอันชอบธรรม” (rightful liberation) เมื่อชีวิตนั้นถือว่าไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด และต้องโชคร้ายตกอยู่ในความทุกข์ทรมานมากขึ้นที่มนุษย์ไม่อาจรับทนได้อีกต่อไป


ยิ่งกว่านั้น เมื่อมนุษย์ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความสัมพันธ์พื้นฐานกับพระเจ้า มนุษย์ก็คิดว่าตนเองเป็นมาตรการชี้วัดและควบคุมตนเอง ตนมีสิทธิเรียกร้องให้สังคมให้ประกันแก่ตน ซึ่งวิธีและเครื่องมือที่จะตัดสินใจเองว่าตนควรจะทำอะไรกับชีวิตของตนด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ เป็นต้น ผู้คนในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มักจะปฏิบัติเช่นว่านี้ กล่าวคือพวกเขารู้สึกว่าตนถูกกระตุ้นให้กระทำเช่นนี้จากความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ และเทคนิคต่างๆ ที่เจริญรุดหน้ารวดเร็วกว่าเมื่อก่อน โดยการใช้ระบบและเครื่องมือที่ล้ำยุคทันสมัย วิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ในปัจจุบันก็ไม่สามารถไม่เพียงแค่จัดการกับกรณีต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ถือว่าไม่อาจรักษาได้ และช่วยลดหรือกำจัดความเจ็บปวดให้หายไปได้เท่านั้น แต่ยังสามารถรักษาให้คงอยู่หรือช่วยชะลอชีวิตให้ยืนยาวอยู่ต่อไปได้แม้อยู่ในสภาพอ่อนแอที่สุดก็ตาม กลับใช้เครื่องมือช่วยให้คนป่วยที่อวัยวะพื้นฐานทางร่างกายหยุดทำงานโดยกระทันหันนั้นฟื้นกลับมาทำงานได้ใหม่ และใช้วิธีการพิเศษต่างๆ ช่วยให้มีการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่มนุษย์ได้


ในบริบทที่ว่ามานี้ ก็มีการประจญให้มนุษย์คิดใช้วิธีกระทำการุณยฆาต กล่าวคือ เพื่อจะควบคุมความตายและนำความตาย “อย่างสงบ” มาให้ชีวิตของตนหรือชีวิตของผู้อื่นก่อนเวลาอันควร ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นตรรกะที่สมเหตุสมผลและมีมนุษยธรรมนั้น เมื่อพิจารณากันให้ใกล้ชิดแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลและไร้มนุษยธรรมเป็นอย่างยิ่ง เรากำลังเผชิญกับอาการอันน่าเป็นห่วงยิ่งอีกอย่างหนึ่งของ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” ซึ่งกำลังก้าวรุดหน้าอย่างมาก เป็นต้น ในสังคมที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว ซึ่งชี้วัดถึงการมีทัศนคติอันสลวนจนเกินไปกับเรื่องของการมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ และเป็นทัศนคติที่มองเห็นว่าการมีผู้สูงอายุ และผู้พิการมากขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ทนรับไม่ได้ และเป็นภาระเกินไป ผู้คนพวกนั้นมักจะถูกครอบครัวของตนและสังคมปล่อยให้อยู่โดดเดี่ยว เพราะสังคมนับรวมผู้เป็นมนุษย์เฉพาะบนพื้นฐานมาตรการชี้วัดในเรื่องประสิทธิภาพการให้ผลผลิต (productive efficiency) เป็นสำคัญซึ่งตามมาตรการเช่นนี้ ชีวิตที่เสื่อมถอยไร้ความหวังใดๆ แบบนั้นย่อมไม่มีคุณค่าอันใดเลย


65. สำหรับการตัดสินที่ถูกต้องทางด้านศีลธรรมในเรื่องการทำการุณยฆาต (Euthanasia) นั้น ประการแรกจะต้องมีการนิยามความหมายให้ชัดเจน การทำการุณยฆาตตามความหมายเฉพาะของมันนั้นเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึงการกระทำ หรือการละเว้นที่จะกระทำ ซึ่งโดยตัวมันเองและโดยเจตนาแล้ว เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการตายของบุคคลมนุษย์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดความทุกข์ทรมานให้สิ้น “คำที่นำมาใช้อ้างถึงการทำการุณยฆาตนั้น จึงพบได้จากเรื่องของเจตนาที่จะกระทำ และวิธีการที่ใช้กระทำการุณยฆาตนั้น”76

การทำการุณยฆาตจะต้องได้รับการแยกแยะจากการตัดสินใจยกเลิกวิธีที่เรียกกันว่า “การรักษาทางการแพทย์แบบก้าวหน้า” (aggressive medical treatment) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นขั้นตอนการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่สอดคล้องกัสภาพการณ์จริงของผู้ป่วยนั้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะว่า ขั้นตอนการรักษานั้นในตอนนี้ไม่อาจได้รับผลตามที่คาดหวังไว้ หรือเป็นเพราะว่าขั้นตอนเหล่านั้นก่อให้เกิดภาระหนักต่อผู้ป่วยและต่อครอบครัวของผู้ป่วยนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อผู้ป่วยนั้นใกล้จะตายเต็มทีแล้ว และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในมโนธรรมของเรา เราก็สามารถ “ปฏิเสธการรักษาในรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะช่วยให้ชีวิตนั้นยืดยาวออกไปแบบไม่แน่นอน และเป็นภาระหนักมากขึ้นนั้นได้ ตราบใดที่การให้การดูแลรักษาแบบปกติต่อผู้ป่วยในกรณีเหมือนกันนี้ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ถูกระงับ”77แน่นอนมีกฎข้อบังคับทางศีลธรรมให้เราต้องดูแลรักษาตัวเอง และต้องยอมให้ตัวเองได้รับการดูแลรักษาด้วยเช่นกัน แต่หน้าที่นี้ก็จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมตามที่เป็นจริงต่างๆ นั้นด้วย จำเป็นต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจนว่า วิธีการรักษาที่มีอยู่นั้นเหมาะสมจริงๆ หรือไม่ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพดีขึ้น การละเว้นไม่ใช้วิธีการพิเศษหรือวิธีการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วยนั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือเป็นเรื่องการทำการุณยฆาต แต่ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับสภาวะแท้จริงของมนุษย์ยามที่ต้องเผชิญกับความตาย78


ในวงการแพทย์สมัยใหม่ มีการให้ความสนใจกันมากขึ้นต่อสิ่งที่เรียกกันว่า “วิธีรักษาด้วยการใช้ยาบรรเทาความเจ็บปวด” (methods of palliative care) ซึ่งหาวิธีทำให้ผู้ป่วยสามารถรับทนความทุกข์ทรมานนั้นได้ในช่วงเจ็บปวดขั้นสุดท้าย และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าผู้ป่วยนั้นได้รับกำลังสนับสนุนช่วยให้สู้ทนกับความรู้สึกเจ็บปวดทรมานของตนได้ หนึ่งในหลายคำถามซึ่งเกิดขึ้นมาในบริบทที่ว่านี้ก็คือ คำถามที่ว่า เป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ที่จะใช้ยาระงับปวด (painkillers) และยาระงับประสาท (sedatives) หลากหลายชนิด เพื่อช่วยผ่อนคลายบรรเทาความเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วย ในเมื่อวิธีการทำเช่นนี้เป็นการเสี่ยงทำให้ชีวิตของเขาสั้นเข้า ในขณะเดียวกันก็ต้องขอชมผู้ป่วยที่เต็มใจยอมรับความเจ็บปวดทรมานโดยไม่ยอมให้ใช้วิธีรักษาแบบใช้ยาระงับความเจ็บปวด ทั้งนี้เพื่อเขาจะยังคงรู้สึกตัวได้เต็มที่ และถ้าเขาเป็นผู้มีความเชื่อก็เพื่อเขาจะได้ร่วมส่วนในพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้าโดย

รู้ตัวเต็มที่ได้ ซึ่งการกระทำ “แบบวีรบุรุษ” เช่นนี้ก็ไม่สามารถถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยทุกคนได้ สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ทรงกล่าวยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ที่จะใช้สารเสพติดช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทรมาน แม้เมื่อจะมีผลทำให้ผู้ป่วยมีสติรู้ตัวน้อยลง และอาจทำให้ชีวิตสั้นลงได้ “ถ้าหากว่าไม่มีวิธีการอื่นใดอีกแล้ว และในสถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้น ถ้าการใช้วิธีนี้มิได้ขัดขวางผู้ป่วยมิให้กระทำตามหน้าที่ทางด้านศาสนาและหน้าที่ทางด้านศีลธรรมของตน”79 ในกรณีเช่นนี้มิใช่เพื่อต้องการหรือแสวงหาความตาย ถึงแม้ว่าเพราะแรงจูงใจอันสมเหตุสมผล เขาอาจเสี่ยงที่จะตายได้ก็ตาม นั่นคือมีแต่ความปรารถนาที่จะลดความเจ็บปวดให้ได้ผลโดยวิธีใช้ยาระงับปวดตามที่ทางการแพทย์จัดการให้นั้นก็เช่นเดียวกัน “เป็นสิ่งไม่ถูกต้องที่จะทำให้ผู้ป่วยที่กำลังจะตายนั้นหมดความรู้สึกตัวโดยไม่มีเหตุผลอันจำเป็นจริงๆ”80 นั่นคือในขณะที่เขากำลังจะตายนั้น เขาควรจะสามารถทำหน้าที่ทางด้านศีลธรรมต่อครอบครัวของตนได้ และเหนืออื่นใดเขาควรจะต้องสามารถเตรียมตัวพบกับองค์พระเจ้านั้นแน่ๆ ได้อย่างรู้ตัวเต็มที่ด้วย


เมื่อพิจารณาแยกแยะเช่นนี้แล้ว เพื่อให้ประสานสอดคล้องกับอำนาจสั่งสอนของพระสันตะปาปาองค์ก่อนๆ ของพระเจ้า81 และด้วยความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับบรรดาพระสังฆราชแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก ข้าพเจ้าขอประกาศยืนยันว่า การทำ

การุณยฆาตเป็นการทำผิดหนักต่อบทบัญญัติของพระเจ้า เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นการฆ่าชีวิตมนุษย์ตามอำเภอใจของตนและเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ทางด้านศีลธรรม กฎธรรมชาติและพระวาจาของพระเจ้าที่มีเขียนไว้นั้น เป็นพื้นฐานของข้อความเชื่อนี้ ที่ส่งผ่านมาทางธรรมประเพณีของพระศาสนจักร และได้รับการสอนจากอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรท้องถิ่นและจากอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรสากลด้วย82

การกระทำเช่นนี้รวมถึงการมีความประสงค์ร้ายที่มุ่งจะกระทำอัตวินิบาตกรรม หรือการฆ่าคนตายด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ด้วย


66. การทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทางศีลธรรมพอๆ กับการฆ่าคนตาย ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรไม่ยอมรับกาอัตวินิบาตกรรม โดยถือว่าเป็นการเลือกทำความชั่วในข้อผิดหนัก83 ถึงแม้ว่าสภาวะเงื่อนไขทางด้านจิตวิทยา ด้านวัฒนธรรมและด้านสังคม อาจชักนำมนุษย์ให้กระทำการอันขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความโน้มเอียงเข้าหาชีวิตที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ ซึ่งบั่นทอนหรือทำให้มนุษย์หมดความรับผิดชอบแบบอัตวิสัยไป (Subjective responsibility) การทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อพิจารณากันตามสภาพเป็นจริงแล้ว (objectively) ก็เป็นการกระทำผิดศีลธรรมในข้อหนัก อันที่จริงการทำอัตวินิบาตกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการปฏิเสธไม่ยอมรักตนเอง และการละทิ้งกฎข้อบังคับในเรื่องความยุติธรรมและความรักที่จะต้องปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ของตน ต่อหมู่คณะที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ และต่อสังคมโดยรวมด้วย84 ในความเป็นจริงอันลึกซึ้งที่สุดนั้น การทำอัตวินิบาตกรรมแสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจสูงสุดของพระเจ้าเหนือชีวิตและความตาย ดังที่มีประกาศอยู่ในคำภาวนาของผู้ทรงความรู้ของชนอิสราเอลในยุคก่อนนั้นว่า “พระองค์ทรงมีอำนาจเหนือชีวิตและความตาย พระองค์ทรงให้มนุษย์ลงไปยังประตูแดนมรณา และให้เขากลับขึ้นมาอีก” (ปชญ 16:13 ; เทียบ ทบต 13:2)


การเห็นพ้องกับเจตจำนงของบุคคลอีกคนหนึ่งที่จะกระทำอัตวินิบาตกรรม และการช่วยให้เขากระทำการเช่นนี้โดยทางที่เรียกกันว่า “การฆ่าตัวตายที่ได้รับการช่วยเหลือ” (assisted suicide) หมายถึงการให้ความร่วมมือและบ่อยครั้งก็เป็นผู้ลงมือกระทำการนั้นจริงๆ ด้วย ก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้นอันไม่อาจหาข้อแก้ตัวได้ ถึงแม้ว่าเขาจะถูกขอร้องให้ช่วยก็ตาม นักบุญเอากุสตินเขียนไว้ชัดเจนในข้อความตอนหนึ่งของท่านว่า “การฆ่าผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เสมอ ถึงแม้ว่าเขาผู้นั้นต้องการให้ช่วยทำก็ตาม อันที่จริงถ้าเขาร้องขอให้ช่วยทำก็เป็นเพราะว่าในขณะที่เขากำลังแขวนอยู่ระหว่างชีวิตกับความตายนั้น เขาร้องขอให้ช่วยปลดปล่อยวิญญาณของเขาที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนกับการผูกติดอยู่กับร่างกายให้เป็นอิสระมากกว่าและกำลังรอคอยที่จะได้รับการช่วยปลดปล่อยอยู่ อีกทั้งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ด้วย แม้เมื่อผู้ป่วยนั้นไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ก็ตาม”85 แม้เมื่อการทำการุณยฆาตมิได้มีแรงจูงใจมาจากการปฏิเสธอันเห็นแก่ตัวที่จะรับภาระดูแลชีวิตของผู้ที่กำลังเจ็บป่วยทรมานอยู่นั้นก็ตาม การทำการุณยฆาตก็ต้องถูกเรียกว่าเป็นการแสดงความเมตตาอันจอมปลอม และที่จริงแล้วก็เป็น “การทำให้ความเมตตาผิดเพี้ยนไป” อย่างน่าเป็นห่วงด้วย “การมีใจเมตตาสงสาร” ที่แท้จริงย่อมนำไปสู่การมีส่วนร่วมแบ่งปันความทุกข์เจ็บปวดของอีกผู้หนึ่ง มิใช่ฆ่าเขาผู้นั้นที่เราไม่อาจทนต่อความทุกข์ทรมานของเขาได้ ยิ่งกว่านั้นการทำการุณยฆาตดูจะผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น ถ้าหากกระทำโดยผู้เป็นญาติใกล้ชิดที่น่าจะคอยช่วยดูแลรักษาสมาชิกครอบครัวของตนด้วยความอดทนและความรัก หรือหากกระทำโดยผู้เป็นแพทย์ ซึ่งมีอาชีพพิเศษเฉพาะที่ต้องให้การรักษาผู้ป่วย แม้กระทั่งผู้ที่เจ็บป่วยทรมานอยู่ในขั้นสุดท้ายของชีวิตด้วย


การเลือกกระทำการุณยฆาตกลายเป็นสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นเมื่อออกมาในรูปการฆ่าคนที่กระทำโดยคนอื่นต่อผู้ที่ไม่มีวันจะร้องขอ และไม่มีวันยินยอมให้กระทำเช่นนั้นต่อตัวเขาแน่ๆ การกระทำตามใจชอบและความอยุติธรรมเช่นนี้ขึ้นถึงจุดที่ร้ายแรงที่สุดเมื่อมีคนบางพวก อาทิผู้เป็นแพทย์ หรือผู้ออกกฎหมายอ้างว่าตนมีอำนาจตัดสินใจว่าใครควรจะมีชีวิตอยู่และใครควรจะต้องตาย อีกครั้งที่เราพบตัวเองอยู่ต่อหน้าการถูกประจญแห่งสวนเอเดนนั้น นั่นคืออยากเป็น “ผู้รู้ดีรู้ชั่ว” เหมือนพระเจ้า (เทียบ ปฐก 3:5) พระเจ้าผู้เดียวเท่านั้นทรงมีอำนาจเหนือชีวิตและความตาย

เราแต่ผู้เดียวจะนำความตายและชีวิตมาให้ได้” (ฉธบ 32:29 ; 2 พกษ 5:7 ; 1ซมอ 2:6) แต่พระเจ้าทรงใช้อำนาจนี้สอดคล้องตามแผนการแห่งพระปรีชาญาณและความรักของพระองค์เท่านั้น เมื่อมนุษย์ช่วงชิงเอาอำนาจนี้มาโดยตกเป็นทาสวิธีคิดแบบโง่เขลาและเห็นแก่ตัว มนุษย์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้อำนาจนี้ก่อให้เกิดความ

อยุติธรรมและความตาย ชีวิตของผู้ที่อ่อนแอจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของผู้ที่แข็งแรง ในสังคมมนุษย์ สำนึกถึงเรื่องความยุติธรรมก็สูญไป และความไว้วางใจต่อกัน อันเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์แท้ที่มนุษย์มีต่อกันนั้น ก็ถูกทำลายถึงรากเหง้าของมัน


67. ที่แตกต่างมากจากวิถีทางที่ว่ามานี้ ก็คือวิถีทางแห่งความรักและความเมตตาแท้จริงที่มวลมนุษย์ต่างก็ใฝ่ฝันหาและเป็นวิถีทางที่ความเชื่อในพระคริสตเจ้า องค์พระผู้ไถ่กู้มนุษย์ ผู้สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ ทรงทอแสงสว่างใหม่มาบนวิถีทางนี้ คำร้องขอที่มาจากใจมนุษย์เมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานและความตาย เป็นต้น เมื่อต้องถูกประจญให้ยอมแพ้แบบท้อแท้สิ้นหวังนั้น ก่อนใดหมดเป็นการร้องขอความเป็นเพื่อน ความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนช่วยเหลือในยามที่เขาทุกข์ยากลำบากเป็นการร้องขอความช่วยเหลือให้เขายังมีความหวังอยู่ ในเมื่อความหวังแบบมนุษย์นั้นหายไปสิ้นแล้ว ดังเช่นที่สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 เตือนเราไว้ว่า “ในการเผชิญกับความตาย ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ของมนุษย์ก็กลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง” และถึงกระนั้น “มนุษย์ก็ทำตามการหยั่งรู้ภายในหัวใจของตน เมื่อเขารู้สึกรังเกียจและยอมรับไม่ได้ว่าตัวตนของเขาจะต้องเสื่อมสลายไปสิ้นและดับสูญไปทั้งหมดตลอดไป มนุษย์จึงแข็งข้อต่อสู้กับความตาย เพราะเขาทนไม่ได้ที่เชื้อชีวิตนิรันดรภายในตัวเขานั้นจะต้องถูกลดลงเป็นเพียงแค่สสารวัตถุเท่านั้น”86


การรู้สึกชิงชังโดยธรรมชาติต่อความตาย และการที่เพิ่งเริ่มมีความหวังในชีวิตอมตะนิรันดรนั้นได้รับการส่องสว่างและผลสมบูรณ์ได้ด้วยความเชื่อแบบคริสตชน ซึ่งให้ทั้งสัญญาและให้การมีส่วนร่วมในชัยชนะของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ กล่าวคือ ชัยชนะของพระองค์ผู้ทรงช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากความตายอันเป็น “ค่าตอบแทนที่ได้จากบาป” (รม 6:23) โดยทางการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ที่นำความรอดมาให้มนุษย์ และพระองค์ทรงประทานพระจิต ผู้เป็นคำมั่นสัญญาแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ และชีวิตให้แก่มนุษย์ (เทียบ รม 8:11) ความแน่ใจถึงชีวิตอมตะนิรันดรในภายภาคหน้า และความหวังในการกลับคืนชีพที่สัญญาไว้นั้น ช่วยสาดแสงใหม่ลงสู่ธรรมล้ำลึกเรื่องความทุกข์และความตาย และช่วยเติมเต็มผู้มีความเชื่อด้วยสมรรถภาพพิเศษที่จะไว้วางใจเต็มเปี่ยมในแผนการของพระเจ้า


ท่านอัครสาวกเปาโลกล่าวถึงความใหม่ที่ว่านี้ โดยพูดถึงเรื่องการเป็นของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง พระองค์ผู้ทรงรับเอาสภาพแบบมนุษย์ทุกอย่าง “ไม่มีพวกเราคนใดที่มีชีวิตอยู่เพื่อตนเอง และไม่มีผู้ใดตายเพื่อตนเอง ถ้าเรามีชีวิตอยู่ ก็มีชีวิตอยู่เพื่อ

พระเจ้า ถ้าเราตายเราก็ตายเพื่อพระเจ้า ดังนั้นไม่ว่าเรามีชีวิตอยู่หรือตายเราก็เป็นของพระเจ้า” (รม 14:7-8) การตายเพื่อพระเจ้า หมายถึงการรับเอาประสบการณ์ความตายของตนเป็นการแสดงถึงการนอบน้อมเชื่อฟังสูงสุดต่อพระบิดา (เทียบ ฟป 2:8) โดยพร้อมเสมอที่จะพบกับความตายใน “เวลานั้น” ที่พระเจ้าทรงพอพระทัยเลือกให้ (เทียบ ยน 13:1) ซึ่งหมายความถึงเพียงว่า เมื่อถึงเวลาแห่งการเดินทางจาริกไปบนโลกนี้สิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น การมีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้าหมายความด้วยว่า เป็นการรับรู้ว่าความทุกข์ในขณะที่เป็นความชั่วร้ายและการทดลองในตัวมันเองก็สามารถกลายมาเป็นบ่อเกิดแห่งความดีได้ มันเป็นเช่นนี้ได้ถ้าหากได้มีประสบการณ์จากการได้รับของประทานอันล้ำค่าจากพระเจ้าและจากการตัดสินใจเลือกแบบอิสระของตนเองเพื่อความรัก และพร้อมกับความรักนี้ โดยการมีส่วนร่วมในความทุกข์ทรมานของพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนนั้น เช่นนี้เองผู้ที่เจริญชีวิต

ความทุกข์ของตนอยู่ในพระเจ้า ก็เจริญเติบโตเป็นเหมือนพระองค์มากยิ่งขึ้น (เทียบ ฟป 3:10 ; 1 ปต 2:21) และสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับงานไถ่กู้ของพระองค์ เพื่อประโยชน์ของพระศาสนจักร และมนุษยชาติด้วย87 นี่เป็นประสบการณ์ของท่านนักบุญเปาโล ซึ่งมนุษย์ทุกคนที่ทุกข์ทรมานก็ย่อมรู้สึกบรรเทาใจขึ้นมาบ้างที่ท่าน

กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายินดีที่ได้รับทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ความทรมานของพระคริสตเจ้ายังขาดสิ่งใด ข้าพเจ้าก็เสริมให้สมบูรณ์ด้วยการทรมานในกายของพระองค์คือพระศาสนจักร” (คส 1:24)


เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์”

(กจ 5:29) : กฎหมายบ้านเมืองกับกฎศีลธรรม


68. ลักษณะเด่นพิเศษประการหนึ่งของภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันนี้-ดังที่ได้กล่าวถึงมาแล้วหลายครั้ง-ก็คือ มีแนวโน้มเรียกร้องให้รับรองความชอบธรรมทางด้านกฎหมายสำหรับสิ่งเหล่านั้น ราวกับว่ามันเป็นสิทธิที่ฝ่ายรัฐอย่างน้อยก็ภายใต้เงื่อนไขบางประการ จะต้องยอมรับรู้ว่ามันเป็นสิทธิของพลเมือง ผลที่ตามมาก็คือมีแนวโน้มที่อ้างว่าควรจะเป็นได้ที่จะให้ใช้สิทธิเหล่านั้น ด้วยความช่วยเหลือจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัยและโดยไม่ต้องเสียเงินใดๆ ทั้งสิ้น


บ่อยครั้ง มีการอ้างด้วยว่าชีวิตของทารกที่ยังไม่เกิดมาหรือชีวิตของผู้ที่พิการร้ายแรงนั้น เป็นเพียง “ความดีสัมพันธ์” เท่านั้น (relative good) นั่นคือตามทฤษฎีสัดส่วน หรือทฤษฎีการคำนวณที่ชัดเจนแน่นอนนั้น ความดีนี้ควรถูกนำมาเปรียบหรือเทียบเคียงกับความดีอื่นๆ ถึงกับมีการยืนยันด้วยว่าบุคคลที่อยู่ในสถานะการณ์จริงด้วยตัวเองเท่านั้นที่จะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องถึงความดีต่างๆ ที่เป็นอยู่นั้น ผลก็คือบุคคลผู้นั้นเท่านั้นที่สามารถตัดสินใจได้ถึงศีลธรรมแห่งการเลือกของตนนั้น ดังนั้นฝ่ายรัฐที่ให้ความสนใจต่อความเป็นอยู่ร่วมกันของพลเมืองและความปรองดองกันทางสังคม จึงควรให้ความเคารพต่อการเลือกนี้ จนถึงขั้นที่ต้องอนุญาตให้มีการทำแท้งและการทำการุณยฆาตได้ด้วย


ในเวลาอื่นก็มีการอ้างว่ากฎหมายบ้านเมืองนั้นไม่อาจบังคับให้ประชาชนเจริญชีวิตตามมาตรฐานทางศีลธรรมที่สูงเกินกว่าที่คนพวกนั้นรับรู้และมีส่วนร่วมอยู่นั้นได้ ฉะนั้น กฎหมายก็ควรแสดงออกเสมอถึงความเห็นและความต้องการของพลเมืองส่วนใหญ่ และยอมรับรู้ว่าพวกเขามีสิทธิแม้แต่จะทำแท้ง และทำการุณยฆาต อย่างน้อยก็ในกรณีสำคัญมากบางกรณีได้ ยิ่งกว่านั้น การห้ามและการลงโทษการทำแท้งและการทำการุณยฆาตในกรณีเหล่านี้ ก็อาจนำไปสู่-ตามที่พวกเขาว่านั้น-การแอบทำ

ผิดกฎหมายในเรื่องนี้กันมากขึ้นด้วยซ้ำไป นั่นคือ การกระทำเหล่านี้ไม่จำเป็นที่สังคมจะต้องมาคอยควบคุม และอาจจะแอบไปทำกันในแบบที่ไม่ปลอดภัยทางด้านการแพทย์ด้วย จึงเกิดมีคำถามขึ้นมาว่า การสนับสนุนกฎหมายซึ่งไม่สามารถบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัตินั้น ไม่เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายหรือ


ประการสุดท้าย มีแนวคิดแบบลึกซึ้งถึงแก่นที่ไปไกลถึงขั้นที่ว่า ในพหุสังคมสมัยใหม่นี้ ผู้คนทั้งหลายควรจะได้รับอนุญาตให้มีอิสรภาพเต็มที่ที่จะจัดการกับชีวิตของตนเอง รวมทั้งชีวิตที่ยังไม่ถือกำเนิดมานั้นด้วย กล่าวคือมีการอ้างว่ามิใช่เป็นภารกิจของกฎหมายที่จะเลือกระหว่างความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายทางด้านศีลธรรม และยิ่งกว่านั้นอีกที่กฎหมายจะอ้างเอาความคิดเห็นด้านศีลธรรมเฉพาะประการใดประการหนึ่งมาบังคับใช้โดยตัดความคิดเห็นอื่นๆ ทิ้งไปเสีย


69. ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ในวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยในยุคของเรานี้ ก็เป็นที่ถือกันโดยทั่วไปว่าระบบกฎหมายของสังคมใด ก็ควรจะมีขอบเขตเฉพาะของกฎหมายที่จะพิจารณา และยอมรับความเชื่อถือของคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆ ดังนั้น ระบบกฎหมายจึงควรจะอยู่บนพื้นฐานเดียว คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรม ยิ่งกว่านั้น ถ้าหากเป็นที่เชื่อกันว่า สัจธรรมตามที่เป็นจริง (objective truth) ที่มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์มิอาจได้มาโดยพฤตินัยได้ การให้ความเคารพต่ออิสรภาพของพลเมือง-ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย

ถือว่าประชาชนคือผู้มีอำนาจปกครองที่แท้จริง-ควรจะเรียกร้องให้มีการยอมรับรู้ว่า ณ ระดับของการออกกฎหมาย มโนธรรมของมนุษย์แต่ละคนก็มีความเป็นอิสระด้วย ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อมีการออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งก็จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ปัจจัยเดียวที่ใช้กำหนดชี้วัด ก็ควรจะเป็นเรื่องความต้องการของผู้คนส่วนใหญ่เป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ฉะนั้นนักการเมืองทุกคน ในการปฏิบัติงานของตน ก็ควรจะแยกขอบเขตของมโนธรรมส่วนบุคคลของตนออกจากการประพฤติปฏิบัติของผู้คนส่วนรวมให้ชัดเจน


ผลที่ออกมาก็คือ เรามีสิ่งที่ปรากฏออกมาเป็นแนวโน้ม 2 ประการที่มีทิศทางตรงข้ามกัน ด้านหนึ่ง ปัจเจกบุคคลก็อ้างว่าในเรื่องทางศีลธรรม ตนมีอิสระเสรีเต็มที่ในการเลือกของตน และเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐอย่าได้รับเอาหรือบังคับให้ต้องมีจุดยืนใดๆ ทางด้านจริยธรรม แต่ให้รัฐจำกัดตนเองเพียงแค่ประกันโอกาสให้มีมากที่สุดสำหรับอิสรภาพของมนุษย์แต่ละคน โดยให้มีข้อจำกัดเพียงหนึ่งเดียวคือไม่ให้มีการล่วงละเมิดอิสรภาพและสิทธิต่างๆ ของพลเมืองคนหนึ่งคนใดเลย อีกด้านหนึ่งก็มีการถือกันว่าในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่พลเมือง และการทำงานตามอาชีพของตนนั้น ความเคารพต่ออิสรภาพในการเลือกของผู้คน เรียกร้องว่าแต่ละคนควรจะต้องสลัดทิ้งความเชื่อมั่นของตนไป เพื่อจะได้ทำตามข้อเรียกร้องของประชาชนพลเมืองทั้งหลาย ซึ่งมีกฎหมายให้การยอมรับเป็นประกันไว้นั้น ในการทำหน้าที่ต่างๆ ของตนมาตรการชี้วัดทางศีลธรรมมาตรการเดียวควรจะเป็นเฉพาะสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น ความรับผิดชอบเป็นส่วนบุคคลจึงถูกโยนมาให้กับกฎหมายบ้านเมือง โดยละทิ้งเรื่องมโนธรรมส่วนบุคคล อย่างน้อยก็ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่พลเมืองนั้น


70. พื้นฐานของแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ ก็คือ แนวคิดแบบสัมพัทธนิยมด้านจริยธรรม (ethical relativism) ซึ่งบ่งบอกลักษณะเด่นชัดของวัฒนธรรมส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน มีพวกคนที่ถือว่าแนวคิดแบบสัมพัทธนิยมนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งของประชาธิปไตย ตราบเท่าที่แนวคิดแบบนี้เท่านั้นที่ถือว่าเป็นประกันให้มีการยอมรับได้ การให้ความเคารพต่อกันระหว่างผู้คน และการยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่กฎเกณฑ์ทางด้านศีลธรรมที่ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริง (objective) และมีผล

ผูกมัดนั้น ก็ถือว่านำไปสู่ลัทธิปกครองแบบเผด็จการ (authoritarianism) และการไม่อาจรับทนได้


แต่ก็เป็นเรื่องการให้ความเคารพต่อชีวิตนี้เองที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ในจุดยืนที่ว่านี้ คือ ความเข้าใจผิด และการขัดแย้งต่างๆ ควบคู่กับผลตามมาที่ร้ายแรงทางด้านปฏิบัติ


เป็นความจริงที่ว่าประวัติศาสตร์ได้รับรู้ถึงกรณีต่างๆ มากมายที่มีการกระทำความผิดหนักโดยอ้างชื่อ “สัจธรรม” แต่ก็ไม่มีและยังคงมีการกระทำความผิดหนักพอๆ กันและการปฏิเสธอิสรภาพแบบถึงรากถึงโคนมากมายโดยอ้างชื่อ “แนวคิดแบบสัมพัทธนิยมด้านจริยธรรม” ด้วยเช่นกัน เมื่อเสียงส่วนใหญ่ทางรัฐสภาหรือทางสังคมตราเป็นกฎหมายออกมาว่า อย่างน้อยภายใต้เงื่อนไขบางประการ การฆ่าชีวิตมนุษย์ที่ยังไม่เกิดมานั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย มันเป็นการตัดสินใจ “แบบทรราช” ต่อผู้อ่อนแอที่ไม่อาจป้องกันตัวได้นั้นมิใช่หรือ? มโนธรรมของมนุษย์ทุกคนไม่ยอมรับการกระทำผิดเหล่านั้นต่อมนุษย์ซึ่งยุคสมัยของเรามีประสบการณ์อันน่าเศร้าเช่นนี้ แต่การกระทำผิดเหล่านี้จะไม่เป็นความผิดได้หรือ ถ้าหากถูกกำหนดให้เป็นการกระทำอันถูกต้องตามกฎหมาย โดยมติมหาชนเช่นนั้น แทนที่จะกระทำโดยทรราชที่ไร้ศีลธรรม


ประชาธิปไตยไม่สามารถถูกเชิดชูบูชาถึงขั้นที่ให้เป็นตัวแทนศีลธรรม หรือเป็นยาขนานเอกสำหรับชีวิตอมตะได้ โดยพื้นฐานแล้วประชาธิปไตยเป็น “ระบบ” และในเมื่อเป็นระบบก็เป็นเพียงเครื่องมือ และมิใช่จุดหมายปลายทาง คุณค่า “ด้านศีลธรรม” ของประชาธิปไตยมิใช่มีอยู่แบบอัตโนมัติ แต่ขึ้นอยู่กับการสอดคล้องกับกฎศีลธรรม ซึ่งก็เหมือนกับรูปแบบพฤติกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ที่ประชาธิปไตยนี้จะต้องเป็นผู้กระทำการ (subject) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ศีลธรรมของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับศีลธรรมของจุดหมายที่มันมุ่งไปถึง และศีลธรรมของเครื่องมือที่มันใช้ไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น ถ้าหากในยุคปัจจุบันเราเห็นผู้คนเกือบทั้งโลกเห็นพ้องต้องกันกับคุณค่าของประชาธิปไตยแล้ว ก็ต้องถือเป็น “สัญญาณแห่งกาลเวลา” ในด้านบวกดังที่อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรตั้งข้อสังเกตไว้นั้น88แต่คุณค่าขอประชาธิปไตยมีอยู่หรือหมดไปพร้อมกับคุณค่าต่างๆ ที่มันมีอยู่และส่งเสริมนั้นด้วย แน่นอนทีเดียว คุณค่าต่างๆ อาทิเช่น ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคน การเคารพต่อสิทธิของมนุษย์อันมิอาจถูกล่วงละเมิดได้และมิอาจถูกแยกได้ และการรับเอา “ความดีส่วนรวม” เป็นจุดหมายและมาตรการชี้วัดที่ใช้บังคับควบคุมชีวิตทางด้านการเมืองนั้น เหล่านี้ถือเป็นคุณค่าสำคัญพื้นฐานแน่นอนและเป็นคุณค่าที่ต้องไม่ถูกเพิกเฉยได้เลย


พื้นฐานของคุณค่าเหล่านี้ไม่สามารถเป็นเรื่องของความ

คิดเห็นแบบที่มีการจัดเตรียมไว้และเปลี่ยนแปลงได้ของ “ผู้คนส่วนใหญ่” แต่เป็นเรื่องของการยอมรับรู้กฎศีลธรรมที่เป็นอยู่จริง ๆ (objective moral law) ซึ่งในฐานะเป็น “กฎธรรมชาติ” ที่มีจารึกอยู่ในใจมนุษย์ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกฎหมายบ้านเมืองที่จะต้องใช้อ้างอิง ถ้าจะให้การมีท่าทีของการสงสัยไม่แน่ใจ (attitute of scepticism) อันเป็นผลของการมีมโนธรรมร่วม (collective conscience) แบบสลัวมัวแย่ยิ่งนี้ บรรลุผลสำเร็จในการตั้งคำถามถึงแม้กระทั่งกฎเกณฑ์พื้นฐานของกฎศีลธรรมแล้วละก็ ระบอบประชาธิปไตยเองก็คงจะสั่นคลอนถึงรากถึงโคนทีเดียว และคงถูกลดค่าลงมาเป็นแค่เครื่องจักรควบคุมผลประโยชน์ที่แตกต่างและขัดแย้งกันบนพื้นฐานเชิงประจักษ์ล้วนๆ เท่านั้น89


บางคนอาจคิดด้วยว่า แม้กระทั่งหน้าที่นี้ก็ควรจะถือว่ามีคุณค่าทั้งนี้ก็เพื่อสันติสุขในสังคมมนุษย์ก็ในเมื่อยังไม่มีอะไรที่ดีไปกว่านี้ ในขณะที่เรารับรู้ถึงสาระสำคัญแห่งความจริงบางอย่างจากมุมมองที่ว่านี้ ก็เป็นการง่ายที่เราจะเห็นว่า หากปราศจาก

พื้นฐานทางศีลธรรมตามที่เป็นจริงแล้วไซร้ แม้แต่ประชาธิปไตยก็จะไม่สามารถให้ประกันถึงสันติภาพที่มั่นคงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะว่าสันติภาพที่มิได้สร้างขึ้นมาบนคุณค่าของศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคนและความสมานฉันท์ระหว่างมวลมนุษย์แล้วไซร้ ก็มักจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นสันติภาพลวงตาเท่านั้น แม้กระทั่งในระบอบ

การปกครองแบบมีส่วนร่วม กฎเกณฑ์เรื่องผลประโยชน์ก็มักจะเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายที่มีอำนาจที่สุด เพราะว่าคนพวกนั้นเป็นผู้ที่สามารถวางแผนจัดการมิใช่เพียงในเรื่องการควบคุมอำนาจเท่านั้น แต่ยังสามารถจัดการให้มีการเห็นชอบตามพวกตนด้วย ในสภาพการณ์เช่นนี้ ประชาธิปไตยก็กลายเป็นเพียงคำว่างเปล่าไร้ซึ่งความหมายไปได้ง่ายๆ


71. ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพื่ออนาคตของสังคมและเพื่อการพัฒนาให้ได้ประชาธิปไตยที่ดีที่จะต้องค้นหาคุณค่าทางศีลธรรมสำคัญๆ ภายในตัวมนุษย์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ออกมาจากสัจธรรมของตัวมนุษย์เอง แสดงออกและพิทักษ์รักษาศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ด้วย เป็นคุณค่าที่ไม่มีมนุษย์ผู้ใดไม่มีผู้คนส่วนใหญ่ใดๆ และไม่มีรัฐใดจะสามารถสร้างขึ้นมาได้ ปรับปรุงแก้ไขหรือทำลายมันได้เลย แต่ต้องเป็นคุณค่าที่จะต้องยอมรับรู้ ให้ความเคารพ และส่งเสริมเท่านั้น


ผลที่ตามมาก็คือ จำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นสารัตถะพื้นฐานของการมีวิสัยทัศน์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายบ้านเมืองกับกฎศีลธรรมขึ้นมาใหม่ ซึ่งพระศาสนจักรก็ได้นำเสนอในเรื่องนี้ แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของมรดกตกทอดของธรรมประเพณี

ยิ่งใหญ่ทางด้านกฎหมายของมนุษยชาติด้วย


แน่นอนทีเดียวที่จุดมุ่งหมายของกฎหมายบ้านเมืองนั้นย่อมแตกต่าง และอยู่ในวงจำกัดกว่ากฎศีลธรรม แต่ทว่า “ในมิติด้านชีวิตมนุษย์แล้ว กฎหมายบ้านเมืองนั้นไม่อาจเข้ามาแทนที่มโนธรรมได้ และมิอาจออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่

นอกเหนืออำนาจของมันได้”90 ซึ่งได้แก่การให้ประกันเรื่องความดีโดยรวมของผู้คนทั้งหลายโดยการรับรู้และปกป้องสิทธิพื้นฐานต่างๆ ของมนุษย์ และการส่งเสริมสันติภาพและศีลธรรมของสาธารณชน91 จุดมุ่งหมายจริงๆ ของกฎหมายบ้านเมืองก็คือ เพื่อให้ประกันการอยู่ร่วมกันทางสังคมอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้ความยุติธรรมที่แท้จริง เพื่อว่าทุกคน “จะได้มีชีวิตที่สงบสุขราบรื่นเป็นชีวิตที่มีเกียรติ ด้วยความเคารพพระเจ้า” (1 ทธ 2:2) ด้วยเหตุผลนี้เองที่กฎหมายบ้านเมืองจะต้องทำให้สมาชิกทั้งหลายของสังคมแน่ใจได้ว่า พวกเขาให้ความเคารพต่อสิทธิพื้นฐานต่างๆ อันเป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในตัวมนุษย์ เป็นสิทธิที่กฎหมายด้านบวกจะต้องรับรู้และให้ประกันสิทธิเหล่านั้น สิทธิแรกสุดในบรรดาสิทธิเหล่านั้นก็คือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อันมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ของมนุษย์บริสุทธิ์ทุกคน ในขณะที่อำนาจฝ่ายบ้านเมืองบางครั้งสามารถเลือกที่จะไม่ขัดขวางบางสิ่งบางอย่างซึ่ง-ถ้าหากถูกขัดขวาง-อาจจก่อให้เกิดผลอันตรายร้ายแรงยิ่งขึ้น92 อำนาจฝ่ายบ้านเมืองนั้นไม่สามารถแอบอ้างที่จะออกกฎหมายให้เป็นสิทธิของปัจเจกบุคคล-ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมก็ตาม-ที่จะกระทำผิดล่วงละเมิดต่อบุคคลอื่น ที่มีสาเหตุมาจากการไม่ให้ความเคารพต่อสิทธิพื้นฐานที่จะมีชีวิตอยู่นั้นได้ การยอมรับเอาการทำแท้งหรือยอมรับการทำการุณยฆาตให้เป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่มีวันที่จะอ้างได้ว่ามีพื้นฐานอยู่บนการให้ความเคารพต่อมโนธรรมของผู้อื่นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสังคมนั้นมีสิทธิและมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องตัวเองให้พ้นจากการกระทำสิ่งผิด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นมาได้โดยการอ้างถึงมโนธรรม และแอบแฝงมาภายใต้ข้ออ้างที่ว่าเพื่ออิสรภาพ93 ในพระสมณสาร “สันติสุขในโลก” (Pacem in Terris) ของพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า “เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในสมัยนี้ว่า ความดีส่วนรวมนั้นได้รับการพิทักษ์ดูแลได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคลมนุษย์ได้รับการประกันไว้ อำนาจทางฝ่ายบ้านเมืองต้องให้ความสนใจหลักที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าสิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรู้ เคารพ ร่วมมือ ปกป้องและส่งเสริม และต้องให้แน่ใจว่า มนุษย์แต่ละคนสามารถทำหน้าที่ของตนได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะว่า ‘พิทักษ์รักษาสิทธิอันมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ของบุคคลมนุษย์ และการช่วยให้เขาทำหน้าที่ของตนได้เต็มที่ ถือเป็นหน้าที่หลักของอำนาจทางฝ่ายบ้านเมือง’ รัฐบาลใดก็ตามที่ปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิความเป็นมนุษย์ หรือกระทำล่วงละเมิดสิทธิเหล่านั้นของมนุษย์ก็กระทำผิดพลาดมิใช่เพียงในเรื่องการทำหน้าที่ของตนเท่านั้น แต่การออกกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลนั้นก็ไม่มีอำนาจผูกมัดบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย”94


72. ข้อความเชื่อในเรื่องที่จำเป็นจะต้องให้กฎหมายบ้านเมืองสอดคล้องกับกฎศีลธรรมนั้น มีมาอย่างต่อเนื่องกับธรรมประเพณีทั้งหมดของพระศาสนจักร สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนอีกครั้งในพระสมณสารเดียวกันนี้ของพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23

ตอนหนึ่งที่ว่า “อำนาจถือเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของระเบียบทางศีลธรรมและอำนาจมาจากพระเจ้า ผลที่ตามมาก็คือ กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ออกมาละเมิดระเบียบทางศีลธรรมก็ย่อมผิดต่อน้ำพระทัยของพระเจ้าด้วย ฉะนั้นจึงไม่มีอำนาจผูกมัดในมโนธรรมได้...อันที่จริงการผ่านกฎหมายแบบนั้นออกมา ก็ทำลายธรรมชาติของอำนาจนั้นเองและส่งผลออกมาเป็นการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดที่น่าละอายยิ่ง”95 นี่เป็นคำสอนที่ชัดเจนของท่านนักบุญโทมัส อาควีนัส ที่เขียนไว้ว่า “กฎหมายของมนุษย์ถือเป็นกฎหมายตราบเท่าที่มันสอดคล้องกับเหตุผลอันถูกต้องและเช่นนี้ก็มาจากกฏนิรันดรนั้น แต่เมื่อกฎหมายหนึ่งขัดกับหลักเหตุผล ก็เรียกว่าเป็นกฎหมายอยุติธรรม แต่ในกรณีนี้ก็ถือว่ามันไม่เป็นกฎหมายอีกต่อไป และกลับเป็นการกระทำรุนแรงแทน”96 และอีกที่หนึ่งท่านเขียนไว้ว่า “กฎหมายทุกกฎหมายที่มนุษย์ออกมาสามารถเรียกเป็นกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายนั้นมาจากกฎธรรมชาติแต่ถ้ากฎหมายนั้นขัดกับกฎธรรมชาติแล้ว มันก็ไม่ใช่กฎหมายที่แท้จริงแต่กลับ

เป็นการทำลายกฎหมายมากกว่า”97


การนำเอาคำสอนนี้ไปประยุกต์ใช้แรกสุดและเร่งด่วนที่สุดก็คือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของมนุษย์ที่ไม่ยอมรับสิทธิพื้นฐานนั้นและบ่อเกิดของสิทธิอื่นๆ ซึ่งก็คือสิทธิการมีชีวิตอยู่ อันเป็นสิทธิที่เป็นของบุคคลมนุษย์ทุกคน ผลที่ตามมาก็คือ กฎหมายต่างๆ ที่ยอมให้การฆ่ามนุษย์ผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำแท้ง หรือการทำ

การุณยฆาตเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นกฎหมายที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิทธิที่จะมีชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นสิทธิอันมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ กฎหมายเหล่านั้นไม่ยอมรับความเสมอภาคของบุคคลมนุษย์ทุกคนต่อหน้ากฎหมาย อาจมีบางคนโต้แย้งว่าในกรณีการทำการุณยฆาตมิใช่เป็นเช่นนี้ในเมื่อถูกขอร้องให้ช่วยโดยที่บุคคลผู้ร้องขอก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี แต่รัฐใดก็ตามที่ทำให้การร้องขอนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และให้อำนาจที่จะกระทำการเช่นว่านี้ได้ ก็กำลังกระทำการฆ่าคนตายนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของการที่ต้องให้ความเคารพยิ่งต่อชีวิต และต้องปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ทุกชีวิต ในการทำเช่นนี้ฝ่ายรัฐก็มีส่วนบั่นทอนการให้ความเคารพต่อชีวิต และเปิดประตูนำไปสู่การกระทำต่างๆ ที่ทำลายความไว้วางใจในความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างมนุษย์ กฎหมายที่อนุญาตและส่งเสริมให้มีการทำแท้งและการทำการุณยฆาตจึงขัดแย้งอย่างถึงรากถึงโคน มิใช่กับความดีของบุคคลมนุษย์เท่านั้น แต่ยังขัดแย้งกับความดีส่วนรวมด้วย และเมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่มีอำนาจบังคับใช้อันถูกต้องตามกฎหมายได้ การไม่ใช้ความเคารพต่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ เพราะว่ามันนำไปสู่การฆ่ามนุษย์ที่สังคมมนุษย์มีอยู่ก็

เพื่อรับใช้มนุษย์นั้น ถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งโดยตรงกับความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผลความดีส่วนรวมขึ้นมา ผลที่ตามมาก็คือว่ากฎหมายบ้านเมืองที่ให้อำนาจทำแท้งหรือทำการุณยฆาตได้นั้น ก็ไม่เป็นกฎหมายที่แท้จริง ไม่มีผลบังคับผูกมัดทางด้านศีลธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น


73. การทำแท้งและการทำการุณยฆาตจึงเป็นอาชญากรรมที่กฎหมายใดๆ ของมนุษย์ไม่อาจรับรองให้เป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายได้เลย ไม่มีข้อบังคับในมโนธรรมให้เราต้องเชื่อฟังทำตามกฎหมายแบบนั้น ตรงข้าม กลับมีข้อบังคับชัดเจนเคร่งครัดให้เราต้องทำการต่อต้านกฎหมายเหล่านั้นโดยคัดค้านจากมโนธรรมของเรานับแต่แรกเริ่มที่มีพระศาสนจักร คำเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกก็เตือนพวกคริสตชนถึงหน้าที่ที่จะต้องนบนอบเชื่อฟังอำนาจทางการที่ถูกต้องตามกฎหมาย (เทียบ รม 13:1-7 ; 1 ปต 2:13-14) แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เตือนไว้อย่างหนักแน่นด้วยว่า “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าเชื่อฟังมนุษย์” (กจ 5:29) ในพระคัมภีร์พระธรรมเดิม เป็นต้น ในเรื่องภัยคุกคามต่อชีวิตมนุษย์ เราพบตัวอย่างหนึ่งแสดงถึงการต่อต้านคำสั่งสอนอยุติธรรมของผู้มีอำนาจ หลังจากที่กษัตริย์ฟาโรห์มีบัญชาให้ประหารทารกชาย

ชาวฮีบรูที่เพิ่งเกิดมาให้สิ้น พวกหญิงทำคลอดชาวฮีบรูกลับปฏิเสธไม่ยอมทำตามนั้น “พวกเขาไม่ได้ปฏิบัติตามรับสั่งของกษัตริย์อียิปต์ แต่กลับปล่อยให้เด็กๆ รอดชีวิต” (อพย 1:17) แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่พวกเขากระทำเช่นนี้ก็คือว่า “หญิงทำคลอดชาวฮีบรูเป็นผู้ยำเกรงพระเจ้า” (ที่เดียวกัน) จากการนบนอบเชื่อฟังพระเจ้านี้เอง-ซึ่งเป็นผู้เดียวที่พวกเขาให้ความเคารพยำเกรง ซึ่งก็คือการยอมรับรู้ถึงอำนาจปกครองสูงสุดของพระเจ้า-ที่พวกเขาเกิดมีพลังและความกล้าหาญที่จะต่อต้านกฎหมายอยุติธรรมของมนุษย์ เป็นพลังและความกล้าหาญของผู้ที่เตรียมพร้อม แม้จะต้องถูกจับ

ขังคุกหรือถูกประหารด้วยดาบก็ตาม โดยมีความแน่ใจว่าที่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิด “ความเพียรทนและความเชื่อของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” (วว 13:10) ในกรณีเรื่องกฎหมายที่

อยุติธรรมจริงๆ อาทิเช่น กฎหมายที่ยอมให้มีการทำแท้ง หรือการทำการุณยฆาต จึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเลยที่จะไปเชื่อฟังทำตาม หรือ “เขาไปมีส่วนรณรงค์ชวนเชื่อให้ผู้คนทำตาม หรือลงคะแนนสนับสนุนกฎหมายเช่นนี้”98


อาจมีปัญหาเฉพาะอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับมโนธรรมในกรณีต่างๆที่การลงคะแนนตามกฎหมายนั้นอาจเป็นส่วนสำคัญเปิดทางไปสู่การมีกฎหมายที่เคร่งครัดเจาะจงกว่านั้นได้ ที่มุ่งจะจำกัดจำนวนการทำแท้งที่ได้รับอนุญาตให้ทำได้นั้น เข้ามาแทนที่กฎหมายที่ผ่อนปรนกว่าซึ่งได้รับการรับรองแล้ว หรือพร้อมที่จะมีการลงมติรับรองกฎหมายนั้น ในกรณีเช่นนี้มีเกิดขึ้นบ่อยครั้งทีเดียวเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่บางส่วนในโลกยังคงมีการรณรงค์ให้มีการออกกฎหมายรับรองการทำแท้งขึ้นในชาติต่างๆซึ่งบ่อยครั้งก็ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติที่มีอำนาจด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติเหล่านั้นซึ่งเคยมีประสบการณ์กับผลอันขมขื่นของการออกกฎหมายที่หละหลวมเหล่านั้นมาแล้วก็มีสัญญาณชี้ให้เห็นมากขึ้นว่า ต้องมีการพิจารณาทบทวนกันใหม่ในปัญหาเรื่องนี้ ในกรณีที่เหมือนกับเรื่องที่เพิ่งกล่าวถึงมานี้ เมื่อไม่สามารถจะยกเลิกหรือลบล้างกฎหมายส่งเสริมการทำแท้งนั้นให้สิ้นไปได้ ผู้มีอำนาจที่ได้รับเลือกมานั้น ซึ่งจุดยืนส่วนตัวของเขาเป็นที่รู้กันดีว่าเขาต่อต้านเด็ดขาดกับการทำแท้งแบบที่มีการเตรียมการไว้นั้น ก็อาจจะสนับสนุนข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มุ่งเพื่อจะกำจัดอันตรายที่เกิดจากกฎหมายเช่นนี้ได้อย่างถูกต้อง และมุ่งเพื่อลดผลด้านลบที่ตามมานั้นให้น้อยลง ณ ระดับความคิดเห็นโดยทั่วไปและระดับศีลธรรมของสาธารณชนด้วย อันที่จริงสิ่งนี้มิได้บ่งถึงว่าเป็นการร่วมมืออันไม่ถูกต้องกับกฎหมายที่อยุติธรรมนั้น แต่บ่งบอกถึงความพยายามอันเหมาะสมทางด้านกฎหมายที่จะกำจัดด้านเลวร้ายของกฎหมายนั้นมากกว่า


74.การผ่านกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมักก่อให้เกิดปัญหากับคนดีๆในเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับการให้ความร่วมมือ เนื่องจากพวกเขาก็มีสิทธิเรียกร้องที่จะต้องไม่ถูกบังคับให้ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการกระทำชั่วร้ายผิดศีลธรรมเหล่านั้น บางครั้งการเลือกที่พวกเขาต้องทำนั้นก็ยากลำบาก การเลือกเหล่านั้นอาจเรียกร้องให้พวกเขาต้องยอมเสียสละตำแหน่งอันมีเกียรติทางหน้าที่การงานของตน หรือไม่ก็ต้องยอมทิ้งความหวังอันสมเหตุสมผลที่จะก้าวหน้าไปในอาชีพการงานของตนไปบ้าง ในกรณีอื่นๆ ก็อาจเกิดขึ้นมาว่า การกระทำการบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมายนั้น สามารถช่วยปกป้องชีวิตมนุษย์ที่ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามนั้นได้บ้าง อย่างไรก็ตามก็มีเหตุผลที่ก่อให้เกิดความกลัวขึ้นว่าการเต็มใจกระทำการดังกล่าวจะไม่เพียงก่อให้เกิดการเป็นที่สะดุด และทำให้การต่อต้านขัดขวางการคุกคามชีวิตมนุษย์อ่อนกำลังลงไปเท่านั้น แต่จะค่อยๆ นำไปสู่การยอมจำนนตามท่าทีแบบไม่ถือตามกฎเกณฑ์ใดๆ (permissiveness)

เพื่อช่วยส่องสว่างให้แก่ปัญหาอันยากลำบากนี้จึงจำเป็นที่จะต้องหวนกลับไปหาหลักการทั่วไปในเรื่องการให้ความร่วมมือในการกระทำสิ่งชั่วร้ายนั้น ผู้เป็นคริสตชน ก็เช่นเดียวกับมนุษย์ผู้มีน้ำใจดีทุกคน ถูกเรียกให้มาอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับสำคัญ

ของมโนธรรมที่จะไม่ให้ความร่วมมือโดยตรงกับการกระทำต่างๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัติของพระเจ้า ถึงแม้กฎหมายบ้านเมืองจะอนุญาตให้กระทำได้ก็ตาม อันที่จริงเมื่อพิจารณาจากมุมมองทางด้านศีลธรรมแล้ว ก็เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเลยที่จะร่วมมือกระทำสิ่งชั่วร้าย การร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อการกระทำนั้น ไม่ว่าโดยธรรมชาติของมันหรือโดยรูปแบบที่มันเป็นอยู่ในสถานะการณ์จริง สามารถให้คำนิยามได้ว่า เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงกับการกระทำผิดล่วงละเมิดชีวิตมนุษย์ หรือเป็นการมีส่วนร่วมในเจตจำนงค์ที่ผิดศีลธรรมของบุคคลผู้กระทำสิ่งผิดนั้นการร่วมมือนี้ไม่สามารถหาข้ออ้างให้เป็นสิ่งอันชอบธรรมได้ ไม่ว่าด้วยการอ้างถึงเรื่องเป็นการให้ความเคารพต่ออิสรภาพของผู้อื่น หรือด้วยการอ้างถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่กฎหมายบ้านเมืองก็ยังอนุญาตให้ทำได้หรือเรียกร้องให้ทำเช่นนั้นด้วย อันที่จริงปัจเจกชนทุกคนก็มีความ

รับผิดชอบยิ่งขึ้นทางด้านศีลธรรมต่อการกระทำต่างๆ ที่ตนเองเป็นผู้กระทำขึ้นนั้น ไม่มีใครสามารถยกเว้นจากความรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้ และบนพื้นฐานความรับผิดชอบนี้เองที่มนุษย์ทุกคนจะต้องถูกพระเจ้าตัดสิน (เทียบ รม 2:6 ; 14:12)

การปฏิเสธไม่ยอมเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำสิ่งอยุติธรรมต่างๆ นั้น มิใช่เป็นเพียงหน้าที่ทางด้านศีลธรรมเท่านั้น แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ด้วย ถ้าหากมิได้เป็นเช่นนี้มนุษย์ก็คงถูกบีบบังคับให้ต้องกระทำการต่างๆ ที่เข้ากันไม่ได้เลยกับศักดิ์ศรีอันลึกซึ้งในตัวมนุษย์เอง และเช่นนี้เองที่อิสรภาพของมนุษย์ ความหมายและจุดมุ่งหมายแท้จริง ซึ่งพบได้จากการที่มนุษย์มุ่งไปสู่ความจริงและความดีนั้นก็อาจเสียหายไปได้อย่างถึงรากถึงโคนทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องสิทธิแกนหลักสำคัญ ซึ่งในเมื่อเป็นสิทธิสำคัญเช่นนี้ ก็ควรจะต้องได้รับการรับรู้และได้รับการปกป้องโดยกฎหมายบ้านเมือง ในความหมายนี้โอกาสที่จะปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมส่วนในขั้นตอนต่างๆ ของการปรึกษาหารือกันในการตระเตรียม และในการลงมือกระทำการล่วงละเมิดต่อชีวิตจะต้องมีการให้ประกันแก่ผู้เป็นแพทย์บุคลากรด้านการสาธารณสุขและผู้อำนวยการโรงพยาบาล คลินิก และศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยทั้งหลายด้วย ผู้ที่ใช้วิธีการโต้แย้งตามนโนธรรม (conscientions objection) นั้นจะต้องได้รับการปกป้องมิใช่เพียงไม่ให้ต้องได้รับโทษตามกฏหมายเท่านั้น แต่เขาต้องได้รับการปกป้องจากผลลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาทางด้านกฎหมาย ด้านวินัย ด้านการเงิน และด้านอาชีพของเขาผู้นั้นด้วย


ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง”

(ลก 10:27) : “ส่งเสริม” ชีวิตมนุษย์


75. บทบัญญัติของพระเจ้าสอนเราถึงเรื่องวิถีทางดำเนินชีวิตมนุษย์ กฎบัญญัติห้ามทำผิดศีลธรรมเหล่านั้น ซึ่งบ่งถึงการเลือกกระทำการบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ทางด้านศีลธรรม มีคุณค่ายิ่งยวดต่ออิสรภาพของมนุษย์ นั่นคือกฎบัญญัติเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ใช้การได้เสมอทุกหนทุกแห่งโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ กฎเหล่านั้นชี้ให้เห็นชัดว่าการเลือกกระทำการบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เข้าไม่ได้โดยสิ้นเชิงกับความรักของพระเจ้า และกับศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ผู้ถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระองค์ การเลือกกระทำเช่นนั้นไม่อาจไถ่ถอนได้ด้วยการตั้งใจกระทำความดีใดๆ หรือผลที่เกิดขึ้นตามมาทดแทนได้ การเลือกเหล่านั้นขัดกันอย่างยิ่งกับสายสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมนุษย์ด้วยกัน การเลือกเหล่านั้นขัดแย้งตรงกันข้ามกับการตัดสินใจขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะดำเนินชีวิตของตนมุ่งเข้าหาพระเจ้า99


ตามความหมายนี้กฎบัญญัติห้ามทำผิดศีลธรรมจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งทางด้านบวก คำว่า “อย่า” (หรือ “ห้าม”) ซึ่งกฎบัญญัติเหล่านี้เรียกร้องอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น ทำให้ข้อจำกัดเด็ดขาดนั้นปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ซึ่งปัจเจกบุคคลนั้นไม่อาจลดตัว

ลงมาอยู่ใต้ข้อจำกัดเหล่านั้นได้ ในเวลาเดียวกัน กฎบัญญัติเหล่านั้นก็บ่งชี้ถึงขั้นระดับน้อยสุดที่มนุษย์จะต้องให้ความเคารพ และระดับน้อยสุดที่เขาจะต้องเริ่มจากบทบัญญัติเหล่านี้ เพื่อจะกล่าว “ตอบรับ” ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นคำ “ตอบรับ” ซึ่งจะ

ค่อยๆ รวมเอาโลกทัศน์ทั้งหมดของความดีเข้ามาไว้ด้วยกัน (เทียบ มธ 5:48) บทบัญญัติของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎบัญญัติห้ามทางด้านศีลธรรมนั้น เป็นการเริ่มต้นและเป็นขั้นตอนแรกอันจำเป็นของการเดินทางไปสู่อิสรภาพดังที่ท่านนักบุญเอากุสตินเขียนไว้ว่า “การเริ่มต้นของอิสรภาพ ก็คือ การเป็นอิสระจากการกระทำผิดหนักทั้งหลาย...อาทิเช่น การฆ่าคน การผิดประเวณี การเป็นชู้ การลักขโมย การฉ้อโกง การทำทุรจารสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ เป็นต้น เมื่อมนุษย์หยุดการทำผิดเหล่านั้นได้แล้วเท่านั้น (และคริสตชนทุกคนจะต้องไม่กระทำความผิดชั่วร้ายเหล่านี้เป็นอันขาด) มนุษย์จึงจะเริ่มยกศีรษะของตนขึ้นมุ่งสู่อิสรภาพได้ แต่นี่เป็นแค่เพียงการเริ่มต้นของอิสรภาพเท่านั้น หาใช่เป็นอิสรภาพสมบูรณ์ไม่”100


76. บทบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” นี้จึงเป็นจุดหักเหที่เริ่มต้นนำเราไปสู่อิสรภาพแท้จริง บทบัญญัตินี้ชี้นำให้เราส่งเสริมชีวิตอย่างแข็งขัน และให้เราพัฒนาวิธีเฉพาะขึ้นมาในการคิดและการกระทำการเพื่อรับใช้ชีวิต เช่นนี้เองที่เราแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบของเราต่อบุคคลทุกคนที่ถูกมอบฝากไว้กับเรา และในกิจการและในความจริงเราก็แสดงการโมทนาขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับชีวิตอันเป็นของประทานใหญ่ยิ่งนั้น (เทียบ สดด 139:13-14)


องค์พระผู้สร้างทรงมอบชีวิตมนุษย์ให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของมนุษย์ มิใช่เพื่อให้เขาใช้ประโยชน์ตามอำเภอใจของตน แต่เพื่อเขาจะได้พิทักษ์รักษาชีวิตนั้นไว้ด้วยสติปัญญา และดูแลชีวิตนั้นด้วยความซื่อสัตย์อันเปี่ยมด้วยความรัก พระเจ้าแห่งพันธสัญญาทรงมอบชีวิตของบุคคลมนุษย์ทุกคนไว้ให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์ชาย-หญิงของเขาช่วยดูแลด้วย ตามกฎของการสนองตอบซึ่งกันและกัน (law of reciprocuty) ทั้งการให้และการรับ ทั้งการยอมมอบตัวเองแด่ผู้อื่น และการยอมรับผู้อื่นด้วยเช่นกัน เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ โดยการรับเอาเนื้อหนังเป็นมนุษย์และโดยการมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเรามนุษย์ พระบุตรของพระเจ้าก็ทรงแสดงให้เห็นว่ากฎของการสนองตอบซึ่งกันและกันนี้สามารถบรรลุถึงความสูงส่งและความลึกซึ้งได้สักเพียงใดพร้อมกับของประทานคือองค์พระจิตเจ้า พระคริสตเจ้าทรงมอบเนื้อหาและ

ความหมายใหม่แก่กฎการสนองตอบซึ่งกันและกันนี้ให้แก่การที่ตัวตนของเราถูกมอบให้แก่กันและกันพระจิตเจ้าผู้ทรงสร้างความสัมพันธ์ขึ้นมาในความรักก็ทรงเนรมิตสร้าง ภราดรภาพและความสมานฉันท์ใหม่ขึ้นมาในระหว่างพวกเรา เป็นภาพสะท้อนแท้จริงแสดงถึงธรรมล้ำลึกของการมอบตัวเองให้และการรับซึ่งกันและกัน อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะขององค์พระตรีเอกภาพ พระจิตเจ้าทรงกลายเป็นบทบัญญัติใหม่ที่ให้พลังแก่ผู้ที่มีความเชื่อ และทรงปลุกความรับผิดชอบในตัวพวกเขาที่จะแบ่งปันตัวเองเป็นของขวัญแด่ผู้อื่น และยอมรับผู้อื่นด้วยเช่นกัน เป็นการร่วมส่วนในความรัก

อันไม่มีขอบเขตของพระเยซูคริสตเจ้าเอง


77. บทบัญญัติใหม่นี้ยังให้จิตวิญญาณและรูปร่างแก่บทบัญญัติของพระเจ้าที่ว่า “อย่าฆ่าคน” นั้นด้วย สำหรับคริสตชน มันรวมถึงกฎข้อบังคับเด็ดขาดให้ต้องเคารพรัก และส่งเสริมชีวิตของบุคคลมนุษย์ชาย-หญิงทุกคนอันสอดคล้องกับข้อเรียกร้องแห่งความรักอันล้นเหลือของพระเจ้าในพระเยซูคริสตเจ้า “เรารู้จักความรักจากการที่พระองค์ทรงสละชีวิตของพระองค์เพื่อเรา เราจึงควรสละชีวิตของเราเพื่อพี่น้องเช่นเดียวกัน” (1 ยน 3:16)


บทบัญญัติของพระเจ้าที่ว่า “อย่าฆ่าคน” แม้กระทั่งในมิติด้านบวกที่ให้เคารพ รัก และส่งเสริมชีวิตมนุษย์ก็ผูกมัดมนุษย์ทุกคน บทบัญญัตินี้ดังก้องอยู่ในมโนธรรมทางศีลธรรมของมนุษย์ทุกคน เป็นเสียงสะท้อนที่มิอาจลบล้างได้ถึงพันธสัญญาดั้งเดิมของพระเจ้าองค์พระผู้สร้างกับมนุษยชาติ มนุษย์ทุกคนสามารถรับรู้บทบัญญัตินี้ได้ โดยอาศัยแสงสว่างของเหตุผล และมนุษย์สามารถปฏิบัติตามได้ ทั้งนี้โดยอาศัยการทำงานอย่างเร้นลับขององค์พระจิตผู้ “พัดไปในที่ที่พระองค์ต้องการ” (เทียบ ยน 3:8) พระจิตทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนที่เจริญชีวิตอยู่ในโลก


ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องทำงานรับใช้ความรัก เพื่อช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์ของเราแน่ใจได้ว่าชีวิตของตนจะได้รับการปกป้อง และส่งเสริมอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อชีวิตนั้นอ่อนแอและถูกคุกคาม เรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับทั้งสังคมมนุษย์ ซึ่งเราทุกคนจะต้องให้การสนับสนุน นั่นคือ เราต้องสนใจที่จะทำให้ความเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อชีวิตมนุษย์เป็นรากฐานของสังคมที่ได้รับการปรับปรุงฟื้นฟูขึ้นใหม่


เราถูกขอร้องให้รักและให้เกียรติชีวิตมนุษย์ชาย-หญิงทุกคน และให้ทำงานนี้ด้วยใจเพียรทนและกล้าหาญ เพื่อว่ายุคสมัยของเราที่เห็นเด่นชัดได้จากสัญญาณมากมายบ่งถึงความตาย ในที่สุด ก็อาจเป็นสักขีพยานถึงการก่อสร้างวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิตขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นผลของวัฒนธรรมแห่งความจริงและวัฒนธรรมแห่งความรัก














บทที่ 4

ท่านทำต่อเราเอง

สำหรับวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิตมนุษย์

ท่านทั้งหลายเป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษ

ของพระเจ้าเพื่อจะประกาศพระฤทธานุภาพขอพระองค์

ผู้ทรงเรียกท่านมาจากความมืดสู่ความสว่างอันน่า

พิศวงของพระองค์” (1 ปต 2:9) : ประชากรแห่งชีวิตและประชากรเพื่อชีวิต


78. พระศาสนจักรได้รับพระวรสารในฐานะเป็นการประกาศข่าวดี และเป็นบ่อเกิดแห่งความยินดีและความรอด พระศาสนจักร

ได้รับพระวรสารนี้เป็นของประทานจากพระเยซูเจ้า ผู้ถูกส่งมา

จากพระบิดา “เพื่อไปประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18)

พระศาสนจักรได้รับพระวรสารนี้ทางบรรดาอัครธรรมฑูตที่ถูกส่ง

โดยพระคริสตเจ้าไปทั่วทุกมุมโลก (เทียบ มก 16:15 ; มธ 28:19-20) เมื่อพระศาสนจักรถือกำเนิดมาจากงานประกาศข่าวดีนี้

พระศาสนจักรจึงได้ยินเสียงสะท้อนของนักบุญเปาโลอยู่ทุกวัน

ว่า “วิบัติจงมีแก่ข้าพเจ้า หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี” (1 คร 9:16) ดังที่พระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ทรงเขียนไว้ว่า “การประกาศข่าวดีเป็นพระพรและพระกระแสเรียกโดยเฉพาะของ

พระศาสนจักร เป็นเอกลักษณ์ลึกซึ้งที่สุดของพระศาสนจักร

พระศาสนจักรดำรงอยู่ก็เพื่อประกาศข่าวดี”101

การประกาศข่าวดีเป็นกิจกรรมที่พระศาสนจักรเต็มใจรับทำและก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งโดยทางกิจกรรมนี้พระศาสนจักรก็

เข้ามีส่วนร่วมในพันธกิจประกาศก พันธกิจสงฆ์ และพันธกิจกษัตริย์ของพระเยซูคริสตเจ้า ฉะนั้นการประกาศข่าวดีจึงเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับการเทศน์สอน การถวายบูชามิสซา และการรับใช้งานเมตตากิจการประกาศข่าวดีเป็นกิจการที่เป็นส่วนลึกซึ้ง

ของพระศาสนจักร ซึ่งเรียกร้องให้ผู้ทำงานทุกคนลงมือประกาศ

พระวรสารนี้ตามพิเศษพรเฉพาะและตามภารกิจของแต่ละคน

เป็นเช่นเดียวกันนี้ด้วยสำหรับกรณีการประกาศพระวรสาร

แห่งชีวิต ซึ่งเป็นส่วนเนื้อในสำคัญยิ่งของพระวรสารนั้น ซึ่งก็คือองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง เรารับใช้พระวรสารนี้ที่ได้รับการค้ำจุนให้ยืนยาวมานานด้วยการตระหนักว่า เราได้รับพระวรสารนี้เป็นของประทาน และเราถูกส่งไปประกาศพระวรสารนี้แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย “จนสุดปลายแผ่นดินโลก” (กจ 1:8) ด้วยใจสุภาพถ่อมตน

และด้วยใจกตัญญูรู้คุณ เรารู้ว่าเราเป็นประชากรแห่งชีวิตและเป็นประชากรเพื่อชีวิต และนี่เป็นวิธีที่เราเสนอตัวเราเองแก่มนุษย์

ทุกคน


79. เราเป็นประชากรแห่งชีวิตก็เพราะว่า ในความรักอัน

ไม่มีเงื่อนไขของพระองค์นั้น พระเจ้าทรงมอบพระวรสารแห่งชีวิต

แก่เราและโดยพระวรสารเดียวกันนี้เองที่เราได้รับการเปลี่ยนสภาพ

ใหม่และได้รับการช่วยให้รอด เราได้ถูกไถ่คืนมาโดย “เจ้าแห่ง

ชีวิต” (กจ 3:15) ด้วยราคาแพงเป็นพระโลหิตล้ำค่าของพระองค์

เอง (เทียบ 1 คร 6:20 ; 7:23 ; 1 ปต 1:19) อาศัยน้ำศีลล้างบาป เราก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ด้วย (เทียบ รม 6:4-5 ; คส 2:12) ดุจดังกิ่งก้านที่ได้รับการหล่อเลี้ยงและเกิดผลมาจากต้นไม้เพียงต้นเดียวนั้น (เทียบ ยน 15:5) เมื่อเราได้รับการฟื้นฟูขึ้นภายในด้วยพระพรของพระจิต “ผู้เป็นเจ้าชีวิตและผู้ประทาน

ชีวิต” แล้ว เราจึงกลายเป็นประชากรเพื่อชีวิต และเราก็ถูกเรียก

ให้มากระทำการตามนั้นด้วย

เราถูกส่งไป สำหรับเรา การรับใช้ชีวิตมิใช่เป็นการโอ้อวด

แต่เป็นเรื่องของหน้าที่อันเกิดมาจากการที่เราตระหนักดีว่า เรา

เป็นประชากรของพระเจ้า เราจึงประกาศกิจการอันน่าอัศจรรย์ใจยิ่งของพระองค์ ผู้ทรงเรียกเราจากความมืดสู่ความสว่างที่น่าพิศวงของพระองค์” (เทียบ 1 ปต 2:9) ระหว่างการเดินทางของเรา เราได้รับการนำทางและได้รับพลังเสริมจากกฎแห่งความรัก ซึ่งมี

บ่อเกิดและต้นแบบมาจากองค์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ผู้ซึ่ง “โดยการสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ทรงประทานชีวิต

ให้แก่โลก”102

เราถูกส่งไปในฐานะเป็นประชาชนหมู่หนึ่งทุกคนมีกฎข้อบังคับให้ต้องกระทำการรับใช้ชีวิตนี่คือ ความรับผิดชอบที่ “เป็นของพระศาสนจักร” โดยเฉพาะ ซึ่งเรียกร้องให้สมาชิกทุกคนและทุกภาคส่วนของประชาคมพระศาสนจักรลงมือกระทำการอย่าง

สอดประสานกันด้วยใจกว้าง อย่างไรก็ตาม การอุทิศตนของหมู่คณะคริสตชนที่กระทำการนี้ก็มิได้ขจัดหรือลดความรับผิดชอบ

ของมนุษย์แต่ละคนลงไปเลย ที่เขาถูกพระเจ้าเรียกมาให้เป็น

พี่น้องเพื่อนมนุษย์” กับทุกคน “ท่านจงไปและกระทำเช่นเดียว

กันเถิด” (เทียบ ลก 10:37)

พวกเราทุกคนร่วมกันสำนึกเป็นอย่างดีถึงหน้าที่ของเราที่จะต้องประกาศพระวรสารแห่งชีวิตเฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิต

ในพิธีกรรม และในความเป็นอยู่ทั้งหมดของเรา และรับใช้

พระวรสารแห่งชีวิต โดยทางโครงการและโครงสร้างหลากหลายที่

ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมชีวิตมนุษย์


สิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังนี้

เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย” (1 ยน 1:3)

: การประกาศพระวรสารแห่งชีวิต


80. “เราประกาศเรื่องราวเกี่ยวกับพระวจนาตถ์แห่งชีวิต

ซึ่งเป็นอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่ม เราได้ฟัง เราได้เห็นด้วยตาของเรา

เราได้เฝ้ามอง และเราได้สัมผัสด้วยมือของเรา...เราประกาศ

ให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย เพื่อท่านจะได้สนิทสัมพันธ์กับเรา” (1 ยน 1:1-3) พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระวรสารเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

เราไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะกล่าวถึงและไม่มีสักขีพยานใดที่จะยืนยัน

อีกแล้ว

การประกาศพระเยซูเจ้าเป็นการประกาศชีวิต เพราะ

พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระวจนาตถ์แห่งชีวิต” (1 ยน 1:1) ใน

พระองค์ “ชีวิตนั้นได้ปรากฏ” (1 ยน 1:2) พระองค์เองทรงเป็น “ชีวิตนิรันดร ซึ่งอยู่กับพระบิดา และปรากฏให้เราเห็น” (1 ยน 1:2) โดยของประทานคือองค์พระจิต ชีวิตเดียวกันนี้ก็ถูกมอบ

ให้แก่เรา เมื่อชีวิตถูกกำหนดให้ถึงความสมบูรณ์คือ “ชีวิตนิรันดร” ชีวิตบนโลกนี้ของมนุษย์ทุกคนจึงไขว่คว้าหาความหมายสมบูรณ์

ของชีวิต

โดยที่ได้รับแสงสว่างจากพระวรสารแห่งชีวิต เราจึงรู้สึกว่าจำเป็นที่เราจะต้องประกาศและเป็นสักขีพยานถึงความใหม่

เยี่ยมยอดของพระวรสารนี้ เนื่องจากพระวรสารนี้คือองค์พระเยซูเจ้า

เอง ผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นของใหม่103 และทรงมีชัยเหนือ “ความเก่า” ซึ่งมาจากบาปและนำไปสู่ความตาย104 พระวรสารนี้เกินเลยความคาดหวังทุกอย่างของมนุษย์ และแสดงให้เห็นถึงขีดสูงสุดที่ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ได้รับการยกขึ้นมาให้ถึงจุดนี้ได้ โดยทางพระหรรษทาน นี่คือสิ่งที่นักบุญ เกรกอรีแห่งนิสซาเข้าใจ นั่นคือว่า “มนุษย์ในฐานะสิ่งที่เป็นอยู่สิ่งหนึ่งนั้นไม่เป็นสิ่งสำคัญอะไรเลยมนุษย์เป็นแค่ฝุ่นดิน แค่หญ้า แค่สิ่งไร้สาระ แต่พอมนุษย์ได้รับอุปการะจากพระเจ้าแห่งจักรวาลให้เป็นบุตรของพระองค์ มนุษย์ก็กลายเป็นส่วนของครอบครัวของผู้ทรงความเป็นอยู่นั้น (Beign) ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถเห็น ได้ยินหรือเข้าใจความเลอเลิศและความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้ คำพูดใด ความคิดใด และการโผผินของจิตใดเล่าจะสามารถสรรเสริญความอุดมบริบูรณ์ของพระพรนี้ได้? มนุษย์พุ่งขึ้นเหนือธรรมชาติมนุษย์ของตน นั่นคือ จากที่ตายได้มนุษย์กลับเป็นอมตะ จากที่สูญสลายไปได้ เขากลับคงอยู่ไม่เสื่อมสลาย จากที่เป็นอยู่ชั่วคราว เขากลับเป็นอยู่นิรันดร จากที่เป็น

เพียงมนุษย์ เขากลับเป็นพระเจ้า”105

ความรู้สึกขอบพระคุณและความปิติยินดีที่เห็นมนุษย์มีศักดิ์ศรีอันมิอาจเปรียบได้นี้ ผลักดันเราให้แบ่งปันสารนี้กับทุกคน

ด้วย “สิ่งที่เราได้เห็นและได้ฟังนี้ เราประกาศให้ท่านทั้งหลายรู้ด้วย เพื่อท่านจะได้สนิทสัมพันธ์กับเรา” (1 ยน 1:3) เราจำเป็นต้องนำ

เอาพระวรสารแห่งชีวิตเข้าไปสู่หัวใจมนุษย์ชาย-หญิงทุกคน และ

ให้พระวรสารแห่งชีวิตแทรกทะลุเข้าไปในทุกส่วนของสังคมมนุษย์

ด้วย


81. เหนืออื่นใด นี่เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับการประกาศถึงหัวใจของพระวรสารนี้ เป็นการประกาศองค์พระเจ้าผู้ทรงชีวิต

ที่อยู่ใกล้ชิดเรา ทรงเรียกเราให้เข้ามามีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพระองค์ และทรงปลูกความหวังถึงชีวิตนิรันดรขึ้นในตัวเรา การประกาศนี้เป็นการยืนยันถึงความเกี่ยวพันอันมิอาจแยกจากกันได้ระหว่างตัวบุคคลมนุษย์ ชีวิตของตนกับการมีร่างกายของตนนั้น การประกาศนี้เป็นการนำเสนอชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตแห่งความสัมพันธ์ เป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นผลและเครื่องหมายบ่งบอกถึงความรักของพระองค์ เป็นการประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์เป็นการเฉพาะกับมนุษย์แต่ละคน ซึ่งทำให้เราสามารถเห็นพระพักตร์ของพระองค์ได้ในใบหน้าของมนุษย์ทุกคน เป็นเสียงเรียกเพื่อให้เรา “มอบตนเองด้วยจริงใจเป็นของขวัญแด่ผู้อื่น” อันเป็นวิถีทาง

ที่เราจะทำให้อิสรภาพส่วนของตนนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์

การประกาศพระวรสารแห่งชีวิตยังเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับการชี้ให้เห็นชัดเจนถึงผลที่ตามมาต่างๆ ของพระวรสารนี้ด้วย

ผลที่ตามมาเหล่านี้สามารถสรุปได้ว่า ชีวิตมนุษย์ในฐานะเป็น

ของประทานจากพระเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์และมิอาจถูกล่วงละเมิดได้

เพราะเหตุผลนี้เอง การทำแท้งและการทำการุณยฆาตจึงเป็นสิ่ง

ที่ยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด มิใช่เพียงว่าชีวิตมนุษย์จะต้องไม่ถูก

คร่าทำลายเท่านั้น แต่ชีวิตมนุษย์จะต้องได้รับการปกป้องอาศัย

การดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก ความหมายของชีวิตพบได้ในการ

มอบและการรับความรัก และภายใต้แสงสว่างนี้เองที่เพศสัมพันธ์ของมนุษย์ และการให้กำเนิดมนุษย์มีลักษณะเด่นชัดแท้จริง

เต็มที่ ความรักยังให้ความหมายต่อความทุกข์ยากและความตายด้วย แม้จะมีธรรมล้ำลึกล้อมรอบอยู่ ความทุกข์และความตาย

กลายเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยมนุษย์ให้รอดได้ การให้ความเคารพต่อชีวิตเรียกร้องให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องคอยรับใช้มนุษย์และช่วยให้มนุษย์มีพัฒนาการแบบบูรณาการขึ้นในตัวมนุษย์เองด้วยเสมอ สังคมทั้งสังคมจะต้องเคารพ ปกป้องและส่งเสริม

ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคนในทุกขณะจิตและในทุกสภาการณ์

ชีวิตของบุคคลมนุษย์ด้วย


82. เพื่อจะเป็นประชากรผู้รับใช้ชีวิตได้จริงๆ เราจะต้อง

นำเสนอความจริงเหล่านี้อยู่เสมอ และด้วยความกล้าหาญ ตั้งแต่แรกเริ่มการประกาศพระวรสาร และต่อมาก็ในการสอนคำสอน

ในการเทศน์สอนในรูปแบบต่างๆ ในการสนทนากันเป็นส่วนตัว และในกิจกรรมทางการศึกษาอบรมด้วย ครูอาจารย์ ครูคำสอน และนักเทวศาสตร์มีภารกิจที่จะต้องเน้นย้ำถึงเหตุผลทางด้าน

มนุษย์วิทยาที่เป็นรากฐานของการให้ความเคารพต่อบุคคลมนุษย์ทุกคน เช่นนี้เอง โดยการทำให้ความใหม่ของพระวรสารฉายแสง

ออกมา เราก็สามารถช่วยให้ทุกคนค้นพบภายใต้แสงสว่างของ

เหตุผลและประสบการณ์ชีวิตของตน ถึงวิธีที่สารของคริสตชนนี้

เผยแสดงให้เห็นเต็มที่ว่ามนุษย์เป็นใคร รวมทั้งเห็นความหมายของการเป็นมนุษย์ และการเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วย ในการที่เรา

อุทิศตนทำงานร่วมกับผู้ที่ไม่มีความเชื่อทั้งหลายเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิตนั้น เราก็จะได้พบหัวข้อเรื่องสำคัญต่างๆ

ที่เราจะใช้เสวนาพูดคุยกับพวกเขาได้

เมื่อต้องเผชิญกับความคิดเห็นขัดแย้งในเรื่องต่างๆ

มากมายและมีการปฏิเสธไม่ยอมรับข้อความเชื่ออันถูกต้องใน

เรื่องชีวิตมนุษย์กันอย่างกว้างขวางนั้น เราสามารถรู้สึกได้ว่า

คำร้องขอของท่านนักบุญเปาโลต่อท่านทิโมธีนั้น ก็ยังกล่าวกับ

เราด้วยเช่นกันว่า “จงประกาศพระวาจา จงพร้อมสรรพทั้งเมื่อมีโอกาสและเมื่อไม่มีโอกาส จงว่ากล่าว จงตักเตือน จงให้กำลังใจโดยพร่ำสอนด้วยพากเพียรอย่างเต็มที่” (2 ทธ 4:2) คำกระตุ้นเตือนนี้ควรจะดังก้องด้วยพลังพิเศษอยู่ในหัวใจสมาชิกทุกคนของ

พระศาสนจักร ผู้มีส่วนร่วมโดยตรงด้วยวิธีต่างๆ ในพันธกิจของพระศาสนจักร ในฐานะที่พระศาสนจักรเป็น “ครู” ผู้สอนความจริง ขอให้คำกระตุ้นนี้ก่อนใดหมดเตือนสอนพวกเราทุกคนที่เป็น

พระสังฆราช พวกเราเป็นบุคคลพวกแรกที่ถูกเรียกให้มาเป็นผู้เทศน์สอนพระวรสารแห่งชีวิตอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย พวกเรายังได้รับมอบภารกิจที่จะต้องให้ประกันว่าข้อความเชื่อ ซึ่งได้ปรากฏเด่นชัดอยู่ในพระสมณสารฉบับนี้แล้ว จะได้รับการส่งมอบต่อๆ ไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนด้วย พวกเราต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อปกป้องมรรคาคริสตชนให้พ้นจากคำสอนที่ตรงกันข้าม พวกเราจำเป็นต้องให้แน่ใจได้ว่า ในสาขาวิชาเทววิทยาในบ้านเณร และในสถาบันการศึกษาคาทอลิก ข้อความเชื่อที่ถูกต้องจะได้รับการสอน อธิบาย และศึกษาค้นคว้าอย่างเต็มที่106 ขอให้คำกระตุ้นเตือนนี้ของท่านนักบุญเปาโลช่วยปลุกเร้าจิตใจของนักเทวศาสตร์ พระสงฆ์ผู้อภิบาล ครูอาจารย์และทุกคนที่รับผิดชอบในงานคำสอนและในงานอบรมมโนธรรมด้วย เมื่อพวกเขาตระหนักถึงบทบาทพิเศษนี้ของตนแล้ว พวกเขาจะได้ไม่ปล่อยตัวละเลยความรับผิดชอบนี้ไปมากนักจนถึงขั้นทรยศต่อความจริงและพันธกิจของตนโดยนำเสนอความคิดเห็นส่วนตัวของตนอันขัดแย้งกับพระวรสารแห่งชีวิตแบบที่อำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักรได้นำเสนอ และอธิบาย

ความไว้อย่างซื่อสัตย์แล้วนั้น

ในการประกาศพระวรสารนี้ เราต้องไม่หวั่นเกรงเรื่องการมีศัตรู หรือการไม่เป็นที่นิยมชมชอบของผู้คน และเราต้องไม่ยอมประนีประนอมหรืออธิบายความกำกวมไม่ชัดแจ้ง ซึ่งอาจทำให้เราคล้อยตามความคิดแบบของโลกได้ (เทียบ รม 12:2) เราต้องอยู่ในโลก แต่ต้องไม่เป็นของโลก (เทียบ ยน 15:9 ; 17:16) โดยรับพลังจากพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเอาชนะโลกแล้วด้วยการสิ้นพระชนม์

และการกลับคืนชีพของพระองค์ (เทียบ ยน 16:33)

ข้าพระองค์โมทนาคุณพระองค์

เพราะพระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์

ให้แปลกประหลาดอย่างน่ากลัว” (สดด 139:14) :

การเฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิต


83. เนื่องจากเราถูกส่งมาในโลกในฐานะเป็น “ประชากรเพื่อชีวิต” การประกาศของเราจึงต้องกลายเป็นการเฉลิมฉลอง

พระวรสารแห่งชีวิตอย่างแท้จริงด้วย การเฉลิมฉลองนี้ที่ได้รับพลังกระตุ้นจากภาษาท่าทาง สัญลักษณ์และจารีตพิธีต่างๆ ควรจะ

เป็นแหล่งที่ตั้งล้ำค่าเด่นชัด ที่ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของ

พระวรสารนี้จะถูกส่งมอบต่อไป

เพื่อจะเกิดขึ้นได้ดังนี้ ก่อนอื่นหมดเราจำเป็นต้องส่งเสริมการมีท่าทีแบบญาณทัศน์ (contemplative outlook)107 ขึ้นมาในตัวเราเองและในผู้อื่นด้วย ท่าทีเช่นนี้เกิดมาจากการมีความเชื่อในองค์พระเจ้าแห่งชีวิต ผู้ทรงเนรมิตสร้างมนุษย์แต่ละคนเป็น

สิ่งมหัศจรรย์” (เทียบ สดด 139:14) เป็นท่าทีของผู้ที่มองเห็นชีวิตในความหมายที่ลึกซึ้งกว่า เป็นผู้ที่เข้าใจถึงการได้รับชีวิต

นี้มาเปล่าๆ เข้าใจถึงความงดงามของชีวิต และเข้าใจถึงการเชื้อเชิญของชีวิตสู่อิสรภาพและความรับผิดชอบ เป็นท่าทีของผู้ที่ไม่ทึกทักแอบอ้างเอาความเป็นจริงนั้นมาเป็นของตนเอง แต่กลับยอมรับว่าชีวิตเป็นของประทานมาจากพระเจ้า โดยค้นพบภาพสะท้อนขององค์พระผู้สร้างในสรรพสิ่ง และมองเห็นภาพลักษณ์ที่มีชีวิตของพระองค์ในมนุษย์ทุกคน (เทียบ ปฐก 1:27 ; สดด 8:5) ท่าทีนี้มิยอมท้อแท้เมื่อต้องเผชิญกับผู้เจ็บป่วย ผู้ทุกข์ทรมาน ผู้ที่ไม่มีใครคบหา หรือผู้ที่กำลังจะตาย ในสภาพการณ์ต่างๆ เหล่านั้น ท่าทีเช่นนี้กลับรู้สึกว่าถูกท้าทายให้ค้นหาความหมาย และใน

สภาพแวดล้อมเช่นนี้นั่นเองที่ท่าทีนี้เปิดสู่การรับรู้จากใบหน้าของบุคคลมนุษย์แต่ละคน ถึงเสียงเรียกร้องให้ไปพบปะสนทนา และ

สมานฉันท์กับเพื่อนมนุษย์ทุกคน

ถึงเวลาที่เราทุกคนจะรับเอาท่าทีดังกล่าวนี้มา และด้วยความรู้สึกยำเกรงลึกซึ้งทางด้านศาสนา เราก็ค้นพบใหม่ถึงความสามารถที่เราจะเคารพให้เกียรติบุคคลมนุษย์ทุกคน ดังที่สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้ทรงเชื้อเชิญให้เรากระทำเช่นนี้ในสารโอกาสฉลองคริสตสมภพฉบับหนึ่งของพระองค์นั้น108 โดย

ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการมีท่าทีแบบญาณทัศน์นี้เองที่ประชากรใหม่ ผู้ได้รับการไถ่กู้ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องตอบรับด้วยบทเพลง

แสดงความชื่นชมยินดี สรรเสริญโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับชีวิต

อันเป็นของประทานล้ำค่ายิ่งสำหรับธรรมล้ำลึกแห่งการเรียกมนุษย์ทุกคนโดยทางพระคริสตเจ้าให้เข้ามามีส่วนในชีวิตพระหรรษทาน และในความเป็นอยู่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าองค์พระผู้สร้าง และ

พระบิดาของเรามนุษย์

84. การเฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิตหมายถึงการ

เฉลิมฉลององค์พระเจ้าแห่งชีวิต องค์พระเจ้าผู้ทรงประทานชีวิต

เราต้องเฉลิมฉลององค์ชีวิตนิรันดร ซึ่งชีวิตทุกชีวิตล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น จากองค์ชีวิตนี้ ทุกสิ่งที่เป็นอยู่ซึ่งก็มีส่วนร่วมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในชีวิต ก็ได้รับชีวิตตามสัดส่วนสมรรถภาพของมัน องค์พระเจ้าแห่งชีวิตนี้ ซึ่งอยู่เหนือทุกชีวิต ทรงประทานชีวิตและทรงรักษาชีวิตไว้ด้วย ชีวิตทุกชีวิตและสิ่งเคลื่อนไหวทุกอย่างที่มีชีวิตนั้นล้วนมาจากองค์ชีวิตผู้นี้ ซึ่งทรงอยู่เหนือทุกชีวิตและเหนือทุกกฎของชีวิต การมิอาจสูญสลายไปได้ของวิญญาณมนุษย์ก็เป็นเพราะองค์ชีวิตผู้นี้และเพราะองค์ชีวิตนี้เองสัตว์และพืชทั้งหลายจึงมีชีวิต ซึ่งได้รับเพียงแสงริบหรี่น้อยนิดของชีวิตเท่านั้น

องค์ชีวิตผู้นี้ทรงประทานชีวิตให้มนุษย์ผู้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีทั้งจิตและสสาร แม้กระทั่งเราอาจละทิ้งองค์ชีวิตนี้ไป แต่เพราะความรักล้นเหลือที่ทรงมีต่อมนุษย์ องค์ชีวิตนี้ก็ยังทรงเรียกให้เราหันกลับมาหาพระองค์อีก มิใช่เพียงแค่นี้เท่านั้น องค์ชีวิตนี้ยังสัญญาจะนำเราทั้งวิญญาณและกายไปสู่ชีวิตสมบูรณ์ สู่ชีวิตอมตะ เป็นสิ่ง

เล็กน้อยเหลือเกินที่จะกล่าวว่าองค์ชีวิตนี้ทรงดำรงอยู่เป็นตัวการหลักของชีวิต เป็นตัวต้นเหตุและเป็นท่อธารหนึ่งเดียวของชีวิต

สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งจะต้องพิศเพ่งรำพึงถึงและแซ่ซ้องสรรเสริญองค์

ชีวิตนี้ เพราะชีวิตหลั่งไหลออกมาจากองค์ชีวิตนี้”109

เช่นเดียวกับนักขับเพลงสดุดี เราก็ขับเพลงสรรเสริญ

องค์พระเจ้าพระบิดาของเราด้วย ในการสวดภาวนาประจำวันของเราทั้งเป็นส่วนบุคคลและทั้งเป็นหมู่คณะ พระองค์ทรงเป็นผู้ถักทอ

เราเข้าด้วยกันตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา พระองค์ทรงเห็นและ

ทรงรักเราในขณะที่เรายังไม่เป็นรูปร่างขึ้นมา (เทียบ สดด 139

:13,15-16) เราเปล่งเสียงออกมาด้วยความยินดีว่า “ข้าพระองค์โมทนาคุณพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสร้างข้าพระองค์ให้แปลกประหลาดอย่างน่ากลัว พระราชกิจของพระองค์อัศจรรย์ พระองค์ทรงทราบข้าพระองค์เป็นอย่างดี” (สดด 139:14) อันที่จริง “แม้ชีวิตจะมีความยากลำบาก มีธรรมล้ำลึกซ่อนเร้นอยู่ มีความทุกข์และความอ่อนแอที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้อยู่ในชีวิตก็ตาม ชีวิตที่ตายได้นี้ก็เป็นสิ่งสวยงามที่สุด เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ใหม่และเร้าใจเสมอชีวิตเป็นเหตุการณ์ที่สมควรจะยกย่องเชิดชูด้วยความยินดีและด้วยสิริมงคล”110 ยิ่งกว่านั้น มนุษย์และชีวิตมนุษย์ปรากฏต่อเรามิใช่เป็นเพียงสิ่งอัศจรรย์สิ่งหนึ่งของงานเนรมิตสร้างของพระเจ้าเท่านั้น พระเจ้าทรงประทานศักดิ์ศรีที่ใกล้เคียงกับของพระเจ้าเองให้มนุษย์ (สดด 8:5-6) เราเห็นภาพลักษณ์แห่งพระสิริของพระเจ้าในเด็กทุกคนที่เกิดมาและในมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตหรือตาย เรา

เฉลิมฉลองพระสิรินี้ในมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นเครื่องหมายบ่งถึง

พระเจ้าผู้ทรงชีวิตเป็นภาพของพระเยซูคริสตเจ้าเอง

เราถูกเรียกมาให้แสดงออกซึ่งความอัศจรรย์ใจและการขอบพระคุณสำหรับชีวิตที่เป็นของประทานจากพระเจ้าและให้เราต้อนรับ ลิ้มรส และแบ่งปันพระวรสารแห่งชีวิต มิใช่โดยทางการสวดภาวนาเป็นส่วนบุคคล หรือโดยภาวนาร่วมกันเป็นหมู่คณะ

เท่านั้น แต่เหนืออื่นใดโดยทางการเฉลิมฉลองตามปีพิธีกรรม ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องนี้ก็คือศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีประสิทธิผลบ่งบอกถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า และกิจการที่ช่วยให้รอดของพระองค์ในชีวิตของเราคริสตชน ศีล

ศักดิ์สิทธิ์ทำให้เรามีส่วนร่วมในชีวิตพระเจ้า และทำให้เรามีพลังอันจำเป็น เพื่อจะได้มีประสบการณ์กับชีวิต กับความทุกข์ และความตายได้ในความหมายที่ครบสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากได้มีการค้นพบแท้จริงขึ้นใหม่ และมีความชื่นชมมากขึ้นต่อลักษณะเด่นชัดของจารีตพิธีเหล่านี้ การฉลองตามพิธีกรรมของเรา โดยเฉพาะ

อย่างยิ่งพิธีฉลองศีลศักดิ์สิทธิ์จะเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกถึงความจริงเต็มที่ในเรื่องการเกิด เรื่องชีวิต เรื่องความทุกข์และความตาย และจะช่วยให้เราเจริญชีวิตช่วงเวลาเหล่านั้นแบบเป็นการ

เข้ามามีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ถูก

ตรึงกางเขนและกลับคืนชีพแล้วนั้น


85. ในการเฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิตเรายังต้องชื่นชม

ยินดี และรู้จักใช้ภาษาท่าทางหลากหลายรวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในธรรมเนียมและประเพณีของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของผู้คนทั้งหลายนั้นให้เป็นประโยชน์ด้วย มีโอกาสและวิถีทางพิเศษต่างๆ ที่ผู้คนของชนชาติและวัฒนธรรมอันแตกต่างกัน แสดงออกถึงความชื่นชมยินดีต่อชีวิตใหม่ที่ถือกำเนิดมา แสดงถึงการให้

ความเคารพปกป้องชีวิตมนุษย์แต่ละคน แสดงถึงความเอาใจใส่ดูแลผู้ทุกข์ทรมานหรือผู้ขัดสน แสดงถึงความใกล้ชิดต่อผู้สูงอายุและผู้กำลังจะตาย แสดงถึงการเข้ามีส่วนร่วมกับความเศร้าโศก

ของผู้ที่คร่ำครวญร่ำไห้ และแสดงถึงความหวังและความปรารถนา

ที่จะได้ชีวิตอมตะนั้น

จากการพิจารณาถึงเรื่องนี้ และจากคำแนะนำของบรรดาพระคาร์ดินัลในการประชุมเมื่อปี ค..1991 ข้าพเจ้าจึงขอเสนอให้ทุกปีมีวันฉลองระลึกถึงชีวิต (Day for Life) ในทุกประเทศทั่วโลก ดังที่สภาพระสังฆราชบางแห่งก็ได้จัดตั้งวันนี้ขึ้นมาแล้ว

ควรจะมีการวางแผนเตรียมการและเฉลิมฉลองวันระลึกถึงชีวิตเช่นนี้ โดยให้คริสตชนจากทุกภาคส่วนของพระศาสนจักรท้องถิ่น

เข้ามามีส่วนร่วมด้วยอย่างแข็งขัน จุดมุ่งหมายแรกสุดของการ

จัดฉลองวันนี้ก็คือ เพื่อส่งเสริมมโนธรรมในมนุษย์แต่ละคน ใน

ครอบครัว ในพระศาสนจักร และในสังคมประชาชนพลเมือง ให้เกิดการรับรู้ถึงความหมายและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ในทุกขั้นตอนและในทุกสภาวะของชีวิต ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษด้วยใน

เรื่องความร้ายแรงของการทำแท้งและการทำการุณยฆาต โดยที่

ไม่ละเลยมิติด้านอื่นๆ ของชีวิตมนุษย์ที่สมควรได้รับการนำมาพิจารณาทบทวนเป็นครั้งคราวไป ตามที่โอกาสและสถานะการณ์

เรียกร้อง


86. ในฐานะที่เป็นส่วนของเครื่องบูชาฝ่ายจิต ซึ่งเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า (เทียบ รม 12:1) พระวรสารแห่งชีวิตก็ได้รับการเฉลิมฉลองเป็นต้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งควรจะเปี่ยมด้วยการแสดงความรักมอบตนเองเพื่อผู้อื่น เช่นนี้เองชีวิตของเราก็จะกลายเป็นการยอมรับชีวิตเป็นของประทานอย่างแท้จริงและอย่างมีความรับผิดชอบ และชีวิตก็จะเป็นบทเพลงจากใจของเราสรรเสริญโมทนาคุณพระเจ้า ผู้ทรงประทานของขวัญนี้แก่เรา

สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในกิจการต่างๆ ที่แสดงออกมาด้วยความใจกว้างไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งบ่อยครั้งเป็นสิ่งต่ำต้อยและซ่อนเร้นที่มนุษย์

ชาย-หญิง เด็กและผู้ใหญ่ คนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุคนที่มีสุขภาพ

ดีและคนเจ็บป่วยได้แสดงออกมานั้น

กิจการเหล่านี้เองเป็นการเฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิตอย่างสง่าที่สุด เพราะว่าเป็นการประกาศด้วยการมอบตัวเองโดย

สิ้นเชิง กิจการเหล่านี้เป็นการแสดงออกเด่นชัดให้เห็นถึงความรักในขั้นสูงสุด ซึ่งก็คือ การมอบชีวิตของตนเพื่อคนที่เรารัก (เทียบ ยน 15:13) กิจการเหล่านี้เป็นการร่วมส่วนในธรรมล้ำลึกแห่งกางเขน ซึ่งในกางเขนนี้พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมนุษย์ทุกคน และเห็นถึงวิธีที่ชีวิตจะบรรลุความสมบูรณ์ได้

ในการมอบตนเองอย่างจริงใจ นอกเหนือจากโอกาสเด่นชัดต่างๆ นั้นแล้ว ก็ยังมีวีรกรรมในชีวิตประจำวันอยู่อีกประการหนึ่ง เป็นการแสดงออกต่างๆ โดยการแบ่งปันไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม

ซึ่งช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งชีวิตขึ้นมา ตัวอย่างที่น่าสรรเสริญยิ่งตัวอย่างหนึ่งของการแสดงออกเหล่านั้น ก็คือการบริจาคอวัยวะร่างกาย ที่กระทำด้วยลักษณะที่ยอมรับได้ทางด้านจริยธรรม โดยมีจุดหมายเพื่อให้ผู้ป่วยที่บางครั้งไม่มีความหวังอื่นใดอีกแล้ว กลับ

มีโอกาสได้รับสุขภาพ หรือแม้กระทั้งชีวิตคืนมาใหม่

อีกส่วนหนึ่งของวีรกรรมในชีวิตประจำวัน ก็คือการเป็นสักขีพยานเด่นชัดแบบเงียบๆ แต่มีผลดีมากของผู้ที่เป็น “มารดาผู้กล้าหาญที่อุทิศตนทั้งหมดให้ครอบครัวของตน ยอมทุกข์ทรมานเมื่อให้กำเนิดบุตร และพร้อมเสมอที่จะพยายามทำทุกสิ่ง เสียสละทุกอย่าง เพื่อนำส่วนดีที่สุดของตนมอบเป็นแบบฉบับแก่บุตร

ของตน”111 ในการเจริญชีวิตตามพันธกิจนี้ “วีรสตรีเหล่านี้มักจะไม่พบการสนับสนุนใดๆ จากโลกรอบตัวเธอ ตรงกันข้ามต้นแบบต่างๆ ทางวัฒนธรรมที่สื่อสารมวลชนมักจะส่งเสริมและออกอากาศ

เผยแพร่กันอยู่นั้น ก็ไม่ได้ช่วยสนับสนุนเรื่องของการเป็นแม่เลย โดยการอ้างถึงความก้าวหน้าและความทันสมัย คุณค่าบางประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความซื่อสัตย์ ความบริสุทธิ์ ความเสียสละ ซึ่งผู้เป็นภรรยาและมารดาคริสตชนพวกหนี่งได้ยึดถือและยังคงถือปฏิบัติเป็นสักขีพยานเด่นชัดเรื่อยมานั้นกลับถูกนำเสนอเป็นสิ่ง

ล้าสมัยไปเสีย...เราขอขอบคุณพวกท่าน มารดาวีรสตรีทั้งหลายสำหรับความรักล้นเหลือของพวกท่าน เราขอขอบคุณสำหรับ

ความไว้วางใจมั่นคงที่ท่านมีต่อพระเจ้าและต่อความรักของพระองค์

เราขอขอบคุณสำหรับการที่ท่านเสียสละชีวิตของตนเอง...ในธรรมล้ำลึกปัสกานั้น พระคริสตเจ้าทรงนำของขวัญที่พวกท่านมอบถวายแด่พระองค์มาคืนให้พวกท่านแล้ว อันที่จริง พระองค์ทรงมีอำนาจ

ที่จะมอบชีวิตที่พวกท่านยกถวายแด่พระองค์คืนให้พวกท่าน

ด้วย”112


จะมีประโยชน์ใด หากผู้หนึ่งอ้างว่ามีความเชื่อ

แต่ไม่มีการกระทำ” (ยก2:14) : การรับใช้พระวรสาร

แห่งชีวิต


87. โดยทางการร่วมส่วนในงานพันธกิจกษัตริย์ของ

พระคริสตเจ้า งานสนับสนุนและส่งเสริมชีวิตมนุษย์ของเรานั้นก็

จะสำเร็จไปได้โดยทางการรับใช้ความรัก ซึ่งพบการแสดงออกด้วยการเป็นสักขีพยานของตัวบุคคลของเรา ด้วยรูปแบบหลากหลายของงานอาสาสมัครงานด้านสังคม และด้วยการอุทิศตนทำงานด้าน

การเมือง นี่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในยุคปัจจุบัน เมื่อ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” นั้นขัดแย้งอย่างรุนแรงกับ “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” และบ่อยครั้งก็ดูเหมือนว่ามันจะได้เปรียบอยู่ด้วย แต่แม้กระทั่งก่อนหน้านั้นก็มีความจำเป็นอันเกิดจาก “ความเชื่อที่แสดงออกเป็นการกระทำอาศัยความรัก” (กท 5:6) ดังที่จดหมายของ

นักบุญยาโกบ เตือนเราว่า “พี่น้องที่รัก จะมีประโยชน์ใด หากผู้หนึ่งอ้างว่ามีความเชื่อ แต่ไม่มีการกระทำ ความเชื่อเช่นนั้นจะ

ช่วยให้เขารอดพ้นได้หรือ ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดขัดสนเครื่อง

นุ่งห่มประจำวัน แล้วท่านคนหนึ่งพูดว่า ‘จงไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นเถิด’ แต่มิได้ให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายแก่เขา จะมีประโยชน์ใดเล่า ความเชื่อก็เช่นเดียวกันหากไม่มีการกระทำ ก็เป็น

ความเชื่อที่ตายแล้ว” (ยก 2:14-17)

ในการรับใช้ความรัก เราจะต้องมีทัศนคติพิเศษเป็นแรงบันดาลใจและช่วยให้เราแยกแยะ กล่าวคือ เราต้องดูแลเอาใจใส่ผู้อื่นเช่นบุคคลที่พระเจ้าทรงมอบให้เรารับผิดชอบ ในฐานะศิษย์ของพระเยซู เราถูกเรียกมาให้เป็นเพื่อนพี่น้องของมนุษย์ทุกคน (เทียบ ลก 10:29-37) และให้แสดงความรักเป็นพิเศษต่อผู้

ยากจนที่สุด ผู้อยู่โดดเดี่ยวที่สุด และผู้ขัดสนที่สุด ในการช่วยเหลือคนที่หิว คนที่กระหาย คนต่างถิ่น คนที่ไม่มีเสื้อผ้า คนที่เจ็บ

ป่วย คนที่ถูกคุมขัง-รวมทั้งเด็กที่ยังอยู่ในครรภ์มารดา และคน

ชราที่กำลังทุกข์ทรมานหรือกำลังจะตายด้วย-เราก็มีโอกาสรับใช้

พระเยซูเจ้า พระองค์เองทรงตรัสไว้ว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเราเอง” (มธ 25

:40) ฉะนั้น เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า เราถูกเรียกให้ต้องรายงานและถูกตัดสินตามถ้อยคำชัดเจนของท่านนักบุญยอห์น คริสซอสโตม

ที่ว่า “ท่านอยากถวายเกียรติแด่พระกายของพระคริสตเจ้า

หรือ ท่านจงอย่าละเลยเมื่อท่านพบว่าพระกายของพระองค์นั้น

เปลือยเปล่า จงอย่าแสดงคารวะพระกายนั้นในโบสถ์นี้ด้วยผ้าไหมชั้นดี แล้วละเลยพระกายของพระองค์ที่อยู่ข้างนอกที่ต้องทนกับ

ความหนาวเหน็บ และไม่มีเสื้อผ้าสวมใส่นั้น”113

เมื่อชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การรับใช้ความรักก็ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ชีวิตนั้นไม่อาจทนรับการมีอคติ หรือการเลือกปฏิบัติได้ เพราะชีวิตมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ และมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ในทุกขั้นตอนและทุกสภาพการณ์ของชีวิต ชีวิตเป็นสิ่งดีที่มิอาจแบ่งแยกได้ เราจึงจำเป็นต้อง “แสดงความเอาใจใส่” ต่อทุกชีวิต และต่อชีวิตของมนุษย์ทุกคน อันที่จริง ณ ระดับที่ลึกซึ้งกว่า เรา

จำเป็นต้องลงไปสู่รากเหง้าของชีวิตและความรัก

เป็นความรักอันลึกซึ้งต่อมนุษย์ชาย-หญิงทุกคนนี้เองที่ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างประวัติศาสตร์เด่นชัดใน

เรื่องความรักเมตตา (charity) ขึ้นมา อันเป็นประวัติศาสตร์ที่นำ

เอารูปแบบหลากหลายในการรับใช้ชีวิตเข้ามาในพระศาสนจักรและในสังคมมนุษย์ ซึ่งการรับใช้นี้ก็ได้ปลุกเร้าความรู้สึกชื่นชมจากผู้สังเกตเห็นที่ไม่มีอคติทั้งหลายด้วย กลุ่มคริสตชนทั้งหลายที่มีสำนึกใหม่ถึงความรับผิดชอบ ก็ต้องเขียนประวัติศาสตร์นี้ต่อไป

โดยทางงานอภิบาลและงานสังคมสงเคราะห์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้บรรลุจุดหมายนี้ได้ จะต้องมีการดำเนินโครงการสนับสนุนชีวิตใหม่ที่มีประสิทธิภาพโดยให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่ผู้เป็นแม่ ซึ่งถึงแม้จะไม่มีผู้เป็นพ่ออยู่คอยช่วยเหลือ เธอก็ไม่หวั่นเกรงที่จะให้กำเนิดบุตรมาสู่โลก และเลี้ยงดูเขาให้เติบโตขึ้นมา เรายังต้องให้ความสนใจในทำนองเดียวกันนี้กับชีวิตของผู้เจ็บป่วย ผู้อ่อนแอ หรือผู้กำลังทนทุกข์ทรมานเหล่านั้นโดยเฉพาะขณะที่ใกล้วาระ

สุดท้ายของชีวิตด้วย


88. ทุกสิ่งนี้รวมถึงงานให้การศึกษาอบรมด้วยใจอดทน

และไม่หวั่นเกรงสิ่งใด ที่มุ่งกระตุ้นให้แต่ละคนและทุกคนช่วย

แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน (เทียบ กท 6:2) จำเป็นต้องมีการ

ส่งเสริมแบบต่อเนื่องให้มีกระแสเรียกมารับใช้ โดยเฉพาะใน

หมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว รวมทั้งเรื่องการนำเอาโครงการระยะยาวที่ปฏิบัติได้ และงานริเริ่มต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระวรสาร

ลงไปปฏิบัติด้วย

เครื่องมือนำไปสู่จุดหมายนี้มีมากมาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับ

การพัฒนาด้วยทักษะและการอุทิศตนจริงจังในเรื่องขั้นตอนแรก

ของชีวิต ศูนย์ให้การอบรมเรื่องวิธีธรรมชาติควบคุมการตกไข่

ควรได้รับการสนับสนุนเพื่อให้ความช่วยเหลืออันล้ำค่าต่อการเป็นพ่อแม่ผู้มีความรับผิดชอบ ซึ่งบุคคลทุกคนและคนแรกก็คือตัวเด็กต้องได้รับการยอมรับและให้ความเคารพในสิทธิของเขา และ

ศูนย์เหล่านั้นเป็นที่ซึ่งการตัดสินใจทุกอย่างนั้นได้รับการชี้แนะจากอุดมการณ์ที่ต้องการมอบตัวเองอย่างจริงใจ หน่วยงานที่ให้คำ

ปรึกษาด้านชีวิตสมรสและชีวิตครอบครัวมีภารกิจพิเศษในการให้คำแนะนำและการป้องกัน จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมานุษยวิทยาที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์แบบคริสตชนในเรื่องบุคคลมนุษย์ เรื่องคู่สมรส และเรื่องเพศ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือล้ำค่าในการค้นพบใหม่ ซึ่งความหมายของความรักและชีวิต และในการสนับสนุน ในการช่วยประคับประคองทุกครอบครัวให้

ปฏิบัติพันธกิจของตนเป็น “สักการะสถานแห่งชีวิต” ด้วย ชีวิตที่เกิดมาใหม่ได้รับการดูแลรับใช้โดยศูนย์และบ้านให้ความช่วยเหลืออันเป็นที่ซึ่งชีวิตใหม่นั้นจะได้รับการต้อนรับต้องขอบคุณการ

ทำงานของศูนย์ต่างๆ เหล่านั้นที่ผู้เป็นแม่ที่มิได้แต่งงานหลายคน และคู่สามีภรรยาหลายคู่ที่กำลังประสบปัญหา ได้มีโอกาสค้นพบ

ความหวังใหม่ และพบความช่วยเหลือสนับสนุนให้พวกเขาเอาชนะ

ความยากลำบาก และความกลัวที่จะรับเอาชีวิตที่เพิ่งปฏิสนธิขึ้น

มาใหม่ๆ หรือชีวิตที่เพิ่งลืมตาดูโลกนี้ได้

เมื่อชีวิตถูกท้าทายจากสภาพความยากลำบาก การปรับตัวไม่ได้ ความเจ็บป่วย หรือการถูกปฏิเสธโครงการอื่นๆ-อาทิเช่น หมู่คณะเพื่อบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด บ้านพักสำหรับผู้ที่มีจิตบกพร่องหรือผู้ป่วยทางจิต ศูนย์ดูแลรักษาและบรรเทาใจผู้ป่วย

โรคเอดส์ สมาคมต่างๆ เพื่อความสมานฉันท์เป็นต้น สำหรับผู้พิการ-เป็นการแสดงให้เห็นเด่นชัดถึงการที่ความรักเมตตา (charity) นั้นสามารถคิดค้นออกมาได้ เพื่อให้เหตุผลใหม่ๆ สำหรับ

ความหวัง

และโอกาสที่เป็นไปได้จริงๆ สำหรับชีวิตและเมื่อการมี

ชีวิตอยู่บนโลกนี้ใกล้สิ้นสุดลง ก็เป็นความรักเมตตานี้เองที่หา

เครื่องมืออันเหมาะสมที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุ เป็นต้น ผู้ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้แล้ว และกำลังป่วยหนักอยู่นั้นให้ได้รับความช่วยเหลือแบบมีมนุษยธรรมอย่างแท้จริง และให้เขาได้รับการตอบสนองที่พอเพียงต่อความต้องการของเขาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความหวั่นวิตก และความรู้สึกว้าเหว่ของเขานั้น ในกรณีเหล่านี้ ครอบครัวต้องเข้ามามีบทบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงกระนั้นครอบครัวก็สามารถได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากด้วยจากหน่วยงานด้านการสังคมสงเคราะห์ และถ้าจำเป็นก็พึ่งการรักษาด้วยยาบรรเทาความเจ็บปวดได้ โดยใช้ประโยชน์จากการให้บริการด้านการแพทย์และด้านสังคมอันเหมาะสมที่มีอยู่ในสถาบันของ

รัฐหรือในศูนย์บ้านพัก

ที่สำคัญก็คือบทบาทของโรงพยาบาล คลีนิค และบ้านพักฟื้นทั้งหลาย จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาทบทวนใหม่ด้วย สถานที่เหล่านี้ไม่ควรเป็นแค่สถาบันที่มีขึ้นมาเพื่อรักษาพยาบาลคนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือผู้กำลังจะตายเท่านั้น แต่เหนืออื่นใดควรจะเป็นสถานที่ซึ่งความทุกข์ ความเจ็บปวด และความตาย ได้รับการยอมรับและเข้าใจตามความหมายแบบมนุษย์ และเป็นต้น ตามความหมายแบบคริสตชนด้วย สิ่งนี้จะต้องเห็นได้เด่นชัดและมีประสิทธิภาพยิ่งในสถาบันต่างๆ ที่ดำเนินการภายใต้การดูแลรับผิดชอบของคณะทำงานที่เป็นนักบวชหรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กับพระศาสนจักร


89. หน่วยงานและศูนย์ที่ให้บริการแก่ชีวิต และงานริเริ่มอื่นๆ เพื่อให้การสนับสนุน และเพื่อความสมานฉันท์ที่สภาพการณ์อาจจะเสนอแนะให้ต้องมีขึ้นในบางครั้งบางคราวนั้น จำเป็นต้องได้รับการอำนวยการโดยบุคคลที่เต็มใจเข้ามาทำงาน และเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกเต็มที่ถึงความสำคัญของพระวรสารแห่งชีวิต เพื่อ

ความดีของมนุษย์แต่ละคน และของสังคมด้วย

ความรับผิดชอบเฉพาะโดยตรงนั้นเป็นของบุคลากรด้านสาธารณสุข อันได้แก่แพทย์ เภสัชกร พยาบาล จิตตาภิบาล

นักบวชชาย-หญิง ผู้บริหารและอาสาสมัครทั้งหลาย อาชีพ

ของคนเหล่านี้เรียกร้องให้พวกเขาเป็นผู้พิทักษ์และผู้รับใช้ชีวิต

มนุษย์ ในบริบทด้านวัฒนธรรมและด้านสังคมในยุคปัจจุบัน ซึ่ง

วิทยาศาสตร์และปฏิบัติการทางการแพทย์เสี่ยงที่จะมองไม่เห็น

ถึงมิติด้านจริยธรรมที่แฝงอยู่ภายในนั้น พวกมืออาชีพด้านสาธารณสุขเหล่านี้อาจถูกประจญอย่างมากในหลายครั้งให้กลายเป็นผู้บังคับควบคุมชีวิต หรือยิ่งกว่านั้น เป็นตัวการก่อให้เกิด

ความตายขึ้นเสียเอง เมื่อต้องเผชิญกับการประจญให้กระทำ

เช่นนี้ ความรับผิดชอบของพวกเขาในเวลานี้ก็ยิ่งต้องมีมากขึ้น

แรงบันดาลใจลึกซึ้ง และแรงสนับสนุนมากที่สุดของความรับผิดชอบนี้ขึ้นอยู่กับมิติด้านจริยธรรมที่มีอยู่ภายในและมิอาจปฏิเสธได้ของการมีอาชีพทางการสาธารณสุขนี้นั่นเอง อันเป็นสิ่งที่คำสาบานตามจรรยาบรรณแพทย์ (Hippocratic Oath) ที่มีมาแต่นมนาน และยังคงมีผลใช้ได้อยู่จนกระทั่งเวลานี้ ยอมรับรู้ไว้นั้น เป็นคำสาบานที่เรียกร้องให้แพทย์ทุกคน อุทิศตนให้ความเคารพเต็มที่ต่อชีวิต

มนุษย์และต่อความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์

การให้ความเคารพเต็มที่ต่อชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ทุกชีวิตนั้นยังเรียกร้องให้ทำการคัดค้านได้ตามมโนธรรมต่อการทำแท้งที่มีการจัดเตรียมการไว้และการทำการุณยฆาตด้วย “การก่อให้เกิดความตาย” ไม่สามารถถือว่าเป็นรูปแบบของการให้การรักษาทางการแพทย์ได้ แม้แต่เมื่อความตั้งใจนั้นเป็นไปตามการร้องขอของผู้ป่วยก็ตาม มันเป็นการกระทำตรงกันข้ามกับการมีอาชีพเป็นผู้ดูแลรักษาสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งมุ่งให้เป็นอาชีพที่ยืนยันมั่นคงเต็มที่เพื่อชีวิตโดยไม่หวั่นเกรงสิ่งใดทั้งสิ้น งานศึกษาวิจัยหลักคุณธรรมด้านชีวแพทย์ (bio-ethical research) ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสนามงานที่นำผลประโยชน์ใหญ่หลวงมาสู่มวลมนุษย์ ก็จะต้องปฏิเสธ

ไม่ยอมรับการทดลองการค้นคว้าวิจัย หรือการประยุกต์ต่างๆ ที่

ไม่ยอมรับศักดิ์ศรีอันมิอาจล่วงละเมิดได้ของบุคคลมนุษย์ และ

หากเป็นเช่นนี้ ก็มิใช่เป็นงานรับใช้มนุษย์อีกต่อไปแต่กลับเป็น

เครื่องมือที่ทำร้ายมนุษย์จริงๆ โดยแฝงมาในรูปว่าเป็นการช่วยเหลือ

ผู้คนทั้งหลาย


90. ผู้ทำงานอาสาสมัครก็มีบทบาทพิเศษเช่นกันนั่นคือ พวกเขามีส่วนช่วยงานรับใช้ชีวิตได้มากทีเดียว เมื่อพวกเขาผนวกเอาความสามารถทางด้านอาชีพเข้ากับความรักด้วยใจกว้างแบบ

ไม่เห็นแก่ตัวของตน พระวรสารแห่งชีวิตเป็นแรงบันดาลใจให้

พวกเขาปรับระดับความรู้สึกของการเป็นผู้มีน้ำใจดีให้สูงขึ้นสู่ระดับความรักเมตตาของพระคริสตเจ้า ให้พวกเขารื้อฟื้นความสำนึกถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ทุกคนอยู่ทุกๆ วัน แม้จะต้องทำงานหนักและเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม ให้พวกเขาค้นหาความต้องการ

ของผู้คนทั้งหลาย และเมื่อจำเป็นก็ลงมือกระทำการตามแนวทางใหม่เหล่านั้นที่มีความต้องการมากกว่า แต่การดูแลช่วยเหลือ

สนับสนุนมีอยู่น้อยกว่านั้น

ถ้าจะให้ความรักเมตตานั้นเป็นจริงขึ้นมาและมีประสิทธิผล

แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องนำเอาพระวรสารแห่งชีวิตไปลงมือปฏิบัติ

โดยอาศัยรูปแบบบางอย่างทางงานด้านสังคม และโดยการอุทิศตนทำงานทางด้านการเมืองด้วย ให้เป็นหนทางที่จะช่วยปกป้องและส่งเสริมคุณค่าชีวิตมนุษย์ในสังคมอันหลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้นนี้ ปัจเจกบุคคล ครอบครัว กลุ่มต่างๆ และสมาคมทั้งหลาย แม้ว่าจะมีเหตุผลแตกต่างกันและอยู่ในวิถีทางที่แตกต่างกันก็ตาม ทั้งนี้มีความรับผิดชอบในการสร้างสรรค์สังคม และในการพัฒนาโครงการต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง และด้านนิติบัญญัติ ด้วยการให้ความเคารพต่อทุกคนและยังคง

รักษาหลักการประชาธิปไตยไว้ ก็จะมีส่วนร่วมสร้างสังคมมนุษย์ขึ้นมา ที่ในสังคมแบบนี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนจะได้การยอมรับและได้รับการปกป้อง และเป็นสังคมที่ชีวิตของมนุษย์ทุกคนได้รับการคุ้มครอง และได้รับการช่วยให้เจริญก้าวหน้า

ขึ้นด้วย

ภารกิจนี้เป็นความรับผิดชอบเฉพาะโดยตรงของบรรดา

ผู้นำประชาชน ในเมื่อเขาถูกเรียกมาให้รับใช้ประชาชนและความดี

ส่วนรวม เขาจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำการเลือกอย่างกล้าหาญที่จะ

สนับสนุนชีวิต เป็นต้นโดยอาศัยมาตรการทางการออกกฎหมาย ในระบอบประชาธิปไตย ที่กฎหมายและการตัดสินใจต่างๆ นั้นกระทำขึ้นบนพื้นฐานการเห็นพ้องต้องกันของผู้คนส่วนใหญ่ ความสำนึกถึงความรับผิดชอบเป็นส่วนบุคคลในมโนธรรมของบุคคลผู้ได้รับอำนาจมานั้นก็อาจถูกทำให้อ่อนแอลงไปได้ แต่ไม่มีใครสามารถละทิ้งความรับผิดชอบของตนนั้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเขามีภารกิจในการออกกฎหมายหรือในการทำการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งเรียกร้องให้บุคคลผู้นั้นต้องให้คำตอบต่อพระเจ้า ต่อมโนธรรมของตนและต่อสังคมโดยรวม ถึงการเลือกต่างๆ ของตน ซึ่งอาจขัดแย้งกับความดีส่วนรวมด้วย แม้ว่ากฎหมายมิใช่เป็นเครื่องมือเพียงหนึ่งเดียวในการปกป้องชีวิตมนุษย์ก็ตาม ถึงกระนั้น กฎหมายก็เป็นส่วนสำคัญและบางครั้งก็มีบทบาทอย่างยิ่งมีอิทธิพลต่อรูปแบบความคิดและความประพฤติของมนุษย์ด้วย ข้าพเจ้าใคร่ขอย้ำอีกครั้งว่า กฎหมายที่ล่วงละเมิดสิทธิตามธรรมชาติที่จะมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ผู้บริสุทธิ์นั้น เป็นกฎหมายที่อยุติธรรม และเมื่อเป็นกฎหมายที่อยุติธรรม มันก็ใช้เป็นกฎหมายไม่ได้ เพราะเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าจึงใคร่ของร้องอีกครั้งต่อผู้นำทางด้านการเมืองทั้งหลาย อย่าได้ผ่านกฎหมายเหล่านั้น ที่ในเมื่อไม่ยอมรับนับถือศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ จึงเป็นกฎหมายที่บั่นทอนทำลายวัสดุโครงสร้างของสังคมมนุษย์

พระศาสนจักรรู้ดีว่าเป็นการยากที่จะทำการต่อสู้ปกป้องชีวิตมนุษย์ให้ได้ผลโดยทางกฎหมายในสังคมประชาธิปไตย

หลากหลายเหล่านี้ เนื่องจากมีกระแสวัฒนธรรมที่มีมุมมอง

แตกต่างกันอยู่มากมาย ในเวลาเดียวกัน ในเมื่อแน่ใจว่าความจริงทางด้านศีลธรรมนั้นไม่พลาดที่จะเป็นที่รู้สึกได้อยู่ในทุกมโนธรรมของมนุษย์ พระศาสนจักรจึงให้กำลังใจผู้นำทั้งหลายทางด้าน

การเมือง โดยเริ่มจากผู้นำที่เป็นคริสตชน อย่ายอมตามแต่ให้

พวกเขาทำให้การเลือกเหล่านั้น นำไปสู่การก่อสร้างระเบียบที่ยุติธรรมขึ้นใหม่ในการปกป้องและส่งเสริมคุณค่าชีวิตมนุษย์ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสิ่งที่สามารถบรรลุผลได้จริงเป็นสำคัญ ควรตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า การขจัดกฏหมายที่อยุติธรรมออกไปก็ยังไม่เพียงพอ สาเหตุเบื้องลึกต่างๆ ของการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ต้องถูกกำจัดให้สิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการให้ประกันการ

สนับสนุนอันถูกต้องต่อครอบครัวและต่อการเป็นมารดา นโยบายส่งเสริมชีวิตครอบครัวต้องเป็นพื้นฐานและพลังผลักดันให้แก่

นโยบายด้านสังคมทั้งหลาย เพราะเหตุนี้เองจึงจำเป็นต้องจัด

วางงานริเริ่มต่างๆ ด้านสังคมและด้านการเมืองที่สามารถให้ประกันสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอิสรภาพที่แท้จริงในการเลือกในเรื่องต่างๆ ของการเป็นบิดามารดา จำเป็นต้องมีการคิดกันใหม่ถึงเรื่องนโยบายต่างๆ ด้านแรงงาน ด้านชีวิตในเมืองใหญ่ ด้านที่อยู่อาศัย และด้านงานรับใช้สังคม เพื่อที่จะประสานตารางการทำงานให้เข้ากับการจัดเวลาให้แก่ครอบครัว เพื่อจะได้สามารถมีเวลาดูแล

เอาใจใส่ลูกๆ และผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ


91. ปัจจุบันนี้ ส่วนสำคัญของนโยบายที่ช่วยส่งเสริมชีวิต ก็คือ เรื่องการเติบโตของประชากรมนุษย์แน่นอน ผู้มีอำนาจทางบ้านเมืองมีความรับผิดชอบที่จะ “เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางเรื่องสถิติการเจริญเติบโตของประชากร”114 แต่การเข้ามาจัดการ

เช่นนี้จะต้องคำนึงถึงและให้ความเคารพเสมอต่อความรับผิดชอบแรกและมิอาจหลีกเลี่ยงได้ของคู่สามีภรรยาและครอบครัวทั้งหลาย และไม่อาจนำเอามาใช้ได้ซึ่งวิธีต่างๆ ที่ไม่ให้ความเคารพต่อบุคคลมนุษย์และสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์อันเริ่มต้นด้วยการมี

สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ทุกคน ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่

ยอมรับไม่ได้ทางด้านศีลธรรมที่จะสนับสนุนแม้จะไม่ถึงกับบังคับก็ตาม ซึ่งการใช้วิธีต่างๆ อาทิ เช่น การคุมกำเนิด การทำหมัน และการทำแท้ง เพื่อควบคุมการให้กำเนิดบุตร วิธีการแก้ปัญหาเรื่องประชากรนั้นแตกต่างกันไป รัฐบาลต่างๆ และหน่วยงานนานาชาติทั้งหลาย ก่อนอื่นหมด ต้องพยายามสร้างเสริมสภาวะเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การสาธารณสุข และวัฒนธรรมที่จะ

ช่วยให้คู่สมรสตัดสินใจเลือกมีบุตรด้วยอิสรภาพเต็มที่ และด้วยความรับผิดชอบของตนจริงๆ รัฐบาลและหน่วยงานเหล่านั้นต้องพยายามให้ประกันถึง “การมีโอกาสมากขึ้นและการแบ่งสรรทรัพย์สมบัติที่ยุติธรรมมากขึ้น เพื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะได้มีส่วนเท่าเทียมกันในสรรพสิ่งที่ถูกสร้างมานั้น จะต้องมีการแสวงหาการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระดับโลกด้วย โดยการจัดตั้งระบบเศรษฐกิจแท้จริงที่มีการแบ่งปันสรรพสิ่งร่วมกัน ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ”115 นี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์และครอบครัว รวมทั้งต่อมรดกตกทอดแท้ทาง

วัฒนธรรมของประชาชาติทั้งหลายด้วย

การรับใช้พระวรสารแห่งชีวิตจึงเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่

และซับซ้อน การรับใช้นี้ยิ่งปรากฏมากขึ้นเป็นสนามงานอันมี

คุณค่า และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการร่วมมือกันด้านบวกกับพี่น้องชาย-หญิงของคริสตจักรต่างๆ และกลุ่มคริสตชนอื่นๆ ด้วย

อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเรื่องการสร้างเอกภาพที่ปฏิบัติได้จริง

ระหว่างคริสตจักรต่างๆ (practical ecumenism) ซึ่งเป็นเรื่องที่สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ได้สนับสนุนไว้อย่างมาก116 ยังปรากฏด้วยว่าการรับใช้พระวรสารแห่งชีวิตเป็นสนามงานที่พร้อมสำหรับการเสวนาและการร่วมมือทำงานกับผู้นับถือศาสนาอื่น รวมทั้งกับมนุษย์ผู้มีน้ำใจดีทั้งหลายด้วย ไม่มีใครสักคนหรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดจะมีสิทธิผูกขาดในเรื่องการปกป้องและสนับสนุนชีวิตได้

สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจและความรับผิดชอบของมนุษย์ทุกคน ขณะ

กำลังย่างเข้าสู่สหัสวรรษที่สามนี้ ก็มีการท้าทายอันยากลำบาก

เผชิญหน้าเราอยู่ การลงมือพยายามอย่างจริงจังของผู้มีความ

เชื่อในคุณค่าของชีวิตเท่านั้น จึงจะสามารถป้องกันมิให้อารยธรรม

มนุษย์เกิดผลกระทบย้อยถอยหลังอันมิอาจคาดการณ์ได้


ลูกๆ ของท่านจะเป็นเหมือนหน่อมะกอกเทศ

รอบสำรับของท่าน” (สดด 128:3)

ครอบครัวเป็น “สักการะสถานแห่งชีวิต”


92. ภายใน “ประชากรแห่งชีวิตและประชากรเพื่อชีวิต”

นี้เองที่ครอบครัวมีความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่ง ความรับผิดชอบนี้มาจากธรรมชาติของครอบครัวที่เป็นหน่วยรวมของชีวิตและ

ความรัก ที่มีพื้นฐานจากการสมรสและจากพันธกิจที่จะต้อง “พิทักษ์ เผยแสดง และสื่อความรัก”117 นี่เป็นเรื่องความรักของ

พระเจ้าเองที่ผู้เป็นพ่อแม่เป็นผู้ร่วมงานกับความรักนี้ และเป็น

ผู้ให้ความหมายแก่ความรักนี้ เมื่อทั้งสองส่งผ่านชีวิตและเลี้ยงดูชีวิตนั้นตามแผนการดุจบิดาของพระเป็นเจ้า118 นี่เป็นความรัก

ที่กลายเป็นความไม่เห็นแก่ตัว เป็นการยอมรับและเป็นของขวัญภายในครอบครัว สมาชิกแต่ละคนได้รับการยอมรับ ได้รับการ

เคารพ และได้รับเกียรติ ทั้งนี้เพราะเขาเป็นบุคคลมนุษย์ และ

ถ้าสมาชิกครอบครัวคนใดมีความจำเป็นมากกว่า เขาก็จะได้รับ

การดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษยิ่งขึ้นด้วย

ครอบครัวมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อชีวิตทั้งชีวิตของสมาชิกครอบครัวนับแต่เกิดมาจนกระทั่งตาย ครอบครัวเป็น “‘สักการะสถานแห่งชีวิต’ จริงๆ นั่นคือเป็นสถานที่ที่ชีวิต-ของขวัญจากพระเจ้าแก่มนุษย-สามารถได้รับการต้อนรับจริงๆ และได้รับการปกป้องให้ต่อสู้กับการโจมตีต่างๆ ที่ชีวิตนั้นต้องเผชิญ และสามารถ

พัฒนาให้สอดคล้องตามสิ่งที่ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตเป็นมนุษย์นั้นด้วย”119 ผลที่ตามมาก็คือบทบาทของครอบครัวในการสร้างเสริมวัฒนธรรมแห่งชีวิต “จึงเป็นสิ่งสำคัญและไม่อาจมีสิ่งใดมา

แทนที่ได้”

ในฐานะที่ครอบครัวเป็นพระศาสนจักรระดับบ้าน (domestic church) ครอบครัวจึงอยู่ร่วมกันเพื่อประกาศ เฉลิมฉลองและรับใช้พระวรสารแห่งชีวิต นี่คือความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับคู่สามีภรรยาเป็นอันดับแรก ผู้ถูกเรียกมาเป็นผู้ให้ชีวิต บนพื้นฐานของการตระหนักยิ่งขึ้น ถึงความหมายของการให้กำเนิดมนุษย์ว่าเป็นเหตุการณ์พิเศษยิ่งที่เผยแสดงอย่างชัดเจนว่า ชีวิตมนุษย์

เป็นของประทานที่ได้รับมา เพื่อจะได้มอบให้เป็นของขวัญต่อไป ในการให้กำเนิดชีวิตใหม่ ผู้เป็นพ่อแม่สำนึกดีว่าบุตร “เป็นผลอันเกิดมาจากการที่ทั้งสองมอบความรักเป็นของขวัญให้แก่กันและกัน และก็ได้รับของขวัญนั้นจากกันและกัน อันเป็นของขวัญที่มา

จากทั้งสองฝ่าย”120

เหนืออื่นใดในการเลี้ยงดูบุตรนั้นเองที่ครอบครัวบรรลุผลพันธกิจของตนในการประกาศพระวรสารแห่งชีวิต ด้วยคำพูดและด้วยแบบอย่างของพ่อแม่ในการมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันและในการเลือกต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และโดยอาศัยการกระทำและเครื่องหมายต่างๆ ตามที่เป็นอยู่จริงๆ นั้น พ่อแม่ก็ช่วยนำบุตรของตนไปสู่อิสรภาพแท้ ที่ทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้ในการเต็มใจ

มอบตัวเองเป็นของขวัญ และพ่อแม่ก็ช่วยเพาะปลูกขึ้นในตัวบุตร ซึ่งการมีความเคารพต่อผู้อื่น การมีสำนึกถึงความยุติธรรม การเปิดใจตนเอง การเสวนากับผู้อื่นการรับใช้ด้วยใจกว้าง การมีความสมานสามัคคี และคุณค่าอื่นๆ ทั้งหลายที่ช่วยให้มนุษย์เจริญชีวิตแบบเป็นของขวัญแด่ผู้อื่นได้ ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร พ่อแม่

คริสตชนต้องเอาใจใส่สนใจในเรื่องความเชื่อของบุตร และต้อง

ช่วยให้เขาเติมเต็มกระแสเรียกที่พระเจ้าทรงมอบให้เขานั้นด้วย

พันธกิจของพ่อแม่ในฐานะผู้ให้การศึกษาอบรมบุตรควรรวมถึงการอบรมสั่งสอน และการมอบแบบอย่างที่ดีแก่บุตรถึงความหมายแท้ของความทุกข์และความตายด้วย พ่อแม่จะสามารถทำเช่นว่านี้ได้หากรับรู้ได้เร็วถึงความทุกข์หลากหลายชนิดที่เกิดขึ้นอยู่รอบ

ตัว และยิ่งกว่านั้นหากพ่อแม่จะสนับสนุนให้บุตรมีทัศนคติขอบอยู่ใกล้ชิด ชอบให้ความช่วยเหลือ และร่วมส่วนกับสมาชิกที่เจ็บป่วย

หรือผู้สูงอายุของครอบครัวของตนด้วย


93. ครอบครัวเฉลิมฉลองพระวรสารแห่งชีวิตโดยทาง

การสวดภาวนาประจำวัน ทั้งการสวดเป็นส่วนบุคคลและการสวด

ร่วมกันทั้งครอบครัว ครอบครัวร่วมกันสวดภาวนาเพื่อถวายเกียรติ

และโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับชีวิตอันเป็นของประทานมาจาก

พระองค์ และวอนขอความสว่างกับพละกำลังจากพระองค์เพื่อให้

เผชิญความยากลำบากและความทุกข์ได้โดยไม่สูญสิ้นความหวัง

แต่การเฉลิมฉลองที่ให้ความหมายแก่รูปแบบอื่นในการภาวนา

และการนมัสการพระเจ้านั้นพบได้ในการเจริญชีวิตประจำวัน

ร่วมกันของครอบครัวนั้นเอง ถ้าหากเป็นชีวิตที่เปี่ยมด้วยความรัก

และการมอบตัวเองแก่กัน

การเฉลิมฉลองนี้จึงกลายเป็นการรับใช้พระวรสารแห่งชีวิต

ที่แสดงออกโดยทางความสมานสามัคคีที่ประสบพบได้ภายในและรอบๆ ครอบครัวนั้น ที่แสดงออกมาในรูปของการให้ความสนใจดูแลเอาใจใส่กันเป็นอย่างดีด้วยความรัก ที่แสดงให้เห็นในเหตุการณ์ราบเรียบธรรมดาๆ ในชีวิตแต่ละวันนั่นเอง สิ่งที่แสดงให้เห็นเด่นชัดเป็นพิเศษถึงการมีความสมานสามัคคีกันระหว่างครอบครัว

ต่างๆ ก็คือ การเต็มใจรับอุปการะเลี้ยงดูเด็กๆ ที่ถูกพ่อแม่ของตนทอดทิ้ง หรือเด็กๆ ที่อยู่ในสภาพตกทุกข์ได้ยาก ความรักฉันท์พ่อแม่ที่แท้จริงนั้นพร้อมเสมอที่จะก้าวไปไกลเกินกว่าสายสัมพันธ์ทางเลือดเนื้อ เพื่อจะรับเด็กจากครอบครัวอื่นมาเลี้ยงดู ให้เด็กมีโอกาสได้รับสิ่งจำเป็นต่างๆ เพื่อความผาสุกและเพื่อการพัฒนาเต็มที่ของเขาในบรรดารูปแบบหลากหลายของการอุปการะ

ช่วยเหลือเด็กๆ นั้น มีรูปแบบหนึ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การอุปการะเด็กแบบห่างไกล เป็นต้นในกรณีที่เหตุผลของการที่พ่อแม่เด็กยกเด็กคนนั้นให้เรา นั้นมีสาเหตุมาจากความยากจนแสนสาหัสของครอบครัวนั้นโดยทางการอุปการะเด็กด้วยวิธีแบบนี้ พ่อแม่ของเด็กจะได้รับความช่วยเหลืออันจำเป็นต่างๆ เพื่อช่วยสนับสนุนเลี้ยงดูลูกๆ ของตนได้ โดยที่เด็กคนนั้นไม่ต้องถูก

แยกออกมาจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของตนด้วย

ในเมื่อ “มีความตั้งใจมั่นคงแน่วแน่ที่จะอุทิศตน เพื่อความดีส่วนรวม”121 แล้วไซร้ ความสมานฉันท์ก็จำเป็นต้องได้รับการลงมือปฏิบัติด้วย โดยทางการเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตด้านสังคมและด้านการเมืองด้วยการรับใช้พระวรสารแห่งชีวิตจึงหมายความว่าครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยอาศัยการเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมครอบครัว ก็ลงมือทำงานเพื่อให้แน่ใจได้ว่า กฎหมายต่างๆ และสถาบันทั้งหลายของฝ่ายรัฐไม่มีวันที่จะล่วงละเมิดสิทธิที่

จะมีชีวิตอยู่นั้น นับแต่เมื่อชีวิตนั้นปฏิสนธิจนถึงแก่ความตาย

ตามธรรมชาติ แต่กฎหมายและสถาบันเหล่านั้นกลับช่วยปกป้อง

และส่งเสริมชีวิตด้วย


94. ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อผู้สูงอายุด้วยในขณะ

ที่ในบางวัฒนธรรม ผู้สูงอายุยังคงเป็นส่วนที่สำคัญ และมีบทบาทยิ่งส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่ในบางวัฒนธรรมกลับถือว่า ผู้สูงอายุนั้นไม่มีประโยชน์ เป็นภาระและถูกปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว

ตรงนี้เองที่มีการประจญง่ายขึ้นให้หันเข้าหาวิธีการทำการุณยฆาต

การปล่อยปละละเลยผู้สูงอายุ หรือการปฏิเสธโดยสิ้นเชิงไม่ยอมรับผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจทนรับได้ การที่ผู้สูงอายุ

ยังอยู่ในครอบครัว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยังอยู่ใกล้ๆ ครอบครัวนั้นในกรณีมีที่ว่างจำกัดสำหรับการอยู่อาศัยหรือมีสาเหตุอื่น ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถอยู่ในครอบครัวได้นั้น ถือเป็นเรื่องพื้นฐาน

ที่สำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้างบรรยากาศการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกัน

และกัน และช่วยเสริมเรื่องการสื่อสารกันระหว่างคนต่างวัยด้วย ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องรักษาไว้ หรือสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งสิ่งที่สูญหายไปคือสิ่งที่เป็น “พันธสัญญา” แบบหนึ่งระหว่าง

คนที่มีวัยต่างกันนั้น เช่นนี้เองพ่อแม่ เมื่อถึงวาระสูงวัย ก็สามารถได้รับจากบุตรทั้งหลายของตน ซึ่งการยอมรับและการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนั้นที่พ่อแม่ได้มอบให้แก่บุตรเมื่อพวกเขาถือกำเนิดมาในโลกนี้ บทบัญญัติของพระเจ้าเรียกร้องให้เรานบนอบเชื่อฟังบิดามารดาของตน (เทียบ อพย 20:12 ;ลนต 19:3) แต่ยังมีมากกว่านั้น กล่าวคือ ผู้สูงอายุมิใช่จะต้องถูกถือว่าเป็นผู้ที่เราจะต้องดู

และเอาใจใส่ อยู่ใกล้ชิดและรับใช้ท่านเท่านั้น พวกท่านยังได้มีส่วนสำคัญช่วยเสริมสร้างพระวรสารแห่งชีวิตขึ้นมาด้วย ต้อง

ขอบคุณประสบการณ์ต่างๆ ที่ท่านสั่งสมไว้เป็นสมบัติอันล้ำค่าตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น ผู้สูงอายุจึงสามารถเป็น

และจะต้องเป็นบ่อเกิดความฉลาดรอบรู้และสักขีพยานถึงความหวัง

และความรักด้วย

ถึงแม้เป็นความจริงที่ว่า “อนาคตของมนุษย์ชาติผ่านมาทางครอบครัวมนุษย์”122 ก็ต้องยอมรับว่าสภาวะเงื่อนไขต่างๆ

ในสมัยใหม่นี้ทางด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทำให้ภารกิจในการรับใช้ครอบครัวนั้นยากลำบากและจำเป็นมากยิ่งขึ้นด้วย เพื่อที่จะเติมเต็มกระแสเรียกของครอบครัวในฐานะเป็น “สักการะสถานแห่งชีวิต” เป็นเซลหนึ่งของสังคมมนุษย์ที่รักและต้อนรับชีวิต

ได้นั้น ก็จำเป็นเร่งด่วนที่ครอบครัวจะต้องได้รับการช่วยเหลือ

สนับสนุนหมู่คณะต่างๆ และฝ่ายรัฐจะต้องให้ประกันการสนับสนุนทุกอย่างที่ครอบครัวจำเป็นต้องได้รับ เพื่อจะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในวิถีทางแบบมนุษย์ได้จริงๆ ในส่วนของพระศาสนจักรนั้น พระศาสนจักรจะต้องไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายที่จะให้การส่งเสริมแผนการดูและอภิบาลครอบครัวทั้งหลาย ที่ช่วยให้ทุกครอบครัวได้ค้นพบและเจริญชีวิตพันธกิจของตนเผยแพร่พระวรสารแห่งชีวิตด้วย

ใจยินดีและกล้าหาญ


จงดำเนินชีวิตเช่นบุตรแห่งความสว่าง” (อฟ 5:8)

ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม


95. “จงดำเนินชีวิตเช่นบุตรแห่งความสว่าง...จงพยายามเรียนรู้สิ่งที่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า จงอย่าเกี่ยวข้องกับกิจการ

แห่งความมืด ซึ่งไร้ผล” (อฟ 5:8,10-11) ในบริบททางสังคมใน

ปัจจุบัน ที่เห็นได้เด่นชัดจากการต่อสู้ดิ้นรนกันรุนแรงระหว่าง “วัฒนธรรมแห่งชีวิต” กับ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาจิตสำนึกลึกซึ้งแบบมีวิจารณญาณ (deep critical sense) ที่สามารถวินิจฉัยแยกแยะคุณค่าแท้ต่างๆ และ

ความต้องการอันแท้จริงเหล่านั้น

สิ่งที่ได้รับการเรียกร้องเร่งด่วนก็คือให้มีการรวมพลังมโนธรรมทั้งหลายทั่วไปและให้มีความพยายามด้านจริยธรรมที่เป็นหนึ่งเดียว เพื่อช่วยกันรณรงค์ครั้งใหม่ให้มีการสนับสนุนชีวิตเราทั้งหมดต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิตขึ้นมากล่าวคือ ที่ว่าใหม่ ก็เพราะเป็นวัฒนธรรมที่จะสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ และแก้ปัญหาเหล่านั้นอันไม่เคยมีมาก่อนที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ที่ว่าใหม่ก็เพราะเป็นวัฒนธรรมที่คริสตชนทั้งหมด

รับเอามาด้วยความเชื่อมั่นลึกซึ้งกว่าและมีพลังกว่า ที่ว่าใหม่

ก็เพราะเป็นวัฒนธรรมที่สามารถก่อให้เกิดการเสวนาจริงจังและ

กล้าหาญทางวัฒนธรรมขึ้นในหมู่ชนกลุ่มต่างๆ ได้ ในขณะที่ความต้องการเร่งด่วนที่จะปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเช่นว่านี้ถูกเชื่อมโยงกับสภาพการณ์ทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนนี้ก็ฝังรากลึกอยู่ในพันธกิจงานประกาศพระวรสารของพระศาสนจักรด้วย อันที่จริงจุดมุ่งหมายของพระวรสารก็คือ “เพื่อปรับเปลี่ยนมนุษย์ชาติจากภายใน และทำให้เป็นรูปแบบใหม่ขึ้นมา”123 เหมือนกับเชื้อแป้งที่ทำให้แป้งทั้งหมดนั้นฟูขึ้น (เทียบ มธ 13:33)

พระวรสารก็มุ่งเพื่อซึมซาบเข้าไปในทุกวัฒนธรรม และให้ชีวิต

แก่ทุกวัฒนธรรมจากภายใน124 เพื่อวัฒนธรรมเหล่านั้นจะได้

แสดงออกถึงความจริงสมบูรณ์ในเรื่องบุคคลมนุษย์และในเรื่อง

ชีวิตมนุษย์

เราจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการฟื้นฟูวัฒนธรรมแห่งชีวิต

ขึ้นมาภายในหมู่คณะคริสตชนของเราเองบ่อยครั้งเหลือเกินที่

เกิดขึ้นมาว่า ผู้มีความเชื่อทั้งหลาย แม้กระทั่งผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันอยู่ในชีวิตของพระศาสนจักร กลับลงท้ายด้วยการแยก

ความเชื่อแบบคริสตชนของตนออกจากข้อเรียกร้องด้านจริยธรรมที่เกี่ยวกับชีวิต และจึงตกสู่การยึดถืออัตวิสัยทางศีลธรรม (moral subjectivism) และประพฤติปฏิบัติในทางที่ขัดแย้งตรงกันข้าม เราจำเป็นต้องตั้งคำถามด้วยการเปิดใจกว้างและด้วยความกล้าหาญว่า เราจะเผยแพร่วัฒนธรรมแห่งชีวิตในปัจจุบันไปในหมู่คริสตชน ครอบครัว กลุ่มและหมู่คณะต่างๆ ในสังฆมณฑลของเราได้อย่างไร เราจะต้องชี้ชัดด้วยความชัดเจนและความตั้งใจแน่วแน่ของเรา ถึงขั้นตอนต่างๆ ที่เราถูกเรียกให้มาดำเนินการเพื่อรับใช้ชีวิตในความจริงทั้งครบของชีวิตนั้น ในขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจังลึกซึ้งในหัวข้อสำคัญๆ เรื่องชีวิตมนุษย์กับทุกคนรวมทั้งกับผู้ไม่มีความเชื่อ กับผู้อยู่ในแวดวงปัญญาชน กับผู้อยู่ในสาขาอาชีพหลากหลาย และกับระดับชีวิต

ของสามัญชนทั้งหลายด้วย


96. ขั้นตอนแรกอันเป็นพื้นฐานนำไปสู่การปรับเปลี่ยน

ทางวัฒนธรรม ประกอบด้วยการสร้างมโนธรรมให้มีสำนึกถึง

คุณค่าอันมิอาจเปรียบได้และมิอาจถูกล่วงละเมิดได้ของชีวิตมนุษย์

ทุกชีวิต เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องสร้างความเกี่ยวพันที่สำคัญระหว่างชีวิตกับอิสรภาพขึ้นมาใหม่ ทั้งสองนี้เป็นความดีที่มิอาจแยกจากกันได้ กล่าวคือ หากความดีหนึ่งถูกล่วงละเมิด อีกความดีหนึ่งก็จะลงท้ายถูกล่วงละเมิดด้วยเช่นกัน อิสรภาพย่อมไม่มีหากที่นั้นไม่ต้อนรับและไม่รักชีวิต และย่อมไม่มีชีวิตสมบูรณ์ได้เว้นแต่ชีวิตในอิสรภาพเท่านั้น ความเป็นจริงทั้งสองมีสิ่งหนึ่งแฝงอยู่

ภายในและเป็นสิ่งพิเศษเฉพาะซึ่งเชื่อมโยงทั้งสองไว้ด้วยกันอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ นั่นก็คือกระแสเรียกให้รัก ความรักในฐานะเป็นการเต็มใจมอบตัวเองนั้น125 เป็นสิ่งที่ให้ความหมายแท้จริง

ที่สุดแก่ชีวิตและอิสรภาพของบุคคลมนุษย์

สิ่งที่สำคัญยิ่งไม่น้อยกว่ากันในการสร้างมโนธรรมขึ้นมา ก็คือ การฟื้นฟูความเชื่อมโยงอันจำเป็นระหว่างอิสรภาพและ

ความจริงขึ้นมาใหม่ ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวยืนยันอยู่บ่อยๆ แล้วว่า เมื่ออิสรภาพถูกแยกจากความจริงตามที่เป็นอยู่ (objective truth) อิสรภาพนั้นก็ไม่สามารถที่จะก่อสร้างสิทธิเป็นบุคคลมนุษย์ขึ้นมาบนพื้นฐานหลักเหตุผลที่มั่นคงได้ และพื้นฐานนั้นก็ถูกกำหนดไว้ในสังคม เป็นไปตามความเมตตาพอใจอันมิอาจบังคับได้ของปัจเจกบุคคล หรือการปกครองแบบเผด็จการกดขี่ (oppres-

sive totalitarianism) ของผู้มีอำนาจฝ่ายบ้านเมืองนั้น126

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์จะต้องยอมรับรู้ถึงสภาวะเงื่อนไขที่มีอยู่ในตัวเองว่า ตนเป็นเพียงสิ่งสร้างที่พระเจ้าทรงกรุณาประทานความเป็นอยู่และชีวิตให้เป็นของขวัญและเป็นหน้าที่ด้วยโดยการยอมรับการขึ้นอยู่กับพระเจ้าที่มีอยู่ภายในตนเองนั้น

มนุษย์จึงสามารถมีชีวิตอยู่ และใช้อิสรภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และในขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพต่อชีวิตและอิสรภาพของมนุษย์ผู้อื่นด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงนี้เองที่เห็นได้ว่า "มนุษย์มีทัศนคติต่อธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่สุดคือธรรมล้ำลึกเรื่องพระเจ้าอยู่ในหัวใจของทุกวัฒนธรรมอยู่แล้ว"127 ที่ใดก็ตามที่มนุษย์ปฏิเสธไม่ยอมรับพระเจ้าและผู้คนเจริญชีวิตราวกับว่าไม่มีพระเจ้า หรือบทบัญญัติของพระเจ้ามิได้รับการถือปฏิบัติที่นั้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และชีวิตมนุษย์ที่มิอาจถูกล่วงละเมิดได้นั้น ก็ต้องลงท้าย

ด้วยการถูกปฏิเสธหรือเสี่ยงอันตรายยิ่ง


97. เรื่องที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับการสร้างมโนธรรมก็คือ

งานให้การศึกษาอบรม ซึ่งเป็นงานที่ช่วยให้แต่ละคนเป็นมนุษย์

มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม นำพวกเขาไปสู่ความจริงอันสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น ปลูกฝังการให้ความเคารพต่อชีวิตขึ้นในตัวเขา และฝึกอบรม

พวกเขาในเรื่องการมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันที่ถูกต้อง

ที่เป็นพิเศษเฉพาะก็คือ จำเป็นต้องให้การศึกษาอบรมในเรื่องคุณค่าของชีวิตมนุษย์นับแต่แรกเริ่มชีวิตมนุษย์เลย ถือเป็นสิ่งลวงตาที่จะคิดว่าเราสามารถสร้างวัฒนธรรมแท้ของชีวิตมนุษย์ขึ้นมาได้หากเราไม่ช่วยให้เยาวชนคนหนุ่มสาวของเรายอมรับและรู้จักเรื่องเพศ เรื่องความรัก และเรื่องชีวิตทั้งชีวิตของมนุษย์ตามความหมายที่แท้จริง รวมถึงความเกี่ยวพันซึ่งกันและกันระหว่างสิ่งเหล่านี้ด้วยเพศมนุษย์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างตัวตนมนุษย์ทั้งครบนั้น “เผยแสดงถึงความหมายที่อยู่ลึกสุดภายใน ที่ช่วยนำมนุษย์ให้

มอบตัวเองในความรัก”128 การทำให้เรื่องเพศมนุษย์เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่สำคัญอะไรนัก ก็เป็นปัจจัยหลักหนึ่งในหลายปัจจัย ที่นำไปสู่การดูหมิ่นเหยียดหยามชีวิตใหม่ ความรักแท้เท่านั้นสามารถปกป้องชีวิตได้ เราไม่อาจหลีกเลี่ยงหน้าที่ที่จะต้องให้การศึกษาอบรมที่ถูกต้องแท้จริงในเรื่องเพศและเรื่องความรัก เป็นต้นแก่เยาวชนคนหนุ่มสาวได้อันเป็นการศึกษาอบรมที่รวมถึงการฝึกฝนอบรมในเรื่องการถือความบริสุทธิ์เป็นคุณธรรมที่ช่วยส่งเสริม

ความเป็นผู้มีวุฒิภาวะสมบูรณ์ของบุคคลมนุษย์ และทำให้เขาผู้นั้นสามารถให้ความเคารพต่อความหมาย “แบบเป็นคู่ครอง” (spou-

sal) ของร่างกายมนุษย์ด้วย

งานให้การศึกษาอบรมเพื่อรับใช้ชีวิตยังเกี่ยวข้องกับ

การฝึกอบรมคู่แต่งงาน ในเรื่องการให้กำเนิดบุตรด้วยความรับผิดชอบด้วย ตามความหมายแท้จริงของมัน การให้กำเนิดบุตรด้วยความรับผิดชอบนี้เรียกร้องให้คู่สามีภรรยานอบน้อมเชื่อฟังเสียงเรียกของพระเจ้า และให้เขาแสดงบทบาทเป็นผู้ให้ความหมายที่ซื่อสัตย์ต่อแผนการของพระเจ้า สิ่งนี้เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อครอบครัว

นั้นยินดีเปิดรับชีวิตใหม่ด้วยใจกว้าง และเมื่อคู่สามีภรรยายังคง

มีทัศนคติเปิดใจกว้างและรับใช้ชีวิตอยู่ ถึงแม้ว่าด้วยเหตุผลสำคัญและด้วยการให้ความเคารพต่อกฎศีลธรรม พวกเขาเลือกที่จะ

ยังไม่ให้ชีวิตใหม่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ หรือโดยไม่มีกำหนด

แน่นอนก็ตาม กฎศีลธรรมบังคับให้พวกเขาควบคุมแรงกระตุ้นตามสัญชาตญาณและความกำหนดของตนไว้ในทุกกรณี และให้เขาเคารพกฎทางชีวภาพที่สลักอยู่ในตัวตนของพวกเขานั้นด้วยการเคารพที่ว่านี้ ซึ่งทำให้การใช้วิธีคุมกำเนิดแบบธรรมชาติด้วยการควบคุมการตกไข่นั้น ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้องในการรับใช้การให้กำเนิดมนุษย์แบบที่มีความรับผิดชอบ จากมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์วิธีการเช่นว่านี้ ยิ่งที่ก็ยิ่งเป็นวิธีการอันถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น และทำให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่จะเลือกใช้ให้สอดประสานกับคุณค่าทางด้านศีลธรรมการประเมินคุณค่าอย่างซื่อสัตย์ถึงประสิทธิผล

ของวิธีการเช่นว่านี้ ควรจะช่วยขับไล่อคติบางประการที่ยังคงยึดถือกันอยู่อย่างกว้างขวางนั้น และควรจะช่วยให้คู่สามีภรรยา เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงานด้านการสาธารณสุข และด้านสังคม เกิดความมั่นใจถึงความสำคัญของการที่จะต้องให้การฝึกอบรมที่ถูกต้องในเรื่องนี้ด้วย พระศาสนจักรรู้สึกสำนึกในบุญคุณของบุคคลเหล่านั้น

ที่อุทิศตนด้วยการเสียสละตนเองและด้วยการอุทิศตนทำงานที่

บ่อยครั้งก็ไม่เป็นที่รับรู้กันเท่าไรนัก ทำการศึกษาและเผยแพร่

วิธีการตามธรรมชาตินี้ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาถึงคุณค่าด้าน

ศีลธรรมที่วิธีการตามธรรมชาตินี้มีอยู่ในตัวมันเองแล้วนั้น

งานให้การศึกษาอบรมไม่อาจหลีกเลี่ยงการพิจารณาถึงเรื่องความทุกข์และความตายได้ ความทุกข์และความตายเป็น

ส่วนความเป็นอยู่ของเรามนุษย์และถือเป็นสิ่งที่ไร้ผล หากเลี่ยง

ไม่ใช้คำว่านำให้หลงทางไป ที่เราจะพยายามปิดบังเอาไว้หรือทำ

เป็นไม่สนใจกับเรื่องความทุกข์และความตาย ในทางกลับกัน

ผู้คนทั้งหลายต้องได้รับการช่วยให้เข้าใจธรรมล้ำลึกของความทุกข์และความตายที่มีสภาพเป็นจริงที่ทารุณนั้นด้วย แม้กระทั่งความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานก็มีความหมายและมีคุณค่าเมื่อมนุษย์สัมผัสกับมันอย่างใกล้ชิดด้วยความรักที่ยอมรับและมอบ

ให้นั้น ในเรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงวันฉลองระดับโลกระลึกถึงผู้ป่วยทั้งหลายที่ข้าพเจ้าเน้นย้ำว่า “ธรรมชาติที่ช่วยนำความรอดมาให้ของการยกถวายความทุกข์ทรมานของตนโดยมีประสบการณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้านั้น เป็นสารัตถะสำคัญของ

งานไถ่กู้มนุษย์”129 ความตายในตัวมันเองเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่ง

ซึ่งไร้ความหวัง ความตายเป็นประตูเปิดกว้างไปสู่นิรันดรภาพ

และสำหรับผู้ที่เจริญชีวิตอยู่ในพระคริสตเจ้า ความตายก็เป็นประสบการณ์ของการเข้ามีส่วนร่วมในธรรมล้ำลึกแห่งการสิ้น

พระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเอง


98. พูดสั้นๆ ก็คือเราสามารถกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เรากำลังร้องหาอยู่นี้ เรียกร้องให้มนุษย์ทุกคน

กล้าที่จะรับเอาวิธีการดำเนินชีวิตแบบใหม่นี้ อันประกอบด้วย

การตัดสินใจเลือกที่ปฏิบัติได้ทั้งในระดับส่วนบุคคล ระดับ

ครอบครัว ระดับสังคมและระดับนานาชาติ บนพื้นฐานของการ

ชั่งน้ำหนักคุณค่าต่างๆ อย่างถูกต้อง นั่นคือ การให้ความสำคัญต่อการเป็น(being) เหนือการมี (having)130 ให้ความสำคัญต่อบุคคลเหนือสิ่งของ131 วิธีการดำเนินชีวิตที่ได้รับการรื้อฟื้นใหม่นี้รวมไปถึงการผ่านพ้นจากการทำเฉยเมยไปสู่การให้ความสนใจต่อบุคคลอื่นๆ (ผ่านพ้น) จากการปฏิเสธพวกเขาไปสู่การยอมรับพวกเขา มนุษย์คนอื่นๆ นั้นมิใช่เป็นคู่อริที่เราจะต้องป้องกันตัวให้พ้นจากพวกเขาแต่เขาเหล่านั้นเป็นพี่น้องชาย-หญิงของเรา ที่เราจะต้องให้ความช่วยเหลือสนับสนุน พวกเขาเป็นผู้ที่จะต้องได้รับความรักเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง และพวกเขาก็ช่วย

เติมเต็มให้เราจากการเป็นอยู่ของพวกเขานั้นเอง

ในการรวมตัวกันเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิต ต้องไม่มีมนุษย์ผู้ใดรู้สึกว่าตนถูกกีดกันออกไปทุกคนมีบทบาทสำคัญที่จะต้องร่วมด้วย ทั้งครอบครัวครูอาจารย์ และผู้ให้การศึกษาอบรม ต่างก็มีส่วนช่วยให้การแบ่งปันอันล้ำค่ายิ่ง ขึ้นอยู่กับคน

พวกนี้เป็นอย่างมาก ถ้าจะให้เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องอิสรภาพมาแล้ว เป็นผู้ที่สามารถรักษาอุดมคติใหม่ที่แท้จริงเหล่านี้ไว้สำหรับตนเอง และทำให้ผู้อื่นได้มารับรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย และถ้าจะให้พวกเขาเจริญเติบโตขึ้นมามีความเคารพ

ให้เกียรติและรับใช้ผู้อื่นในครอบครัวและในสังคมต่อไป

พวกปัญญาชนสามารถช่วยได้มากในการสร้างเสริมวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิตมนุษย์นี้ ภารกิจพิเศษนี้ตกอยู่กับปัญญาชนคาทอลิก ผู้ถูกเรียกให้มาอยู่และแข็งขันทำงานตาม

ศูนย์ผู้นำต่างๆ ที่มีการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาตามสถาบันการ

ศึกษาและตามมหาวิทยาลัย ตามสถานที่ต่างๆ ที่ทำการศึกษา

ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทางงานสร้างสรรค์ด้าน

ศิลปะ และทางการศึกษาในเรื่องมนุษย์ เมื่อปัญญาชนคาทอลิกยอมให้ความสามารถต่างๆ และกิจกรรมของตนได้รับการหล่อเลี้ยง โดยพลังทรงชีวิตของพระวรสารแล้ว พวกเขาก็ควรมอบตัวเองทำงานรับใช้วัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิตด้วยผลงานทางด้านเอกสารอย่างดีครบถ้วน ที่สามารถเรียกร้องให้ได้รับความเคารพนับถือ และสนใจได้ทั่วไปจากผลงานของตัวเอกสารเหล่านั้นเอง เพื่อ

จุดมุ่งหมายนี้เองที่ข้าพเจ้าให้มีการก่อตั้งสถาบันพระสันตะปาปา เพื่อชีวิตขึ้นมา (Pontifical Academy for Life) โดยกำหนดให้สถาบันนี้มีภารกิจที่จะทำการ “ศึกษา และจัดเตรียมข้อมูล และทำการฝึกอบรมเกี่ยวกับปัญหาสำคัญๆ ทางด้านกฎหมาย และชีวแพทย์ศาสตร์ (biomedicine) อันเกี่ยวข้องกับการส่งเสริม

ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความสัมพันธ์ที่ปัญหาเหล่านี้มีอยู่

โดยตรงกับศีลธรรมแบบคริสต์และกับคำชี้แนะต่างๆ ของอำนาจสั่งสอนของพระศาสนจักร”132 มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้นมหาวิทยาลัยคาทอลิก รวมทั้งศูนย์ สถาบัน และคณะกรรมการ

ที่เกี่ยวข้องกับชีวจริยศาสตร์ (Bioethics) ควรเข้ามามีส่วนช่วย

ในเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วย

ความรับผิดชอบสำคัญยิ่งควรจะเป็นของผู้ที่ทำงานทางด้านสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งเป็นผู้ถูกเรียกมาเพื่อให้ประกันว่า สารต่างๆ ที่พวกเขาส่งมอบอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งนั้น จะช่วย

สนับสนุนวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิตด้วย พวกเขาจำเป็นต้องนำเสนอต้นแบบชีวิตที่เยี่ยมยอด และเปิดโอกาสให้แก่แบบอย่างความรักด้านบวก และบางครั้งก็เป็นความรักขั้นวีรกรรมของคนหลายคน

ที่มีต่อผู้อื่นด้วย ด้วยการให้ความเคารพเป็นอย่างมาก พวกเขาควรนำเสนอคุณค่าด้านบวกในเรื่องเพศและความรักแบบมนุษย์ และไม่เน้นในเรื่องที่ลบหลู่และลดคุณค่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ ใน

การให้ความหมายสิ่งต่างๆ พวกเขาควรละเว้นไม่เน้นย้ำสิ่งใดๆ ที่ชี้นำหรือส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกหรือท่าทีของการเพิกเฉย

สบประมาทหรือปฏิเสธในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต ด้วยการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อสัจธรรมอันเป็นข้อเท็จจริงตามที่เกิดขึ้น

(factual truth) พวกเขาถูกเรียกร้องให้ผนวกเรื่องอิสรภาพของข่าวสารเข้ากับเรื่องการให้ความเคารพต่อบุคคลมนุษย์ทุกคนและ

เรื่องการมีสำนึกอันลึกซึ้งถึงมนุษย์ชาติด้วย


99. ในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อให้วัฒนธรรมสนับสนุนชีวิตนั้น สตรีเข้ามามีบทบาทโดดเด่นเป็นพิเศษทั้งในเรื่องความคิดและการกระทำ ขึ้นอยู่กับพวกสตรีที่จะส่งเสริม “คตินิยมสิทธิสตรีรูปแบบใหม่” (new feminism) ที่ไม่ยอมถูกประจญให้หลงเลียนแบบอย่างต่างๆ ตามแนวคิดว่า “ชายเป็นผู้มีอำนาจ” (male domination) ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รับรู้และยืนยันถึงความเฉลียวฉลาดแท้จริงของสตรีในทุกมิติชีวิตของสังคมมนุษย์ และเพื่อเอาชนะการเลือก

ปฏิบัติ ความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหงทุกชนิด

ข้าพเจ้าขอนำสารส่งท้ายของสภาพระสังคายนาวาติกัน

ที่ 2 มาใช้เป็นถ้อยคำของข้าพเจ้าเพื่อขอร้องเร่งด่วนต่อบรรดา

สตรีว่า “จงนำผู้คนทั้งหลายกลับมาคืนดีกับชีวิต”133 พวกท่านถูกเรียกมาให้เป็นสักขีพยานถึงความหมายของความรักแท้อันเป็นการ

มอบตัวเองและเป็นการยอมรับผู้อื่น ซึ่งเป็นอยู่ในแบบพิเศษในความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา แต่เป็นสิ่งที่ควรมีอยู่ ณ แก่นใจของความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทุกชนิดด้วยเช่นกัน ประสบการณ์ของความเป็นแม่ทำให้พวกท่านตระหนักเป็นอย่างดีถึงอีกบุคคลหนึ่ง และในเวลาเดียวกันก็มอบภารกิจพิเศษเฉพาะให้พวกท่านด้วย นั่นคือการเป็นแม่นั้นเกี่ยวข้องกับการมีความสัมพันธ์พิเศษเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมล้ำลึกของชีวิตในขณะที่ชีวิตนั้นกำลังพัฒนาเติบโตอยู่ในครรภ์ของผู้เป็นแม่นั้น...การสนิทสัมพันธ์พิเศษกับมนุษย์ใหม่ที่กำลังพัฒนาเติบโตอยู่ในตัวผู้เป็นแม่นั้น ทำให้เกิดเป็นทัศนคติต่อมนุษย์ทั้งหลายขึ้นมา มิใช่เพียงต่อบุตรของตน

เท่านั้น แต่มนุษย์ทุกคนด้วย ซึ่งเป็นทัศนคติที่บ่งบอกบุคลิกภาพของผู้เป็นสตรี134 ผู้เป็นแม่นั้นต้อนรับมนุษย์อีกคนหนึ่งและรับไว้ในตัวเธอเอง ปล่อยให้เขาเจริญเติบโตขึ้นภายในตัวเธอให้ที่พำนัก ให้ความเคารพต่อเขาในความเป็นมนุษย์อีกคนหนึ่ง สตรีเรียนรู้ก่อนแล้วจากนั้นก็สอนผู้อื่นว่า สายสัมพันธ์แบบมนุษย์นั้นเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถ้าหากเปิดสู่การยอมรับอีกบุคคลหนึ่ง นั่นคือเป็นบุคคลมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับและได้รับความรัก เพราะเขามีศักดิ์ศรี ซึ่งมาจากการที่เขาเป็นบุคคลมนุษย์ และมิใช่มาจากการคำนึงถึง

เรื่องอื่นใด อาทิเช่นเรื่องผลประโยชน์ พละกำลัง สติปัญญา

ความสวยงาม หรือสุขภาพเลย นี่เป็นสิ่งพื้นฐานที่พระศาสนจักรและมนุษย์ชาติหวังจะได้รับจากการแบ่งปันจากผู้เป็นสตรี และ

สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งอันขาดเสียมิได้ที่จำเป็นต้องมีอยู่ก่อนที่จะ

มีการเปลี่ยนแปลงแท้จริงทางด้านวัฒนธรรม

บัดนี้ ข้าพเจ้าใคร่ขอกล่าวเป็นพิเศษกับสตรีที่เคยทำแท้งมาแล้ว พระศาสนจักรตระหนักดีถึงปัจจัยต่างๆ มากมาย ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของท่าน และพระศาสนจักรก็ไม่มีความสงสัยเลยว่าในหลากกรณีนั้น เป็นการตัดสินใจที่เจ็บปวดรวดร้าวและสะเทือนใจยิ่งด้วย บาดแผลในใจของท่านอาจยังไม่หายดี

แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่ผิด และยังคงเป็นสิ่งที่ผิดหนักอยู่เช่นเดิม แต่ขอท่านอย่าท้อแท้และอย่าสิ้นหวัง จงพยายามทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นและกล้าเผชิญหน้ากับมันอย่าง

ซื่อสัตย์ ถ้าท่านยังมิได้ทำเช่นนี้ ก็จงมีใจสุภาพถ่อมตนและเป็นทุกข์เสียใจเถิด พระบิดาแห่งความเมตตากรุณาทรงพร้อมเสมอที่จะอภัยให้ท่าน และมอบสันติสุขในศีลอภัยบาปให้ท่านด้วย ท่านสามารถมอบบุตรของท่านนั้นไว้ในความเมตตากรุณาของพระบิดาองค์เดียวกันนี้ด้วยความไว้วางใจในพระองค์ ด้วยความช่วยเหลือฉันท์มิตร และด้วยคำแนะนำอันชำนาญการของหลายคนและด้วยผลที่ได้รับจากประสบการณ์อันเจ็บปวดของท่านเองนั้น ท่านก็จะสามารถกลายเป็นคนสำคัญผู้ปกป้องสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ทุกคนได้ โดยอาศัยการอุทิศตัวของท่านเพื่อชีวิต ไม่ว่าจะโดยการยอมรับการเกิดมาของเด็ก ๆ หรือโดยการต้อนรับและดูแลเอาใจใส่ผู้ที่ต้องการให้มีคนอยู่ใกล้ชิดเป็นเพื่อนกับเขานั้น ท่านก็จะ

กลายเป็นผู้ส่งเสริมวิธีมองดูชีวิตมนุษย์ในรูปแบบใหม่ด้วย


100. ในภารกิจยิ่งใหญ่สร้างเสริมวัฒนธรรมใหม่แห่งชีวิต เราได้รับแรงบันดาลใจและได้รับการหล่อเลี้ยงจากความเชื่อมั่น

ไว้วางใจที่มาจากการรู้ว่า พระวรสารแห่งชีวิต ซึ่งก็เหมือนกับ

พระอาณาจักรพระเจ้านั้น กำลังเจริญเติบโตและผลิดอกออกผลอุดม (เทียบ มก 4:26-29) แน่นอนมีความแตกต่างอย่างมาก

ระหว่างทรัพยากรทรงอำนาจที่ช่วยเสริมพลังให้แก่ “วัฒนธรรมแห่งความตาย” กับเครื่องมือที่ผู้ทำงานเพื่อ “วัฒนธรรมแห่งชีวิตและความรัก” นั้นมีใช้อยู่ แต่เราก็ทราบดีว่า เราสามารถไว้วางใจได้ในความช่วยเหลือของพระเจ้า ซึ่งสำหรับพระองค์แล้ว ไม่มีอะไร

ที่เป็นไปไม่ได้ (เทียบ มธ 19:26)

ในเรื่องข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความแน่ใจเช่นนี้และรู้สึกใจ

เต็มตื้นแล้วด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อชะตากรรมของมนุษย์ชาย-หญิงทุกคน ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวซ้ำย้ำถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้

กล่าวกับบรรดาครอบครัวที่ได้ลงมือกระทำพันธกิจอันท้าทาย

อยู่ท่ามกลางปัญหาความยากลำบากมากมายอยู่แล้ว135 กล่าวคือ จำเป็นที่พวกท่านจะต้องสวดภาวนาให้มากเพื่อชีวิต เป็นคำภาวนาที่จะขึ้นสู่เบื้องบนจากทุกมุมโลก โดยอาศัยงานริเริ่มพิเศษต่างๆ ร่วมกับคำภาวนาในชีวิตประจำวัน ขอให้คำภาวนาด้วยใจร้อนรนจากทุกกลุ่มคริสตชน จากกลุ่มผู้คนและสมาคมทั้งหลาย จาก

ทุกครอบครัวและจากใจของผู้มีความเชื่อทุกคน ขึ้นไปถึงพระเจ้า องค์พระผู้สร้างและผู้รักชีวิตพระเยซูเจ้าเองได้ทรงวางแบบฉบับ

ของพระองค์ให้เราเห็นว่าคำภาวนาและการจำศีลอดอาหาร เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพต่อต้านอำนาจชั่วร้ายได้ (เทียบ มก 4:1

-11) ดังที่พระองค์ทรงสอนบรรดาศิษย์ว่า ปีศาจบางชนิดไม่อาจขับไล่ไปได้ เว้นแต่จะใช้ชีวิตนี้เท่านั้น (เทียบ มก 9:29) ฉะนั้นขอให้พวกเราค้นพบใหม่ซึ่งความสามารถสุภาพถ่อมตนและ

ความกล้าหาญที่จะสวดภาวนาและจำศีลอดอาหาร เพื่อว่าพลัง

จากเบื้องบนจะได้ช่วยทำลายกำแพงความเท็จและการหลอกลวง อันเป็นกำแพงที่ปิดกั้นมิให้พี่น้องชายหญิงจำนวนมากของเรา

เห็นถึงความชั่วร้ายของการกระทำต่างๆ และกฎหมายเหล่านั้นที่เป็นศัตรูทำร้ายชีวิตมนุษย์ ขอให้พลังอำนาจเดียวกันนี้ช่วยเปลี่ยนหัวใจของพวกเขาไปสู่การตั้งใจปรับปรุงแก้ไข และไปสู่เป้าหมาย

ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมแห่งชีวิตและอารยธรรม

แห่งความรัก


เราเขียนเรื่องนี้ถึงท่าน

เพื่อความปิติยินดีของเราจะได้สมบูรณ์” (1 ยน 1:4) : พระวรสารแห่งชีวิตเพื่อสังคมมนุษย์โดยรวม


101. “เราเขียนเรื่องนี้ถึงท่าน เพื่อความปิติยินดีของเราจะได้สมบูรณ์” (1 ยน 1:4) การเผยแสดงของพระวรสารแห่งชีวิตถูกมอบแก่เราเป็นความดีที่เราจะต้องแบ่งปันกับมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อว่ามนุษย์ชาย-หญิงทุกคนจะได้สนิทสัมพันธ์กับเราและกับ

องค์พระตรีเอกภาพ (เทียบ 1 ยน 1:3) ความปิติยินดีของเราจะ

เต็มเปี่ยมไม่ได้หากเรามิได้แบ่งปันพระวรสารนี้กับคนอื่น แต่เก็บ

ไว้กับตัวเองเท่านั้น

พระวรสารแห่งชีวิตมิใช่เพื่อผู้มีความเชื่อเพียงพวกเดียวเท่านั้น แต่เพื่อมนุษย์ทุกคน หัวข้อสำคัญเรื่องชีวิต เรื่องการปกป้องและส่งเสริมชีวิตนั้นมิใช่เกี่ยวข้องเฉพาะคริสตชนเท่านั้น

ถึงแม้ว่าความเชื่อจะช่วยให้มีแสงสว่างพิเศษและพลังก็ตามคำถามนี้เกิดขึ้นมาในมโนธรรมของมนุษย์ทุกคนที่แสวงหาความจริง และมโนธรรมที่ให้ความสนใจต่ออนาคตของมนุษยชาติ แน่นอนชีวิตมีคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ด้านศาสนา แต่คุณค่านั้นก็เกี่ยวข้องมิใช่เฉพาะกับผู้มีความเชื่อเท่านั้น คุณค่าสำคัญนี้มนุษย์ทุกคนสามารถรับรู้ได้ด้วยแสงสว่างแห่งเหตุผล ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์

ทุกคน

ผลที่ตามมาก็คือ ทุกสิ่งที่เราทำในฐานะเป็น “ประชากรแห่งชีวิต และประชากรเพื่อชีวิต” ก็ควรจะให้ความหมายอย่างถูกต้อง และได้รับการต้อนรับด้วยใจชื่นชม เมื่อพระศาสนจักรประกาศว่า การให้ความเคารพอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของบุคคลมนุษย์ผู้บริสุทธิ์ทุกคน นับจากแรกปฏิสนธิจนถึงการตายตามธรรมชาติ ถือเป็นเสาหลักค้ำจุนสำคัญที่ทุกสังคมมนุษย์ยึดเหนี่ยวอยู่พระศาสนจักร “เพียงต้องการส่งเสริมให้มีรัฐที่เป็นแบบมนุษย์ (a human state) เป็นรัฐที่รับรู้ถึงการปกป้องสิทธิพื้นฐานของบุคคลมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของผู้อ่อนแอ

ที่สุดนั้น ว่าเป็นหน้าที่หลักประการแรกของตน”136

พระวรสารแห่งชีวิตมีอยู่เพื่อสังคมมนุษย์โดยรวมด้วย

การเป็นผู้ทำงานอย่างแข็งขัน “เพื่อชีวิต” คือการมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสังคมขึ้นใหม่โดยทางการส่งเสริมความดีส่วนรวม เป็นไปได้ที่จะสนับสนุนความดีส่วนรวมนี้โดยไม่ยอมรับรู้และปกป้องสิทธิของการมีชีวิต ซึ่งสิทธิอื่นๆ อันมิอาจแยกได้ของบุคคลมนุษย์ก็มีรากฐานอยู่บนสิทธินี้ และพัฒนาตัวจากสิทธินี้ด้วย สังคม

ขาดรากฐานที่มั่นคง เมื่อทางด้านหนึ่งสังคมยืนยันถึงคุณค่าต่างๆ อาทิเช่น ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ความยุติธรรมและสันติภาพ

ส่วนอีกด้านหนึ่งสังคมกลับกระทำการขัดแย้งโดยสิ้นเชิง โดยยอมให้หรือยอมทนให้เกิดวิถีทางหลากหลายที่ชีวิตมนุษย์ถูกลดคุณค่า หรือถูกล่วงละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ซึ่งชีวิตมนุษย์นั้นอ่อนแอ หรือหมดเรี่ยวแรง การให้ความเคารพต่อชีวิตเท่านั้นสามารถเป็นรากฐานและเป็นประกันให้กับความดีงามล้ำค่าสำคัญๆ ของสังคม

มนุษย์ได้ อาทิ เช่น ประชาธิปไตยและสันติสุข เป็นต้น

ไม่อาจมีประชาธิปไตยแท้ได้ หากไม่มีการยอมรับรู้ถึง

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน และหากขาดการเคารพ

ให้เกียรติต่อสิทธิของมนุษย์ทุกคน

อีกทั้งไม่อาจมีสันติสุขแท้ได้ หากชีวิตมนุษย์มิได้รับ

การปกป้องและส่งเสริม ดังที่สมเด็จพระสันตะป๙าปา เปาโล ที่ 6

ทรงชี้แจงไว้ว่า “อาชญากรรมทุกอย่างที่กระทำผิดต่อชีวิตมนุษย์

นั้นเป็นการทำลายสันติสุขนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามันเป็นการทำผิดละเมิดความประพฤติทางศีลธรรมของผู้คนทั้งหลาย...

แต่ในที่ซึ่งประกาศยึดถือสิทธิความเป็นมนุษย์ และสาธารณชน

ก็พากันยอมรับและปกป้องสิทธินี้ สันติสุขย่อมก่อให้เกิด

บรรยากาศอันน่าชื่นชม และก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตในสังคม”137

ประชากรแห่งชีวิต” รู้สึกยินดียิ่งนักที่สามารถร่วมแบ่งปันการประกอบภารกิจนี้กับคนอื่นๆ มากมาย จึงขอให้ “ประชากรเพื่อชีวิต” มีจำนวนทวีมากขึ้น และขอให้วัฒนธรรมใหม่แห่ง

ความรักและความสมานฉันท์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันนี้พัฒนาก้าว

หน้ายิ่งขึ้น เพื่อความดีงามของสังคมมนุษย์โดยรวมด้วย





บทส่งท้าย



102. ตอนท้ายพระสมณสารฉบับนี้ เป็นธรรมดาที่เราจะหันกลับไปหาองค์พระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่งพระองค์ผู้เป็น “เด็กน้อยมาบังเกิดเพื่อเรา” (เทียบ อสย 9:6) ในพระองค์เราจะได้

พิศเพ่งรำพึงถึง “องค์ชีวิต” ซึ่ง “ปรากฏให้เราได้เห็น” ( 1 ยน 1:2) ในธรรมล้ำลึกแห่งการบังเกิดของพระคริสตเจ้า มีการพบปะกันระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์เกิดขึ้น และการเดินทางบนโลกนี้ของ

พระบุตรพระเจ้าก็เริ่มต้นขึ้น เป็นการเดินทางที่จะบรรลุถึงจุดหมายสูงสุดที่การมอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขน โดยการสิ้น

พระชนม์ของพระองค์ พระคริสตเจ้าจะทรงมีชัยเหนือความตาย

และพระองค์ทรงกลายเป็นบ่อเกิดนำชีวิตใหม่มาให้มนุษย์ทุกคน

ผู้ที่ยอมรับ "องค์ชีวิต" นั้นในนามของมนุษย์ทุกคนและเพราะเห็นแก่เรามนุษย์ทุกคน ก็คือ พระนางพรหมจารีมารีย์

พระนางจึงใกล้ชิดและสนิทสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระวรสารแห่งชีวิต การยอมรับของพระนางมารีย์ เมื่อเทวทูตแจ้งสารและความเป็นมารดาของพระนางนั้น ปรากฏเด่นชัดแต่แรกเริ่มธรรมล้ำลึกแห่งชีวิตที่พระคริสตเจ้าทรงมอบให้แก่มนุษยชาติแล้ว (เทียบ

ยน 10:10) โดยการยอมรับของพระนาง และการดูแลเอาใจใส่

ด้วยความรักต่อชีวิตขององค์พระวจนาตถ์ผู้ทรงรับเอากายมาเป็นมนุษย์นั้นเอง ชีวิตมนุษย์ก็ได้รับการช่วยให้รอดพ้นจากการ

ถูกตัดสินให้ต้องพบกับความตายนิรันดร

เพราะเหตุนี้เอง พระนางมารีย์ “ก็เช่นเดียวกับพระศาสนจักรที่พระนางเป็นต้นแบบ จึงเป็นมารดาของมนุษย์ทุกคนที่เกิดใหม่สู่ชีวิต อันที่จริง พระนางเป็นมารดาขององค์ชีวิต ที่โดยองค์ชีวิตนั้นมนุษย์ทุกคนมีชีวิตอยู่ และเมื่อพระนางให้กำเนิดชีวิตนั้นจากตัวพระนางเอง พระนางก็ให้กำเนิดใหม่แก่ทุกคนที่จะต้องมีชีวิต

อยู่ด้วยองค์ชีวิตนั้นด้วย”138

ในขณะที่พระศาสนจักรพิศเพ่งรำพึงถึงการเป็นมารดา

ของพระนางมารีย์ พระศาสนจักรก็ค้นพบความหมายแห่งการ

เป็นมารดาของตนเองและค้นพบวิถีทางที่พระศาสนจักรถูก

เรียกให้แสดงออกถึงการเป็นมารดานั้นด้วย ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์แห่งการเป็นมารดาของพระศาสนจักร ก็นำไปสู่

ความเข้าใจลึกซึ้งถึงประสบการณ์ของพระนางมารีย์ในฐานะเป็น

ต้นแบบอันมิอาจเปรียบได้ของวิธีที่ชีวิตควรจะได้รับการต้อนรับ

และการดูแลเอาใจใส่ด้วย


เครื่องหมายยิ่งใหญ่ปรากฏในสวรรค์

คือสตรีผู้หนึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์”

(วว. 12:1) : การเป็นมารดาของพระนางมารีย์

กับการเป็นมารดาของพระศาสนจักร


103. ความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างธรรมล้ำลึกพระศาสนจักร กับธรรมล้ำลึกพระนางมารีย์ ปรากฏให้เห็นชัดเจนใน “เครื่องหมายยิ่งใหญ่” นั้น ที่บรรยายอยู่ในหนังสือพระวิวรณ์ว่า “เครื่องหมายยิ่งใหญ่ปรากฏในสวรรค์ คือสตรีผู้หนึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์ มีดวงจันทร์อยู่ใต้เท้า มีมงกุฎดาวสิบสองดวงประทับศีรษะ” (วว 12:1) ในเครื่องหมายนี้ พระศาสนจักรรับรู้ภาพลักษณ์แห่งธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรเอง นั่นคือแม้อยู่ในประวัติศาสตร์ พระศาสนจักรก็ข้ามโพ้นประวัติศาสตร์มนุษย์ ตราบเท่าที่พระศาสนจักรก่อสร้าง “เมล็ดพันธ์และการเริ่มต้น” ของพระอาณาจักรพระเจ้าขึ้นมาบนโลก139 พระศาสนจักรมองเห็นธรรมล้ำลึกนี

สมบูรณ์ไปในแบบฉบับอันครบครันของพระนางมารีย์ พระนาง

เป็นสตรีผู้เปี่ยมด้วยสิริรุ่งโรจน์ที่แผนการของพระเจ้าสามารถทำให้

เป็นแบบฉบับครบสมบูรณ์ที่สุดได้

สตรีผู้หนึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์” ตามที่หนังสือ

พระวิวรณ์บอกเรานั้น “พระนางมีครรภ์แก่” (วว 12:2) พระศาสนจักรตระหนักเต็มเปี่ยมว่าตนเองมีองค์พระผู้ไถ่กู้โลกคือพระคริสตเจ้าอยู่ภายในตัวตนของพระศาสนจักรเอง พระศาสนจักรตระหนักว่าตนถูกเรียกมาเพื่อให้มอบพระคริสตเจ้านี้แก่โลก มอบการเกิด

ใหม่ในชีวิตของพระเจ้าเองให้แก่มนุษย์ชาย-หญิงทุกคน แต่

พระศาสนจักรก็ไม่อาจลืมได้ว่าพันธกิจของตนนี้จะเป็นไปได้ก็ได้โดยทางการเป็นมารดาของพระนางมารีย์เท่านั้นผู้ที่ได้ตั้งครรภ์

และให้กำเนิด “พระเจ้าจากพระเป็นเจ้า” “พระเจ้าแท้จากพระเจ้าแท้” พระนางมารีย์เป็นพระมารดาของพระเจ้าจริงแท้ (Theotokos) ซึ่งในความเป็นมารดาของพระนางนี้เอง กระแสเรียกเป็นแม่ที่

พระเจ้าทรงมอบแด่สตรีทุกคนก็ได้รับการยกขึ้นสู่ระดับสูงสุด

พระนางมารีย์จึงเป็นต้นแบบของพระศาสนจักรที่ได้รับชื่อว่าเป็น “เอวาใหม่” เป็นมารดาของผู้มีความเชื่อทุกคนเป็นมารดาของ

ผู้มีชีวิต” (เทียบ ปฐก 3:20)

การเป็นมารดาฝ่ายจิตของพระศาสนจักรนั้นบรรลุถึงได้ พระศาสนจักรเองก็ทราบเรื่องนี้ดีด้วย โดยทางความเจ็บปวดและ “การให้กำเนิดบุตร” (เทียบ วว 12:2) นั่นคือ ในการต่อสู้ดิ้นรนอยู่เสมอกับอำนาจความชั่วซึ่งยังคงตระเวนอยู่ทั่วโลก และรบกวนจิตใจมนุษย์ให้ต่อต้านพระคริสตเจ้า “ชีวิตอยู่ในพระองค์ และ

ชีวิตเป็นแสงสว่างสำหรับมนุษย์ แสงสว่างส่องในความมืด และ

ความมืดกลืนแสงสว่างนั้นไม่ได้” (ยน 1:4-4)

เช่นเดียวกับพระศาสนจักร พระนางมารีย์เองก็ต้อง

เจริญชีวิตเป็นมารดาอยู่ท่ามกลางความทุกข์เช่นกัน “พระเจ้า

ทรงกำหนดให้กุมารนี้...เป็นเครื่องหมายแห่งการต่อต้าน และดาบจะแทงทะลุจิตใจของท่าน เพื่อความในใจของคนจำนวนมาก

จะถูกเปิดเผย” (ลก 2:34-35) ถ้อยคำที่ท่านสิเมโอนกล่าวแก่

พระนางมารีย์ นับแต่แรกเริ่มชีวิตขององค์พระผู้ไถ่บนโลกนี้สรุป และให้ภาพล่วงหน้าถึงการที่มนุษย์ไม่ยอมรับพระเยซูเจ้า และพร้อมกับพระองค์ก็ไม่ยอมรับพระนางมารีย์ด้วย เป็นการปฏิเสธ

ที่ถึงจุดสูงสุดบนเนินกัลวาริโอนั้น พระนางมารีย์ผู้ “ยืนอยู่ข้าง

ไม้กางเขนของพระองค์” (ยน 19:25) ก็มีส่วนร่วมกับการมอบตัวขององค์พระบุตรเป็นของขวัญแก่มนุษย์ นั่นคือ พระนางทรงถวายพระเยซู มอบพระองค์ และให้กำเนิดพระองค์เพื่อเรา

มนุษย์จนกระทั่งวาระสุดท้าย การตอบ “รับ” ของพระนางในวันรับสารจากฑูตสวรรค์ถึงจุดสมบูรณ์ในวันแห่งกางเขนนั้น เมื่อถึงเวลาของพระนางมารีย์ที่จะรับ และให้กำเนิดผู้ที่กลายมาเป็น

ศิษย์ทุกคนให้เป็นบุตรของพระนางเอง โดยหลั่งความรักที่ช่วยให้รอดขององค์พระบุตรของพระนางแก่พวกเขา “เมื่อพระเยซูทรงเห็น

พระมารดาและศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า

แม่นี่คือลูกของแม่” (ยน 19:26)


และมังกรยืนอยู่ตรงหน้าสตรี...

เพื่อจะกินบุตรของนาง ทันทีที่คลอด” (วว 12:4) :

ชีวิตถูกอำนาจความชั่วร้ายขู่เข็ญรังควาน


104. ในหนังสือพระคัมภีร์พระวิวรณ์ “เครื่องหมาย

ยิ่งใหญ่” ของ “สตรีผู้นั้น” (วว 12:1) ปรากฏมาควบคู่กับ

เครื่องหมายอีกประการหนึ่งซึ่งปรากฏในสวรรค์” นั่นคือ “มังกรใหญ่สีแดง” (วว 12:3) ซึ่งเป็นตัวแทนถึงปีศาจ อันเป็นเจ้าแห่งอำนาจชั่วร้ายรวมทั้งบ่งถึงอำนาจชั่วร้ายต่างๆ ที่กระทำการอยู่ใน

ประวัติศาสตร์มนุษย์ขัดขวางงานพันธกิจของพระศาสนจักร

ณ ที่นี้ด้วยที่พระนางมารีย์ช่วยส่องสว่างให้แก่หมู่คณะ

ของผู้มีความเชื่อ ก่อนที่อำนาจชั่วร้ายนั้นจะส่งผลกระทบต่อบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้ามันก็ตั้งตนเป็นศัตรูมุ่งกระทำการรุนแรง

ต่อต้านพระมารดาของพระองค์มาก่อนแล้ว เพื่อรักษาชีวิตบุตรของพระนางให้พ้นภัย พระนางมารีย์จึงต้องลี้ภัยพร้อมกับท่านโยเซฟ

และพระกุมารไปยังประเทศอียิปต์ (เทียบ มธ 2:13-15)

พระนางมารีย์จึงช่วยให้พระศาสนจักรสำนึกว่า ชีวิตอยู่หว่างกลางการดิ้นรนขัดแย้งกันระหว่างความดีกับความชั่วเสมอ ระหว่างความสว่างกับความมืด เจ้ามังกรต้องการจะกินเด็ก “ทันทีที่คลอดออกมา” (เทียบ วว 12:4) เด็กนั้นเป็นภาพหมายถึงพระคริสตเจ้า ผู้ที่พระนางทรงให้กำเนิด “เมื่อถึงเวลาตามที่กำหนดไว้” (กท 4:4) และเป็นผู้ที่พระศาสนจักรต้องมอบให้แก่ผู้คนทุก

ยุคทุกสมัยเรื่อยมา แต่ในทางหนึ่ง เด็กนั้นยังเป็นภาพหมายถึงมนุษย์เราทุกคน เด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กทารกที่ช่วยตัวเอง

ไม่ได้ที่ชีวิตของเขาต้องถูกคุกคาม เพราะว่าดังที่สภาพระสังคายนา

วาติกัน ที่ 2 เตือนเรานั้น “โดยการบังเกิดมาเป็นมนุษย์ พระบุตรของพระเจ้าโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ได้มาร่วมสนิทกับมนุษย์ทุกคน”140 ใน “กาย” ของมนุษย์ทุกคนนี้เองที่พระคริสตเจ้ายังคง

เผยแสดงตัวของพระองค์เองต่อไป และเข้าร่วมสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับเรามนุษย์ เพื่อว่าการปฏิเสธไม่ยอมรับชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าการไม่ยอมรับนั้นจะมีรูปแบบใดก็ตาม ก็เป็นการปฏิเสธพระคริสตเจ้าเองจริงๆ นี่เป็นความจริงที่น่าทึ่งยิ่งแต่ก็เป็นความจริงที่เรียกร้องเราด้วยเช่นกัน ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงเผยแสดงแก่เรา และเป็นความจริงที่พระศาสนจักรยังคงประกาศอยู่อย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อยเลยว่า “ผู้ใดต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา ผู้นั้นก็ต้อนรับเราเอง” (มธ 18:5) “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเราเอง”

(มธ 25:40)


จะไม่มีความตายอีกต่อไป” (วว 21:4)

ความสว่างสุกใสของการกลับคืนชีพ


105. การแจ้งสารของเทวฑูตแด่พระนางมารีย์นั้น รวม

สรุปเป็นถ้อยคำที่ให้ประกันว่า “อย่ากลัวเลยมารีย์” และคำว่า “เพราะไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก 1:30,37) ชีวิตทั้งชีวิตของพระนางมารีย์เปี่ยมล้นด้วยความแน่ใจว่าพระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดพระนางเสมอ และทรงเคียงข้างพระนางไปพร้อมกับ

การดูแลด้วยพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์ สิ่งเดียวกันนี้ก็

เป็นจริงสำหรับพระศาสนจักรด้วยเช่นกัน ซึ่งพบ “ที่พำนักซึ่ง

พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้” (วว 12:6) ในถิ่นทุรกันดารอันเป็นสถานที่แห่งการทดลอง แต่ก็เป็นสถานที่อันเผยแสดงให้เห็นถึงความรักของพระเจ้าแก่ประชากรของพระองค์ด้วยเช่นกัน (เทียบ ฮชย 2:16) พระนางมารีย์เป็นถ้อยคำบรรเทาใจที่มีชีวิตสำหรับพระศาสนจักรในการต่อสู่ดิ้นรนกับความตาย โดยการแสดงให้เราเห็นองค์พระบุตร พระศาสนจักรก็ช่วยให้เราแน่ใจว่าในพระองค์อำนาจความตายได้พ่ายแพ้ราบคาบไปแล้ว “ความตายกับชีวิตได้สู้กันมาแล้ว การต่อสู้นั้นสิ้นสุดลงไปแล้วอย่างน่าแปลกใจชีวิต

เป็นผู้ชนะ แม้ถูกสังหาร ถึงกระนั้นชีวิตก็ยังฟื้นคืนมาใหม่”141

ลูกแกะที่ถูกฆ่านั้นกลับมีชีวิต ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงพระมหาทรมานในแสงสุกใสแห่งการกลับคืนพระชนมชีพ พระองค์ผู้เดียวทรงเป็นเจ้านายของทุกเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์พระองค์ทรงเปิด “ตราที่ผนึกไว้” นั้น (เทียบ วว 5:1-10) และทรงประกาศทั้งในกาลเวลาและโพ้นกาลเวลาของอำนาจของชีวิต

ที่มีเหนือความตาย ใน “นครเยรูซาเล็มใหม่” นั้นเองที่โลกใหม่ซึ่งประวัติศาสตร์มนุษย์กำลังเดินทางมุ่งไปสู่นั้น “จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญการร้องไห้และความทุกข์อีกต่อไป

เพราะโลกเดิมผ่านพ้นไปแล้ว” (วว 21:4)

พวกเราผู้เป็นประชากรผู้เดินทางจาริกไปผู้เป็นประชากรแห่งชีวิตและประชากรเพื่อชีวิตในขณะที่มุ่งเดินหน้าด้วยความ

มั่นใจไปสู่ “ฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่” (วว 21:1) เราก็จ้องมอง

อยู่ที่พระนางมารีย์ผู้เป็น “เครื่องหมายแห่งความหวัง และการ

ปลุกปลอบใจที่แน่นอนสำหรับพวกเรา”142

ข้าแต่พระนางมารีย์

ผู้เป็นรุ่งอรุณสุกใสแห่งโลกใหม่

พวกลูกขอมอบต้นเหตุแห่งชีวิตไว้แด่พระนาง

พระมารดาของผู้มีชีวิต

ข้าแต่พระแม่ โปรดทอดพระเนตร

ทารกจำนวนมากมายที่ถูกกีดกันไม่ให้เกิดมา

คนยากจนมากมายที่มีคนทำให้ชีวิตของ

พวกเขาต้องยากลำบาก

ผู้คนชาย-หญิงมากมายที่ต้องตกเป็น

เหยื่อเคราะห์ร้ายของการก่อความ

รุนแรงอันป่าเถื่อน

คนชรา และคนป่วยทั้งหลายที่ถูกฆ่าให้ตาย

ด้วยการเฉยเมย หรือด้วยการแสดง

ความเมตตาสงสารแบบผิด ๆ

ขอพระแม่โปรดช่วยให้ผู้ที่เชื่อในองค์พระบุตร

ประกาศพระวรสารแห่งชีวิต

ด้วยความซื่อสัตย์และความรัก

แก่ผู้คนทั้งหลายในยุคสมัยของเรานี้

ขอพระแม่โปรดให้พวกเขาได้รับ

พระพร ที่จะยอมรับพระวรสารนั้น

ไว้เป็นของประทานที่ใหม่เสมอ

สำหรับพวกเขา

ให้พวกเขามีความชื่นชมยินดี

เฉลิมฉลองพระวรสารนี้

ด้วยใจกตัญญูรู้คุณจนตลอดชีวิต

ของพวกเขา และให้พวกเขา

มีความกล้าหาญที่จะเป็นสักขีพยาน

ถึงพระวรสารนี้อย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยว

ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกับบรรดา

ผู้มีน้ำใจดีทั้งหลาย ช่วยกัน

สร้างเสริมอารยธรรมแห่งความ

จริงและความรักขึ้นมา

เพื่อสรรเสริญ เทิดเกียรติ

พระเจ้า องค์พระผู้สร้าง

ผู้ทรงรักชีวิตด้วยเถิด


ให้ไว้ที่กรุงโรม ณ มหาวิหารนักบุญเปโตรวันที่ 25 มีนาคม วันฉลองแม่พระรับสาร ปี ค.. 1995 เป็นปีที่ 17 แห่ง

พระสมณสมัยของข้าพเจ้า

พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2